:::     :::

โควตาอาเซียนที่ตีความต่างกัน

วันอาทิตย์ที่ 15 กรกฎาคม 2561 คอลัมน์ ฉันดูบอลที่ร้านเหล้า โดย ดากานดา
4,512
ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ช่วงสัปดาห์ผ่านมา ประเด็นที่ถูกหยิบมาถกสุด เห็นจะเป็นการประกาศฟ้าผ่าของสมาคมฟุตบอลฯ กรณีอนุมัติเพิ่มโควตาอาเซียนในไทยลีก จากเดิม 1 เป็น 3

เท่ากับว่าบรรดาสโมสรสามารถมีนักเตะต่างสัญชาติไว้ครอบครองมากถึง 7 ราย ในสูตร 3+1+3 และทั้ง 7  มีโอกาสถูกส่งลงสนามเป็น 11 คนแรกได้ เนื่องจากโควตาผู้เล่นอาเซียนถูกนับเป็นแข้งเกรดเดียวกับคนไทย

มองในมุมของสมาคมที่ พล.ต.อ.ดร.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ได้ร่อนแถลงออกสื่อ โดย “บิ๊กอ๊อด” เชื่อว่าการเพิ่มโควตาอาเซียน เป็นการกระตุ้น “การตลาด” เพิ่มมูลค่าไทยลีกให้สูงขึ้น โดยใช้ “ไทยลีก” เป็นศูนย์กลางลูกหนังอาเซียน

เมื่อมีบรรดาพ่อค้าแข้งอาเซียนแพ็กกระเป๋าบินมา  ลีกไทยจะมีแฟนสัญชาติอาเซียนมากขึ้น เหมือนดังโมเดล อ่อง ธู ซุปตาร์เมียนมาย้ายมาเล่นให้ โปลิศ เทโร จนเกิดกระแสตูมใหญ่ แน่นอนเป็นการต่อยอดเรื่องลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดที่มีโอกาส “ขายได้” ในอนาคต

เช่นเดียวกับ เนวิน ชิดชอบ ที่ออกมาโดดรับโปรเจคนี้ของ “บิ๊กอ๊อด”

เสียงของพ่อใหญ่แห่งอีสานใต้มองในมุม “การแข่งขัน” โดยเชื่อว่าการเพิ่มโควตาอาเซียนขึ้นมา ทำให้นักเตะไทย “ตื่นตัว” และมีการแข่งขันกันสูงขึ้น โดยอ้างอิงจากเพดานเงินเดือนนักเตะไทยที่สูงเกินจริง และหลายคน “ฝีตีน” ไม่คุ้ม “ค่าเหนื่อย” ที่สมควรได้รับ

ฉะนั้นยิ่งมีการแข่งขันมาก การพัฒนาย่อมเกิดมากขึ้น ผู้เล่นไทยคนไหนไร้ความมุ่งมั่น เตะฟุตบอลรอรับเงินเดือนหลักแสนไปวันๆ ก็ถูกแทนด้วยนักเตะอาเซียน ที่เพดานเงินอาจไม่สูงเท่า แต่มากคุณภาพกว่า

ในมุม “ฟุตบอล” ผู้เขียนเห็นด้วยกับการเพิ่มโควตา เพราะกฎไม่มีข้อบังคับตายตัวว่าทุกทีมต้องใช้ กล่าวบ้านๆคือ

“จะใช้ไม่ใช้ ก็เรื่องของมึง”


ผู้เขียนไม่กังวลว่าการเปิดโควตา จะทำให้เด็กไทยถูกลดทอนโอกาสลงสนามเท่าไหร่ ในเมื่อเด็กเหล่านี้ที่เล่นไทยลีก ต่างมีเวทีสำรอง (ทีมบี) ให้ลงเล่น บางสโมสรอาจใช้วิธีส่งไปเก็บเลเวลกับทีมพันธมิตรแทนในรูปแบบยืมตัว

