:::     :::

ฟุตบอลยุค 'ดิจิทัล'

วันพฤหัสบดีที่ 14 มีนาคม 2562 คอลัมน์ ฟุตบอลข้างถนน โดย โกสุ่ย
1,847
ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ในวันที่ทุกอย่างกลายเป็นระบบ 'ดิจิทัล' ทุกแวดวงถูกเกี่ยวโยงเข้ากับเทคโนโลยีแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะมันกลายเป็นปัจจัยที่ 5 ในชีวิตประจำวัน

ไม่ว่าจะการทำงานที่มันเข้าไปมีส่วนอย่างมากในโลกปัจจุบัน รวมไปถึงวิถีชีวิตต่างๆที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องถูกนำไปผูกติดไว้กับเรื่องนั้น

ในแวดวงฟุตบอลก็ไม่ต่างกันจากยุค แอนะล็อก กลับกลายมาเป็นฟุตบอลยุคใหม่ที่มีเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้องทั้งแบบตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจ

อย่างที่พวกเราเห็นๆกันไปตั้งแต่เครื่องมือสื่อสารของบรรดาผู้ตัดสิน ไล่มาจนถึง 'โกล์ไลน์' และล่าสุดกับเทคโนโลยี 'วีเออาร์' ที่เข้ามาครอบคลุมวงการฟุตบอลแทบจะทุกลีกในโลกนี้

พูดได้เต็มปากเลยว่ามันเข้ามาเปลี่ยน 'วิถี' ของแวดวงกีฬาที่เรียกว่าฟุตบอล แม้ทีแรกจะมีเสียงวิจารณ์ถึงระดับหรืออรรถรสในการรับชมที่อาจจะลดลงไป แต่หลายลีกก็เริ่มเปิดใจและเห็นพ้องว่ามันช่วยให้การตัดสินดีขึ้นมา


แน่นอน มันอาจจะไม่ 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะแต่ละคนย่อมมีความคิดที่แตกต่างกัน ยิ่งเหตุการณ์เกิดขึ้นแบบปัจจุบันทันด่วน คนในสนามเองก็ไม่ได้เห็นแบบผู้ชมทางบ้านทำให้การเสนอความเห็นอาจจะเกิดขึ้นในมุมมองที่แตกต่าง

ยกตัวอย่างเหตุการณ์สดๆร้อนๆในเกม ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก รอบ 16 ทีมสุดท้ายนัดที่ 2 ระหว่าง ปารีส แซงต์-แชร์กแม็ง กับ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด 

คนในสนามและแฟนบอลหน้าจอโทรทัศน์ไม่คิดว่าจังหวะสับไกของ ดีโอโก้ ดาโลต์ จะส่งผลกระเทือนเกมการแข่งขันถึงระดับนั้น

ใช่ ... ไม่มีใครคิดว่ามันจะเป็นจังหวะแฮนด์บอลจนกระทั่งผู้ตัดสินที่คุม 'วีเออาร์' ส่งสัญญาไปยัง ดาเมียร์ สโคมีน่า ซึ่งทำเอาแฟนบอลใน ปาร์ก เดส์ แพร็งซ์ 'สตั๊น' ไปช่วงเวลาหนึ่ง

ปิศาจแดง ได้ประโยชน์จากจังหวะดังกล่าวอย่างชัดเจนผิดกับ เปแอสเช ที่เข่าทรุดลงสนาม และยังส่งผลไปยัง เนย์มาร์ ที่หัวร้อนจวกการทำงานของผู้ตัดสิน

นั่นคืออารมณ์ร่วมของเกมเพราะ เนย์มาร์ ย้ำชัดหลังจากโพสต์ข้อความลง อินสตาแกรม ว่า ฟุตบอลโดน 'หลัง' เพรสแนล คิมเพมเบ้

นั่นคือสิ่งที่ เนย์มาร์ มองเห็นในสนาม ผิดกับผู้ตัดสินที่ได้ดูภาพช้ารวมไปถึงแฟนบอลทางบ้านที่ประจักษ์ชัดเจนว่าฟุตบอลโดน 'มือ'

นี่ยังเป็นจุดอ่อนของ วีเออาร์ คือการทำให้มันโปร่งใสระหว่างเกม ซึ่งมีบางความเห็นที่ให้ความเห็นว่า 'สมควรหรือไม่ที่จะนำภาพช้าที่ใช้งานโดย วีเออาร์ ขึ้นจอใหญ่ในสนาม?' และนี่คงจะเป็นประเด็นถกเถียงกันต่อไปในภายภาคหน้า และต้องนำไปตกผลึกทางความคิดอีกครั้ง



ไล่มาจนเสียยืดยาว มาเข้าประเด็นเรื่องที่ต้องการนำเสนอในวันนี้คือการนำเทคโนโลยี (อีกตัว) เข้ามามีส่วนร่วมในเกมการแข่งขัน

