:::     :::

"ปฏิปักษ์คืนรัง" และโชคชะตาที่มาพบกันอีกครั้งของแมนยู-ลีดส์

วันเสาร์ที่ 19 ธันวาคม 2563 คอลัมน์ #BELIEVE โดย ศาลาผี
4,082
ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
นี่คือโชคชะตาการกลับมาพบกันอีกครั้งหลังจากห่างหายไป ของคู่ปรปักษ์แห่งตำนาน แมนยูไนเต็ด VS ลีดส์ และมุมมองความเป็นคู่อริของแฟนบอลแต่ละฝ่าย ผ่านประวัติศาสตร์อันยาวนาน

นี่คือการได้กลับมาเผชิญหน้ากับคู่แข่งรายนี้อีกครั้งนับตั้งแต่ปี 2011 ในบอลถ้วย และเป็นครั้งแรกที่ได้เจอกันใน"ลีก"นับตั้งแต่ฤดูกาลสุดท้ายที่เจอกันตอน 2003/04 ซึ่งความเป็นปรปักษ์กันระหว่างทั้งสองทีมนั้นมีรากฐานและตัวตนของสาเหตุมาอย่างยาวนานผ่านประวัติศาสตร์ของประเทศที่เผาไหม้ความเกลียดชังซึ่งกันและกัน จนสองสโมสรกลายมาเป็นคู่อริของแท้เช่นนี้

ขณะนี้คือเดือนธันวาคม ปี2020 ซึ่งหากเป็นเหตุการณ์ปกติแบบ "old normal" เดือนนี้จะต้องเป็นเดือนที่เดือดมากแน่นอน เพราะว่ายูไนเต็ดมีคิวที่ต้องเปิดบ้านของตัวเอง ทำศึกดาร์บี้แมตช์ท้องถิ่นที่โคตรคลาสสิคโดยการเจอปรปักษ์โหมดnightmare ทั้งคู่อย่าง แมนเชสเตอร์ซิตี้ และ ลีดส์ยูไนเต็ด ในช่วงวันที่ 12-19 ธันวาคม 2020เลย แถมช่วงกึ่งกลางยังต้องเดือนทางไปเยือนเมือง Sheffield ของทีมดาบคู่อีกในช่วงกึ่งกลาง ซึ่งก็เป็นศึกเดือดระหว่างถิ่นเช่นกัน (เมืองลีดส์อยู่ทางขวาบนของเมืองแมนเชสเตอร์ ส่วนเชฟฟิลด์ก็ขวาล่าง)

คิดเอาเองว่าถ้าเป็น "ปกติเก่า" ช่วงนี้แฟนบอลแถวท้องถิ่นนี้จะเดือดสัสๆกันแค่ไหน นึกภาพก็สนุกแล้ว


แต่น่าเศร้าที่คำสาปของโควิด19 มันทำให้บรรยากาศเหล่านี้หายไป และวงการฟุตบอลก็คงจะต้องอยู่แบบนี้ต่อไปก่อน แต่หากลองมองย้อนไปในช่วงเวลาดีๆครั้งสุดท้าย เราคงไม่ลืมภาพที่แฟนบอลปีศาจแดงดิ้นกันเป็นเจ้าเข้าเมื่อสก็อตต์ แม็คโทมิเนย์ ยิงประตู 2-0 เอาชนะซิตี้ในช่วงท้ายเกม ส่งฝูงชนฝั่งStretford End บ้าคลั่งท่ามกลางสายฝนอย่างสุดประทับใจ

