:::     :::

คุยกับ "ศราวุธ เขยนอก" : ไทยลีกหลังโควิดในมุมมองเอเจนต์

วันเสาร์ที่ 18 กรกฎาคม 2563 คอลัมน์ ONE MAN SHOW โดย แมน โกสินทร์
2,490
ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
แม้ ไทยลีก ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนว่าจะเตะตามโปรแกรมเดิมคือจบเดือน พ.ค. หรือจะต้องจบภายในปีนี้ตามข้อเรียกร้องจากผู้ถือลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด แต่ยังมีอีกหลายเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันที่ต้องดำเนินการอีกมากมาย วันนี้ผมจะพาไปคุยกับ "พี่ตั้ม" ศราวุธ เขยนอก เอเจนต์ฟุตบอลชื่อดังว่าในฐานะคนดูแลนักเตะและต้องทำงานกับสโมสร ว่าเขามีมุมมองกับการแก้ปัญหาต่างๆ อย่างไรบ้าง ไปติดตามกัน

แมน : สวัสดีครับพี่ตั้ม ตอนนี้เปลี่ยนชื่อกลับมาเป็น ศราวุธ เขยนอก แล้วใช่มั้ยครับ (เปลี่ยนกลับจาก ธรากร เขยนอก)

ศราวุธ : ใช่ครับ สวัสดีครับแมน

แมน : พี่ตั้มในฐานะทำงานเป็นเอเจนต์นักบอลด้วย ตอนนี้ก็มีประเด็นปัญหาก่อนที่ไทยลีกจะกลับมาเตะกันยายนนี้หลายเรื่อง ปมหลักๆ ผมมองว่าน่าจะประมาณ 2-3 เรื่อง เรื่องแรกที่พี่ตั้มเกี่ยวข้องด้วยโดยตรงเลยก็คือเรื่องของการนำนักเตะต่างประเทศกลับมาเมืองไทย ตอนนี้เป็นยังไงบ้างครับ ความยากง่ายมันอยู่ที่ขั้นตอนไหนแล้วครับ หลังจากที่สมาคมฟุตบอลประสานกับกระทรวงต่างประเทศไปแล้ว

ศราวุธ : ตอนนี้ทางสมาคมประสานกับกระทรวงต่างประเทศไปแล้วนะครับ ทางกระทรวงต่างประเทศก็จะต้องขอเอกสารรับรองเรื่องของการตรวจ Fit For Flight ก็คือคุณร่างกายพร้อมที่จะบิน เอกสารการรับรองว่าไม่ติดเชื้อโควิดจากประเทศต้นทาง ก็คืออาจจะต้องไปตรวจที่โรงพยาบาลของประเทศนั้นๆ เพื่อให้ได้ใบรับรองมา อีกอย่างนึงที่สำคัญคือประกันสุขภาพของนักฟุตบอลที่จะเข้ามา นี่คือสิ่งที่ทางศบค.ต้องการเพิ่มเติมนะครับ

แมน : สรุปอีกครั้งก็คือ หนึ่งก่อนที่จะมีใบรับรองแพทย์ ก็จะต้องมีเที่ยวบินก่อน ต้องจองตั๋วเครื่องบินก่อน ซึ่งอันนี้มันก็ยากแล้วล่ะ โดยเฉพาะอย่างประเทศบราซิล

ศราวุธ : ใช่ครับ มันก็เป็นส่วนหนึ่ง เพราะมันไม่มีไฟลท์ตรงไงครับ คือหนึ่งมันจะต้องดูว่าไฟลท์สายการบินที่เขาเปิดมันต้องผ่านยุโรปหรือไม่ ตอนนี้น่านฟ้าของยุโรปเปิด แต่ว่าเปิดแค่บางสายการบิน ส่วนใหญ่ไฟลท์จากอเมริกาใต้จะมาพักที่ยูเออี, กาตาร์ ซึ่งจะต้องเช็กว่าทางสายการบินจากกาตาร์ จะเข้าไทยมีสายการบินไหนบ้าง อีกสายการบินที่จะไปแวะพักกันก็คือทางญี่ปุ่นหรือเกาหลีใต้ ซึ่งตอนนี้ ญี่ปุ่น ค่อนข้างที่จะยากแล้ว เพราะเขาไม่เปิดแล้ว ตอนนี้ที่เข้าง่ายๆ หน่อยก็คือเกาหลีใต้ ก็คือไปพักที่เกาหลีได้ สามารถทรานซิทได้ ตอนนี้สายการบินของเกาหลีโดยตรงเนี่ยค่อนข้างที่จะมาไทยง่าย

