:::     :::

Tactical Analysis : ชำแหละ"โคตรแทคติก"ของ Ralf Rangnick

วันอาทิตย์ที่ 28 พฤศจิกายน 2564 คอลัมน์ #BELIEVE โดย ศาลาผี
8,461
ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
แกะบทวิเคราะห์รูปแบบวิธีการเล่นในแทคติกของ ราล์ฟ รังนิค อย่างละเอียดโดยข้อมูลจากเว็บ totalfootballanalysis.com ที่ถูกนำมาแปลและเรียบเรียง ด้วยความเข้าใจในแทคติกทั้งหมดทุกขั้นตอนของรังนิค หากค่อยๆอ่านบทความนี้ช้าๆและคิดตามได้จนจบ คุณจะเข้าใจ "ปรัชญาของรังนิค" แบบทะลุปรุโปร่งทันที

ราล์ฟ รังนิก คือหนึ่งในเฮดโค้ชที่โด่งดังที่สุดในวงการฟุตบอลของเยอรมัน โดยที่งานของเขาในการเป็นผู้จัดการทีมนั้น ได้รับการยอมรับว่าเป็นนักปฏิวัติคนหนึ่ง ในฐานะที่เป็นโค้ชคนแรกที่ปรับเอาระบบแบ็คโฟร์เข้ามาใช้ใน Bundesliga

บทความการวิเคราะห์แทคติกในครั้งนี้จะพิจารณาการทำทีมของเขาตอนที่รับงานอยู่กับ TSG Hoffenheim และช่วงเวลากับ RB Leipzig ในฐานะที่เป็นสโมสรซึ่งเขาคุมเกมลงเล่นในบุนเดสลีกามากที่สุด

ในภาคการวิเคราะห์ของบทความนี้จะเปิดเผย "หลักการเล่น" ของรังนิคในขณะที่อยู่ในเฟสของขณะที่ "ทำเกมรุก" และ "เล่นเกมรับ"

นอกจากสองประเด็นนี้ยังอธิบายถึงวิถีแห่งการปฏิวัติวิธีคิดในวงการฟุตบอลบุนเดสลีกาเกี่ยวกับเรื่องแทคติก โดยเฉพาะการเล่นของทีม ที่เน้นหนักในจังหวะที่เกิดการเปลี่ยนการครอบครองบอล (transition phases) เกิดขึ้น

ระบบการเล่นที่ใช้บ่อย

กับฮอฟเฟ่นไฮม์นั้นรังนิคใช้ "4-3-3" เป็นหลัก ซึ่งหากดูอาชีพการคุมทีมตลอดระยะเวลาของเขาส่วนใหญ่ ระบบที่รังนิคใช้บ่อยที่สุดก็คือ "4-4-2" ในลักษณะของการไฮบริดที่ทรงจะกลายเป็น "4-2-2-2" ดังภาพในกราฟฟิคข้างล่างนี้ ซึ่งอีกรูปแบบนึงที่ราล์ฟ รังนิคใช้ในระบบแบ็คโฟร์ก็คือ เขาปรับเป็น "4-4-2 Diamond" ซึ่งก็เป็นแผนที่คล้ายคลึงกับ 4-2-2-2 นั่นแหละไม่ต่างกัน เพราะว่าทั้งสองFormationนี้ โฟกัสพื้นที่ตรงกลางเป็นหลัก

(แผน 4-2-2-2 กับแผน Diamond สังเกตดีๆคือจะไม่ใช้ปีกริมเส้น ตัวหลักๆของทีมจะเป็นผู้เล่นยืนโซนตรงกลางมาก ใช้ผู้เล่นริมเส้นน้อยตัว ซึ่งหลักๆก็คือวิงแบ็คคนเดียวที่รับผิดชอบเกมด้านข้าง)


formation 4-4-2 ของทีมรังนิค(สีขาว) ด้วยการใช้ปีกหุบเข้าใน ทำให้ทรงมันไฮบริดกลายเป็น 4-2-2-2

ช่วงปลายๆสมัยไลป์ซิก รังนิคปรับformation มาเป็น "3-5-2" บ้างเป็นบางครั้งจากแผนหลักอย่าง 4-4-2/4-2-2-2 ของเขา ซึ่งถึงแม้ว่าหลักการที่ใช้จะยังเหมือนเดิม แต่ทีมของรังนิคก็จะ "ตัวเติม" อีกหนึ่งตัวจากแผงมิดฟิลด์ ขึ้นไปทำเกมกับตัวรุกสองคน

ลักษณะเช่นนี้จะทำให้ลูกทีมของรังนิคสามารถ "ดันสูง" ขึ้นในสนามได้สบายๆ เพราะทีมจะเหลืออีก "หนึ่งตัว" ที่รักษาพื้นที่หน้าแผงหลังอยู่

