:::     :::

5 จุดต้องปรับของทัพเซเลเซา

วันจันทร์ที่ 09 ตุลาคม 2560 คอลัมน์ ลูกหนังนอกกรอบ โดย JOKE
1,381
ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
เนย์มาร์ นำทัพเซเลเซาคว้าเหรียญทองฟุตบอลชายโอลิมปิกเกมส์ครั้งแรกในประวัติศาสตร์เมื่อปี 2016 และเป้าหมายต่อไปของเนย์คือตำแหน่งแชมป์โลกที่รัสเซียช่วงกลางปีหน้า

    บราซิล เป็นชาติแรกที่ผ่านการคัดเลือกเข้ามาเล่นฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายที่ประเทศรัสเซียช่วงกลางปีหน้าตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมาหลัง อาเดนอร์ เลโอนาร์โด้ บัคชี่ หรือ ตีตี้ เทรนเนอร์วัย 56 ปีนำทัพแซมบ้าคว้าชัยชนะ 8 นัดติดต่อกัน
    ทัพเซเลเซาเป็นชาติเดียวที่ผ่านเข้ามาเล่นรอบสุดท้ายของฟุตบอลโลกตลอด 20 ครั้งที่ผ่านมา ทีมแซมบ้าคว้าแชมป์โลกมาแล้ว 5 สมัยในปี 1958, 1962, 1970, 1994 กับ 2002

    จุดตกต่ำของบราซิลเกิดขึ้นหลังจากการปราชัยต่อ เยอรมัน 1-7 ในรอบตัดเชือกของศึกฟุตบอลโลก 2014 ก่อนปิดฉากทัวร์นาเมนต์ด้วยอันดับ 4 หลังการพ่ายแพ้ต่อ ฮอลแลนด์ 0-3


    ความล้มเหลวจากศึกฟุตบอลโลกครั้งล่าสุดทั้งที่เป็นเจ้าภาพและมีความคาดหวังสูงในการล่าแชมป์สมัยที่ 6 ทำให้ หลุยซ์ เฟลีเป้ สโคลารี่ ซึ่งเคยนำทีมแซมบ้าคว้าแชมป์โลกเมื่อปี 2002 ต้องแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกจากตำแหน่ง
    การ์ลอส ดุงก้า ซึ่งเคยกุมบังเหียนทีมแซมบ้าในช่วงปี 2006-2010 ถูกดึงกลับมากู้วกฤติอีกครั้ง เทรนเนอร์วัย 53 ปีทำผลงานช่วงแรกสวยหรูจากการนำทัพเซเลเซาคว้าชัยจากการลงเล่นเกมอุ่นเครื่อง 10 นัดติดต่อกันบวกอีกหนึ่งเกมในศึกโกปาอเมริกา 2015
    แม้จะตกรอบควอเตอร์ไฟนัลของศึกโกปาอเมริกาที่ประเทศชิลีจากการดวลเป้าพ่าย ปารากวัย 3-4 หลังสมอกันในเวลาปกติ 1-1 แต่ดุงก้ายังได้รับความไว้วางใจจากสหพันธ์ฟุตบอลบราซิลต่อไป
    อย่างไรก็ตามทีมแซมบ้าประเดิมรอบคัดเลือกศึกฟุตบอลโลกโซนอเมริกาใต้ด้วยการปราชัย ชิลี 0-2 จากนั้นดุงก้านำอดีตแชมป์โลก 5 สมัยเก็บได้เพียง 9 แต้มจากการลงเล่น 5 นัดต่อมาด้วยสถิติชนะ 2 เสมอ 3
    จุดพลิกผันเกิดขึ้นบนเวทีโกปาอเมริกา 2016 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาหลัง บราซิล พลิกพ่าย เปรู 0-1 จนกระเด็นตกรอบแรกส่งผลให้สหพันธ์ฟุตบอลบราซิลสั่งปลดดุงก้าออกจากตำแหน่ง


