:::     :::

เราได้อะไรจากโควตาอาเซียน3คน

วันอังคารที่ 17 กรกฎาคม 2561 คอลัมน์ ONE MAN SHOW โดย แมน โกสินทร์
2,989
ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
เรื่องโควตาอาเซียนในไทยลีกที่สมาคมฟุตบอลอนุมัติเพิ่มขึ้นเป็น 3 คนในฤดูกาลหน้ากำลังเป็นประเด็นร้อนที่คนในวงการถกเถียงกันไปต่างๆ นานา และแน่นอนว่าผลที่ตามมาไม่ว่าจะด้านลบหรือบวกมันย่อมกระทบในหลายภาคส่วน

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมมีโอกาสพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคนในวงการบอลไทยหลายๆ คน ทั้งคนทำทีม, โค้ช, นักเตะ และเอเจนท์ เกี่ยวกับเรื่องของโควตาอาเซียนที่จะเพิ่มขึ้นในฤดูกาลหน้า ซึ่งสะท้อนให้ผมสามารถจำแนกกลุ่มคนออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่(คิดว่าจะ)ได้ผลประโยชน์และ กลุ่มที่ (อาจ) เสียผลประโยชน์ จากนโยบายใหม่นี้ 

สำหรับกลุ่มที่ได้ประโยชน์สูงที่สุดนั้น น่าจะเป็นนายหน้านักเตะที่กำลังจะมีบ่อน้ำมันให้กอบโกยรายได้เป็นกอบเป็นกำ เพราะที่ผ่านมาทั่วทุกมุมโลกมีนักฟุตบอลที่มีเชื้อสายอาเซียนกระจัดกระจายอยู่มากมายทั้งแบบมีชื่อเสียงโด่งดังและอยู่แบบเงียบๆ ไม่มีใครรู้จัก 

ย้อนอดีตกลับไป ไทยลีกเริ่มนิยมอิมพอร์ทแข้งลูกครึ่งไทยตั้งแต่ยุคสมัยของ ปีเตอร์ แลง, มิก้า ชูนวลศรี, ชาริล ชัปปุยส์ จนกระทั่งมาถึงยุคของ ทริสตอง โด, มานูเอล ทอม, ฟิลิปป์ โรลเลอร์ ฯลฯ และยังมีมาอีกเรื่อยๆ ซึ่งก็ตอบโจทย์ให้สโมสรในบ้านเราได้ทั้งภาพลักษณ์และคุณภาพฝีเท้า จนหลายคนก้าวขึ้นมาติดทีมชาติไทยในเวลาต่อมา 

ปีเตอร์ แลง แข้งลูกครึ่งไทย-สวิส 

บรรดาเหล่าเอเจนท์ก็พยายามเสาะหาวัตถุดิบใหม่ๆ มาเสนอให้ โดยมีทีมอย่าง แบงค็อก ยูไนเต็ด, ราชบุรี มิตรผล เป็นเป้าหมาย เพราะแนวทางของทีมนิยมแข้งลูกครึ่งเป็นทุนเดิม ซึ่งทีมชาติไทยก็ได้อานิสงส์ไปด้วยจากตัวเลือกที่มีมากขึ้น

เช่นเดียวกันกับโควตาอาเซียน ตราบใดที่นิยามคำว่าอาเซียนของสมาคมกับสโมสรยังแตกต่างกัน แทบทุกสโมสรก็จะเฟ้นหาแต่แข้งลูกครึ่งจากยุโรปหรือแอฟริกาที่ได้เปรียบทั้งรูปร่างและประสบการณ์ มากกว่าพวกอาเซียนแท้ที่จะมีสักกี่คนที่พร้อมเล่นในไทยลีกได้

ฤดูกาลนี้อาจยังเห็นภาพไม่ชัดมากนักเพราะโควตาลงทะเบียน 3+1+1 แต่ส่งลงเล่นได้แค่ 4 คนยังบดบังโอกาสของแข้งอาเซียน แต่หากปี 2019 การเพิ่มโควตาเป็น 3 คนและลงเล่นพร้อมกันได้ทั้งหมด ตลาดซื้อขายนักเตะอาเซียนจะเติบโตขึ้นมาก และเป็นช่องทางทำมาหากินครั้งสำคัญของเหล่านายหน้า เพราะแม้จะไม่ได้บังคับว่าทุกทีมต้องใช้ แต่ถึงเวลาจริงเชื่อว่าแทบทุกทีมยังไงก็ต้องรักษาสิทธิ์เพื่อไม่ให้เสียเปรียบคู่แข่ง 