แมน : อันนี้ผมขอถามแบบไม่รู้เลยนะครับ เวลาเขาไปเปลี่ยนเครื่องหรือพักเครื่องที่ประเทศไหนก็ตาม เขาต้องมีการกักตัวในช่วงนั้นมั้ยครับ หรือไม่ได้ออกจากเกท ก็เลยไม่ต้องนับ 14 วันตรงนั้น

ศราวุธ : ใช่ครับ ก็คืออยู่ที่นั่นที่สนามบินเลยครับ ไม่ต้องกักตัว เพราะเขามีเอกสารจากต้นทางจากประเทศไทยแล้ว มี Fit For Flight แล้ว ดังนั้นก็คือเขาสามารถทรานซิทได้ เตรียมมาได้ แต่ปัญหาก็คืออย่างที่แมนบอกน่ะครับ มันไม่ใช่ทุกสายการบินที่มันจะลิงค์เวลากันได้ เพราะว่าสายการบินต้นทางจะต้องลิงค์กับสายการบินที่เรามาแวะพัก แล้วก็ค่อยเข้ามาที่ไทย อันนี้แหละครับปัญหาหลักๆ

แมน : ปัญหาที่พี่ตั้มบอกนี้ นอกจากบราซิลแล้ว ประเทศอื่นๆ ที่พี่ตั้มดูแลมีปัญหาแบบนี้บ้างมั้ยครับ

ศราวุธ : ก็จะมีทางโซนของทางอเมริกาเหนือ อย่างเช่น เอล ซัลวาดอร์ 

แมน : เนลสัน โบนีญ่า หรอครับ

ศราวุธ : แต่ตอนนี้เขาอยู่ยุโรป (สเปน) ก็คงจะมาง่าย แต่ว่ามันต้องเช็คเรื่องไฟลท์กันดีๆ ครับ แต่ว่าตอนนี้มันดีอยู่อย่างคือทางสมาคมเขาส่งเอกสารเหมือนเป็นหนังสืออินวิเตชั่นไปถึงตัวนักเตะแล้ว แล้วก็เอกสารที่สโมสรเตรียมให้กับพวกนักเตะ ตอนนี้อยู่ที่มือนักเตะแล้ว ที่จะยากก็คืออย่างที่บอกล่ะครับ ว่าตอนนี้สายการบินอะไรที่เปิดบ้าง

แมน : หนึ่งคือหาเที่ยวบิน พอหาได้ปั๊บก็เอาไปตรวจ Fit For Flight ขอใบรับรองแพทย์ พอขอมาได้ ซึ่งก็ต้องบอกว่าแต่ละประเทศ ความสะดวกในการไปตรวจตามสถานพยาบาลมันไม่เหมือนกัน เพราะบางประเทศ บุคลากรทางการแพทย์เขาใช้ไปในการรักษาหรือตรวจหาผู้ติดเชื้ออยู่ ไม่ใช่จะมาเน้นเรื่องการส่งผู้คนออกนอกประเทศอะไรแบบนั้น

ศราวุธ : ใช่ครับ ผมยกเคสตัวอย่างก็ได้ครับ อย่างนักเตะบางคนที่อยู่ในโซนยุโรป (เควิน ปาร์เชอแม็ง กองหน้าทีมชาติมาร์ตินิก )แต่ต้องมาที่ฝรั่งเศส ก็คือจะต้องขอสองขยักนะครับ ขยักแรกคือขอที่ประเทศมาร์ตินิก ก่อน จากนั้นก็ต้องเข้ามาขอที่ฝรั่งเศสอีกรอบนึง ซึ่งระยะเวลาในการขอเอกสารพวกนี้เนี่ย เราไม่สามารถไปกำหนดหรือคำนวนฟิกซ์เวลาได้เลยครับว่าจะต้องใช้เวลานานแค่ไหน