เทคโนโลยีตัวนี้มีผลโดยตรงกับทีมงานผู้จัดการทีมและโค้ชทั่วโลก ซึ่งมันส่งผลไปถึงการวิเคราะห์ระหว่างเกมรวมไปถึงจุดผิดพลาดที่เกิดขึ้นชนิดที่แทบจะทันท่วงที

เทคโนโลยีที่ว่าคือ Sportscode และ Replay programs ที่พัฒนาโดย ฮัดเดิ้ล บริษัทเทคโนโลยีชื่อดังของอเมริกา ที่นำเรื่องดังกล่าวเข้าไปมีผลกับเกมการแข่งขันกีฬามากขึ้นและเป็นไปในทิศทางที่ดี

สำหรับคอกีฬาโดยเฉพาะอเมริกันเกม หรือเจาะจงลงไปที่การแข่งขัน 'เอ็นเอฟแอล' หลายท่านคงเคยเห็นนักกีฬาหรือโค้ชใช้แท็บเล็ตในช่วงเวลาอยู่ข้างสนาม

ทีแรกก็อดสงสัยว่าพวกเขาทำอะไร แต่หลังจากมีการเปิดตัว เทคโนโลยีดังกล่าวจากทาง ฮัดเดิ้ล ก็พบว่ามันเป็นการนำการเล่นที่เพิ่งขึ้นมาก่อนหน้านั้นให้บรรดาผู้เล่นและโค้ชเห็นถึงจังหวะล่าสุดเพื่อนำมาวิเคราะห์ในเรื่องของจุดผิดพลาดเพื่อนำไปแก้ไข หรือเป็นการนำการเล่นในจังหวะสำคัญมาวิเคราะห์ ณ ตรงนั้นในทันทีทันใด

เราจึงได้เห็นบรรดา ควอเตอร์แบ็ก หรือบรรดาปีก และแนวรับจะมานั่งทบมวนการเล่นของพวกตนพร้อมกับคำแนะนำจากโค้ชที่จะคอยชี้แจงและแนะนำถึงสิ่งที่ผิดพลาดไป

ที่สำคัญคือมันเป็นเทคโนโลยีที่จะรวบรวมสถิติต่างๆของผู้เล่นในสนาม รวมไปถึงกลยุทธ์ที่ใช้ และการยืนตำแหน่งซึ่งจะส่งผลอย่างมากต่อการลงเล่นในเกมนั้นๆ



เมื่อได้เสียงตอบรับที่ดีจาก เอ็นเอฟแอล และ เอ็นบีเอ ถึงเวลาที่ ฮัดเดิ้ล จะขยายตลาดของพวกเขาซึ่งแน่นอนว่ามันคือ 'ฟุตบอล' ที่พวกเขาได้รับไฟเขียวจาก ฟีฟ่า ให้นำแท็บเล็ต หรือ สมาร์ตโฟน นำลงไปใช้งานข้างสนามแข่ง ซึ่งสิ่งเหล่านี้นำประโยชน์มายังผู้จัดการทีมและโค้ชอย่างมากเพราะมันจะช่วยให้พวกเขาทราบข้อมูลได้แทบจะทันที (อาจจะมีบ้างที่มีกุนซือบางรายยังหัวโบราณใช้วิธีจดใส่ประดาษ แต่ก็จะมีทีมงานนำเครื่องมือที่ว่านำมาประกอบในการวิเคราะห์)

ทุกสโมสรใน พรีเมียร์ลีก และ แชมเปี้ยนชิพ ต่างใช้งาน Sportscode เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับทีมงานโค้ช รวมไปถึงเวทีใหญ่ๆทั้ง บุนเดสลีกา, ลา ลีกา และ เซเรีย อา ที่ไม่นิ่งนอนใจและดึงเทคโนโลยีมาช่วยในการลดเวลาทำงานและเพิ่มความแม่นยำ

อย่างที่เรียนไป เทคโนโลยี ของ ฮัดเดิ้ล ช่วยให้การทำงานของกุนซือง่ายขึ้น เพราะพวกเขาสามารถสรุปผลงานของทีมระหว่าง 45 นาทีแรกได้อย่างทันทีทันใด และสามารถเข้าไปใช้เวลา 15 นาทีในห้องแต่งตัวได้อย่างคุ้มค่าที่สุด

นอกจากนี้ยังมันยังมีส่วนสำคัญในการสรุปการเล่นของคู่แข่งก่อนเกมนั้นๆ ที่เมื่อก่อนอาจจะต้องใช้เวลารวบรวมข้อมูลหลายวัน แต่เทคโนโลยีดังกล่าวกลับใช้เวลาไม่กี่ชั่วโมงและสามารถสรุปให้ทุกคนเข้าใจได้ตรงกัน

