:::     :::

บนความต่างระหว่าง โครเอเชีย กับ ฝรั่งเศส

ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ฝรั่งเศส กับ โครเอเชีย คู่ชิงชนะเลิศฟุตบอลโลก 2018 ซึ่งแทบไม่มีอะไรเหมือนกันเลย

หลังโรมรันกันมาร่วม 1 เดือน ในที่สุด เวิล์ดคัพ ฉบับ รัสเซีย ก็เดินทางมาถึงส่วนปลายสุดแล้วนะครับ กับคู่ชิงชนะเลิศ ที่ก่อนทัวร์มาเมนท์เริ่ม ไม่ว่าจะให้ทายกี่ที ก็ไม่มีทางถูก 

กับ ฝรั่งเศส อาจจะใช่ พวกเขาคือหนึ่งในทีมเต็งหนนี้ แต่ชิงกับ โครเอเชีย นี่มันเกินความคาดหมายไปมากจริงๆ 

หลายท่านบ่นเสียดาย ถ้าเป็น อังกฤษ ชิง น่าจะได้อถรรสมากกว่านี้

ครับ หากว่ากันตามชื่อชั้น ความคุ้นเคย 'ฝรั่งเศส-อังกฤษ' ยังไงก็น่าสนใจกว่า แต่เมื่อไปดูเนื้องานในเกม แฟน 'สิงโตคำราม' คงต้องยอมรับแต่โดยดีว่า "โครเอเชีย คือทีมที่ดีกว่า" และการที่ทัพ 'สิงโตคำราม' พาตัวเองทะลุมาถึงขั้นนี้ เอาเข้าจริงก็เหนือความคาดหมายอยู่ไม่น้อย ส่วนใครต่อใครที่กำลังอินกับประโยค 'It's coming home' ก็คงต้องร้องเพลงรอไปก่อน อีก 4  ปีที่ กาตาร์ หรือไม่ก็อีก 2 ปีข้างหน้าในศึกยูโร ฉบับพิเศษ ค่อยว่ากันใหม่

'ฝรั่งเศส-โครเอเชีย' นอกจากจะเป็นคู่ชิงที่อยู่เหนือความฝันและจินตนาการแล้ว พวกเขาทั้งคู่ยังเป็นทีมที่มีความแตกต่างกันอย่างมากในหลายๆด้าน

เส้นทางที่แตกต่าง...

ก่อนจะถึงรอบชิงชนะเลิศ ทัพ 'เลส์ เบลอส์' ผ่านพวกเขี้ยวลากดินมาแทบทั้งสิ้น ในรอบแรกอาจจะเบาหน่อย เมื่ออยู่ร่วมกลุ่ม ซี กับ ออสเตรเลีย,เปรู และ เดนมาร์ก  แต่หลังจากนั้นพวกเขาต้องดวลกับชาติใหญ่ๆทั้งสิ้น

รอบน็อคเอาท์ 16 ทีม ทุบ อาร์เจนติน่า ลงได้ 4-3 แม้จะมีการค่อนขอดว่านี่คือ 'ฟ้าขาว' ชุดที่ห่วยแตกที่สุดชุดนึงก็ตาม แต่การเาอชนะทีมที่มีนักเตะที่เก่งที่สุดในโลกอย่าง ลิโอเนล เมสซี่ หรือกองหน้าระดับโลกอย่าง เซร์คิโอ อาก้วยโร่ 'กุน' ,เปาโล ดีบาล่า,กอนซาโล่ อีกวาอีน ได้ ยังไงก็ต้องไม่ธรรมดา 

จากนั้น เด็กๆของ  ดิดิเย่ร์ เดส์ชองส์ ต้องเจอกับ อุรุกวัย ที่โชว์ฟอร์มแข็งแกร่งผ่านรอบแรกมาแบบชนะรวด ไม่เสียประตู และเพิ่งคว่ำ โปรตุเกส ของ คริสเตียโน่ โรนัลโด้ มาหมาดๆ 

ฝรั่งเศส จัดการ อุรุกวัย นิ่มๆ 2-0 จาก ราฟาแอล วาราน และ อองตวน กริซมันน์ ก่อนรอบควอเตอร์ไฟนั่ล จะเบียด เบลเยี่ยม ทีมที่เล่นได้ร้อนแรงที่สุดในทัวร์นาเมนท์ 1-0 

