:::     :::

ใครจะเป็นประธานบาร์ซ่า ? ตอน : ฟอนท์ VS ลาปอร์ต้า

ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ต่อเนื่องจากตอนที่ 1 ที่ได้กล่าวถึง ‘ว่าที่ผู้สมัคร’ ทั้ง 9 คนไปแล้ว ซึ่งก็อย่างที่อธิบายให้ทราบไปว่าทุกคนจะต้องได้รับการลงนามสนับสนุนจากสมาชิกสภาครึ่งนึงขึ้นไป (ประมาณ 2,257 รายชื่อ) จึงจะได้รับการรับรองให้เป็น ‘ผู้สมัครรับเลือกตั้ง’ อย่างเป็นทางการ

กฏนี้ถูกนำมาใช้ครั้งแรกในปี 2010 ในการเลือกตั้งประธานสโมสรครั้งที่ 11 พร้อมบังคับให้ ‘ว่าที่’ ทุกคนต้องวางเงินประกันจำนวน 2 แสนยูโร 

หากใครผ่าน ได้รับเสียงสนับสนุนจากสมาชิกสภา 50% ขึ้นไปก็จะได้รับเงินคืน แต่ถ้าไม่ผ่าน เงินจำนวนนี้จะถูกนำไปมอบให้กับมูลนิธิผู้สูงอายุบาร์เซโลน่า 

เหตุผลสำคัญที่มีการนำกฏนี้มาใช้ก็เพื่อเป็นการคัดกรองผู้สมัครที่มีคุณภาพและได้รับการยอมรับจริงๆ พร้อมทั้งตัดคนที่ไม่พร้อมออกไปในตัว 

กฏนี้แหละครับที่สื่อคาดกันว่าจะคัดกรอง ‘ว่าที่’ ทั้ง 9 คน หดเหลือไม่ถึงครึ่ง โดยหลังผ่านกระบวนการลงชื่อสนับสนุนซึ่งจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 2-11 จะเหลือผู้สมัครรับเลือกตั้ง (candidato) จริงๆสูงสุดไม่เกิน 4 คน


4 คนที่ว่านี้ การันตีว่าผ่านมติจากสภาแน่ๆ 2 คน คือ โจน ลาปอร์ต้า กับ บิคตอร์ ฟอนท์  ส่วนที่เหลือคาดว่าจะเป็น เอากุสติน เบเนดีโต้ กับ โตนี่ เฟรช่า ที่หลุดรอดเข้ามา ส่วนโอกาสพลิกล็อคนั้นก็ให้จับตา ยอร์ดี้ ฟาร์เร่ ผู้ซึ่งได้เครดิตและเป็นที่รู้จักไม่น้อยจากการเป็นหัวหอกในการล่ารายชื่อถอดถอน โจเซป มาเรีย บาร์โตเมว ประธานสโมสรคนก่อน 

กระนั้นก็ตาม ถึงจะมี 5 หรือ 4 คน ที่ผ่านการคัดสรร ก็ไม่น่าจะมีผลกระทบใดๆ เพราะเชื่อกันว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นเวทีการต่อสู้ระหว่าง ฟอนท์ กับ ลาปอร์ต้า เท่านั้น คนอื่นเป็นได้แค่ไม้ประดับ 

ลาปอร์ต้า ปัจจุบันอายุ 58 จุดแข็งคือแบ็กกราวน์ที่ โซซิโอยังติดภาพความสำเร็จสมัยดำรงตำแหน่งในช่วงปี 2003-2010 ที่ บาร์เซโลน่า คว้าทริบเบิ้ลแชมป์มาครองเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ 

ทีมชุดนั้นภายใต้การคุมทีมของ เป๊บ ถือได้ว่าเป็นสุดยอดที่ไม่ใช่แค่ความสำเร็จในแง่ของถ้วยรางวัล หากแต่ยังมีสไตล์การเล่นอันโดดเด่น เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของ บาร์ซ่า ทั้งยังมีแกนหลักที่เติบโตจากสถาบัน ลา มาเซีย ยังความภาคภูมิใจมาสู่สาวกกูเล่ส์ทั่วโลก 



อีกหนึ่ง จุดแข็งของ ลาปอร์ต้า คือการแสดงออกงแพสชั่นที่มีต่อสโมสร รวมถึงการตั้งตนเป็นอริกับ เรอัล มาดริด อย่างชัดเจน 

