:::     :::

เฮอร์เบิร์ต แชปแมน : มหาบุรุษนักปฏิวัติ

วันศุกร์ที่ 01 ธันวาคม 2560 คอลัมน์ สนามเด็กเล่น โดย เสือเตี้ย
2,548
ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ในเกมระหว่าง อาร์เซน่อล กับ ฮัดเดอร์สฟิลด์ ทาวน์ ที่โคจรมาเจอกันในพรีเมียร์ลีกเป็นครั้งแรกเมื่อวันพุธที่ผ่านมา ชื่อของ เฮอร์เบิร์ต แชปแมน อดีตกุนซือผู้เคยกุมบังเหียนทั้งสองสโมสรนี้ถูกกล่าวถึงและได้รับการคารวะอีกครั้งแม้เสียชีวิตไปแล้วมากกว่า 80 ปี

รอบนอกสนามเอมิเรตส์ สเตเดี้ยม จะมีรูปปั้นสำคัญอยู่ 4 ชิ้น คนส่วนใหญ่รู้จักเพียงแค่ 3 นั่นคือ รูปปั้นของ เธียร์รี่ อองรี, โทนี่ อดัมส์ และ เดนนิส เบิร์กแคมป์ ซึ่งต่างเป็นอดีตแข้งระดับตำนานของสโมสร 

แต่น้อยคนนักจะรู้ว่า อีกหนึ่งรูปปั้นคือใคร และทำไมถึงได้รับเกียรติสูงสุดเช่นนี้ 

บางคนรู้จักชื่อว่าคือ เฮอร์เบิร์ต แชปแมน และรู้ว่าเป็นอดีตกุนซือปืนใหญ่ยุคเกือบร้อยปีที่แล้ว แต่น้อยคนนักโดยเฉพาะแฟนบอลรุ่นใหม่จะให้ข้อมูลได้มากกว่านี้ 

หากเปรียบเทียบให้เห็นภาพที่สุดถึงความสำคัญของแชปแมน ที่มีต่อสโมสร อาร์เซน่อล คงต้องเทียบ เคียงกับ อาร์แซน เวนเกอร์ กับช่วงเวลาเกินกว่าสองทศวรรษในฐานะกุนซือปืนโตทั้งในแง่ที่เป็น ''มากกว่า'' ผู้จัดการทีม และผู้ริเริ่มแนวคิดใหม่มากมายที่เป็นประโยชน์ต่อสโมสรรวมถึงวงการฟุตบอลโดยรวม  

นอกจากรูปปั้นที่แฟนบอลรุ่นหลังจับต้องได้ในทุกครั้งเวลาไปชมเกมที่เอมิเรตส์ สเตเดี้ยม แล้ว เสื้อแดงแขนขาวอันเป็นเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใครก็มาจากไอเดียของมหาบุรุษท่านนี้ รวมไปถึงมรดกตกทอดอีกหลายอย่าง


เฮอร์เบิร์ต แชปแมน บุรุษผู้สร้างอาร์เซน่อล

  แชปแมน เกิดที่เซาท์ ยอร์คเชียร์ ทางตอนเหนือของอังกฤษ สมัยเป็นนักเตะตระเวนค้าแข้งมากกว่า 10 สโมสร ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ท็อตแน่ม ฮ็อตสเปอร์ ในยุคที่ยังไม่ได้เป็นอริกับอาร์เซน่อล เพราะตั้งถิ่นฐานอยู่ทางตอนเหนือของลอนดอนแต่เพียงผู้เดียว (ปืนใหญ่ย้ายจากลอนดอนตอนใต้ขึ้นทางเหนือในปี 1913) 

เขาเริ่มจับงานคุมทีมกับนอร์ทแธมป์ตัน ต่อด้วย ลีดส์ ยูไนเต็ด และประสบความสำเร็จอย่างสูงกับ ฮัดเดอร์สฟิลด์ ทาวน์ 

ภายใต้การนำของ แชปแมน ''เดอะ เทอร์เรียร์ส'' คว้าแชมป์แรกในประวัติศาสตร์สโมสรในถวย เอฟเอ คัพ ปี 1922 ก่อนได้แชมป์ลีกในอีก 2 ปีถัดมา และกวาดแชมป์ 3 ปีติดเป็นทีมแรกของอังกฤษ 

แฮตทริกแชมป์ลีกคือเกียรติประวัติอันยิ่งใหญ่ของสโมสร และกลายเป็น ''ดาว 3 ดวง'' ที่แปะอยู่บนโลโก้ทีมจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งสะท้อนได้เป็นอย่างดีว่า ยุคของ แชปแมน นั่นคือยุคยิ่งใหญ่ของสโมสร 