เมื่อย้อนไปดูภาพที่คนยังดีใจกอดกันอยู่บนอัฒจันทร์ มันก็จุกๆในใจอย่างบอกไม่ถูก

แล้วกับลีดส์ล่ะ? เมื่อใดก็ตามที่เราได้เจอสโมสรที่มาจากยอร์คเชียร์เมื่อไหร่ มันก็มักจะเดือดเมื่อนั้น และการที่ได้สู้กันครั้งสุดท้ายในลีกเมื่อ16ปีที่แล้ว มันทำให้เกมที่จะเจอกันในอาทิตย์นี้ทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้น แต่ว่วในอดีต ที่มาที่ไปของศึกระหว่างสองทีมมันเคยเป็นมายังไง และแตกต่างยังไงกับการห้ำหั่นกับเพื่อนบ้านร่วมเมืองเดียวกันอย่างซิตี้บ้าง และ "ลิเวอร์พูล" ที่อยู่ในสถานะปรปักษ์เหม็นขี้หน้าอันดับ1มาโดยตลอด การกลับมาของลีดส์ในครั้งนี้จะสร้างความ "เดือดส์" ได้มากกว่าหรือไม่?

-สงครามที่ผ่านมา-

สำหรับ Iain McCartney แฟนบอลแมนยูไนเต็ดรุ่นเก๋านับตั้งแต่1968 ในยุค60s ได้ให้ทรรศนะง่ายๆว่า

"คู่อริตัวฉกาจที่สุดน่าจะเป็นซิตี้ เพราะว่าพวกเขาเป็นสโมสรในท้องถิ่นเดียวกันกับเรา ส่วนด้านแฟนลีดส์นั้น เขามองเราในฐานะคู่ปรับตัวเอ้ระดับบิ๊กเบิ้มเลย แต่นั่นแหละ ส่วนมากมันมาจากมุมมองของฝั่งเขามากกว่าที่มองเราว่าเป็นอริใหญ่เช่นนั้น แต่ทางฝั่งแฟนแมนยูไม่ได้เห็นมุมเดียวกัน เราเกลียดการเล่นฟุตบอลลีดส์ในสไตล์คุมทีมของ Don Revie เพราะว่าทีมพวกเขาเป็นประเภทที่ทำได้ทุกอย่างแม้แต่การเตะคนแก่ก็ตามเพื่อที่จะชนะ ซึ่งนั่นล่ะ ที่เราอยากจะชนะก็เพราะพวกเขาเล่นแบบนั้น แต่ก็ไม่ได้ยกว่าพวกเขาเป็นอริสำคัญอะไรขนาดนั้น "

สำหรับแม็คคาร์ทนีย์แล้ว จุดเริ่มต้นของการเป็นอริระหว่างทีมขาวกับทีมแดงนั้นเริ่มตั้งแต่เมื่อปี 1965 ในเกมFA Cupรอบรองชนะเลิศ ภาพในตำนานที่ Denis Lawเสื้อขาดไปครึ่งตัว และทางซ้ายของภาพ Paddy Crerand ที่กำลังเข้าไปนัวกับ Billy Bremner ตำนานลีดส์อีกคนนึง

สิ่งที่เกิดขึ้นนี้เป็นแค่passionความดุเดือดระหว่างเกมของทั้งสองทีมเท่านั้นหรือไม่ หรือว่ามันมีอะไรบางสิ่งที่ลึกกว่าไปนั้น?

ปู่แพทนี่เอาเรื่องเหมือนกันนะ แล้วดูสภาพเดนิสลอว์ที่เสื้อโดนกระชากจนฉาด Epicโคตรๆ

ประเด็นเรื่องของ "สงครามดอกกุหลาบ" มักจะถูกอ้างอิงอยู่บ่อยครั้งเวลาที่หยิบยกเรื่องนี้นำมาพูด และเกมแข่งคริกเก็ตระหว่างแถบยอร์เชียร์กับแลงคาเชียร์ ก็มักจะเรียกกันว่า Roses matches (ศึกแห่งกุหลาบ) ซึ่งใช้สนามโอลด์แทรฟฟอร์ดนี่ละเป็นสนามเหย้าในการแข่งคริกเก็ต, และรวมถึงเรื่องราวในเชิงประวัติศาสตร์ก่อนหน้าประเด็นของ Don Revie และ Denis Law นี่ไปอีกหลายทศวรรษเลย

