:::     :::

Tactical Analysis : โซลชาต้องชนะทีม Big Six ให้ได้บ้าง

วันเสาร์ที่ 23 มกราคม 2564 คอลัมน์ #BELIEVE โดย ศาลาผี
4,240
ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ไม่แน่ว่าบทความนี้อาจจะเป็นคำตอบของเกม "แดงเดือดเอฟเอคัพ" นัดถัดไปก็ได้ว่า เราจะปรับแทคติกให้โซลชายังไงดีในการเอาชนะลิเวอร์พูลหรือทีมใหญ่อื่นๆให้ได้ ไม่ใช่เพียงแค่จัดคู่กลางเหนียวๆไปรอเล่นสวนกลับ และได้แค่ผลเสมอ 0-0 มาอย่างสามนัดก่อน

แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดเข้าสู่ช่วงปีที่2พอดิบพอดีสำหรับแผนการrebuildทีมใหม่ช่วงสามปีแรก และในปีนี้เราน่าจะมองเห็นได้ชัดแล้วว่าอันดับของยูไนเต็ดในฤดูกาลปัจจุบัน อย่างน้อยที่สุดเราน่าจะติดท็อปโฟร์ได้สบายๆ ในขณะที่มีลุ้นแชมป์ลีกแบบ "แอบมองเธออยู่นะจ๊ะ" พร้อมที่จะเป็นตาอยู่มาฉกแชมป์ไปเหมือนกันหากว่าทีมท็อปอื่นๆยังคงนัดกันพลาดเรื่อยๆให้เห็น(ทีมอื่นน่ะชัวร์ แต่ดูท่าซิตี้น่าจะไม่พลาดอีกแล้ว)

การติดอันดับ3ด้วยคะแนนเพียง 66แต้มเมื่อซีซั่นที่แล้วก็ดูเหมือนว่าจะมีโชคช่วยด้วยเล็กน้อย และก็เป็นเรื่องเดียวกันกับการที่เราได้อยู่บนจ่าฝูงของตารางด้วยคะแนน37-40แต้มในขณะที่ผ่านไปครึ่งทางของซีซั่น ก็เป็นเหตุมาจากการที่ทีมอื่นเองก็เก็บแต้มกันอย่างลำบากและทุลักทุเลเช่นกัน

จะบอกว่ามันเป็นโชคอย่างเดียวที่ทีมอื่นพลาดก็อาจจะไม่ใช่ แต่มันเกิดขึ้นเพราะปัจจัยการยกระดับของทีมล่างๆในลีก ให้เก็บคะแนนยากขึ้น และมีการแข่งขันกันสูงขึ้นนั่นเอง

ไม่มีเกมตบหมูอีกต่อไปในพรีเมียร์ลีก

ก่อนเกมแดงเดือดวันอาทิตย์ โซลชาเปรียบเปรยอันดับในตารางของแมนยูไนเต็ดว่าเหมือนการขึ้นไปสู่บนจุดสูงสุดของคิลิมันจาโร หรือเทือกเขาเอเวอเรสต์ได้ก็จริง แต่ถ้าขึ้นไปถึงตรงนั้นแล้วยืนเฉยๆเราก็จะแข็งตาย ดังนั้นเมื่อขึ้นมาแล้วเราก็ต้องเดินหน้าต่อไปเรื่อยๆอย่าหยุดนิ่ง

ซึ่งมันก็เป็นการเปรียบเทียบที่ดีมากๆด้วยตรรกะคิดที่ถูก แต่ว่าการกระทำมักจะสำคัญกว่าแค่คำพูดเสมอ ในยามที่ลิเวอร์พูลต้องลงสนามด้วยการใช้มิดฟิลด์สองคนในแดนหลังเพื่อทดแทนกองหลังอาชีพที่เจ็บยาวไปสามคน นั่นคือโอกาสทองที่สุดแล้วที่ยูไนเต็ดและโซลชาจะไปตบพวกเขาได้สำเร็จ แต่มันก็ไม่เกิดขึ้น

