:::     :::

บุนเดสกลับมากับ 5 สิ่งที่เกิดขึ้น

ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ผ่านพ้นด้วยดีสำหรับการ "คัมแบ็ก" กลับมาแข่งอีกครั้งของ บุนเดสลีกา เยอรมัน ที่ถูกจับจ้องจากจากทุกทิศทางในช่วงที่ทั้งโลกเผชิญหน้ากับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

บุนเดสลีกา กลายเป็นลีกใหญ่ลีกแรกของยุโรปที่รีสตาร์ตกันได้ โดยเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นการแข่งขันในนัดที่ 26 แบ่งเตะกัน 3 วันทั้งเสาร์, อาทิตย์ และเมื่อคืนวันจันทร์ที่ผ่านมา 

มีอะไรเกิดขึ้นบ้างในการกลับมาลงสนามอีกครั้งของลีกสูงสุดเมืองเบียร์ได้ถูกรวบรวมเอาไว้ตรงนี้แล้ว 


1. ฟุตบอลวิถีใหม่

อย่างที่หลายคนทราบกันอยู่แล้วว่าการกลับมาแข่งอีกครั้งของ บุนเดสลีกา และอีกหลายลีกทั่วยุโรปที่กำลังกลับมา จะเป็นการแข่งแบบปิดสนาม ไม่เปิดให้แฟนบอลเข้าชม ดังนั้นบรรยากาศจะต่างออกไปจากเดิมแน่นอน

เมื่อแข่งขันจริงก็เป็นไปตามคาด ทุกสนามค่อนข้างเหงียบเหงาและวังเวงทีเดียว มันไม่ใช่ฟุตบอลที่เราคุ้นเคยและเหมือนการปิดสนามซ้อมมากกว่า ไม่มีเสียงเชียร์ จะได้ยินก็เพียงตะโกนของโค้ชและนักเตะเท่านั้น 


วิถีใหม่ของการสัมภาษณ์หลังเกม

นอกจากนี้ ความแปลกใหม่อื่นๆ ก็มีอีกมากมายไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้เล่นสำรองที่ต้องนั่งห่างกันเพื่อรักษาระยะห่างทางสังคม และต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา บางสนามที่ซุ้มม้านั่งสำรองค่อนข้างเล็กก็ต้องจัดที่นั่งบนอัฒจันทร์ให้นักเตะขึ้นไปนั่ง 

ขณะที่ในสนาม นักเตะก็ต้องปรับตัวในหลายอย่างเช่น ฉลองประตูแบบเว้นระยะห่าง ไม่เข้ามาสวมกอดหรือจับมือกันเหมือนแต่ก่อน ทำได้เพียงใช้ท่อนแขนกระแทกกันหรือเต็มที่ก็เป็นกำปั้นชนกัน 

แถมการให้สัมภาษณ์หลังเกมทั้งตัวนักเตะและโค้ชก็ต้องยืนห่างจากนักข่าวอย่างน้อย 2 เมตร โดยที่นักข่าวต้องต่อไมค์ให้ยาวกว่าเดิมเพื่อยื่นเข้าไปใกล้ปากนักเตะและโค้ชตอนสัมภาษณ์

2. นักเตะถูกจับจ้องมากขึ้น

ด้วยการที่ไม่มีแฟนบอลเข้ามาในสนาม นักเตะในสนามจะยิ่งถูกโฟกัสมากยิ่งขึ้น ทุกอากัปกิริยาถูกเพ็งเล็งมากกว่าเดิม และที่ชัดเจนมากสุดคือเสียงพูดคุยหรือหนักหน่อยก็มีปากเสียงกันตามอารมณ์ที่พุ่งขึ้นระหว่างเกม

ยกตัวอย่างเช่นเกม "เรเวียร์ดาร์บี้แมตช์" ที่ โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ เปิดรังชนะ ชาลเก้ ขาดลอย 4-0 ก็มีเหตุการณ์ในครึ่งแรกที่ ฌอง-แคลร์ โตดิโบ เซนเตอร์ฝรั่งเศสของ ชาลเก้ สบถเสียงดังฟังชัดใส่ เออร์ลิ่ง ฮาแลนด์ หัวหอก ดอร์ทมุนด์ ระหว่างเบียดแย่งบอลกันในเขตโทษ


