:::     :::

ด่านสุดท้ายที่ยังไปไม่ถึง

วันพฤหัสบดีที่ 07 มกราคม 2564 คอลัมน์ ผีตัวที่ 13 โดย โกสุ่ย
1,850
ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ถือเป็นครั้งที่ 4 ในยุค โอเล่ กุนนาร์ โซลชา ที่ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ต้องจอดป้ายในรอบรองชนะเลิศบอลถ้วย

ฤดูกาลที่ผ่านมาแฟนบอลคงผิดหวังกับการปราชัยในรอบตัดเชือก 3 รายการทั้ง คาราบาว คัพ, เอฟเอ คัพ และ ยูโรปา ลีก 

มาซีซั่นนี้ภาพเดิมย้อนกลับมาทิ่มแทงอีกครั้งหลังจาก ปิศาจแดง โดนอริร่วมเมืองแมนเชสเตอร์บุกสอยคารัง 0-2 

แต่หากมองรูปเกมโดยรวมถือว่า ผีแดง แพ้ให้กับทีมที่ดีกว่า เพราะ เรือใบสีฟ้า ครองบอลได้เยอะแถมคุกคามและสร้างความอันตรายให้กับแนวรับของ โซลชา ได้ดี ผิดกับเจ้าบ้านที่แทบจะไม่มีโอกาสเล่นงาน แซ็ค สเตฟเฟ่น นายด่านทีมเยือนเลย มีเพียงจังหวะสับไกของ บรูโน่ แฟร์นันด์ส ในช่วงต้นเกมที่ทำให้ประตูชาวอเมริกันต้องออกแรงป้องกัน

ยิ่งเวลาในเกมดำเนินไปเรื่อยๆ ซิตี้ ก็เริ่มครองบอลได้ตามที่พวกเขาต้องการ การเดินเกมขึ้นมาแต่ละครั้งของทีมเยือนสร้างความปั่นป่วนและมอบงานให้นักเตะ ผีแดง อย่างต่อเนื่อง

บรรดากองกลางของ แมนฯ ซิตี้ ต่างทำงานได้อย่างยอดเยี่ยม แฟร์นันดินโญ่ พร้อมทำหน้าที่ในการตัดเกมและทำลายจังหวะ บรูโน่ ไหนจะ อิลคาย กุนโดกัน ที่ทำการเชื่อมเกมสอดประสานระหว่างแนวรุกและรับได้ดี หรือทาง เควิน เดอ บรอยน์ ที่พอสลับตำแหน่งลงมาต่ำและให้ ราฮีม สเตอร์ลิ่ง ขึ้นสูงแทน ส่งผลให้กองกลางทีมชาติเบลเยียมคายพิษสงและเล่นงาน ผีแดง ได้ต่อเนื่อง




จริงๆ แล้ว แมนฯ ยูไนเต็ด ไม่ได้เล่นแย่อะไรมากมาย พวกเขาทำงานตามที่ โซลชา สั่งลงมาคือเน้นรัดกุมรออาศัยจังหวะฉาบฉวยเล่นงาน และมันเกือบจะทำให้ทีมได้ประตูเช่นกัน

แต่จุดเปลี่ยนที่สำคัญคงหนีไม่พ้นการป้องกันที่หละหลวมในจังหวะตั้งเตะอีกครั้ง และมันนำมาซึ่งประตูออกนำของทีมเยือน

ถือจุดอ่อนอีกหนึ่งอย่างของ ผีแดง ที่ยังคงแก้ไม่ตก และมักจะโดนเล่นงานในจังหวะเช่นนี้อยู่เสมอ ซึ่งไม่แปลกที่ โซลชา จะหงุดหงิดและหัวเสียจนต้องออกมาบ่นหลังจบเกม

ไม่ต่างจากแฟนบอลที่คงไม่สบอารมณ์เช่นกันที่ทีมต้องมาเสียประตูจากจังหวะไม่น่าเสีย เพราะโดยรวมแล้วพวกเขาสามารถปิดเกมรุกและการเข้าทำของฝ่ายตรงข้ามได้ดี แต่ดันมาตกม้าตายแบบน่าเขกกะโหลก

