:::     :::

Tactical Analysis : "แมนยูร่างสาม" วิเคราะห์ build-up playของMan United

วันพฤหัสบดีที่ 10 กันยายน 2563 คอลัมน์ #BELIEVE โดย ศาลาผี
10,975
ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
นี่ไม่ใช่บทความการ์ตูนที่จะเขียนถึงฟรีซเซอร์ร่างสามแต่อย่างใด แต่มันคือบทวิเคราะห์ "วิธีการตั้งเกม" ของแมนยูไนเต็ดแบบเห็นภาพเข้าใจง่ายว่า เราใช้วิธีขึ้นเกมกันยังไง อ่านแล้วคุณจะเข้าใจทีมและเห็นภาพได้ง่ายขึ้น

โอเล่ กุนนาร์ โซลชานั้นเป็นผู้จัดการทีมที่เซ็ตระบบการเล่นให้แมนยูไนเต็ดเอาไว้หลายสูตร อย่างเช่นตอนที่เจอกับทีมอย่างเชลซี ลิเวอร์พูล หรือแมนซิตี้ โซลชานั้นใช้ระบบ"หลังสาม" ในการต่อกรกับทีมระดับสูงเหล่านี้ ส่วนในช่วงRestartที่กลับมาเตะกันอีกครั้งจะเห็นว่า เราแทบไม่พบสูตรหลังสามเลย และเขาใช้ 4-2-3-1 เป็นแผนหลักของทีม ดังนั้นเราจะมาดูกันว่าในภาคของการขึ้นเกม(build-up)ยุคโซลชานั้น แมนยูใช้วิธีการอย่างไรในการเล่น และรวมถึงจุดอ่อนในทีมที่เรายังจำเป็นต้องพัฒนาเพิ่มเติมอยู่

1.ตำแหน่งการเล่น(Formation)

ดังที่กล่าวไปแล้วว่า 4-2-3-1 ถูกใช้มายาวๆตั้งแต่ในช่วงรีสตาร์ทเป็นหลักแทบทุกเกมส่วนใหญ่ จะมีเกมที่เล่นหลังสามตอนเจอเชลซีในถ้วยเอฟเอคัพรอบรองชนะเลิศเกมนั้น  และด้วยการกลับมาอยู่ในทีมอีกครั้งเมื่อหายจากอาการบาดเจ็บของ ปอล ป็อกบา แมนยูไนเต็ดจึงมีมิดฟิลด์ระดับเวิร์ลด์คลาสถึงสองตัวเล่นอยู่บริเวณกลางสนาม

แม้จะไม่ได้มีแค่สูตรการเล่นเดียว แต่โซลชาก็มี "11ตัวหลัก" แล้วเรียบร้อยในช่วงซีซั่นที่ผ่านมา ตัวจริงของโอเล่ก็จะลงตามตำแหน่งดังนี้อย่างที่เรารู้ๆกันอยู่ เป็นฟูลทีมที่สุดเท่าที่เรามีในปีที่ผ่านมา

อันนี้ก็เชื่อว่าหลายๆคนคงจะทราบ แต่หากว่าใครที่ติดตามและนั่งดูการเล่นของทีมเราโดยตลอดนั้น ผมตั้งข้อสังเกตเพิ่มให้ดูวิธีการยืนของเราว่า มันพอจะเห็น "ไลน์ระนาบการยืน" ที่เป็นไลน์แกนหลักของทีมอยู่สองแถวใหญ่ๆ

-ไลน์แถวหลัง คือ ระนาบหลังที่เป็นการยืนในแนวเดียวกันของ แบ็คกับกลางต่ำ โดยแบ็คสองคนที่เล่นในลักษณะของวิงแบ็ค ชอว์ กับ บิสซาก้าจะยืนสูงขึ้นมากว่า Center-back สองคน จะขึ้นมาอยู่ในระนาบเดียวกันกับ Matic และในบางครั้งก็อาจจะมี Pogba ที่ถอยลงมาในบริเวณนี้ด้วยยามที่เล่นเกมรับ แม้ป็อกบาอาจจะไม่ได้เป็นตัวไล่บอล แต่เขาก็จะลงมาcoverพื้นที่ตรงนั้นให้อยู่เรื่อยๆ

ระนาบนี้ผมวงเอาไว้ให้ดูด้วยกรอบสีแดงที่ว่า คือไลน์เซ็ตของ กลางตัวต่ำ + วิงแบ็คสองคน ยืนขึงเส้นนี้อยู่หน้าCB