โตดิโบ ด่า ฮาแลนด์ ไม่ยั้ง

โตดิโบ ที่ ชาลเก้ ยืมมาจาก บาร์เซโลน่า ตะคอกใส่ ฮาแลนด์ ว่า "Go f*** your grandmother." ซึ่งเป็นคำที่ค่อนข้างหยาบคายอย่างมากและกล่าวถึงคุณย่าของหัวหอกเสือเหลือง

ขณะที่เกมระหว่าง ฮอฟเฟ่นไฮม์ กับ แฮร์ธ่า เบอร์ลิน ก็มีประเด็นทางฝั่ง แฮร์ธ่า ที่ เดดริก โบยาต้า กองหลังของทีมเข้าไปจูบ มาร์โก กรูยิช กองกลางเพื่อนร่วมทีมหลังจากได้ประตูนำในจังหวะที่ผู้เล่นเจ้าถิ่นสกัดพลาดเข้าประตูตัวเอง

การดีใจของผู้เล่น แฮร์ธ่า ถูกกล่าวหาว่าละเมิดกฎเว้นระยะทางสังคม แต่เจ้าตัวรีบออกมาชี้แจงผ่านไอจีว่า "กำลังอธิบายถึงสูตรเล่นลูกตั้งเตะ ลูกเตะมุมกับเขา ไม่ใช่การจูบ หรือ การฉลองประตูอย่างที่พูดๆ กัน"

ส่วนทางฝั่ง ฟุตบอลลีกเยอรมัน ชี้แจงเพิ่มเติมว่าการกระทำของ โบยาต้า ไม่ใช่ความผิดแต่อย่างใดเพราะ เอเอฟแอล แค่แนะนำวิธีปฏิบัติตัว ไม่ได้ออกกฎห้าม 


การฉลองประตูของ แฮร์ธ่า เบอร์ลิน

3. ข้อปฏิบัติบางอย่างอาจใช้ระยะยาว

ในหลากหลายข้อปฏิบัติเพื่อให้การกลับมาแข่งฟุตบอลในยุคโควิด-19 เกิดขึ้นเป็นจริงได้ การนำกฎเปลี่ยนตัวได้ 5 คนมาใช้เป็นกฎที่หลายทีมเห็นด้วยอย่างยิ่งและใช้กฎนี้เกือบทุกทีมเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา 

ไอเดียสำคัญที่มีกฎนี้คือ ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา นักเตะไม่ได้ซ้อมอย่างเต็มที่เพราะต้องกักตัวอยู่บ้าน มีเพียง 2-3 สัปดาห์สุดท้ายก่อนแข่งที่ได้ซ้อมในสนาม สภาพร่างกายจึงไม่อยู่ในสภาพของนักกีฬาปกติ เมื่อต้องลงแข่งขันจริงก็อาจส่งผลต่อความล้าและเสี่ยงต่ออาการบาดเจ็บ ดังนั้น บุนเดสลีกาจึงอนุญาตให้แต่ละทีมเปลี่ยนตัวได้ 5 คน


กฎนี้มีความเป็นไปได้สูงที่อาจปรับใช้ถาวรในอนาคตต่อให้หมดยุคโควิด-19 ไปแล้วก็ตามเพราะช่วยเซฟร่างกายนักเตะไม่ให้กรอบจนเกินไป ฟุตบอลในยุคปัจจุบันมีโปรแกรมลงเล่นมากขึ้น เช่นเดียวกับการเดินทางและสภาพอากาศของโลกที่อุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นทุกปี สิ่งเหล่านี้มีผลต่อร่างกายนักเตะทั้งหมด 

นอกจากนี้ การมีโควตาที่เปลี่ยนตัวมากขึ้นก็อาจทำให้เกมมีความสนุก เข้มข้น และได้ลุ้นจนวินาทีสุดท้ายเพราะแข้งสำรองสามารถลงมาพลิกเกมและเปลี่ยนโฉมหน้าการแข่งขันได้เช่นกัน

 

4. กลุ่มนำ (แทบ) ไม่พลาด

ในส่วนของผลการแข่งขัน บุนเดสลีกานัดรีสตาร์ตไม่ได้มีเกมพลิกล็อกมากนัก เช่นทีมในกลุ่มนำ 5 จาก 6 ทีมสามารถเก็บชัยชนะได้ทั้งหมดไม่ว่าจะเป็น บาเยิร์น มิวนิค, โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์, โบรุสเซีย มึนเช่นกลัดบัค, เลเวอร์คูเซ่น และ โวล์ฟสบวร์ก 

