:::     :::

Tactical Analysis : มิดฟิลด์กล่อง ปิระมิดย้อนศร และเหล่าแชมป์90แต้ม+

วันศุกร์ที่ 20 พฤศจิกายน 2563 คอลัมน์ #BELIEVE โดย ศาลาผี
3,578
ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
จุดร่วมของทีมแชมป์90แต้ม+ในช่วง4ปีให้หลังที่สะท้อนให้เห็นสิ่งที่แมนยูขาดอยู่เพื่อจะก้าวขึ้นเป็นแชมป์ซึ่งอ้างอิงปรัชญาของปิระมิดหัวกลับ เกมขึงริมเส้น และวิธีการแก้ปัญหาของยูไนเต็ดในช่วงนี้

ฤดูกาลนี้น่าจะเป็นอีกซีซั่นนึงที่เดายากว่าใครที่จะเข้าป้ายตำแหน่งแชมป์ของปีนี้ และชื่อของผู้ชนะปีนี้ก็อาจจะสร้างกระแสอะไรได้อีกครั้ง ซึ่งจากการสังเกตสถิติอย่างใกล้ชิดนั้น 4ซีซั่นที่ผ่านมาถือว่าผิดแปลกไปจากเดิมมาก เพราะช่วงก่อนฤดูกาล2016/17 มีเพียงแค่5ทีมเท่านั้นที่ทำคะแนนทะลุ90แต้มในช่วง24ปีที่ผ่านมา แต่ว่า4ปีล่าสุด เรากลับมีถึง5ทีมที่ทำแต้มทะลุขีดจำกัดนี้ก่อนที่4ทีมในนั้นจะคว้าแชมป์ในบั้นปลาย ส่วนอีกทีมต้องอกหักไปเพียงนิดเดียว

ระยะหลังเกิดอะไรขึ้น และทีมเหล่านั้นที่ทำแต้มถล่มทลาย มีวิธีการเล่นอะไรบ้างที่เป็นส่วนสำคัญ?

หากคุณเป็นแฟนตัวยงของ Fantasy Premier League แล้วละก็น่าจะนึกหน้าพวกตัวขาประจำตัวแบกที่ฟอร์มเสถียรๆหน่อย คือพวกนักเตะที่น่าจะทำแต้มสูงให้ในแฟนตาซีโดยไม่ต้องกังวลว่า เดี๋ยวอาทิตย์นั้นๆจะต้องเจอกับทีมอะไร (ยิ่งบางตัวดีๆ เลือกใช้x2 x3 แม่นๆยิ่งกระฉูด) คือพูดง่ายๆว่าเจอใครก็เล่นดีแน่ๆล่ะ พวกนี้คือtermsที่เค้าเรียกกันว่า "Fixture Proof" ประมาณว่าตัวแบกไร้เทียมทานประมาณนั้น

ซึ่งเหล่าทีมที่แต้ม90+ พวกนี้ส่วนใหญ่ก็มักเป็น fixture proof ที่มักจะโกยแต้มให้ในแฟนตาซีด้วยการชนะคู่แข่งเสมอๆไม่ว่าจะวิธีใดๆก็ตาม และในแฟนตาซีคนก็จะเลือกตัวพวกนี้เยอะ

แล้วแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดล่ะ เป็นยังไงบ้าง อยู่ตรงไหนในเรื่องนี้?

การตบ Paris Saint-Germain และ RB Leipzig ที่เป็นสถิติชัยชนะหลังยุคเฟอร์กี้เป็นต้นมานั้น ไร้ความหมายทันทีเมื่อทีมมาพ่ายแพ้ให้กับอาร์เซนอลและอิสตันบูล บาซัคเซเฮียร์ ดังนั้นถ้าใครจะบอกว่า "ยูไนเต็ดยังไม่มีความชัดเจนในทีม" ก็ถือว่าคงจะเป็นเช่นนั้น

