:::     :::

"Free-form Attack" ระบบที่โอเล่ติดตั้งเพื่อทวงความยิ่งใหญ่ให้ยูไนเต็ด

วันเสาร์ที่ 11 กรกฎาคม 2563 คอลัมน์ #BELIEVE โดย ศาลาผี
32,737
ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
เราเริ่มเห็นร่างทรงแมนยูไนเต็ดยุคใหม่ที่ใกล้จะสมบูรณ์แบบมากขึ้นเรื่อยๆ หากการเสริมทัพทำได้ตามแผนที่คาดไว้ ปี2021เราจะได้เห็นเกมรุกสุดโหดที่พร้อมขยี้ศัตรูได้ทุกรูปแบบอย่างแน่นอน

แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดกำลังไปได้ดีในขณะนี้กับผลงานชนะต่อเนื่องโดยยิงประตูทิ้งห่างคู่ต่อสู้อย่างต่ำๆ2-3ลูกแทบจะทุกนัด นับตั้งแต่การย้ายเข้ามาร่วมทีมของเพลย์เมคเกอร์ชั้นยอดอย่าง บรูโน่ แฟร์นันด์ส ทำให้ทีมพัฒนาขึ้นมามากโดยเฉพาะในด้านของเกมรุกของทีม

จากเดิมที่เมื่อก่อนจะยิงแต่ละลูกยังยาก ตอนนี้แมนยูไนเต็ดเหมือนจะเริ่มจูนกันติดขึ้นเรื่อยๆ เมื่อแนวรุกตัวหลักของทีมค่อยๆพัฒนาฝีเท้าขึ้นมาจนอยู่ในระดับที่คาดหวังประตูได้ ไม่ว่าจะเป็น แรชฟอร์ด มาร์กซิยาล หรือตัวที่กำลังมาแรงและพัฒนาขึ้นอย่างผิดหูผิดตาจนน่ากลัวอย่าง เมสัน กรีนวู้ด  โดยที่มีบรูโน่เป็นตัวจักรสำคัญที่เข้ามาเป็นตัวเป็นผู้สร้างสรรค์จินตนาการในเกมรุก และเชื่อมเกมไปสู่เหล่าเด็กๆกองหน้าให้เป็นผู้จบสกอร์กันอย่างเป็นกอบเป็นกำในขณะนี้

สาเหตุสำคัญหลักๆก็เป็นเพราะการมาของบรูโน่นั่นแหละ ที่ทำให้เกมรุกเราไฉไลได้ขนาดนี้ นั่นเป็นเพราะว่าตัวบรูโน่เองก็เป็นนักเตะที่สามารถตัดสินเกม และสร้างความแตกต่างให้กับทีมได้ตลอดเวลา ดังนั้นในยามที่เจาะไม่เข้า ก็ได้เขานี่แหละเป็นคนสร้างโอกาสทำประตูให้เกิดขึ้นได้

การที่เขาเป็นเหมือนกาวเชื่อมแนวรุกของเราให้เป็นปึกแผ่น ไหลลื่นและเข้าขากันได้ เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เพราะก่อนหน้านี้ การที่เกมรุกแมนยูย่ำแย่ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะว่า ไม่มีกลางรุกที่จะคอยทำเกมให้มันมีทีมเวิร์คดีๆดังเช่นตอนนี้ สมัยก่อนตัวรุกแต่ละตัวเล่นกันแบบisolateมาก ต่างคนต่างเล่น และไม่มีการconnectกันเลยเพราะเนื่องจากแผนการเล่นที่จะใช้การถ่างพื้นที่แนวกว้างออกไป โดยตัวรุกริมเส้นอย่าง แรชฟอร์ด กับ เจมส์ ในตำแหน่งปีกซ้ายปีกขวา และมีมาร์กซิยาลยืนตัวเป้า

ผลก็คือ เมื่อแดนหน้าแต่ละคน "ไม่มีเพลย์เมคเกอร์ดีๆคอยเปิดบอล หรือต่อบอลให้" สิ่งที่เกิดขึ้นเราจะเห็นกันประจำกับภาพที่ แรชฟอร์ด หรือ เจมส์ พยายามจะพาบอลขึ้นหน้าไปด้วยตัวเองคนเดียวโดดๆ และก็มักจะเลี้ยงไม่ผ่าน หรือเลี้ยงไปรุมดับเบิ้ลทีม ปิดแค่นิดเดียวก็เรียบร้อยแล้ว แมนยูไนเต็ดไม่มีโอกาสยิงดีๆเลย เกมรุกจึงตื้อตันและต้องอาศัยทำได้เพียงแค่การสวนกลับเร็วโดยใช้สปีดในแดนหน้าเท่านั้น

เมื่อเป็นเช่นนี้จะเห็นได้ว่า บรูโน่นั้นสำคัญมากๆที่เข้ามาเชื่อมกองหน้าฟร้อนท์ทรีของทีมเข้าด้วยกัน แถมยังสามารถยิงประตูเองได้อีกด้วย นั่นล่ะจึงเป็นสาเหตุที่เกมรุกแมนยูบุกกันได้สะเด่าขนาดนี้ 

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น อีกส่วนนึงนอกจากบรูโน่แล้ว มันก็ต้องรวมไปถึง "การพัฒนาตัวเองขึ้นมาของเหล่ากองหน้าวัยรุ่นในทีม" ด้วย เพราะดูเหมือนว่าเด็กๆของเราก็จะอัพเกรดตัวเองขึ้นมาเรื่อยๆ ตามอายุและชั่วโมงบินในสนามจริงที่ค่อยๆเพิ่มพูนขึ้น