ในยุคของ ลาปอร์ต้า การขับเคี่ยวกับ เรอัล มาดริด เต็มไปด้วยความเข้มข้น มีประเด็นขัดแย้ง รวมทั้งการให้สัมภาษณ์เยาะเย้ยเสียดสี ฝั่ง ‘ราชันชุดขาว’ อยู่เป็นนิจ ส่งให้ศึก ‘เอล กลาซีโก้’ นั้นค่อนข้างตึงเครียดอย่างมาก เกมการแข่งขันไม่ใช่เพื่อ 3 แต้มเพียงเท่านั้น หากแต่ทุกคนสัมผัสได้ถึงความอยากเป็นเลิศของ บาร์เซโลน่า ในฐานะตัวแทนของคนกาตาลัน 

ความรู้สึกการเป็นศัตรูคู่อาฆาตนี้ สำหรับแฟนบาร์เซโลน่าแล้วพวกเขารู้สึกยอดเยี่ยม ส่วนใหญ่ให้การสนับสนุนแนวทางของ ลาปอร์ต้า จนกระทั่งมาถึงยุคของ ซานโดร โรเซลล์ ต่อเนื่องถึงยุค บาร์โตเมว ความรู้สึกตรงนี้ค่อยๆจางๆ เนื่องจากประธานทั้งสองคนนี้เน้นเรื่องของผลการแข่งขัน และธุรกิจมากกว่าที่จะหาเรื่องทะเลาะกับ เรอัล มาดริด 

ข้อเสียของ ลาปอร์ต้า ข้อแรกก็อยู่ที่จุดแข็งของเขา การแสดงออกถึงความเกลียดชังต่อ เรอัล มาดริด ก็ไม่ได้เป็นที่ชื่นชอบของแฟนบาร์ซ่าทุกคน ซึ่งจากสถานการณ์ปัจจุบัน ก็คาดเดาได้ยากว่ารสนิยมของบรรดาโซซิโอบางส่วนนั้นได้เปลี่ยนไปแล้วหรือไม่ 


อีกข้อเสียของเขาก็คือเรื่องการบริหารการเงิน ยุคสมัยของ ลาปอร์ต้า มีการบริหารเงินที่ค่อนข้างหละหลวม นอกจากนี้ ลาปอร์ต้า ยังเคยทำข้อตกลงกับองค์กรยูนิเซฟให้มาเป็นสปอนเซอร์คาดหน้าอกของสโมสร ซึ่งถือเป็นการแหกประเพณีดั้งเดิมของทีมที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีสปอนเซอร์มาก่อน 

ทว่าในทางกลับกัน กลายเป็นสโมสรบาร์เซโลน่าที่ต้องบริจาคเงินให้กับ ยูนิเซฟ แทน ซึ่งการกระทำตรงนี้ ได้รับคำชื่นชมอยู่ไม่น้อย ลาปอร์ต้า เคยเปรียบถึงดีลในครั้งนั้นกับ ยูนิเซฟ ว่า “มันคือการคว้าแชมป์ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก ทางสังคม”


กระนั้น มันก็ได้ทำให้ บาร์ซ่า มีปัญหาการเงินอยู่พอสมควร จนกระทั่งตอนที่เขาลงจากตำแหน่งก็ยังโดน ซานโดร โรเซลล์ ไล่เบี้ยเช็กบัญชีของสโมสรพร้อมกล่าวหาว่า ลาปอร์ต้า ตบแต่งบัญชีว่ากำไร ทั้งๆในยุคของเขานั้นบริหารจนสโมสรขาดทุน 

ในเรื่องของการเงินนั้น หากเป็นยุคก่อนก็อาจไม่ใช่ประเด็นเปราะบางนัก แต่ในปัจจุบัน แทบจะพูดได้ว่ามันคือปัญหาที่ใหญ่ที่สุดของ บาร์เซโลน่า เพราะสโมสรกำลังประสบภาวะขาดทุนอย่างหนัก จนติดค้างค่าเหนื่อยนักเตะสูงถึง 170 ล้านยูโร และไม่มีเงินมากพอที่จะซื้อนักเตะอย่าง เมมฟิส เดปาย ที่มีราคาเพียง 10 ล้านยูโร 