อาร์เจนติน่า,อุรุกวัย และ เบลเยี่ยม ผู้ปราบ บราซิล..เส้นทางของ ฝรั่งเศส ถือว่าหฤโหดไม่แพ้แรลลี่ปารีส-ดาการ์ 

ต่างจาก โครเอเชีย ที่รอบแรก ดูเหมือนจะลำบาก แต่พวกเขาก็ผ่านมาแบบนิ่มๆ แล้วก็ให้โชคดีเหลือที่แชมป์กลุ่ม ดี ได้ไปอยู่สายล่างซึ่งเบาสบายกว่า 

รอบ 16 ดวลจุดโทษ ชนะ เดนมาร์ก 3-2 ,รอบควอเตอร์ ไฟนั่ล ชนะจุดโทษ เจ้าภาพ รัสเซีย หวุดหวิด 4-3 หลังเสมอใน 90 นาที 1-1 และ 120 นาที 2-2 

จากนั้นรอบรองชนะเลิศก็อย่างที่เห็น พวกเขาชนะ อังกฤษ 2-1 ในช่วงต่อเวลาพิเศษ 

เดนมาร์ก,รัสเซีย และ อังกฤษ...หากไม่นับทีมจากเมืองผู้ดีแล้ว ชื่อชั้นของคู่ต่อสู้ที่ โครเอเชีย ผ่านมา ไม่สามารถเรียกได้ว่าบิ๊กเนมเลยซักราย ไอ้ที่กะเก็งว่าจะเป็นขวากหนามสำคัญอย่าง สเปน ผู้มีดีกรีระดับอดีตแชมป์โลกและแชมป์ยูโร ก็ดันไม่มาตามนัด 

ผลงานแต่ละเกมของทัพ 'ตาหมากรุก' ที่เข้าตาสุดๆคงเป็นเกมไล่ถล่ม อาร์เจนติน่า 3-0 นอกนั้นต้องอาศัยการต่อเวลาและดวลจุดโทษแทบทั้งสิ้น 

ต่างจนเนอร์เรชั่น...

นอกจากเส้นทางจะหนัก-เบา ต่างกันชัดเจนแล้ว ส่งที่ไม่เหมือนกันเลยระหว่างคู่ชิงครั้งนี้ ก็คือในเรื่องของช่วงอายุ

โครเอเชีย นำทัพโดยสองมิดฟิลด์จอมเก๋าอย่าง ลูก้า โมดริช (32) และ อีวาน ราคิติช (30) นอกจากนี้ยังรวมถึงฮีโร่จากรอบที่ผ่านมาอย่าง มาริโอ มานด์ซูคิช (32) หรือจะเป็นนายด่าน ดานิเยล ซูบาซิช  (33) ,โดมากอย วีด้า( 29) ปราการหลัง และ เดยัน ลอฟเรน (29)  

โครเอเชีย คือทีมชาติที่มีอายุเฉลี่ยสูงที่สุดทีมนึงในมหกรรมฟุตบอลโลกครั้งนี้ ซึ่งต่างจาก ฝรั่งเศส อย่างสิ้นเชิง 

เด็กๆของ เดส์ชองส์ เรียกได้ว่า "เด็กจริงๆ" นับเฉพาะแผงแบ็กโฟร์ ทั้ง วาราน,อุมตีตี้,ปาวาร์ และ ลูกัส เอร์นานเดซ ทั้ง 4 คน ไม่มีใครอายุเกิน 25 เลย !! นี่ยังไม่นับ ปอล ป็อกบา ที่อายุ 25 และกองหน้าตัวจริงอย่างไอ้หนู คิลิยัน เอ็มบั๊บเป้ ที่เพิ่งจะ 19 หยกๆ 


ประสบการณ์นัดชิงต่างกัน...