แรชฟอร์ด ตอนนี้ที่อาจจะยังไม่คมกริบในจังหวะทำประตูเหมือนเดิม แต่เห็นได้ชัดว่าattitudeในการเล่นนั้นเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง เมื่อเขามีวิชั่นในการเล่นที่ดีขึ้น เน้นทำเพื่อทีม ใจเย็น และนิ่งกว่าเดิม พยายามไม่ฝืนและไม่เล่นแบบฉาบฉวยเพียงอย่างเดียว แต่มีทีมเวิร์คที่ดี และหลายต่อหลายครั้งเขาก็ผ่านบอลสวยๆให้เพื่อนร่วมทีมมีโอกาสยิงบ่อยมาก ไม่บ้ายิงเองเหมือนแต่ก่อนจนทีมเสียโอกาสบุกไปฟรีๆ

มาร์กซิยาล ที่ดูจะไม่กระตือรือล้นยามลงสนาม แถมหลายๆครั้งก็หายไปจากเกม ปัจจุบันนี้ดูจะactiveขึ้นกว่าเดิม พร้อมกับความสามารถในการจบสกอร์ตำแหน่งหน้าเป้าที่ดูดีและแน่นอนขึ้นเรื่อยๆ จากที่เดิมเขามีมิติทำได้เพียงแค่เป็น Inside Forward ที่ถนัดริมเส้นเท่านั้น

กรีนวู้ด หากใครจำกันได้ น้องไม้เขียวสมัยช่วงปลายซีซั่นที่แล้วที่ลงมาท้ายๆ หรือช่วงต้นซีซั่น2019/20ที่ผ่านมา เมสัน กรีนวู้ดเป็นคนที่มีส่วนร่วมกับเกมน้อยมากๆ ช่วยทีมในด้านการทำเกมไม่ค่อยได้เลย จะมีก็คือจังหวะรอยิงเท่านั้นในพื้นที่อันตราย แต่ปัจจุบันเห็นความต่างชัดเจนว่า ในยามที่ลงต่ำห่างจากปากประตู กรีนวู้ดนั้นลงมาล้วงบอล และต่อบอลกับตัวรุกคนอื่นๆเยอะ แถมยังมีความกล้าที่จะเล่นกว่าเดิม กล้าครองบอลเลี้ยงตะลุยขึ้น และมีจังหวะการจ่ายบอลทำทางกับเพื่อนที่ถือว่าสมบูรณ์พอจะลงตัวจริงตั้งแต่นาทีแรกได้แล้ว ไม่ใช่แค่ลงไปเป็นตัวjokerรอยิงท้ายเกมอย่างเดียว

ต้องบอกว่า ทั้งเหตุผลของเรื่อง เพลย์เมคเกอร์ตัวเชื่อมเกมที่เข้าทีมมาพอดี  มันมาประจวบเหมาะลงล็อคกับช่วงที่กองหน้าของเราก็ค่อยๆพัฒนาตัวเองขึ้นมาเรื่อยๆพร้อมกันด้วย  จึงเป็นสาเหตุทั้งหมดที่ทำให้แมนยูไนเต็ดยิงกันกระจุยกระจายดังเช่นตอนนี้

ทั้งหมดทั้งมวลที่ได้เกริ่นมาแล้วดังนี้ สำคัญที่สุดเราต้องขอบคุณ "โอเล่ กุนนาร์ โซลชา" เป็นหลักเลยที่มีไอเดียการสร้างทีมจากซากปรักหักพังของความล้มเหลวตลอด7ปีที่ผ่านมาได้ดีมากๆ โดยที่อย่างที่ทราบกัน เขาค่อยๆมาrestructureทีมใหม่ โดยการเคลียร์เอานักเตะที่มีปัญหา นักเตะที่อายุเยอะเกินจะสร้างใหม่ และพวกฝีเท้าไม่ดีพอ ให้ค่อยๆออกไปทีละน้อย เพื่อจะลดค่าใช้จ่ายส่วนเกินเรื่องค่าเหนื่อย จำหน่ายเหล่าdeadwoodของทีมเหล่านี้ออกไปทีละคนสองคน

จากนั้นสร้างทีมใหม่ขึ้นมาโดยเน้น "นักเตะอายุน้อย" ที่มีแววพัฒนาตัวเองขึ้นมาได้ในอนาคต ทั้งจากการดันดาวรุ่งท้องถิ่นจากอะคาเดมี่แมนยูไนเต็ดเอง รวมถึงซื้อตัวเก่งอายุน้อยๆเข้ามาเสริมจุดแข็งผสมผสานกันด้วย

ขณะนี้ที่เรากำลังทำการแข่งขันอยู่ คือเกมที่เหลือตกค้างของซีซั่น 2019/20 ทั้งพรีเมียร์ลีก เอฟเอคัพ และยูโรป้าคัพนัดที่เหลือ ทีมมีทิศทางที่ดีขึ้นเรื่อยๆ จากต้นซีซั่นได้ตัวหลักเก่งๆเข้ามาเป็นแกนให้ทีมอย่าง แมกไกวร์ กับ บิสซาก้า โดยมีแดนเจมส์เป็นตัวรุกที่ช่วยทีมในเกมบุก พอรวมกับตลาดหน้าหนาวที่ได้บรูโน่เข้ามาเติมเต็ม และตัวแบ็คอัพชั้นยอดอย่างอิกาโล่มาคอยค้ำในแดนหน้าให้ทีม ทำให้ตอนนี้ดูเหมือนว่า เราเริ่มจะมองเห็น "อะไรบางอย่าง" ที่เริ่มถูกติดตั้งขึ้นมาสักพักใหญ่ๆแล้วโดยที่แฟนบอลไม่รู้ตัว

นั่นก็คือ การเล่นเกมบุกแบบ "Free-form attack" ที่ปลดปล่อยอิสระให้ตัวรุกเล่นกันอย่างเป็นธรรมชาติโดยไม่มีรูปแบบตายตัว