ฮัดเดอร์สฟิลด์ได้แชมป์ลีกสมัย 3 โดยที่ไม่มี แชปแมน คุมทัพเพราะมีสโมสรจากเมืองหลวงทาบตัวไปคุมทีมพร้อมอัดค่าจ้างให้มากกว่าเดิมสองเท่า

สโมสรจากเมืองหลวงที่ว่าคือ อาร์เซน่อล ซึ่งรับรู้ถึงฝีมือของ แชปแมน เป็นอย่างดี เพราะใน 5 นัด หลังสุดที่เจอกัน ฮัดเดอร์สฟิลด์ อัดปืนแตกยิงรวมถึง 22 ประตู

แชปแมน อำลา ฮัดเดอร์สฟิลด์ ด้วยดี สโมสรเข้าใจดีถึงเส้นทางที่กุนซือคนเก่งได้เลือก พวกเขาอวยพรกุนซือที่ดีที่สุดตลอดกาลให้โชคดีกับสโมสรใหม่ 


แชปแมน พาอาร์เซน่อลและฮัดเดอร์สฟิลด์ได้ 2 แชมป์ลีกและ 1 เอฟเอ คัพ

เอียน คุ้ก นักประวัติศาสตร์ยกย่อง แชปแมน ไว้ว่า ''หนึ่งในคนที่มีวิสัยทัศน์ยอดเยี่ยม'' 

''เขาเปลี่ยนทุกอย่าง และผลักดันฟุตบอลจากระดับสมัครเล่นสู่ระบบอาชีพ ซึ่งยังเป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงในปัจจุบัน'' 

เสื้อแดงแขนขาวจากการออกแบบของ เฮอร์แมน แชปแมน ได้แรงบันดาลใจมาจาก ทอม เว็บสเตอร์ เพื่อนนักกอล์ฟที่ออกรอบในชุดเสื้อไหมพรมสีแดงแขนกุดสวมทับเสื้อเชิ้ตสีขาว 

แชปแมน เห็นครั้งแรกก็ประทับใจด้วยสไตล์ที่ไม่เหมือนใคร และเชื่อว่าจะเป็นดีไซน์ชุดแข่งที่เหมาะกับอาร์เซน่อล เขาปรับสีแดงให้อ่อนลงเพื่อดูสบายตาขึ้น ไม่เข้มเหมือนยุคแรกที่ใช้สีแดงจากชุดของน็อตติ้งแฮม ฟอเรสต์ 

นอกจากนี้เขายังเป็นคนที่เสนอแนวคิดให้มี ''เบอร์'' ติดเสื้อนักฟุตบอล และลูกฟุตบอลต้องมีสีขาว มากขึ้นเพื่อมองเห็นได้ชัด รวมถึงไฟส่องสนามเพิ่มความสว่างสำหรับการแข่งขันในช่วงเย็นย่ำ 

แชปแมน ยังเป็นคนที่ผลักดันให้เปลี่ยนชื่อสถานีรถไฟใต้ดินจากชื่อเดิม ''กิลเลสพี โร้ด'' มาเป็น ''อาร์เซน่อล'' เพื่อให้ทุกคนจำได้ง่ายมากขึ้นว่านี่คือสถานีที่จะมาสนามไฮบิวรี่


เสื้อแดงแขนขาว เอกลักษณ์ของปืนใหญ่ แชปแมน เป็นคนออกแบบ

เขายังได้ว่าจ้าง ทอม วิทเทเกอร์ ให้มาทำหน้าที่นักกายภาพบำบัดของทีม ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ในยุคนั้น และในเวลาต่อมา วิทเทเกอร์ คนนี้ก็ก้าวขึ้นมาเป็นผู้จัดการทีมช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อนพาทีมได้ แชมป์ลีก 2 สมัย และทำงานใกล้ชิดกับ เฟร็ด เพอร์รี่ ตำนานนักเทนนิสชื่อดัง

แชปแมน ปรับแนวทางการซ้อมด้วยการให้ลูกทีมที่มีรถส่วนตัว เอารถมาจอดข้างสนามซ้อมพร้อม เปิดไฟหน้ารถทำให้ซ้อมช่วงเย็นได้เป็นเวลานานขึ้น โดยเฉพาะหน้าหนาวที่มืดเร็ว (4 โมงเย็นก็มืดแล้ว) 