สิ่งเหล่านี้คือเรื่องที่พยายามพูดทุกครั้ง รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่ แมนฯ ยูไนเต็ด ต้องพยายามปรับปรุง เพราะเกมระดับสูงมันวัดกันตรงที่ว่าใครผิดพลาดน้อยกว่ากัน

นั่นคือบทเรียนราคาแพงที่นักเตะปิศาจแดงได้รับจากเกมที่ผ่านมา แม้ช่วงก่อนหน้านี้ทีมจะพัฒนาขึ้นมาอย่างมากจนทำอันดับในพรีเมียร์ลีกได้ดี แต่งานชิ้นต่อไปคือการยกระดับและสามารถต่อกรกับทีมชั้นนำให้ดีกว่านี้




ข้อสังเกตของบรรดาสื่อในอังกฤษคือบางครั้ง แมนฯ ยูไนเต็ด ในยุค โซลชา มี 'ความกลัว' เวลาที่เจอกับทีมใหญ่ พวกเขาไม่กล้าเปิดเกมรุกเต็มกำลังเพราะกลัวจะโดนเล่นงาน และเลือกที่จะรับหน้าที่เป็นฝ่ายป้องกันรอคอยจังหวะสวนกลับแทน

นี่เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่หลายคนอาจจะมองว่า ผีแดง ชุดนี้ยังไปไม่สุด มันคือการยกระดับการเล่นของพวกเขาให้มี 'ความกล้า' และ 'ความดุดัน' มากกว่านี้

ในเรื่องของความกล้าก็อย่างที่เรียนไปว่าเมื่อเจอทีมใหญ่ๆ หรือทีมชั้นนำของลีก พวกเขาต้องหัดกล้าได้กล้าเสียมากกว่านี้ ส่วนในมุมมองของ 'ความดุดัน' คือบรรดาแนวรุกที่ยังคงไม่มีความแน่นอนหรือต่อเนื่อง บทจะหลุดก็หายไปแบบดื้อๆ บทจะเล่นดีก็เล่นดีแบบน่าใจหาย 

อย่างเกมที่ผ่านมาบรรดาแนวรุกของ ปิศาจแดง ดูวูบวาบและอันตรายในช่วงแรก แต่สิ่งเหล่านั้นกลับเลือนหายไปตามกาลเวลา โดยเฉพาะในครึ่งหลังที่มีโอกาสส่งบอลตรงกรอบเพียงครั้งเดียว

จะเห็นได้ว่าเมื่อทีมไม่มีทางเลือกข้างสนามมากนักเพราะ เอดินสัน คาวานี่ ติดโทษแบน ส่งผลให้ โซลชา คิดช้าทำช้าในการเปลี่ยนตัว (บางทีอาจจะเสียดายผู้เล่นสนามจนเกินไป) แถม เมสัน กรีนวูด ที่ลงมาก็ไม่ได้สร้างความแตกต่างอย่างที่ทีมต้องการมากนัก




ส่วนหนึ่งอาจจะต้องยกเครดิตให้บรรดาแนวรับของ ซิตี้ ที่เล่นได้ดีอย่างมากโดยเฉพาะ รูเบน ดีอาส ที่เป็นทุกอย่างในการป้องกันของทีมเยือนไม่ว่าจะการยืนตำแหน่ง  การสกัด หรือแม้แต่การสั่งการเพื่อนร่วมทีม

คงไม่เกินเลยไปหากจะบอกว่าเกมที่ผ่านมาเมื่อเวลาผ่านไปใกล้ถึงช่วงจบเกม โซลชา ก็แทบ 'หมดมุก' ในการหาทางเอาคืนฝ่ายตรงข้าม

ยิ่งเล่นยิ่งตันไม่สามารถสร้างความปั่นปวนหรือความยากลำบากให้ แมนฯ ซิตี้ แม้ทีมจะครองเกมมากขึ้นในช่วงท้าย แต่นั่นคือสิ่งที่ฝ่ายตรงข้ามต้องการให้เป็นไป ... 