แนวคิดสำคัญของสิ่งนี้ก็เป็นปรัชญาหลักของแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดในการสร้างนักเตะขึ้นมาจากชุดเยาวชนอยู่แล้ว นั่นก็คือการปล่อยให้เด็กๆได้เล่นฟุตบอลกันอย่างมีความสุข ไม่จำกัดการเล่นโดยการกำหนดแบบแผนที่ต้องทำตามอะไรมากมายนัก ซึ่งจะทำให้นักฟุตบอลบางคนไม่สามารถปลดปล่อยพลังที่แท้จริงออกมาได้ เพราะติดกับดักของระบบการเล่นอย่างเดียว จนบางครั้งไม่สามารถแสดงperformanceอะไรบางอย่างออกมาได้ตามที่ตนถนัดและอยากทำ 

Free-form attack คือ "รูปแบบเกมรุกที่ไม่ตายตัว" สามารถรุกได้ทุกรูปแบบ และคู่ต่อสู้ไม่สามารถจะดักทางได้ว่า ใครยืนตำแหน่งอะไร (who) เราจะบุกจากทางไหน (where) หรือใช้รูปแบบไหนในการเข้าทำ (How)

พูดง่ายๆว่า "อะไรก็เอามาบุกได้" แม้กระทั่งการที่เซ็นเตอร์แบ็คจะฝากบอลแล้ววิ่งเข้าพื้นที่สุดท้ายเพื่อยิงประตูเอง ยังเป็นไปได้เลย!!

พูดเช่นนี้แล้วบางคนอาจจะนึกถึง "Total Football" ศาสตร์ที่มีรากฐานการพัฒนามาตั้งแต่ช่วงยุค 1930s จนพีคเป็นที่รู้จักที่สุดช่วงยุค70s โดยปรมาจารย์อย่าง Rinus Michels  เจ้าของฉายา "The General" (ท่านนายพล)

ยุคแรกๆนั้น Jack Reynolds คือผู้ที่ติดตั้งTotal Football System ให้กับAjax ในช่วงยุค 30s-40s ซึ่งมีไรนุส มิเชลส์เล่นอยู่ในทีมขณะนั้น(1946-47) โดยท่านนายพลก็เป็นศิษย์สืบทอดวิชานี้มาจากเรย์โนลด์ที่เปรียบเสมือนผู้ริเริ่มแรกสุด

พอไรนุสขึ้นมาเป็นผู้จัดการทีม เขาก็เอามันมาติดตั้งให้กับAjaxในช่วงยุค 70s จนกระทั่งโด่งดังยุคนั้น เรียกได้ว่าเป็นจุดกำเนิดอย่างเป็นทางการของ Total Fooball อย่างแท้จริง โดยไรนุส มิเชลส์มีศิษย์เอกที่เป็น ผู้เล่นแกนหลักสำคัญในโททัลฟุตบอลของเขา นั่นก็คือ Johan Cruyff นั่นเอง

(ส่วนฟาน กัลนั้น ไม่ได้เป็นลูกศิษย์ของJack Reynoldsโดยตรงเหมือนกับไรนุส แต่ว่าLVGก็เป็นดัตช์และเล่นให้อาแจ็กซ์อยู่ตอนเป็นนักเตะ มาคุมอาแจ็กซ์/บาร์ซ่าตอนเป็นผู้จัดการทีม ก็คุ้นเคยกับระบบนี้พอควร แต่เขาไม่ได้นำโททัลฟุตบอลมาที่โอลด์แทรฟฟอร์ดด้วยทั้งหมด นำมาเพียงปรัชญาการเน้นครองบอลเท่านั้น)

หลักสำคัญของtotal football ก็ง่ายๆนั่นก็คือ การเล่นที่สวิตช์ตำแหน่งไปเรื่อยๆอย่างรวดเร็ว ไม่ยืนตำแหน่งตายตัว โดยนักเตะทุกคนสามารถขยับแทนกันได้หมด ซึ่งกองหลังก็อาจจะต่อบอล และขยับขึ้นมายืนหน้าโกลเพื่อยิงได้ ในขณะที่ตัวหน้าก็อาจจะขยับไปริมเส้น หรือถอยหลังลงต่ำไปตั้งบอลขึ้นมาเองได้

คือทุกคนต้องสามารถเป็นได้ทั้งกองหลัง กองกลาง หรือกองหน้าได้หมดในเวลาเดียวกัน จะมีแค่คนเดียวในสนามที่จะประจำตำแหน่งของตัวเองเท่านั้น ไม่เปลี่ยนไปๆมาๆเหมือนชาวบ้าน นั่นก็คือ "โกล" นั่นเอง

(เปลี่ยนได้ก็บ้าแล้ว แต่ยุคนี้ก็ดันมีโกลสาย sweeper keeper ขึ้นมาจริงๆอีกที่บางทีออกมาเล่นบอลกลางสนามได้ ถือว่าเป็นการเล่นที่มีแนวคิดแบบเดียวกับโททัลฟุตบอลเหมือนกัน และจริงๆแล้วทีมที่ใช้โกลสไตล์นี้ก็เป็นทีมที่ใช้ปรัชญาPositional Play แบบที่มีอิทธิพลมาทางสายโททัลฟุตบอลอีกต่อนั่นแหละ เป็นโททัลที่พัฒนาไปอีกขั้น)

ถือว่าtotal footballน่าจะเป็นระบบที่fluidที่สุดในโลกแล้ว โดยในยุคของไรนุส มิเชลส์นั้น จะให้โยฮัน ครัฟฟ์ เป็นตัวสำคัญที่จะเล่นอย่างอิสระ โรมไปอยู่ทุกจุดบนสนาม เพื่อที่จะหาช่องที่เจาะใส่คู่ต่อสู้ได้ ซึ่งนักเตะที่สามารถจะเล่นแบบนี้ได้นั้นจะต้องมีทักษะที่สูง เล่นได้ทุกจุดในสนาม และมีการเล่นที่ฉลาดอย่างถึงที่สุดด้วย

