:::     :::

Tactical Analysis : "พันวิถีปีศาจแดง" ในร่างทรง Antonio Conte

วันเสาร์ที่ 30 ตุลาคม 2564 คอลัมน์ #BELIEVE โดย ศาลาผี
8,950
ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
หากอันโตนิโอ คอนเต้ กลายมาเป็นบอสคนใหม่ของปีศาจแดงจริงๆ ร่างทรงการเล่นและจุดเด่นของแทคติกคอนเต้เป็นอย่างไร และจะทำให้แมนยูไนเต็ดมีโฉมหน้าเป็นแบบไหน นี่คือคำตอบ

การพ่ายแพ้ลิเวอร์พูลคาบ้าน 0-5 ตกเป็นข่าวใหญ่ที่สั่นสะเทือนโลกฟุตบอลและถูกพาดหัวข่าวต่อเนื่องมาเป็นสัปดาห์ๆแล้ว ซึ่งก็ส่งผลทำให้เก้าอี้ของโอเล่ กุนนาร์ โซลชา ร้อนฉ่ายิ่งกว่าเตาหมูย่างเกาหลี

ในขณะที่แฟนบอลหลายๆส่วนก็คาดหวังจะให้มีการปลดและแต่งตั้งผู้จัดการทีมคนใหม่ขึ้นมาในไม่ช้านั้น มีชื่อที่น่าสนใจของผู้จัดการทีมคนนึงถูกเอ่ยขึ้นมาในหมู่แฟนบอลจำนวนมาก กับชายผู้ประสบความสำเร็จมากที่สุดคนนึงในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

ผู้คนพูดถึงการที่ Antonio Conte จะก้าวขึ้นมาเป็นนายใหญ่คนใหม่ที่โอลด์ แทรฟฟอร์ด

แม้ว่ากระแสข่าวตอนนี้จะกลายเป็นว่า บอร์ดของยูไนเต็ดลังเลที่จะเซ็นสัญญากับคอนเต้เนื่องจากกลัวเรื่องปัญหาการงัดข้อกับทางสโมสรในประเด็นแรก และเรื่องค่าใช้จ่ายในการจ้างที่ค่อนข้างสูง เผื่อว่าจะอยู่ไม่ยืดก็อาจจะต้องเสียค่าปลดในภายหลังอีก ดังนั้นก็ถือว่าการจะเซ็นสัญญาคอนเต้นั้นยังไม่ชัวร์เท่าไหร่ แต่บทความนี้ก็เขียนเอาไว้เผื่อว่าบอร์ดตัดสินใจตกลงเลือกเขาเข้ามาจริงๆ จะได้เห็นว่า หากว่า"เลือก"มาแล้ว โฉมหน้าของปีศาจแดงจะเป็นยังไงกันบ้างหลังจากนี้

แมนยูไนเต็ดได้ลงเล่นแสดงฝีเท้าและคุณภาพของทีมให้ได้เห็น หลังจากที่ผ่านตลาดซื้อขายนักเตะอันคึกคักมาแล้ว ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความน่าผิดหวังในด้านของแทคติกของทีมและการบริหารจัดการนักเตะอยู่พอสมควร

แม้ว่าแฟนแมนยูไนเต็ดจะมีฝันที่เป็นจริงกับการได้คริสเตียโน่ โรนัลโด้กลับคืนสู่ถิ่น และใช้เงินกว่า 72 ล้านปอนด์ในการคว้าตัวเจดอน ซานโช่ เข้าทีมมาก็ตาม แต่ทีมยังไม่สามารถโชว์ฟอร์มที่ยอดเยี่ยมอย่างแท้จริงออกมาได้ โรนัลโด้ถูกตั้งความหวังเอาไว้ว่าจะฉุดประสิทธิภาพของทีมขึ้นมาได้ ในขณะที่ซานโช่นั้นยังไม่ได้รับโอกาสมากเท่าที่ควรเมื่อยังไม่สามารถทำตามแผนของโซลชาได้

คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ "คอนเต้" นั้นคือคำตอบที่ใช่หรือไม่ ในการเข้ามาแก้ปัญหาการเล่นของยูไนเต็ดในขณะนี้ ซึ่งวิสัยทัศน์ในเชิงแทคติกของเขาได้นำพายูเว่ เชลซี และอินเตอร์มิลาน ก้าวขึ้นสู่การเป็นแชมป์ลีกมาแล้ว โดยที่ทำทีมและเปลี่ยนแปลงทีมเหล่านั้นให้มีทรงการเล่นที่บาลานซ์และเสถียรภาพที่ดี พร้อมด้วยความมุ่งมั่นทะเยอทะยานที่สูงลิบลิ่ว

กุนซือชาวอิตาเลียนผู้นี้มีมุมมองของตัวเองและต้องการให้ทุกๆสิ่งเป็นไปตามที่เขาวางแผนเอาไว้เท่านั้น ซึ่งในอีกมุมหนึ่งของสิ่งดังกล่าว เขาก็มักจะสามารถดึงศักยภาพสูงสุดของนักเตะออกมาใช้งานได้อย่างเต็มที่อยู่เสมอเข้าขั้นปรมาจารย์เลยทีเดียว