แมนยูไนเต็ดของโอเล่กุนนาร์โซลชานั้น มักจะ "ขาดความแน่นอน" ในการเล่นอยู่เป็นประจำ

ดังนั้นไม่ต้องพูดถึงFixture Proofเหมือนทีมแชมป์เหล่านั้นเลย ตัวประเภทที่ลงยังไงก็โกยแต้มแน่นอนนั้น แมนยูไนเต็ดไม่มี จะมีช่วงหลังๆที่ดูเหมือนบรูโน่น่าจะเข้าข่าย เพราะฟอร์มดีทุกนัด แต่ก็ไม่สามารถแบกทีมได้ด้วยตัวคนเดียวเหมือนกัน

อดีตกัปตันทีมเราอย่างแกรี่ เนวิลล์เองนั้น ก็เหมือนๆกับโค้ชคีย์บอร์ดทั่วไปอย่างเราๆท่านๆที่พยายามสุมหัวหาสูตรสำเร็จในการแก้ปัญหาของทีมให้ได้เพื่อที่จะไปขิงออนไลน์ใส่เพื่อนอย่างเจมี่ คาราเกอร์นั่นเอง(ฮา) เมื่อสัปดาห์ก่อนๆแกรี่แนะนำเรื่องวิธีใช้มิดฟิลด์กับรายการMonday Night Football หลังจากนั้นต่อมาเมื่อโซลชาก็จัดไดมอนด์ลงมาเจออาร์เซนอลจริงๆ (และสุดท้ายแพ้) สุดท้ายก่อนที่จะออกมาบอกว่า การใช้แผนนี้มันเป็นเพราะความกดดันในการที่ต้องทำให้มิดฟิลด์คนอื่นๆพอใจด้วย

aka Donny van de "Bench"

เอ้า! ก็แนะนำแผนเองไม่ใช่เหรอแกรี่ (ส่วนในเกมนั้น ตอนพรีวิวแมตช์ผู้เขียนตัดไดมอนด์ออกเป็นแผนแรกซะด้วยซ้ำ โคตรไม่เหมาะจะใช้เจออาร์เซนอลเลย ไม่รู้จะเชียร์กันทำไม -.,-) ซึ่งทางเนวิลล์กับเราๆท่านๆที่เป็นโค้ชคีย์บอร์ดกันอยู่นั้น เวลาพูดอะไรผิดหรือแนะนำอะไรผิด เราก็ไม่เสียหายอะไรอยู่แล้ว ยังชิ่งได้

แต่โชคร้ายที่โซลชาอยู่ในตำแหน่งที่จะชิ่งไปไหนไม่ได้ ทุกอย่างขึ้นกับการทำทีมล้วนๆ ซึ่งแกรี่ เนวิลล์ก็มองว่าทีมเรามีจำนวนของปัญหาเยอะเกินกว่าหนทางแก้ที่พอจะทำได้ และมันก็จริงซะด้วย

ในการจะลงแข่งขันให้ชนะแต่ละแมตช์แล้วคว้าแชมป์นั้น มันก็จริงอยู่ว่าไม่มีสูตรลับใดๆตายตัวทั้งนั้นเพื่อจะพาทีมเป็นแชมป์ แต่อย่างไรก็ตามในหลายๆปีให้หลัง การทำลายสถิติที่เกิดขึ้นจากทีมในพรีเมียร์ลีกดังกล่าวนั้น ดูเหมือนแต่ละทีมที่ว่านั้นจะมี "จุดร่วม" อะไรบางอย่างด้วยกันอยู่ เช่นนั้นแล้วเราจะมาดูทีมต่างๆเหล่านั้นว่าเป็นยังไงบ้าง และแมนยูไนเต็ดจะสามารถapplyสร้างปัจจัยนี้ให้มีในทีมเราได้เหมือนคนอื่นหรือไม่ เพื่อที่จะคว้าแชมป์ให้ได้ และใครคือนักเตะชุดปัจจุบันที่เป็นตัวแบกบ้าง

