:::     :::

ตรวจร่างกาย ... เขาทำกันอย่างไร?

วันพฤหัสบดีที่ 26 กรกฎาคม 2561 คอลัมน์ ฟุตบอลข้างถนน โดย โกสุ่ย
5,816
ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ฟุตบอลโลกจบไปพร้อมกับความสนุกและความทรงจำมากมายให้ได้จัดเก็บใส่ในหัวสมอง

หลัง เวิลด์ คัพ ฉบับหมีขาวจบลง ทุกสายตาหันเหไปที่ 'ตลาดนักเตะ' หน้าร้อนนี้ที่คาดว่าจะคึกคักและตื่นเต้นยิ่งกว่าที่ผ่านมาๆ

ข่าวคราวมากมายเกิดขึ้นจริงบ้าง เท็จบ้าง เกาะไปตามกระแสบ้าง มีสลับไปมาให้คนที่ติดตามได้ขบคิดและวิเคราะห์กันตามไป

หลายสโมสรเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง ได้นักเตะที่ต้องการเสริมทัพเข้าไปในทีม บางสโมสรก็กำลังดำเนินการ บางสโมสรก็กำลังมองหาตัวเพิ่มเข้ามา และบางสโฒสรก็กำลังมองหาการถ่ายโอนส่วนเกินในทีมออกไป

ถือเป็นวัฏจักรที่เกิดขึ้นวนไปวนในเกมฟุตบอล ใหม่มา-เก่าไป ถือเป็นอนิจจาและเกิดขึ้นซ้ำไปมาไม่รู้จบ

ที่ได้รับการจับตามองมากเป็นพิเศษคงหนีไม่พ้นบรรดาทีมใหญ่ ที่ขยับตัวแต่ละครั้งสร้างความฮือฮาได้ไม่น้อย และเชื่อว่าพอใกล้ถึงช่วงโค้งสุดท้ายก็จะเข้มข้นขึ้นไปมากกว่าเดิม


แต่ละทีมก็คงกำลังเดินหน้าด้วยการส่งทีมงานติดต่อกับสโมสรและนักเตะที่ต้องการดึงมาร่วมทีม ขั้นตอนต่างๆผ่านไปตามกระบวนการที่เป็นไป ติดต่อ - ตกลงราคา หากสามารถผ่านขั้นตอนนี้ไปได้ที่เหลือก็แค่การเจรจาสัญญากับนักเตะและ 'ตรวจร่างกาย'

ในปัจจุบันขั้นตอนการตรวจร่างกายถูกมองว่าเป็นส่วนสำคัญไม่แพ้กันเพราะเป็นเหมือนการตรวจเช็คสภาพและความพร้อมของร่างกายก่อนที่จะนำนักเตะมาใช้งาน

ด้วยเครื่องไม้เครื่องมือที่พัฒนาและทันสมัยทำให้วิธีการต่างๆรวดเร็ว เห็นผลภายใน 1 วัน และสามารถวิเคราะห์ออกมาได้ละเอียด

เรื่องนี้ก็มีมาตั้งแต่อดีตแล้ว แต่ที่นำเอากล่าวอีกครั้งเพราะทุกวันนี้ทุกๆสโมสรให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าว

ที่ผ่านมาเคยมีกรณีของ รุด ฟาน นิสเตลรอย ที่ต้องรอการย้ายทีมไปเล่นให้ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ถึง 12 เดือน เนื่องจากอาการบาดเจ็บที่หัวเข่า รวมไปถึง โลอิก เรมี่ ที่เคยเกือบย้ายไปเล่นให้ ลิเวอร์พูล ก็ดันไม่ผ่านขั้นตอนนี้

หรือล่าสุด กรณี นาบิล เฟเคียร์ เพลย์เมกเกอร์จาก โอลิมปิก ลียง ที่การย้ายทีมไปยัง แอนฟิลด์ ดันมาล่มในขั้นตอนสุดท้าย


ถือเป็นการทำงานของทีมแพทย์ที่ต้องวิเคราะห์ออกมาและสรุปถึงผลได้-เสีย ของทีมว่าจะคุ้มค่าหรือไม่ บ่อยครั้งที่ดื้อดึงดันคว้าตัวมาร่วมทีม แต่กลับต้องอยู่ 'โรงหมอ' มากกว่าในสนามฟุตบอล

น่าเห็นใจทีมแพทย์เช่นกัน เพราะตลอดช่วงที่ผ่านมาก็โดนต่อว่าทั้งขึ้นทั้งล่อง หากมองในอีกมุมอย่างย่อหน้าที่แล้ว แน่นอน พวกเขาอนุมัติผ่านได้ แต่หากเอามาแล้วนักเตะดันเดี้ยงยาวและเกิดขึ้นตรงบริวเณเดิม ใครกันล่ะที่โดนด่า? 

ก็คงหนีไม่พ้นทีมแพทย์

ยิ่งการตรวจสอบสมรรถภาพทางร่างกายสมัยใหม่มันมีขั้นตอนยิบย่อยมากมายและละเอียดขึ้น การตัดสินใจจุดนี้จึงสำคัญ

แต่ก็นั่นล่ะ คนที่จะตัดสินใจขั้นสุดท้ายจริงๆคือสโมสรว่า จะเซ็นหรือไม่เซ็นสัญญา? ... 