แต่ว่าจริงๆแล้ว เวลาที่เหล่าแฟนบอลกับนักเตะเวลามาเจอกันในสนาม ในหัวพวกเขานึกย้อนไปถึงพวกสงครามสมัยพระเจ้าเหาในปี 1485 ที่เป็น "Battle of Bosworth Field" หรือ "ยุทธการที่ทุ่งบอสเวิร์ธ" ขนาดนั้นเลยหรือเวลาที่ลงสนามเจอกัน มันเกี่ยวกันขนาดนั้นเลยมั้ย (ซึ่งเป็นเหตุการณ์ส่วนหนึ่งในประวัติศาสต์ของสงครามดอกกุหลาบ ในทศวรรษที่15)

เรื่องนี้นักเขียนสายกีฬาอีกคนหนึ่งอย่าง Duncan Hamilton ไม่เห็นด้วยกับเรื่องการเป็นอริกันในสนามของสองทีม จะเป็นเพราะเรื่องของประวัติศาสตร์สงครามยุคเก่าเหล่านั้น

"การมีแนวเทือกเขาเพนไนน์ส(Pennines) เป็นพรมแดนธรรมชาติที่แยกและกั้นแบ่งสองพื้นถิ่นเอาไว้ในเชิงภูมิศาสตร์ และเรื่องราวข้อพิพาทระหว่างราชวงศ์ชั้นสูงที่แย่งชิงอำนาจกันในสงครามยุคอดีต พอมีเรื่องเหล่านี้มันก็เลยถูกหยิบยกมาอ้างในเรื่องความเป็นศัตรูกัน"

ภาพนี้เป็นการแสดงออกล้ำเส้นของแฟนแมนยูกากๆที่นำความเกลียดชังมาเล่นเรื่องแฟนลีดส์ที่โดนแทงตายที่อิสตันบูลตอนเจอกาลาตาซาราย

ส่วนแฟนลีดส์อย่าง James Brown ผู้ก่อตั้งนิตยสาร Loaded และเป็นผู้เขียนเรื่อง Above Head Height : A Five-A-Side Life คิดว่าบางทีเรื่องนี้ที่เราเป็นปรปักษ์กันนั้น เป็นเพราะว่า "ลีดส์ขาดคู่ปรับท้องถิ่น" ที่ใหญ่พอจะสมน้ำสมเนื้อกับพวกเขา

หวยเลยมาออกที่แมนยูไนเต็ดนั่นเอง

"ตอนที่พวกเราอยู่ในยุค Howard Wilkinson คุมลีดส์ในช่วงต้นๆของยุค 90s ตอนนั้นSheffield United กับ Sheffield Wednesday ทีมกำลังดีทั้งคู่เลย แต่พวกเขาก็เป็นคู่อริซึ่งกันและกันเองสองทีม และพอเราตกชั้นไปในช่วงยุค2000s เราก็ได้ลงเตะกับทั้งBradford กับ Huddersfield ซึ่งในชีวิตดูบอลของผมก็ไม่เคยแข่งกับทีมพวกนี้มาก่อนเลยนั้น และผมก็เพิ่งได้รู้ว่า พวกเขาเหม็นขี้หน้าทีมเราว่ะ เพิ่งรู้จริงๆนะเพราะว่าปกติแล้วเรามักจะโฟกัสแต่คู่แข่งใหญ่ทางฝั่งตะวันตกอย่างเดียวเลย ไม่ว่าจะเป็นยูไนเต็ดหรือลิเวอร์พูลก็ตาม"

ป็อกบาเดบิวต์กับแมนยูไนเต็ดเกมเจอลีดส์ที่ Elland Road ปี 2011 แมนยูไนเต็ดชนะไป 0-3 โอเว่นกดไป2 กิ๊กส์1

ตอนเด็กๆ Brown มีบ้านอยู่ตรงข้ามนักบอลลีดส์คนนึงที่ชื่อว่า Allan Clarke (โคตรดาวยิงของลีดส์ที่ลงเล่น 273 นัดซัดไป 110 ประตู) บราวน์ค่อนข้างเชื่อว่าจริงๆแล้วสตาฟฟ์ของทั้งสองทีมจริงๆต่างก็ชื่นชมซึ่งกันและกัน