ทีมเหล่านี้มีดียังไง

เชลซีของConte


Manchester City ของ Pep


Liverpool ของ คล็อปป์


มองเห็นจุดร่วมกันมั้ยครับ ผู้เขียนเริ่มเห็นละ.. เอ้า แปลกันต่อ

จุดอ่อนที่แมนยูไนเต็ดมีนั้น สามารถเทียบเคียงได้กับตำนานเรื่องหนึ่งในเทพปกรณัมกรีก เสมือนเป็น "ข้อเท้าของอคิลลิส" จุดอ่อนเพียงจุดเดียวในร่างกายของอคิลลิสที่ถูกธีทิสพ่อของเขาจับเอาไว้ขณะจุ่มตัวอคิลลิสลงแม่น้ำเพื่อความอยู่ยงคงกระพัน ซึ่งจุดอ่อนของทีมนั่นก็คือ การเล่นที่ยังไม่คงเส้นคงวาในยามที่เจอคู่แข่งถอยไปรับลึก หรือตั้งบล็อคต่ำๆ ซึ่งข้อดีที่อาจจะพอหาได้จากเรื่องที่ว่านี้ก็คือ เราเป็นทีมฝั่งที่ทำได้ดีกว่าในภาคของการครองบอลเท่านั้นเอง

ในทางทฤษฎีนั้นฟุตบอลเป็นเกมกีฬาที่ต้องใช้11คนรับผิดชอบทั้งในการเรื่องฟังก์ชั่นการรุกและการรับของทีมพร้อมๆกัน

แต่ภาพจากด้านบนทั้งหลายที่นำมาเป็นตัวอย่างนั้น มัน"แบ่งแยก"หน้าที่กันค่อนข้างชัดเจน เพราะ5นักเตะจากสามทีมที่ยกมาดังกล่าวนั้นมีหน้าที่หลักในการบุก ส่วนอีก5คนที่เหลือก็จะเน้นรับผิดชอบเกมรับอย่างเห็นได้ชัด เป็นความสมมาตรชัดเป๊ะสไตล์หนังของWes Andersonเลยทีเดียว (ใครนึกไม่ออกก็อย่างหนัง The Grand Budapest Hotel เป็นต้น)

ยกตัวอย่างเพิ่มเติมให้จากรูปง่ายๆเช่น เซ็ตของลิเวอร์พูลในรูป หน้าที่มันค่อนข้างชัด 5ตัวล่างอย่าง เฮนโด้ ดุม แฟ้บ ฟานไดค์ โกเมส ห้าคนนี้เกมรับเน้นๆ ส่วนแนวรุก SMF + ร็อบโบ้&เทรนท์ ก็โดดเด่นอย่างชัดเจน

แมนซิตี้ชุดนั้นอย่าง โอตาเมนดี้ สโตน แฟร์นันดินโญ่ เดลฟ์ วอล์คเกอร์ ก็สายรับชัดๆ ส่วนนอกนั้นอีก5คนที่เหลือทุ่มรุกสุดตัว ซิลบา เดอบรอยน์(คู่นี้โหดสัส) + กุน สเตอริ่ง ซาเน่ เป็นต้น

สิ่งที่แปลกก็คือ วิธีคิดในการเซ็ตติ้งแบบนี้นั้นมีใช้ย้อนกันไปกว่าร้อยๆปีในรูปทรงการยืนสลับฟันปลากัน คล้ายๆตัวอักษร W-M และยืนกันเป็นทรงของ "ปิระมิดหัวกลับ" ตามภาพด้านล่าง

เรื่องราวนี้ถูกถ่ายทอดไว้ในบทเปิดตัวในหนังสือ Inverting the Pyramid (ถ้าจะมีชื่อไทย ขอตั้งว่า "ปิระมิดย้อนศร" ก็แล้วกัน) ประวัติศาสตร์แห่งแทคติกฟุตบอล ที่Jonathan Wilson ได้เขียนเอาไว้ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเปรียบเสมือนคัมภีร์ไบเบิลของแทคติกบอล

และเมื่อย้อนกลับไปดูทรงของทีมแชมป์90+ สามทีมข้างบนในภาพตอนต้น คุณจะเห็นทันทีว่า มันคือปิระมิดหัวกลับจริงๆด้วย

ปรัชญาของปิระมิดหัวกลับ2-3-5ยังคงมีให้เห็นในยุคนี้ เป็นสิ่งที่แฝงอยู่ในแผนการเล่นฟุตบอลที่ดีแผนหนึ่ง แล้วดูVDBขึ้นทางขวาสิ