การวิเคราะห์แทคติกในครั้งนี้จะแสดงถึงแทคติกของคอนเต้ และอธิบายว่า แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดจะมีทรงการเล่นยังไงบ้างหากว่าได้เขาเข้ามาคุมทีม

Formation ที่เป็นไปได้ และ 11ตัวจริงที่อาจเกิดขึ้น

คอนเต้เป็นที่รู้จักกันดีเกี่ยวกับวิชั่นเรื่องแทคติกของเขา และการใช้ระบบหลังสามอันยอดเยี่ยม โดยที่formationหลักจะเป็น  "3-5-2" ยืนพื้น ที่เคยใช้กับยูเว่ และนำมาใช้ได้สำเร็จอีกครั้งเมื่อหยิบมายกระบบใส่ให้กับเชลซีฟาดแชมป์พรีเมียร์ลีกไปอีกหนึ่งสมัย และล่าสุดก็กับอินเตอร์มิลานที่คว้าสคูเดตโต้ในรอบ 11 ปี ด้วยformation ดังกล่าว

นี่คือAverage Positionของนักเตะอินเตอร์ในเกมเจอลาซามพ์เมื่อปีก่อน แสดงให้เห็นถึงstructureและความcompactของระบบ

ในขณะที่เขาจะเน้นการใช้กองหลังสามคนก็จริง แต่จริงๆแล้วเขาก็มีความยืดหยุ่นอยู่ในการจัดทีมสูง และมีการปรับการยืนในไลน์ต่างๆได้แล้วแต่โอกาส ไม่ว่าจะเป็นการสวิตช์แผนระหว่าง 3-4-3 หรือ 3-4-1-2 ด้วย (ซึ่งแผนหลังเหมาะกับยูไนเต็ดสุดๆ) ทีมของเขามีบาลานซ์ที่ดีมาก และโฟกัสในเรื่องเกมรับที่แน่นอน แต่ก็สามารถบุกอย่างชาญฉลาด และเล่นcounter-attack สุดโหดได้เช่นกัน

ไลน์อัพที่เป็นไปได้ทั้งหลายของแมนยู หากว่าเข้าสู่ยุคของคอนเต้

การใช้งาน "วิงแบ็ค" ถือเป็นส่วนสำคัญของกลยุทธ์คอนเต้อย่างมาก โดยเน้นหนักให้ตัวริมเส้นขึ้นไปทำเกมรุกอย่างมีประสิทธิภาพอย่างจริงๆจังๆโดยเป็นตัวเล่นสำคัญในพื้นที่ Final Third

นอกจากนี้ยังเน้นหนักให้นักเตะมีสปีดความเร็วที่จะสามารถเล่น counter ได้ อันจะเป็นอาวุธให้ทีมโจมตีอย่างมีประสิทธิภาพ

แต่ว่ามีระบบเซ็ตอัพใดบ้างที่เหมาะสมกับทรัพยากรนักเตะแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดในปัจจุบัน? หากดูในทั่วไปแล้วก็ตอบได้เลยว่า เหมาะสมพอสมควร แต่แม้ว่าแกจะได้ชื่อว่าเป็นกุนซือจอมแทคติกคนนึงที่กระตุ้นนักเตะได้อย่างสุดยอด การมาสู่โอลด์แทรฟฟอร์ดก็ไม่ใช่งานง่าย เขาอาจจะต้องพิจารณาจุดอ่อนจุดแข็งของนักเตะในทีม และเลือก "11ตัวจริงหลัก" ออกมา ซึ่งเป็นงานที่ยากพอสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งตำแหน่งหลัก

Defence (เกมรับ)

ออฟชั่นของผู้รักษาประตูให้กับคอนเต้นั้น มีดาวิด เดเคอา กับ ดีน เฮนเดอร์สัน สองคน แม้ว่าเดเคอาจะมีฟอร์มแกว่งบ้างในระยะหลังเมื่อปีก่อนๆ แต่ว่าเขาก็ยังเป็นตัวเลือกที่โดดเด่นกว่า การจัดโกลจึงไม่น่ามีปัญหามากเท่ากับการจัดแบ็คทรี ที่ดูจะต้องพิจารณาสักหน่อย

คอนเต้จะมีออฟชั่นน้อยสำหรับตำแหน่งเซ็นเตอร์แบ็ค เขาอาจจะยึดวิคตอร์ ลินเดอเลิฟ, แฮรี่ แมกไกวร์ และ ราฟาเอล วาราน เป็นแผงแนวรับ (Defensive Line) ของเขา โดยเลือกใช้สามคนนี้ก็มีโอกาสประสบความสำเร็จได้จากเหตุผลบางอย่าง