ลักษณะที่ว่าจะทำให้นักเตะในทีมซึ่งใช้ระบบของรังนิค จะมีจำนวนตัวผู้เล่นที่เหนือกว่า "มิดฟิลด์ตัวกลางของคู่แข่ง"

เมื่อดันสูงเช่นนี้จะส่งผลในขณะที่เราเล่นเกมรับ (defensive phase) ทีมจะมีจำนวนผู้เล่นเหนือกว่านักเตะบริเวณมิดฟิลด์ของทีมคู่แข่ง มากกว่าที่จะเป็นฟูลแบ็คของคู่แข่ง

วิธีการที่ว่านี้ คุณผู้อ่านจะเห็นมันเป็นประเด็นหลักของหัวข้อต่อไป

แทคติกวิธีการ "เพรสซิ่ง"

รังนิคนั้นได้ดูแบบแผนการเพรสซิ่งมาจากปรมาจารย์อิตาลีอย่าง "อาร์ริโก้ ซาคคี่" ที่ AC Milan แล้วนำเอาหลักการบางส่วนของซาคคี่มาใช้งาน อย่างเช่นเรื่องของวิธีการเล่นเกมรับ ที่มุ่งเน้นไปยังเรื่องของ พื้นที่ว่าง และ บอล ซึ่งซาคคี่นั้นคือผู้ริเริ่มเกมเพรสซิ่งคนแรก แต่รังนิคนั้นคือหนึ่งในผู้บุกเบิกของบุนเดสลีกาที่มีการปฏิวัติเรื่องของแทคติกการเล่น จากระบบที่ใช้สวีปเปอร์ (Sweeper) มาสู่แผนระบบแบ็คโฟร์ (back four system)

ในยามที่ "ไม่มีบอล" ทีมของรังนิคนั้นจะพยายาม "เพรสเร็วทันที" ใส่คู่แข่ง มากกว่าที่จะปล่อยเวลาไว้นานแล้วค่อยเพรส ทั้งนี้เป็นเพราะว่า การเพรสเร็วทันทีจะทำให้ทีมมีโอกาสได้บอลในแดนที่สูงขึ้นมาในสนาม

หากว่าทีมได้บอลในแดนที่สูงมากเท่าไหร่ จะยิ่งเปิดโอกาสให้ทีมสามารถเปลี่ยนจังหวะการเล่นได้ทันที เพื่อที่จะโจมตี และเล่นงานใส่คู่แข่งที่กำลัง "เสียทรง" การยืนที่ไม่มีระเบียบอยู่ และกลับมายืนตำแหน่งตั้งทรงป้องกันเราไม่ทัน

ซึ่งนอกจากคู่แข่งจะอยู่ในสภาวะเสียทรงแล้ว การได้บอลแดนสูงจะยิ่งทำให้ทีมได้บอลเล่นในบริเวณที่ "ใกล้กับโกลฝั่งคู่แข่ง" มากขึ้น ทำให้โอกาสที่จะ "ทำประตู" ได้ จึงมีสูงมากๆ เพราะแค่ต่อบอลกันไม่กี่จังหวะ ไม่กี่วิ ก็น่าจะมีโอกาสได้ยิงแล้ว เพราะเราได้บอลคืนมาใกล้ๆกับประตูของคู่แข่ง

จ่ายชิ่งกันสามสี่ที บางทีก็ได้จบสกอร์แล้ว ไม่ว่าจะเข้าหรือไม่เข้าก็ตาม .. นึกภาพออกนะครับ

สามตัวในรูปนี่แหละ ตัวเข้าทำเร็วคมๆของทีมเลย

ในเรื่องการเพรสซิ่งนั้น รังนิคกล่าวด้วยตัวเองว่า เขานั้นต้องการที่จะเพรสใส่ตัวครองบอลของคู่แข่ง ด้วยจำนวนที่ได้เปรียบกว่าคู่แข่งอย่างน้อยๆ "หนึ่งตัว" (ซึ่งก็คือ จะบีบเพรสใส่ตัวถือบอลทีมตรงข้าม ด้วยนักเตะตั้งแต่ 2 คน ขึ้นไป)

เพื่อที่จะเตรียมการให้เกิดสถานการณ์ที่ทีมมีจำนวนผู้เล่นที่ได้เปรียบตัวครองบอล (เข้าไปรุมนั่นแหละ) พวกเขาจะ "วางtrap" ใช้กับดักใส่คู่แข่งด้วยการ "ล่อ" ให้เหยื่อเข้ามาติดกับ