แมน : พี่ตั้มหมายถึง เควิน ปาร์เชอแม็ง ที่พี่ตั้มจะเอามาอยู่ อยุธยา ยูไนเต็ด แล้ว แต่ปัญหาคือเขาอยู่ มาร์ตินิก ซึ่งเป็นประเทศอาณานิคมของฝรั่งเศส มาร์ตินิกอนุญาตแล้วเขาก็ต้องไปขอที่ฝรั่งเศสอีกรอบนึง โหแบบนี้น่าจะยากมากเลยนะครับ ยังพอมีโอกาสอยู่มั้ยพี่

ศราวุธ : มันด้วยเงื่อนเวลาไงครับ เพราะตอนนี้มันเลยกลางเดือนก.ค. มาแล้ว อย่างสมมติว่าเขาขอ 14 วันจะออกหนังสืออนุญาตให้เดินทาง เราต้องเช็กแล้วครับว่าหลังจาก 14 วันนี้จะมีไฟลท์มาเมืองไทยมั้ย อย่างที่ผมบอกว่ามันอาจจะสองต่อ มันก็ต้องเช็คไฟลท์กันว่ามีเที่ยวบินวันนี้แล้วจะมาต่อทรานซิทวันนี้ อีกอย่างนึงโดน State Quarantine อีก 14 วันของไทยยังไงโดนแน่ๆ ซึ่งเขาคงไม่ได้ซ้อม ดังนั้นเท่ากับว่ากลางเดือน ส.ค. เนี่ย เอาเต็มที่เลยนะครับ ถ้านับวันนี้วันที่หนึ่งแล้วนับไปอีก 2 อาทิตย์แล้วกัน สิ้นเดือนเขาก็จะได้หนังสือรับรอง อนุญาตการเดินทางเข้าเมืองไทย เช็คไฟลท์กันอีก 3 วัน บินกันอีก 2 วัน มาถึงไทยโดนกักอีก 14 วัน ก็เป็นเดือนกว่าๆ แล้วครับ นี่ล่ะครับคือเงื่อนเวลาที่จะเร็วที่สุดแล้วครับ

แมน : ไม่ต้องพูดถึงการพรีซีซั่น เอาเป็นว่ามาถึงต้องพร้อมใช้เลย และบางคนอาจจะกลับมาหลัง 12 ก.ย. ด้วยซ้ำ

ศราวุธ : ใช่ครับ คงต้องใช้คำว่าบางคนคงไม่ทัน เพราะแต่ละประเทศเงื่อนไขความยากง่ายไม่เท่ากันครับ

แมน : แล้วอีกขยักนึงครับพี่ ก็คือเรื่องการทำประกันสุขภาพ อย่างบ้านเราหลายๆ ที่ก็จะให้รอดูระยะเวลาการฟักตัวของเชื้อด้วย อาจจะ 14 วัน อาจจะ 1 เดือน อย่างผมเองทำประกันสุขภาพโควิด กว่าจะได้ใบกรมธรรม์นี่ต้องรอหลังจากนั้นประมาณเดือนกว่าๆ เลยนะครับ

ศราวุธ : แน่นอนครับ ก็คือด้วยตัวนักฟุตบอลไม่ได้อยู่ในไทย การที่จะทำเอกสารประกันสุขภาพก็ต้องทำที่ประเทศตัวเขาเอง ซึ่งเราไม่สามารถทราบได้เลยว่าเขาคิดคอสต์เท่าไร อะไรเท่าไหร่ เพราะว่าในวงเงิน 100,000 US มันก็จะประมาณ 3-4 ล้านบาท ซึ่งบริษัทในไทยมันก็มีบ้างแต่มันก็จะต้องเป็นคนที่อยู่ในประเทศไทยครับถึงจะทำได้ หรือคุณอาจจะส่งเอกสาร Fit For Flight พวกการตรวจรับรองว่าไม่ติดเชื้อมาให้บริษัทประกันที่ประเทศไทยมาพิจารณาว่าจะรับเคสนี้มั้ย ซึ่งเราก็ไม่ทราบว่าบริษัทประกันในไทยจะรับหรือไม่ อันนี้ก็อาจจะเป็นปัญหาอีกขยักนิดๆ 