อัฒจันทร์ฝั่งตะวันตกของสนามไฮบิวรี่ ที่เพิ่งสร้างขึ้นถูกติดตั้งไฟส่องสว่างในยุคของ แชปแมน แต่ทว่าได้รับอนุญาตให้เปิดใช้เฉพาะในการฝึกซ้อม ส่วนการแข่งขันจริงต้องรอจนถึงยุค 50 ที่ฟุตบอลลีกอนุมัติ

บรมกุนซืออาร์เซน่อลยังเป็นคนที่เสนอแนวคิดให้มีกรรมการอีกคนคอยตัดสินที่เส้นประตูว่าบอลข้ามเส้นไปแล้วหรือยังซึ่งอีก 90 ปีต่อมาก็ได้มีเทคโนโลยีฮอว์ก-อาย โกลไลน์ และ วีเออาร์ เข้ามาช่วยในฟุตบอลสมัยใหม่


ระบบการเล่น WM ที่ยอดเยี่ยมในอดีต

''การตัดสินลูกยิงเป็นประตูต้องมี ผมเชื่อว่ากรรมการควรมีตัวช่วยเพื่อไม่ให้ตัดสินผิดพลาด และไม่ยุติธรรม'' แชปแมน เคยเขียนเอาไว้ในคอลัมน์ของซันเดย์ เอ็กซ์เพรส ซึ่งเป็นอีกงานนอกสนาม 

ในเรื่องแท็กติกการเล่น แชปแมน คิดค้นระบบการเล่นที่เรียกว่า ''WM'' (หลัง 3 คน กองกลางตัวรับ 2  คน กลางกลางตัวรุก 2 คน และกองหน้า 3 คน) ซึ่งทรงประสิทธิภาพมาก และทำให้ อาร์เซน่อล กวาดแชมป์มากมายในยุคนั้น

แชปแมนเห็นถึงความสำคัญของการแข่งขันระดับนานาชาติ ตอนที่คุม นอร์ทแธมป์ตัน เขาพาทีม ยกพลไปทัวร์เยอรมันและลงเตะกับเนิร์นแบร์ก ยิ่งในยุคที่คุม อาร์เซน่อล ยิ่งพาทีมตระเวนอุ่นเครื่องกับทีมต่างประเทศเป็นประจำ

แนวคิดให้มีการจัดแข่งขันจริงจังระหว่างสโมสรของแต่ละประเทศไม่ได้รับการสนับสนุนจากสโมสรอื่นมากนัก แต่อีกยี่สิบกว่าปีต่อมา รายการ "ยูโรเปี้ยน คัพ" ก็ถือกำเนิด 

ลูกเล่นเล็กๆ น้อยๆ แชปแมนยังทำได้เหนือชั้น มีอยู่ครั้งหนึ่งที่เจรจาซื้อตัว เดวิด แจ็ค กองหน้าโบลตันมาร่วมทีม เขาสั่ง ''จินโทนิค'' (เหล้าจินผสมน้ำโทนิค) แต่ให้เด็กเสิร์ฟไม่ต้องใส่เหล้าจินในแก้วตัวเอง แต่ใส่เบิ้ลในแก้วของผู้บริหารโบลตัน

การต่อรองราคาของ แชปแมน ราบรื่นและง่ายดาย เขาซื้อดาวยิงตัวเก่งของโบลตันมาร่วมทีมด้วย ค่าตัว 10,089 ปอนด์ซึ่งเป็นสถิติแพงสุดของอังกฤษ ในตอนนั้น แต่ก็ถูกกว่าที่โบลตันตั้งเอาไว้ที่ 13,000 ปอนด์ 

แชปแมน ให้ทิปเด็กเสิร์ฟคนดังกล่าวที่เป็นงาน ขณะที่ เดวิด แจ็ค ยิงไป 124 ประตูจนติดท็อปเทนดาวซัลโวตลอดกาลของอาร์เซน่อล พร้อมทั้งได้แชมป์ลีก 3 สมัย และเอฟเอ คัพ อีก 1 สมัย

นักเตะคนแรกที่ แชปแมน ดึงมาร่วมทีมอาร์เซน่อล คือ ชาร์ลี บูชาน ดาวยิงทีมชาติอังกฤษของ ซันเดอร์แลนด์ ที่ราคา 4,000 ปอนด์ แต่ แชปแมน ซื้อได้ในราคา 2,000 ปอนด์ บวกเพิ่มอีก 100 ปอนด์จากทุกประตูที่ทำได้ในฤดูกาลแรก