ลินเดอเลิฟเป็นตัว Ball-playing ที่ดีซึ่งเหมาะสมและเข้ากับกลยุทธ์ของคอนเต้มากๆ กุนซืออิตาเลียนรายนี้มักจะให้ทีมเซ็ตบอลจากแดนหลังมาจากผู้รักษาประตูสู่เซ็นเตอร์แบ็ค ต่อไปยังมิดฟิลด์แนวลึกที่เป็นมิดฟิลด์ตัวต่ำ (Deep-lying midfielder) ใช้การผสมผสานระหว่างบอลสั้นหนีเพรส แล้วเซ็ตบอลขึ้นหน้า

เน้นการพยายามทำลายแนวรับชั้นแรกของคู่ต่อสู้ให้ได้ เป็นเรื่องหลักๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ เพรสซิ่งสูง อัดใส่คู่แข่ง

เมื่อเป็นเช่นนี้จึงเป็นเหตุที่ว่าทำไมความสามารถในการจ่ายบอลของกองหลังกัปตันทีมสวีเดนของเรารายนี้จะสามารถใช้ประโยชน์ให้กับทีมได้มากในภาคการครองบอล และเมื่อต้องการที่จะเพิ่มเติมการเจาะคู่แข่งด้วยการเคลื่อนที่และจ่ายบอล

การเคลื่อนที่ของลินเดอเลิฟจะถูกซัพพอร์ตโดยราฟาเอล วาราน ที่การจ่ายบอลของวารานจะช่วยให้ลินเดอเลิฟมีออฟชั่นมากขึ้น แต่ประสบการณ์ในเกมรับของวารานก็จะมอบความแน่นอนและเสถียรภาพที่มั่นคงในเกมรับให้กับทีมด้วย

คอมบิเนชั่นระหว่าง แมกไกวร์กับวารานอีกฟากหนึ่งนั้น จะเป็นประโยชน์กับทีมในด้านของลูกกลางอากาศ ซึ่งนักเตะทั้งสองเป็นมือโปรด้านการป้องกันบอลโด่ง บอลยาว และลูกเซ็ตพีซต่างๆ ซึ่งบอลประเภทนี้มักจะถูกคู่แข่งใช้กับทีมของคอนเต้เสมอ

เพราะอะไร ทำไมคู่แข่งถึงชอบบอมป์ใส่ทีมคอนเต้?

ประการแรก เมื่อทีมลงไปตั้งรับเต็มรูปแบบ ทรงการเล่นของทีมจะกลายเป็น 5-4-1 หรือ 5-3-2 ในแดนของตัวเอง ดังนั้นการตั้งรับต่ำแบบlow block นั้นมันจะปิดทางจ่ายบอล และปิดสเปซของคู่ต่อสู้ในช่องว่างระหว่างไลน์ต่างๆ ทำให้แนวรับแน่นๆดังกล่าวของคอนเต้ มักจะบีบให้คู่แข่งต้องเปิดบอลยาว หรือวางบอลโด่งยัดเข้ามา

ประการที่สอง การเล่นเพรสซิ่งอย่างเข้มข้นและหนักหน่วงของคำสั่งจากคอนเต้ ทำให้ผู้เล่นในทีมก็มีโอกาสที่จะสร้างความผิดพลาดหรือเสียฟาล์วขึ้นมาได้บ้าง อันจะส่งผลให้เปิดโอกาสให้คู่แข่งได้เล่นลูกเซ็ตพีซอยู่บ่อยๆนั่นเอง

วาราน กับ แมกไกวร์ จึงถือเป็นอาวุธหลักที่สำคัญและจะใช้ได้ผลในเกมรับของคอนเต้สุดๆ เพราะแพ็คเกมต่ำ ตั้งโซนบล็อคคู่แข่งแบบเหนียวๆนั่นเอง ซึ่งไม่ว่าใครหน้าไหนที่คิดจะเปิดบอลยัดเข้ามา ก็แทบจะใช้ไม่ได้ผลต่อหน้าสองกองหลังที่มีเปอร์เซ็นต์การเอาชนะลูกกลางอากาศสูงที่สุดในยุโรปคู่หนึ่งแน่นอน สำหรับแมกไกวร์กับวาราน

Midfield (มิดฟิลด์)

ตัววิงแบ็คทางซ้ายคงหนีไม่พ้น ลุค ชอว์ ดาวเตะทีมชาติอังกฤษที่พิสูจน์ตัวเองมาแล้วว่าเป็นส่วนสำคัญของเกมการเล่นแมนยูไนเต็ดในภาคเกมรุก ด้วยการพาบอลขึ้นหน้าและเปิดบอลครอสให้กับตัวรุกได้ ในขณะที่ตัดเข้าในไปคอมโบกับตัวเล่นดังกล่าวได้ด้วยเ่นกัน

การเคลื่อนที่ของชอว์จะเหมาะสมและเพอร์เฟ็คต์มากภายใต้ระบบของคอนเต้ที่เป็นผู้จัดการซึ่งชื่นชอบระบบวิงแบ็คที่เล่นชิดริมเส้นในแนวด้านกว้างและสนับสนุนเกมรุกให้กับทีม

การใช้วิงแบ็คของเขาที่ยูเว่ เชลซี อินเตอร์ ช่วยสร้างสรรค์โอกาสการทำประตูเพิ่มมากขึ้นอย่างมากมาย

