:::     :::

“การอยู่ร่วมกัน” กฏแห่งความสำเร็จของเป๊ป กวาร์ดิโอล่า

วันจันทร์ที่ 20 พฤศจิกายน 2560 คอลัมน์ Zero to Hero โดย บังคุง
6,940
ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
สำหรับคำถามเดียวที่หลายคนที่มีต่อแมนเชสเตอร์ ซิตี้ คงจะหนีไม่พ้น "นาทีนี้ ใครจะหยุดพวกเขา"

        จากผลงานชนะ 11, เสมอ 1 และยังไม่แพ้ใครในพรีเมียร์ลีก พร้อมกับเป็นทีมแรกที่ยิงในลีกแตะหลัก 40 ประตู ประกอบกับผลงานบอลถ้วยที่ร้อนแรงเช่นเดียวกัน ส่งผลให้ "เป๊ป กวาร์ดิโอล่า" และลูกทีม ต่างได้รับคำชมอย่างมากมาย

        นอกจากแท็คติกในสนามแข่งขันที่ทำให้พวกเขาสามารถไล่ยิงประตูคู่แข่งแบบถล่มทลาย ส่วนหนึ่งแห่งความสำเร็จ นั่นคือการนำกฏ "การอยู่ร่วมกัน" มาใช้ในถิ่น "เอติฮัต สเตเดี้ยม" 

       มันเป็นกฏพื้นฐานง่ายๆ ที่สามารถคอยคุมดาวเตะระดับพันล้านให้เกิดความสามัคคี และกลมเกลียวกัน แถมยังเป็นการฝึกฝนการให้เกียรติผู้อื่นไปในตัวด้วย

        เราไปดูกันหน่อยว่า "การอยู่ร่วมกัน" แบบง่ายๆตามสไตล์เป๊ป เป็นอย่างไร และสามารถนำมาประยุกต์ใช้ ผ่านเครื่องมือใดบ้าง ? 

        ย้อนกลับไปฤดูกาล 2016-17 ที่ผ่านมา ถือเป็นขวบปีแรกที่เป๊ป กวาร์ดิโอล่า เดินทางทาทำงานบนเกาะอังกฤษ แน่นอนว่า เขาโดนลีกที่บ้าระห่ำที่สุดในโลกรับน้องอย่างหนักหน่วง

        เมื่อตัวเขาไม่สามารถพาทีมแมนเชสเตอร์ ซิตี้ คว้าแชมป์รายการใดมาครองได้เลย ส่งผลให้เขาโดนปรามาสจากผู้คนว่า น่าจะเอาชื่อมาทิ้งที่นี่อย่างแน่นอน พร้อมกับเป็นการตอกย้ำว่า ผลงานที่บาร์เซโลน่า และบาเยิร์น มิวนิค น่าจะเป็นภาพลวงตา

        "ช่วงแรกในการเข้ามาคุมทีมแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ถือว่าเป็นเรื่องยากเหมือนกัน" เป๊ป เริ่มเล่าถึงอุปสรรคที่ตัวเองเจอผ่านสื่ออย่างเป็นทางการของสโมสร

        "เรื่องยากที่ผมบอกคือ ผมยังไม่รู้จักนักเตะคนไหนเลย ผมมีแต่ภาพในหัว และแนวความคิด ผมทำได้เพียงมองถึงอนาคต และสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในสนาม ซึ่งผมได้รู้จักบรรดานักเตะ ผ่านคำบอกเล่าของคนอื่นเท่านั้น"

        จากนั้น เป๊ป ค่อยๆสร้างความสัมพันธ์กับลูกทีม ผ่านการพูดคุยด้วยเหตุผล จนเป็นที่ยอมรับในที่สุด "ผมต้องทำความรู้จักพวกเขาให้มากขึ้น พร้อมกับพยายามบอกว่า เราต้องเล่นแบบนี้ และต้องมีความสุขกับสไตล์การเล่นของตัวเราเอง"

        ยอดกุนซือชาวสแปนิช ยอมรับว่า การควบคุมนักเตะ 20-30 คน ถือเป็นเรื่องที่ยากลำบาก เนื่องจากทุกคนล้วนมีความแตกต่าง

        ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอายุ, วิถีชีวิต และสไตล์การเล่น แถมยังมาจากคนละประเทศอีกต่างหากด้วย ซึ่งเขาบอกความลับว่า สิ่งที่สามารถจัดระเบียบความแตกต่างเหล่านั้น คือสิ่งที่เรียกว่า "การทำงานเป็นทีม"

       " ผมเดินทางมาแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ด้วยความมุ่งมั่น ผมต้องรวมผู้เล่นให้ทำงานกันเป็นหนึ่งเดียว และไม่สามารถคิดถึงสิ่งที่แตกต่างออกไปได้ นั่นเพราะคำว่า -แท็คติก- เป็นสิ่งที่สำคัญมาก"

        "หลังจากนั้น นักเตะ และทีมงานทุกคนลงมือ และทำตามแบบที่ผมบอก มันทำให้ผมรู้สึกประทับใจมาก ไม่มีอะไรที่ผมต้องการไปมากกว่านี้"