สิ่งที่เห็นได้บ่อยๆยามที่เขาเล่น "เพรสสูง" เมื่อตอนที่คุม Hoffenheim นั้น การวางแทรปจะเริ่มขึ้นจากการที่เปิดโอกาสให้คู่แข่งมี "มิดฟิลด์ตัวยืนว่าง" ในพื้นที่เปิด เป็นเป้ารับบอลจากเน็ตเวิร์คการ passing ของคู่แข่ง

เมื่อทุกคนในระบบของรังนิค อ่านเกมและมองเห็น "เหยื่อที่ติดกับ" ตัวดังกล่าว ว่าจะเป็นคนต่อไปที่คู่แข่งจ่ายบอลมาแน่ๆ ระบบของรังนิคจะใช้ผู้เล่นหลายๆคน วิ่งเข้าไปเพรสรุมใส่ "เหยื่อ" ตัวดังกล่าวทันทีจากด้านที่เป็นจุดบอด (blind-side) ซึ่งคู่แข่งจะมองไม่เห็น และไม่สามารถป้องกันได้ว่า จะโดนโจมตีจากด้านไหนบ้าง

เคสในภาพนี้คือฮอฟเฟ่นไฮม์ของรังนิคสร้างpressing trap เปิดโอกาสให้คู่แข่งจ่ายมาให้ตัวกลาง รอจังหวะวิ่งเข้าไปรุมบีบพร้อมกันด้วยตัวที่เยอะกว่า

ด้วยระบบการเล่น 4-3-3 จะรับประกันว่าทีมจะมีมิดฟิลด์มากพอที่จะเพรสในแดนกลางของสนามได้อย่างดี ส่วนตำแหน่งการยืนในด้านกว้างของผู้เล่นปีกของทีม จะทำหน้าที่กดดัน และ "บีบ" ให้คู่แข่งต้องเล่นเพลย์ที่ทำให้พวกเขาต้องจ่ายบอลเข้าไปติดกับดักที่เราวางไว้

เรียบร้อย.. เมื่อศัตรูติดกับ จะสามารถถึงเล่นสามรุมหนึ่งใส่ตัวครองบอลได้เลย

แต่นอกเหนือจาก "Pressing Traps" ที่ใช้บ่อยๆอยู่เป็นประจำแล้วนั้น พวกเขาจะมี "สัญญาณการเริ่มเพรส" อยู่ในนั้นด้วย กล่าวคือ เมื่อสังเกตกลไกการเพรสซิ่งของรังนิค มีบางอย่างที่คล้ายคลึงกับที่คล็อปป์ใช้กับลิเวอร์พูลในปัจจุบัน

สัญญาณเริ่มเพรสซิ่งของทีมอาจจะมีหลายสถานการณ์ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเห็นคู่แข่งมีการจ่าย "Square Passes" ระหว่างเซ็นเตอร์แบ็คเกิดขึ้น (จ่ายกันเองไปมาระหว่างตัวด้านข้าง หรือจ่ายคืนหลัง)

เมื่อเห็นการเล่นดังกล่าว ก็เหมือน "ลั่นไกการเพรสซิ่ง" ของทีมให้เริ่มต้นเพรสทันที โดยใช้ปีกวิ่งบีบใส่เซ็นเตอร์ตัวที่จะเป็นคนรับบอลsquare passes ดังกล่าวที่ถูกจ่ายคืนมา นั่นจะทำให้เซ็นเตอร์ตัวดังกล่าวที่โดนเริ่มเพรสใส่ จะถูกบีบให้ต้องเซ็ตบอลกลับมายัง "ด้านเดิม" ของทีม (ในรูปคือฝั่งด้านซ้ายของคู่แข่ง)

เมื่อมีการจ่ายคืนเกิดขึ้น ปีกซ้ายจะเริ่มเกมเพรสให้ฮอฟเฟ่นไฮม์ทันที ในภาพให้สังเกตแบ็คขวาที่ดันเกมขึ้นมาสูงเรียบร้อยแล้ว

จากการที่ทีมเรามีปีกอีกข้าง(ปีกขวาในภาพ) บีบใส่เซ็นเตอร์อีกตัวแล้ว กองหลังคู่แข่งที่โฮลด์บอลอยู่ จะถูกบังคับให้ต้องเล่นยากด้วยการจ่ายบอลขึ้นหน้า ซึ่งหากจ่ายขึ้นมาก็มีโอกาสที่จะโดนตัดบอลโดยแผงมิดฟิลด์ของฮอฟเฟ่นไฮม์ที่ยืนกันในทรงที่บีบพื้นที่แคบเข้ามาด้วยกัน