ย้อนกลับมาที่เรื่องของแมนยูอีกครั้ง กล่าวคือ ยูไนเต็ดนั้นใช้นักเตะ5คนเป็นพื้นฐานของการเล่นเกมรุกในช่วงโปรเจ็คต์รีสตาร์ทเมื่อปีก่อน และผลการแข่งขันโคตรพ่อโคตรแม่ดี จนกระทั่งมาเริ่มแย่ในช่วงเปิดซีซั่นนี้

Marcus Rashford, Anthony Martial, Mason Greenwood, Paul Pogba และก็ Bruno Fernandes เป็น5ตัวรุกกลจักรสำคัญที่ทำงานเหมือนในเรื่องสมมาตรรุกรับที่เกริ่นไว้นั้นเลย

น่าเสียดายว่าเกมกับอาร์เซนอลนั้นคือครั้งล่าสุดที่ได้เห็นป็อกบากับบรูโน่ประสานงานกันในตำแหน่งมิดฟิลด์ เนวิลล์ตั้งข้อสังเกตแนะนำว่า แมนยูไนเต็ดควรที่จะมอบหน้าที่ให้ บรูโน่ แฟร์นันด์ส กับ ปอล ป็อกบา เล่นแบบเดียวกับที่เป๊ป กวาร์ดิโอล่า ใช้งาน Kevin De Bruyne กับ David Silva มาก่อน แต่ทางด้านคาราเกอร์ก็สวนทันควันว่ามันไม่เวิร์ค เพราะสองคนนี้ยังไม่มีวินัยการเล่นในระดับที่แตะถึงสิ่งที่แผนต้องการ

ตายแล้ว(ปีก)ไปไหน

สูตรของกวาร์ดิโอล่านั้นก็เหมือนเวอร์ชั่นโคตรเทพของการset-up "ตัวรุก5คน" เขาปิระมิดหัวกลับนี้ให้เกิดขึ้น ใช้นักเตะตำแหน่งเบอร์8ในระดับแอดวานซ์ขั้นกว่าด้วยการใช้ถึง2คนพร้อมกัน(8s) ซึ่งก็คือ Silva กับ KDB นั่นเอง (ย้อนขึ้นไปดูภาพของแมนซิตี้ข้างบน)

โชคร้ายที่บางคนคิดว่าจะลอกการบ้านเป๊ปได้ง่ายๆด้วยการทำแบบนั้น แต่ว่าสามารถสรุปได้แบบง่ายๆเลยว่า จะเป็นไปได้แมนยูไนเต็ดจำเป็นต้องมีมิดฟิลด์ตัวรับที่มีไดนามิคสูงๆอย่าง "แฟร์นันดินโญ่" เพื่อเติมเกมรุกให้มากขึ้น แต่ไม่ใช่เรื่องที่จะทำตามได้ง่ายๆเลย

กลางรับเจ๋งๆที่เล่นคนเดียวได้ถือว่าสำคัญมาก ตราบใดที่แม็คเฟร็ดยังไม่สามารถอัพสกิลการเล่นเพิ่มนอกจากเกมรับก็ยาก

โดยมิดฟิลด์สองคนอย่าง ซิลบา กับ เดอบรอยน์ที่เล่นอยู่ในบริเวณฮาล์ฟสเปซ (Half-spaces) คือพื้นที่ที่อยู่ระหว่าง ริมเส้น กับ กลางแกนสนาม ตามรูปข้างล่างนี้ เคลื่อนตัวอยู่ในพื้นที่กึ่งกลาง หลังจากนั้นตัวริมเส้นก็จะขึงด้านข้างในแนวกว้างเอาไว้ตลอดเวลา สำหรับซิตี้ในตอนนั้นของเป๊ปก็มี 'เลอรอย ซาเน่' ทำหน้าที่ดังกล่าว ซึ่งซาเน่เข้ากับแทคติกนี้เป็นพิเศษ เพราะว่าเขาเป็นปีกที่แทบจะเล่นขนานเส้นเลย ชิดมาก

ดังนั้้นมันจึงไม่ใช่แค่เกมจากริมเส้นที่พวกเขาสร้างได้ แต่เขายังมีtoolsอื่นๆในการบุกด้วยอีกมากมายจากคู่ 8s นี้

