:::     :::

ลูกหนังน้องใหม่ที่แฟนเยอะกว่าเชลซี

วันเสาร์ที่ 10 พฤศจิกายน 2561 คอลัมน์ Stars & Stripes โดย เจ.บาร์ท
2,015
ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ประเทศสหรัฐฯที่เรียกฟุตบอลเป็นซ้อคเกอร์ มักหยามกีฬาชนิดนี้มาเสมอว่า - ไว้ให้ผู้หญิงเล่น - แต่เมื่อเวลาผ่านความนิยมในการหวดลูกหนังหุ้มลมทวีคูณหลายเท่าตัว จนปัจจุบันแฟรนไชส์ที่ก่อตั้งไม่ถึง 5 ปี ก็มีแฟนเข้าชมเกมในสนาม/นัด มากกว่า เชลซี แห่งเกาะอังกฤษไปแล้ว

ปักหมุดไปยังเมือง แอตแลนตา รัฐจอร์เจีย ซึ่งได้ชื่อว่าชุมชนใหญ่, มีทีมอาชีพหลายชนิดรวมถึงสร้างประวัติหลายประการต่อวงการกีฬา

ทั้งฐานะเจ้าภาพจัดกีฬาโอลิมปิก เกมส์ 1996, แฟรนไชส์เบสบอลประจำถิ่นอย่าง เบรฟส์ เคยซิวแชมป์ เวิลด์ ซีรี่ส์, เป็นเมืองผู้ให้กำเนิดยอดนักกอล์ฟ บ็อบบี้ โจนส์ ชายคนเดียวในประวัติศาสตร์ที่คว้า 4 แชมป์ เมเจอร์ และ ออกัสต้า เนชั่นเนล กอล์ฟ คอร์ส ยังเป็นฐานที่มั่นสำหรับจัดแข่งเมเจอร์มากเสน่ห์อย่าง 'เดอะ มาสเตอร์ส ทัวร์นาเมนต์' ในทุกๆปี

แต่เวลานี้ความสนใจของชาวถิ่นร้านตลาดกำลังลุ่มหลงกับสโมสรลูกหนังชื่อ แอตแลนตา ยูไนเต็ด เอฟซี ที่มีแข้งประสบการณ์อย่าง แบร้ด กูซาน อดีตนายด่าน แอสตัน วิลล่า หรือ คริส แม็คแคนน์ ซึ่งครั้งหนึ่งขายฝีเท้าให้ เบิร์นลี่ย์ และ วีแกน 


บรรยากาศในเมอร์เซเดส-เบนซ์ สเตเดี้ยม 


ค่าเฉลี่ยแฟนบอล 5.2 หมื่น/นัด มากกว่า เชลซี เสียอีก


ป้ายผ้า, ทิวธง สีสันของกองเชียร์

เห็นได้จากค่าเฉลี่ยแฟนบอลเข้าสนาม/นัด ฤดูกาลล่าสุด 52,000 คน - มากกว่าทุกแฟรนไชส์บนเมเจอร์ลีก ซ้อคเกอร์ (เอ็มแอลเอส) ร่วมหมื่นหัว  

ตัวเลข 5.2 หมื่น/นัด นี่เอง ทำให้พวกเขาขึ้นไปติดท็ป 15 ทีมฟุตบอลกองเชียร์มากสุดโลก เหนือกว่าทีมรุ่มรวยประวัติศาสตร์อย่าง เชลซี และ เอฟเวอร์ตัน ด้วยซ้ำ 

กลับไปที่จุดเริ่มต้นของแฟรนไชส์จากแดนใต้ของมะกัน ทาง'เอ็มแอลเอส' มอบสิทธิ์ก่อตั้งทีมให้เมือง แอตแลนตา ปี 2014 ก็ค่อยๆก่อร้างองค์กรกระทั่งพร้อมแข่งเมื่อฤดูกาล 2017 

ต้องขอบคุณวิสัยทัศน์จาก อาร์เธอร์ แบลงก์ มหาเศรษฐีผู้ก่อตั้งร้านวัสดุก่อสร้างรายใหญ่อย่าง โฮม ดีโปต์ ฐานะเจ้าของทีมที่ดึงสิทธิ์นี้มาสู่ชุมชน ส่วนหนึ่งเพราะคุ้นเคยงานบริหารทีมกีฬา แอตแลนตา ฟอลคอนส์ ในลีก อเมริกัน ฟุตบอล เอ็นเอฟแอล มาด้วย 

แบลงก์ เห็นว่าภูมิภาคทางใต้สหรัฐฯ ยังขาดทีมซ้อคเกอร์ จึงติดต่อไปทางลีกเพื่อส่งทีมแข่งขัน สอดคล้องกับช่วงเวลาที่ เอ็มแอลเอส เปิดหาสมาชิกเพิ่มพอดี อาศัยเวลากว่า 2 ปีสำหรับเซตแฟรนไชส์ ควบคู่กับการสร้างสนามอเนกประสงค์แห่งใหม่ เมอร์เซเดซ-เบนซ์ สเตเดี้ยม เพื่อใช้ทั้ง คน-ชน-คน และหวดลูกหนัง


