:::     :::

มิติใหม่ "ช้างศึก" ภายใต้การกุมบังเหียนโดย "นิชิโนะ"

วันพุธที่ 16 ตุลาคม 2562 คอลัมน์ ONE MAN SHOW โดย แมน โกสินทร์
18,847
ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
4 เกมผ่านไป ของ ทีมชาติไทย ภายใต้การกุมบังเหียนโดย อากิระ นิชิโนะ กุนซือชาวแดนปลาดิบ ถึงวันนี้ต้องยอมรับเลยว่า การเปลี่ยนตัวโค้ชนั้นมีผลอย่างมากต่อแนวทางของทัพ "ช้างศึก" แม้ไม่อยากนำไปเทียบกับกุนซือคนก่อนๆ แต่พัฒนาการต่างๆ ของทีมชาติไทยในตอนนี้เปลี่ยนแปลงไปแบบหน้ามือเป็นหลังมือ เราลองมาวิเคราะห์กันหน่อยว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างและอะไรคือปัจจัยสำคัญกับพัฒนาการของทีม "ช้างศึก" ของเราในยุคนี้


1.การเลือกตัวผู้เล่น

เหมือนอย่างที่โค้ชรวมถึงแฟนบอลหลายๆ คนวิพากย์วิจารณ์ ว่าคนที่ได้รับโอกาสติดทีมชาติควรเป็นผู้เล่นที่ทำผลงานได้ดีกับสโมสร มันคือการเลือกนักเตะจากความเป็นจริง ไม่ใช่เลือกจากความเชื่อ ไม่มีใครจะอยู่ในฟอร์มอันยอดเยี่ยมได้ตลอดไป ซึ่งแม้ อากิระ นิชิโนะ จะอายุ 64 ปีแล้วซึ่งถือว่าอยู่ในวัยของคนยุคเก่า แต่การเลือกตัวผู้เล่นด้วยสายตาตัวเอง ประกอบกับข้อมูลจากทีมสตาฟฟ์ชาวไทย ทำให้เราได้เห็นผู้เล่นอย่าง พิธิวัต สุขจิตธรรมกุล, สุภโชค สารชาติ, นิติพงษ์ เสลานนท์, เอกนิษฐ์ ปัญญา, ศศลักษณ์ ไหประโคน, บดินทร์ ผาลา เข้ามามีโอกาสในทีมชุดนี้ แต่ผู้เล่นที่มากประสบการณ์และมีคุณสมบัติตรงตามแท็กติกของโค้ชอย่าง สารัช อยู่เย็น หรือ ธีรศิลป์ แดงดา ก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า หากอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีคุณภาพ สร้างความกระหายในการลงสนาม ประสบการณ์ของผู้เล่นเหล่านี้ยังสร้างประโยชน์ให้ทีมชาติไทยได้มากอย่างที่เห็นกันไปแล้ว


2.แท็กติกที่เหมาะกับทรัพยากรที่มี

แน่นอนว่าระบบ 4-2-3-1 คือแผนหลักของ นิชิโนะ มาตั้งแต่สมัยคุมสโมสรในเจลีกและทีมชาติญี่ปุ่น ซึ่งนี่คือระบบโมเดิร์นฟุตบอลที่เน้นเกมรุกจากทุกพื้นที่ และการครองบอลเป็นหลัก จุดเด่นของนักเตะไทยยุคนี้คือมีผู้เล่นในเกมรุกที่มีทักษะการครอบครองบอลที่ดี เสียบอลยาก และเป็นทีมพลังหนุ่มที่วิ่งเข้าหาบอลได้ไม่มีหมดเกินกว่า90 นาที ที่สำคัญ ปรัชญาของ นิชิโนะ คือต้องไม่มีการพึ่งพานักเตะคนหนึ่งคนใดในทีมมากจนเกินไป ในวันที่ไม่มี ธีรศิลป์ แดงดา, ฐิติพันธ์ พ่วงจันทร์ หรือแม้กระทั่ง ชนาธิป สรงกระสินธุ์ แต่ทั้ง 4 เกม ไม่ว่าจะเจอกับ เวียดนาม, อินโดนีเซีย, คองโก หรือ ยูเออี ทีมชาติไทยสามารถครองบอลและสร้างโอกาสทำประตูได้มากกว่าคู่แข่งทุกนัด และเป็นการเข้าทำที่หลากหลายจากทุกทิศทุกทาง และโดยนักเตะทุกคนในทีม ซึ่งเหมือนกับที่เราเคยเห็นภาพคุ้นตาจากสโมสรดังในศึกเจลีก ของ ญี่ปุ่น น่าทึ่งมากๆ ที่เราได้เห็นว่านักเตะไทยจากศึกไทยลีกก็ทำเช่นนั้นได้เหมือนกัน  