ภาพความเป็นเพลย์บอย หน้าใหญ่ใจโต ภาพนักบุญที่กระเป๋าแบนซึ่งติดตัว ลาปอร์ต้า จนแกะไม่ออกนั้น วิเคราะห์กันว่ามันคือข้อด้อยสำคัญในการต่อสู้กับ ฟอนท์ ผู้มีภาพลักษณ์ทันสมัย คิดอ่านกว้างไกล เป็นเจ้าพ่อนวัตกรรมตามธุรกิจหลักของเจ้าตัว 


ฟอนท์ ปัจจุบันอายุ 48 ปี ยังไม่เคยลงสมัครรับเลือกตั้งมาก่อน ตรงนี้ถูกมองว่าเป็นทั้งข้อดีและข้อเสียในคราวเดียวกัน 

ข้อเสียคือเขาเป็นที่รู้จักของโซซิโอน้อยกว่า ลาปอร์ต้า ทั้งยังไม่เคยมีผลงานที่พิสูจน์ความสามารถของตัวเองที่จับต้องได้เลย นอกจากนี้ ฟอนท์ ก็ยังอาจขาดประสบการณ์ที่จำเป็นในการต่อสู้กับ ลาปอร์ต้า ที่เก๋าเกมกว่ามาก 



ส่วนข้อดีก็คือในยุคสมัยของ ลาปอร์ต้า ก็ใช่ว่าจะมีเเต่เรื่องดีๆการเงินที่ย่ำแย่ซึ่งมีข่าวลือว่าถูกหมกเม็ดเอาไว้ถือเป็นรอยด่างของเขา รวมถึงการบริหารที่แทบจะหาความโปร่งใสไม่ได้เลยในยุค โรเซลล์ กับ บาร์โตเมว ก็ทำให้โซซิโอจำนวนไมน้อยที่เบื่อหน่ายพวกขั้วอำนาจเก่าๆ และต้องการที่จะมอบโอกาสให้กับคนใหม่ได้เข้ามาบริหารงาน

ตรงนี้พิสูจน์ได้ชัดเจนว่ามีโซซิโอคิดเช่นนี้จริงๆ เพราะจากกระแสที่ผ่านมาที่ ฟอนท์ ได้รับเสียงสนับสนุนจนก้าวขึ้นมาเป็นตัวเต็งที่จะชนะการเลือกตั้งในครั้งนี้ 

ในแง่ของการแสดงออกทางการเมือง ฟอนท์ นั้นก็โดดเด่นไม่แพ้ ลาปอร์ต้า เผลอๆจะชัดเจนกว่าด้วยซ้ำเมื่อเขาคือเจ้าของหนังสือพิมพ์ Ara สื่อในแคว้นกาตาลุนญ่าที่เป็นกระบอกเสียงสำคัญในการประกาศแยกตัวเป็นอิสระจากประเทศสเปน 


ด้วยภาพลักษณ์ที่สดใส (ยัง)ไร้มลทิน แถมล้ำสมัยโดนใจคนรุ่นใหม่  ฟอนท์ ซึ่งลงสมัครรับเลือกตั้งในครั้งนี้โดยมีแคมเปญว่า 'Si al futur’ เสนอซอฟแวร์ของตัวเองให้สโมสรบาร์เซโลน่านำไปจัดการเลือกตั้งที่สามารถอำนวยความสะดวกให้โซซิโอที่อยู่ไกลสามารถลงคะแนนจากที่บ้านได้ 

แม้จะไม่ได้รับการตอบรับจากสโมสร แต่ก็แสดงให้โซซิโอโดยเฉพาะรุ่นใหม่เห็นภาพแล้วว่าหาก บาร์เซโลน่า ตกอยู่ภายใต้การบริหารของนักธุรกิจวัย 48 ผู้นี้ สโมสรจะมีทิศทางอย่างไรในอนาคต 


การก้าวเดินสู่อนาคตของโดยมีเทคโนโลยีล้ำสมัยคอยช่วยเหลือ นับได้ว่าเป็นรสชาติอันแปลกใหม่ที่โซซิโอของสโมสรไม่คุ้นเคย และนั่นคือสิ่งที่ ฟอนท์ พร้อมจะเดิมพันกับมัน 