"ผมเคยได้ถาม Eddie Gray อดีตนักเตะและผู้จัดการลีดส์อยู่ครั้งนึงเกี่ยวกับความเป็นปรปักษ์กับแมนยูไนเต็ด และเขาก็คิดว่ามันเป็นเรื่องเกี่ยวกับความเป็นแฟนบอล มากกว่า เขาบอกว่า Johnny Giles กับ Nobby Stiles ต่างก็เป็นพี่เขยน้องเขยกัน และ Denis Law ของแมนยู ก็เป็นนักเตะฮีโร่ในดวงใจของ Allan Clarke ผู้ซึ่งเป็นตำนานลีดส์

แถมระหว่างเซอร์แม็ต บัสบี้ กับ ดอน เรวี่ ก็มีความชื่นชมและให้เกียรติซึ่งกันและกันอย่างมากด้วย พวกเขาโทรคุยกันทุกวันอาทิตย์เลย"

-Elland Road ที่หวนคืน-

ไม่ว่าความเกลียดชังดังกล่าวมันจะมีที่มาจากแห่งใด แต่มันก็อยู่ทนนานมาเรื่อยๆแม้กระทั่งทั้งสองทีมตกลงไปเป็นทีมกลางๆในช่วงยุค 70s 80s มีชัยชนะนัดที่โด่งดังของยูไนเต็ดอยู่ในฟุตบอลFA Cup รอบรองชนะเลิศปี1977ที่Hillsborough มีการย้ายทีมสลับขั้วกันอย่างน่าเจ็บปวดของสองนักเตะ Joe Jordan กับ Gordon McQueen สองนักเตะลีดส์ที่ย้ายมาโอลด์แทรฟฟอร์ดภายในสัปดาห์เดียวกันในช่วงต้นปี1978 ความมาคุเกิดขึ้นทันทีเมื่อคำพูดแรกของ กอร์ดอน แม็คควีนที่ย้ายมาโอลด์แทรฟฟอร์ดก็จัดให้เลย เพราะพี่แกหล่นคำกล่าวนรกแตกเอาไว้ดังข้างล่างนี้ว่า

"นักบอล99%ส่วนใหญ่ก็อยากย้ายมาแมนยูไนเต็ดทั้งนั้นแหละ ส่วนอีก1%ที่เหลือที่ไม่ได้พูดนั่นพวกตอแหล"

ฤดูกาลนั้นสุดท้ายจบลงด้วยความเดือดสัสๆที่Elland Road เมื่อลูกทีมของ Dave Sexton จำเป็นต้องชนะเท่านั้น ในขณะที่ต้องลุ้นให้ลิเวอร์พูลแพ้ เพื่อที่จะคว้าแชมป์ลีกเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1967 แต่ลีดส์กลับเอาชนะในวันนั้นไปได้ 2-0

"มันเหมือนจะเป็น Helland Road (ถนนดินแดนนรก) มากกว่า Elland Road"

Iain McCartney หัวเราะก๊ากเมื่อเอ่ยประโยคนี้ขึ้นมา ชายผู้เป็นแฟนผีที่ไปหลบอยู่แถวฝั่งเจ้าบ้านเพื่อหนีออกจากสนามมา

"หลังจบเกมนั้นนะ โคตรนรกชัดๆ ผมต้องวิ่งหนีมุดลอดรู้รั้วออกมาผ่านสนามเด็กเล่นของโรงเรียน วิ่งผ่านสวนของบ้านใครก็ไม่รู้ออกมาเพื่อหนีกลับมายังสถานี แล้วสาบานกับตัวเองว่ากูจะไม่กลับมาที่นี่อีก แต่จนแล้วจนรอดปีถัดมาผมก็กลับไปที่นั่นใหม่อีกรอบอยู่ดี"