กอปรกับการเปิดโควตาตรงนี้ทำให้ระบบอะคาเดมีเกิดการแข่งขันกันหนักขึ้นในระดับดาวรุ่ง เพราะเชื่อว่าหลายสโมสรน่าจะไปอุ้ม “ดาวรุ่ง” อาเซียนในสนนราคาแตะได้ มาฟูมฟักปั้นบ่มเพาะรอใช้งาน หรือไม่ก็ขายต่อทำกำไรตามวัฎจักรลูกหนัง  

กฎนี้เหมือน “ยาแรง” ช่วยกระตุ้นนักเตะไทย โดยเฉพาะพวกที่เล่นฟุตบอลไปวันๆ ให้ตื่นตัวเป็น “นักฟุตบอลอาชีพ” มากกว่าเป็นแค่ “อาชีพนักฟุตบอล”

แต่ในแง่ “การตลาด” ผู้เขียนไม่แน่ใจว่ามาร์เก็ตติ้งลูกหนังครั้งนี้ จะทำไทยลีกกลายเป็น “เมกะลูกหนังอาเซียน” จนต่างชาติหันมาติดตามจริงหรือ ?

เอาแค่โมเดลอาเซียนที่ไทยลีกเพิ่งคลอดต้นซีซั่น มีเพียง อ่อง ธู คนเดียวที่เป็นกำลังหลัก และดึงตลาดจากเมียนมาได้  เพราะหมอนี่คือ “ซุป’ตาร์” ขนานแท้ที่พลเมืองลูกหนังหม่องบูชา

กระนั้นก็ยังไม่เห็นทีวีเมียนมาซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดจากไทยกลับไปยังประเทศ!!!

ขณะที่ ไมเคิล ฟาวเคสการ์ด แม้จะเป็นตัวหลัก ทรู แบงค็อกฯ ทว่าในมุมการตลาด เสียงจากแฟนฟิลิปปินส์ก็ไม่ได้ดังมาถึงไทยมาก เนื่องจากหมอนี่เป็นลูกครึ่งเดนมาร์ก เพิ่งเดบิวต์ทีมชาติไม่นาน (เป็นมือสองรองจาก นีล เอตเทอร์ริดจ์ )

ที่เหลือในไทยลีกแทบไม่มีรายใดเป็นตัวหลักให้สโมสรได้เลย

กอปรกับหลายสโมสรเลือกเฟ้าหาวัตถุดิบอาเซียนเท่าที่เพดานทีม “จ่ายไหว” เพื่อเสริมแกร่งต่อยอดเป้าหมายทีม ส่วนผลพวงการตลาดเป็นเรื่องรองลงมา หากได้ก็ถือเป็น “โบนัส”

ทำให้เราเห็นแต่แข้ง “ลูกครึ่ง” โควตาอาเซียนหลายคนที่ราคาไม่แพงจัด วิ่งพล่านไทยลีก

ตรงข้ามกับโมเดลการตลาดของ “เจลีก” ที่สโมสรไหนสนใจนักเตะอาเซียน จะเลือกอ้าแขนรับผู้เล่นระดับซุปตาร์ทีมชาติเท่านั้น และต้องเล่นได้ด้วย!!


กาลครั้งหนึ่ง วิทยา เลาหกุล ประธานเทคนิคทีมชาติไทย เผยกับผู้เขียนว่า “ก่อนดึงนักเตะไทยไปเล่น เจลีก กำลังอยู่ในช่วงแย่งตลาดถ่ายทอดสดฝั่งเอเชียจากลีกจีน เพราะญี่ปุ่นเจอปัญหาตรงที่แฟนบอลในประเทศไม่ค่อยดูถ่ายทอดสดผ่านทีวี ทำให้เจเอฟแอล เลือกเปิดตลาดอาเซียน เนื่องจากภูมิภาคนี้คือแหล่งทำเงินอันดับ 1 ในด้านลูกหนัง”

