:::     :::

"กลาง3B 4จตุรอาชา" คู่มือการใช้GHOSTของ van de Beek ฉบับสมบูรณ์

วันศุกร์ที่ 25 กันยายน 2563 คอลัมน์ #BELIEVE โดย ศาลาผี
12,550
ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ดั่งบทสรุปไฟนอล7 นี่คือ "คู่มือการใช้ van de Beek" ฉบับสมบูรณ์ที่สุด ชำแหละทุกแผนการใช้งานฟานเดอเบค ว่าเขาอยู่ตรงไหนเหมาะที่สุด และสร้างinnovationอะไรใหม่ๆให้แมนยูได้บ้าง

ไม่พล่ามเยอะ เข้าสาระเน้นๆกันเลย นี่คือบทความที่จะไขข้อข้องใจทั้งหมดว่าทำไมแมนยูไนเต็ดจึงต้องดึงฟานเดอเบคมาเข้าทีม และจะใช้งานเขายังไงได้บ้างกับแผนการเล่นแมนยูไนเต็ดชุดนี้

1. ทำไมเราต้องซื้อVDB

คำตอบชัดๆเลยก็คือ เราซื้อเขาเข้ามาเพื่อเพิ่ม "Squad Depth" คุณภาพเชิงลึกของทีมในตำแหน่ง "มิดฟิลด์ตัวรุก" ให้เป็นหลักประกันว่า แมนยูไนเต็ดจะสามารถลงแข่งได้ตลอดซีซั่นโดยไม่มีผลกระทบเวลามีตัวหลักบาดเจ็บหรือลงสนามไม่ได้ คุณภาพเชิงลึกที่ว่านี้นั้นมันสำคัญกับแมนยูมาก บางคนอาจยังไม่เข้าใจว่าซื้อมาทำไม ทั้งๆที่มีป็อกบา บรูโน่อยู่แล้ว

ลองคิดแบบง่ายที่สุดว่า คุณจะให้บรูโน่ลงกลางรุกอยู่คนเดียวทุกนัดจนจบซีซั่นเลยเหรอ? แมนยูถ้าบรูโน่เจ็บไปสักคนนึงจะเป็นยังไงบ้าง? (นึกภาพก็สยองแล้ว)

หรือถ้าป็อกบาไม่ฟิต โดนแบน ใครจะมาลงตรงกลางได้โดยที่เกมรุกของทีมไม่ดรอป หากไม่มีVDBสักคน จะตอบคำถามเหล่านี้ไม่ได้เลย

ฟานเดอเบคสามารถลงแทนตำแหน่งได้ทั้งPogbaและ Brunoได้ทั้งคู่ และเขาไม่ได้มาในฐานะ"ตัวสำรอง" แต่นี่คือตัวที่จะถูกนำมา "หมุนใช้งาน" ในตำแหน่งกองกลางได้อย่างอิสระ เพราะฉะนั้นได้ลงแน่ ไม่มีนั่งตูดด้านชัวร์100%

กลางรุกตัวอื่นที่เหลือมีเพียงเปเรร่า ลินการ์ด มาต้า ซึ่งต้องยอมรับว่าฝีเท้าตอนนี้ไม่ดีพอจะใช้งานได้จริงในเกมสำคัญๆอย่างเช่นเกมลีก หรือบอลยุโรปในแชมเปี้ยนส์ลีกอีกแล้ว ความห่างชั้นระหว่างตัวจริงอย่างป็อกบา บรูโน่ กับตัวสำรองมันมากเกินไป เมื่อใดก็ตามที่ต้องใช้ตัวเหล่านี้แทน คุณภาพจะดรอปลงไปทันที นึกง่ายๆว่า "สภาพแมนยูจะเหมือนต้นซีซั่น19/20" นั่นแหละ

เพราะฉะนั้น VDB คือหลักประกันที่ว่า ไม่ว่าตัวหลักคนไหนจะไม่พร้อมลงสนาม เราก็จะมี "มิดฟิลด์ตัวรุก" ไว้ใช้งานเพียงพอในการลงแข่งเกมหนักได้ตลอดซีซั่นแน่นอน ซึ่งมันจำเป็นมากๆในการรักษาฟอร์มการเล่นให้สม่ำเสมอและรอดได้จนจบฤดูกาล

2. ตำแหน่งถนัดของVDB

อธิบายปูพื้นให้อีกครั้งสำหรับนักอ่านทั่วไปว่า ฟานเดอเบคเป็น "มิดฟิลด์ที่เล่นได้ทุกตำแหน่งในแผงกองกลาง" จะเป็นตัวรุก ตัวกลาง ตัวต่ำ เล่นได้หมด

ตำแหน่งการเล่นจาก50นัดล่าสุดของVDB รวมจากปีก่อนที่อยู่กับAjaxด้วยมีดังนี้

จะเห็นว่าส่วนใหญ่เขายืนตรงกลางสนามในตำแหน่งCMไป 33นัด, ยืนสูงเล่นกลางรุก 11นัด, ถอยลงมายืนตัวต่ำ6นัด ซึ่งก็แสดงให้เห็นได้ชัดเจนอย่างเป็นรูปธรรมว่า เรนจ์การใช้งานฟานเดอเบคนั้นกว้างจริงๆ ยืนได้ทุกจุดในแผงกองกลาง สูงกลางต่ำเล่นได้หมด แต่มักจะถูกใช้ยืนกลางสนามมากกว่าเนื่องด้วยพลังงานในการเล่นจะสามารถใช้ประโยชน์ได้กว้างทั้งรุกและรับ และจะเล่นเยื้องขวาเล็กน้อยจากheat mapปีก่อน

พล่านไปทั่วทั้งแอเรีย และเยื้องไปทางขวา

โดยพื้นฐานทั่วๆไปสามารถเรียกแบบรวมๆได้ว่าVDBนั้นเป็นกองกลางแบบ Box to Box ก็เรียกได้ คนทั่วไปอาจจะเข้าใจกันแบบนี้ แต่ว่ามันกว้างเกินไปหน่อยไม่ได้specificนิยามตัวตนที่แท้จริงของเขา