-ไลน์แถวหน้า ก็คือเซ็ตที่เป็นแนวระนาบของ Forward ยืนกับ มิดฟิลด์ที่ขึ้นมาทำเกมรุก ที่ยืนในพื้นที่ใกล้เคียงและบีบระยะห่างให้ใกล้กันเพื่อเล่นบอลสั้น กลุ่มพวกนี้ก็ ตัวรุกสามคนด้านหลังหน้าเป้า นั่นก็คือ แรชฟอร์ด บรูโน่ กรีนวู้ด โดยที่ไลน์พวกนี้จะถูกเพิ่มเติมด้วยป็อกบาอีกเช่นกันที่เวลาบุก ก็จะขึ้นไปอยู่ข้างเคียงกับบรูโน่เลยโดยตรง และบางครั้งอย่างที่เห็นกัน แม้แต่มาติชเองก็สามารถเติมดันขึ้นไปบีบพื้นที่สูงด้วยอีกตัว

ระนาบที่ยืนแนวนี้ด้วยกันในโซนข้างหน้า วงเอาไว้ให้ดูในกรอบสีเหลือง5คนนั้น ตามรูป

จุดนี้จะทำให้เห็นก่อนว่า "วิธีการยืน" ตามปกติที่เราเห็นแมนยูเล่นกันทุกนัด ส่วนใหญ่ก็จะวางตัวในลักษณะนี้ให้เห็น หากพูดถึงเฉพาะแกนหลักๆในบริเวณตรงกลางสนาม ที่มีปริมาณการเล่นและส่วนร่วมกับเกมค่อนข้างเยอะมาก

จุดที่ทำงานหนักจริงๆก็คือมิดฟิลด์สองคนที่เป็นแอเรียที่ไลน์แนวหน้า กับไลน์แนวหลังมันซ้อนกันอยู่ ต้องทำหน้าที่ทั้งสองด้าน

ทางด้านของหน้าเป้า และ CB สองตัว ถือว่าเป็นสองส่วนที่อยู่ใน พื้นที่สุดท้าย ในหน้าที่ตัวเองทั้งคู่ มีหน้าที่เป็นตัวตัดสินเด็ดขาดของplayนั้นๆ เช่น กองหน้า มีหน้าที่เป็นตัวยิงจบและตัดสินว่า เกมบุกรอบนั้นเราจะยิงได้หรือไม่ได้ / กองหลังเองก็เป็นคนเก็บงานสุดท้ายเช่นกันว่า เราจะสามารถป้องกันการบุกครั้งนี้ของคู่ต่อสู้ได้สำเร็จหรือเปล่า

ดังนั้นนักเตะในชุดนี้จึงใช้ลงเล่นเป็นหลักมาเรื่อยๆ นับตั้งแต่รีสตาร์ท โดยทีมเราจะมีทั้งป็อกบาที่ยืนต่ำลงมาหน่อยและสามารถลำเลียงบอลขึ้นหน้าจากแนวลึกได้ เรามีบรูโน่ที่เล่นในฐานะเพลย์เมคเกอร์เบอร์10 ซึ่งตอนนี้ป็อกบาไม่จำเป็นจะต้องแบกการเปิดเกมรุก หรือสร้างโอกาสการเข้าทำในพื้นที่สุดท้ายเอาไว้เพียงคนเดียวอีกต่อไป

หากคู่ต่อสู้พยายามที่จะประกบติดแบบ man-mark กับคนใดคนหนึ่ง ก็จะเปิดช่องว่างให้มิดฟิลด์อีกคนเปิดเกมรุกใส่ทันที

3-1-2-1-3

2.ภาคการขึ้นเกม (Build-Up Play)

แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดนั้นมักจะขึ้นเกมด้วยรูปทรงตำแหน่งการยืนในลักษณะของ "3-1-2-1-3" พวกเขาจะขยับตำแหน่งของตัวเองทันทีโดยอัตโนมัติเพื่อสร้าง "ร่างที่เหมาะกับการตั้งเกมขึ้นหน้า" ซึ่งก็คือไอ้ร่างชั่วคราวนี้นั่นเองที่ปรับตำแหน่งการยืนกันระหว่างที่build-upขึ้นไป โดยมีวิธีการดังนี้ (ดูภาพข้างบนประกอบ)

2.1 สร้างหลังสามชั่วขณะ

มิดฟิลด์ตัวต่ำที่เล่นในลักษณะของ Halfback หรืออาจจะเป็น Deep Lying Playmaker ก็ตามทีที่ลงในเกมนั้นๆ จะมาติชหรือเฟร็ดก็แล้วแต่ คนแรกสุดของกระบวนการร่างนี้คือกลางตัวต่ำอย่างNemanja Matic ที่จะดร็อปต่ำลงไปยืนระหว่าง คู่เซ็นเตอร์แบ็คสองคน เพื่อที่จะสร้างทรง "หลังสามชั่วขณะ" (temporary back-three) [3]

