:::     :::

Guard of honour จำเป็นแค่ไหนในโลกลูกหนัง?

วันอังคารที่ 21 กรกฎาคม 2563 คอลัมน์ ศาสดา On The Ball โดย ศาสดาลูกหนัง
984
ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
Guard of honour ในโลกลูกหนังนั้น มีขึ้นเพื่อเป็นการแสดงน้ำใจนักกีฬา หรือเป็นการแสดงความยอมรับนับถือ ให้เกียรติกับผู้ชนะ โดยเฉพาะสำหรับการแข่งขันฟุตบอลลีก


นับตั้งแต่ที่มีธรรมเนียมปฏิบัติเรื่องการตั้งแถวเกียรติยศ หรือ Guard of honour เป็นต้นมา มักจะมีคำถามจากแฟนบอลบางกลุ่มถึงความจำเป็นในเรื่องนี้อยู่เสมอๆ โดยเฉพาะตั้งแต่โลกโซเชี่ยลถูกย่อให้แคบลงแบบในทุกวันนี้


คำถามสุดฮิตที่ว่าก็คือ


Guard of honour จำเป็นจริงหรือ? 

__________________________________


ก่อนจะไปถึงตรงนั้น ขอย้อนไปทำความเข้าใจถึงคำคำนี้กันก่อนนะครับ


Guard of honour จริงๆ แล้วแปลได้ตรงตัวเลยก็คือ "กองเกียรติยศ" ซึ่งเราจะเห็นเวลาที่ผู้นำประเทศไปเยือนตามต่างถิ่น ทางเจ้าภาพก็จะนำเหล่าทหารมาตั้งกองเกียรติยศต้อนรับเพื่อแสดงความเคารพ นอกจากนี้เรายังเห็นได้อีกบ่อยๆ ตามงานราชพิธีต่างๆ อาทิ พิธีอำลาราชการทหารระดับสูง เป็นต้น


แต่ Guard of honour ในโลกลูกหนังนั้น มีขึ้นเพื่อเป็นการแสดงน้ำใจนักกีฬา หรือเป็นการแสดงความยอมรับนับถือ ให้เกียรติกับผู้ชนะ โดยเฉพาะสำหรับการแข่งขันฟุตบอลลีก ที่ทีมใดทีมหนึ่งสามารถคว้าแชมป์ได้ตั้งแต่ฤดูกาลยังไม่จบ


ทว่า ก็มีในบางโอกาส ที่เราจะเห็นผู้ชนะเป็นฝ่ายตั้งแถวเกียรติยศนี้ให้กับผู้แพ้ได้เหมือนกัน เอาใกล้ๆ ก็คือเกมรอบชิงชนะเลิศ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ปีล่าสุด ที่ลิเวอร์พูลตั้งแถวเกียรติยศปรบมือให้ สเปอร์ส ตอนเดินขึ้นไปรับเหรียญเงิน ก็ไม่ผิดอะไร นัยว่าคือการให้เกียรติแด่คู่แข่งซึ่งต่อสู้กันมาอย่างสมศักดิ์ศรีตลอด 90 นาที 


ทีนี้ Guard of honour บนเกมฟุตบอลเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อไหร่? ไม่ได้มีหลักฐานไหนระบุชัดเจน แต่สำหรับวงการฟุตบอลอังกฤษนั้น สกาย สปอร์ตส รายงานว่ามันเกิดขึ้นครั้งแรกในปี 1955 โดยทีมที่ริเริ่มเรื่องนี้ก็คือ แมนเชสเตอร์ ยู​ไนเต็ด ของ เซอร์ แมตต์ บัสบี้


เกมดังกล่าว เกิดขึ้นในนัดสุดท้ายของฤดูกาล 1954-55 ซึ่งเชลซีสามารถการันตีการเป็นแชมป์ลีกได้ก่อนจบฤดูกาล และเกมนั้นพวกเขาเดินทางไปเยือน โอลด์ แทร็ฟฟอร์ด ซึ่งกัปตันทีมของเชลซีอย่าง รอย เบนท์ลี่ย์ เล่าว่า 