มากันที่ขั้นตอนการตรวจร่างกาย โดยทาง เดอะ มิร์เรอร์ สื่อดังของอังกฤษได้ส่งตัวแทนไปรับการทดสอบถึงขั้นตอนการตรวจร่างกายที่ เซนจ์ จอร์จ พาร์ค หรือศูนย์เก็บตัวทีมชาติอังกฤษที่มีเครื่องมือระดับโลกให้ใช้งาน


ขั้นตอนเริ่มจากการอบอุ่นร่างกายด้วยจักรยานออกกำลังกาย จากนั้นต้องเข้ารับการตรวจจากเครื่องทดสอบความแข็งแกร่งของกล้ามเนื้อ

จุดนี้ถือว่าสำคัญเพราะผู้ที่ทำการทดสอบต้องวางขาลงบนเครื่องมือและยืดออกไปพร้อมกลับนำกลับมาที่เดิมประมาณ 5 ครั้ง

ผลการทดสอบตรงนี้แสดงออกมาผ่านทางหน้าจอทันทีโดยมีแพทย์ที่จะทำการวิเคราะห์อยู่ใกล้ๆเพื่อดูการประเมินว่ากล้ามเนื้อส่วนไหนบ้างที่มีปัญหา

หลังจากผ่านไป 2 ขั้นตอน คราวนี้จะเป็นการทำสอบ 'V02' ซึ่งเป็นเครื่องคล้ายลู่วิ่ง พร้อมกับมีท่อให้ผู้ทำการทดสอบคาบไว้เพื่อดูระบบของร่างกาย ซึ่งขั้นตอนนี้จะเป็นการแสดงถึงสภาพร่างกายในตอนนั้นว่านักเตะมีความพร้อมมากเพียงใดพร้อมที่จะลงเล่นทันทีหรือไม่ หรือว่ามีความความเสี่ยง และต้องให้นักเตะทำงานร่วมกับโค้ชฟิตเนส เพื่อให้สภาพร่างกายปรับตัวให้ดีขึ้นกว่าเดิม

โดยจุดนี้ทีมแพทย์จะคอยสั่งให้ผู้ทดสอบหรือนักเตะค่อยๆเพิ่มระดับในการวิ่ง พร้อมกับคอยดูค่าสถิติต่างๆที่ถูกประเมินออกมา


เมื่อผ่านขั้นตอนต่างๆไปด้วยดี ถึงตรงนี้ก็จะเป็นหน้าที่ของแพทย์อีกฝ่ายที่จะดูตารางการแพทย์ที่ผ่านมาของนักเตะ ซึ่งประกอบไปด้วยข้อมูลส่วนตัว, ข้อมูลทางการแพทย์ และประวัติอาการบาดเจ็บที่ผ่านมา

ในส่วนนี้จะเป็นการวิเคราะห์ของแพทย์ซึ่งจะดูถึงการรักษา, อาการล่าสุด, ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งจะเป็นตัวสรุปที่จะส่งไปให้สโมสรตัดสินใจอีกครั้ง

แต่ ... 

ยังไม่จบแค่นั้น หลังจากการผ่านวิเคราะห์ถึงประวัติที่ผ่านมา คราวนี้คือการตรวจแบบละเอียดทีละจุด

ขั้นนี้จะลงรายละเอียดมากขึ้น โดยทีมกายภาพจะตรวจดูกล้ามเนื้อทุกมัด, การเคลื่อไหว, ข้อต่อต่างๆ โดยเฉพาะ ข้อเท้า, เข่า และสะโพก ซึ่งเกิดจากการเคลื่อนไหวตามคำสั่งและตรวจสอบของทีมงาน

หากไม่มีปัญหาอะไรทุกอย่างถือเป็นอันเสร็จสิ้น 


มีการเปิดเผยว่าบางครั้งสโมสรก็ฟังคำแนะนำและหาทางปรับแก้ไข ซึ่งทีมแพทย์ก็พร้อมที่จะให้คำแนะนำที่ดี หรือบางกรณีก็มีที่บางสโมสรไม่ฟังความเห็นดึงดันที่จะเซ็นสัญญา

หรือจะเป็นกรณีที่บางสโมสรตรวจร่างกายไม่ผ่านมา แต่อีกสโมสรกลับผ่านไปแบบฉลุยไม่มีปัญหา อย่างกรณีของ ชาร์ลี ออสติน ในปี 2013 ที่ไม่ผ่านการตรวจกับ ฮัลล์ แต่กลับผ่านไปด้วยดีกับ คิวพีอาร์

มันเกิดจากหลายหลายปัจจัย ซึ่งแต่ละอย่างจะนำมาประกอบกัน และส่งไปให้สโมสรเป็นคนตัดสินใจขั้นสุดท้าย

อย่างที่กล่าวไป ทีมแพทย์มีเพียงหน้าที่ตรวจสอบตามขั้นตอนรวมไปถึงส่งข้อมูลการวิเคราะห์, ความเสี่ยง, รวมไปถึงควาเมป็นไปได้ในอนาคตให้กับทีมนั้นๆ ทว่าท้ายที่มันคือสโมสร ที่จะประทับตราเซ็นสัญญา

เรื่องราวในขั้นตอนการตรวจร่างกายก็เป็นไปเช่นนี้ หวังว่าพอจะคลายความสงสัยให้กับทุกคนไม่มากก็น้อย ... 



ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ระดับ : {{val.member.level}}
{{val.member.post|number}}
ระดับ : {{v.member.level}}
{{v.member.post|number}}
ระดับ :
ดูความเห็นย่อย ({{val.reply}})

ข่าวใหม่วันนี้

ดูทั้งหมด