2.2 วิงแบ็คดันขึ้นหน้า DLPถอยต่ำมารับบอล

ในเวลาเดียวกันของการสร้างshape เมื่อมาติชถอยลงต่ำเพื่อไปเป็นคนตั้งบอลคนแรก ป็อกบาก็จะลงมายืนรับบอลหน้าแผงหลังสามในฐานะdeep-lying playmaker ที่จะเปิดเกมจากจุดนั้นเลยก็สามารถทำได้ [1]

แบ็คสองคนอย่างชอว์กับบิสซาก้าก็จะ "ดันสูงขึ้นหน้า" พร้อมกับที่มาติชลงต่ำทันที [2]

2.3 ตัวรุกทั้งหมดดันสูงขึ้นไปเล่นร่วมกัน4คน

ส่วนที่สามที่มีการเคลื่อนที่ก็คือ ชุดที่ยกตัวอย่างเอาไว้แล้วว่าเป็นไลน์แถวหน้า ก็คือพวกforward กับ playmaker จะดันสูงขึ้นไปเล่นร่วมกับ Strikerทันที

โดยที่บรูโน่จะเตรียมพร้อมขึ้นเกมในแดนหน้า และเล่นในฐานะจอมทัพเบอร์10ที่มี"อิสระ"ในการโรมมิ่งไปจุดไหนก็ได้ [1]

ส่วนทางด้านRashford กับ Greenwood จะบีบขึ้นไปถึงกึ่งกลางของแดนคู่ต่อสู้ เพื่อที่จะพาบอลforwardจากตำแหน่งนั้น ไม่ว่าจะวิธีไหนก็ตาม และขึ้นไปติดมาร์กซิยาลมากขึ้น [3]

(ยกตัวอย่างเช่นฝั่งซ้าย แรชจะยืนปักหลักแล้วจ่ายให้ชอว์ที่overlapขึ้นไปอีกต่อ ส่วนฝั่งขวากรีนวู้ดอาจจะฝากบอลเพื่อนแล้ววิ่งเข้าพื้นที่อันตรายในกรอบเพื่อจะรอจังหวะยิงประตู)

วิธีการเซ็ต3-1-2-1-3ในแต่ละภาคส่วน เพื่อbuild-upขึ้นไป

จุดประสงค์หลักจริงๆของการสร้าง 3-1-2-1-3 ขึ้นมานั้น เป้าหมายคือเพื่อที่จะทำการ "กระจายผู้เล่น" ออกไปอยู่ตามจุดตรงๆครบทุกพื้นที่ในสนาม อันนี้เห็นชัดมากๆ

หากนึกไม่ออกก็คือ เหมือน "แผ่" ตัวผู้เล่นแมนยูออกไปทั่วๆสนามนั่นแหละครับ

ประโยชน์ของการใช้ทรงการยืนชั่วคราวในลักษณะนี้เพื่อตั้งเกมขึ้นไปนั้นมันจะช่วยทำให้ทีมเราเล่นด้วยการ "สร้างสามเหลี่ยมการจ่ายบอลระหว่างผู้เล่นทีมเราขึ้นมาทั่วทั้งสนาม" (เดี๋ยวลงไปดูภาพด้านล่างๆประกอบอีกทีนะครับ) ซึ่งสิ่งนี้จะทำให้ผู้เล่นสามารถมีทางเลือกในการจ่ายบอลเยอะขึ้นมาก โดยที่โครงสร้างหลักอันนี้นั้นจะช่วย "รักษาการครองบอล" ให้กับทีมเป็นหลัก อย่างที่แมนยูไนเต็ดเน้นเรื่องนี้ในการเล่นเสมอ ในขณะที่ค่อยๆนำบอลขึ้นหน้าไปได้ในทางแนวตั้ง(vertical)

ซึ่งในเรื่องของbuild-up play ที่เราใช้อันนี้นั้น อิงอยู่ในเรื่องที่ว่า "ตำแหน่งการยืนของนักเตะจะไม่fixedตายตัว" พวกเขาจะสามารถแลกตำแหน่งกันได้ทุกเมื่ออย่างอิสระ ยกตัวอย่างเช่น ป็อกบากับบรูโน่ที่สลับตำแหน่งกันเองบ่อยครั้งระหว่างเกม คนนึงดันสูงอีกคนก็สามารถลงต่ำได้

ส่วนฟูลแบ็คและก็ปีกเองก็สามารถทำได้เช่นกันโดยขึ้นอยู่กับการเล่นของคู่แข่ง และแม้กระทั่งฟร้อนทรี สามประสานหมาปีศาจในแดนหน้าก็สลับตำแหน่งกันได้สบายๆ

