:::     :::

คุยกับ โจ พาทิศ : ไขสงสัยบรูไนไทยลีก,สมาคมนักเตะ,ฟีฟ่าเอเจนต์

วันเสาร์ที่ 20 ตุลาคม 2561 คอลัมน์ ONE MAN SHOW โดย แมน โกสินทร์
2,955
ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
กรณีข่าวทีมจากบรูไนอยากจะขอเข้ามาร่วมสังฆกรรมในไทยลีก กลายเป็นประเด็นทอล์คออฟเดอะทาวน์ ที่แตกกระสานไปทั้งด้านเห็นด้วยและค้านแบบสุดโต่ง รวมถึงประเด็นอื่นๆ ที่ยังมีข้อสงสัยทั้ง สมาคมนักเตะอาชีพจัดขึ้นมาจะมีบทบาทยังไง ฟีฟ่าเอเจนต์ทำไมไม่เห็นเปิดให้สอบมานานแล้ว วันนี้ผมไปคุยกับคุณพาทิศ ศุภะพงษ์ รองเลขาธิการฝ่ายต่างประเทศ สมาคมฟุตบอลไทย ให้ได้คลายข้อข้องใจกันครับ

แมน : สวัสดีครับคุณโจ ผมอยากจะถามเรื่องที่ทีมบรูไนจะขอเข้ามาเล่นไทยลีก อันนี้ที่มาที่ไปเป็นยังไงครับ

พาทิศ : อ๋อเขาแสดงความจำนงค์มานานแล้วครับ มากกว่าหนึ่งปีแล้ว และก็เงียบหายไปเลย ตอนนี้ก็ยังไม่มีอะไรคืบหน้าไปจากเดิมครับ 

แมน : มีความเป็นไปได้จริงๆ หรือครับที่ทีมจากต่างประเทศจะเข้ามาเล่นในไทยลีก มันไม่ผิดกฎข้อบังคับสมาคมหรอ

พาทิศ : ความเป็นไปได้ก็คงต้องมาดูว่าการที่เขาเข้ามาจะทำให้วงการฟุตบอลไทย สโมสร และทีมชาติไทยได้รับประโยชน์ยังไงบ้าง แล้วเราก็ค่อยนำมาหารือในที่ประชุมของสโมสรสมาชิก ถ้ามองว่าได้ประโยชน์ด้วยกันทุกฝ่ายก็เป็นไปได้ครับ ไม่ถือว่าผิดข้อบังคับหรอกครับ นี่ถือเป็นเคสพิเศษ ซึ่งยังไงก็ต้องผ่านมติที่ประชุมของสโมสรสมาชิกก่อนอยู่แล้ว

บรูไน ดีพีเอ็มเอ็ม เคยเป็นถึงแชมป์เอสลีก สิงคโปร์ 2015 มาแล้ว

แมน : สิทธิประโยชน์ที่เขาเสนอมามีอะไรบ้างครับ 

พาทิศ : จากที่เขาแจ้งมาก็คือจะมีการซื้อลิขสิทธิ์ไทยลีกกลับไปที่ประเทศบรูไน แล้วก็ยินดีออกค่าใช้จ่ายทั้งหมดทั้งการเดินทางและโรงแรมที่พักเวลาที่ทีมจากไทยเป็นฝ่ายไปเยือน แต่มันก็ยังไม่ชัดเจนว่าเป็นตัวเงินเท่าไหร่ แล้วจะครอบคลุมการเดินทางในประเทศด้วยหรือไม่ เพราะบางจังหวัดในประเทศไทยไม่ได้มีสายการบินตรงไปที่บรูไน ยังไงก็ต้องมาที่ดอนเมืองหรือสุวรรณภูมิก่อน ซึ่งก็จะเกิดค่าใช้จ่ายขึ้นมาสำหรับทีมนั้นๆ อีกทั้งการเดินทางไปบรูไน ใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง ไปกลับก็ถือว่าน่าจะเหนื่อยพอสมควรสำหรับทีมที่ต้องไปเยือน ซึ่งประเมินดูแล้วอาจจะไม่คุ้มสำหรับทีมนั้นๆ ครับ