ตำแหน่งวิงแบ็คด้านขวาอาจจะมีปัญหาเล็กน้อยสำหรับผู้จัดการทีมในการเลือกตัวผู้เล่น เขาอาจจะเลือกระหว่าง อารอน วาน-บิสซาก้า หรือไม่ก็ ดิโอโก้ ดาโลต์ ซึ่ง AWB นั้นโดดเด่นในด้านเกมรับ แต่ก็เป็นที่รู้กันว่าการทำเกมรุกของเขาไม่ดีเท่ากับฝั่งของลุค ชอว์

วิงแบ็คด้านขวานั้นจะต้องสามารถช่วยในการพาบอลขึ้นหน้าได้ และมีความสามารถในการจ่ายบอลและเก็บบอล ซึ่งวานบิสซาก้านั้นไม่ค่อยที่จะครอสบอลมากเท่าไรนัก

เราได้เห็นนักเตะจำนวนมากที่เกิดการเปลี่ยนแปลงตัวเองภายใต้การทำทีมของคอนเต้ และหากจำกันได้ว่า วานบิสซาก้ามีประสบการณ์มาก่อนจากคริสตัลพาเลซ และรวมถึงในฤดูกาล 2019/20 ของเขากับยูไนเต็ด เขาจะเล่นอันตรายเวลาดันสูงขึ้นมาถึงพื้นที่ Final Third และเล่นบอลครอสใส่คู่แข่งได้ ซึ่งในปัจจุบันนี้ เขามีการครอสบอลเฉลี่ยเพิ่งแค่ 1.86 ครั้งต่อ 90นาทีเท่านั้นเอง แต่ถ้าย้นกลับไปฤดูกาลแรกกับแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด เขามีการครอสเฉลี่ยถึง 3 ครั้งต่อเกม ซึ่งแปลว่าปัจจุบันนี้ AWB ครอสบอลได้น้อยลงนั่นเอง

ในขณะเดียวกันดังที่เกริ่นไว้ อีกออฟชั่นหนึ่งในตำแหน่งวิงแบ็คขวาก็คือดาโลต์ เขาค่อนข้างที่จะครอสบอลบ่อยมากกว่า และมักจะเพิ่มเติมการยิงประตูให้กับทีมในบางครั้ง นอกจากนี้ก็ยังมีสมดุลในด้านเกมรับอยู่ แม้ว่าอัตราการจ่ายบอลสำเร็จจะต่ำอยู่มาก และไม่สามารถเซ็ตบอลได้ดีเท่ากับเพื่อนร่วมทีม โดยเฉพาะในภาคของบอลคอนโทรลและการวิ่งเติมขึ้นหน้า

เมื่อสังเกตจากตำแหน่ง "วิงแบ็คขวา"ของแมนยูไนเต็ดแล้วนั้น หากว่าคอนเต้เข้ามาคุมทีมจริงๆ ตัวแรกที่มีแววจะหลุดออกจากทีมก่อนใครเพื่อน และมีโอกาสสูงมากๆ ก็คือ "อารอน วาน-บิสซาก้า" ซึ่งเป็นวิงแบ็คขวาที่ไม่มีความสามารถในเกมรุกใดๆเลยนอกจากถนัดแต่เกมรับอย่างเดียว

ผู้จัดการทีมที่เน้นการใช้วิงแบ็คเป็นตัวหลักสำคัญอย่างเขานั้น ไม่น่าที่จะพอใจกับคุณภาพเท่าหยิบมือของวานบิสซาก้าแน่ๆ และเมื่อเป็นเช่นนั้น หากคอนเต้มาจริง first priority ในการเข้าตลาดนักเตะแรกที่จะเกิดขึ้น จะเปลี่ยนจากกลางรับ กลายมาเป็นการหาซื้อ "วิงแบ็คขวาตัวใหม่" ที่มีคุณภาพเข้ามาทดแทนวานบิสซาก้าทันที

แน่นอนว่า ชื่อของคีแรน ทริปเปียร์ จะถูกหยิบยกขึ้นมาอีกครั้งอย่างแน่นอน หากว่าคอนเต้เข้ามาคุมทีม เพราะAWBไม่น่าจะทำตามแทคติกของคอนเต้ได้

นอกจากนี้ในตำแหน่งอื่นๆ โดยเฉพาะกลางรับของทีมนั้น คอนเต้ยังอาจจะลำบากในด้านการของการตัวเล่นในบทบาทที่ยืนต่ำให้กับทีม เพราะก่อนหน้านี้เขามักจะยึดตัวหลักๆอย่างเช่นอันเดรีย ปีร์โล่, เอ็นโกโล่ ก็องเต้ และก็ มาร์เซโล่ โบรโซวิช

แม้ตอนนี้อาจจะมีตัวเลือกอยู่บ้างในทีมแมนยูไนเต็ดปัจจุบัน แต่ว่ามันก็ไม่ได้มีตัวไหนมีความสามารถถึงระดับนั้นให้เขาใช้งาน