การที่มีศักยภาพในการสลับตำแหน่งกันอย่างมากเช่นนี้ในทีมมันจะสร้างความยากลำบากให้กับแนวรับคู่ต่อสู้ ที่เวลาต้องการจะตามประกบใครคนใดคนนึง(เช่น จะจับตายกรีนวู้ด หรือ หมาก) มันจะทำได้ยากส์มากๆ และนอกจากนี้ยังส่งผลให้คู่แข่งคาดเดาเกมcounter-attacksของเราไม่ได้อีก ซึ่งเคยเป็นอาวุธหนักในทีมชุดที่ดีที่สุดของเซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน

เตฟ : น้าคนนั้นเค้าทำอะไรน่ะ / น้องหมู : ไม่รู้ดิฮะ บางทีก็ไม่ค่อยเข้าใจแกนะ / คริสตี้ : ไม่รู้แทคติกจริงๆของเค้าก็อย่าเพิ่งเดากันไปเองดิเพื่อน

ซึ่งประเด็นการสลับตำแหน่งอิสระของbuild-up playเช่นนี้ เป็นวิธีคิดเดียวกันกับเรื่องที่ผมเคยเขียนวิเคราะห์เอาไว้ในกรณีที่โอเล่ กุนนาร์ โซลชาพยายามเซ็ต "เกมรุกรูปแบบอิสระ" (free-form attack) ที่ดึงเอาบางส่วนของจุดเด่นสไตล์ Total Football ที่เน้นการเคลื่อนที่ตลอดเวลาสลับไปมาเพื่อหาช่องนี่แหละ มาใช้

และนี่จึงเป็นคำตอบสำคัญว่า ทำไมโซลชาถึงอยากได้ตัวของ Donny van de Beek ซะเหลือเกิน อย่างที่หลายๆคนไม่เข้าใจ นั่นเป็นเพราะว่าคุณภาพของ"น้องม้า" ดอนนี่ สอนระเบียบ ฟานเดอเบคนี่แหละที่ค่อนข้างมี fluidityสูง ซึ่งสามารถเล่นกองกลางได้ "ทุกตำแหน่ง" ในสนาม 

การมาของฟานเดอเบคจะได้ใช้งานในbuild-up playของทีมโดยตรงอย่างแน่นอน

และนี่แหละคือ "แมนยูร่างสาม" ปีศาจแดงที่มี build-up play ด้วยวิธีการเซ็ต 3กองหลัง, 3กองหน้า และ "ครีเอท3เหลี่ยมทั่วทั้งสนาม" ขึ้นมานั่นเอง


สามเหลี่ยมทั่วสนามที่เห็นในภาพด้านบนนี้มันค่อนข้างชัดเจนมากๆว่าจะช่วยรักษาเรื่องการครองบอลของทีมได้ดี เพราะว่านักเตะเราจะไม่จนมุมง่ายๆเวลาโดนบีบ เพราะ1ตำแหน่งจะมีoptionจ่ายบอลมากกว่าแค่2ทางซะอีก

ตัวอย่างง่ายๆ ดูที่แมกไกวร์ สามารถต่อบอลให้ได้ทั้ง3ทางในการจ่ายบอลสั้น (ชอว์ มาติช ป็อก)แถมยังไม่รวมการวางบอลยาวของเจ้าตัวอีกที่สามารถงัดมาใช้ได้ในบางเวลา

การขึ้นไปอยู่แนวกลางสนามของแบ็คสองตัว สามารถเลือกจ่ายขึ้นหน้าได้ คืนหลังได้ และจ่ายเข้ากลางก็ได้

ส่วนที่อลังการสุดก็คือ 3-1-2-1-3 ทรงนี้จะสร้าง "สามเหลี่ยมอนันต์" นับไม่ถ้วนให้กับนักเตะพิเศษที่มีชุดskillsพร้อมที่จะเล่นตำแหน่ง"DLP"ได้ สังเกตที่จุดของ "ปอล ป็อกบา" เขาสามารถเปิดบอลไปยังจุดไหนก็ได้ในสนามนี้อย่างอิสระ ซึ่งป็อกบาก็มีประสิทธิภาพสูงจัด พอที่จะรับผิดชอบจุดนี้ได้

ยิ่งเขียนก็ยิ่งขนลุกจริงๆว่า ทำไมป็อกบาจึงเป็นตัวแปรสำคัญมากๆในbuild-up playของแมนยูร่างทรงโอเล่นี้