เอาแบบนึกภาพง่ายที่สุดก็คือ คู่แม็ค กับ เฟร็ดเนี่ยแหละที่เล่นในHalf-Space

หันมามองที่แมนยู มาร์คัส แรชฟอร์ด กับ เมสัน กรีนวู้ดนั้นอาจถูกกำชับแผนมาให้ยืนค้ำสูงในด้านกว้างเอาไว้ แต่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่ามันไม่ใช่การเล่นที่ดีที่สุดของพวกเขาเลยเวลาอยู่ชิดริมเส้น เพราะสองคนนี้ตัดเข้ากลางดีกว่าเล่นริมเส้นชัดเจน ไม่ว่าจะยิงเองหรือว่าเลี้ยงผ่านคู่แข่ง เพราะพวกเขาเป็นกองหน้าforward ไม่ใช่winger

Amad Diallo ที่กำลังจะย้ายเข้ามานั้นดูเหมือนจะมีอนาคตที่สดใสในการเล่นตัวริมเส้นขนานแท้ที่หลายๆฝ่ายได้ทำการติดตามเช็คฟอร์มมานานแล้ว คือท่าจะไปรุ่งแน่ๆ แต่ว่าแมนยูไนเต็ดนั้นรอไม่ได้อีกแล้ว ดังนั้นเห็นแล้วใช่ไหมครับว่าแมนยูไนเต็ดขาดอะไร ที่ซิตี้มี ทีมอื่นมี แต่เราไม่มี..

ใช่แล้ว Winger ตัวขึงพืดคู่ต่อสู้ริมเส้นเนี่ยแหละที่ปีศาจแดงขาดแบบจัดๆ

ประโยคหัวข้อนี้อยากให้พูดด้วยเสียงของ พีช พชร ในSuckSeedจริงๆ

ยุคของฟูลแบ็คมันมาถึงแล้วโว้ย (ยกเว้นที่โอลด์แทรฟฟอร์ด)

กล่าวคือ แม้ซิตี้ของเป๊ปจะแกร่งดั่งซุปเปอร์แมนยังไง แต่อย่าลืมว่าในจักรวาลนี้ก็ยังมีคริปโตไนท์อยู่ และคริปโตไนท์ของเป๊ปก็คือ ลิเวอร์พูล ของเจอร์เก้น คล็อปป์นั่นเอง ซึ่งมีหลักฐานที่บ่งบอกถึงระบบของการเล่นลิเวอร์พูลเป็นอย่างดี และสามารถสรุปได้โดยเร็วเลยว่า ทำไมยูไนเต็ดถึงไม่สามารถเอารูปแบบของคล็อปป์มาเป็นใช้ในการเล่นได้ นั่นก็คือเรื่องของฟูลแบ็คนั่นเอง

คือยุคนี้มันเป็นยุคของฟูลแบ็คจริงๆนะ เป็นส่วนสำคัญของทีมที่จะประสบความสำเร็จ และดูเหมือนทุกทีมเขาก็จะมีฟูลแบ็คดีๆใช้กันทุกที่

ยกเว้นที่โอลด์แทรฟฟอร์ด

ฟูลแบ็คของยูไนเต็ดนั้นไม่สามารถเล่นเกมรุกให้กับแมนยูได้ถึงระดับเดียวกับแบบฉบับของคล็อปป์ ส่วนถ้าจะไปลอกสูตรของอันโตนิโอ คอนเต้ของเชลซีก็คงจะเปล่าประโยชน์เช่นกัน รวมถึงแม้ว่าเมาริซิโอ พอเช็ตติโน่จะเป็นผู้จัดการทีมที่ดีมากๆ แต่หากเข้ามา เขาคงจะไม่ปรับเปลี่ยนให้ลุคชอว์กับวานบิสซาก้าให้เล่นในรูปแบบที่แตกต่างออกไปแน่นอน

ข้อสรุปประการใหญ่ที่สุดตรงนี้ก็คือ ยูไนเต็ดนั้นขาดการ "จู่โจมจากแนวกว้าง" ทั้งๆที่ในยุคสมัยของพรีเมียร์ลีกนั้น เกมรุกจากริมเส้นมันเป็นเหมือน"ยี่ห้อ"ของแมนยูซะด้วยซ้ำ