โยฮัน ครัฟฟ์ จึงเป็นนักฟุตบอลที่เป็นเหมือน "สัญลักษณ์ของTotal Football" นั่นเอง 

หลังจากแขวนสตั๊ด ครัฟฟ์คุมอาแจ็กซ์ช่วงกลาง80s และย้ายมาคุมบาร์ซ่าช่วง ปลายยุค80s กับยุค 90s ซึ่งหลังจากที่ประสบความสำเร็จพอสมควรในการเริ่มจากเป็นที่ปรึกษาทางเทคนิค มาจนถึงผู้จัดการทีมนั้น ครัฟฟ์ก็นำเอาโททัลฟุตบอลมาสานต่องานของมิเชลส์ที่บาร์เซโลน่าด้วย หลังจากที่ไรนุส มิเชลส์เป็นเหมือนพระผู้สร้างของบาร์ซ่าผู้มาติดตั้งระบบแล้ว ก็มีprinceอย่างครัฟฟ์ที่แหละที่มาต่อยอดฝังรากสิ่งนี้ให้กับทีมดังจากคาตาลัน รวมถึงเปลี่ยนแปลงyouth academyของบาซ่าอย่าง ลามาเซีย ให้โดดเด่นในการปั้นเด็กขึ้นมาภายหลัง จนกลายมาเป็นบาร์เซโลน่าในทุกวันนี้

ซึ่งครัฟฟ์นั้นแม้จะเอาโททัลฟุตบอลมาใส่ให้บาร์ซ่าตอนคุมช่วงปลายยุค80s แต่มันก็เกิดกระบวนการต่อยอดมาเรื่อยๆจนสุดท้ายเป็นต้นกำเนิดของ Tiki Taka ที่พัฒนาขึ้นมาในภายหลัง โดยเน้นการต่อบอลสั้น การเคลื่อนที่ และเกมครองบอลเป็นสำคัญ

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น หากพูดถึงเรื่อง Tiki Taka เอง มันก็เป็นพาร์ทหนึ่งของ Juego de Posición  หรือที่เรียกว่า Positional Play ที่เป็นเรื่องของการแสวงหาความเหนือกว่าคู่ต่อสู้(Superiority)สามอย่าง

ด้านจำนวน (numerical) : ที่มักจะหาทางทำให้ผู้เล่นฝั่งตัวเองมีเยอะกว่าคู่ต่อสู้ในพื้นที่เล่นอยู่เสมอ

ตำแหน่ง (positional) : หาทางทำให้ฝั่งเราเกิดตัวว่าง ที่คอยรับบอลให้การครองบอลของทีมได้ตลอด

คุณภาพ (qualitative) : สร้างsituationsให้best playerฝั่งตนที่มีคุณภาพกว่า ได้ดวล1-1 หรือ2-2กับworst playerของอีกฝั่ง

นี่คือปรัชญาหลักๆของการเล่น โดยรายละเอียดในเชิงเทคนิคก็มีอีกมากมาย ยกตัวอย่างเช่น มีการแบ่งพื้นที่การเล่นบนสนามออกเป็นช่องgridพื้นที่ย่อยๆ แล้วก็หาทางทำให้ผู้เล่นมีทางเลือกในการจ่าย3ทางขึ้นไปเสมอๆ รวมถึงการยืนตำแหน่งที่ในพื้นที่แต่ละส่วน ไม่ว่าจะเป็นแนวvertical หรือhorizontal ก็จะกำหนดปริมาณตัวผู้เล่นที่ยืนในพื้นที่นั้น และรวมถึงความสำคัญในการสร้างทางเลือกจ่ายบอลที่ต่างกันด้วย(แนวตั้งแนวนอน) ซึ่งคนที่เป็นเอกอุคนนึงด้วยวิธีการนี้ก็แน่นอน เป๊ป กวาดิโอลาร์ นั่นไง

การครองบอลมันไม่ใช่ปรัชญาของสิ่งนี้ มันเป็นแค่ tools เท่านั้นเอง

ว่าแต่ ไอ้เรื่องพวกนี้มันเกี่ยวกับแมนยูเราตรงไหน?

เขียนมาถึงตรงนี้เพื่อที่จะปูพื้นความเข้าใจผู้อ่านให้เห็นภาพคร่าวๆว่า เรื่องของวิธีคิดในการเล่น และเรื่องของการเคลื่อนที่ การยืนตำแหน่ง มันสำคัญมากๆ ดังนั้นเพื่อที่จะให้เกิดเกมรุกที่มีคุณภาพ โอเล่นั้นพยายามที่จะนำ "ธรรมชาติของนักเตะในทีม" มาใช้ให้เต็มศักยภาพมากที่สุด

นั่นก็คือ การปล่อยอิสระให้เด็กๆเราเล่นอย่างมีความสุข ที่เป็นต้นเหตุสำคัญที่ทีมเราบุกได้ดีในขณะนี้

บางครั้งการไปกำหนดกรอบหรือบังคับการเล่นนักเตะมากไป มันก็เหมือนกับการที่คิรัวร์ใน Hunter X Hunter โดนอิรุมิพี่ชาย ฝังเข็มคำสั่งที่ว่า "อย่าเผชิญหน้ากับศัตรูที่เอาชนะไม่ได้" จนไปปิดกั้นการปลดปล่อยพลังที่แท้จริงของเขา

ในโลกแห่งความเป็นจริง เราเห็นเรื่องแบบนี้มาแล้ว เช่นตอนที่LVGคุมแมนยูไนเต็ดด้วยระบบที่ต้องเน้นการครองบอลไปเรื่อยๆเพื่อความแน่นอน แต่ทำเกมบุกได้น่าเบื่อและเชื่องช้าเป็นต้น เพราะบางครั้งแทคติกและคำสั่งจากโค้ช มันเป็นเหมือนดาบสองคมที่จำกัดกรอบการสร้างสรรค์ของผู้เล่นพอสมควร แทนที่ควรจะได้เห็นเพลย์ดีๆจากการครีเอทตามสัญชาตญาณ นักเตะก็อาจจะไม่กล้าทำเพราะโค้ชสั่งไว้ และกลัวตัวเองจะโดนตัดออกจากทีมเพราะไม่เชื่อฟังคำสั่ง ก็เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่สำคัญมากไม่แพ้กัน