"ยูไนเต็ดได้เตรียมการและทำให้เรารู้สึกเป็นเกียรติอย่างมาก ราวกับการปูพรมแดงปรบมือต้อนรับเราลงสนามในเกมนั้น คนต้นคิดเรื่องนี้คือเซอร์ แมตต์ ซึ่งเขาทำให้เราประทับใจมากเลยทีเดียว" 


ครั้งนั้น นอกจากจะถูกบันทึกว่าเป็นครั้งแรกที่มีการตั้ง Guard of honour ให้กับคู่แข่งในลีกอังกฤษแล้ว ยังถือเป็นแชมป์ลีกครั้งแรกของเชลซีอีกด้วย




วัฒนธรรม Guard of honour ก็ได้มีการสานต่อหลังจากนั้นอีก 17 ปีต่อมา ในเกมที่ ลีดส์ ยูไนเต็ด พบกับ อาร์เซน่อล ตอนปี 1972 เนื่องจากลีดส์ต้องการยกย่องไอ้ปืนใหญ่ โทษฐานที่เป็นดับเบิ้ล แชมป์ ในปีดังกล่าว


2 ปีต่อมา กลายเป็นลีดส์เองบ้าง ที่ได้รับ Guard of honour จากควีนส์ปาร์ค หลังจากการันตีการเป็นแชมป์ลีกก่อนจบฤดูกาล


ปี 1979 ถึงคราวของลิเวอร์พูลที่ได้รับเกียรตินี้เช่นกัน เนื่องจากเป็นแชมป์ลีกได้ถึง 3 จาก 4 ฤดูกาล โดย ลีดส์ ยูไนเต็ด เป็นฝ่ายตั้ง Guard of honour ให้อย่างสมเกียรติในสนามเอลแลนด์ โร้ด


ถัดมาในปี 1991 แมนเชสเตอร์ ยู​ไนเต็ด ของ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน​ วันที่ยังไม่ติดยศท่านเซอร์ ก็ได้สั่งให้ลูกทีมตั้งแถว Guard of honour ให้แก่อาร์เซน่อล หลังจากแต้มของไอ้ปืนใหญ่นำขาด คว้าแชมป์ลีกได้สำเร็จไปแล้ว ซึ่งเกมนั้น อลัน สมิธ ทำแฮตทริคฉลองแชมป์ใส่ปีศาจแดงได้อีกด้วย


จากนั้นในปี 2003 เอฟเวอร์ตันตั้งแถว Guard of honour ให้แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด หลังกลับมาทวงบัลลังก์แชมป์คืนจากอาร์เซน่อลได้


ปี 2005 ทีมของเฟอร์กี้ตั้งแถวให้เชลซี หลังจากมูรินโญ่พาทีมคว้าแชมป์ลีกได้เป็นสมัยแรกในรอบ 50 ปี


ก่อนที่อีก 2 ปีต่อมา จะเป็นเชลซีที่ตั้งแถว Guard of honour คืนแก่ปีศาจแดงบ้าง แต่เกมในวันนั้น ไม่รู้ว่าเฟอร์กี้จงใจกวนประสาทมูรินโญ่รึเปล่า เพราะเขาเล่นส่งนักเตะสำรองที่ชื่อชั้นอย่าง ตง ฟาง โจว, คีแรน ลี, คริส อีเกิ้ลส์ พวกนี้ลงสนาม ท่ามกลางการยืนปรบมือจากสตาร์เชลซีอย่าง จอห์น เทอร์รี่, แฟรงค์ แลมพาร์ด จนสื่อในยุคนั้นก็แอบตั้งคำถามถึงเรื่องการให้เกียรติคู่แข่งของเฟอร์กี้อยู่เหมือนกัน


หลังจากเริ่มมี Guard of honour ถี่ยิบในช่วงหลังปี 2000 เรื่อยมา ปรากฏว่าในปี 2011, 2013, 2015, 2016, 2017, 2018 เรื่อยมาจนปีล่าสุด เรื่องการตั้งแถวเกียรติยศนี้จึงกลายมาเป็นวัฒนธรรมในฟุตบอลลีกอังกฤษไปโดยอัตโนมัติทันที​