แบลงก์ (ซ้าย) เจ้าของทีมจับมือกับ กูซาน (ขวา) 

ด้านงานบริหารมีการว่าจ้าง ดาร์เรน เอลส์ อดีตซีอีโอ.ทีม ท็อตแน่ม ฮอตสเปอร์ มาวางรากฐาน ทั้งนี้ปณิธานที่เจ้าตัวประกาศตอนมาถึงครั้งแรกมีว่า 

"ผมหวังอย่างยิ่งว่าจะผนวกรวมแฟนๆท้องถิ่นให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างแฟรนไชส์นี้ บรรยากาศอันน่าเร้าใจในแต่ละเกมเหย้าคือเครื่องเชิดหน้า" มิสเตอร์ เอลส์ กล่าวไว้แต่แรกทั้งที่ทุกอย่างเพิ่งเริ่มนับหนึ่ง

จากความฝันบนหน้ากระดาษ วันนี้ทุกอย่างเกิดขึ้นจริง แอตแลนตา ได้ชื่อว่าแฟนบอลเสียงดังสุดเบอร์ต้นๆ, สีสันกองเชียร์, ป้ายผ้าต่างๆ, เป่าแตรลมขู่ขวัญ, สัญญาณปรบมือพร้อมกันที่สนั่นจนแก้วหูสะเทือน พร้อมกับประสานคำพูด "เอ-ที-แอล" อักษรย่อของเมือง

ทั้งหมดทั้งมวลคือการรวมจุดเด่นของเมกกะลูกหนังโลกอย่าง ซาน ซิโร่, มาราคาน่า หรือสไตล์อังกฤษโบราณ มารวมไว้ที่เดียว  

สำหรับบุคลากรลูกหนัง แอตแลนตา ลงทุนกับแข้งหนุ่มที่กระหายลงแข่ง ส่วนใหญ่คือแข้งพรสวรรค์ของละตินอเมริกา 


ตาต้า มาร์ตีโน่ (ขวา) เทรนเนอร์ แอตแลนตา ยูไนเต็ด ดีกรีคุม บาร์ซ่า มาแล้ว


มาร์ตีเนซ กองหน้าเวเนซุเอล่า

ยกตัวอย่าง โฮเซฟ มาร์ตีเนซ กองหน้าจาก เวเนซุเอล่า, มีเกล อัลมีร่อน กองกลางปารากวัย หรือเจ้าหนุ่ม อาร์เจนไตน์ เอเซเกียล บาร์โก ซึ่งได้ชื่อว่าค่าตัวแพงสุดของลีกที่ 13 ล้าน เหรียญ สหรัฐฯ (ราว 10 ล้าน ปอนด์) 

งานโค้ชก็จ้าง เคราร์โด มาร์ตีโน่ อดีตเทรนเนอร์ บาร์เซโลน่า มาฝึกสอนแต่แรก จนปลูกฝังศาสตร์ลูกหนังขั้นสูงแก่เด็กๆให้ครื่องติดแต่หัววัน แม้ภาษาอังกฤษของเขายังย่ำแย่ต้องมีล่ามช่วยสื่อสาร 

ด้วยความเอาจริงเอาจังของแฟรนไชส์ สามารถทำลายภาพลักษณ์ชาวเมืองแอตแลนตาที่โดนมองว่าสันโดษ และไม่ค่อยให้ความร่วมมือในงานส่วนรวม มาเป็นชุมชนเข้มแข็ง 

ประชากรกว่า 6 ล้านคนในเขตเมือง รู้สึกภูมิใจกับแฟรนไชส์ลาย'แดง-ดำ'แห่งนี้ ยิ่งผลงานทีมโดดเด่นสามารถเข้าถึงเพลย์ออฟตั้งแต่ปีแรกที่ลงแข่งกระแสจึงจุดติดรวดเร็ว 

"ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของแฟนบอล มันทำให้คุณรู้ว่าต้องเล่นอย่างสุดฝีเท้าไปเพื่ออะไร" แม็คแคนน์ กองกลางเสาหลักเคยกล่าวไว้ 

นักวิเคราะห์ในสหรัฐฯตั้งสมมุติฐานว่าเหตุใดแฟรนไชส์ แอตแลนตา ยูไนเต็ด ถึงจุดติดความนิยมจากแฟนได้อย่างรวดเร็ว? 