... ถึงตรงนี้นับเป็นครั้งที่ 4 ที่ ปิศาจแดง ต้องอกหักในรอบรองชนะเลิศ ซึ่งส่วนตัวค่อนข้างผิดหวังกับผลงานของทีมจนนอนไม่หลับ และตอนที่พยายามข่มตานอนก็คิดอะไรเล่นๆ จนลองเอานัดที่ผ่านมาไปเปรียบเทียบกับ Final Fantasy Tactics เกมแนว Tactical role-playing game ชื่อดังของญี่ปุ่น 

เส้นทางของ ปิศาจแดง ในรายการ คาราบาว คัพ ซีซั่นนี้ไม่ต่างจากเกมดังกล่าวเพราะมันเหมือนกับการเก็บเลเวลพัฒนาตัวละครไปเรื่อยๆ ผ่านด่าน (Chapter) ที่ 1 (ลูตัน ทาวน์) ไปแบบง่ายๆ ไม่ต่างจากด่านที่ 2 (ไบรท์ตัน) ที่พลพรรคผีแดงสามารถเล่นงานคู่แข่งแบบไม่ยากเย็น

มียากหน่อยเมื่อผ่านครึ่งทางเพราะเริ่มเจอกับความท้าทายที่มากขึ้น บรรดามอนสเตอร์หรือหัวหน้าประจำด่านเริ่มมีท่าไม้ตายที่พร้อมเล่นงานผู้เล่น แต่ท้ายที่สุดก็ผ่านมาได้ด้วยประสบการณ์และเลเวลที่สูงกว่า

แต่เมื่อถึงด่านรองสุดท้ายก่อนจะไปดวลกับบอสใหญ่ (ในรอบชิงชนะเลิศ) ปิศาจแดง ต้องเจอกับงานหนักซึ่งตามความคิดพวกเขาคือพร้อมบวกเพื่อทะลุไปเจอหัวหน้าตัวสุดท้าย แต่ก็อย่างที่เห็นว่าทีมต้องจอดป้ายหยุดเส้นทางไว้เท่านี้





หากเป็นใน Final Fantasy Tactics สาเหตุที่ผู้เล่นหลายๆ คนต้องมาจอดก่อนชนบอสใหญ่คงหนีไม่พ้นการที่พวกเขาเน้นการเกมเก็บเลเวลอย่างเดียว แต่ลืมเก็บ Job Skills หรือพัฒนาบรรดา Abilities มาให้ดีเสียก่อน

ที่กล่าวมาไม่ได้จะพูดว่า ปิศาจแดง ยังไม่พร้อมชน แมนฯ ซิตี้ เพราะความเป็นจริงนั้นฟุตบอลกับเกมมันแตกต่างกันชัดเจน แต่ที่เอ่ยมาแค่เพียงอยากเปรียบเทียบว่าบางครั้งนักเตะ ยูไนเต็ด ยังไม่สามารถยืนระยะหรืองัดเอาผลงานที่ดีออกมาในเกมที่สำคัญ หรือแม้แต่สภาพจิตใจที่พร้อมพุ่งชนในเกมสำคัญ

ในวันที่ บรูโน่ เงียบเหงา ในวันที่บรรดากองหน้านัดกันปืนฝืด และในวันที่ตัวสำรองแทบจะไม่ได้ลงไปสร้างความแตกต่าง แฟนบอลก็มักจะเห็นผลงานที่น่าผิดหวังเช่นนี้ของทีม

งานต่อไปของ โซลชา และลูกทีมคือการยกระดับในเรื่องนี้ การผลักดันศักยภาพให้ออกมาและยืนระยะได้ต่อเนื่อง นั่นคือเรื่องสำคัญที่ทีมนี้ต้องท่องจำให้ขึ้นใจ

ฤดูกาลนี้อาจจะเป็นฤดูกาลที่น่าตื่นเต้นในแง่ของอันดับในลีก แต่หากมองไปที่รายละเอยดต่างๆ ทั้งเกมล่าสุดในศึก คาราบาว คัพ หรือการตกรอบ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ปัจจัยเหล่านี้ยังคงย้ำเตือนทุกๆ คนได้ดีว่าทีมยังมีสิ่งที่ต้องเดินหน้ายกระดับกันต่อไป



ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ระดับ : {{val.member.level}}
{{val.member.post|number}}
ระดับ : {{v.member.level}}
{{v.member.post|number}}
ระดับ :
ดูความเห็นย่อย ({{val.reply}})

ข่าวใหม่วันนี้

ดูทั้งหมด