และ Guard of honour นี้ ก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องมีให้แค่ทีมแชมป์เท่านั้น แต่ยังสามารถทำให้กับบุคคลสำคัญในวงการฟุตบอลได้ด้วยเช่นกัน อาทิ วันอำลาของ เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน, อาร์แซน เวนเกอร์, เจมี่ คาราเกอร์ หรือกระทั่ง สตีเว่น เจอร์ราร์ด ก็เคยได้รับเกียรตินี้มาแล้ว

__________________________________


คำถามเรื่อง Guard of honour ถูกตั้งขึ้นว่าจำเป็นหรือไม่จำเป็น ก็ตั้งแต่วันที่ แบร์นาร์โด้ ซิลวา จงใจเมินเฉยปรบมือให้เกียรติลิเวอร์พูล ในวันที่หงส์แดงการันตีการคว้าแชมป์แล้วนั่นแหล่ะครับ


ฝั่งที่มองในมุมของแบร์นาร์โด้ ยืนยันแนวคิดที่ว่า มันไม่ได้มีกฏตายตัวที่ระบุไว้ว่า "คุณจะต้องตั้งแถวเกียรติยศและยืนปรบมือให้เกียรติกับทีมแชมป์" ทุกอย่างมันขึ้นอยู่กับความสมัครใจ ดังนั้นหากทีมใดหรือนักเตะคนใดคนหนึ่งไม่เต็มใจที่จะทำ นอกจากไม่มีบทลงโทษอะไรแล้ว ก็ไม่เห็นจะเป็นเรื่องผิดบาปอะไรเลยด้วยซ้ำ


แต่ในอีกฝั่งหนึ่งก็มองว่า นี่มันคือเรื่ิองของน้ำใจนักกีฬา มันเป็นคำสั้นๆ ที่บ่งบอกถึงการให้เกียรติคู่ต่อสู้ ให้เกียรติเพื่อนร่วมอาชีพ ได้เหมือนกัน


พูดง่ายๆ มันก็เหมือนการเตะบอลทิ้ง เวลามีนักเตะเจ็บนั่นแหล่ะครับ คุณจะเล่นต่อก็ได้ ไม่ผิดกฏกติกา ตราบใดที่ผู้ตัดสินไม่เป่าให้หยุดเล่น แต่เอาเข้าจริงๆ เรื่องแบบนี้มันอยู่ในหัวใจของคนเป็นนักกีฬาที่ดี มากกว่าต้องมาบัญญัติกฏเพิ่มขึ้นอีกข้อ


เรื่อง Guard of honour ก็เหมือนกัน

คุณไม่จำเป็นต้องทำก็ได้ หากไม่เต็มใจ มันไม่ผิดเพราะไม่ได้มีกฏบังคับ


แต่ถามว่ามันควรมีวัฒนธรรมนี้ต่อมั้ยในโลกฟุตบอล มุมมองของผมก็ยังมองว่า "ควร" 


เพราะในปัจจุบัน ธุรกิจและชัยชนะในเกมฟุตบอล กำลังกลายเป็นเรื่องที่สำคัญมากที่สุด จนคนดูกีฬาหรือกระทั่งนักกีฬาเอง เริ่ม "หลงลืม" จุดกำเนิดของมันไปเรื่อยๆ 


นั่นก็คือ "น้ำใจนักกีฬา" และ "การให้เกียรติซึ่งกันและกัน" 


Guard of honour คือการนำ 2 สิ่งข้างต้นบรรจุรวมลงไปในวัฒนธรรมนี้ครับ หากเมื่อไหร่ก็ตามคุณไม่ให้เกียรติคนอื่นในวันที่คุณแพ้ 


คุณก็จะไม่ได้รับสิ่งนั้นเช่นกันในวันที่คุณชนะ



ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ระดับ : {{val.member.level}}
{{val.member.post|number}}
ระดับ : {{v.member.level}}
{{v.member.post|number}}
ระดับ :
ดูความเห็นย่อย ({{val.reply}})

ข่าวใหม่วันนี้

ดูทั้งหมด