แมน : พอข่าวออกมา ก็มีสองกระแสคือเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย สำหรับฝั่งที่ไม่เห็นด้วยก็มองว่าถ้าจะเข้ามาร่วมเล่น ควรมาตามลำดับคือไปเล่นในลีกล่างสุดก่อน เพราะตามกติกาทีมใหม่ที่เข้ามาร่วมเล่นต้องไต่เต้าขึ้นมาเอง ไม่ใช่ข้ามขั้นมาเล่นไทยลีกได้เลย แบบนั้นจะดูไม่ยุติธรรมกับสโมสรอื่นๆ 

พาทิศ : กรณีนี้ถือเป็นเคสพิเศษครับ ซึ่งก็อย่างที่บอกว่าต้องมาดูผลได้ผลเสียทุกอย่างก่อนครับ คือในอังกฤษ, สเปน หรือฝรั่งเศส ก็มีทีมจากต่างประเทศเข้าไปแข่งขัน เพื่อนบ้านเราเองก็มีอยู่ อย่างทีม บรูไน ดีพีเอ็มเอ็ม ทีมนี้ก็เคยเล่นอยู่ทั้งในลีกสิงคโปร์ และ มาเลเซีย 

แมน : แล้วเรื่องตกชั้นขึ้นชั้น หรือสิทธิ์เสียงในการเลือกตั้ง จะเหมือนกับสโมสรไทยมั้ยครับ โควตาการไปเล่นเอเอฟซี แชมเปี้ยนส์ ลีก จะมีผลมั้ย เขาต้องใช้นักเตะไทยด้วยหรือเปล่าในโควตา 3+1+3 

พาทิศ : เรื่องตกชั้นหรือโควตานักเตะคงยังสรุปตอนนี้ไม่ได้ เพราะที่เขาเคยไปแข่งในเอสลีกหรือเอ็มลีกนั่นลีกเขาไม่มีการตกชั้น ตัวผู้เล่นที่เขาใช้ก็เป็นตัวบรูไนรวมกับผู้เล่นต่างชาติ อย่างที่บอกว่าเขาเข้าไปร่วมมันเป็นกรณีพิเศษ สำหรับสิทธิ์ไปเอเอฟซี เขาไม่มีอยู่แล้วตามหลักสากล เพราะทีมที่ได้สิทธิ์แต่ละลีกต้องเป็นของชาตินั้นๆ เท่านั้นครับ 

แมน : แล้วหากมีทีมจากบรูไนเข้ามา มันจะมีผลต่อค่าสัมประสิทธิ์ในเอเอฟซีของไทยลีกหรือเปล่าครับ

พาทิศ : ไม่มีหรอกครับ เพราะค่าสัมประสิทธิ์มันมีผลมาจากผลงานของสโมสรไทยในการแข่งขันเอเอฟซี รวมถึงคลับไลเซนซิ่งของแต่ละสโมสรในลีกครับ

ค่าสัมประสิทธิ์ขึ้นอยู่กับผลงานของสโมสรไทยในถ้วยเอเอฟซี

แมน : มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นในฤดูกาล 2019 เลยมั้ยครับ

พาทิศ : ตอบได้เลยว่าไม่มีทางครับ เพราะแต่ละขั้นตอนมันต้องใช้เวลา ตั้งแต่ฟังข้อเสนอจากทางบรูไน แล้วก็ต้องเอาเข้าที่ประชุมของสโมสรสมาชิก ถ้าผ่านความเห็นชอบแล้ว ก็ต้องส่งเรื่องไปที่เอเอฟซีให้เขารับรอง แล้วเอเอฟซีก็จะส่งต่อไปยังฟีฟ่าอีกทีเพื่ออนุมัติ ซึ่งผมคิดว่าแต่ละขั้นตอนใช้เวลานานอยู่แล้ว ไม่มีทางเกิดขึ้นได้ในเร็วๆ นี้แน่นอนครับ 

แมน : พูดถึงเรื่องลิขสิทธิ์ มีชาติในอาเซียนขอซื้อลิขสิทธิ์บอลไทยลีกบ้างหรือยังครับ