นี่คือเกมที่สามแล้วในซีซั่นที่จบลงด้วยการเสมอ 0-0 กับการเจอ"ทีมใหญ่" ในพรีเมียร์ลีก ตั้งแต่เกมเจอเชลซี แมนซิตี้ และล่าสุดก็ลิเวอร์พูล เป็น 0-0 ครั้งที่สามกับบิ๊กเนม แต่หากเมื่อมองย้อนไปเมื่อซีซั่นที่แล้ว เราเคยชนะเกมเหล่านี้ได้ถึง"4เกมเน้นๆ" ในการเจอกับเชลซีและแมนเชสเตอร์ซิตี้ในซีซั่นที่แล้ว

ซึ่งโอเคว่า แม้มันจะดูโอเคสำหรับทีมที่จะลุ้นท็อปโฟร์ แต่หากว่าคุณต้องการที่จะเป็นแชมป์แบบจริงๆจังๆ เราจำเป็นต้องชนะเกมแบบนี้ให้ได้บ้าง

สำหรับผู้จัดการทีมที่ได้รับเสียงยกย่องมากมายในเรื่องของแผนการเล่นและแทคติกในการจัดการกับทีมใหญ่อย่างโซลชานั้น ในฤดูกาลนี้แผนของเขาก็ยังคงเป็นเหมือนเดิมเป๊ะ นับตั้งแต่นัดแรกที่เจอเชลซี อ็องโตนี่ มาร์กซิยาลโดนแบนทำให้ต้องใช้แดเนียล เจมส์ลงสนามเป็น11ตัวจริงก็ตาม อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงแค่ตัวผู้เล่น แต่ว่า "แผน" ในการรับมือเชลซียังคงเดิม ฮวน มาต้าได้ลงในตำแหน่งตัวรุกทางขวาและเล่นในสไตล์แบบมาต้าด้วยการหุบเข้าในเพื่อช่วยแม็คเฟร็ดในการลำเลียงบอลขึ้นหน้า

เกมกับซิตี้กรีนวู้ดลงมาแทนเจมส์ ป็อกบาแทนมาต้า แต่ว่าทุกอย่างยังเหมือนเดิม ยูไนเต็ดเล่นเกมรับได้อย่างเหนียวแน่นมากๆกับซิตี้แต่ว่าสร้างโอกาสได้เพียงไม่กี่ครั้ง และก็ทำไม่สำเร็จด้วย หลังจากนั้นก็ยังใช้แทคติกเดิมในเกมรอบรองลีกคัพ และเสียประตูจากลูกเซ็ตพีซ ในขณะที่โจมตีคุกคามใส่ซิตี้ไม่ได้เลยเนื่องจากเกมcounter-attackที่ใช้ไม่ได้ผล ในขณะที่ยังเป็นภาพลวงตาสำหรับแฟนบอลบางคนว่าแมนยูคือทีมที่สวนกลับได้ดี แม้ว่าจะทำได้เยอะในลีก แต่คุณภาพการเล่นห่างไกลคำว่าดีอย่างมาก


ในเกมแดงเดือด โซลชาไปเยือนแอนฟิลด์ด้วยการปรับตำแหน่งอีกครั้ง มาร์กซิยาลยืนปีกซ้าย แรชฟอร์ดรอสวนกลับในแดนหน้า และโยกป็อกบาในตำแหน่งปีกขวา ซึ่งเกมนี้ก็คล้ายๆตอนเจอเชลซี เมื่อเกมดำเนินไปเรื่อยๆ แผงหลังเอาเกมรุกลิเวอร์พูลได้อยู่ในยามทีพวกเขาเองก็โจมตีมาตลอดไม่หยุด แต่ยังไม่คมพอ ส่วนยูไนเต็ดเองก็ยังไม่เฉียบคมเช่นกันเมื่อเราเป็นทีมประเภทที่ต้องได้ลองส่องสักสี่ห้าครั้งก่อนถึงจะทำประตูได้สำเร็จ ซึ่งความคมของจังหวะเกมรุกยังต้องพัฒนาอีกเยอะ(โดยเฉพาะอย่างยิ่งปีกสองข้างอย่างหมากแรช)