ลีดส์ตกชั้นไปในปี 1982 ในขณะที่วิตี้ก็ตามร่วงลงไปด้วยในปีถัดมา ดังนั้นยูไนเต็ดก็จึงเหลือทีมให้โฟกัสอยู่แค่ลิเวอร์พูลทีมเดียวในช่วงนั้น ซึ่งทีมเมืองแมนสีฟ้าๆก็ยังตกระกำลำบากต่อเนื่องในทศวรรษต่อมาอีกเต็มๆ แต่ความตึงเครียดระหว่างสโมสรในยอร์คเชียร์ก็พุ่งขึ้นสูงที่สุดในประวัติศาสตร์

แฟนปีศาจแดงอย่าง Anthony Murphy ที่อายุ17ปีพอดี ในขณะที่ลีดส์กลับขึ้นมาเป็นเต้ยในปี 1990 ย้อนความให้ฟังถึงการเจอกันสามครั้งในช่วงคริสต์มาสและปีใหม่ของซีซั่น 1991/92 จากเกมลีก และบอลถ้วยสองรายการ ตอนนั้นคือพีคในพีคของความวุ่นวายสุดๆจริงๆ

"สื่อก็โหมกระพือข่าวให้ลุกเป็นไฟอย่างเช่นพาดหัวข่าวว่า ลีดส์ยูไนเต็ดว่าที่แชมป์ไตรภาคสามถ้วย อะไรแบบนี้เป็นต้นในช่วงนั้น ซึ่งบรรยากาศภายในสนาม Elland Road มันเข้มข้นทั้งสามครั้งเลย พวกเขาโคตรเกลียดแฟนแมนยูมาก และมักจะได้รับการต้อนรับแบบศัตรูจ๋าๆอยู่เป็นประจำ"

ในความคิดเห็นของเมอร์ฟี่แฟนบอลผีที่อังกฤษรายนี้บอกว่า ลีดส์นั้นเป็นศ้ัตรูที่ใหญ่กว่าซิตี้ และความเกลียดชังของพวกแฟนลีดส์ที่มีต่อเรานั้นมันเป็นความอิจฉาและไม่พอใจ

"ซิตี้นั้นส่วนใหญ่จะแค่สร้างความรำคาญให้กับผม กว่าพวกเขาจะเริ่มกลับมามีส่วนร่วมได้ก็ต้องนู่นเลยปี2008เป็นต้นมา แต่กับลีดส์ ผมก็โคตรเกลียดเลย คือส่วนตัวไม่ใช่ไม่ชอบยอร์คเชียร์นะ แต่ว่ามันมีอะไรบางอย่างเกี่ยวกับสโมสรนั้นที่ผมไม่ค่อยชอบเลย พวกเขามีทีมที่สุดยอดนะช่วง 1969-75 แต่ก็ยังไม่เคยขึ้นมาสูงเทียบเท่ากับแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดอยู่ดี และผมคิดว่าพวกเขาอิจฉาเรามากๆเลย เพราะพวกเขาไม่เคยได้รับการยอมรับ และรู้สึกเหมือนคนที่กำลังติดหนี้ใครสักคนอยู่ตลอดเวลา ซึ่งมันเป็นชนักปักบนหลังพวกเขาตลอดนั่นล่ะ"

ความอิจฉาริษยาดังกล่าวในข้างต้นมันจะปะทุขึ้นอีกในช่วง1990s แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือกลับเป็นลีดส์เองที่เริ่มก่อระเบิดปะทุขึ้นในทศวรรษใหม่นี้ โดยอดีตนักเตะแมนยูเก่าอย่าง Gordon Strachan ที่ย้ายออกจากแมนยูไปลีดส์เมื่อปี1989 ได้พาลีดส์เป็นแชมป์ดิวิชั่น1ในปี1992เหนือเด็กๆของเฟอร์กี้ ซึ่งปีนั้นเป็นครั้งสุดท้ายก่อนที่จะมีการยกเครื่องโครงสร้างของลีกยุคใหม่อย่างพรีเมียร์ลีก.. แต่ว่าสิ่งที่สร้างความเดือดของคู่อริจริงๆแล้วนั้น เกิดขึ้นภายใน6เดือนให้หลัง