เมื่อเป็นเช่นนี้ โอเล่จึงสร้างแนวรุกของทีมให้ได้เล่นอย่างอิสระ และฟรีสไตล์อย่างถึงที่สุด ที่ถ้าหากใครเห็นการคุมทีมของโอเล่ตั้งแต่วันแรก มาจนถึงตอนนี้ จะเห็นชัดว่า ในยุคโอเล่นั้นตัวรุกของทีมนั้นเล่นสลับตำแหน่งกันแบบโคตรอิสระมากๆ เรียกว่าจะจับใครไปยืนตรงไหนไหนแผนก็ได้ทั้งนั้น มันทำให้ออฟชั่นการจัดทีมของผู้จัดการยิ่งมีทางเลือกมากกว่าเดิม แถมยังทำให้เกมรุกมันไม่ตื้อด้วย

เวลาที่สมมติว่า แรชฟอร์ดเจาะแบ็คขวาเขาไม่เข้า บางทีจับโยกไปยืนอีกข้าง อาจจะไปเผาแบ็คซ้ายเขาสำเร็จก็ได้ ยกตัวอย่างเป็นต้น นักเตะในทีมเราบางทีจะสลับตำแหน่งกันเองโดยอิสระในสนาม แต่เป็นอิสระที่น่าจะได้รับการcoachingมาจากการฝึกซ้อมทีม ไม่ใช่สลับกันเองมั่วๆ ทีมโค้ชคงจะพูดคุยกับนักเตะมาแล้วว่าควรทำอะไรในสถานการณ์ไหนบ้าง

ณ ปัจจุบันตัวที่มีอยู่ก็ถือว่า ใกล้เคียงกับการที่จะสร้างรูปแบบอิสระที่ว่านี้พอสมควรแล้ว มันคือเรื่องของสามสิ่งที่คู่ต่อสู้ไม่สามารถดักทางได้ (where / who / how) ซึ่งไม่มีอะไรตายตัวเลยสักอย่างเดียวเวลาที่แมนยูไนเต็ดบุก และคิดว่านี่น่าจะเป็นสิ่งที่โอเล่กำลังทำให้สมบูรณ์แบบขึ้นเรื่อยๆทีละน้อย เพื่อที่จะใช้ในการสร้างฟุตบอลเอ็นเตอร์เทน ที่จะนำพาความสุขและความสำเร็จกลับมาสู่แฟนบอล และสโมสร

จริงๆแล้วโอเล่ก็อาจจะไม่ได้เน้นจะสร้างรูปแบบฟรีสไตล์หรอก แต่การที่เขาปล่อยอิสระให้เด็กๆเราเล่นกันอย่างเป็นธรรมชาตินั่นต่างหากที่จะทำให้เกมรุกแบบนี้เกิดขึ้นได้ เมื่อรวมกับตัวที่มีข่าวกับเรา มันยิ่งมาซัพพอร์ตเรื่องนี้มากยิ่งขึ้น

เพราะจากการที่ปีศาจแดงมีข่าวการเสริมทีมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเหล่าตัวรุกแต่ละชื่อที่มีส่วนโยงกับทีมว่าจะซื้อจริงๆอย่าง Jadon Sancho และรวมถึง Donny van de Beek / Jack Grealish  มันทำให้เรายิ่งจินตนาการได้ชัดเจนว่า แมนยูชุดอนาคตในปี2021นั้น จะมีร่างทรงเป็นยังไง สังเกตได้เลยจากการที่เขาต้องการนำตัวเหล่านี้เข้ามาสโมสรให้ได้ ตามข่าวที่มีนั้น ยิ่งทำให้รูปแบบเกมบุกแบบFree-form ยิ่งชัดเจนหนักเข้าไปอีก

กล่าวคือ โอเล่จะทำให้แนวรุกแต่ละส่วนของทีม จะสามารถใส่นักเตะลงไปทุกตำแหน่งของแผนได้อย่างอิสระ, ผู้เล่นเกมรุกทุกคนสามารถจู่โจมได้จากทุกจุด, และทีมสามารถบุกได้ทุกรูปแบบเท่าที่ทำได้นั่นเอง ตามสูตรด้านบนนั่นแหละว่า where, who, how

ตัวอย่างทางเลือกในการจัดตำแหน่ง by ศาลาผี

1. ใครยืนตำแหน่งอะไร (who)

ตัวที่จะเสริมเข้ามาอย่างซานโช่ หรือกรีลิช ฟานเดอบีค ถ้าซื้อเข้ามาสำเร็จสักคนนึงไม่ว่าใคร มันจะเพิ่มตัวเลือกในการยืนตำแหน่งให้แมนยูมากขึ้นกว่าเดิมหลายเท่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตำแหน่งแนวรุกด้านหน้าที่เป็น Front Three ของทีมนั้น จะสามารถสลับตัวกันได้ไหลๆเลยหากได้ตัวรุกเพิ่ม ดังเช่นต่อไปนี้

แนวรุกฝั่งซ้าย :  Sancho / Rashford / Martial / James / Grealish

กองหน้าตรงกลาง : Greenwood / Martial / Rashford / Ighalo

แนวรุกฝั่งขวา : Greenwood / Sancho / James / Rashford

เพลย์เมคเกอร์ : Bruno / Pogba / Grealish / VDB / Sancho

จะเห็นได้ว่าการที่จะเสริมตัวแบบซานโช่เข้ามา ทำให้หนึ่งตำแหน่งเราจะมีทางเลือกถึง "4คนอย่างต่ำ" ในแนวรุก4จุดด้านหน้า ซึ่งรวมทั้งการจัดลงตามตำแหน่ง และการสลับตำแหน่งจู่โจมกันระหว่างเกมด้วย (ที่เขียนมายังไม่รวมกรณีที่อาจเอาGreenwoodไปเล่นซ้ายแถมได้อีกด้วยซ้ำ เพราะตอนอยู่ทีมสำรองก็มีเคยไปยืนซ้ายได้เหมือนกัน)