ฝรั่งเศส กำลังจะลงเล่นนัดชิงชนะเลิศฟุตบอลโลกเป็นครั้งที่ 3 ในรอบ 6 ครั้งหลังสุด โดย 2 ครั้งก่อนหน้านี้ มีทั้งสมหวังและผิดหวัง

ที่ผิดหวังคือการเข้าชิงในปี 2006 ที่ เยอรมัน เป็นเจ้าภาพ ครั้งนั้นพวกเขาพ่ายให้กับ อิตาลี ในการดวลลูกโทษที่จุดโทษ ซึ่งฉากที่ยังอยู่ในความทรงจำของผู้คนมาจนถึงวันนี้คือการเดินออกจากสนามของ ซีเนดีน ซีดาน ผ่านถ้วยแชมป์โลกโดยไม่เหลียวมองแม้ซักแว้บ หลังโดนไล่ออกจากการเฮด บัต ใส่ มาร์โก มาเตรัตซี่ 

ปี 1998 ภายใต้การนำทีมของกุนซือ เอมเม่ ฌักเก้ต์  ฝรั่งเศส ประกาศศักดาคว้าแชมป์โลกสมัยแรกมาครองได้สำเร็จ เมื่อเอาชนะ บราซิล อย่างขาดลอย 3-0 ซึ่งในทัวร์นาเมนท์นี้ ก่อนที่ขุนพล 'ตราไก่' จะกรุยทางถึงรอบชิง พวกเขาได้ฝากรอยแค้นไว้ให้ โครเอเชีย ในรอบรองฯ เมื่อเอาชนะไปได้ 2-1 

2 ประตูของ ลิลิยอง ตูราม ที่ช่วยให้พลิกแซงกลับมาชนะ ยังคงฝังอยู่ในความทรงจำของแข้งโครเอเชีย จนถึงวันนี้ วันที่ผู้ยิงประตูขึ้นนำให้ ทัพ 'ตาหมากรุก' อย่าง ดาวอร์ ซูเคอร์ กลายเป็นประธานสมาคมฟุตบอลโครเอเชียไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม ประสบการณ์เข้าชิง 2 ครั้งในฟุตบอลโลก อาจไม่ชัดเจนนักสำหรับนักเตะฝรั่งเศสชุดนี้ เพราะไม่มีใครเคยลงเล่นจริงๆเลย กระนั้นก็ตาม หากย้อนกลับไปเมื่อ 2 ปีก่อน นั่นคือประสบการณ์นัดชิงที่แท้จริงของพวกเขา ในศึกยูโร 2016 ที่ตัวเองเป็นเจ้าภาพ แต่ก็ต้องอกหักพ่ายให้กับ โปรตุเกส ไป 

ส่วน โครเอเชีย อย่างที่ทุกคนทราบ พวกเขาไม่เคยมีประสบการณ์ในนัดชิงชนะเลิศฟุตบอลโลกเลยแม้แต่ครั้งเดียว สูงสุดคือการคว้าอันดับ 3 ในปี 1998 อย่างที่เขียนถึงไป เพราะหลังอกหักพ่าย ฝรั่งเศส ในรอบรองชนะเลิศ พวกเขาก็แก้ตัวได้ด้วยการเอาชนะ ฮอลแลนด์ 2-1 ที่ ปาร์ก เดอ แปรงส์ 

ทั้งนี้ความต่างของประสบการณ์นัดชิงที่ โครเอเชีย ไม่มี แต่ขุนพลชุดนี้ก็ถูกทดแทนด้วยประสบการณ์ของนักเตะแต่ละคนที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมามากกว่าขุนพล เลส์ เบลอส์ ที่ส่วนใหญ่อายุยังค่อนข้างน้อย 

โซนแห่งการสร้างสรรค์ VS โซนแห่งการทำลายล้าง

ถ้าจะมีส่วนใดที่ดูโดดเด่นที่สุดของ โครเอเชีย ชุดนี้ ก็ต้องยกให้กับแผงกองกลางของพวกเขาอย่างไม่มีข้อโต้แย้ง ที่มี 2 มิดฟิลด์มากประสบการณ์อย่าง ราคิติช กับ โมดริช เป็นหัวใจสำคัญ พวกเขาคือผู้นำจิตวิญญาณของทีม พร้อมทั้งยังกำกับสไตล์การเล่นของทีมให้เป็น 'ฟุตบอลคอนโทรล' ที่เปี่ยมไปด้วยเทคนิค ซึ่งเมื่อเทียบกับกองกลางของฝรั่งเศสแล้ว คงต้องยอมรับว่ามีความแตกต่างกัน

สิ่งที่เราได้เห็น ออกจะขัดจากความรู้สึกและภาพจำจากเดิมอยู่ไม่น้อย เพราะจุดเด่นของแผงกลางชุดนี้อยู่ที่สภาพร่างกายและการเข้าปะทะ

ด้วยนักเตะสไตล์อย่าง เอ็นโกโล่ กองเต้, มาตุยดี้,โตริสโซ่ หรือแม้กระทั่ง ปอล ป็อกบา ทำให้แผงกลางฝรั่งเศสโดดเด่นที่การตัดทำลายเกมของคู่ต่อสู้มากกว่าที่จะปั้นเกมสวยงามพริ้วไหล กระนั้นก็ตามในเรื่องของเทคนิค พวกเขาก็ไม่เป็นรอง โครเอเชีย เลย เพียงแต่มีวิธีการทำงานที่ต่างกันเท่านั้น 


ม้านั่งสำรอง...

