:::     :::

อย่าหวังผลลัพธ์ที่แตกต่างจากการกระทำแบบเดิมๆ

วันอาทิตย์ที่ 10 พฤศจิกายน 2562 คอลัมน์ ONE MAN SHOW โดย แมน โกสินทร์
5,544
ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ผลงานเพลงแข้งของทีมชาติไทยชุดยู-19 ในการแข่งขันชิงแชมป์เอเชีย รอบคัดเลือก 2019 ที่ประเดิม 2 นัดแรกอย่างสวยหรูด้วยการถล่มคู่แข่งอย่าง บรูไน และ นอร์เธิร์น มารีน่า ยับเยิน 9-0 และ 21-0 จนได้รับคำชื่นชมไปทั่วทั้งทวีป ก่อนจะดีแตกออกอาการทองลอกด้วยการพ่าย กัมพูชา 1-2 และ มาเลเซีย 0-1 ตกรอบไปแบบหมดสภาพ ถูกแฟนบอลถล่มคำด่าในโลกโซเชี่ยลชนิดกลับบ้านแทบไม่ถูก


ในฐานะแฟนบอลไทยคนหนึ่งที่เฝ้าติดตามเบื้องหน้าเบื้องหลังของทีมมาตลอด แน่นอนล่ะว่าเต็มไปด้วยความรู้สึกผิดหวัง หงุดหงิด เสียใจ หาใช่เพียงเพราะความล้มเหลวทางผลลัพธ์ แต่เป็นในเรื่องวิธีการและแนวทางการปรับปรุงแก้ไขจุดอ่อนและเพิ่มเติมจุดแข็งของทีม เวลาการเตรียมทีมและทดสอบผู้เล่นมีไม่ใช่น้อย ถ้าจำไม่ผิดก็น่าจะไม่ต่ำกว่า 3 ปีขึ้นไป

ปัญหาของ "ช้างศึกจูเนียร์" ไม่ว่าจะ ยู-16 หรือ ยู-19 ที่ตกรอบตามๆ กันไป ผมเคยมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับโค้ชและบุคลากรที่คลุกคลีกับวงการบอลเด็กมานานหลายๆ ท่าน ซึ่งวิเคราะห์ไว้ในทางคล้ายกันว่าไม่ได้เพิ่งจะเห็นปัญหา แต่รู้กันอยู่ทนโท่มาหลายยุคหลายสมัยแล้ว โดยเฉพาะ ยู-19 ที่หลาย ๆ ครั้งคนที่ดีที่สุดในรุ่นอายุกลับไม่ได้ถูกเลือกใช้งานอย่างเต็มที่ เหตุที่ว่ารอบคัดเลือกมักจะไปตรงกับทัวร์นาเม้นต์ที่คาบเกี่ยวกัน หรือบางครั้งคนที่ดีก็อาจไม่ได้เป็นคนที่ใช่ ด้วยเหตุผลหลายๆ ประการ

แม้ปีนี้ปฏิทินการแข่งขันจะถูกปรับให้คลาดกัน เช่นบอลนักเรียนชิงแชมป์เอเชีย ที่ไปเริ่มจัดระหว่าง 15-25 พ.ย. แต่แน่นอนว่ามีนักเตะบางรายที่คุณภาพดีพอสำหรับ ทีมชาติไทยยู-19 ต้องถูกเลือกหยิบไปใช้งานในการเก็บตัวฝึกซ้อม หรืออย่างบอลจตุรมิตร ก็กำลังฟาดแข้งอย่างเข้มข้นในช่วงนี้

ปัญหาตรงนั้นขอยกเอาไว้ก่อนก็ได้ เอาแค่เรื่อง 11 ตัวจริงที่ดีที่สุดสำหรับรายการนี้ ถ้าถาม "โค้ชหระ" อิสระ ศรีทะโร เฮดโค้ชอาจตอบว่ามี แต่สภาพความพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจของเด็กๆ อาจมีปัญหา จึงต้องเปลี่ยนหน้าตาไลน์อัพผู้เล่นทุกเกม อันนี้ก็พอเข้าใจได้ว่าสำหรับบอลทัวร์นาเม้นต์ที่เตะถึง 4 นัดในรอบประมาณสัปดาห์เศษนั้นย่อมจำเป็นต้องโรเตชั่น


แต่สิ่งที่ผมมองเป็นปัญหาคือ การวางแผนการใช้ผู้เล่นในแต่ละเกม นัดไหนควรเน้น นัดไหนควรพัก นี่สิที่เป็นปัญหา ยังจำกันได้มั้ย ยู-19 ชิงแชมป์อาเซียนเมื่อปีก่อน ที่ทีมชาติไทยเคยพลาดแชมป์เพราะไปพักตัวหลัก ดร็อปผู้เล่นตัวจริงถึงประมาณ 9 คน ในรอบรองชนะเลิศ เพื่อหวังเก็บความสดไว้เล่นรอบชิง ปรากฎว่าสุดท้ายโดนเด็กพม่าซัดตกรอบตัดเชือก ก่อนไปแพ้ อินโดนีเซีย ในรอบชิงอันดับ 3 อย่างเจ็บช้ำ