ทีมเดียวที่ไม่ชนะคือ แอร์เบ ไลป์ซิก แต่ก็ไม่ได้เหนือความคาดหมายกับการได้คะแนนเดียวในเกมเสมอ ไฟร์บวร์ก เพราะผู้มาเยือนรั้งอันดับ 7 ของตาราง เป็นทีมที่ลุ้นโควตายุโรปด้วย 


เสือใต้นำ 4 คะแนนเท่าเดิม

นั่นทำให้สถานการณ์การลุ้นแชมป์ไม่เปลี่ยนไปจากเดิมเท่าไหร่นัก "เสือใต้" ยังนำ "เสือเหลือง" อยู่ 4 คะแนนเท่าเดิม และสัปดาห์หน้าจะต้องเปิดศึกกันเองอีกต่างหากในวันอังคารที่ 26 พฤษภาคม

แต่อันดับ 3 และ 4 มีการสลับเมื่อ กลัดบัค ที่บุกชนะ แฟร้งค์เฟิร์ต 3-1 ทำคะแนนแซงหน้า ไลป์ซิก ได้ 1 คะแนน ขณะที่ เลเวอร์คูเซ่น ที่ลงสนามคู่สุดท้ายในคืนวันจันทร์และไล่อัด เบรเมน 4-1 ตามมาในอันดับ 5  


5. จุดเปลี่ยนของหลายทีม

การกลับมาแข่งอีกครั้งของบุนเดสลีกานำมาซึ่งความหวังของหลายทีมที่ต้องการเจอ "จุดเปลี่ยน" หลังผลงานก่อนหน้านี้ไม่เป็นไปตามที่ต้องการ

แฮร์ธ่า เบอร์ลิน ที่แต่งตั้ง บรูโน่ ลาบบาเดีย เป็นกุนซือคนใหม่เมื่อเดือนเมษายนทำได้ตามเป้ากับการประเดิม 3 คะแนนในเกมบุกอัด ฮอฟเฟ่นไฮม์ 3-0 พร้อมขยับอันดับขึ้นไปอยู่ที่ 11 ของตาราง ปลอดภัยมากยิ่งขึ้นต่อการอยู่รอดในบุนเดสลีกา


เบรเมน โดน เลเวอร์ฯ แทงซ้ำชุดใหญ่

ขณะที่ พาเดอบอร์น ทีมเต็งตกชั้นได้หนึ่งคะแนนสุดสำคัญในเกมบุกเสมอทีมหนีตายด้วยกันอย่าง ฟอร์ทูน่า ดุสเซลดอร์ฟ 0-0 โดยที่ก่อนหน้านี้ทีมเก็บได้เพียงคะแนนเดียวจาก 6 นัดหลังสุด 

ผลเสมออาจไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับทีมบ๊วยอย่าง พาเดอร์บอร์น แต่อย่างน้อยก็ทำให้ช่องว่างกับ ดุสเซลดอร์ฟ ที่รั้งอันดับ 16 คงที่ 6 คะแนนเท่าเดิม ลองสมมุติว่า ดุสเซลดอร์ฟ เป็นฝ่ายชนะและหนีไป 9 คะแนน พาเดอร์บอร์น ก็แทบจะไม่เหลือความหวังลุ้นหนีตายในอีก 8 นัดสุดท้าย

แต่ที่ยังสลบไม่ฟื้นเลยคือ แวร์เดอร์ เบรเมน ที่โดน เลเวอร์คูเซ่น บุกยิงคารังอีก 4-1 นอนเสียชีวิตในตำแหน่งรองบ๊วยต่อไป 

ความปราชัยล่าสุดทำให้ เบรเมน แพ้เป็นนัดที่ 10 จาก 12 นัดหลังสุดในลีก และหากนับเฉพาะในบ้านที่ควรจะมีอะไรติดมือบ้างกลับน่าเป็นห่วงด้วยสถิติแบบนี้

ไม่ชนะ 10 นัดติดต่อกัน

และแพ้ 7 นัดติดต่อกัน 


ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ระดับ : {{val.member.level}}
{{val.member.post|number}}
ระดับ : {{v.member.level}}
{{v.member.post|number}}
ระดับ :
ดูความเห็นย่อย ({{val.reply}})