:::     :::

ทำความรู้จัก 'ค่าฉีกสัญญา' ทำไมต้องตั้งให้แพงมหาศาล ?

ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ค่าฉีกสัญญา คือกฏหมายที่อยู่คู่กับวงการฟุตบอลสเปนมายาวนานเกือบ 40 ปี และมีเฉพาะพวกเขาเท่านั้นที่ยังคงยึดถือมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งนับวันค่าฉีกสัญญาในสเปนก็ยิ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ จนล่าสุดแตะหลัก 1000 ล้านยูโรแล้ว

วันศุกร์นี้ไม่เพียงแค่ เปดรี กอนซาเลซ จะต่อสัญญากับ บาร์เซโลน่า ถึงปี 2026 เท่านั้น หากแต่ยังจะกลายนักเตะที่มีค่าฉีกสัญญาแพงที่สุดในประวัติศาสตร์วงการลูกหนังสเปนด้วยมูลค่า 1,000 ล้านยูโรอีกด้วย ทำลายสถิติเดิม 800 ล้านยูโร ของ อองตวน กริซมันน์ ลงอย่างราบคาบ 


ตัวเลข 1,000 ล้านยูโร หรือ 39,000 ล้านบาท มากแค่ไหนน่ะหรือ ?  

ลองคิดถึง รัฐบาลไทย โดยกองทัพเรือเคยมีโครงการซื้อเรือดำน้ำ 3 ลำ วงเงินทั้งสิ้น 36,000 ล้านบาท  แต่ เปดรี คนเดียว มีค่าฉีกสัญญามากกว่าเรือดำน้ำ 3 ลำมัดรวมกัน แถมยังเหลือตังค์ทอนอีก 3,000 ล้านบาท !!! 

มันบ้าแบบสุดๆเลยใช่มั๊ยครับ ที่นักเตะคนนึงถูกตีค่าในราคานี้หากสโมสรใดต้องการจะคว้าตัวเขาไปร่วมทีมในรูปแบบฉีกสัญญา !! 

ทันทีที่ข่าวนี้ออกมา มีความคิดเห็นมากมายเกิดขึ้น 

ส่วนนึงเข้าใจเหตุผลของ บาร์เซโลน่า เนื่องจากเหตุการณ์เมื่อปี 2017 ที่ เปแอสเช ช็อคโลกกระชาก เนย์มาร์ ไปจากอ้อมอกด้วยการฉีกสัญญามูลค่า 222 ล้านยูโร ทำให้ยักษ์ใหญ่กาตาลันต้องล้อมคอกนักเตะคนสำคัญไว้ไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย 

อย่างไรก็ตาม มีจำนวนนึงไม่น้อยมองว่าค่าฉีกสัญญามหาศาลเช่นนี้ เป็นผลดีแค่กับตัวสโมสรเท่านั้น ที่เหลือน่าจะเป็นผลเสียต่อตัวนักเตะมากกว่า 

โลกลูกหนังทุกวันนี้หมุนเร็วมาก ใครจะรู้ วันนึง หาก เปดรี ไม่มีความสุขขึ้นมาและต้องการย้ายทีม เขาจะพบกับปัญหาใหญ่ที่แก้ไม่ตก เพราะคงไม่มีสโมสรใดกล้าควักเงินจำนวนนี้จ่ายให้ บาร์เซโลน่า 

ตกลงแล้ว “ค่าฉีกสัญญาคือมิตรหรือศัตรูของนักเตะกันแน่ ?” 

ก่อนจะคุยถึงประเด็นนี้ เราย้อนไปทำความรู้จัก ‘ค่าฉีกสัญญา’ กันก่อนว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร ? 

ค่าฉีกสัญญาในวงการฟุตบอลนั้น เชื่อกันว่าสเปนคือชาติแรกในยุโรปที่นำมาใช้ ซึ่งจนถึงปัจจุบัน ลีกใหญ่อื่นๆ ไม่ว่าจะ อังกฤษ,อิตาลี,สเปน,ฝรั่งเศส หรือ เยอรมัน ก็ไม่มีใครนำเอาค่าฉีกสัญญามาใช้เลย 


แล้วค่าฉีกสัญญาเกิดขึ้นได้อย่างไร ?