สิ่งที่สังเกตได้อย่างหนึ่งก็คือ Alex Telles อาจจะเหมาะกับแผนวิงแบ็คของคอนเต้ หรือแม้กับการใช้งานฟูลแบ็คของลิเวอร์พูลด้วยก็ตาม แต่ว่าเขาอยู่กับยูไนเต็ด และก็ไม่มีอะไรมายืนยันว่าTellesจะไปลงในทีมสองชุดนั้นได้เหมือนกัน

กล่อง?

การจับคู่ของสก็อตต์ แม็คโทมิเนย์ กับ เฟร็ดนั้นถูกขนานนามเป็นที่เข้าใจทั่วกันว่า มิดฟิลด์คู่ แม็คเฟร็ด (McFred)นั้น ทำผลงานได้อย่างดีเยี่ยมเสมอๆในการลงทำศึกเกมใหญ่ๆ แต่พอเป็นเกมอื่นทั่วๆไปก็ทำให้เราได้เห็นจุดอ่อนและข้อจำกัดของสองกองกลางคู่นี้ แมนยูไนเต็ดนั้นมุ่งหวังที่จะครองบอลในแดนคู่แข่งให้ได้ และเฟร็ดก็เป็นกุญแจสำคัญในเรื่องตรงนี้ที่มีสกิลในการ "ดักตัดบอล" (cut passing lane)ได้ดี ซึ่งใช้ได้กับนักเตะที่พละกำลังไม่มาอย่างเฟร็ด แต่อ่านทางบอลเก่งแล้วดักสกัด

นอกจากนั้นก็คือความสามารถในการสร้างแนวเพรสซิ่งที่ช่วยให้แมนยูเล่นเกมรับได้ได้ตั้งแต่แนวปะทะแรก(ฟร้อนท์) และรักษาการครองบอลเอาไว้ได้

เฟร็ดในตอนนี้นั้นต้องการคู่ขาสักคนนึงที่สามารถเล่นแนวลึกและพาบอลขึ้นหน้าได้แบบป็อกบา, คู่ขาที่มีความนิ่ง เยือกเย็น และอ่านเกมเก่งเหมือนเนมันย่า มาติช ในขณะเดียวกันก็ต้องมีความแข็งแกร่งและเล่นหนักๆดุดันๆแบบแม็คโทมิเนย์ด้วยเวลาดวลปะทะกัน

แมนยูไนเต็ดมีข่าวกับมิดฟิลด์ของมุนเช่นกลัดบัคอย่าง Denis Zakaria และมีความพยายามที่จะเซ็นสัญญากับ Jude Bellingham ซึ่งสองนักเตะมีความสามารถที่ค่อนข้างรอบด้านและน่าจะเป็นพาร์ทเนอร์ที่มีศักยภาพสูงให้กับเฟร็ดได้ในระบบdouble pivot

ในกรณีที่ถ้าป็อกบาออกจากทีม ก็น่าซื้อมาแทน

ในเกมที่ผ่านๆมา ยุไนเต็ดดูเหมือนจะเจอสูตรที่ใช่แล้วด้วยทรงมิดฟิลด์ยืนกันแบบกล่องสี่เหลี่ยม(box) ด้วยการใช้ฮวน มาต้า กับ บรูโน่ แฟร์นันด์ส ดรอปต่ำลงมาอยู่ระหว่างไลน์ ซึ่งมันทำให้ทีมมีเกมรับที่บาลานซ์ดีในขณะที่สามารถมอบอิสระให้บรูโน่เล่นได้อย่างสะดวกในการมีคู่หูที่คอยช่วยงานเขาอยู่เคียงข้างกันด้วย