    ตีตี้ ถูกดึงจาก โครินเธียนส์ เข้ามารับตำแหน่งเทรนเนอร์ทีมชาติบราซิลในช่วงเดือนมิถุุนายน 2016 พร้อมประเดิมงานใหม่ด้วยการนำทัพเซเลเซาบุกขย่ม เอกวาดอร์ 3-0 ถึงกรุงกีโต้จากการเปิดร่องด้วยจุดโทษของ เนย์มาร์ ก่อน กาเบรียล เชซุส จะกดเพิ่มคนเดียวอีกสองดอก
    เทรนเนอร์วัย 56 ปีนำทีมแซมบ้าเดินหน้ากำชัยชนะอีก 7 นัดรวดจนกระทั่งถึงเกมสอย ปารากวัย 3-0 จากการดาหน้ายิงประตูของ ฟิลิปเป้ กูตินโญ่, เนย์มาร์ กับ มาร์เซโล่ วิเอยร่า เมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งทำให้บราซิลเป็นชาติแรกที่การันตีตั๋วเข้ามาเล่นรอบสุดท้ายของศึกฟุตบอลโลกสมัยที่ 21 ติดต่อกัน
    นับตั้งแต่เข้ามากุมบังเหียนทีมแซมบ้า ตีตี้นำทัพเซเลเซาพ่ายครั้งเดียวต่อ อาร์เจนตินา 0-1 ในเกมอุ่นเครื่องบนสังเวียน'เมลเบิร์น คริกเก็ต กราวน์ด'ของประเทศออสเตรเลียเมื่อวันที่ 9 มิถุนายนที่ผ่านมา
    บราซิล ยุคเทรนเนอร์วัย 56 ปีจะลงเล่น 14 นัด ทำสถิติชนะ 11 เสมอ 2 แพ้ 1 ยิง 32 ประตู เสียเพียง 4 ประตูเท่านั้น ซึ่งช่วยพลิกสถานการณ์จากที่ดุงก้าเคยทำทีมตกมาอยู่ถึงอันดับ 6
    ทัพเซเลเซาผ่านเข้าไปเล่นฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายขณะที่เหลือโปรแกรมรอบคัดเลือกอีกถึง 4 เกม ส่วนโควตาที่เหลือยังต้องดิ้นรนกันจนถึงแมตช์สุดท้ายช่วงเช้าวันพุธนี้โดยเฉพาะแชมป์โลก 2 สมัยอย่าง อาร์เจนตินา
    ผลงานดังกล่าวทำให้สาวกทีมแซมบ้าสามารถภูมิใจได้ในระดับหนึ่ง แต่ตีตี้ยังมีการบ้านที่ต้องทำในช่วงเวลา 9 เดือนก่อนจะนำทัพเซเลเซาลุ้นตำแหน่งแชมป์โลกสมัยที่ 6 ของพวกเขาที่เมืองหมีขาว
    บราซิล ยุค ตีตี้ เล่นอย่างมีสไตล์พร้อมคว้าผลการแข่งขันที่ยอดเยี่ยมตามรอยทีมแซมบ้าในอดีต แต่เทรนเนอร์วัย 56 ปียังมีหน้าที่ต้องปรับบางจุดเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์แบบก่อนลงทำศึกฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายช่วงกลางปีหน้า


   
    ไม่ควรพีคเร็วเกินไป
    ช่วงไม่กี่เดือนก่อนหน้าฟุตบอลโลกครั้งที่ผ่านมา หลุยซ์ เฟลีเก้ สโคลารี่ เทรนเนอร์ทีมชาติบราซิลขณะนั้นเคยแสดงความมั่นใจว่า'ผมทำได้ในส่วนที่ยาก เราพบทีมของเราแล้ว' นั่นหมายถึงขุมกำลังตัวจริงที่ใช้ในนัดชิงชนะเลิศของศึกคอนเฟดเดอเรชั่นส์ คัพ ที่เอาชนะ สเปน 3-0 ว่าจะเป็นขุมกำลังของสโคลารี่ในการเล่นรอบสุดท้ายของฟุตบอลโลก
    การให้ความสำคัญกับศึกคอนเฟดเดอเรชั่นส์ คัพมากเกินไปและแนวคิดของการสร้างทีม 11 คนแรกก่อนหน้าศึกฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายถึงหนึ่งปีเต็มกลายเป็นผลเสียและมีข้อบกพร่องอย่างเห็นได้ชัด
    ดังนั้น ตีตี้ ควรเรียนรู้บทเรียนมาจากยุคสโคลารี่ว่ามีความผิดพลาดอย่างไร เขาควรส่งเสริมให้มีการแข่งขันเพื่อแย่งชิงตำแหน่งพร้อมทั้งเปิดทางเลือกหากแข้งตัวหลักบางรายบาดเจ็บหรือฟอร์มตก ซึ่งมันจะช่วยให้นักเตะตัวหลักๆหรือว่าที่ตัวจริงทั้งหลายยังเท้าติดดินไม่ต่างจากเดิม
   