ในช่วงก่อนปี 1985 ในสเปนมีกฏหมายแพ่งอยู่ข้อนึง เรียกว่า derecho de retencion (เดเรโช่ เด เรเตนซิออน) หรือ ‘สิทธิการเก็บรักษา’  

‘สิทธิการเก็บรักษา’ คือ กฏหมายที่ช่วยให้ผู้ใดผู้หนึ่งสามารถขยายการครอบครองสิ่งของเพื่อวัตถุประสงค์ในการค้ำประกัน ซึ่งในประเทศสเปนยุคนั้น มีการอ้างอิงที่ชัดเจน และมีการใช้อย่างแพร่หลาย โดยมากเกี่ยวข้องกับการจำนำข้าวของ แต่ก็ถูกนำมาใช้ในวงการกีฬาเช่นกัน โดยเฉพาะกับฟุตบอล ซึ่งถือเป็นกีฬายอดฮิตอันดับ 1 ของประเทศ 


กฏหมายสิทธิการเก็บรักษา มีผลให้นักฟุตบอลไม่สามารถย้ายออกได้หากสโมสรไม่อนุญาต ตราบใดที่สโมสรต้นสังกัดสามารถจ่ายเงินค่าเหนื่อยให้นักเตะได้เท่ากับค่าเหนื่อยที่เสนอโดยบุคคลที่ 3 (สโมสรผู้ซื้อ) 

ทว่าในความจริงแล้ว สิ่งที่สโมสรทำคือการเพิ่มค่าเหนื่อยให้นักเตะปีละ 10% เท่านั้น แค่นี้พวกขาก็ได้รับสิทธิให้เก็บรักษานักเตะต่อไปได้ 

สมัยนั้นมีสโมสรที่หากินกับช่องโหว่ของกฏหมายนี้ โดยเฉพาะกับนักเตะอายุน้อย ที่ส่วนใหญ่เซ็นสัญญาโดยขาดการพิจราณาอย่างถี่ถ้วน 

ดังนั้นไม่ว่าเงินค่าเหนื่อยจะเพิ่มขึ้น 10% สักกี่ครั้ง ก็ไม่เคยสูงพอเท่ากับส่วนที่นักเตะควรจะได้จากสโมสรใหม่ที่สนใจในตัวเขา 

เรื่องนี้นำมาซึ่งปัญหา พวกนักเตะต้องการมีรายได้ที่สูงขึ้นจากการย้ายทีม หรือบางคนไม่มีความสุขกับการเล่นให้ต้นสังกัด แต่ไม่สามารถทำอย่างไรได้  


จนกระทั่งปี 1985 รัฐบาลได้ยื่นมือเข้ามาแก้ไขปัญหานี้ โดยมีพระราชกฤษฎีกา 1006/1985 กำหนดให้มีนักเตะสามารถฉีกสัญญา (clausula de rescision) ของตัวเองจากสโมสรได้ ด้วยการจ่ายเงินชดเชย

การคิดค่าฉีกสัญญาในช่วงปี 1985 ไม่ได้มีหลักการตายตัว ทางรัฐบาลปล่อยให้เป็นเรื่องของสโมสรที่จะตกลงกับนักเตะเอง หากแต่วิธีที่นิยมกันในสมัยนั้นคือเอาค่าเหนื่อยของนักเตะคูณกับระยะเวลาที่เหลือของสัญญา 

หลังกฏหมายค่าฉีกสัญญาฉบับนี้ถูกประกาศใช้, 2 ปีต่อมา (1987) ปาโก้ ยอร์เรนเต้ ซึ่งต่อมาก็คือพ่อของ มาร์กอส ยอร์เรนเต้ ก็กลายเป็นนักเตะคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ใช้วิธีการฉีกสัญญาช่วยในการย้ายทีม 