3.รูปแบบการเข้าทำ

แมนยูไนเต็ดนั้นได้พัฒนาเรื่องแพทเทิร์นการเล่นในพื้นที่สุดท้ายมากขึ้น โดยที่ช่วงต้นฤดูกาลจะค่อนข้างชัดเจน ขนาดผู้เขียนเองและสื่อนอกก็ยังเห็นตรงกันว่า แมนยูไนเต็ดนั้นยึดโยงแต่การบุกด้วยการพึ่งพาอาศัยแต่ความสามารถเฉพาะตัวของนักเตะแต่ละคนในการเล่นเกมบุกและเอาชนะคู่ต่อสู้  ซึ่งต้องยอมรับตามตรงว่า แม้แต่ด้านความสามารถเฉพาะตัว นักเตะบางคนอย่างแดเนียล เจมส์ ก็ยังมีมิติไม่มากพอจะใช้งานได้จริง ส่วนแรชฟอร์ดที่มีสกิลเทคนิคและร่างกายที่แข็งแกร่งรวดเร็วก็ตาม แต่มาตรฐานในการเล่นและฟอร์มมันแกว่งไปแกว่งมา ก็ไม่สามารถฝากความหวังเพื่อพึ่งพาให้เขาเป็นคนสร้างเกมบุกได้อยู่ดี

และเมื่อเป็นเช่นนั้น บ่อยครั้งจะเห็นว่าแมนยูไนเต็ดไม่สามารถเจาะทีมที่ตั้งรับลึกและเน้นทรงเกมรับได้เลยอยู่เป็นประจำ

3.1 "เล่นบอลเร็ว"

บรูโน่ แฟร์นันด์ส กับ อ็องโตนี่ มาร์กซิยาลนั้นพัฒนาในด้านของความเข้าใจระหว่างกันมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะทั้งสองคนมีเซนส์การเล่นในระดับที่ทันกันพอดี รูปแบบของวิธีการเล่นนั้นประกอบด้วยการจ่ายทะลุช่องจากบรูโน่ที่ยืนสอดระหว่างไลน์ และขยับเคลื่อนที่ย้ายไปย้ายมาอยู่ตลอดเพื่อสร้างช่องว่าง

จากนั้นกองหน้าตัวกลาง(ที่ปกติก็จะเป็นมาร์กซิยาล) จะถอนลงต่ำมารับบอล  บรูโน่จะพยายามหนีตัวประกบและเคลื่อนที่ขึ้นไปข้างหน้า

ตัวอย่างง่ายๆเราจะเห็นลักษณะการเล่นนี้ในตอนที่เจอกับเชฟฟิลด์ยูไนเต็ด บรูโน่ แฟร์นันด์สนั้นยืน "สอดไส้" อยู่ตรงกลางในช่องว่างระหว่างกองหลัง และ กองกลางของเชฟยู (หากคู่ต่อสู้ไม่มีมิดฟิลด์ตัวรับลงมาวิ่งไล่ตรงนั้น หรือCBไม่บีบสูงขึ้นมาติดตัว บรูโน่ของเราจะมีช่องให้เล่นทันที)

ซึ่งก็เป็นแบบนั้นจริงๆ ในที่สุดเขาก็ดึงเอา CBหนึ่งตัวหลุดตำแหน่งออกมาเพื่อวิ่งขึ้นมาประกบเขา พอถึงจุดนั้นมาติชที่ "เห็นช่องว่าควรจะจ่ายไปจุดนัดพบตรงไหน เขาก็แทงทะลุช่องอย่างชาญฉลาดไปให้บรูโน่ที่ตวัดสั้นต่อไปให้กับมาร์กซิยาล จากนั้นบรูโน่ก็พลิกหนีและก็วิ่งขึ้นหน้าไปจู่โจมใส่พื้นที่ว่างที่คู่ต่อสู้หลุดตำแหน่งออกมา


3.2"สลับตำแหน่งกันในแนวด้านข้าง"

รูปแบบการเล่นอย่างที่สองของเรามันเป็นการผสมผสานกันระหว่าง การสลับตำแหน่งกันในแนวกว้าง(wide position) บวกกับการถ่ายบอลไปมาอย่างรวดเร็วเข้าสู่พื้นที่อันตราย เราจะได้เห็นรูปแบบที่ว่านี้หลายครั้งในช่วงรีสตาร์ท ซึ่งมันชี้ให้เห็นว่านี่คือแพทเทิร์นการเล่นที่ได้รับการโค้ชชิ่งฝึกซ้อมกันมา และโดดเด่นมากในเกมที่เจอกับไบรจ์ตัน

บอลเริ่มจากแดนหลังที่เซ็ตเป็น แบ็คทรี ขึ้นมาในภาคการขึ้นเกม(ดังที่อธิบายไว้แล้ว) ซึ่งทั่วๆไปตัวที่ยืนซ้ายในหลังสามก็จะเป็นแมกไกวร์ เมื่อเข้าทรงยืนที่ว่านี้เรียบร้อยแล้วจะทำให้ลุค ชอว์ สามารถที่จะเติมขึ้นสูงได้สะดวก อย่างไรก็ตามแทนที่จะเคลื่อนที่เล่นชิดริมเส้น เขากลับไปยืนตรงที่ว่างบริเวณกึ่งกลางสนาม (แทนตำแหน่งตรงจุดที่เป็นกลางต่ำของมาติชพอดี) เพื่อที่จะตรึงมิดฟิลด์คู่ต่อสู้เอาไว้กับเขา