พาทิศ : ต้องอธิบายให้ทราบก่อนว่า ไทยลีกของเราไม่ใช่สินค้าเหมือน ไอโฟน หรือ ซัมซุง ที่เปิดตัวขึ้นมาแล้วจะมีคนจับจองซื้อทันที มันต้องสร้างมูลค่าให้ตลาดได้เห็นก่อน เหมือนกับการลงทุนธุรกิจก็ต้องทำให้คนซื้อเห็นว่าเขาจะได้อะไรแล้วคุ้มที่จะซื้อหรือไม่ อย่างในปี 2019 ที่ไทยลีกจะเพิ่มโควตามาเป็น 3+1+3 ก็ถือได้ว่าเป็นการลองตลาด เหมือนกับเจลีกแหละครับ พอนักเตะไทยไปสร้างผลงานแล้วมีคนติดตามดูเจลีกมากขึ้น เขาก็ขายลิขสิทธิ์ได้เอง มันเป็นกลไกแบบนั้น ซึ่งกว่าที่เจลีกจะมาขายให้ไทยได้แบบนี้ เขาก็ลองมาแล้วหลายวิธีหลายตลาด เพราะฉะนั้นไทยลีกก็ต้องทำให้เพื่อนบ้านเห็นก่อนว่าทำไมเขาต้องซื้อไปดู ถ้ามีนักเตะอาเซียนทำผลงานได้ดี แล้วมีคนติดตามดูเยอะๆ ก็มีโอกาสมากขึ้นที่เขาจะซื้อลิขสิทธิ์ 

เจลีกขายลิขสิทธิ์ให้ทรูได้ ก็เพราะ เจ ชนาธิป นี่แหละ

แมน : แล้วยังมีความเป็นไปได้อยู่อีกมั้ยครับที่ไทยลีกปีหน้าจะมี 18 หรือ 20 ทีม 

พาทิศ : เป็นไปไม่ได้แน่นอนครับ เพราะเราต้องแจ้งล่วงหน้า 1 ปีอยู่แล้ว ซึ่งทางสมาคมและฝ่ายจัดการแข่งขันได้แจ้งยืนยันไว้แล้วว่าไทยลีก 2019 จะมี 16 ทีม จะมาเปลี่ยนแปลงกะทันหันไม่ได้ครับ

แมน : ขอถามถึงเรื่องสมาพันธ์นักฟุตบอลอาชีพของไทย ที่ ตี๋ สินทวีชัย เป็นนายกหน่อยครับ สมาพันธ์นี้จะมีการทำงานร่วมกับสมาคมฟุตบอลยังไงบ้าง 

พาทิศ : แยกกันครับ สมาคมนักฟุตบอลอาชีพจะขึ้นตรงกับฟิฟโปร ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ฟีฟ่าแยกออกมา จะดูแลเรื่องสิทธิ์ประโยชน์ การรักษาสิทธิ์ให้กับนักฟุตบอลอาชีพ ซึ่งหน่วยงานนี้อดีตนักฟุตบอลแต่ละชาติเขาจะจัดตั้งขึ้นมาแล้วไปขึ้นตรงที่ฟิฟโปร ซึ่งก็จะครอบคลุมถึงเรื่องบำเน็จบำนาญ การดูแลสวัสดิการอดีตนักเตะทีมชาติ เป็นต้นครับ 

แมน : ไม่เกี่ยวใดๆ กับสมาคมฟุตบอลเลยหรอครับ แบบนี้ถือเป็นองค์กรอิสระที่ไม่แสวงหาผลกำไรหรือเปล่าครับ

พาทิศ : ถือเป็นสมาคมหนึ่งครับ ซึ่งทุกๆ สมาคมนั้นมีกฎว่าต้องไม่แสวงหาผลกำไรอยู่แล้ว จะไม่มีการปันผลให้ผู้ถือหุ้น และไม่ใช่นำรายได้มาแบ่งกัน แต่จะต้องนำมาบำรุงและหมุนเวียนค่าใช้จ่ายภายในสมาคม

แมน : ในเมืองไทยจะทำได้เหมือนอย่างต่างประเทศหรือครับ เพราะว่ากันตรงๆ บ้านเราคนทำทีมก็คนใหญ่คนโตแทบทั้งนั้น นักฟุตบอลตัวเล็กๆ จะกล้าไปงัดข้อกับผู้มีอำนาจหรอเวลาที่ถูกปฏิบัติไม่เป็นธรรม

พาทิศ : การมีสมาคมนักฟุตบอลมันเป็นสิ่งที่ควรมีอยู่แล้วครับ ทางฟิฟโปรก็จัดอบรมอยู่ทุกปี ซึ่งการมีขึ้นมายังไงก็ดีกว่าไม่มีอยู่แล้ว อย่างน้อยก็ช่วยเรื่องสวัสดิการและเป็นปากเป็นเสียงแทนได้ เรื่องกฎหมายทนายความทางสมาคมนักเตะก็ยังสามารถช่วยเหลือนักฟุตบอลที่ถูกปฏิบัติไม่เป็นธรรม เรื่องสัญญาไม่เป็นธรรมได้ คงจะต้องค่อยๆ สร้างและเรียนรู้ไปครับ