แฟนบอลนำผ้าพันคอลายอาร์เซน่อล-ฮัดเดอร์สฟิลด์มาผูกไว้ที่รูปปั้นของ แชปแมน

บูชาน ในวัย 34 ปีที่อำลาซันเดอร์แลนด์ในฐานะดาวซัลโวสูงสุดตลอดกาล ยังคงร้อนแรงยิงไป 21  ประตู ทำให้อาร์เซน่อลต้องจ่ายเพิ่ม 2,100 ปอนด์ซึ่งรวมแล้วมากกว่าค่าตัวที่ตั้งไว้ทีแรก แต่กระนั้นก็นับเป็นดีลที่คุ้มค่าอยู่ดีเพราะทำผลงานได้ทะลุเป้า

อย่างไรก็ตาม ดีลนี้กลับมีเหตุบานปลายทำให้ เซอร์ เฮนรี่ นอร์ริส ประธานสโมสรปืนใหญ่ถูกแบนห้ามยุ่งเกี่ยวกับฟุตบอลหลังมีความผิดยัดเงิน 125 ปอนด์ให้หอกจอมเก๋าเพื่อโน้มน้าวใจให้ย้าย และนั่นคือจุดเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงที่มีตระกูลฮิลล์วู้ด เข้ามาบริหารก่อนสืบทอดตำแหน่งกันหลายรุ่นจนกระทั่งสิ้นสุด ในยุค ปีเตอร์ ฮิลล์วู้ด เมื่อปี 2013

อาร์เซน่อล ได้แชมป์แรกของสโมสรในปี 1930 เมื่อเอาชนะ ฮัดเดอร์สฟิลด์ ในรอบชิงชนะเลิศเอฟเอ  คัพ ที่สนามเวมบลีย์ ซึ่งเกมนั้น แชปแมน ริเริ่มไอเดียให้นักเตะทั้งสองทีมเดินตั้งแถวลงสู่สนามพร้อมกันจน กลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติจนถึงทุกวันนี้

ในยุคของแชปแมน ปืนใหญ่ได้แชมป์ลีกในปี 1931 และปี 1933 ทว่ามีเหตุให้พลาดแฮตทริกแชมป์ลีกซ้ำรอยตอนคุม ฮัดเดอร์สฟิลด์ ทาวน์ เมื่อแชปแมนเสียชีวิตลงระหว่างฤดูกาล 1933-34 ซึ่งผู้เล่นในทีมเดินหน้าต่อคว้าแชมป์ได้สำเร็จ

สาเหตุการเสียชีวิตของแชปแมนมาจากการเดินทางขึ้นเหนือไปดูฟอร์มของนักเตะในเกมระหว่าง บิวรี่ กับ น็อตต์ส เคาน์ตี้ ก่อนไปชมเกม เชฟฟิลด์ เว้นส์เดย์ ต่อและกลับลงมาลอนดอนพร้อมอาการไข้กิน

ในวันต่อมา แชปแมนยันร่างไปดูทีมชุดสามของอาร์เซน่อลลงเล่นกับ กิลด์ฟอร์ด ก่อนทรุดลง และถูกตรวจพบว่าเป็นโรคปอดบวม เขาเสียชีวิตในเช้าวันต่อมา ซึ่งคือวันที่ 6 มกราคม 1934 ในวัย 55 ปี

นักเตะในทีมทราบข่าวผ่านบิลบอร์ดหนังสือพิมพ์ขณะเดินทางไปสนามในเกมเหย้ากับ เชฟฯ เว้นส์เดย์ เกมการแข่งขันดำเนินไปในบรรยากาศสุดหม่นหมองและจบลงที่สกอร์ 1-1

ทุกวันที่ 6 มกราคม เจ้าหน้าที่ของ อาร์เซน่อล จะร่วมรำลึกถึงอดีตผู้จัดการทีมคนนี้ที่โบสต์เซนต์ แมรี่  ย่านเฮนดอน ทางตอนเหนือของกรุงลอนดอน สืบต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

เป็นสิ่งเล็กๆ ของคนรุ่นหลังที่แสดงถึงการยกย่องตำนานผู้ยิ่งใหญ่ของสโมสร 


รูปปั้น เฮอร์เบิร์ต แชปแมน ที่ด้านนอกสนามเอมิเรตส์ สเตเดี้ยม


ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ระดับ : {{val.member.level}}
{{val.member.post|number}}
ระดับ : {{v.member.level}}
{{v.member.post|number}}
ระดับ :
ดูความเห็นย่อย ({{val.reply}})

ข่าวใหม่วันนี้

ดูทั้งหมด