แมน : อย่างนักบอลที่พี่ดูแล ทราบล่วงหน้าก่อนมั้ยครับว่าต้องมีทำประกันสุขภาพด้วย แล้วได้ทำไว้ล่วงหน้าแล้วหรือไม่อย่างไรครับ

ศราวุธ : ก็อย่างที่บอกล่ะครับ ว่าพอทางศบค.กำหนดมาที่ทางสมาคมแล้ว ทางเราก็ต้องเตรียมหาบริษัทประกันส่งไปให้นักบอลแล้วครับ และหรือนักฟุตบอลก็จะต้องหาประกันในประเทศตัวเองเพื่อทำแล้วส่งกลับมามาให้ทางประเทศไทย ทางสโมสรก็จะแนบเอกสารประกันนี้ไปในคำขอให้เข้าประเทศถึงกระทรวงต่างประเทศครับ

แมน : คือต้องบอกว่าทีมไหนที่นักเตะอยู่ในประเทศไม่ได้เดินทางออกไปนอกประเทศนี่ถือว่าโชคดีมากๆ นะครับ ทีมไหนที่นักเตะออกไปมีแนวโน้มสูงมากว่าช่วงแรกๆ ที่กลับมาเตะอาจจะไม่ได้ใช้งาน หรืออาจจะไม่ได้ใช้งานยาวๆ เลยก็ได้

ศราวุธ : ใช่เลยครับ ทีมไหนที่นักเตะไม่ได้ออกไปถือว่าโชคดีมากครับ

แมน : ทีนี้มาประเด็นล่าสุด ที่ว่าทางสมาคมเหมือนจะเริ่มเบาๆ ลง ประนีประนอมกับทางทรูวิชั่นส์ ที่อาจจะเลื่อนแข่งให้จบภายในปีนี้ ภายในเดือนธันวาคม มันจะมีผลกับสัญญาของนักเตะมั้ยครับ โดยเฉพาะที่กำลังจะย้ายมาใหม่มั้ยครับ 

ศราวุธ : มันก็จะเป็นสัญญาระยะสั้น ซึ่งมันก็จะเป็นสองส่วนครับ คนที่มีสัญญาอยู่แล้วในเลกแรก เขาก็จะขยายสัญญาไปถึงเดือนธ.ค. อันนี้ได้ แต่คนที่จะมาใหม่เขาจะต้องยอมรับว่าขอเซ็นระยะสั้นนะครับเช่น 6 เดือน อะไรแบบนี้ครับ

แมน : แล้วมันจะมีผลกระทบกับอาชีพพี่โดยตรงเลยมั้ยครับ คือถ้าเลื่อนมาจบ ธ.ค. นั่นแสดงว่าตลาดซื้อขายนักเตะรอบสองในเดือนม.ค. ก็จะไม่มีแล้ว

ศราวุธ : กระทบแน่นอนครับ เพราะว่าอย่างที่บอก พอระยะสั้นเนี่ย เวลาเราดูแลนักเตะในระยะสั้นเนี่ยมันก็จะอีกแบบนึง ผลประโยชน์ที่เราจะเซ็นกับเขาไว้ บางคนเขาก็คิดว่าโอ้มันระยะสั้นแบบนี้รอเลกใหม่ไปเลยดีกว่า มันก็มีส่วนเลยครับ เหมือนอย่างช่วงโควิดที่โดนมา นักฟุตบอลบางคนก็ยอมลดเงินเดือน ลดเปอร์เซ็นต์ในการรับเงินเดือนลงมาเพราะโควิด

แมน : ถ้าไทยลีกเตะเร็วขึ้น ไม่เตะ 12 ก.ย. แต่เลื่อนมาเร็วขึ้น พี่ตั้มคิดว่าดีหรือไม่ดีอย่างไร ในฐานะคนดูแลนักเตะ, มุมของนักเตะ และมุมของสโมสรด้วย