ซึ่งจุดนี้ทำให้แรชฟอร์ดนั้นมีที่ว่างที่จะถอยต่ำลงมาด้านหลังได้มาก และถ่างกว้างออกไปชิดเส้นที่สามารถจะรับการครองบอลต่อจากแมกไกวร์ได้ (เพราะจะไม่ทับกับลุค ชอว์ ที่หุบเข้ากลางต่ำไปแล้ว)

จากนั้นแรชฟอร์ดจ่ายบอลทแยงมุมจังหวะเดียวกระดกไปสู่กองหน้าตัวกลางของเราอย่างมาร์กซิยาล เพื่อที่จะเปิดฉากเกมรุกอย่างต่อเนื่อง บรูโน่ยังคงทำงานหนักอยู่ในบริเวณรอบๆมาร์กซิยาลและหมุนตัวหนีออก แล้ววิ่งฝ่าแนวรับเพื่อเข้าไปชิงพื้นที่ว่างทางด้านหลังที่เกิดขึ้นจากการที่ปีกอย่างแรชฟอร์ดได้ถอนลงต่ำไปแล้ว

ดังนั้นนี่ก็คือ อีกหนึ่งวิธีการ build-up play ของแมนยูในการลำเลียงบอลขึ้นหน้าไปจนถึงกองหน้าตัวจบสกอร์ได้สำเร็จ ก็ด้วยวิธีการ "สลับตำแหน่งกัน" ในบริเวณริมเส้น

ชอว์ยืนตรงกลางแทนจุดของมาติช (ชัดเจนจากในรูป เพราะมาติชถอยลงมาCBแล้ว)

แรชฟอร์ดไปยืนตรงจุดชอว์ตรงบริเวณริมเส้นตัวต่ำ (และไม่ทับกันเองเพราะชอว์ก็สลับไปจุดอื่น)

บรูโน่ ขึ้นไปเป็นตัวสูงในด้านข้าง จุดที่เป็นพื้นที่สังหารของมาร์คัส แรชฟอร์ด (ที่ถูกดึงแบ็คหลุดพื้นที่ออกไปแล้ว)

สามคนนี้ที่สลับกัน ตามในกรอบคำอธิบายสีแดงเป๊ะๆ มันจึงเกิด "ไลน์การจ่ายบอลเกิดขึ้นมา" ที่สร้างเส้นจ่ายมาได้ด้วยแค่การpassingเพียงสองจังหวะ

จากสุขุมวิทไปจนจรัญ จากแมกไกวร์ละก็ไปถึงแมกฟอร์ด และก็จากแมกฟอร์ดละก็ไปถึงแมกซิยาวนั่นเอง(ฮา)

วิธีการนี้ถือเป็นการเคลื่อนที่ที่มีความเสี่ยงสูงพอสมควรเพราะว่าหากทั้งแมกไกวร์และแรชฟอร์ดยืนไม่ดี แมนยูก็อาจจะเปิดพื้นที่แนวด้านหลังและมีโอกาสโดนเกมcounter-attack สวนคืนทันที

อย่างไรก็ตามถ้าเราจ่ายบอลกันแม่น ก็จะเป็นการกระซวกไลน์ป้องกันคู่แข่งได้เหมือนกันนั่นเอง

3.3"นรกชั่วพริบตา" สปีดMaxในจังหวะเข้าทำ

การถ่ายบอลไปมาด้วยความรวดเร็ว จ่ายไปสู่ตำแหน่งพิเศษที่ครีเอทขึ้นมาได้เช่นนี้นั้น จะเป็นการ "ตัดมิดฟิลด์ของคู่ต่อสู้ออกจากเกม" ไปเลย และถ้าหากสามารถครองบอลได้ในบริเวณช่องว่างระหว่างไลน์รับคู่ต่อสู้ (กลาง+หลัง) โดยการเก็บบอลได้ของมาร์กซิยาลแล้วนั้น แมนยูไนเต็ดจะสามารถโจมตีใส่ "แนวป้องกันแผงสุดท้าย" ของคู่ต่อสู้ได้ทันที เพราะข้ามแผงมิดฟิลด์มาได้

เมื่อถึงพื้นที่สุดท้าย ตัวรุกเราจะเคลื่อนบอลบุกด้วยความเร็วในอัตราเร่งสูงสุดมากกว่าในยามต่อบอลตามปกติทันที

(ก็คือจะ "เล่นเร็ว" ในจังหวะสำคัญ ปรับมาใช้ความเร็วสูงทันทีในชั่วพริบตาที่จะเล่นงานแนวรับสุดท้ายของคู่ต่อสู้ อย่างที่เราเห็นการวิ่งช่อง1-2แทงทะลุกันของ บรูโน่-หมาก-แรช ในจังหวะสุดท้ายนั่นเอง นั่นแหละสปีดmaxที่เราใช้เพียงชั่วพริบตา)