ถึงตรงนี้ ฮัดเดิ้ล กำลังจะพัฒนาต่อไปอีกขั้น โดยพวกเขากำลังทดลองระบบ Replay programs เพื่อนำมาใช้งานควบคู่ไปพร้อมกับ Sportscode ซึ่งจะทำให้กุนซือคนนั้นๆวิเคราะห์แผนการระหว่างเกมได้ทันที

เรียกได้ว่านี่เป็นการปฏิวัติการทำงานด้านกุนซือไปอีกขั้นก็คงไม่ผิด และมันยังได้รับการตอบรับที่ดีจากบรรดากุนซือและโค้ช ที่สามารถดึงข้อมูลดิบและวิดีโอในจังหวะสำคัญต่างๆขึ้นมาได้แทบตลอดเวลา

เรื่องนี้ พอล นีลสัน ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาการตลาดของ ฮัดเดิ้ล เชื่อว่าหากทีมพัฒนาในส่วนของ Replay programs ทำสำเร็จตามที่วางไว้ มันจะเป็นการปฏิวัติวงการผู้จัดการทีมและโค้ชที่สำคัญอย่างมาก และจะถูกจารึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์



"ในด้านกลยุทธ์ ความน่าสนใจในเกมกำลังเพิ่มขึ้นอย่างมาก" นีลสัน กล่าวกับทาง แพลเน็ต ฟุตบอล

"รูปแบบการเล่นและแบบแผนของทีมกำลังเปลี่ยนไประว่างเกม และดุลยพินิจที่คุณสามารถมอบให้กับทีมงานโค้ชจะช่วยพวกเขาตัดสินใจในบางสิ่งซึ่งหลายๆสโมสรกำลังมองหา"

"นั่นคือสิ่งที่พวกเราพยายามทำให้มันเกิดขึ้นด้วย Hudl Replay เราพยายามจะให้มันเป็นไปได้ผ่านการให้ข้อมูลและวิดีโอ ในตอนที่พวกเขาต้องการมันที่สุดซึ่งมันจะเกิดขึ้นระหว่างการลงสนาม"

"ถ้าคุณวิเคราะห์อยู่บนสนามด้วยการใช้งาน Sportscode การใช้ระบบ Replay จะทำให้คุณดำเนินการผ่านคลิปที่เฉพาะเจาะจง ดังนั้นจะทำให้เกิดการติดต่อกันระหว่างนักวิเคราะห์กับทีมงานโค้ชและช่วยให้พวกเขามีตัวอย่างที่เฉพาะเจาะจงซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเขาอาจจะต้องการระหว่างเกม"

"ขึ้นตอนนี้เกิดขึ้นมาแล้วระหว่าง 4-5 ปีที่ผ่านมา ดังนั้นคุณจะเห็นมันเป็นประจำในการสื่อสารระหว่างนักวิเคราะห์และทีมงานโค้ช หรืออาจจะมีกุนซือบางคนที่ต้องการแสดงคลิปวิดีโอให้นักเตะได้เห็นระหว่างช่วงพักครึ่ง"

"แต่สิ่งที่กำลังจะเปลี่ยนไปในตอนนี้คือคุณมีประสิทธิภาพที่จะส่งผลกับเกมแบบทันท่วงที และนั่นเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญสำหรับวงการฟุตบอล ผู้คนกำลังต้องการสิ่งนี้ พวกเขาไม่อยากรอไปจนถึงถึงช่วงพักครึ่งเวลา พวกเขาต้องการการตัดสินใจระหว่างเกม"



ในโลกที่หมุนเร็วขึ้น และมีเทคโนโลยีใหม่ๆเกิดขึ้นแทบจะตลอดเวลา มันส่งผลโดยตรงกับการใช้ชีวิตของมนุษย์ที่จำเป็นต้องหมุนตามหากไม่อยากถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

ในโลกฟุตบอลก็เช่นกัน ที่ตอนนี้กำลังผสมผสานกลมกลืนไปกับเทคโนโลยีและเดินหน้าไปพร้อมกัน

ต้องตามดูกันต่อว่าการพัฒนาของ ฮัดเดิ้ล จะแล้วเสร็จตอนไหน และมันจะส่งผลกับเกมฟุตบอลตามที่หลายคนคาดหวังไว้หรือไม่

แต่ที่แน่ๆ บรรโค้ชหรือกุนซือคงหาข้อแก้ตัวไม่ได้อีกแล้วว่าพวกเขาตัดสนใจผิดพลาดในเมื่อพวกเขามีเครื่องมือดังกล่าวใช้งาน



ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ระดับ : {{val.member.level}}
{{val.member.post|number}}
ระดับ : {{v.member.level}}
{{v.member.post|number}}
ระดับ :
ดูความเห็นย่อย ({{val.reply}})

ข่าวใหม่วันนี้

ดูทั้งหมด