ศราวุธ : อันแรกเลยดูที่มุมของสโมสรก่อนนะครับ ว่าหนึ่งการเตรียมพร้อมที่จะเตะเร็วขึ้นเนี่ย ด้วยการที่ ศบค. กำหนดเงื่อนไขในการที่คุณจะเตะโดยที่ไม่มีผู้ชม บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับทางกีฬาเตรียมพร้อมตรงนี้กันมากน้อยขนาดไหน โอเคไทยลีกผมคิดว่าเรื่องเตรียมพร้อมไม่น่าจะมีปัญหาอะไร T2ผมคิดว่าก็ยังอยู่ในระบบการจัดการที่ดี แต่ในส่วนของ T3 อันนี้จะมีปัญหาแน่ๆ ครับเพราะว่ามันจะมีเรื่องของการตรวจโรค อันนี้ยังไม่ได้คอนเฟิร์มนะครับที่ว่าคุณจะต้องตรวจโรคทุก 3 วันก่อนเตะมั้ย อันนี้เป็นประเด็นนึงที่จะต้องคุยกันด้วย สองคือค่าใช้จ่ายในการตรวจโรคทางสโมสรต้องเป็นคนรับผิดชอบหรือสมาคมเป็นผู้ออกให้ ซึ่งเราก็ทราบกันตามข่าวว่าแล็บของเบียร์ช้างเขาก็จะมาให้การสนับสนุน แต่ถ้าจะต้องตรวจก่อนการแข่งขันกันทุกแมตช์ ทีมทุกทีมจะต้องเดินทางมาตรวจที่แล็บที่กรุงเทพฯ 

แมน : อุ่ย จะไหวกันยังไงล่ะครับ

ศราวุธ : ถูกมั้ยล่ะครับ ค่าใช้จ่ายในการเดินทางอีก  แล้วถ้าเขาเตะอย่างวันเสาร์-พุธ-เสาร์-พุธ การเดินทางยังไง การตรวจยังไงล่ะครับ 

แมน : ถ้าต้องมาเตะกรุงเทพฯก็ยังโอเค แต่ถ้าต้องมาเตะกรุงเทพฯเสร็จแล้วบินไปเชียงราย แล้วไปบุรีรัมย์ แบบนี้โอ้โห มันจะเป็นอุปสรรคทั้งเรื่องค่าใช้จ่าย, การเดินทาง และความเหนื่อยล้าอะไรต่างๆ มันก็ยากนะครับที่จะต้องเดินทางกันแบบนั้น แล้วตอนนี้ยังไม่ทราบด้วยว่าพวกทีมงานฝ่ายจัดการแข่งขัน, ทีมงานถ่ายทอดสด, ช่างภาพ, ผู้สื่อข่าว ถ้าต้องมีการตรวจโรคทุกนัดใครจะเป็นคนดูแลค่าใช้จ่ายตรงนี้ด้วย 

ศราวุธ : ใช่ครับ

แมน : อีกเรื่องนึงที่น่าสนใจ การที่ไทยลีกจะเตะเร็วเตะช้า มันจะมีผลต่อนักเตะที่ยังไม่มีสโมสรสังกัดในปัจจุบัน ตอนนี้หลายๆ คนกำลังหาทีมอยู่ ถ้าไทยลีกเตะเร็วขึ้น นักเตะพวกนี้มีสิทธิ์จะตกงานสูงเลยนะครับ

ศราวุธ : อย่างนักเตะที่ดูแลอยู่ก็จะมีหลายระดับนะครับ อย่างน้องๆ ที่เล่นอยู่ในระดับ T3-T4 แล้วตอนนี้รวมมาเป็น T3 เนี่ย ทีมของเขาก็ยังไม่มั่นใจว่าจะส่งทีมแข่งหรือไม่ ใน T3 อาจจะมีบางทีมที่สมัครใจร่วมแข่งขันก็มี บางทีมที่อาจจะไม่สมัครใจร่วมแข่งขันก็มี เพราะฉะนั้นน้องๆ ที่อยู่ในทีมเหล่านี้เนี่ยถ้าเขาจะขึ้นมาถูกคัดเลือกของ T2 ซึ่งบางทีมเขาก็ลดขนาดเรื่องฐานเงินเดือน อาจจะส่งรายชื่อไม่ถึง 30 คน ดังนั้นก็ต้องมาเบียดแย่งกันในแต่ละตำแหน่ง ในแต่ละฐานเงินเดือน ในแต่ละฐานความสามารถกันอีก 