จริงๆต้องพูดว่า เขาเป็น"กองกลางเชิงรุก" ที่เล่นได้ทั้งสนาม และลงมาเล่นต่ำได้ จะดีกว่า

สถิติของVDBกับAjaxเทียบกับนักเตะอื่นในลีก ค่าทุกด้านอยู่ในกลุ่มเกณฑ์สูง (xGคือexpected goal ดัชนีการคาดหวังประตูได้จากการยิง)

คำจำกัดความ และตำแหน่งที่ดีที่สุดของVDBคือหน้าที่ "Attacking Midfielder" นั่นเอง คือผู้เล่นในตำแหน่งกลางรุกที่ยังมีมิติการเล่นของมิดฟิลด์เป็นหลักๆ ทำหน้าที่เก็บบอล เชื่อมเกม และเคลื่อนที่ขึ้นไปบุกร่วมกับทีม

ตำแหน่งนี้ค่อนข้างแตกต่างจากPlaymakerมากๆ เพราะว่าตัวเพลย์เมคเกอร์นั้นจะทำหน้าที่สร้างสรรค์เกมรุกขึ้นมา ส่วนAMจะไม่ได้โดดเด่นในด้านcreativity แต่ขึ้นไปเป็นส่วนหนึ่งของเกมรุกทีมในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเชื่อมต่อเกม สร้างจังหวะ และหาโอกาสจบสกอร์

หากใครได้ดูVDBเล่นกับแมนยูสองนัดที่ผ่านมากับตา น่าจะพอเห็นอะไรกันบ้างแล้วว่าเขาเล่นไม่เหมือนบรูโน่เลย และก็ไม่เหมือนกับป็อกบาด้วย ไม่ต้องห่วงเรื่องทับตำแหน่ง และสามารถส่ง3ตัวนี้ลงสนามพร้อมกันก็ได้

ความพิเศษของVDB ไม่ได้มีเพียงแค่เป็นAM เพราะเขายังเป็นตัวพิเศษหายากที่เล่นในบทบาทของ "Shadow Striker" อีกด้วย

"Shadow Striker" คือผู้เล่นที่จะเติมเกมจากตำแหน่งมิดฟิลด์ตัวรุกสอดขึ้นไปยิงประตูในกรอบเขตโทษ นั่นเอง สาเหตุที่เค้าเรียกกันว่าตำแหน่งกองหน้าเงาแบบนี้ เป็นเพราะว่าผู้เล่นตัวนี้จะยืนอยู่เกือบๆจะไลน์เดียวกับกองหน้าตัวเป้า แต่จะไม่ยืนอยู่สูงสุด จะเหลื่อมต่ำกว่าหน้าเป้าประมาณ "1ช่วงตัว"  คล้ายๆเป็นเงาของกองหน้าที่ไปยืนแอบๆอยู่ในเขตโทษ

เขาจะขึ้นไปฝังตัวอยู่ในแนวรับคู่แข่ง และวิ่งสอดหาจังหวะที่มีโอกาสยิงประตูได้ ซึ่งจะถูกตามประกบได้ยากมากเพราะกองหลังจะตามmarkingที่กองหน้าหลักของเรา จึงเป็นช่องให้VDBหลุดประกบและวิ่งเจาะได้

จุดแข็งที่อันตรายที่สุดของVDB ไม่ใช่ความเร็ว ไม่ใช่ความคม แต่เป็น "เซนส์" ระดับปีศาจ และ"มันสมองในการเล่น" โดยเฉพาะการเล่นตอนไม่มีบอล (off the ball) อันนี้โหดที่สุด อ่านเกม อ่านทางบอล อ่านตำแหน่งที่น่าจะได้เปรียบและสอดเข้าไปทำประตู

อ่านพื้นที่เล่นล่วงหน้า และเคลื่อนไปอยู่ในจุดที่เข้าทำประตูได้เสมอ ไอ้หัวทองในรูปนี่ล่ะ

จุดนี้ถ้าใครรู้สึกคุ้นๆ ใช่แล้วครับ การเล่นของVDB มันคล้ายๆกับกรณีของ Thomas Müller ที่เล่นตำแหน่งพิเศษ "Raumdeuter" (รอมดอยเทอร์ แปลเป็นไทยคือ นักล่าหาช่องว่าง ประมาณนั้น)

รอมดอยเทอร์คือปีกพลังจิตที่ไม่มีทั้งความเร็ว ไม่มีเทคนิคสูงส่ง ไม่มีสกิลกระชากบอล ไม่มีอะไรทั้งนั้น เป็นปีกไร้สกิลเพลย์เหนือๆ แต่กลับมีความสามารถในการหาช่องว่าง และเคลื่อนที่เข้าไปถูกที่ถูกเวลาและยิงได้บ่อยๆ ของไทยก็คล้ายๆจ่าเย็นนั่นแหละ นั่นคือลักษณะของมุลเลอร์

ลักษณะร่วมกันของShadow Striker กับ Raumdeuter ก็คือสอดเข้าไปหาช่องยิงในกรอบเขตโทษเก่งมากๆ แต่จะต่างกันตรงที่ รอมดอยเทอร์นั้นเป็นจะสอดมาจากปีกด้านข้าง คล้ายๆเหมือนเป็นกองหน้าตัวชิงจังหวะจากwide position (Poacherด้านข้าง) แต่VDBที่เป็นกองหน้าเงานั้นจะสอดขึ้นมายิงจากตำแหน่งมิดฟิลด์

การเล่นของฟานเดอเบคจะสร้างประโยชน์ให้ทีมด้านการผลิตประตูจากตำแหน่งมิดฟิลด์เพิ่มได้อย่างแน่นอนอย่างที่โอเล่คาดหวังเอาไว้ เจ้าตัวเองก็บอกว่า จุดเด่นของเขาคือการเข้าไปในกรอบ วิ่ง ยิง แอสซิสต์ และวิ่งในสนามเยอะมาก

สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับคู่ต่อสู้จากการเติมเกมแบบShadow Strikerนี้ของเขาคือ

"ไม่รู้ว่าจะโผล่มาเมื่อไหร่"