กับตำแหน่ง DLP (Deep-lying playmaker) ของทีมคอนเต้นั้น จำเป็นต้องอ่านเกมเก่งมากๆและรักษาพื้นที่ได้ดี, ในภาคการครองบอลนั้น พวกเขาต้องการเซ็ตบอลขึ้นหน้าด้วยการจ่ายบอลที่ฉลาด และสามารถแกะเพรสซิ่งได้ ทั้งการสร้างออฟชั่นการจ่ายบอลขึ้นมา รวมถึงการเลือกตัวเลือกการจ่ายบอลที่ดีที่สุดยามเมื่อบอลอยู่กับเท้า

นักเตะจำเป็นต้องช่วยเกมรับด้วยตลอดเวลา ไม่ใช่แค่จุดตรงกลาง แต่ริมเส้นก็ต้องออกไปเล่นรับด้วยเช่นกันด้วยการไปช่วยซ้อนทั้งวิงแบ็ค หรือจะเป็นแบ็คขวาก็ตามเพื่อปิดพื้นที่และกดดันใส่ตัวได้บอล

ตัวเลือกของคอนเต้หากว่าอยู่ที่นี่ ก็จะมี เฟร็ด, เนมันย่า มาติช, สก็อตต์ แม็คโทมิเนย์ และแม้แต่ ดอนนี่ ฟานเดอเบคให้เลือก ถ้าเขาต้องการใครสักคนในนี้ในการมาเข้าระบบการเล่น

เนมันย่า มาติช น่าจะเป็นตัวเลือกที่เด่นชัดที่สุดที่จะเล่นในตำแหน่งนี้ให้คอนเต้เนื่องจากการเคลื่อนที่และความสามารถในการจ่ายบอล ซึ่งมิดฟิลด์เซิร์บรายนี้สามารถอ่านเกมทั้งสนามแล้วคาดการณ์การเคลื่อนที่ของคู่แข่งได้ แล้วเลือกออฟชั่นที่ดีที่สุดในการออกบอล จากการสังเกตตำแหน่งการยืนของเพื่อนร่วมทีม

ความนิ่งของเขาสำคัญมากสำหรับการรักษาการครองบอลให้ได้ และจ่ายขึ้นหน้าได้ด้วยบอลจ่ายคุณภาพสูง

นอกจากนี้เขายังอ่านพื้นที่รอบตัวได้ดี ทำให้มาติชสามารถใช้พื้นที่ได้อย่างชาญฉลาดซึ่งเมื่อผสมผสานกันกับสกิลการจ่ายบอลแล้ว มันทำให้มาติชเหมาะมากสำหรับstrategyของอันโตนิโอ คอนเต้ และเขาน่าจะเซ็ตบอลจากแดนหลังขึ้นหน้าได้ดีโดยการจ่ายบอลหนีเพรสของคู่แข่งได้

มาติชแสดงให้เห็นถึงการอ่านพื้นที่รอบๆได้ขาดและดึงตัวประกบไว้เพื่อที่จะจ่ายบอลฉีกหลุดไปให้กับแบรนดอนทางขวา

การป้องกันที่แข็งแกร่งในตัว และการลงเล่นที่รับความกดดันได้นั้น จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการเล่นของทีม ซึ่งเมื่อพูดถึงเรื่องนี้แล้ว แม้จะไม่ใช่คนที่ใช่สำหรับตำแหน่งนี้ แต่เฟร็ดก็เป็นออฟชั่นที่ไม่เลว ซึ่งปริมาณการครอบครองบอลของเฟร็ดจะต่ำกว่ามาติชหน่อย แต่ว่าเฟร็ดเป็นตัวกระจายบอลได้ และบ่อยครั้งตามเข้าไปช่วยเพื่อนร่วมทีมแดนหน้าด้วย ซึ่งมันก็แล้วแต่ความชอบของคอนเต้เลย บางทีเขาอาจจะเลือกเฟร็ดเพื่อความชัวร์ที่มากขึ้นในเกมรับก็เป็นได้

หากผู้จัดการทีมยึดโยงกับ 3-5-2 ของเขา เป็นที่คาดหมายว่า ปอล ป็อกบา และ บรูโน่ แฟร์นันด์ส จะเป็นคู่หูกันในแดนกลาง ในจุดของคู่มิดฟิลด์ตรงกลาง ซึ่งทั้งสองคนปั้นเกมให้ตัวรุกได้ดีจากบอลจ่ายของพวกเขา และการเคลื่อนที่ รวมถึงสปีดฝีเท้าซึ่งเป็นสิ่งที่คอนเต้นั้นต้องการจากมิดฟิลด์อยู่แล้ว

เขามักจะโอเวอร์โหลดนักเตะขึ้นไปในแดนของคู่แข่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน wide areas ของคู่ต่อสู้ (ริมเส้นด้านข้าง) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่วิงแบ็คจะสามารถครอสบอลได้ ในขณะที่แผงมิดฟิลด์จะคัฟเวอร์พื้นที่อยู่ในจุดที่เป็นช่อง "ฮาล์ฟสเปซ" อยู่ข้างๆวิงแบ็คที่ติดริมเส้น แล้วทำงานร่วมกันกับแนวรุกด้านหน้าของทีม