        "ผมเป็นเกียรติที่ได้ทำงานร่วมกับพวกเขาเหล่านั้น ทุกคนทำงานหนักทุกวันเลยบางครั้ง เราต้องชัดเจนกับพวกเขาด้วย แสดงให้เห็นถึงสิ่งที่เรากำลังจะทำ แน่นอนว่า ผมต้องพูด หรือแสดงออกให้ชัดเจนว่า กำลังจะทำอะไร"

        การเข้ามาของเป๊ป เขามาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงมากมาย โดยเฉพาะในเรื่องของการทำความเข้าใจเรื่องของการใช้เทคโนโลยี นำมาซึ่งกฏแห่งความสำเร็จที่เรียกว่า "การอยู่ร่วมกัน"

        เป๊ป กล่าวว่า "นักเตะของผมไม่สามารถเล่นมือถือได้ทั้งวัน ผมไม่อยากเห็นภาพนักกายภาพกำลังทำงานอย่างหนักหน่วง แต่นักเตะกลับกำลังส่งข้อความผ่านทางโทรศัพท์มือถือ"

        "ในแต่ละวัน เรามีเวลาอยู่ด้วยกันไม่มากนักหรอก เต็มที่ก็ราว 5 ชั่วโมงเท่านั้น แสดงให้เห็นว่า พวกเขามีเวลาอีกเหลือเฟือ 10 กว่าชั่วโมง ในการเล่นโทรศัพท์มือถือ"

        "อย่างไรก็ตาม ผมเข้าใจนักเตะทุกคนว่า พวกเขาต่างมีชีวิตส่วนตัว โดยนักเตะต่างเห็นด้วยกับแนวความคิดนี้ ไม่ใช่เพราะผมไปบอกว่า พวกนายควรทำแบบนั้น หรือไม่ควรทำแบบนี้"

        "สิ่งที่ผมเลือกทำคือ การบอกพวกเขาว่า เราจะไม่ทำแบบนี้ และตามด้วยเหตุผลประกอบ ผมทำแบบนี้เสมอมาเลย เพราะเราต่างมีความเคารพซึ่งกันและกัน"

        "ผมมักบอกตลอดว่า ขณะที่ทีมงานโค้ชกำลังทำงาน และดูแลพวกคุณอยู่ ดังนั้น นักเตะต้องให้ความเคารพกลับคืนด้วย ยกเว้นว่า พวกเขามีความจำเป็นต้องใช้โทรศัพท์มือถือจริงๆ"

        เป๊ป ปิดท้ายว่า การที่เขาเข้ามากุมบังเหียนทีม "เรือใบสีฟ้า" เป็นเรื่องของการวางแผนอนาคตระยะยาว ที่จะสร้างรากฐานให้สโมสรแห่งนี้ ก้าวมาเป็นมหาอำนาจในวงการลูกหนังยุโรปให้ได้

        โดยกล่าวว่า "ผมซื้อนักเตะมาเพื่อแผนการระยะยาว นั่นเป็นเหตุผลว่า ทำไมเลอรอย ซาเน่ และเกเบรียล เฆซุส ถึงมาที่นี่ พวกเขาเพิ่งมีอายุอานามเพียงแค่ 20 ปีเท่านั้น"

        "อย่างไรก็ตาม เรายังต้องการผู้เล่นที่มีประสบการณ์ด้วย ดังนั้น การให้ความสำคัญเรื่องอายุนักเตะจึงจำเป็นมาก ซึ่งกลุ่มดาวรุ่งต้องมาเล่นร่วมกับรุ่นพี่อายุ 28-29 ปี"

        "ผมต้องทำให้แน่ใจว่า ไม่มีผู้เล่นในตำแหน่งที่ซ้ำหันมากจนเกินไป การมีนักเตะอายุน้อยเป็นเรื่องดีมาก ผมเตรียมการรับมือกับสิ่งนี้มาตลอดเวลา"

       "เจ้าของทีมแมนเชสเตอร์ ซิตี้ พร้อมเดินหน้าต่อ และปรับปรุงข้อเสียเสมอ ผู้คนต่างพากันบอกว่าแมนเชสเตอร์ ซิตี้ เป็นทีมที่ใช้เงินอย่างมากมาย เพื่อแลกกับความสำเร็จ แต่หลงลืมไปว่า ยังมีอีกกว่า 20 สโมสรในยุโรปที่ใช้เงินในจำนวนเท่ากับเรา"

        "สุดท้ายแล้ว เราต้องเรียนรู้เท่านั้น การจะก้าวมาเป็นยอดทีมของยุโรป ต้องใช้เวลา เงินสามารถช่วยได้ส่วนหนึ่ง แต่ไม่ได้เห็นผลแบบทันตาหรอก"

ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ระดับ : {{val.member.level}}
{{val.member.post|number}}
ระดับ : {{v.member.level}}
{{v.member.post|number}}
ระดับ :
ดูความเห็นย่อย ({{val.reply}})

ข่าวใหม่วันนี้

ดูทั้งหมด