แมน : แล้วถ้าอย่างนักเตะที่กำลังจะเข้ามา บางประเทศง่ายกว่า ทำให้แต่ละทีมจะไปมองผู้เล่นพวกนี้มั้ย อย่างเช่นออสเตรเลีย เห็นว่านักเตะมาไทยง่ายกว่า ต่อไปจะไปมองพวกจากออสเตรเลีย หรือ เกาหลีใต้ แทนมั้ยครับ สำหรับการใช้งานในปีนี้

ศราวุธ : ใช่ครับ มันก็จะมีเหมือนประเทศที่เป็น Bubble Tourism กัน นักฟุตบอลที่อยู่ในญี่ปุ่นกับเกาหลี เรื่องการเดินทางมันง่าย เขาอยู่ในประเทศที่สามารถออกวีซ่าได้ง่ายกว่าในยุโรปหรือในบราซิลแท้ๆ อันนี้มันก็ต้องมาดูกันว่านักเตะพวกนี้พร้อมที่จะมาเล่นในไทยมั้ย อย่างในเวียดนามมีมั้ย ที่เราเป็น Bubble Tourism กัน

แมน : อย่าง ฟิลิปปินส์ ก็น่าจะง่ายมั้ยครับ เห็น Justine Bass ก็กำลังจะมาเปิดตัวกับราชบุรีแล้ว จริงๆ แล้วสถานการณ์การติดเชื้อที่ ฟิลิปปินส์ เขาก็หนักอยู่นะ

ศราวุธ : ก็หนักครับ อย่าง อินโดนีเซีย, สิงคโปร์ ก็จะใช้เอกสารคล้ายๆ กันนะครับ แต่ว่าในการอนุมัติให้เข้าออกเนี่ย อันไหนมันง่ายกว่ากันและรวดเร็วมากกว่ากัน อันนี้มันต้องอินไซด์เลยครับว่า โอเคถ้าผมออกหนังสือภายในวันที่ 15 แล้วคุณตอบรับกลับมาได้เร็วขนาดไหน ไฟลท์คุณบินง่ายนี่ครับเพราะบินตรงเข้ามาไทยทีเดียวมันก็จะเร็วกว่า

แมน : ตอนนี้เซเรส เนกรอส ทีมของฟิลิปปินส์ เตรียมประกาศล้มละลาย ถ้าเป็นแบบนั้นมีแนวโน้มที่นักเตะของเขาก็ต้องมาแถวนี้แหละ อินโดนีเซีย, มาเลเซีย ไทย

ศราวุธ : ใช่ครับ เพราะตอนนี้ ญี่ปุ่น,เกาหลี, จีน ตลาดปิดหมดแล้ว ไปไหนไม่ได้แล้วครับ 3 ลีกใหญ่ ก็ต้องหันมามองที่ไทยแล้วครับ เพราะพวกลูกครึ่งฟิลิปปินส์ ก็มีศักยภาพเหมือนระดับนักเตะเอเชียครับ

แมน : คำถามท้ายๆ แล้วนะครับ ผมเห็นเดี๋ยวนี้หลายๆ คนมีความสนใจอยากทำอาชีพเอเจนต์กันเยอะ มีหน้าใหม่ๆ เข้ามาทำงานตรงนี้กันเยอะ พี่ตั้มเองเป็นเอเจนต์มาก็หลายปีแล้ว คิดว่าอาชีพนี้เป็นอาชีพที่น่าสนใจมั้ย แล้วคนที่จะเข้าไปทำต้องเรียนรู้ศึกษาอะไรบ้าง ต้องรับผิดชอบอะไรบ้าง ลองบอกคร่าวๆ ก็ได้ครับ