ก่อนหน้านี้ไม่มีเอเจนต์คนไหนหานักเตะลูกครึ่งอาเซียนให้ทีมชาติเพราะไม่มีผลตอบแทนอะไร ต่างจากฤดูกาลหน้าที่มีสโมสรในไทยลีกรองรับตามกฎดีมานด์แอนด์ซัพพลาย และแน่นอนว่าทีมชาติในอาเซียนก็จะรับผลพลอยได้ไปด้วยเช่นกันเพราะไม่ต้องควานหานักเตะลูกครึ่งเอง เหมือนอย่างเช่น ไมเคิ่ล ฟอลเคสการ์ด นายด่านลูกครึ่งปินอย-เดนิช ที่เพิ่งมาติดทีมชาติฟิลิปปินส์ก็ตอนย้ายมาเล่นให้ทีม "แข้งเทพ"  นี่แหละ

ถามย้อนกลับบ้างว่า แล้วทีมชาติไทยจะได้อะไร, ไทยลีก, สโมสร, นักเตะไทย, วงการฟุตบอลไทย ล่ะจะได้อะไรตอบแทนกลับมาบ้าง?

ไทยลีกคาดหวังว่า การเพิ่มโควตาอาเซียน จะมีอิมแพ็คต่อค่าความนิยมในการขายลิขสิทธิ์ไทยลีกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเคยเห็นข่าวว่าบรรลุข้อตกลงกันไปแล้วเหลือเพียงแถลงอย่างเป็นทางการว่ามีชาติใดบ้างที่ซื้อไป แต่ก็ยังอดสงสัยไม่ได้ว่าด้วยเหตุผลนี้เราจำเป็นต้องเพิ่มโควตาทีเดียวทีมละ 3 คนเลยเชียวหรือ

ในมุมของสโมสร อาจจะมีเรื่องของส่วนแบ่งค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดเข้ามา ส่วนในเรื่องแผนการตลาดก็คงมีอยู่ไม่กี่ทีมที่โควตาอาเซียนจะตอบโจทย์ ถ้าไม่ใช่ทีมที่อยู่ละแวกใกล้เคียงประเทศเพื่อนบ้านหรือมีฐานแรงงานต่างด้าวอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ก็คงต้องเป็นทีมที่มีสายป่านการร่วมลงทุนข้ามชาติเช่น โปลิศ เทโร หรือ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ที่ทำธุรกิจรวมทั้ง CSR กับเพื่อนบ้านมาตลอด

สำหรับนักเตะไทย จากเดิมโควตาต่างชาติ 4 คนก็จะมีนักเตะไทยได้ลงเล่นแน่ๆ 7 คนต่อเกม หรือถ้ามองภาพรวมทั้งฤดูกาล แต่ละสโมสรจะลงทะเบียนผู้เล่นสำหรับเกมลีกไม่เกิน 30 คน ถ้าต่างชาติ+เอเชีย+อาเซียน 5 คนก็เท่ากับว่าจะมีแข้งไทยทีมละ 25 คน 

เมื่อเพิ่มอาเซียนมาอีก 3 รวมกับต่างชาติและเอเชียทั้งหมดเป็น 7 คน ก็จะเหลือนักเตะไทยลงทะเบียนทีมละ 23 คน นั่นหมายความว่าจะมีนักเตะไทยตกงานอีกทีมละ 2 คน ถ้า 16 ทีมก็ 32 คนเข้าไปแล้ว นักเตะที่มีโปรไฟล์หรืออายุยังไม่มากก็อาจรอด แต่พวกที่โลว์โปรไฟล์หรืออายุมากแล้ว มีโอกาสเสี่ยงสูงที่ต้องถูกดีดลงไปเล่นในลีกระดับล่าง

ทีมชาติไทยก็เช่นกัน ทุกวันนี้กองหน้าและเซนเตอร์ฮาล์ฟก็หายากอยู่แล้ว โดยเฉพาะตำแหน่งหน้าเป้าที่พอหมดรุ่นของ ธีรศิลป์ แดงดา แล้วก็ไม่รู้ว่าใครจะขึ้นมาสืบทอดต่อ เพราะทุกทีมใช้แต่ผู้เล่นต่างชาติ ยิ่งถ้ามีลูกครึ่งอาเซียนเข้ามาอีก เด็กไทยแทบไม่เหลือเวทีให้โชว์ อนาคตคงต้องไปหากองหน้าทีมชาติไทยตาม T3, T4 แทน

โอเคล่ะ เชื่อว่าเดี๋ยวทางสมาคมและฝ่ายจัดการแข่งขันก็คงต้องหารือและกำหนดคุณสมบัตินักเตะอาเซียน เช่นต้องติดทีมชาติมาแล้วกี่นัด เป็นแข้งลูกครึ่งหรือโอนสัญชาติได้หรือไม่ แต่ก่อนจะไปถึงตรงนั้นหลายคนคงอดสงสัยไม่ได้ว่า ใครกันที่คือคนที่ชงนโยบายนี้ขึ้นมาให้ท่านนายกสมาคม ทำไมต้อง 3 คน ทำไมไม่ 1 คนไปก่อน   