ในแง่ของกลยุทธอื่นๆ ลาปอร์ต้า ชิงออกหมัดก่อน ด้วยการนำป้ายหาเสียงที่เป็นรูปตัวเองขนาด 50x20 เมตรไปติดตั้งไว้ที่ตึกสูงที่ถนน ปาเซโอ เด อาบาน่า ซึ่งสร้างความฮือฮาไปทั่วโลก เพราะมันตั้งอยู่ห่างจากสนามซานติอาโก้ เบร์นาเบว เพียงแค่ 100 เมตรเท่านั้น 


ลาปอร์ต้า แสดงตัวตนความเป็น ‘กูเล่ส์’ เต็มขั้นของเขาให้เห็นอย่างชัดเจน ซึ่งน่าจะสร้างความประทับใจให้กับแฟนบาร์ซ่าอย่างมากถึงความบ้าบิ่นของเขา แม้จะถูกวิจารณ์ถึงความเหมาะสมว่าเป็นการไม่ให้เกียรติ เรอัล มาดริด แต่ในส่วนของ บาร์เซโลนิสต้า ทุกคนรู้สึกดีทีเดียว 

ตรงนี้นับเป็นมาร์เก็ตติ้งที่ชาญฉลาดของ ลาปอร์ต้า เพราะถ้าเขานำป้ายหาเสียงขนาดยักษ์ไปติดไว้ที่ตึกไหนซักที่ใน บาร์เซโลน่า มันก็จะเป็นเรื่องธรรมดา แต่เมื่อมันตั้งอยู่ใกล้แค่เอื้อมกับรังเหย้าของคู่อริตลอดกาล ก็ทำให้เรื่องนี้เป็นที่พูดถึงไปทั่วโลก 


ถือเป็นการชิงออกหมัดที่สวยงามของ ลาปอร์ต้า ที่ต้องบอกว่าเข้าเป้าเต็มๆ 

อย่างไรก็ตาม ถัดมาไม่นาน ฟอนท์ ก็เอาคืนทันควัน เขาให้สัมภาษณ์กับสื่อถึงการกระทำของ ลาปอร์ต้า อย่างชาญฉลาดด้วยการชื่นชมว่านี่คือการแสดงความรักอันแสนบริสุทธิ์ที่มีต่อ บาร์ซ่า ทว่าลำพังแค่ความรักมันไม่สามารถแก้ปัญหาทางด้านการเงิน และสร้างโปรเจคต์ดีๆให้เกิดขึ้นได้ 

เท่านั้นไม่พอวันต่อมา ฟอนท์ ยังปล่อยหมัดเด็ด ด้วยการประกาศว่าหากเขาได้เป็นประธานสโมสรเมื่อไหร่ ชาบี เอร์นานเดซ จะเป็นคนที่ถูกดึงเข้ามานั่งเก้าอี้เทรนเนอร์บาร์เซโลน่าอย่างแน่นอน หากเขาทำไม่ได้ เขายินดีจ่ายค่าสมาชิกรายปีให้กับโซซิโอทุกคนฟรีๆ


กลยุทธ์นี้ไม่ใช่ของใหม่ หากแต่ ฟลอเรนติโน่ เปเรซ เคยทำมาแล้วในตอนแย่งชิงตำแหน่งประธานเรอัล มาดริด กับ โลเรนโซ่ ซานส์ เมื่อปี 2000 

20 ปีก่อน เปเรซ ซึ่งเป็นรอง ซานส์ เยอะ แสดงความบ้าบิ่นด้วยการประกาศว่าหากเขาชนะการเลือกตั้งเป็นประธานสโมสร เขาจะนำเอา หลุยส์ ฟีโก้ มาจาก บาร์เซโลน่า หากไม่สำเร็จเขายินดีจ่ายค่าสมาชิกรายปีให้กับโซซิโอทุกคน ซึ่งผลสุดท้ายโซซิโอต่างเทคะแนนให้กับ เปเรซ จนชนะการเลือกตั้ง ก่อนที่ เปเรซจะรักษาคำพูดด้วยการจ่ายเงินเป็นสถิติโลกกระชาก ฟิโก้ มาจาก บาร์เซโลน่า จนสร้างความฮือฮาไปทั่วโลก 


มาครั้งนี้ ฟอนท์ งัดเอาลูกไม้เดิมของประธานชุดขาวมาใช้บ้าง โดยเลือกเดิมพันกับ ชาบี ผู้เป็นฮีโร่ของแฟนบาร์เซโลน่าทุกคน 