“เจเอฟแอล จะมีงบให้ส่วนหนึ่งสำหรับค่าใช้จ่าย ช่วยสโมสรที่ดึงผู้เล่นอาเซียนไปร่วมทีม ที่ผ่านมา เจลีก เคยใช้ผู้เล่นสตาร์ของ อินโดนีเซีย หรือ เวียดนาม แต่ไม่เวิร์ก คือนักเตะเล่นไม่ได้ และการตลาดไม่ได้บูมกว่าเก่า จึงเปลี่ยนตลาดมาทางฝั่งไทย เขาเริ่มต้นจาก ชนาธิป แต่เด็กเราเล่นได้ และมีคนดู”

“ช่วงแรกแมตช์ที่ ชนาธิป ลงเล่นและมีถ่ายทอดสด มีคนดูแตะล้านคน ทำให้ดีลของ ธีราทร และ ธีรศิลป์ ตามไปสมทบเพื่อขยายตลาดเพิ่มขึ้น ซึ่งเด็กไทยก็ได้พัฒนาฝีเท้าช่วยทีม ทางสโมสรและเจลีกก็ได้ส่วนขยายการตลาดมากขึ้น วินวินทั้งสองฝ่าย อีกอย่าง เจลีก จะพยายามให้นักเตะไทยไม่อยู่ร่วมทีมเดียวกัน นั่นเพื่อตอนถ่ายทอดสด คนดูจะกระจายไปหลายทีม ไม่ใช่โฟกัสแค่ตามสโมสรเดียว เขาไม่ได้บังคับว่า 1 อาเซียน 1 สโมสร แต่แค่ต้องการส่วนแบ่งตลาดกระจายไปมากขึ้น”     

นั่นคือการตลาดของ “เจลีก” ที่ทำกับ อาเซียน

ต่างกับตลาดไทย ที่บรรดาทีมระดับกลางถึงล่าง ไม่มีเม็ดเงินมากพอไปเจียดเหล่า “ซุป’ตาร์” อาเซียนที่เรียกตลาดคนบ้านเขาพวกนี้มาเล่น (หากไม่รวม อ่อง ธู) ผู้เล่นอย่าง เหงียน กง เฟือง ที่รับอยู่ก็เรท 6-7 แสน/เดือน หรือ จัน วัฒนากา รับเกือบแตะ 5 แสน/เดือน แพงกว่าผู้เล่นทีมชาติไทยเกือบทุกราย (ไม่นับค่าเหนื่อยที่อาจอัพเพิ่มช่วงย้ายทีมอีก)

ที่สำคัญ เมื่อมาแล้วดีกว่า “นักเตะไทย” หรือไม่ “ค่าเหนื่อย” คุ้มฝีตีนไหม ? สุดท้ายหวยไปออกที่แข้งลูกครึ่งสัญชาติอาเซียน ที่ถูกอิมพอร์ตมา และอาจไม่ต้องจ่ายแพงเท่า (หากไม่มีก็ใช้เด็กไทยเล่น)

คำถามคือพวกลูกครึ่งอาเซียนพเนจรเหล่านี้ สามารถขยายตลาดมากแค่ไหน ?

ผู้เขียนไม่ได้คัดง้างแนวคิดของสมาคม กลับกันมองเป็นเรื่องดีด้วยซ้ำ ทว่า “การตลาด” ที่วาดฝันไว้จะไม่เกิดขึ้น และเป็นเพียง “ยูโทเปียลูกหนัง” ต่อไป

หากนิยามคำว่าโควตาอาเซียน ของ “สโมสร” และ “สมาคม” ยังไปคนละทาง


ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ระดับ : {{val.member.level}}
{{val.member.post|number}}
ระดับ : {{v.member.level}}
{{v.member.post|number}}
ระดับ :
ดูความเห็นย่อย ({{val.reply}})

ข่าวใหม่วันนี้

ดูทั้งหมด