ฤดูกาล 1986-87 ปาโก้ เล่นให้กับ แอต.มาดริด โดยได้ค่าเหนื่อย 18,000 ยูโรต่อปี (เทียบราคาจากเปเซต้า สกุลเงินเดิมของสเปน) ก่อนที่ เรอัล มาดริด คู่อริร่วมเมืองจะยื่นข้อเสนอค่าเหนื่อย 36,000 ยูโร ให้ ปาโก้ พิจราณา ซึ่งแน่นอนว่า ปาโก้ เห็นตัวเลขแล้วต้องการย้ายทีมทันที 

แอต.มาดริด ไม่ยินยอมปล่อย ปาโก้ ที่เป็นตัวหลัก ทำให้ เรอัล มาดริด ตัดสินใจจ่ายค่าฉีกสัญญาที่ระบุไว้เป็นเงิน 50 ล้านเปเซต้า (300,000 ยูโรในปัจจุบัน) คว้าตัว ปาโก้ มาร่วมทีมในที่สุด โดยที่ แอตเลติโก ไม่สามารถทำอะไรได้ 

นับแต่ปี 1987 เป็นต้นมา ค่าฉีกสัญญา (clausula de rescision) ก็กลายเป็นอาวุธที่ทรงอานุภาพของนักเตะในการโยกย้ายเปลี่ยนทีม พวกเขาสามารถทำได้ง่ายขึ้น และสามารถไต่สู่ระดับค่าเหนื่อยที่สูงขึ้นได้ตามความสามารถ


ขณะเดียวกัน ค่าฉีกสัญญา ก็ส่งผลให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบขึ้นระหว่างสโมสรในประเทศอย่างเห็นได้ชัด 

สมุดเช็คถูกจ่ายออกจากสโมสรใหญ่ผู้ร่ำรวยครั้งแล้วครั้งเล่าเพื่อกระชากนักเตะฝีเท้าดีมาครอบครอง 

สโมสรเล็กมีอำนาจต่อรองน้อยลง สวนทางกับนักเตะหากฝีเท้าดี พวกเขาสามารถย้ายไปยังทีมที่ต้องการโดยไม่ต้องพึ่งการเจราจา

การฉีกสัญญาก่อให้เกิดประเด็นขัดแย้งมากมายในวงการฟุตบอลสเปน หนึ่งในเหตุการณ์ที่ถูกพูดถึงมากที่สุดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 1996 

เรอัล มาดริด จ่ายเงิน 1,200 ล้านเปเซต้า(7.2 ล้านยูโร) ให้ บาเลนเซีย เพื่อฉีกสัญญากับ เปแดร๊ก มิยาโตวิช เจ้าของตำแหน่งนักเตะยอดเยี่ยมลา ลีกา ฤดูกาล 1995-96  มาร่วมทีม สร้างความโกรธแค้นให้กับสาวกบาเลนเซียนิสต้าเป็นอย่างมาก เพราะ มิยาโตวิช คือหัวหอกคนสำคัญของทีม

ต่อมาในปี 1997 ขณะเหลือเวลาอีกไม่กี่ชั่วโมงก่อนตลาดซื้อขายนักเตะจะปิดลง บาร์เซโลน่า ส่งแฟกซ์ไปยัง ลา ลีกา พร้อมเช็กมูลค่า 4,000 ล้านเปเซต้า (24 ล้านยูโร) เพื่อกระชากตัว รีวัลโด้ กองหน้าบราซิเลี่ยนจาก เดปอร์ตีโบ ลา กอรุนญ่า 

ครั้งนั้น แม้ ลา กอรุนญ่า จะรับทรัพย์ก้อนโต แต่ด้วยกฏนี้ทำให้พวกเขาไม่มีทางเลือกใดๆ และไม่สามารถหาตัวแทนของ ริวัลโด้ ได้ทันเวลาซึ่งสร้างความเสียหายให้อย่างมาก 


เหตุการณ์ ริวัลโด้ ย้ายสู่ บาร์เซโลน่า ในวันสุดท้ายของตลาดปี 1997 อาจพูดได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการตั้งค่าฉีกสัญญาในวงการฟุตบอลสเปน 