    ระลึกเสมอว่าพวกเขายังต้องเจอกับทีมดีที่สุด
    บราซิลทำผลงานยอดเยี่ยมนับตั้งแต่ ตีตี้ เข้ามารับตำแหน่งในช่วงเดือนมิถุนายนปี 2016 สื่อบราซิเลียนบางสำนักยกให้ทีมแซมบ้าชุดนี้มีโอกาสคว้าแชมป์โลกในช่วงกลางปีหน้า แต่มันดูเหมือนจะเป็นการกล่าวยกย่องมากเกินไป มันอันตรายถ้าหากเทรนเนอร์หลงลมไปกับคำเยินยอดังกล่าว
    ยกตัวอย่างฟุตบอลโลกหลายๆครั้งที่ผ่านมา บราซิลมักจะถูกยกให้เหนือกว่าบรรดาชาติยักษ์ใหญ่ของยุโรปตะวันตก ซึ่งคว้าแชมป์โลกถึง 5 จาก 6 ครั้งหลังสุด
    สำหรับชาติร่วมทวีปอเมริกาใต้ด้วยกัน ไม่มีทีมใดต่างพึงพอใจกันแนวทางการเล่นของตนเองแม้กระทั่งทีมอันดับ 2 อย่างอุรุกวัยยังต้องดิ้นรนเพื่อไปรัสเซียจนถึงเกมสุดท้าย
    ตีตี้ มีโอกาสนำทีมแซมบ้าทดสอบประสิทธิภาพกับชาติยุโรปในการเล่นเกมกระชับมิตรกับ อังกฤษ ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน ซึ่งอาจเป็นการประเมินความสามารถของทัพเซเลเซาชุดนี้ได้ดีในระดับหนึ่งถึงแม้ว่าทีมสิงโตคำรามจะไม่ใช่ชาติระดับหัวแถวของยุโรปยุคนี้ก็ตาม
    บราซิลยังต้องเจอกับบททดสอบของจริงในช่วงเดือนมีนาคมที่ ตีตี้ จะนำทีมแซมบ้าไปเยือน เยอรมัน เจ้าของแชมป์โลกครั้งล่าสุด ซึ่งเทรนเนอร์วัย 56 ปีจะได้มองเห็นถึงข้อบกพร่องของทีมที่ต้องแก้ไขก่อนลงเล่นฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย


   


    การป้องกันพื้นที่ว่างหลังการเติมเกมรุกของฟูลแบ็ก
    นี่อาจเป็นจุดเปราะบางมากที่สุดของทีมแซมบ้ายุค ตีตี้ โดยเฉพาะฟูลแบ็กฝั่งขวา ดาเนียล อัลเวส ซึ่งกำลังจะมีอายุ 35 ปีในศึกฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย
    สำหรับทักษะการเล่นเกมรุกที่ยอดเยี่ยมของอัลเวสไม่ใช่ปัญหาที่ต้องกังวล แต่เขายังไม่ใช่ฟูลแบ็กที่สมบูรณ์และไม่น่าจะดีไปกว่านี้แล้ว ส่วนอีกฟากฝั่งสนามเป็นฟูลแบ็กจากมาดริดที่กำลังเล่นได้ดีอย่าง มาร์เซโล่ วิเอยร่า
    แต่เป็นที่ทราบกันดีว่าฟูลแบ็กทั้งสองฝั่งของบราซิลชื่นชอบการเล่นเกมรุก นั่นทำให้คู่แข่งโดยเฉพาะกับทีมชั้นนำของยุโรปสามารถใช้ประโยชน์จากช่องว่างด้านหลังฟูลแบ็กสร้างปัญหาให้ทัพเซเลเซามากขึ้น
   