เมื่อEric Cantona ข้ามเทือกเขาเพนไนน์ส ย้ายฝั่งมาอยู่กับยูไนเต็ด

เจมส์ บราวน์แฟนลีดส์กล่าวว่า

"สื่อชอบหยิกยกประเด็นมาเนิร์ฟ เรื่องที่คันโตน่ามีส่วนร่วมกับลีดส์น้อย เขาได้ลงแค่ 11หรือ12เกมเองในปีนั้นที่ได้แชมป์ลีก แต่มันก็เป็นเพียงแค่ตัวเลข ถ้าคุณจะเข้าใจเรื่องนี้ดีว่า ออร่าของเขา ความสามารถของเขา มันยกระดับทีมเราสุดๆเลย เพราะนั่นแหละมันจึงโคตรตึงเครียดและทวีความเกลียดชังแมนยูหนักกว่าเก่าอีก เมื่อเขาย้ายไป"

เรื่องออร่าของก็องโต้เวลาลงสนาม คือของจริงที่แฟนแมนยูไม่ได้คิดอวยกันไปเอง เพราะขนาดปากคำจากแฟนยูงทองยังเห็นสิ่งนี้ตรงกัน

คันโตน่าได้กลายมาเป็นกำลังสำคัญที่พายูไนเต็ดขึ้นคว้าถ้วยแชมป์พรีเมียร์ลีกในปี1993 เป็นความสำเร็จในรอบ26ปีกับการคว้าแชมป์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดภายในประเทศ ภายใต้ยุคของเฟอร์กูสัน ซึ่งหลังจากนั้นก็มีการปะทะเดือดกันอีกหลายๆสมรภูมิกับลีดส์ตลอดช่วง10ปีต่อมา โดยเฉพาะเหตุเดือดระหว่าง Roy Keane กับพ่อน้องเออร์ลิงอย่าง Alf-Inge Haaland ที่หลายๆคนยังจำได้ดี ก่อนที่สโมสรจากElland Road จะตกชั้นไปอย่างสุดช็อคเมื่อปี2004

-ปฏิปักษ์คืนรัง-

ช่วงที่ลีดส์"ไม่อยู่นั้น" ก็มีเกมที่ถูกจดจำเกิดขึ้นอย่างเช่นการเอาชนะเหนือแมนยูในเอฟเอคัพปี 2010 ในขณะที่ซิตี้ก็เติบโตขึ้นมาอย่างมากและประสบความสำเร็จนั้น ขณะนี้สิ่งต่างๆเปลี่ยนแปลงมาเป็นยังไงบ้าง และมันยังคงเดือดเหมือนเดิมมั้ย

"ในภาคของการเล่นมันน่าตื่นเต้นนะ" บราวน์แฟนลีดส์ย้ำ

"เราเล่นกันได้ดีเลย และมันขึนกับว่าคู่แข่งของเรามาดีขนาดไหน ผมรอคอยอยากจะดูเกมลงแข่งมากๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาที่ทีมเจอกับลิเวอร์พูลกับแมนซิตี้ ผมได้แต่หวังว่าจะได้กลับเข้าไปดูในสนาม"

"แต่ผมไม่คิดว่ามันไม่ค่อยจะตรงเท่าไหร่นะถ้าจะให้พูดว่า พวกเราอยากชนะยูไนเต็ดมากกว่าเจ้าอื่นๆ เพราะครั้งสุดท้ายที่พวกเราอยู่ในลีกสูงสุดตอนนั้นยังไม่มีโซเชียลมีเดียเลยซะด้วยซ้ำ ดังนั้นสิ่งที่ผู้คนจะแสดงออกมาในเชิงกีฬานั้นก็จะแตกต่างออกไปจากอดีตแล้ว"

ภาพนี้มันพีคตรงริโอนี่แหละ

"มีความเกลียดชังซิตี้มั้ย? ม่ายๆๆๆ ไม่มีเลย เราไม่มีความเกลียดชังในอดีต หรือมีการชิงดีชิงเด่นอะไรกันเลย แต่ส่วนหนึ่งความรู้สึกที่มีต่อซิตี้นั้นมันสะท้อนออกมาจากสเตตัสที่โพสต์ไว้ประมาณว่า ตอนพวกเขายังไม่มีเงินถุงเงินถัง ก็ไม่เก่งขนาดนี้หรอก!"