นอกจากนี้ หากบอลไปเล่นอยู่ใกล้บริเวณตำแหน่งฟูลแบ็ค ทีมจะดันตำแหน่งขึ้นไปยืนสูงเพื่อที่จะช่วยบีบเพิ่มอีกต่อ ถ้าจำเป็นต้องมีคนวิ่งไปช่วยเพิ่ม หรือเพื่อที่จะตัดบอลใส่ลูกจ่ายที่วางมาไม่แม่น

ข้อแตกต่างหลักๆระหว่างการเพรสช่วงคุมฮอฟเฟ่นไฮม์ กับการเพรสช่วงรับงานที่ไลป์ซิกนั้นก็คือ ตอนคุมฮอฟฯ ทีมจะถูกวางมาให้บล็อคเกมตรงกลางเป็นหลัก มากกว่าที่จะดันสูงขึ้นมาเพรสใส่ในแดนฝั่งคู่ต่อสู้

ในระบบ 4-4-2 กับไลป์ซิก พวกเขาสามารถสังเกต "สัญญาณเริ่มเพรสซิ่ง" แบบง่ายๆอย่างเช่น เมื่อเห็นการจ่ายบอลมาให้ฟูลแบ็คเมื่อไหร่ ทีมจะขยับแกนทั้งทีมบีบมาทางฝั่งที่บอลถูกจ่ายมาเล่นฝั่งนั้นๆ โดยครองพื้นที่เพียงแค่ 1/4 ของสนาม พวกเขาจะเพรสเข้าใส่ตัวที่ครองบอล แล้วก็ปิดผนึกทางจ่ายบอลของคู่แข่งในทุกๆตัวเลือก จนไม่รู้จะจ่ายไปทางไหนได้


ด้วยการเพรสซิ่งสูงอย่างเข้มข้น (High Pressing Intensity) จะทำให้ฝ่ายตรงข้ามไม่สามารถ "สวิตช์บอล" ข้ามฝั่งได้ ทำให้ทีมอาจจะเจาะใส่คู่แข่งในด้านไกลได้ (ฝั่งขวาของทีม ในภาพด้านล่าง)

ด้วยไลน์การยืนที่ประกอบกันแต่ละไลน์ด้วยผู้เล่น4คน (ใน4-4-2) จะช่วยซ้อนให้กันและกันด้วยการขยับส่ายในแนวทแยง เพื่อป้องกันไม่ให้มันเทมากเกินไป

มิดฟิลด์ตัวด้านไกลที่ห้อยอยู่ จะคุมพื้นที่หน้าแผงหลังไว้ (CMตัวกลางในรูป) ในขณะการเล่นของพวกเขา เซ็นเตอร์ที่อยู่ฝั่งด้านไกลในภาพ จะทำหน้าที่เป็นองครักษ์พิทักษ์พื้นที่ด้านหลังแบ็คไลน์ (ไลน์ของ CB กับ RB ในรูป จะเห็นCBตัวไกล ยืนห้อยหลังอยู่ตัวนึงคล้ายๆทิ้งเป็นสวีปเปอร์ในแบบเยอรมันยุคคลาสสิค)

เมื่อระบบแบ็คโฟร์ที่เขานำมาเล่น ยังเป็นของใหม่อยู่ในตอนนั้นสำหรับหลายๆทีมในบุนเดสลีกา รังนิคกล่าวในรายการ Sportstudio ของเยอรมันเอาไว้ว่า "เรายังไม่ได้เลิกใช้ตัวสวีปเปอร์นะ มันก็แล้วแต่สถานการณ์ว่าใครยืนเป็นตัวสวีปเปอร์อยู่"

ทีมรังนิค(ขาว)จะขยับไปฝั่งซ้ายมากเพื่อกดการเล่นของแบ็คคู่แข่งด้วยจำนวนที่เหนือกว่า(3-1) สังเกตstructureที่เป็น"สามเหลี่ยม" ที่ไปเพรสบังทางด้วย

คล้ายๆกับทีมส่วนใหญ่ที่เน้นการบุก รังนิคต้องการให้ทีมของเขาสร้างสามเหลี่ยมตอนเพรสด้วย สิ่งนี้ทำให้ทีมสามารถคุมพื้นที่ได้มากขึ้น แล้วคู่แข่งจะไม่สามารถขยับหนีไปไหนได้เลย เพราะว่าสามเหลี่ยมเพรสจะช่วยปิดช่องให้กันและกัน

การเพรสซิ่งที่ถูกวางโครงสร้างมาเป็นอย่างดี ดังที่กล่าวมานั้น นอกจากปิดช่องให้กันแล้ว มันก็ถูกสร้างมาก็เพื่อสามารถโจมตีด้วย Counter-Attack ได้ทันทีอีกด้วย ดังจะสามารถสังเกตได้จากหัวข้อข้างล่างต่อจากนี้