อีกจุดหนึ่งที่ดูเหมือนจะเป็นแนวคิดสมัยใหม่ของโอเล่นั่นก็คือ โอเล่ชอบที่จะใช้งานนักเตะที่มีความยืดหยุ่นสูงในการเล่นได้หลายๆตำแหน่ง ขนาดกองหลังยังยืดหยุ่นเลย เพราะจะเห็นได้ว่าเช่น ชอว์ที่เล่นได้ทั้งLB,CB (ลืมใส่ให้ในรูป) / แบรนดอนเล่นทั้งแบ็คขวาซ้ายเช่นเดียวกับดาโลต์ที่แถมปีกให้ด้วย / มาติชเป็นกองกลางที่ถอยลงไปยืนเซ็นเตอร์ได้

2. เราจะบุกมาจากทางไหน (where)

ผลพวงจากการยืนตำแหน่งอิสระ คู่แข่งจะไม่สามารถรู้ได้เลยว่า จะโดนแมนยูบุกจากตรงไหนบ้าง เพราะยูไนเต็ดนั้นจะสามารถทำประตูได้จากทุกจุดบนสนาม ไม่ว่าจะเป็นฝั่งซ้ายที่มีมาร์กซิยาล แรชฟอร์ด ด้านขวาที่มีกรีนวู้ดรอสับไกอยู่ เช่นเดียวกันกับตรงกลางที่ มาร์กซิยาล กรีนวู้ด อิกาโล่ สามารถยิงได้หมด

ที่เขียนนี่คือ "ปัจจุบัน" ซะด้วยซ้ำ ยังไม่นับพวกที่กำลังจะซื้อมาอย่าง ซานโช่ ฟดบ กรีลิชเลย หากตัวพวกนั้นเข้ามาเพิ่ม เราก็จะได้อาวุธหนักเพิ่มขึ้นอีกในทุกจุด เช่น ซานโช่ ที่จริงๆแล้วเขาเล่นได้ทั้งสองฝั่ง ไม่ว่าจะซ้ายหรือขวาก็ดีทั้งคู่ ไม่ได้จะเอามาเล่นแต่ปีกขวาอย่างเดียว ตัดเข้าเล่นกลางก็ได้ / กรีลิช ที่ถนัดทางซ้ายและตรงกลาง บางทียังออกมาเล่นขวาก็ทำได้ (เกมล่าสุดที่เพิ่งเจอแมนยูก็เห็นกันแล้วว่ายืนขวา) ส่วนฟานเดอบีค เป็นมิดฟิลด์ที่เล่นได้ทั้งตำแหน่งป็อกบาและบรูโน่ แถมยังเติมขึ้นไปยิงได้อีก

หากโอเล่ได้ตัวซานโช่ กรีลิชมา มันจะเป็นการเติมเต็มการบุกของแมนยูให้รุกได้จากทุกจุดบนสนาม ด้วยตัวหลักอย่าง แรชฟอร์ด มาร์กซิยาล กรีนวู้ด ซานโช่ ที่สลับกันยืนขวาซ้ายกลางได้อิสระนั่นเอง

3. ใช้รูปแบบไหนในการเข้าทำ (How)

เรื่องของรูปแบบการเข้าทำที่หลากหลาย อิสระ ทำได้ทุกรูปแบบนั้น เป็นสิ่งสำคัญที่สุดของเกมรุกแมนยูที่โอเล่กำลังพยายามทำอยู่ เพราะมันไม่ใช่แค่การ "สลับตำแหน่งกันไปมาของตัวรุกแดนหน้า" เท่านั้นที่เขาทำ แต่มันคือการบุกที่ไม่สิ้นสุด ที่ทีมเราสามารถเลือกใช้ได้ เวลาเจอสถานการณ์ที่แตกต่างกันนั่นเอง

เพราะย้อนกลับไปเรื่องTotal Football มันก็ไม่ได้เป็นระบบที่ไร้เทียมทาน เพราะสุดท้ายแล้วก็โดนแก้ทางโดย Catenaccio(คาเตนัคโช่) ที่เน้นการยืนลึก ประจำตำแหน่งอยู่กับที่แบบเหนียวๆ และตั้งโซนป้องกันที่จะไม่เผลอเปิดช่องตามการmovementของบอลโททัลได้

เปรียบเทียบกันแล้วนั้น Free-formที่ว่ากองหน้าสลับตำแหน่งกันของโอเล่ ก็คล้ายๆ Total Fooballเหมือนกันนั่นแหละ แต่เป็นโททัลเพียงแค่ส่วนของ "แนวรุกในแดนหน้า" ที่จะฝากบอลแล้ววิ่ง ให้แล้วไป ขยับสลับตำแหน่งไปมา (The Give-and-Go) ตามที่เราเห็นกันชัดเจนว่า หน้าสามของเราจะเล่นฝากบอลวิ่งแบบนี้ตลอด โดยที่ตัวรับฝากและเปิดบอลก็คือบรูโน่กับป็อกบานั่นเองที่ศักยภาพสูงพอจะเปิดให้ตัวรุกด้านหน้าได้ทุกจุด

บางครั้งมีการดันป็อกบาไปเล่นRoaming Playmakerนั่นแหละก็จะได้เห็นPogba ขึ้นไปเล่นร่วมกับกองหน้าอีกตัว บรูโน่เองบางทีก็เป็นตัวรุกที่ขยับตำแหน่งขึ้นไปเติมสูงอยู่บ่อยๆ ทั้งซ้ายขวากลาง สองตัวนี้ก็แทบจะทำให้เกมรุกแมนยูเป็นTotal Footballจริงๆแล้ว จะมีก็แค่ วิงแบ็ค / กลางตัวต่ำ / CB เท่านั้นที่ไม่ได้เล่นโททัลด้วยแบบจริงๆจังๆ