มิสเตอร์แฟร์นันด์ส ทำผลงานได้ดีเยี่ยมในตำแหน่งมิดฟิลด์ตัวรุกด้านหลังกองหน้า คอนเต้อาจจะปรับแผนการเล่นที่จะนำมาใช้กับยูไนเต็ดด้วยformationแบบ "3-4-1-2" ก็เป็นได้ โดยให้คู่หูอย่าง ป็อกบานั้น เล่นเป็นมิดฟิลด์ที่ปักหลักอย่างแข็งแกร่งอยู่ด้านหลัง และใช้แฟร์นันด์สเล่นอยู่ด้านหน้าเขา ซึ่งการวิ่งเติมขึ้นหน้าและไหวพริบของการแทงบอลอย่างยอดเยี่ยมของบรูโน่นั้นคืออาวุธที่ทรงพลังในภาคเกมรุกให้กับทีม

การสร้างสรรค์เกมในแดนหน้าของบรูโน่สามารถแทงบอลทะลุช่องให้เพื่อนได้ดี

Attack (ภาคเกมรุก)

เมื่อมองมาในทีม ผู้จัดการทีมจะมีตัวเลือกสองสามอย่างในเกมรุก แม้ว่าช้อยส์ที่ดูจะชัวร์สุดคงจะเป็นการจับคู่ระหว่าง มาร์คัส แรชฟอร์ด และ โรนัลโด้ ก็ตาม คอนเต้อาจจะเลือกใช้ระหว่าง กรีนวู้ด คาวานี่ ซานโช่ และ มาร์กซิยาด้วย

สำหรับเกมรุก กุนซือชาวอิตาเลียนรายนี้ต้องการสปีดความเร็ว ความเข้าใจตำแหน่งและพื้นที่ และการตัดสินใจที่เด็ดขาด

สปีดของแรชฟอร์ดนั้นจะมีประโยชน์กับแทคติกของคอนเต้มากๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาที่เกิดการเสียบอลเกิดขึ้น ทีมของเขาเวลาป้องกันมักจะเล่นอยู่ในทรง 5-4-1 โดยมีตัวรุกหนึ่งตัวค้ำแดนหน้าไว้ด้านบนสุด ในขณะที่ตัวอื่นๆที่เป็นไลน์เกมรับแถวสองนั้นจะคอยรบกวนคู่แข่งอยู่ตลอดเพื่อรอพวกเขาเสียบอล

แทคติกนี้จะทำให้ทีมมีความปลอดภัยในแนวหลัง และสามารถตอบสนองในการเล่นเร็วได้ทันทีที่ชิงบอลกลับมาได้จากการเพรสซิ่งของพวกเขา ซึ่งแรชฟอร์ดก็จะเล่นได้อย่างเฉิดฉายในบทบาทตัวสวนกลับนี้และจะเป็นกองหน้าตัวอันตรายในสายcounter-attack ในบอลของคอนเต้ทันที โดยมีคริสเตียโน่ โรนัลโด้คอยสนับสนุนการเคลื่อนที่ของแรชฟอร์ดอีกต่อหนึ่ง

หลังจากได้บอลยาว แรชฟอร์ดพาบอลขึ้นหน้าเข้าหากรอบเขตโทษ และเล่นคอมโบกับเพื่อนร่วมทีมที่เติมขึ้นมาพร้อมกัน

คอนเต้ต้องการจะให้มีบาลานซ์ในเกมรุกอย่างมาก ดังนั้นจึงค่อนข้างเป็นไปได้ที่จะเลือกโรนัลโด้เป็นคู่หูในการลงสนาม ซึ่งโรนัลโด้ไม่เพียงแต่มีไหวพริบหน้ากรอบเขตโทษเท่านั้น แต่ยังเคลื่อนที่ไปยังจุดต่างๆเพื่อช่วยเหลือและปั้นเพื่อนร่วมทีมได้อีกด้วย เพราะความฉลาดในการยืนตำแหน่งของโด้นั้นดีมากๆซึ่งจะทำให้เขาเป็นตัวเลือกคนสำคัญที่จะเป็นหัวหอกหลักในภาคเกมรุกแมนยูไนเต็ด ภายในการคุมทีมของคอนเต้

คุณสมบัติหลักๆ

มีคุณสมบัติหลักบางอย่างที่จะต้องมีสำหรับทีมของคอนเต้

คุณสมบัติประการแรก

ความแน่นอนในภาคเกมรับ คอนเต้คงจะต้องการปรับปรุงประสิทธิภาพในด้านเกมรับของแมนยูไนเต็ดอย่างแน่นอนซึ่งกำลังมีปัญหาด้านนี้อยู่ในช่วงหลังๆ พวกเราทำผิดพลาดหลายอย่างทั้งความผิดพลาดส่วนตัวที่เป็น Individual errors และความผิดพลาดในองค์รวม (Collective errors) ซึ่งมักจะนำไปสู่การเสียบอลและโดนคู่แข่งยิงใส่อยู่เป็นประจำ