วิธีการแบบนี้ถูกใช้มาแล้วในเกมเจอ RB Leipzig ในครึ่งแรกที่ใช้ Pogba กับ Donny van de Beek เล่นเคียงข้างกันในboxของคู่แข่ง ในขณะที่ก็มี Fred กับ Matic ที่เล่นด้วยกันในboxฝั่งเรานั่นเอง ลักษณะการยืนจะเป็นสี่เหลี่ยมคล้ายๆสร้างกล่องมิดฟิลด์มานั่นเอง แต่จะไม่หันมุมแบบไดมอนด์ข้าวหลามตัดที่เป็น ยอดเพชรตัวเดียว

boxนี้หมายถึงกรอบเขตโทษ(box)ของเขาและเรา รวมถึงการสร้างshapeมิดฟิลด์เป็นรูปกล่อง(box)ด้วย

นี่คือแผน "มิดฟิลด์กล่อง" (box midfield) รูปทรงกึ่ง 4-2-2-2 ที่เคยเขียนในpost-match reviewไว้ ปรัชญาของมันก็คือการเล่นกันเป็นคู่ๆในสามสี่แอเรีย โดยมีตัวoptionการจ่ายออกมาแนวกว้างด้วยการเติมสูงยาวๆของแบ็คทั้งสองข้าง ตามภาพ

ในระบบนี้ หมาก-แรช เป็นตัวรุกตรงกลางคู่สองคน ซึ่งมีออฟชั่นตัวเลือกโดยคาวานี่ กับ กรีนวู้ด บนม้านั่งสำรองด้วย โดยฟูลแบ็คจะรับผิดชอบในพื้นที่แนวด้านกว้างด้วยการที่ลุค ชอว์ บางครั้งจะดรอปเข้าไปอยู่ในพื้นที่มิดฟิลด์ด้วย ซึ่งในเรื่องของออฟชั่นตัวเลือกแมนยูในการใช้งานนั้นต้องบอกว่าล้นเหลือมากๆ ความแข็งแกร่งในประเด็นนี้เราได้เห็นกันแล้วในเกมที่พบกับเชลซีที่ผ่านมา

นี่คือการแก้ปัญหาของทีมไปก่อนในยามที่ยังไม่มี "เกมรุกจากริมเส้น" ดังที่พูดมาตลอดบทความนี้ว่าสำคัญขนาดไหน แต่แม้แผน4-2-2-2นี้จะยังไม่ได้เพียบพร้อมและทำให้แมนยูกลายเป็นทีมที่ดีที่สุดได้ แต่มันก็น่าจะประคองทีมไปได้บ้าง เพราะฤดูกาลนี้แมนยูไนเต็ดถือว่าแพ้ไปหลายนัดพอสมควรแล้ว ซึ่งเราไม่ควรแพ้มากกว่านี้อีกแล้วในปีนี้ ดังนั้นถ้าหยุดการแพ้ไปได้สักระยะน่าจะทำให้สถานการณ์ต่างๆดีขึ้น ซึ่งช่วงนี้กำลังเหมาะเลยที่ผ่านโปรแกรมหนักๆมาแล้ว และการได้เจอทีมเล็กก็น่าจะเป็นงานไม่หนักที่จะเรียกความมั่นใจต่อเนื่องของทีมได้

แล้วจากนั้นถ้ารอดธันวาคมไปได้ จะเข้าสู่เฟสต่อไปในหัวข้อข้างหน้านี้

การซัพพอร์ตต่อผู้จัดการทีม จะสามารถช่วยแก้ปัญหาได้

เราไม่มีทางรู้แน่ชัดว่าสิ่งที่โซลชาต้องการจากเจดอน ซานโช่ที่แท้จริงนั้นคือเรื่องอะไร ทำไมอยากได้ขนาดนั้น แต่ก็พอจะสันนิษฐานได้ว่าเขาน่าจะใช้งานเจ้าหนูซานโช่ในตำแหน่งปีกขวาแน่ๆ เหมือนอย่างที่ทีมแชมป์ที่ยกตัวอย่างมาเหล่านั้น จะต้องมี"ตัวรุกที่ขึงอยู่ริมเส้น" อยู่อย่างน้อยๆหนึ่งคนในสนาม เราก็ไม่มั่นใจในจุดนั้นเมื่อได้เห็นซานโช่ตัดเข้ากลางในยามเล่นกับดอร์ทมุนด์อยู่บ่อยๆ แต่ถ้าสามารถเล่นโดยประจำการอยู่ริมเส้นได้ มันจะช่วยสร้างรูปทรงการบุกที่สมมาตรให้กับทีมเราได้ดีเลย ตามลักษณะของสามทีมแชมป์ด้านบนที่คะแนนเกิน90แต้ม และใช้ทรงตัวบุก5คนในแดนหน้าคล้ายๆ "ปิระมิดหัวคว่ำ" ดังกล่าว