"ไม่รู้ว่าจะโผล่มาจุดไหน"

"โผล่มาทีไร หลอนทุกที"

มันเหมือน"กองหน้าผี"มากๆที่ไม่รู้จะโผล่มายิง(มาหลอก)เมื่อไหร่ นั่นแหละครับทำไมผมถึงได้ขนานนามชื่อท่าใหญ่ของเขาว่า "GHOST" เวลาที่สอดขึ้นไปยิงประตูได้ของVDB

มีหลายๆคนสงสัยว่า VDBเหมาะจะใช้เล่น False Nineให้เราเลยได้ไหม? คำตอบคือ พอได้ แต่ไม่แนะนำ

นั่นเป็นเพราะว่าหากให้ฟานเดอเบคไปยืนfalse9เลย เขาจะเสียมิติการเล่นมิดฟิลด์ที่ไม่ได้ใช้งาน ที่สำคัญหากฟานเดอเบคเล่นตรงนั้นก็จะตกเป็นเป้าสังหารแน่นอน เพราะจะโดนกองหลังตามประกบเป็นtargetหลัก แต่ที่เขาโดดเด่น เพราะเป็นตัวสอดจากการหลุดประกบ แล้วหลุดว่างไปยิงต่างหาก

ดังนั้นถึงจะยิงประตูได้ แต่จะมาให้ยืนค้ำหน้าเลยแบบF9ไม่เหมาะเท่าไหร่ กากบาททิ้งไปก่อนแผนนี้

3. ข้อแตกต่างระหว่างVDBกับกลางรุก/กลางรับคนอื่นๆ

3.1 ด้านเกมรุก

VDB กับ Bruno

บรูโน่จะเป็นคนที่สร้างสรรค์เกมรุกด้วยจินตนาการในการเล่น และหาทางเปิดบอลเข้าพื้นที่สุดท้ายด้วยรูปแบบต่างๆ แต่VDBไม่ได้ตั้งต้นครีเอทเกมรุก แต่เขาจะพาตัวเองเข้าไปในพื้นที่สุดท้าย เข้าร่วมในเพลย์ และหาจังหวะจบสกอร์ให้ทีม

พูดให้ชัดๆก็คือ บรูโน่จะ"เปิดบอลและสร้างเกมรุก" แต่ฟานเดอเบคจะ "เติมเกมสูงขึ้นไปมีส่วนร่วมอยู่ในเกมรุก"

อันนี้ชัดเจนมากๆเพราะเราจะไม่เห็นดอนนี่วางบอล,แทงบอล แต่เขาจะดันสูงขึ้นมาเล่นรุก "ร่วม"กับMartial Rashford เหมือนเป็นฟันเฟืองตัวที่สามในแดนหน้า

VDB กับ Pogba

Pogba นั้นมีความสามารถในการเล่นโฮลดิ้งสูง ครองบอลกับตัวมากกว่า และเล่นเกมรุกจากแนวลึกได้ แต่VDBจะไม่เก็บบอลไว้กับตัวนาน เขามักจะเล่นโดยไม่มีบอล (off the ball)เป็นหลักๆ โดยที่จะเน้นหาจังหวะเชื่อมเกม แล้ววิ่งเข้าในพื้นที่ได้เปรียบอยู่เสมอ ไม่เก็บบอลไว้เป็นเป้าศัตรู

ตำแหน่งการยืนก็จะต่างจากป็อกตรงที่ ป็อกบาจะรักษาตำแหน่งการยืนค่อนข้างมากในพื้นที่ตรงกลาง นึกง่ายๆก็จะเป็นกึ่งๆ Engance สไตล์ริเกลเม่(แหม พูดแล้วนึกถึง ชูวิทย์รีเทิร์น) ที่จะยืนปักหลักคุมตรงกลางตั้งแต่แนวลึกยันด้านบนเลย ไม่ขยับออกนอกโซน แล้วเปิดบอลให้เพื่อนทำงานในแอเรียอื่นๆแทน แต่VDB จะขยับออกจากจุดมิดฟิลด์แล้วขึ้นสูงไปถึงกรอบเขตโทษเลย ทั้งเยื้องซ้ายและเยื้องขวาในจังหวะเกมรุก แล้วแต่ว่าบอลเล่นกันอยู่ซีกไหนในตอนนั้น

ภาพนี้แสดงตำแหน่งการสอดขึ้นมาเล่นในกรอบของVDBได้เป็นอย่างดี นั่นคือแกจะไม่ยืนตรงหน้าเป้าเป๊ะๆ แต่จะสอดมาด้านข้างของประตูทั้งซ้ายและขวา แล้วยิงจากตำแหน่งนั้น (ดูสีฟ้ากับสีชมพู คือจุดที่ยิงเข้ากรอบ และจุดที่ยิงทำประตูได้)

ซึ่งลักษณะการเติมเช่นนี้หากมีกองกลางที่ยืนประคองด้านหลังอยู่หนึ่งตัว จะทำให้VDBมีอิสระมากๆ และถ้าทีมพลาดเสียบอล เขาก็มีพละกำลังพอที่จะสปีดกลับตำแหน่งลงมายืนคู่กับกลางตัวที่ว่าได้

ชัดเจนในหัวข้อนี้ว่า ตำแหน่งและการเล่นของทั้งสามคน ไม่มีทางทับกันแน่ๆและสามารถปรับใช้ร่วมกันได้ เพราะในสถานการณ์จริง VDBสามารถสลับตำแหน่งกับทั้งสองคนได้ตลอด พร้อมสกิลเกมรุกที่มีคุณภาพ กับ 10ประตู 11แอสซิสต์ปีก่อน โดยที่สถิติในลีก มีอัตราการยิงประตู1.9ครั้งต่อเกม Key Pass 1.8ครั้งต่อเกม และการจ่ายบอลสำเร็จ82.2%ต่อเกม น่าจะเป็นสถิติที่ดีพอแล้วสำหรับกลางรุก

สถิติรวมของปีที่แล้ว VDBลง37นัด ยิงได้10ประตู 11แอสซิสต์ เมื่อเทียบกับกลางตัวอื่นของทีม