ศราวุธ : อันแรกเลยนะครับ เราต้องชอบฟุตบอลก่อน ดูฟุตบอลแล้วถ้าเราชอบ คุณรู้เรื่องฟุตบอลมากน้อยขนาดไหน ชอบทั้งฟุตบอลไทยฟุตบอลต่างประเทศ สองคือความรู้เรื่องข้อกฎหมายสัญญาของนักฟุตบอล ทั้งเงื่อนไขของฟีฟ่า และเงื่อนไขของสัญญาภายในประเทศ ต้องมีความรู้เรื่องนี้บ้าง ซึ่งปกติส่วนใหญ่ก็จะใช้ฝ่ายกฎหมาย น้องๆ เขาอาจจะไปใช้ฝ่ายกฎหมายช่วงร่างสัญญาที่เกี่ยวกับข้อกฎหมาย แต่อีกเรื่องนึงที่สำคัญ คือคุณต้องชอบต้องเอาใจใส่ในการดูแลคนๆ นึง เป็นที่ปรึกษา วางแพลนว่าคุณเล่นฟุตบอลแล้วคุณจะต้องทำอะไรต่อ สามารถที่จะตอบคำถามได้ในหลายมุมมอง ปัญหาส่วนตัวเขาก็มีปัญหาครอบครัวเขาก็มี เพราะฉะนั้นคือเหมือนเราเป็นที่ปรึกษาเลยครับ ว่าเราจะวางแผนเรื่องในสนามยังไง นอกสนามยังไง เรื่องอนาคต เรื่องการเรียน เพราะเด็กๆ บางคนยังอยู่ในวัยเรียน เรียนไปด้วยเล่นฟุตบอลไปด้วย เราต้องเป็นที่ปรึกษาในหลายๆ ด้านให้เขาเลยครับ ทุกเรื่อง ปรึกษากันแม้กระทั่งปัญหาที่ว่า พี่ผมทะเลาะกับแฟนต้องทำยังไง อันนี้ก็มีครับ เราก็ต้องตอบคำถามเหล่านี้ได้

แมน : บางคนอาจจะมีปัญหาเรื่องการวางเป้าหมายของตัวเอง เอเจนต์ก็สำคัญนะครับ ผมเห็นบางคนพาน้องนักบอลไปเข้าวัดเลย เพื่อไปฝึกจิตใจ

ศราวุธ : ใช่ครับ หลายๆ แบบเลยครับ เราต้องเป็นคู่คิดเขาด้วย เรียกว่าเป็นคู่คิดที่ปรึกษาในการวางแผนให้เขาในอนาคต

แมน : การเป็นเอเจนต์อาจจะไม่ยาก แต่การเป็นเอเจนต์ที่ดีเนี่ยแหละ ที่อยากให้เป็นกันเยอะๆ ถูกมั้ยพี่ เพราะตอนนี้มีเอเจนต์เพิ่มขึ้นมา แล้วบางคนก็อาจจะไปทำให้สโมสรหรือนักเตะเกิดความไม่ไว้วางใจขึ้นมาเยอะแยะเลย

ศราวุธ : ใช่ครับ เพราะระหว่างนักเตะและสโมสร มันก็ต้องมีคนกลางที่คอยประสานงาน คอยติดตามทั้งเรื่องในและนอกสนามของนักฟุตบอล ติดตามว่าเขาเป็นยังไง จะมีผลกระทบกับสโมสรมั้ย ไม่ให้สโมสรจ่ายเงินมาแล้วไม่คุ้มค่ากับการได้นักฟุตบอลมาคนนึง

แมน : มันก็ต้องให้วิน-วินกันทุกฝ่ายนะครับ วันนี้ขอบคุณมากๆ นะครับพี่ตั้ม ไว้อัพเดทกันอีกเรื่อยๆ นะครับพี่

ศราวุธ : ยินดีเลยครับ ขอบคุณมากครับแมน


ถ้าชอบก็กดไลค์ ถ้าใช่ก็กดแชร์กันด้วยนะครับ (แมน โกสินทร์)

ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ระดับ : {{val.member.level}}
{{val.member.post|number}}
ระดับ : {{v.member.level}}
{{v.member.post|number}}
ระดับ :
ดูความเห็นย่อย ({{val.reply}})

ข่าวใหม่วันนี้

ดูทั้งหมด