3.ใช้งานผู้เล่นที่พร้อมที่สุด ณ ปัจจุบัน

ความพร้อมที่สุดนั่นคือทั้งสภาพร่างกายและความเข้าใจและเหมาะสมกับแท็กติกที่โค้ชต้องการใช้งาน ในวันที่ พรรษา เหมวิบูลย์, นฤบดินทร์ วีรวัฒโนดม หรือ ธีราทร บุญมาทัน ไม่สมบูรณ์เต็มร้อย นั่นคือโอกาสที่แข้งรายอื่นจะพิสูจน์ตัวเองเพื่อให้เห็นว่าเล่นได้ตามแท็กติกหรือไม่ ซึ่งผู้เล่นส่วนใหญ่ก็พิสูจน์แล้วว่า เราไม่จำเป็นต้องพึ่งพานักเตะคนใดมากเกินไป อาจจะยังเหลือตำแหน่งของ ธีรศิลป์ แดงดา และ ธีราทร บุญมาทัน ที่ยังหาคนแทนได้ไม่สมบูรณ์ แต่ด้วยทิศทางที่กำลังเป็นอยู่ เชื่อว่าโจทย์ข้อนี้ ไม่ยากเกินไปสำหรับ นิชิโนะ ที่หาคำตอบที่เหมาะสมที่สุดให้กับทีม "ช้างศึก" ได้ คงอีกไม่นานเกินรอ


4.การสื่อสารภายในทีม

ปัญหาของคนไทยในทุกๆ สังคมคือการถือรุ่นพี่รุ่นน้อง คนมาก่อนมาหลัง เคยได้ยินจากปากนักเตะทีมชาติหลายๆ คนว่าก่อนหน้านี้ การจูนกันระหว่างนักเตะต่างรุ่นมีปัญหา ตัวเก่าไม่เชื่อใจที่จะส่งบอลให้ตัวใหม่ๆ บรรยากาศในแคมป์เก็บตัว, ห้องแต่งตัว รวมถึงสนามฝึกซ้อม ยังมีการแบ่งกลุ่มกันอยู่บ้างไม่มากก็น้อย ผลลัพธ์ก็คือโอกาสเข้าสู่ทีมชาติของนักเตะหน้าใหม่เป็นเรื่องยาก เพราะพอลงเล่นแล้วก็ไม่ค่อยได้บอล พอนานๆ ทีได้บอลก็จะพยายามฝืนตะลุยเอง

แต่สำหรับยุคนี้ นิชิโนะ ขอให้นักเตะรุ่นพี่มีประสบการณ์มากกว่า ถ่ายทอดความรู้ ให้คำแนะนำในการเล่นร่วมกันในแต่ละตำแหน่ง เช่น ชนาธิป สอน เอกนิษฐ์, สารัช แนะ พิธิวัต, ธีรศิลป์ ช่วยติว ศุภชัย  และ ศุภณัฏฐ์ นี่คือการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้เล่น หรืออย่างที่ พิธิวัต เคยเล่าให้ฟังว่า โค้ชพยายามให้ทุกคนในทีมมีการสื่อสารกันมากๆ ไม่ให้บรรยากาศในแคมป์ตึงเครียดจนเกินไป แต่ถ้าเป็นเรื่องวินัยทุกคนต้องเป๊ะ ห้ามฝ่าฝืนกฎในแคมป์เป็นอันขาด ตัว นิชิโนะ เอง หากเห็นการฝึกซ้อมไม่เป็นไปตามที่ต้องการ ก็จะลงมาแนะดีเทลเป็นรายบุคคลทันที ซึ่งหากเทียบเป็นองค์กรๆ หนึ่ง ก็ต้องบอกว่า นี่คือวัฒนธรรมองค์กรในฝัน เพราะทุกคนต่างปฏิบัติตามกติกา และพยายามสื่อสารเพื่อช่วยกันสร้างผลงานออกมาให้ดีที่สุด โดยผู้บริหารไม่ปล่อยปละละเลย ให้พนักงานลุยงานกันเองโดยขาดการตรวจสอบ