หรืออย่างทัวร์นาเม้นต์ชิงแชมป์อาเซียน 2019 ที่เพิ่งเตะไปเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งไทยเราหาญกล้าจบอันดับรองบ๊วยของกลุ่มเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ในภูมิภาคนี้ หากใครจำไม่ได้ผมจะเล่าย้อนให้ฟัง โปรแกรมแข่งขันในรายการนั้น ไทยต้องเจอ สิงคโปร์, กัมพูชา, ออสเตรเลีย, เวียดนาม และ มาเลเซีย เรียงตามลำดับตามแมตช์ก่อนหลัง

 2 เกมแรกไทยทำได้แค่เสมอ สิงคโปร์ 1-1 และ แพ้ กัมพูชา 3-4 เก็บได้เพียงแต้มเดียว ทั้งที่ควรต้องมี 6 แต้มตุนเอาไว้เพื่อลุ้นเข้ารอบแล้ว ก่อนจะแพ้ ออสเตรเลีย 1-3 และเก่งเมื่อสาย เสมอเวียดนาม 0-0 และชนะ มาเลเซีย 1-0 ตกรอบท่ามกลางคำเย้ยหยันของเพื่อนบ้านอาเซียน คำอธิบายในตอนนั้นคือ ด้วยความที่เป็นทัวร์นาเม้นต์ที่เตะถี่แบบวันเว้นวัน จึงต้องวางแผนการใช้งานนักเตะให้เหมาะสมกับแต่ละเกม แต่นักเตะขาดสมาธิและใช้โอกาสเปลืองไปหน่อย ปัญหาสภาพสนามหญ้าเทียมที่ไม่ได้คุณภาพ ฯลฯ

และในการชิงแชมป์เอเชีย รอบคัดเลือก ที่เพิ่งจบไปหมาดๆ เรามีบทเรียนมาครั้งแล้วครั้งเล่า อยากตั้งคำถามว่าเราได้ศึกษาและหลาบจำกับบทเรียนเหล่านั้นบ้างหรือไม่ เพื่อนร่วมสายอย่าง บรูไน, นอร์เธิร์น มารีน่า, กัมพูชา และ มาเลเซีย (เรียงตามลำดับแมตช์) ไม่ได้หนักหนาเกินไปที่ไทยจะคว้าแชมป์กลุ่มหรืออย่างแย่ที่สุดคืออันดับสองที่ดีที่สุด 4 ทีมจาก 11 กลุ่ม หากเป้าหมายของเราคือการก้าวขึ้นไปในระดับเอเชีย หรือลุ้นไป ยู-20 ชิงแชมป์โลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีทรัพยากรนักเตะที่ค้าแข้งอยู่ในระบบอาชีพมากมาย ในขณะที่ทีมคู่แข่ง นักเตะส่วนใหญ่ยังเป็นเพียงเด็กตามอคาเดมี่ หรือแม้กระทั่งไม่เคยมีประสบการณ์ฟุตบอลอาชีพเลยด้วยซ้ำ 


ผมมองว่าเกมที่ทีมสตาฟฟ์ควรต้องเน้นมากที่สุดก็คือการพบ กัมพูชา ในนัดที่ 3 เพราะหากชนะก็แทบการันตีเข้ารอบไปแล้ว หาใช่เกมสุดท้ายกับมาเลเซีย ที่ไปปล่อยให้เกิดสถานการณ์หลังพิงฝาต้องชนะ 2 ประตูขึ้นไปเพื่อเข้ารอบแบบนี้ แล้วไลน์อัพในเกมกับ กัมพูชา ล่ะ เกิดอะไรขึ้น นั่นคือ 11 ผู้เล่นที่ดีที่สุดของไทยในรุ่นนี้จริงหรือไม่ อันนี้ผมไม่ทราบจริงๆ 

การประเมินคู่แข่งและตัวเองของทีมสตาฟฟ์ มีปัญหาหรือไม่ ขอไม่ตัดสินเองแต่ปล่อยให้ผลลัพธ์เป็นคำตอบก็แล้วกัน

และมันอาจเหมือนวลีเด็ดของ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ที่เคยกล่าวไว้ว่า "มีแต่คนบ้าเท่านั้นที่จะทําสิ่งเดิมซ้ำๆ แต่กลับหวังผลลัพธ์ที่แตกต่าง"  


ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ระดับ : {{val.member.level}}
{{val.member.post|number}}
ระดับ : {{v.member.level}}
{{v.member.post|number}}
ระดับ :
ดูความเห็นย่อย ({{val.reply}})

ข่าวใหม่วันนี้

ดูทั้งหมด