3.2 ด้านเกมรับ

บางครั้งก็ใช้น้องม้าVDBลงต่ำก็ได้ ด้วยความแข็งแกร่งและเกมรับที่ดีเยี่ยม ซึ่งเรื่องเกมรับที่ว่านี้ยืนยันด้วยสถิติปี19/20ของเขาในเอเรดิวิซี่เทียบกับกลางรับของเรา ด้วยtackles won 47ครั้ง (มาติช46 เฟร็ด60) แต่ว่าหากคิดเป็น%เทียบกับปริมาณครั้งในการเข้าบอล VDBเข้าแทคเกิลชนะแม่นสุดด้วยปริมาณ 77% ส่วนมาติช 66.7% และเฟร็ด 44.4%ตามลำดับ

พื้นที่การเล่นเกมรับของVDBตอนอยู่Ajax ครอบคลุมพื้นที่ทั้งสนาม, เยอะเป็นพิเศษตรงกลางขวาด้านหลัง

VDBเป็นกลางรุกก็จริง แต่แทคเกิลโคตรเก่ง ส่วนทางด้านของเฟร็ดนั้นน่าสนใจคือ%สำเร็จน้อยหน่อย แต่ปริมาณที่ทำได้เยอะสุด(60ครั้ง) ก็แสดงให้เห็นว่าเฟร็ดมีจุดเด่นเรื่อง "ปริมาณการเล่นและความขยัน" ซึ่งมันไม่ได้แย่เลย เพราะในภาพรวมสถิติการ"แย่งบอลได้"ทั้งหมด (ตัดบอล+แทคเกิล) เฟร็ดค่าสูงสุดอยู่ที่3.4ครั้งต่อเกม มาติช3.2 ส่วนVDB 2.7ครั้งต่อเกม (แถมด้วยclearanceเฉลี่ยนอีก0.5ครั้งต่อเกม)

มันทำให้เห็นว่า มาตรฐานการเล่นเกมรับ VDBใกล้เคียงกับกลางรับทั้งสองของเรามาก แต่วิธีการเล่นรับคือชัดเจน VDBเป็นสาย"เข้าบวก"แม่นๆหนักๆนั่นเอง ส่วนเฟร็ดก็เข้าไปพัวพันแย่งบอล มาติชเน้นวิ่งบีบมุมคุมพื้นที่

4. VDB กับแผนของปีศาจแดง

การเล่นของฟานเดอเบคนั้นสามารถลงได้ทั้งแผนปัจจุบันด้วย และยังสามารถ "ครีเอทแผนใหม่ๆ" ขึ้นมาได้อีกเพียบ ไล่ไปทีละสูตร

4.1 สูตร 4-2-3-1 ของโซลชา

แผนทั่วไปของแมนยู VDBนั้นสามารถที่จะลงได้ทั้ง2แอเรียในแผนนี้ ทั้งยืนกองกลางระนาบที่เป็นแกนคู่double pivot และยืนกลางรุกตัวสูงในตำแหน่งบรูโน่

VDBเล่นได้ทั้งสองตำแหน่งในแผนนี้ แปลว่าเขาสามารถหมุนไป "ลงตรงไหนก็ได้" ในแผน 4-2-3-1 นี้ และที่สำคัญคือ "ลงกับใครก็ได้ด้วย"

ประเด็นแรกที่ต้องdiscussกันก่อนก็คือ ตำแหน่งที่ดีที่สุดของVDBในแผนนี้ควรลงตรงไหน ในการวิเคราะห์ความสามารถที่all-aroundของเจ้าตัวแล้ว ถ้าจะให้มีประโยชน์จริงๆคือ VDBควรจะยืนในตำแหน่ง "กลางคู่" ตรงdouble pivot เป็นหลัก เพื่อที่จะใช้ความสามารถด้านปริมาณการวิ่งและความแข็งแกร่งในมิติกลางสนามให้คุ้มค่า

ในแผนนี้ ตำแหน่งนี้ ลงยืนคู่กับใครได้บ้าง

VDB Pogba อันนี้ใช้งานได้ เพราะว่าดอนนี่มีมิติในการเล่นเกมรับและความขยันสูง ช่วยทดแทนป็อกบาได้ในระดับหนึ่ง และเล่นเกมรับทดแทนเฟร็ด มาติชได้(จากสถิติที่ว่าไว้)

VDB Mctominay คู่นี้เชียร์มากที่สุดเพราะว่า เป็นคู่มิดฟิลด์แห่งอนาคต เหมือนที่กล่าวเอาไว้ในบทความก่อนๆ สดทั้งคู่และเล่นแตกต่างกันเหมือนหยินกับหยาง ตัวนึงขึ้นไปเติมรุก อีกตัวนึงคอยตัดเกม เอาชนะการครองบอล ซัพพอร์ทอยู่ด้านหลัง

VDB Fred คู่นี้น่าเป็นห่วงนิดหน่อยเพราะว่าไม่มีตัวโฮลดิ้งอยู่เลย แม้ว่าVDBจะเล่นได้ แต่ถ้าเขาเป็นตัวครองบอล เฟร็ดก็เติมเกมรุกขึ้นไปไม่ค่อยดีเท่าไหร่อีก

VDB Matic คู่นี้ถือว่าโอเค น่าดู ก็คล้ายๆป็อกบา-มาติช มิติตรงนี้ทดแทนกันพอดี แค่ว่าVDBไม่ต้องโฮลด์บอล ฝากภาระให้มาติช แล้วตัวเองขึ้นไปเล่นรุกคู่กับบรูโน่

แต่ถ้าจะไม่ใช้VDBตรงตำแหน่งกลางคู่ในแผนนี้ จะใช้เขายืนเป็นAMด้านบนก็ได้เหมือนกัน โดยที่ด้านหลังควรจะมีมิดฟิลด์ตัวปั้นเกมอย่างน้อยหนึ่งตัว และตัวต่ำอีกสักตัวนึง VDBก็จะแสดงประสิทธิภาพได้เต็มที่ หากจะใช้VDBลงแทนบรูโน่ในยามที่ลงสนามไม่ได้ ก็ควรจะเป็นเซ็ต Pogba-Matic-VDB อันนี้จะแจ่มสุด ตามภาพเลย