ทูเชนซ์ ศิลปินดังลูกหลานชาวแอตแลนตา ตอกหมุดทองคำเอาฤกษ์เอาชัย


พิธีแห่มาตั้งแต่ใต้ถุนสนามสู่ปรัมพิธี

คำเฉลยที่ได้มาคือละแวกนั้นแทบไม่มีทีมซ้อคเกอร์บนลีกสูงสุดอยู่เลย ใกล้สุดเห็นจะเป็น ออร์แลนโด เอฟซี แต่ก็ห่างกว่า 500 ไมล์ ขับรถยนต์ใช้เวลาเกิน 6 ชั่วโมง 

ทำให้แฟนานุแฟนที่ชอบกีฬาชนิดนี้ในรัศมีขับรถ 2 ชั่วโมงถึงสนาม สมัครใจหนุนทีม แอตแลนตา 

อีกประการคือความภูมิใจในถิ่นเกิด เพราะเมื่อคุณเป็นคนแอตแลนตา ต่อไปให้ต้องไปได้งาน-สร้างครอบครัวห่างมาตุภูมิที่ นิวยอร์ก, ชิคาโก หรือ ดัลลัส แต่พวกเขาก็ยังหนุนทีม อเมริกันฟุตบอล ฟอลคอนส์ 

โมเดลเดียวกันส่งผลดีต่อแฟนไชส์ลูกหนัง ดูคือข้อสรุปที่สมเหตุสมผล

วกมายังเรื่องจำนวนแฟนเข้าสนาม เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมารังเหย้า เมอร์เซเดซ-เบนซ์ สเตเดี้ยม ได้สร้างสถิติจำนวนผู้ชมมากสุดประวัติศาสตร์ลีกที่ 72,000 คน ในเกมพบกับ ซีแอตเทิ่ล ซาวน์เดอร์ส 

ต้องขอบคุณกลุ่มเชียร์ใหญ่สี่ค่ายที่ร่วมสร้างสีสัน รวมถึงเปล่งเสียงเชียร์ตลอดเวลาทั้ง เทอร์มินัส ลีเจี้ยน, เดอะ แฟ็คชั่น, ฟู้ตี้ ม็อบ และ รีเซอร์เจนซ์  

"รูปแบบการเชียร์ที่เป็นเอกลักษณ์จากทั้งฝั่งละติน อเมริกา หรือ ยุโรป ถูกเรานำจับมาผสมกันที่ แอตแลนตา" ซีอีโอมือดีพูดถึงธรรมเนียมประจำสโมสร 

'พิธีตอกหมุดทองคำ' คือสิ่งเลื่องชื่อสำหรับแฟรนไชส์ มันมีลักษณะเหมือตะปูทองขนาดยักษ์ที่ผู้เล่น, สตาฟฟ์ หรือแขกวีไอพี-เซเลบริตี้ เซ็นชื่อลงไปเก็บไว้อย่างดี 

โดยก่อนแข่งจะมีการแห่แท่งศักดิ์สิทธิ์จากใต้ถุนสนามผ่านกลุ่มแฟนบอลเจ้าบ้านไปสู่แท่นพิธีซึ่งเตรียม โดยจะให้กองเชียร์กิตติมศักดิ์ในแต่ละแมตช์ขึ้นปรัมนำค้อนมาตอกฝังเอาฤกษ์เอาชัย  

ทีมเจ้าของฉายา '5 แถบ' ยังงัดโชว์แสง-สี-เสียงฉลองหลังทำประตูอันโดดเด่น หากว่าผู้เล่นตัวเองพังตาข่าย ทั้งไฟที่จัดแต่งไว้, ไอควันที่พุ่งพวย และคำบรรยายสไตล์ละตินลากเสียงยาวๆว่า "เข้าไป.........แล้ว!!!!!!!" พร้อมธงโบกไสว ใครเห็นก็ประทับใจ 

บรรยากาศสุดคึกในรังเหย้าของทีมฉายา '5 แถบ' 

สุดสัปดาห์นี้ ( 11 พ.ย.) สังเวียน เมอร์เซเดซ-เบนซ์ สเตเดี้ยม จะถูกแสดงแสนยานุภาพในเกมรอบตัดเชือกฝั่งตะวันออก นัดสอง รับมือ นิวยอร์ก ซิตี้ หลังจากเกมแรกกุมความได้เปรียบมา 1-0 ซึ่งดูแล้วไม่มีพลิกล็อค 

ซึ่งหากผ่านถึงแมตช์ชิงฯ คอนเฟอเรนซ์ ก็ยังภาษีดีกว่า สปอร์ติ้ง แคนซัส ซิตี้ หรือ นิวยอร์ก เร้ด บูลล์ส ในรอบตัดเชือกอีกคู่ ในการคว้าสิทธิ์ชิงแชมป์ประเทศพบสโมสรจากฝั่งตะวันตก 

นอกจากฐานบัญชาการใหญ่ของช่องข่าวระดับโลกอย่าง ซีเอ็นเอ็น และเครื่องดื่มอัดลมทรงอิทธิพล โคคา โคล่า 

เมืองแอตแลนตาอาจได้บรรจุอีกชื่อเสียงว่าคือเมืองหลวงแห่งซ้อคเกอร์ สหรัฐฯ ถ้าสามารถผงาดคว้าเบอร์หนึ่งของแผ่นดินมะกัน

ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ระดับ : {{val.member.level}}
{{val.member.post|number}}
ระดับ : {{v.member.level}}
{{v.member.post|number}}
ระดับ :
ดูความเห็นย่อย ({{val.reply}})

ข่าวใหม่วันนี้

ดูทั้งหมด