ก็เหมือนกับการลงทุนธุรกิจทั่วไป มีใครกล้าทุ่มหมดหน้าตักโดยไม่ได้ทดลองตลาดก่อน ว่าสินค้าจะตรงกลุ่มผู้บริโภคหรือไม่ วางขายถูกที่หรือไม่ ปริมาณสินค้าที่วางขายมากหรือน้อยเกินไป จะขายของใหม่แต่เสี่ยงใช้ต้นทุนสูงตั้งแต่เริ่มต้น เวิร์คช็อปยังไม่เคยทำ ความเสี่ยงเจ๊งกะบ๊งก็คงรออยู่ไม่ไกล

เทียบง่ายๆ ให้เห็นภาพก็คงต้องขอยกเจลีก ของญี่ปุ่นมาอ้างอิง เขาต้องการตีตลาดอาเซียน แล้วก็ลองผิดลองถูกมาเยอะทั้งเวียดนาม, อินโดนีเซีย, กัมพูชา กว่าจะหาเจอว่าตลาดแข้งอาเซียนที่แท้ทรูคือนักเตะไทย และต้องตอบโจทย์ในเรื่องฝีเท้าและคาร์แร็คเตอร์อย่าง ชนาธิป สรงกระสินธ์ 

จากนั้น ธีรศิลป์ แดงดา และ ธีราทร บุญมาทัน แข้งระดับซูเปอร์สตาร์ของไทยก็ตามไป และเขาไม่ดึงนักเตะไทยไปอยู่ทีมเดียวกัน เพราะมองว่า 3 ทีม 3 คน มันมีผลต่อการกระจายเรตติ้งมากกว่า 3 คนในทีมเดียว อยู่แล้ว

กล้าฟันธงได้เลยว่า อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์, มาเลเซีย, บรูไน, เวียดนาม หรือ สิงคโปร์ เขาไม่ได้อินอะไรกับการที่นักเตะของเขาไปเล่นในลีกเพื่อนบ้านอาเซียนหรอก ยิ่งถ้าเป็นลูกครึ่งยิ่งเป็นไปไม่ได้เลย เพราะลูกครึ่งของเขาไปเล่นอยู่ในลีกยักษ์ใหญ่ของยุโรปเต็มไปหมด อัลฟองส์ อาเรโอล่า ประตูมือ 3 ทีมชาติฝรั่งเศส ที่เพิ่งคว้าแชมป์โลก ก็เป็นคนฟิลิปปินส์ แท้ๆ แต่ไปเกิดในแดนน้ำหอม ผมก็ไม่เห็นว่าคนฟิลิปปินส์เขาจะอินอะไรด้วยมากมาย

อัลฟองส์ อาเรโอล่า คนฟิลิปปินส์แท้ๆ ได้แชมป์โลกกับฝรั่งเศส

ส่วนกัมพูชา, เมียนมา, ลาว เขาอาจจะมีอารมณ์ร่วมมากกว่า แต่จะมีซูเปอร์สตาร์สักกี่คนที่จะเวิร์คเหมือนอย่าง อ่อง ตู ของ โปลิศ เทโร และจำเป็นมั้ยที่ต้องดึงมาอยู่ทีมเดียวถึง 3 คน หรือจะเอาชาติละคนไปเลยล่ะ วันก่อนมีคนในวงการตั้งข้อสังเกตกับผมว่า นี่อาจเป็นทฤษฎีสมคมคิด เพราะก่อนจะมีการประกาศเพิ่มโควตานี้ออกมา มีบางทีมล็อกผู้เล่นอาเซียนเข้าสต็อกเตรียมไว้ก่อนแล้วด้วยซ้ำ รวมถึงบางสโมสรที่เปิดบริษัทเอเจนต์ไว้ซะเองด้วย จะเข้าข่ายอินไซเดอร์ เทรดดิ้ง หรือเปล่าก็ไม่รู้ อันนี้ก็ว่ากันไปแล้วกัน   

อีกคงไม่นานมากนัก หลังจากหารือเสร็จ ทางสมาคมอาจจะหาส่วนผสมที่ลงตัวและตอบคำถามได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ถึงวันนั้นแล้วค่อยมาบวกลบกันอีกที ว่าโควตาอาเซียนในรูปแบบใหม่ จะส่งผลกระทบด้านลบหรือบวกมากกว่ากันสำหรับสังคมลูกหนังไทย



ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ระดับ : {{val.member.level}}
{{val.member.post|number}}
ระดับ : {{v.member.level}}
{{v.member.post|number}}
ระดับ :
ดูความเห็นย่อย ({{val.reply}})

ข่าวใหม่วันนี้

ดูทั้งหมด