แทคติกจะค่อนข้างสมบูรณ์ เพราะมีตัวต่ำดูแลพื้นที่ด้านหลัง(มาติช), มีตัวครีเอทเกมรุก(ป็อก), มีตัวสอดขึ้นสูงไปเล่นรุกร่วมกับกองหน้า(VDB) อันนี้perfectเลย มันก็คล้ายๆกับfull teamปัจจุบันนั่นแหละที่เป็น ป็อก มาติช บรูโน่

นั่นแปลว่า ต่อจากนี้หากบรูโน่เจ็บขึ้นมา ทรงการเล่นเดิมจะกระทบกระเทือนไม่มาก เพราะมีป็อกบาเป็นเพลย์เมคเกอร์แทน แล้วเดอเบคคอยเติมขึ้นสูงในเกมรุก หรือถ้าวันไหนป็อกบาไม่อยู่ ก็ใช้เป็น Matic-VDB-Bruno ก็จะค่อนข้างบาลานซ์และสมบูรณ์เหมือนกัน

แถมที่สำคัญ ในสูตรพื้นฐานนี้บางครั้งเราอาจจะจัดทีมโดยถ่างบรูโน่ออกไปเล่นเป็นปีกตัว Advance Playmaker ริมเส้นได้ คล้ายๆกับวิธีการเล่นของมาต้า คือเป็นปีกที่สร้างสรรค์เกมจากด้านข้าง ไม่ต้องเน้นเข้าทำเหมือนIFหรือกระชากครอสริมเส้นเหมือนWinger

จากรูปนี้ชัดเจนนะครับ เนื่องจากว่าเรามีVDBเข้าทีมมาแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องปักหมุดให้บรูโน่อยู่กลางไปตลอด เราอาจจะใช้มิติที่เป็นตัวadvance เล่นโรมได้ทุกจุดในเกมรุกของบรูโน่ ให้ถ่างออกไปด้านข้างหน่อยนึง(ไม่ต้องติดริมเส้น)เล่นปีกตัวเพลย์เมคเกอร์ แล้วคู่กลางก็ใช้ตัวอื่นที่มีอยู่ ลงคู่กับป็อก จะเฟร็ด แม็ค มาติช ได้หมด

สูตรเดิม ปรับเปลี่ยนตัวยืน ก็สร้างอะไรใหม่ๆให้ทีมได้แล้ว ตัวเลือกนี้น่าสนใจสุดๆในวันที่เราแห้วน้อนเต็น Jadon Sanchoเนี่ยแหละ

4.2 "4-2-4 Ghost"

แต่จุดที่น่าสนใจของทรงพื้นฐาน4-2-3-1 ของโอเล่ ในยามที่มี VDB ลงเล่น มันจะเกิด "Formationพิเศษ" ชั่วขณะหนึ่งในจังหวะเกมรุกได้ อันนี้เกิดขึ้นจริงแล้ว นั่นก็คือ

แมนยูจะกลายร่างทรงเป็น "4-2-4 Ghost" ในจังหวะเข้าทำ ทุกครั้งที่มีฟานเดอเบคอยู่ในสนาม

เพราะว่า"หนึ่งในสาม" กองกลาง จะเติมขึ้นไปเป็นกองหน้าในกรอบเขตโทษอีกตัว จากกองหน้าฟร้อนท์ทรีปกติ จะกลายเป็น "กองหน้า4ตัว" ในช็อตเข้าทำทันทีตามรูปนี้

แผนในfinal thirdอันนี้คล้ายๆแทคติกของBielsaที่ใช้กับLeedsในจังหวะเข้าทำ จะเพิ่มnumbersของผู้เล่นให้มากในพื้นที่คู่แข่ง ปรัชญาอันเดียวกัน กล่าวคือไม่ว่ากองกลางจะเป็นเซ็ตไหน แต่หากมีVDBอยู่ เขาจะเข้าไปอยู่ในกรอบเป็นกองหน้าเงาอีกตัวเสมอ ซึ่งจะเพิ่มการเข้าทำให้ทีมมากขึ้น และผลิตสกอร์ได้มากกว่าเดิม จากรูปคือกรณีที่ ป็อกบา บรูโน่ และ ฟานเดอเบค ลงพร้อมกัน โดยที่Formationหลักคือ Pogba กับ VDB ดูแลการเล่นในภาคbuild-up play คู่กันตรงกลางตามปกติ

แต่เมื่อถึงจังหวะเข้าทำสุดท้าย VDB จะออกจากตำแหน่งpivotคู่ แล้วขึ้นไปสูงกว่ากลางตัวอื่นทันที

*ข้อสังเกต : จะเห็นได้ว่าฟอร์มยืนแบบนี้ ตรงกลางมันจะเป็นการปั้นเกมคู่กันตามปกติของบรูโน่-ป็อกบา แบบที่เราเห็นเลย แต่จะต่างออกไปคือ กองกลางด้านหลังจากเดิมที่มีมาติชยืนดักต่ำ จะกลายเป็นVDBที่วาร์ปขึ้นไปยิงแทน ดังนั้นเหมาะมากที่จะใช้ประโยชน์จากคู่PogBruในการสร้างเกมรุกขึงคู่ต่อสู้ในตำแหน่ง"เบอร์8คู่" เช่นนี้

นี่จึงเป็นการจำลองสถานการณ์สำคัญในเรื่องที่หลายคนสงสัยว่า Pogba, Bruno, van de Beek สามารถลงพร้อมกันในระบบ4-2-3-1 ได้หรือไม่ และจะเล่นทับกันมั้ย

การสร้างฟอร์มGhost4-2-4ชั่วพริบตาในจังหวะสุดท้ายนี้ น่าจะตอบคำถามได้แล้ว ดังนั้นแมนยูไนเต็ดอาจจะจัดสามคนนี้ลงพร้อมกันในสูตรพื้นฐานได้ดังนี้เลย