นับจากนั้นหลายสโมสรได้อัพค่าฉีกสัญญาให้สูงขึ้นกว่าเดิม โดยไม่คำนึงถึง ‘หลักการ’ (ค่าเหนื่อย x ระยะเวลาของสัญญา) หรือความเหมาะสมอีกต่อไป 

ค่าฉีกสัญญาที่โอเวอร์มากๆ เกิดขึ้นครั้งแรกในปี 1988 หรือ 1 ปีให้หลังการย้ายสู่ บาร์เซโลน่า ของ รีวัลโด้ เมื่อ เรอัล เบติส สร้างประวัติศาสตร์ทุ่มซื้อ เดนิลสัน ปีกตัวจี๊ดมาจาก เซา เปาโล ด้วยค่าตัว 5,500 ล้านเปเซต้า (33 ล้านยูโร) กลายเป็นสถิตินักเตะค่าตัวแพงที่สุดในโลก  

มานูเอล รูอิซ เดโลเปร่า ประธานเรอัล เบติส เกิดความวิตกว่า เดนิลสัน จะถูกยักษ์ใหญ่อย่าง เรอัล มาดริด และ บาร์เซโลน่า ทุ่มเงินฉกตัวไป เขาจึงตั้งค่าฉีกสัญญาไว้สูงถึง  65,000 ล้านเปเซต้า หรือ 390 ล้านยูโรเลยทีเดียว  

นั่นเองทำให้การตั้งค่าฉีกสัญญาถูกฉีกออกจากกรอบและเป็นอิสระ 

ทุกสโมสรพร้อมใจกันตั้งค่าฉีกสัญญาตามที่ตัวเองต้องการ ตราบใดที่ตัวนักเตะเห็นชอบลงนามด้วย 

เล่ามาถึงตรงนี้ อาจมองได้ว่า ค่าฉีกสัญญาของ เนย์มาร์ จำนวน 222 ล้านยูโร นับเป็นความประมาทของ บาร์เซโลน่า ด้วยส่วนนึง แต่นั่นก็ได้ยกระดับมาตราฐานการค่าฉีกสัญญาจากเดิมขึ้นอีก 

ยุคปัจจุบัน มาร์โก อาเซนซิโอ มีค่าฉีกสัญญา 500 ล้านยูโร , ลิโอเนล เมสซี่ เคยมีค่าฉีกสัญญา 700 ล้านยูโร,อองตวน กริซมันน์ ถูกตั้งไว้ 800 ล้านยูโร 

และ เปดรี คือนักเตะคนแรกที่ค่าฉีกสัญญาทะลุถึงหลัก 1,000 ล้านยูโร มันอาจเป็นตัวเลขที่โอเวอร์เกินไปมาก แต่มองอีกมุม มันก็คือหลักประกันของสโมสรที่จะเก็บนักเตะคนสำคัญของพวกเขาเอาไว้ 

ส่วนที่ว่า “ค่าฉีกสัญญาคือมิตรหรือศัตรูของนักเตะกันแน่ ?”  ตรงนี้หากมองที่จุดเริ่มต้นของกฏหมายค่าฉีกสัญญา ก็คงต้องยอมรับว่ามันผิดเพี้ยนไปจากวัตถุประสงค์เดิมอย่างมาก 


กระนั้น ในความบ้าระห่ำของตัวเลข ตัวนักเตะเองก็มีสิทธิที่จะปฏิเสธสัญญานั้น หากไม่พอใจ แต่ถ้าใครยินดีกับตัวเลขที่เว่อร์ๆที่ตั้งมา อันนี้ก็ว่ากันไม่ได้ สำคัญคือเมื่อสะบัดปากกาลงไปแล้ว ต้องยอมรับผลที่ตามมาให้ได้ 


เจมส์ ลา ลีกา 


ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ระดับ : {{val.member.level}}
{{val.member.post|number}}
ระดับ : {{v.member.level}}
{{v.member.post|number}}
ระดับ :
ดูความเห็นย่อย ({{val.reply}})

ข่าวใหม่วันนี้

ดูทั้งหมด