ช่วงเปลี่ยนผ่านการครอบครองบอล (Transition phases) : Counter-attacking และ Counter-pressing

หลักคิดในการเล่นของทีม ช่วงจังหวะ transition play คือลักษณะเฉพาะตัวที่โดดเด่นมากของปรัชญาวิถีรังนิค ช่วงอยู่คุมฮอฟเฟ่นไฮม์นั้น ทีมของเขาเป็นที่ขึ้นชื่อเรื่องการเล่น counter-attacks แบบรวดเร็ว

การจ่ายบอลที่เน้นจ่ายในแนวตั้ง (แนวvertical) จะช่วยให้บอลขึ้นหน้าได้ในเวลาอันรวดเร็ว ไม่ใช้เวลาเยอะ โดยที่การจ่ายแบบ "Square passes" (ที่จ่ายคืนเพื่อนข้างๆ หรือจ่ายคืนหลัง) จะถูกกำชับไม่ให้จ่ายบอลแบบนั้นถ้าไม่จำเป็น หรือให้น้อยที่สุด เพื่อไม่ให้ "เสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์"

เพราะเวลาตรงนั้นมันมีค่ามากๆ เนื่องจากการทำเกมขึ้นหน้าให้เร็วที่สุด คู่แข่งก็จะมีการตั้งรับที่อ่อนลงด้วย เพราะกลับมาประจำตำแหน่งไม่ทัน เซ็ตทรงการเล่นป้องกันได้ไม่สมบูรณ์ และสับสนกับสถานการณ์ตรงหน้าที่จะโดนโจมตีจากเรา

ซึ่งช่วงเวลาตรงนี้แหละ คือปรัชญาสำคัญของรังนิคที่จะใช้เวลาสั้นๆตรงนี้ให้เป็นประโยชน์กับทีมมากที่สุด

นอกจากนั้นแล้ว โค้ชชาวเยอรมันผู้นี้ยังต้องการให้ทีมหาโอกาส "จบสกอร์" ในเกมcounter-attack ให้ได้ภายใน "10วินาที" ตามกฎ10วินาทีดังกล่าว มันเป็นกรอบเวลาที่ทีมมีโอกาสทำประตูสูง

เพื่อฝึกวิถีแห่ง transition play ดังกล่าว รังนิคจะใช้นาฬิกาจับเวลาถอยหลังให้นักเตะได้ยินเสียงนาฬิกาเดินเลยในสนามซ้อม ซึ่งวิธีการใช้ "กฎ10วินาที" ให้ทีมสร้างการ "จบสกอร์" ให้ได้นั้น จะถูกฝึกให้กลายเป็น "สัญชาตญาณ" ของทีมให้เล่นแบบนี้โดยธรรมชาติ ตามแนวทางของรังนิค

หลังจากที่ชิงบอลกลับมาครองได้แล้ว หลักการต่อมาก็คือ ทีมจะรีบมองหาตัวรุกที่ดีที่สุดในสถานการณ์นั้นทันที ปีกจะซัพพอร์ตผู้เล่นที่ได้บอลทันทีด้วยการวิ่งขึ้นจากแนวลึก เพื่อสร้างทางจ่ายบอลให้เพื่อน แต่ไม่ว่ายังไงก็ตาม พวกเขาจะเล่นบอลในแนวด้านกว้างให้น้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น เพื่อที่จะย่นระยะการเล่น ให้มันขึ้นหน้าไปหาประตูคู่แข่งให้เร็วที่สุด

เราสามารถดูตัวอย่างจากเกมของรังนิคตอนคุมฮอฟฯ จังหวะที่พวกเขาเล่นจากกรอบเขตโทษตัวเอง ต่อบอลขึ้นมาถึงเขตโทษบาเยิร์นมิวนิคได้ ภายในการจ่ายบอลเพียงแค่ "4ครั้ง" เท่านั้นหลังจากชิงบอลมาได้


ฮอฟเฟ่นไฮม์สามารถเล่นวันทูวิ่งเข้ากรอบได้ตามภาพ โดยไม่จำเป็นต้องใช้พื้นที่เต็มด้านกว้าง และไม่ต้องรอปีกเติมขึ้นมาช่วยก็โจมตีได้เลย

และหลังจาก 4 จังหวะ เข้ามาถึงกรอบแล้ว การจ่ายบอลครั้งที่5 ซึ่งเป็นจ่ายบอลครั้งสุดท้าย (final pass) กองหน้าจะมีโอกาสจบสกอร์ได้เลยทันที ด้วยการจ่ายบอลครั้งเดียวในกรอบเขตโทษ ตามภาพบนนี้