ขุมกำลังของฝรั่งเศสชุดนี้ ไม่ใช่เพียงแค่ 11 คนแรกในสนามเท่านั้น หากแต่ซุ้มม้านั่งสำรองก็ยังมีแข้งระดับพระกาฬอีกมากมาย ไว้ให้ เดส์ชองส์ เลือกใช้งานได้อย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็น อุสมาน เดมเบเล่,โกลองแตง โตลิวโซ่,สวีเว่น เอ็นซอนซี่, นาบิล เฟคีร์ ฯ 

หรือมองให้กว้างขึ้นไปอีก เราก็จะได้เห็นแข้งชื่อดังอีกนับสิบรายของฝรั่งเศสที่ถูกตัดชื่อออก ต้องนั่งดูทีวีอยู่ที่บ้านอีกเพียบ ขณะที่ โครเอเชีย เอาเท่าที่นึกออกจริงๆ มีแค่ มาเตโอ โควาซิช ของ เรอัล มาดริด เท่านั้น ส่วน อันเดรย์ กรามาริช ของ ฮอฟเฟ่นไฮม์ ก็ยังไม่ได้เป็นที่รู้จักมากมาย 

อย่างไรก็ดี ใครจะรู้ ? บางที แข้งโนเนม อาจโดดเด่นขึ้นจนเป็นตัวตัดสินเกมนัดชิงก็ได้ โลกฟุตบอลมีเรื่องให้เซอร์ไพรส์เสมอแหละ 

มูลค่าที่แตกต่าง...

ต่อเนื่องจากหัวข้อข้างต้น แข้งฝรั่งเศสชุดนี้อุดมไปด้วยซูเปอร์สตาร์ หรือไม่ก็ดาวรุ่งอนาคตไกลของวงการทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น กริซมันน์,เอ็มบั๊บเป้,ปอล ป็อกบา,ก็องเต้,เดมเบเล่ ฯ ซึ่งแน่นอนว่าพวกเขาเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีมูลค่าทางการตลาดสูงสิบด้วยกันแทบทุกคน 

จากข้อมูลของเว็บไซต์ transfermarkt.de ปราฏกว่าผลประเมินมูลค่าทางการตลาดของนักเตะทั้งสองทีม มีความแตกต่างกันถึง 400 ล้านยูโร หรือประมาณ 15,200 ล้านบาท) เลยทีเดียว

11 คนแรกของทีมชาติฝรั่งเศสรวมมูลค่าแล้วทั้งสิ้น 638 ล้านยูโร ขณะที่ โครเอเชีย แค่ 230 ล้านยูโรเท่านั้น 

แต่ว่าไปเรื่องนี้ก็ไม่ใช่สาระสำคัญอะไร มูลค่าทางการตลาดในบางครั้งก็ไม่สามารถชี้วัดคุณค่าในสนามได้เสมอไป 

ท้ายที่สุด โครเอเชีย-ฝรั่งเศส คู่ชิงที่ใครๆก็ว่า "เหนือยิ่งเสียกว่าความฝัน"  ใครจะขึ้นแท่นเป็นหมายเลขหนึ่งของโลก คงต้องไปชี้วัดกันในสนาม 

ค่ำคืนวันอาทิตย์ที่ 15 นี้ เรามาลุ้นไปพร้อมๆกันครับว่า "หนึ่งเหรียญสองด้านอันแตกต่างกันสุดขั้วนี้ ด้านไหนจะถูกเป็นด้านที่ถูกหงายขึ้น เมื่อสิ้นเสียงนกหวีดสุดท้ายที่ มอสโก 

                                                      'นัมเบอร์โฟร์'



ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ระดับ : {{val.member.level}}
{{val.member.post|number}}
ระดับ : {{v.member.level}}
{{v.member.post|number}}
ระดับ :
ดูความเห็นย่อย ({{val.reply}})