การขาดสมาธิในระหว่างช่วงเปลี่ยนจังหวะเกม และการป้องกันในแดนของตัวเองจะต้องได้รับการปรับปรุง ผู้จัดการทีมคงจะต้องการเพิ่มเติมการเชื่อมต่อกัน(connection)ระหว่างไลน์ เพื่อที่จะหาจุดสนับสนุนและช่วยกองหลังให้เล่นได้ ไม่ใช่เพียงแต่เติมตัวผู้เล่นให้มากขึ้นอย่างเดียว แต่ยังจำกัดพื้นที่ระหว่างไลน์ให้แน่นอนมากขึ้น

และสุดท้ายซึ่งไม่ใช่ท้ายสุด โค้ชจะมุ่งเน้นไปที่ความเข้มข้นของการเพรส และสั่งให้นักเตะพยายามเอารีคัฟเวอร์บอลคืนกลับมาให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

ภาคเกมรับอินเตอร์ของคอนเต้นั้น นักเตะจะทำการบีบสเปซระหว่างไลน์ให้มีน้อยลง และปิดช่องว่างด้วยการเล่นที่มีระเบียบวินัยสูง

คุณสมบัติประการที่สอง

"การเล่น counter-attack" ยูไนเต็ดนั้นทำได้ดีอยู่แล้วในการเล่นเคาท์เตอร์ในปัจจุบัน ด้วยสถิติ 4.17 counter-attacks ต่อเกมถือว่าสูงแล้ว นั่นคือสิ่งที่คอนเต้จะทำให้มันมากยิ่งขึ้นไปอีก เพราะส่วนใหญ่แม้จะมีโอกาส แต่ทีมทำประโยชน์จากโอกาสของสถานการณ์สวนกลับได้ไม่เพียงพอ ซึ่ง 34.1%ของเกมสวนกลับที่ยูไนเต็ดเล่น จบลงด้วยการได้ยิงประตู พวกเขาเพิ่งจะทำประตูได้แค่ลูกเดียวจากโอกาสมากมายเหล่านี้ นั่นแปลว่าประสิทธิภาพที่มียังไม่สูงพอ และถ้าจะมีใครที่เข้ามาพัฒนาบอลสวนกลับตรงนี้ให้ดีขึ้นได้สักคน มันก็คงจะเป็นผู้จัดการทีมชาวอิตาเลียนรายนี้นั่นแหละ

แง่มุมอื่นของการcoachingโดยคอนเต้นั้นก็คือเรื่องของระเบียบวินัยและแรงขับในการเล่น ณ ตอนนี้ดูเหมือนว่าโซลชาจะสูญเสียการควบคุมในห้องแต่งตัวของเขาแล้ว ซึ่งส่งผลกระทบต่อPerformanceในสนามไปด้วย ซึ่งการคุมนักเตะของคอนเต้จะปรับปรุงแก้ไขเรื่องตรงนี้ได้

เขาบริหารด้วยระเบียบวินัยที่สูงลิบลิ่วด้วยการกระตุ้นนักเตะ และดึงฟอร์มการเล่นที่ดีที่สุดออกมาจากพวกเขาได้

นักเตะหลายๆคนได้เล่นตามศักยภาพของตัวเองภายใต้การคุมทีมของผู้จัดการวัย52ปีคนนี้เพราะว่าความใส่ใจในรายละเอียดของเขาต่อนักเตะ และเพื่อที่จะพัฒนาสกิลทักษะนักเตะเหล่านี้นั้นน่าประทับใจมาก ดังนั้นไม่น่าประหลาดใจเลยว่าถ้าเขาจะแปลงร่างนักเตะแมนยูคนใดคนนึงขึ้นมาได้สำเร็จ แม้ว่าอาจจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งการเล่นก็ตาม

คอนเต้นั้นยอดเยี่ยมมากในการใช้งานศักยภาพนักเตะได้คุ้มค่า และถ้ามีใครลำบากกับตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง เขาจะรีบหาคำตอบของปัญหานั้นๆให้เจอ จากนั้นก็เปลี่ยนเขาจากการเล่นระดับกลางๆ ให้กลายเป็นตัวkeyสำคัญได้เลย

ด้วยคำแนะนำสั่งสอนของคอนเต้ นักเตะอย่างฟานเดอเบค ซานโช่ และ เจสซี่ ลินการ์ด อาจจะมีโอกาสยึดตำแหน่งของตัวเองในทีมนี้สำเร็จก็เป็นได้

การรียูเนี่ยนอีกครั้งกับป็อกบานั้นได้รับการคาดหวังที่สูงมากๆ ซึ่งดาวเตะเฟร้นช์แมนรายนี้ก็มักจะมีปัญหากับผู้จัดการบางคนอยู่บ้างซึ่งก็ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการเล่นและแรงขับดันของเขา แต่ทุกๆคนรู้ดีว่า เมื่อใดก็ตามที่เขาอยู่ในช่วงท็อปฟอร์ม ป็อกบาคือหนึ่งในมิดฟิลด์ที่เก่งที่สุดในโลก และสร้างความแตกต่างให้กับทีมในภาคการครองบอล