Pogba กับ Bruno คือส่วนสำคัญมากไม่แพ้กับแนวรุกด้านหน้าเลย เพราะถ้าขาดพวกเขาไป การทำเกมบุกได้อย่างอิสระจะไม่มีวันเกิดขึ้นแน่นอนถ้าขาดคนคอนโทรลเกมและมีความสามารถพอจะเปิดบอลสวยๆมาให้ตัวรุกเหล่านี้      

แต่สิ่งที่การเล่นของโอเล่มันต่างออกไปจากโททัลฟุตบอลนั้น เพราะมันมีการเพิ่มรูปแบบการเข้าทำจากแอเรียอื่นๆของทีมเข้าไปด้วย สาเหตุก็เพราะว่า หากไปเจอทีมประเภทpark the bus ใส่เราขึ้นมา (คาเตนัคโช่แบบอัพเกรด ฮา) เจอแบบนั้นบางทีตัวรุกแดนหน้าเราอาจจะเจาะไม่เข้าได้ ดังนั้นมันจึงต้องเพิ่มรูปแบบจากพื้นที่อื่นในสนามให้หลากหลายยิ่งขึ้นไป ซึ่งนั่นก็คือ เกมริมเส้นจากแบ็ค / การบุกจากมิดฟิลด์ / การดันเกมของเซ็นเตอร์แบ็ค และ ลูกกลางอากาศ นั่นเอง คือรูปแบบอิสระอย่างแท้จริงที่ช่วยฟร้อนท์ทรีด้านหน้าทำประตูเพิ่มได้

เวลาที่เกมเจาะไม่เข้า เราจะมีวิธีบุกเพื่อยิงประตูได้อีกมาก ฟรีฟอร์มของโอเล่นั้นใช้สิ่งเหล่านี้เรียบร้อยแล้วในการเล่นปัจจุบันที่ยังไม่ได้ซื้อตัวรุกมาเพิ่มด้วยซ้ำไป

3.1 เกมริมเส้น

สูตรคือจะใช้วิงแบ็คในการเติมเกมริมเส้นเป็นหลัก เราจะไม่ต้องเสียตัวรุกข้างหน้าไปอีกหนึ่งตัวเพื่อเล่นwingerแบบโบราณอีกต่อไป แต่จะใช้แบ็ครับผิดชอบงานตรงนี้เพิ่มแทน ทำให้แมนยูสามารถบุกและขึ้นเกมริมเส้นได้อีกหนึ่งออฟชั่น โดยโอเล่ให้วิงแบ็คเติมขึ้นมาขึงสูงในพื้นที่ของปีกตัวรุกสมัยก่อนแทน

3.2 เกมบุกจากมิดฟิลด์

แน่นอนว่าเวลาเจอตั้งรับลึก และเจาะเข้าพื้นที่ในกรอบเขตโทษไม่ได้ การยิงเร็วทันทีที่มีโอกาส ยิงไกลจากนอกกรอบ จึงเป็นตัวเลือกสำคัญอีกอย่างที่ใช้นำมาทำประตูได้เวลาเจออุดแบบนั้น ซึ่งนักเตะแบบ ป็อกบา บรูโน่ ยิงไกลนอกกรอบได้หมด เช่นเดียวกันกับ แรช หมาก ไม้เขียว พวกนี้ยิงไกลดีกันทั้งนั้น

3.3 การดันสูงของเซ็นเตอร์แบ็ค

อันนี้ถือเป็นความบันเทิงของคนดูล้วนๆ คือแมนยูบุกกระทั่งเอาเซ็นเตอร์เติมขึ้นมาจะไปยิงอยู่แล้ว ซึ่งไม่ใช่ในพาร์ทลูกเตะมุมด้วย แต่เป็นการต่อบอล และบางทีเปิดบอลบุกด้วยตัวเอง เหมือนที่เราได้เห็น แมกไกวร์ กับ ลินเดอเลิฟทำ ซึ่งข้อนี้คือจุดแข็งของทีมที่ใช้กองหลังสาย Ball-playing เช่นนี้ ที่อาจจะมีจุดอ่อนเรื่องเกมรับ แต่ใช้งานได้ดีมากในเกมครองบอลบุก อย่างเกมล่าสุดหลายเกมนี่ ลินเดอเลิฟวิ่งขึ้นไปถึงหน้าโกลแล้ว เดี๋ยวสักพักมียิงแน่ๆ แมกไกวร์เองก็ดันขึ้นมาจ่ายบอลระนาบเดียวกับมาติชเป็นประจำ

3.4 ลูกกลางอากาศ

แน่นอนอาวุธบินเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ เวลาได้ลูกเตะมุมเราก็ได้ลุ้น หรือตอนที่หมดหนทางจะเจาะแล้วจริงๆก็เปิดยัดเข้าไปลุ้นได้ ซึ่งข้อนี้เกี่ยวพันกับเกมริมเส้น และการดันสูงมีส่วนร่วมในเกมบุกของCB

แมนยูยุคนี้สามารถใช้ลูกโหม่งของแมกไกวร์ หรือพวกตัวสูงๆอย่างป็อกบา มาติช แม็คโทมิเนย์ ลินเดอเลิฟ พวกนี้ก็สามารถเอามาช่วยโหม่งทำประตูได้

Mason Greenwood ก็เล่นตำแหน่ง Centre-Forward ที่บุกได้อิสระ เหมือน Johan Cruyff ในTotal Football เป๊ะ