ซานโช่สามารถเข้ากลางมาเล่นกับแผน "มิดฟิลด์กล่อง" 4-2-2-2 ได้ที่โซลชาได้ทดลองมาแล้วก่อนหน้านี้ เชื่อว่าซานโช่ทำได้แน่นอนเนื่องด้วยประสิทธิภาพในการเล่นที่สูงลิบลิ่วของเขามันทำได้แน่นอน ซึ่งก็คือในเคสการเล่นของ "มาต้า" นั่นแหละที่เป็นคีย์สำคัญของทุกสิ่งในการที่หุบเข้ากลางและดรอปลงต่ำมาคู่บรูโน่เพื่อทำเกมเคียงข้างกัน

เราเห็นกันอยู่ว่าตอนบรูโน่เล่นคู่มาต้ามันโหดและเซนส์ทันกันขนาดไหน แล้วลองนึกภาพดูว่า ซานโช่ลงปีกขวาเหมือนกัน แต่สามารถทำสิ่งที่ดีกว่ามาต้าได้ มันก็น่าจะช่วยได้เยอะในภาคของการเล่นที่สร้างกล่องเสมือนขึ้นมาระหว่างเกม ไม่ว่าจะด้วยแผน 4-2-3-1 หรือสูตรหลังสามก็ตาม เขาจะเป็นความหลากหลายให้ทีมได้มาก(ในกรณีที่ได้ตัวแบบนี้เข้ามา ต่อให้ไม่ใช่ซานโช่ก็เหอะ)

ก่อนที่จะคุยไปถึงจุดที่เกี่ยวกับความสามารถในการcoachingของOGS มันก็จะมีประเด็นเรื่องที่เขาไม่ได้รับการสนับสนุนเป้าหมายหลักมาเข้าทีมอยู่ตลอด ซึ่งสำหรับประเด็นนี้ แม้จะซื้อซานโช่มาเข้าทีมได้แล้วแต่โซลชาไม่อาจจะใช้งานให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้ หรือไม่เข้ากับแผนของเขาก็ตามที

ต่อให้หลังจากนั้นโอเล่โดนไล่ออก แต่ทีมก็"ได้ประโยชน์" จากการลงทุนนั้นอยู่ดี

เปรียบเทียบกับทางทีมฝั่งWest Londonอย่างเชลซีของแฟรงค์ แลมพาร์ด ที่ไม่ได้โชว์ความโดดเด่นทางด้านแทคติกอะไรมากมายนัก แต่ว่าด้วยคุณภาพของนักเตะที่ลงทุนมาสูงทำให้ทีมพวกเขาสามารถเก็บชัยชนะได้เรื่อยๆและเริ่มจะดีขึ้นในช่วงอาทิตย์หลังๆ

แมนยูไนเต็ดได้แสดงให้เห็นถึงรูปแบบการเล่นบางอย่างของพวกเขาอย่างชัดเจนซึ่งสามารถจะประสบความสำเร็จได้ แต่น่าเสียดายที่"ชิ้นส่วนบางอย่าง"ที่จะช่วยเข้ามาทำให้ทีมลงตัวได้นั้นยังมาไม่ถึง และเราก็ต้องการสิ่งนั้นเพื่อที่จะสร้างfixture proof หรือความคงเส้นคงวาให้กับทีมในทุกๆสถานการณ์นั่นเอง

-ศาลาผี-

Reference

https://thebusbybabe.sbnation.com/2020/11/17/21564725/manchester-united-cant-be-title-challengers-because-the-squad-isnt-fixture-proof

ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ระดับ : {{val.member.level}}
{{val.member.post|number}}
ระดับ : {{v.member.level}}
{{v.member.post|number}}
ระดับ :
ดูความเห็นย่อย ({{val.reply}})

ข่าวใหม่วันนี้

ดูทั้งหมด