    การรักษาความสมดุลของอารมณ์
    หนึ่งในข้อบกพร่องของบราซิลชุดทำศึกฟุตบอลโลก 2014 โดยเฉพาะการปราชัยครั้งประวัติศาสตร์ต่อ เยอรมัน 1-7 เกิดจากความล่มสลายทางอารมณ์
    แต่ทัพเซเลเซายุคตีตี้พิสูจน์ให้เห็นว่าพวกเขาสามารถรักษาความสมดุลทางอารมณ์ได้ดีขึ้นในระดับหนึ่ง ยกตัวอย่างเกมเยือน เอกวาดอร์ ซึ่งพวกเขาเล่นช่วงครึ่งแรกแย่มากก่อนปรับตัวกลับมาได้ดีในช่วงครึ่งหลังจนกระทั่งบุกคว้าชัยในที่สุด
    ปัญหาอยู่นักเตะชื่อ เนย์มาร์ เขาเป็นนักเตะที่ฟอร์มการเล่นขึ้นอยู่กับชีวิตของเขาด้วย เนย์มาร์เป็นนักเตะที่เหมือนมีเวทมนตร์ แต่หลายครั้งที่ชอบหลอกล่อคู่แข่งเกินความจำเป็นจนถูกฝ่ายตรงข้ามทำฟาวล์ทั้งหนักเบาแตกต่างกันไป
    บางครั้งผู้ตัดสินเป่าฟาวล์ บางครั้งก็ไม่และนั่นทำให้เนย์มาร์รู้สึกหงุดหงิดจนพร้อมระเบิดอารมณ์ออกมาทุกเมื่อ เหตุการณ์เช่นนี้อาจจะเกิดขึ้นในฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย ดังนั้นนักเตะบราซิเลียนโดยเฉพาะเนย์มาร์จะต้องรู้จักควบคุมอารมณ์ให้ดีที่สุดด้วย


   
    โครงสร้างผู้นำทีม
    ติอาโก้ ซิลวา เป็นกัปตันทีมชาติบราซิลในศึกฟุตบอลโลกครั้งล่าสุด มันไม่ประสบความสำเร็จ เขาขาดบุคลิกความเป็นผู้นำ จากนั้นเขาหลุดเป็นตัวสำรองและดุงก้ามอบปลอกแขนกัปตันทีมให้เนย์มาร์
    ทว่าหลังจากนั้นเนย์มาร์แจ้งว่าเขาไม่ต้องการแสดงบทบาทความรับผิดชอบด้วยการสวมปลอกแขนกัปตันทีมแซมบ้า ดังนั้น ตีตี้ จึงคิดวิธีแก้ปัญหาระยะสั้นด้วยการเลือกนักเตะที่แตกต่างกันสวมปลอกแขนกัปตันทีมในแต่ละเกม
    แนวคิดดังกล่าวได้รับการพิสูจน์ว่าสามารถเป็นแรงบันดาลใจให้กับนักเตะและทำให้ผู้เล่นรู้สึกว่ามีความสำคัญ แต่มันถึงเวลาที่จะต้องเลือกกัปตันทีมแบบถาวรเพราะมันมีความจำเป็นที่จะต้องมีใครบางคนอยู่ในสนามเพื่อสั่งการและช่วยสงบสติอารมณ์นักเตะในช่วงเวลาคับขัน
   
    นั่นคือ 5 จุดอ่อนของทัพเซเลเซาที่ ตีตี้ ยังต้องหาทางแก้ไขเพื่อทำให้ทีมแซมบ้าของเขาสมบูรณ์แบบก่อนลงทำศึกฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายที่รัสเซียในอีก 9 เดือนข้างหน้า


ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ระดับ : {{val.member.level}}
{{val.member.post|number}}
ระดับ : {{v.member.level}}
{{v.member.post|number}}
ระดับ :
ดูความเห็นย่อย ({{val.reply}})

ข่าวใหม่วันนี้

ดูทั้งหมด