เช่นเดียวกันกับจังหวะ transition (เปลี่ยนการครอบครองบอล) ที่ทีมได้บุก เมื่อเกิดจังหวะtransition ที่ทีมเสียบอลและต้องเล่นเกมรับ เรื่องนี้ถือเป็นองค์ประกอบที่สำคัญสุดๆของโมเดลรูปแบบการเล่นของรังนิคเช่นกัน

เปรียบเทียบจังหวะ transition ที่ทีมได้บุก กรอบเวลาการเล่นหลังจากที่ทีมเสียบอล จะสั้นยิ่งกว่าตอนบุกอีก เพราะภายในเวลาแค่8 วินาที ทีมจะต้องชิงบอลกลับมาให้ได้ ในช่วงที่คู่แข่งยังตั้งเกม จัดทรงกันไม่เป็นระเบียบ ใน "กฎ 8 วินาที"

หลายๆคนมักจะนึกถึง Jürgen Klopp เมื่อเอ่ยถึง Gegenpressing ขึ้นมา แต่ในความเป็นจริงคือ รังนิคเป็นคนที่เผยแพร่ counter-pressing ขึ้นมาในวงกว้าง

โครงสร้างการยืนของทีมที่บีบเข้ามาให้ยืนกันแคบนั้น จะช่วยรักษาระยะห่างระหว่างนักเตะในทีมเดียวกันให้สั้นลงได้ ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนั้น ทั้งทีมจะสามารถเคลื่อน(shift)เข้าไปหาบอลได้ทันทีหลังจากเสียบอล ซึ่งจะทำให้เกมรุกของคู่แข่งถูกเบรคทันทีก่อนจะมาเล่นงานเราได้

ถึงจะพลาดเสียบอล แต่การจัดระเบียบยืนทรงที่ดีของไลป์ซิกในแผนรังนิค จะแย่งบอลกลับมาได้ทันทีใน3วิ ด้วยการยืนที่แน่นและกะทัดรัด(compact)

การชิงบอลกลับมาได้วิธีการเพรสซิ่งสวนกลับคู่ต่อสู้ (counter-press) เช่นนี้ ก็จะทำให้ทีมมีโอกาสจะได้ counter-attack เพิ่มขึ้นมาด้วยในเวลาเดียวกัน

หลักของเกมบุก

แทคติกการบุกของรังนิคนั้น จะยึดการส่งบอลในแนวตั้งอย่างรวดเร็ว (quick vertical passes) แม้แต่การยืนตำแหน่งในเกมบุก ทีมของรังนิคก็จะกดดันคุกคามใส่ประตูฝั่งคู่ต่อสู้ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

ตัวเล่นที่เป็นคู่ double pivot หน้าแผงหลังจะต้องทำหน้าที่ป้องกันแนวรับของทีม ทั้งในจังหวะที่เล่นเกมบุก และตอนที่ทีมเสียบอลด้วยเช่นกัน การเล่นนี้จะถูกตั้งโปรแกรมเตรียมเอาไว้ และสามารถเห็นได้จากอดีตโค้ชไลป์ซิกรายนี้

แทนที่จะใช้วิธีการเล่นแบบ positional play (แนวทางแบบเป๊ปที่ยืนตำแหน่งเพื่อสร้างความเหนือกว่าคู่ต่อสู้ในทุกๆพื้นที่ตลอดเวลา) แต่รังนิคจะมุ่งเน้นไปที่การ overloads (เติม)นักเตะเข้ามาเยอะๆมากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ "ฮาล์ฟสเปซ" (half-spaces) เน้นยืนด้วยโครงสร้างทรงสามเหลี่ยม หรือสร้างทรงไดมอนด์ขึ้นมา มันจะทำให้พวกเขาสามารถใช้การเล่นที่น้อยจังหวะประสานกันด้วยความเร็วที่สูง

ไลป์ซิกของรังนิค ใช้การยืนสามเหลี่ยม และช่องจ่ายสั้นๆ ผสมผสานเข้าด้วยกันเพื่อเจาะบล็อคคู่แข่ง

ทีมของรังนิคมักจะเล่นโดยการมีตัวจบสกอร์สองตัวในแดนหน้า ในขณะที่ปีกจะหุบเข้ากลางในบางครั้งและทำหน้าที่เป็นเพลย์เมคเกอร์หลังคู่หน้า

ด้วยการที่ปรับผู้เล่นปีกให้เล่นเป็นตัวสร้างสรรค์เกมรุกนั้น คู่ double pivot ตรงกลางก็จะไม่จำเป็นต้องยืนค้ำอยู่พื้นที่ตรงกลางอย่างเดียว มันจะทำให้เกิดออฟชั่นการเล่นที่เพียงพอเกิดขึ้น โดยที่คู่กลางสามารถถ่างออกด้านข้างในแนวกว้างได้ เพื่อที่จะปลดปล่อยให้ฟูลแบ็ค สามารถเติมสูงขึ้นไปได้อย่างสบายใจ