นี่คือformationในฝันที่หลายๆคนรออยู่ จะให้กลางรุกสามตัวลงพร้อมกัน สามารถลงในรูปแบบนี้ได้ ก็คือ Pogba ยืนเป็น Deep-Lying Plamaker ตัวต่ำโฮลด์บอลวางบอลด้านหลัง, ฟดบ เล่นbox to box คัฟเวอร์พื้นที่ตรงกลางที่จะเติมขึ้นไปเป็น AM และกองหน้าเงา สร้างฟอร์ม4-2-4 ในจังหวะเข้าทำ, Brunoเล่นplaymakerหลังตัวรุก ขึงอยู่ตรงกลางคู่กับป็อกบา

นี่คือสามประสานกลางรุกในสูตร "กองกลาง3B" (Bru Ba Beek)

แทคติกการใช้สามคนนี้ร่วมกัน เหมาะกับเกมที่คู่ต่อสู้ไม่มีเกมรุกที่น่ากลัวหรือตัวอันตราย และปรับใช้ในยามที่แมนยูไนเต็ด "ต้องการประตู" ตอนที่เกมตามอยู่ ก็ส่งมันลงมาให้ครบสามคน ใช้สูตรกลางรุก3B อันนี้ เพื่อเสริมพลังรุกให้ "กองหน้า3M" (Marcus Martial Mason) ก็จะสามารถสร้างสมการเกมรุก "3B + 3M = Goals"

แผนนี้ใช้เปิดเกมรุกแบบพับสนามบุก ยิงกระจุยรับประกันความโหด ส่วนเกมรับไม่ต้องพูดถึง ยิงให้ได้เยอะกว่าเสียก็พอ(ฮา) เพราะถ้าใช้สามคนนี้พร้อมกันจะไม่มีมิดฟิลด์เชิงรับอยู่ในสนามเลย จึงจำเป็นต้องใช้ในสถานการณ์ที่ว่าไว้ด้านบนเท่านั้น แต่จริงๆใน3คนนี้ อย่าลืมว่าเราก็ใช้มิติเกมรับของVDB ที่สามารถปรับมายืนต่ำให้เล่นรับเยอะกว่าPogba Brunoก็ได้นะ

4.3 สูตรหลังสาม "3-4-1-2" (หรือ3-5-2)

ในกรณีการใช้หลังสาม นั่นแปลว่าแมนยูเน้นเกมรับเป็นพิเศษ และจะใช้เจอกับทีมที่ครองบอลเก่งๆ แล้วรอจังหวะสวนกลับ ซึ่งฟานเดอเบคมีพลังงานในการเล่นสูง และในสูตรนี้อาจจะต้องใช้มิติกลางสนามจากVDBเยอะ ดังนั้นในแผนนี้VDBควรลงตำแหน่ง "กองกลางคู่" เป็นตัวที่เล่นเชิงรุก แล้วมีตัวรับยืนต่ำมาจับคู่คนนึง (ป็อก แม็ค มาติช ได้หมด)

การให้เขายืนต่ำจะสามารถใช้ประโยชน์มิติการเล่นป้องกันของVDBได้ และเจ้าตัวก็มีแรงพอจะวิ่งเติมขึ้นไปสุดกรอบจากตำแหน่งต่ำ เพื่อไปร่วมเกมบุกด้วยได้สบายๆ

น่าจะดีกว่าให้ยืนตำแหน่งกลางรุกเดี่ยวๆด้านบนในแผนนี้ ซึ่งควรเป็นบรูโน่มากกว่าที่จะต้องรับบอลและครีเอทบอลต่อให้กองหน้าคู่เล่นcounter-attackในเกมเร็ว

4.4 แผนไดมอนด์ "4-4-2 Diamond"

ผมเชื่อว่าหลายๆคนน่าจะรอดูแผนไดมอนด์กันอยู่ ดูตามรูปได้เลย คือจะใช้มิดฟิลด์ยืนตรงกลาง4ตัวเลยในลักษณะคล้ายๆข้าวหลามตัด4มุม เพชร4เหลี่ยม ที่มีมุมล่าง(กลางรับ) มุมซ้ายขวาด้านข้าง (ตัวกลางสองตัว) และยอดเพชรมุมบน(กลางรุก)

ตำแหน่งที่VDBสามารถจะลงในสูตรนี้ สองตำแหน่งที่น่าจะดีสุดก็คือ เหลี่ยมยอดเพชร(กลางรุก) กับ เหลี่ยมขวา(กลางb2b)

ถ้าจะเล่นแผนไดมอนด์ มิดฟิลด์ตัวจริงเซ็ตที่ดีที่สุดควรจะใช้ตามภาพด้านบนก็คือ

Bruno ยืนเหลี่ยมบน

Pogba ยืนเหลี่ยมซ้าย / VDB ยืนเหลี่ยมขวา(เพราะเจ้าตัวถนัดเล่นซีกเยื้องขวาตามสถิติ)

ใช้Maticยืนเหลี่ยมล่างสุด

นอกจากนี้ แผนนี้ยังใช้Greenwoodเป็นตัวสำรองทีเด็ดลงมาเปลี่ยนตัวกับหน้าคู่โดยตรง หรือปรับแทคติกกลับไปเป็น4-2-3-1ด้วยการถอดกลางออก1ตัวก็ทำได้เช่นกัน อันนี้ดีมากๆ

ข้อดีของการให้ VDB ยืนคู่ป็อกบา ก็เพราะว่าถ้ายืนสูงตรงจุดBruno VDBอาจจะถูกเพ่งเล็งเป็นเป้าสังหารอีกคนนึงแน่นอน ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่เขาอยากเจอ

หากให้เล่นตัวกลางสนาม น้องม้าของเราอาจจะวิ่งสอดขึ้นมาจากแนวลึกได้สบายๆโดยที่คู่แข่งจะงงว่า จะวิ่งตามไปประกบ หรือจะคุมโซนตัวเองดี และก็จะเข้าเงื่อนไขGhost ที่VDBจะกลายเป็นกองหน้าเงาตัวที่3 ไปเติมเกมรุกเพิ่มกับแรชหมาก โดยคู่ต่อสู้หาตัวประกบไม่เจอ