ว่ากันที่ในสถานการณ์ปัจจุบัน อาจพูดได้ว่า ‘ตอบโจทย์’ ไม่น้อย เพราะ ผลงานของ โรนัลด์ คูมัน เวลานี้ไม่เป็นที่ประทับใจสักเท่าไหร่ และจากการที่ ลาปอร์ต้า ให้สัมภาษณ์ในเชิง take side กุนซือฮอลแลนด์ ก็เหมือนผูกมัดตัวเอง 


กล่าวคือจนถึงวันเลือกตั้ง หาก คูมัน ยังแห้งชามน้ำชามอยู่แบบนี้ ฟอนท์ ที่ชู ชาบี เป็นเทรนเนอร์ก็ยิ่งได้เปรียบมากขึ้น มากขึ้น แต่ในทางกลับกันหากจับพลัดจับผลู คูมัน ดันทำทีมดีขึ้นมา ชนะอย่างต่อเนื่องกระทั่ง บาร์เซโลน่า กลับไปอยู่ท็อปของตารางสำเร็จ ฟอนท์ เองนั่นแหละที่จะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก 

ว่าไปแล้ว นี่เป็นสถานการณ์ที่ต่างฝ่ายต่างต้องเดิมพันกับความไม่แน่นอนในอนาคตด้วยกันทั้งคู่ นอกเหนือไปจากแผนงานในระยะยาว แต่ใครล่ะจะจับจุดโดนใจโซซิโอได้มากกว่า 

ว่ากันถึงเรื่องคะแนน ปัจจุบันโซซิโอที่มีสิทธิลงคะแนนของ บาร์เซโลน่า มีจำนวนทั้งสิ้น 110,635 คน ซึ่งจากสถิติการเลือกตั้ง 7 ครั้งหลังที่ผ่านมามีผู้ออกมาใช้สิทธิไม่ถึง 50% ถึง 6 ครั้งด้วยกัน 


หนเดียวที่ตัวเลขเกินคือการเลือกตั้งครั้งที่ 11 เมื่อปี 2003 มีโซซิโอออกมาใช้สิทธิ 53.79% ซึ่งหนนั้นจบลงด้วยชัยชนะของ ลาปอร์ต้า 

คาดคะแนจากสถิติก่อนหน้านี้ ควบรวมกับสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังรุนแรง และการปฏิเสธที่จะให้โซซิโอลงคะแนนเสียงแบบออนไลน์ เชื่อว่าหนนี้จะมีผู้ออกมาใช้สิทธิต่ำกว่า 50% อีกครั้ง และอาจน้อยที่สุดในรอบ 7 ครั้งหลังสุด 


เมื่อดูจากคะแนนเฉลี่ย 7 ครั้งหลังที่ผ่านมา เป็นไปได้ว่าจากผู้มาสิทธิเลือกตั้ง 110,635 คน หาก หากใครเก็บคะแนนถึง 28,000 ก็น่าจะลอยลำเข้าวินแบบสบายๆ 

มุมมองส่วนตัว สิ่งที่ ฟอนท์ และ ลาปอร์ต้า ต้องทำคือประเมินว่าโซซิโอกลุ่มไหนที่จะออกมาใช้สิทธิแน่ๆ จับเป็นกลุ่มใหญ่ให้ได้ว่าพวกเขามีความต้องการแบบไหน แล้วมอบสิ่งนั้นให้ 

หากแต่ข้อมูลต้องแม่น การประเมินสถานการณ์ต้องเป๊ะ ไม่เช่นนั้นอาจแพ้ได้ ส่วนการชู ชาบี ขึ้นตำแหน่งเทรนเนอร์ชุดใหญ่นั้น เราต้องรอดูว่าหลังวันเลือกตั้ง ใช่ช่วงเวลาที่เหมาะสมหรือไม่ 

สุดท้าย..ถามว่า ฟอนท์ หรือ ลาปอร์ต้า ใครจะชนะ ? ในสายตาผมคิดว่า ฟอนท์ ขี่อยู่เล็กน้อยครับ 

“แล้วคุณๆล่ะมองอย่างไร ?”


        เจมส์ ลา ลีกา 

ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ระดับ : {{val.member.level}}
{{val.member.post|number}}
ระดับ : {{v.member.level}}
{{v.member.post|number}}
ระดับ :
ดูความเห็นย่อย ({{val.reply}})

ข่าวใหม่วันนี้

ดูทั้งหมด