นี่คืออีกหนึ่งpatternที่เราใช้เป็นอาวุธในการเล่นหลักๆ

4.จุดอ่อนที่พึงระวังของ build-up play วิธีนี้ของทีม

4.1 ความสำคัญอย่างมากของปอล ป็อกบา

ปัญหาของการเล่นในระบบแบบนี้ก็คือนักเตะจำเป็นที่จะต้องมี "ชุดของทักษะหลายอย่างที่สำคัญๆ" สำหรับตำแหน่งที่รับผิดชอบนี้

ยกตัวอย่างเช่น ปอล ป็อกบาที่สามารถเล่นเป็นDLP หรือเพลย์เมคเกอร์ตัวต่ำได้ (Deep-lying Playmaker) ตรงนี้เป็นจุดสำคัญสุดๆในการจะนำบอลขึ้นหน้าจากแนวลึกได้ ไม่มีผู้เล่นคนไหนอีกแล้วในทีมเราที่สามารถทำสิ่งนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพชัดเจนเท่ากับป็อกบา เพราะป็อกบาสามารถครองบอลได้ เอาตัวรอดจากเพรสซิ่งได้ จ่ายบอลสั้นวางบอลยาว เปลี่ยนจังหวะเกมในทันที ทุกอย่างป็อกบาทำได้หมด (โคตรสำคัญมากๆ)

อย่างที่บอกไปแล้วเรื่องของสามเหลี่ยมอนันต์ ถ้าไม่มีป็อกบาในจุดนี้ ประสิทธิภาพการbuild-upก็อาจจะด้อยลงไปเยอะ

4.2 การคุมพื้นที่จากเนมันย่า มาติช

ในทำนองเดียวกัน มาติชเป็นเพียงมิดฟิลด์ตัวต่ำเพียงคนเดียวที่สามารถดรอปลงมายืนระหว่างเซ็นเตอร์แบ็คได้ในรูปทรงหลังสาม เขาค่อนข้างนิ่ง ใจเย็น และเล่นกับบอลได้ดีเยี่ยม เขามีระยะทำการที่สามารถจ่ายบอลแทงทะลุช่องให้เพื่อนได้ แต่ในทางตรงกันข้ามทั้งแม็คโทมิเนย์และเฟร็ดที่ไม่มีทักษะชุดนี้ในการจะเล่นตำแหน่งนี้ของมาติชได้

เราจำเป็นต้องหาเป้าหมายกลางต่ำที่สามารถเป็นตัวแทนระยะยาวให้กับเนมันย่า มาติชมาเข้าทีมให้ได้ ซึ่งดาวรุ่งของเราอย่าง เจมส์ การ์เนอร์ และ ดีแลน เลวิทท์ คือสองนักเตะที่สามารถทำงานในตำแหน่งนั้นได้เช่นกัน แต่ว่าทั้งสองคนก็ยังเด็กอยู่มาก และยังต้องการปล่อยยืมตัวไปในลีกต่ำๆเพื่อเก็บประสบการณ์อีกมาก ดังที่เราเห็นแล้วว่า ล่าสุดเพิ่งจะปล่อยยืมดีแลน เลวิทท์ที่ประเดิมทีมชาติเวลส์นัดแรกไปแล้ว ด้วยการปล่อยให้ลี โบวเยอร์ เอาไปขุนความแข็งแกร่งและเก็บเลเวลที่ทีมดาบอัศวิน ชาร์ลตันแอธเลติกเป็นเวลา1ปีนั่นเอง (กลับมาไม่ต้องถึงขนาดเถื่อนทราเวลมาเป็นโบวเยอร์2ก็ได้นะ ฮาาาา)

4.3 เรายังต้องการเซ็นเตอร์แบ็คเท้าซ้ายอยู่

ในทีมเราไม่มีเซ็นเตอร์คนไหนเล่นเท้าซ้ายเลย ในช่วงที่ผ่านมาเราลำบากกับการเจอบีบเพรสซิ่งสูงทุกครั้งเวลาที่จะตั้งบอลขึ้นมาจากแดนหลัง ซึ่งทั้งแฮรี่ แมกไกวร์ และวิคตอร์ ลินเดอเลิฟ ก็เล่นเท้าขวากันทั้งคู่ ดังนั้นพวกเขาอาจจะต้องใช้เวลาในการแต่งบอลหามุมถนัดเพื่อจะจ่ายบอลต่อให้ลุคชอว์ในตำแหน่งฟูลแบ็ค ดังนั้นเราจึงต้องการCBตีนซ้ายที่เร็วและแข็งแกร่ง ซึ่งจะมาเป็นคู่หูที่ดีของทั้งลินเดอเลิฟและแมกไกวร์ได้