สังเกตCMตัวกลางถ่างออกมาขวา ทำให้แบ็คขวาเติมขึ้นสูงได้สบาย และยังเกิดpassing lane ที่CBจะจ่ายตรงให้ปีกขวา(RW)ในรูปได้ทันที

มิดฟิลด์ตัวรับจะไม่ยืนอยู่ในพื้นที่เดิมตลอดเวลา ความยืดหยุ่นตรงนี้ที่ขยับตำแหน่งได้ มันจะทำให้คู่แข่งลำบากมากๆว่า ทีมรังนิคจะปั้นเกมขึ้นมาบุกยังไงบ้าง เพราะมีกลางเติมด้วย

การสลับตำแหน่งที่มีการหุบเข้าใน-ถ่างออกด้านข้างเช่นนี้ จะทำให้มิดฟิลด์คู่แข่งเล่นลำบากที่จะไม่สามารถยืนตัดช่องจ่ายบอลของเราได้ครอบคลุมพอ ผลลัพธ์ของสิ่งนี้จะช่วยให้ทีมของรังนิคทำเกมขึ้นหน้าได้อยู่บ่อยครั้งโดยเจาะในพื้นที่ half-spaces

โดยการยืนของกองหน้าที่ค้ำอยู่ในช่องกลาง ทีมจะสามารถเจาะแผงรับคู่แข่งได้อย่างรวดเร็วด้วยบอลทะลุช่อง ทำได้ทั้งการเปลี่ยนมาโจมตีในแนวทแยงเอียงข้างในสนาม ให้กลายเป็นการวิ่งพุ่งขึ้นหน้าแบบverticalจากแนวลึกทันที หรือว่า จากการเล่นในแนวตั้งอยู่ ก็สามารถ "วิ่งทแยง" ได้ทันที ถ้ามีบอลทะลุช่องเกิดขึ้น

การที่พวกเขาเติมนักเตะขึ้นมาปริมาณมากในพื้นที่หน้าไลน์เกมรับของคู่แข่ง แผงหลังคู่แข่งก็จะลำบากทุกครั้งว่าจะป้องกันจุดไหน จะขยับออกจากตำแหน่งไปแล้วเผลอเปิดช่องว่าง หรือจะยืนปักหลัก รักษาตำแหน่งด้านหลังเอาไว้ ซึ่งจะทำให้หนึ่งในตัวรุกของรังนิคได้บอล และพลิกได้ทันที 

CMถ่าง ทำให้RBเติมสูงได้ ทำให้แบ็คซ้ายคู่แข่งจะสับสนทันทีว่าต้องป้องกันตัวไหน เพราะโดนoverloadedเข้ามาของRB และ ปีกที่หุบเข้ามาพร้อมกัน

การมีนักเตะปริมาณมากๆที่เติมขึ้นมาเล่นกับคู่กองหน้า และการมีเพลเมคเกอร์ที่ทำเกมได้อย่างน้อย2ตัว การเซ็ตอัพเช่นนี้จะช่วยให้พวกเขาสามารถตอบโต้การเคลื่อนที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีผู้เล่นตัวนึงลงต่ำมา อีกคนก็พร้อมที่จะเจาะพื้นที่ว่างที่เกิดขึ้นทันที หากว่ากองหลังเขาหลุดจากตำแหน่ง(เพราะไล่ตามกองหน้าที่ลงต่ำเพื่อดึงตัวCBประกบออกจากพื้นที่)

โครงสร้างการเล่นเกมรุกที่บีบแคบเข้ามาเล่นด้วยกันของนักเตะ จะบีบให้คู่แข่งต้องหุบแคบเข้ามาป้องกันเราตามไปด้วย ด้วยทรงป้องกันที่พวกเขาหุบแคบลงมาเพื่อที่จะปิดช่องจ่ายของเราในบริเวณพื้นที่ตรงกลาง (centre) และพื้นที่ฮาล์ฟสเปซ (half-spaces) เมื่อเป็นเช่นนั้น ผลที่ตามมาก็คือ คู่แข่งก็จะเปิดพื้นที่ว่างด้านข้าง(flanks)ทันที ซึ่งฟูลแบ็คของเรา ก็จะสามารถเติมมาเล่นได้ดี

เมื่อออกไปเล่นในด้านกว้าง ทีมรังนิคก็จะบุกใส่พื้นที่ฮาล์ฟสเปซก็ได้ หรือจะเปิดบอลครอสเข้าไปก็ได้เช่นกัน