หรือจะให้VDBเล่นเพชรเหลี่ยมบนไปเลยก็ได้ตามรูป แล้วเวลาบุก ให้ป็อกบาบรูโน่ ขึงเกมคู่ตรงกลาง ส่วนVDBขึ้นไปเป็นกองหน้าตัวจบสกอร์สามคนด้านบนในจังหวะเข้าทำก็ได้ โดยมีมาติชห้อยท้ายด้านล่าง ทำให้ข้างบนในเกมรุกจะใช้นักเตะ5คนเต็มๆ (หมาก แรช ฟดบ ป็อก บรูโน่)

VDBเติมจากตำแหน่งยอดไดมอนด์ ขึ้นไปเป็นกองหน้าเสมือน3ตัว

4.5 "4-4-2ไดมอนด์ ร่างทรง 4 จตุรอาชา"

ในแผนไดมอนด์นี้ยังมีสิ่งที่น่าสนใจอยู่อย่างนึง นั่นก็คือ เราสามารถสร้างแผน "4 จตุรอาชา" (The Four Horsemen) ได้อีกด้วย มันคือการที่จะนำ "มิดฟิลด์พลังม้า" ที่มีอยู่ทั้งหมด4ตัวมาลงสนามพร้อมกัน อันได้แก่

Fred / van de Beek / Mctominay / Bruno

อย่างที่รู้กันว่าในบรรดามิดฟิลด์ที่มีอยู่ในทีม ตัวที่พละกำลังเหลือรับประทาน และ"ขยันวิ่ง"ไม่มีหมดยังกะม้านั้นก็คือ4ตัวนี้ แผนนี้เหมาะกับเกมที่ต้องใช้ "ปริมาณการเคลื่อนที่" ในการจัดการคู่ต่อสู้ ทั้งการวิ่งเพื่อเอาชนะการครอบครองบอล, การเล่นบอลบู๊ ปะทะกันในเกมที่ไดนามิคสูงๆ(บอลเคลื่อนตลอดเวลา)

วิธีการยืนในแผน4จตุรอาชา จัดได้ดังนี้

แค่คิดก็มันส์แล้วแผนนี้ ลองนึกดูว่าไอ้4ตัวนี้วิ่งพล่านไม่หยุดกันหมดทั้ง4ตัว เหมือนได้บัฟจากเอเรร่าที่ทิ้ง"ของ"เอาไว้ใต้ถุนโอลด์แทรฟฟอร์ด มันจะดีดขนาดไหน แล้วยังมี แรช ชอว์อีกที่จะตะบี้ตะบันวิ่งไม่หยุดทั้งทีม

(เขียนไปเขียนมามันเริ่มไม่เท่แบบThe Four Horsemenแล้ว เหมือนจะเป็นประเพณีวิ่งควายมากกว่า -..-'')

เอาเป็นว่าแผนนี้น่าสนใจมากๆ ผมมองในแง่ที่ว่า สูตร4จตุรอาชาเป็นแผนพิเศษ ใช้เพื่อประยุกต์ในวันที่โอเล่ต้องการเล่น "Pressing" เต็มรูปแบบทั้งสนามใส่คู่ต่อสู้ขึ้นมา หรือในเกมที่ต้องการ "พละกำลังในการเคลื่อนที่" กว่าปกติ

VDBสามารถใช้ให้เล่นเพรสซิ่งสูงและเข้าแทคเกิลใส่คู่ต่อสู้ได้สบายๆเหมือนเวลาใช้14ไล่บอล

แผนการใช้4คนนี้ไม่ได้ดูเพ้อฝันเลย แต่น่าคิดอย่างยิ่งว่า ถ้าเอามาไล่เพรสใส่คู่แข่ง ผมว่ามีหนาว เพราะแต่ละคนวิ่งไม่หยุด และวิ่งไม่หมดด้วย เพราะพลังงานการเล่น และความมุ่งมั่นสูง work rateสูงมากทั้ง4ตัว

ถ้าวันไหนจะปรับแทคติกมาใช้เพรสซิ่ง ไลน์อัพนี้เหมาะสุดในการรับมือกับแค่เฉพาะ"บางเกม"เป็นพิเศษเท่านั้น นานๆใช้ที

ทั้งนี้ทั้งนั้น การที่แมนยูจะใช้แผนไดมอนด์เล่นนั้น มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีเลยก็คือ หากว่าปีนี้ซื้อปีกขวาเข้ามาไม่ได้ ก็จับนักเตะเล่นแผนไดมอนด์ไปเลย ไม่ต้องใช้ปีก เล่นหน้าคู่แล้วกลาง4ตัวไปเลย แต่มีข้อควรระวังเล็กน้อยเพราะ สูตรไดมอนด์จำเป็นต้องพึ่งพา "แบ็คซ้ายขวา" หนักมากๆ เพราะว่าแผนนี้ไม่มีตัวริมเส้นเลยทั้งตัวรุกทั้งกองกลาง

ดังนั้นคนที่จะต้องรับผิดชอบเกมริมเส้นทั้งหมดไม่ว่ารุกรับก็คือผู้เล่นตำแหน่งวิงแบ็ค ซึ่งทางฝั่งซ้ายหากลุคชอว์ฟิตปกติ ก็ไม่น่าห่วงอะไร แต่ด้านขวานี่สิ AWB หรือจะBW แม้กระทั่ง TFMก็ตาม ไม่มีใครเล่นแบ็คขวาที่จะเติมเกมรุกได้ดีเลย

ปัญหาของสูตรนี้ถ้าแบ็คไม่เก่ง เติมเกมไม่ได้ แทคติกมันก็จะไม่สมบูรณ์ ดังนั้นสูตรนี้จึงแค่ก็"พอจะใช้ได้" โดยเกมรุกก็พึ่งมิดฟิลด์4ตัวไปเลยเต็มๆ ไม่ต้องหวังจากแบ็คมาก แต่เกมรับก็ยังสามารถใช้แบ็คได้ตามปกติ แบบนี้ก็พอไหวอยู่