หากมีตัวนี้เข้ามาจะช่วยให้เราแกะเพรสได้ง่ายขึ้น

4.4 ความสำคัญของชอว์

แบรนดอน วิลเลี่ยมเป็นนักเตะที่ทำผลงานได้ดีในซีซั่นนี้ แต่ว่าเขาเป็นแบ็คซ้ายที่ใช้เท้าขวาและทำหน้าที่ได้ไม่ดีในการขึ้นเกมของทีมจากตำแหน่งแบ็ค

ลุคชอว์นั้นใช้เท้าซ้ายและรับมือกับการโดนบีบได้ดี เขาแกะเพรสได้

แต่ว่ามีปัญหาเรื่องที่เขาค่อนข้างเปราะและเจ็บบ่อยๆตลอดเวลาที่เล่นอยู่กับแมนยูไนเต็ด ดังนั้นเราจำเป็นต้องหาแบ็คอัพ หรือ ตัวจริงอีกคนนึงในตำแหน่งแบ็คซ้าย ที่ใช้เท้าซ้ายและเล่นกับบอลได้ดี(เหมือนชอว์)เข้ามาเสริมทีม

ส่วนวิลเลียมส์ควรจะยกไปช่วยงานแบ็คขวากับทางอารอน วานบิสซาก้ามากกว่า

4.5 คุณภาพทีมในเชิงลึก

ปัญหาsquad depth(อีกแล้ว)นั่นเอง ซึ่งบรูโน่ แฟร์นันด์ส นั้นเหมือนเป็นผู้ปลดปล่อยให้เรา เขาแทบจะเป็นคนเปลี่ยนโชคชะตาของสโมสรด้วยตัวคนเดียว เขาจุดประกายการสร้างสรรค์เกมที่ยูไนเต็ดขาดหายไปในช่วงเริ่มต้นซีซั่น แต่เมื่อใดก็ตามที่ปราศจากพี่หนวดลงสนาม เราก็กลับไปเล่นได้แค่แบบจุดเดิมๆเท่านั้น

เราไม่มีผู้เล่นตัวสร้างสรรค์เกมเลยในม้านั่งสำรองที่สามารถลงมาและสร้างimpactต่อเกมได้ เราจำเป็นต้องซื้อมิดฟิลด์ตัวสร้างสรรค์เกมเข้ามาอีกครั้งเพื่อเติมคุณภาพในเชิงลึกของทีม

และ สิ่งที่ว่านั้นก็มาแล้วจริงๆ กับการมาของ Donny van de Beek นั่นเอง

5.Conclusion

สรุปแล้วนั้นแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดมีการขึ้นเกมที่ดีพอที่จะเอาผ่านคู่แข่งได้ทุกทีมบนหากเรามีนักเตะที่สามารถตอบโจทย์ในตำแหน่งและหน้าที่การเล่นของเราในระบบนี้ได้ครบถ้วนทุกตำแหน่ง (ซึ่งก็ยังขาดปีกขวา และCBเท้าซ้ายอยู่ในเบื้องต้น)

นอกจากนี้เรายังควรจะเสริมออฟชั่นบนม้านั่งสำรองด้วย เพื่อที่ว่าเวลาที่จะเปลี่ยนตัวหรือโรเตชั่นนักเตะลงแข่งขัน "คุณภาพของทีมจะได้ไม่ดรอปลง" ถ้าหากมีการเปลี่ยนตัวลงมา เหมือนที่แฟนผีหลายๆคน "ไม่เข้าใจ" ว่าจะซื้อฟานเดอเบคมาทำไม ซื้อเรกีลอนมาทำไม ในเมื่อเรามีกองกลางเยอะแยะ มีแบ็คซ้ายครบแล้ว ซื้อมาถมที่รึไง?

ก็ดูคุณภาพของตัวที่เปลี่ยนลงไป ว่ามันไม่สามารถช่วยอะไรทีมได้เลยนั่นแหละ คือคำตอบง่ายๆที่ชัดที่สุด

ถ้าหากแก้ไขจุดอ่อนทั้งหมดที่มีได้หมดแล้ว ตอนนั้นแหละถึงจะสามารถขึ้นไปท้าชิงแชมป์ในระดับท็อปของยุโรปได้

#BELIEVE

-ศาลาผี-

References

https://www.theutdarena.com/tactical-analysis-manchester-united-s-build-up-play/

ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ระดับ : {{val.member.level}}
{{val.member.post|number}}
ระดับ : {{v.member.level}}
{{v.member.post|number}}
ระดับ :
ดูความเห็นย่อย ({{val.reply}})

ข่าวใหม่วันนี้

ดูทั้งหมด