"ส่วนความเป็นอริกับแมนยูไนเต็ดนั้น ไม่ว่าจะมาจากแรงขับของแฟนบอล จากผลการแข่งขัน หรือใดๆก็ตาม มันมีมายาวนานมากๆแล้วนะ ซึ่งสองทศวรรษแรกของศตวรรษใหม่นี้เป็นช่วงเวลาที่ขมขื่นของลีดส์จริงๆในยามที่ยูไนเต็ดคว้าแชมป์ลีกมานับครั้งไม่ถ้วน แถมยังมีดีลที่เจ็บปวดเกิดขึ้นอีก กับเคสของRio Ferdinand และฮีโร่ท้องถิ่นของพวกเขาอย่าง Alan Smith ที่ย้ายมาเขย่าโอลด์แทรฟฟอร์ดและประสบความสำเร็จด้วยกันทั้งคู่"

แต่ในสมัยของ Marcelo Bielsaนั้นได้จุดไฟของแฟนบอลหนุ่มใหญ่ชาวยอร์คเชียร์กลับขึ้นมาอีกครั้งเมื่อเริ่มฤดูกาลปัจจุบันในพรีเมียร์ลีกได้อย่างไม่กลัวใคร และมีความพร้อมอัดแน่นขุมกำลัง ทุกอย่างดูสดใสในโลกของพวกเขา แต่ประวัติศาสตร์ก็สอนให้รู้ว่า เรื่องราวระหว่าง "แมนยูกับลีดส์" คือคู่ปรับที่ลาวาใต้ผิวดินพร้อมจะปะทุขึ้นมาได้ตลอดเวลาถ้ามีอะไรสะกิดขึ้นมาละก็

ว่าแล้วจะรอช้าอยู่ใย หมับเข้าให้

และกับชัยชนะสามครั้งในดาร์บี้แมตช์ต่อเพื่อนบ้านน่ารำคาญเมื่อซีซั่นที่แล้ว ทำให้แฟนแมนยูมองกันว่าเราอาจจะมีชัยชนะเหนือทีมฝ่ายสีขาวได้ในรอบ17ปี นอกเหนือจากชัยชนะต่อลูกทีมของเป๊ป กวาร์ดิโอล่าที่ทำได้ ซึ่งจากการที่ไม่มีแฟนบอลในสนาม ดังนั้นมันจึงอาจจะวัดอะไรได้ยากในเรื่องนี้ แต่ว่าลีดส์เองก็เริ่มส่งสัญญาณให้เราได้เห็นแล้วว่า การที่เขาน่าจะยืนระยะอยู่ในพรีเมียร์ลีกได้ยาวอย่างแน่นอนในรอบนี้ จึงน่าจะเป็นคีย์สำคัญของการแบทเทิลที่จะไม่ง่ายอย่างแน่นอน

ในช่วงเวลาหลายๆปีข้างหน้าต่อจากนี้ การต่อสู้กันของเรากับคู่อริทั้งสีฟ้าและสีขาว อาจจะก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ที่น่าตื่นตาตื่นใจ อันเป็นการดำเนินต่อไปข้างหน้านับจากการต่อสู้ของช่วงยุค 60s และ 90s

บทถัดไปของมหากาพย์การต่อสู้กับเหล่าคู่อริของเราจะต้องน่าสนุกอย่างแน่นอน

-ศาลาผี-

Reference

https://www.manutd.com/en/news/detail/united-review-feature-on-man-utd-v-leeds-rivalry-ahead-of-fixture-on-20-december

ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ระดับ : {{val.member.level}}
{{val.member.post|number}}
ระดับ : {{v.member.level}}
{{v.member.post|number}}
ระดับ :
ดูความเห็นย่อย ({{val.reply}})

ข่าวใหม่วันนี้

ดูทั้งหมด