สินทวีชัย นายกสมาคมนักฟุตบอลอาชีพไทย

แมน : ขอถามถึงเรื่องเอเจนต์หน่อยครับ ฟีฟ่าเขายังเปิดให้สอบเอเจนต์อยู่มั้ย เห็นเงียบไปนานมากแล้ว

พาทิศ : เขายกเลิกระบบนี้ไปนานแล้วครับ ตอนนี้ฟีฟ่าไม่มีการเปิดสอบเอเจนต์แล้ว

แมน : อ้าวแล้วถ้าเกิดคนไทยอยากจะเป็นเอเจนต์ที่ถูกต้อง มีใบรับรองจากฟีฟ่าจะทำยังไงล่ะครับ

พาทิศ : ระบบฟีฟ่าเอเจนต์ไม่มีแล้วครับ ตอนนี้ใครก็สามารถเป็นตัวแทนนายหน้าได้หมด ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่พี่น้องเพื่อนฝูง หรือใครก็ได้ จะเป็นบุคคลหรือนิติบุคคลก็ได้ทั้งนั้น 

แมน : มันมีเคสปัญหาบ่อยๆ ที่มีคนแอบอ้างเป็นนายหน้าของนักเตะ แล้วไปขอส่วนแบ่งค่าเซ็นจากสโมสร นักเตะหนึ่งคนมีคนอ้างเป็นเอเจนต์เต็มไปหมด เรื่องแบบนี้จะแก้ไขยังไงดีครับ

พาทิศ : คนที่จะเป็นนายหน้าก็ต้องมีใบมอบอำนาจให้จัดการแทนนักเตะครับ ปกติแล้วนักเตะเองก็ต้องรู้ว่าเอเจนต์ของตัวคือใคร เขาต้องมีการทำสัญญากันครับ สโมสรเองก็ต้องรู้ว่านักเตะคนนี้ใครเป็นเอเจนต์ ถ้าเกิดการแอบอ้างกันหรือปลอมหนังสือมอบอำนาจ ทางนักเตะและสโมสรคงต้องไปดำเนินการทางคดีความกับคนที่แอบอ้างนั้นตามกฎหมายครับ

แมน : เอเจนต์มีสิทธิ์เป็นเจ้าของนักเตะได้มั้ยครับ คือแต่ก่อนเคยมีเคสของเวสต์แฮมที่ซื้อ ฮาเวียร์ มาสเคราโน่ และ คาร์ลอส เตเวซ แล้วไปจ่ายค่าตัวให้บริษัทของอิหร่าน ซึ่งผิดกฎฟีฟ่า ในไทยตอนนี้ก็พอทราบว่ามีนักเตะบางรายที่สังกัดเอเจนต์ไม่ได้สังกัดสโมสร

เคสผิดกฎฟีฟ่าแบบนี้คงไม่เกิดขึ้นในประเทศไทยนะ

พาทิศ : ผิดแน่นอนอยู่แล้วครับ เพราะฟีฟ่าเขาห้ามให้บริษัทเอเจนต์มีสิทธิ์ในตัวนักเตะ เวลาเกิดการซื้อขายกันต้องระหว่างสโมสรกับสโมสรเท่านั้น เอเจนต์มีสิทธิ์เป็นเพียงตัวแทนนายหน้าในการเจรจาและรับประโยชน์จากส่วนแบ่งเท่านั้น ไม่ใช่สโมสรไปซื้อตัวจากบริษัทเอเจนต์ แบบนั้นผิดครับ

แมน : โอเคครับ วันนี้ขอบคุณมากนะครับคุณโจ

พาทิศ : ยินดีครับคุณแมน ขอบคุณครับ


ถ้าชอบก็กดไลค์ ถ้าใช่ก็กดแชร์ กันด้วยนะครับ (แมน โกสินทร์ อัตตโนรักษ์) 



ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ระดับ : {{val.member.level}}
{{val.member.post|number}}
ระดับ : {{v.member.level}}
{{v.member.post|number}}
ระดับ :
ดูความเห็นย่อย ({{val.reply}})

ข่าวใหม่วันนี้

ดูทั้งหมด