สาเหตุที่ว่าทำไมคอนเต้ถึงได้เหมาะสมกับยูไนเต็ดนั้นก็คือ การที่เขาเคยได้คุมป็อกบาในช่วงขึ้นมาแรกๆที่ยูเวนตุส และเราสามารถพูดได้ว่าเขามีคู่มือที่ดึงเอาสิ่งที่ดีที่สุดของป็อกบาออกมาได้

ตอนนี้ดูเหมือนนักเตะจะหาทางเลือกในการย้ายออกจากแมนเชสเตอร์ไปอยู่กับทีมอื่นๆ แต่ถ้ามีคอนเต้เข้ามากุมบังเหียนที่นี่ละก็ เขาก็อาจจะลังเลในการออกจากที่นี่ก็เป็นได้

สถิติฤดูกาลก่อนๆกับยูเว่(ดำ) VS สถิติปัจจุบัน(แดง) การสร้างสรรค์โอกาสและการมีส่วนร่วมกับเกมรุกของป็อกบานั้นมีมากขึ้น

Conclusion

มันอาจจะไม่สวยหรูหรือดูง่ายในช่วงแรกๆ ดูเหมือนว่าคอนเต้จะเป็นตัวเลือกผู้บริหารงานที่ใช่สำหรับแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดชุดปัจจุบัน กุนซือรายนี้จะเตรียมพร้อมมาด้วยแพลนที่เขาวางไว้ และจะไม่ยอมเสียเวลากับการเปลี่ยนแปลงอันเชื่องช้าใดๆทั้งสิ้น เชื่อว่าเขาจะปรับมาเล่นกลยุทธ์ของตัวเองทันทีทันใด และพยายามที่จะช่วยแมนยูให้รอดพ้นฤดูกาลนี้ไปได้ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพในด้านเกมรับให้แน่นขึ้น และเน้นนักเตะที่เป็นจุดแข็งในภาคของเกมรุกมากกว่าเดิม

จากการวิเคราะห์แสดงให้เห็นว่า เขามีวิสัยทัศน์ในด้านแทคติกที่เห็นได้ชัดซึ่งบางทีอาจจะเหมาะสมกับยูไนเต็ดอย่างมากสำหรับบุคลากรปัจจุบันที่มีอยู่ในทีมของเรา

ในยามที่แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดมีปัญหาที่ภาคระบบการเล่นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะเกมรับที่รั่วหนักยิ่งกว่าปีที่แล้ว ทั้งๆที่ได้วารานมาเสริมทีม รวมถึงแดนกลางที่ขาดเสถียรภาพและไม่มีความแน่นอนในการครองเกม หรือเล่นป้องกันที่มีประสิทธิภาพ นี่คือ "สองแอเรีย" ที่เป็นจุดอ่อนของแมนยูไนเต็ดที่ต้องแก้พอดี

และคอนเต้ ก็เป็นคนที่มีแทคติกที่ "แข็งแกร่ง" ในสองแอเรียที่เป็นจุดอ่อนของแมนยูไนเต็ดพอดี กับการจะเข้ามาใช้formationที่เหมาะกับแมนยูตอนนี้มากที่สุดสำหรับการเล่น 3-5-2 ในรูปทรงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น 3-4-1-2 แบบใช้บรูโน่กับหน้าคู่ หรือจะเป็น 3-4-3 ที่ยังคงยึดโยงกับการใช้ปีกสองข้างตามสไตล์แมนยู ก็ยังเล่นได้อยู่เหมือนเดิม

พูดก็พูดเถอะ ในสายตาผู้เขียน เฉพาะเรื่องเชิงtacticalแล้ว ผู้จัดการทีมที่เหมาะที่สุดจะนำเข้ามาแก้ปัญหาภาคการเล่นของแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดในฤดูกาลนี้ อันโตนิโอ คอนเต้ ดูจะเหมาะสมมากที่สุดแล้ว ไม่ว่าคุณจะชอบตัวตนหรือบุคลิกภาพของเขาหรือเปล่าก็ตามที นั่นคืออีกเรื่องหนึ่ง

ต้องดูว่าบอร์ดบริหารเราจะทำยังไง จะยอมจ่ายค่าจ้างมหาศาลให้เขา เพื่อแลกความแน่นอนในระบบการเล่นที่มีประสิทธิภาพหรือไม่ และสร้างสิ่งแวดล้อมที่สนับสนุนการทำทีมของคอนเต้ได้มากเพียงใด

นี่คือสิ่งที่แฟนบอลปีศาจแดงจะต้องดูกันต่อไป

-ศาลาผี-


Reference

https://totalfootballanalysis.com/analysis/antonio-conte-at-manchester-united-2021-22-tactica-analysis-tactics

ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ระดับ : {{val.member.level}}
{{val.member.post|number}}
ระดับ : {{v.member.level}}
{{v.member.post|number}}
ระดับ :
ดูความเห็นย่อย ({{val.reply}})

ข่าวใหม่วันนี้

ดูทั้งหมด