ด้วยปริมาณนักเตะที่เยอะมากพอใน final third ของคู่แข่ง ทีมของรังนิคจะโถมเข้าไปในกรอบด้วยตัวรุกเต็มไปหมด ทำให้คู่แข่งลำบากในการตาม marking ประกบตัวได้ครบทุกคน

Conclusion

สไตล์การทำทีมของรังนิคนั้น จะไม่ได้เน้นการครอบครองบอลให้โดดเด่น รวมถึงจะไม่ถอยหลังลงไปเล่นรับลึกด้วย เพื่อที่จะรอโอกาสได้บอลกลับคืนมา

แต่พวกเขาจะพยายามล่อคู่แข่งให้ติดกับดักของ Pressing Traps ให้ได้เพื่อที่จะชิงบอลมาได้ด้วยการที่นักเตะเรามีเยอะกว่า และวิ่งเข้าไปรุมในพื้นที่แคบๆ ซึ่งเมื่อได้บอลมาแล้ว ทีมก็จะเน้นการทำเกมให้ขึ้นไปถึงโกลคู่แข่งให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

ในเฟสการเป็นฝ่ายครองบอล แผนของรังนิคจะเน้นทำเกมบุกด้วยการหาoptionการเล่นในแนวตั้งเป็นหลัก เพื่อคุกคามคู่แข่ง

แนวคิดที่อยู่เบื้องหลังหลักการต่างๆเหล่านี้ก็คือ การใช้ประโยชน์จากความไม่พร้อมของคู่แข่งในการจัดระเบียบเกมรับเมื่อเราชิงบอลมาได้ และก็ลดความเสี่ยงที่ทีมจะเสียบอลได้อีกเพราะทีมเล่นกันกว้าง ซึ่งทำให้โครงสร้างการเล่นรุกมันยืนกันหลวม

พื้นฐานโดยทั่วไปของการเล่นสไตล์รังนิคที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น ต้องการปริมาณการวิ่งที่สูงมาก เข้มข้นมาก และใช้กายภาพหนักหน่วง ด้วยเหตุนี้รังนิคจึงชอบที่จะใช้ทีมนักเตะอายุน้อยๆมากกว่า เพราะจะช่วยให้ทีมช่วยกันซ้อนได้อย่างรวดเร็ว และสามารถฝึกซ้อมได้อย่างเข้มข้น และลงแข่งเกมหนักๆตลอดทั้งซีซั่นได้ไหว

ทั้งหมดทั้งมวล รังนิคเป็นหนึ่งในโค้ชที่น่าสนใจที่สุด และประสบการณ์ของเขาที่ผสมผสานกับการความคิดที่ชอบการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ เฮดโค้ชชาวเยอรมันคนนี้จะต้องสร้างความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น และติดอาวุธที่ทรงประสิทธิภาพและทันสมัยให้กับแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดแน่นอน

จากนี้หากว่ารังนิค "ใช้เวลา" ในการปรับปรุงและค่อยๆพัฒนาระบบการเล่นของทีมให้กลายเป็นสัญชาตญาณของทีมได้ในอนาคต ที่จำเป็นต้องใช้เวลาจูนพอสมควรอย่างแน่นอน

แฟนผีควรจะอดใจรอ และอดทนกับการทำงานของรังนิคหน่อย อย่าตื่นเต้นและคาดหวังสูงจนเกินกว่าเหตุ ต้องดูว่าเขาจะนำระบบมาใช้ได้มากน้อยแค่ไหน และนักเตะปัจจุบันที่มีอยู่ในทีม ตอบสนองและทำตามนี้ได้จริงหรือไม่

ยังไม่สามารถตอบได้ชัดเจน และต้องเอาใจช่วยกันต่อไป

หากรังนิคทำสำเร็จ แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดจะขึ้นมาต่อกรกับคู่แข่งระดับสูงในยุคนี้ได้ทุกทีมอย่างแน่นอน ในอนาคตข้างหน้าระยะยาวที่จะเกิดการปฏิวัติขึ้นในการทำงานของสโมสร

หอกของปีศาจแดงที่ขึ้นสนิมมานาน กำลังจะกลายเป็นหอกไลท์เซเบอร์สามง่ามสีแดงอันคมกริบในไม่ช้า..

-ศาลาผี-

Reference

https://totalfootballanalysis.com/analysis/ralf-rangnick-tactical-analysis-tactics?

ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ระดับ : {{val.member.level}}
{{val.member.post|number}}
ระดับ : {{v.member.level}}
{{v.member.post|number}}
ระดับ :
ดูความเห็นย่อย ({{val.reply}})

ข่าวใหม่วันนี้

ดูทั้งหมด