5.จิตวิทยาและการจัดการทรัพยากรนักเตะ

อยากถามหน่อยว่าเคยเห็นโค้ชทีมชาติไทยคนไหน ที่ลงไปนั่งดูการซ้อมและการลงเกมของทีมสโมสร, ยู-19, ยู-23 บ้าง สำหรับผมไม่เคยเห็นแบบนี้มาก่อน แต่นี่คือการให้ความสำคัญที่มีผลต่อกำลังใจของนักเตะเป็นอย่างยิ่ง นิชิโนะให้โอกาสนักเตะจากชุดยู-23 เข้ามาร่วมฝึกซ้อมกับทีมชาติชุดใหญ่ เป็นการสร้างแรงจูงใจ ช่วยกระตุ้นให้ทุกคนรู้ว่าหากดีพอ ประตูสู่ทีมชาติพร้อมจะเปิดให้ทุกคนเสมอ ผมเชื่อว่าถ้าโค้ชที่แต่งตั้งเข้ามาในตอนนี้ไม่ใช่ นิชิโนะ ชื่อของ พัชรพล อินทนี, ศฤงคาร พรหมสุภะ, รัตนากร ใหม่คามิ, กรพัฒน์ นารีจันทร์ หรือแม้กระทั่ง เบนจามิน เดวิส คงไม่ได้มาร่วมซ้อมกับทีมชาติชุดใหญ่ง่ายๆ แน่ แม้แต่วันเดอร์คิดอย่าง เอกนิษฐ์ ปัญญา เต็มที่ก็อาจได้เป็นเพียงซูเปอร์ซับ หาใช่ตัวจริง 2 เกมติด และคงไม่ถึงขั้นคว้าตำแหน่งแมนออฟเดอะแมตช์ ยิง 1 แอสซิสต์1 จากเกมชนะทีมระดับเอเชียอย่าง ยูเออี อย่างแน่นอน ซึ่งเชื่อว่ายังมีนักเตะไทยอีกหลายๆ คนทั้งที่มีชื่ออยู่แล้วและชื่อใหม่ๆ ที่จะถูกหยิบจับมาใช้งานหลังจากนี้ 


อาจจะมีปัจจัยอื่นๆ อีกมากมายที่ทำให้ทีมชาติไทยในยุคของ อากิระ นิชิโนะ กำลังไปได้สวยและถือว่ามาถูกทางแล้ว แน่นอนว่าไม่มีทีมไหนในโลกที่จะชนะได้ตลอดไป แต่หากแนวทางที่เป็นอยู่มันมองเห็นอนาคต ทุกคนในระบบก็ควรช่วยกันสนับสนุนและประคับประคองกันต่อไป เหนือสิ่งอื่นใด ต้องขอบคุณทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ที่ช่วยทำให้แฟนบอลไทยได้กลับมาเห็นทีมชาติไทยเล่นแบบเอ็นเตอร์เทน และสร้างความสุขให้ทุกคนได้เชียร์ทีมชาติไทยแบบอิ่มเอมใจแบบนี้ 


ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ระดับ : {{val.member.level}}
{{val.member.post|number}}
ระดับ : {{v.member.level}}
{{v.member.post|number}}
ระดับ :
ดูความเห็นย่อย ({{val.reply}})