ทั้งหมดทั้งมวลที่เขียนมานี้ คงจะทำให้ได้เห็นกันแล้วว่า รูปแบบการบุกอิสระที่โอเล่กำลังติดตั้งให้แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดอยู่นั้น มันเห็นได้ชัดและน่าสนใจมาก ที่แดนหน้ากำลังจะกลายเป็นกึ่ง Total Football ถ้าได้ตัวรุกชั้นสูงที่เล่นได้ทุกจุดอย่างซานโช่เข้ามาร่วมทีม โดยมีการบุกจากแอเรียอื่นๆในสนามเป็นทางเลือกเกมรุกอีกมากมาย ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิดรูปแบบการเล่นที่อิสระไร้กรอบ และคู่ต่อสู้จะปิดเกมรุกแมนยูให้อยู่หมัดได้ยาก เพราะเราเจาะได้ทุกรูปแบบจริงๆ

ก็หวังว่าแมนยูจะเสริมทัพตัวรุกดีๆเข้ามาให้สำเร็จ จะเป็นใครก็แล้วแต่ ซานโช่ หรือกรีลิช ฟดบ ตามที่มีข่าว แฟนผีหลายคนอาจจะคิดว่า กรีนวู้ดเล่นดีขนาดนี้ไม่ต้องซื้อซานโช่แล้วมั้งเดี๋ยวจะมาแย่งตำแหน่งน้อง จะหยุดพัฒนารึเปล่า..

ขอยืนยันว่า หากแมนยูไนเต็ดอยากจะประสบความสำเร็จ และยกระดับขึ้นมาเป็นทีมชั้นแนวหน้า "เราจำเป็นต้องซื้อแนวรุกชั้นดีมาเสริมทีม"เท่านั้น

เพราะใจคอจะให้ใช้ Mason Martial Marcus แค่สามคนแบบนี้ทุกนัดทั้งฤดูกาล40-50เกมมันเป็นไปไม่ได้ ทั้งเรื่องของอาการบาดเจ็บ ระดับความฟิต การแก้เกม ฯลฯ ถ้าเรามีตัวแค่นี้ก็ได้แค่อันดับ3-4เหมือนเดิมนั่นแหละ ไม่ต้องหวังถึงการจะคว้าแชมป์หรอก มันไม่พออยู่แล้ว

เราควรจะได้ตัวรุกอย่างต่ำๆก็2ตัว ซานโช่ตัวนึง แล้วก็ แจ็ค หรือ ฟานเดอบีค หรือใครก็ได้ที่จะเข้ามาในการเป็นตัวเปลี่ยนที่พอจะเล่นแทนบรูโน่ได้ ซึ่งเป็นเรื่องของ Squad Depth อย่างที่กล่าวไว้เป็นประจำว่า แมนยูไนเต็ดยังคงต้องเสริมจุดนี้อยู่ ทั้งตัวรุก และกองกลางที่ยังไม่เพียงพอต่อการใช้งานจริง

ทันทีที่แมนยูซื้อซานโช่เข้าทีมมาได้เรียบร้อยอย่างเป็นทางการได้เมื่อไหร่ "Free-form Attack" จะสมบูรณ์แบบ100%ในทันที

การพัฒนาทีมดังกล่าวนี้ทำขึ้นมาจากการแก้ไขโครงสร้างทีมขึ้นมาใหม่ สร้างทีมใหม่โดยนักเตะอายุน้อยจากทีมเยาวชน อันเป็นปรัชญาและประเพณีพื้นฐานจากประวัติศาสตร์อันยาวนานของสโมสร สิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นได้ในตอนนี้ที่ทำให้แฟนแมนยูเริ่มมีความหวังที่จะเห็นทีมกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง ความดีความชอบทั้งหมดต้องขอมอบให้กับ "โอเล่ กุนนาร์ โซลชา" และทีมงาน ที่เข้ามาค่อยๆทำให้ทีละอย่างมันดีขึ้นเรื่อยๆ

จนกระทั่งตอนนี้อย่างน้อยที่สุด โอเล่ทำให้แฟนผีกลับมาดูแมนยูกันอย่างมีความสุขอีกครั้งแล้ว ด้วยฟุตบอลของเขาที่นำเอาความยืดหยุ่นของโททัลฟุตบอล ที่จะใช้นักเตะที่สามารถเล่นได้หลายๆตำแหน่ง มาผสมผสานกับปรัชญาของเซอร์อเล็กซ์ ที่เล่นเกมริมเส้น มีจิตใจที่ไม่ยอมแพ้ และสร้างฟุตบอลเอ็นเตอร์เทนโดยเน้นเกมบุกที่"คาดเดาไม่ได้" จะทำให้ผู้ชมสนุกในการดูนั่นเอง ที่ไม่ใช่การเอาชนะเพียงแค่1-0 เพื่อเก็บ3แต้ม แต่เราจะชนะด้วยสกอร์ 5-2 หรือ 3-0 อะไรแบบนี้มากกว่า

ประวัติศาสตร์ฟุตบอลที่ผ่านมาสอนให้รู้ว่า ไม่มีแผนการเล่นใดที่สมบูรณ์แบบไร้เทียมทานอย่างแท้จริง ดังนั้นมันคือบทเรียนสำคัญ และทำให้แฟนผีมีหวังจะได้เห็นอะไรดีๆ จากแมนยูที่เล่นเกมบุกอย่างหลากหลายและจับทางยากในอนาคต อันจะนำไปสู่ความสำเร็จที่จะเกิดขึ้นภายใน2-3ปีข้างหน้า

ทุกอย่างที่กำลังดำเนินไปด้วยดี และทำให้แฟนผีมีหวังในตอนนี้ ทั้งหมดคือผลงานของโอเล่ กุนนาร์ โซลชา อย่างแท้จริง 

ตั้งแต่ปี 2021 เป็นต้นไป รอดูเกมรุกนรกแตกของแมนยูที่เปิดโหมด "สภาวะไร้ตัวตน" แบบFree-form Attack ได้เลย

-ศาลาผี-

References


ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ระดับ : {{val.member.level}}
{{val.member.post|number}}
ระดับ : {{v.member.level}}
{{v.member.post|number}}
ระดับ :
ดูความเห็นย่อย ({{val.reply}})

ข่าวใหม่วันนี้

ดูทั้งหมด