4.6 "4-3-3" น้ามู(แยน)สไตล์

หากยังจำกันได้ ตอนที่โอเล่มาคุมทีมต่อจากน้ามูแรกๆแกก็ใช้แผน4-3-3มาก่อนช่วงนึง ตอนที่ใช้หน้าสามเป็นลินแรชหมาก แผนนี้ยังไม่ได้ตายสนิท เพียงแค่ว่ามันจะฟื้นคืนชีพขึ้นมาตอนไหนเท่านั้นเอง ซึ่งจริงๆเป็นแผนที่สมดุลมากๆ

VDBจะเป็นอิสระที่สุดในสูตรนี้ เนื่องจากว่าสามารถrollingไปยืนตรงไหนก็ได้ในกลางสูตรนี้ ไม่ว่าจะตัวต่ำ ตัวซ้ายตัวขวา ได้หมด เป็นเพราะว่ามิติกองกลางสูตรนี้มันจะไม่แยกชัดระหว่าง CM กับ AM แต่ทำหน้าคู่กันเลยในpositionตรงกลาง จะมี "กลางรับ" ชัดเจนหนึ่งตำแหน่งด้านหลังคอยปัดกวาดเก็บงานหลังบ้านให้

4-3-3เหมาะจะใช้เวลาเจอกับทีมที่กองกลางแน่นๆ และมีแผนที่ใช้ "มิดฟิลด์ตัวรับแท้"ทั้งหลาย ไม่ว่าจะDMหรือAnchor Manก็ตาม ตัวพวกนั้นมักจะยืนปักหลักหน้าแผงหลัง แล้วตามประกบตายกลางรุกทีมเรา

และแผนนี้ยังเหมาะจะใช้งานในยามที่ทีมขาดกลางรุก หรือทีมจะใช้แทคติกที่ไม่มีกลางรุก 4-3-3ถือว่าตอบโจทย์

อนึ่ง แผน4-3-3ไม่ควรจะใช้ 3B ลงพร้อมกัน ควรมีตัวปัดกวาดด้านหลังหนึ่งคน แม็คเฟร็ดมาติช แล้วคู่กลางใช้เป็นVDB+Pogba จะเวิร์คสุดในแผนนี้ 

แต่หากอยากให้พวกเขาลงในสูตรนี้พร้อมกัน ก็ควรใช้ป็อกบาเล่นตัวต่ำ แล้วกลางคู่ใช้เป็น บรูโน่+VDB จะดีที่สุด

อีกกรณี หากว่าอยาก"ลองของเกมรับ" ของน้องม้าฟานเดอเบค แฟนผีคนไหนที่คาดหวังอยากเห็นVDBร่างทรงสมัดเจอร์ "อลัน สมิธ" มาเข้าสิง ก็จับVDBมายืนกลางต่ำใน4-3-3เลย อย่าลืมข้อมูลข้างต้นที่ว่า ดอนนี่แทคเกิลดีที่สุดในบรรดาแผงกองกลางทุกคน

รับรองแม่งบวกกระจายแน่ๆ

หากปรับใช้ให้ดีๆ แมนยูจะมีแผนการเล่นที่หลากหลายเอาไว้ใช้รับมือในสถานการณ์ที่แตกต่างกันได้อย่างดี ซึ่งเป็นสิ่งที่เราได้รับจากการที่มี Donny van de Beek มาร่วมทีม ทำให้ปีศาจแดงยืดหยุ่นในการจับแผนได้สารพัด โดยที่คุณภาพการเล่นจะไม่ดรอปลงเลย

เรามาตามดูกันว่า ในบรรดา4แผนหลัก 2แผนพิเศษเหล่านี้ จะออกมาให้แฟนผีได้เห็นกันเกมไหนบ้าง รอติดตาม แต่ทั้งหมดทั้งมวลนี้คือคู่มือการใช้ฟานเดอเบคในทุกๆแผนการเล่นที่เป็นไปได้จริง หวังว่าท่านผู้อ่านจะเห็นภาพการใช้งานครบทุกมิติแบบที่เข้าใจได้จริง ไม่ต้องงงกับพวกกราฟสถิติตัดแปะให้มึนหัวแต่อย่างใด อธิบายภาคformation & tacticsล้วนๆ

ภาวนาให้โซลชาเห็นเหมือนกับที่เราเห็น และ"รีดเร้น"เอาขีดความสามารถสูงสุดของนักเตะออกมาใช้ให้ได้ เหมือนที่คล็อปป์ทำก็จะดีมาก แล้วกองกลางชุดนี้จะไปได้ไกลกว่าที่เราคิดไว้ เพราะศักยภาพแต่ละตัวสูงจริงๆ

หากขุดมันออกมาใช้ได้หมด แผงมิดฟิลด์เราจะไร้เทียมทานทันที

-ศาลาผี-

นี่ก็แผนจตุเหมือนกัน แต่เป็น "จตุรเทพ(ที่มีกัน5คน) รุ่นที่3 ปี2020!!!"

References

https://www.whoscored.com/Players/275035/History/Donny-van-de-Beek

https://talksport.com/football/759299/donny-van-de-beek-manchester-united-bargain-chaos-bruno-fernandes/

https://www.transfermarkt.com/donny-van-de-beek/leistungsdaten/spieler/288255/saison/2019/plus/1#gesamt

https://www.skysports.com/football/news/11667/11973700/donny-van-de-beek-why-do-manchester-united-want-to-sign-the-ajax-midfielder

https://tribuna.com/en/manutd/news/2020-06-08-3-ways-man-united-could-line-up-if-donny-van-de-beek-joins-next-season/

https://breakingthelines.com/scouting-report/scouting-report-donny-van-de-beek/

https://www.footballcritic.com/donny-van-de-beek/player-positions/52635

https://www.youtube.com/watch?v=G6nU-G_YjIY

ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ระดับ : {{val.member.level}}
{{val.member.post|number}}
ระดับ : {{v.member.level}}
{{v.member.post|number}}
ระดับ :
ดูความเห็นย่อย ({{val.reply}})

ข่าวใหม่วันนี้

ดูทั้งหมด