มันไม่ใช่เรื่องเซอไพรส์อะไรที่เราทำไม่ได้ในนัดนี้เพราะว่าก็มีโอกาสเป็นเช่นนี้เหมือนกัน กับช่วง8นาทีสุดท้ายและลูกยิงที่ติดเซฟของปอล ป็อกบา ซึ่งรอย คีนในฐานะผู้บรรยายของสกายสปอร์ตก็เอ่ยทรรศนะหลังเกมจบว่า "ลูกนี้ป็อกบาต้องทำประตูได้แล้ว" ซึ่งถามว่าจะเถียงรอย คีนได้ไหม ก็อาจจะแย้งเขาลำบากหน่อย เพราะด้วยสกอร์0-0 ป็อกบามีxG (expected goal) อยู่ที่ 0.38 ที่น่าจะทำประตูได้ แต่ว่าทำไม่ได้ นั่นก็แปลว่าการจบสกอร์ยังไม่ดีพอ

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเอาจริงๆป็อกบาไม่ได้ถึงกับยิงแย่ แต่มุมยิงโอกาสยิงมันก็ไม่ได้ถึงว่าง่ายเพราะว่าฟาบินโญ่บีบมาจากทางซ้ายแล้ว ในขณะที่ต้องชมอลิสซอน เบ็คเกอร์ที่ขยับมายืนตำแหน่งในเสี้ยววินาทีได้ดีจัดๆต่างหากที่ต้องเครดิตพี่หมีซะมากกว่าจะบ่นป็อกบา(นะคีโน่)

"Shot Map" แสดงตำแหน่งจุดลูกยิงของป็อกบาที่ตำแหน่งต่างๆในบริเวณรอบๆประตูคู่ต่อสู้

เมื่อเกมจบลง มันแสดงสถิติการครองบอล 66% ของลิเวอร์พูล และโอกาสยิงถึง18ครั้ง ส่วนยูไนเต็ด7 แต่ที่น่าสนใจคือ ลิเวอร์พูลยิงเข้ากรอบแค่3 ในขณะที่ทีมเรายิงน้อยกว่าเกินครึ่ง แต่กลับเข้ากรอบมากกว่าที่4 แฟนผีอาจจะรู้สึกเสียดายลูกยิงของบรูโน่และป็อกบาที่น่าจะเผาเล้าได้แล้ว แต่กลับกัน เชื่อเถอะว่าเราไม่ได้เจ็บปวดมากกว่าแฟนหงส์ที่ต้องมานั่งเห็นโรเบอร์โต้ ฟีร์มีโน่ที่สร้างสรรค์โอกาสได้อย่างดี แต่จังหวะจบสกอร์ยิงนกตกปลาหมดเกลี้ยงหนักกว่าป็อกอีก

การตัดสินใจของแรชฟอร์ดที่เราบ่นๆกัน ดูตกกะปิไปเลย เมื่อเจอลูกนี้ของฟีโน่

สถิติหลังจบการแข่งขัน ค่าxGของฝั่งลิเวอร์พูลอยู่ราว "1กว่าๆ"(โอกาสที่ลิเวอร์พูลน่าจะทำประตูได้ในเกมนี้คือ ประตูกว่าๆ) ส่วนของแมนยูจะราวๆ "1กว่า(นิดเดียว)" (บางเจ้าไม่ถึง1ด้วยซ้ำ) เปรียบเทียบหลายๆเจ้า ระหว่างค่าแรกLiverpool ค่าสองผู้มาเยือน Manchester United มีดังนี้

1.2 - 1.13 (Opta), 1.20 - 1.19 (understat), 1.40 - 1.18 (infogol), or 1.5 - 0.9 (Statsbomb)

จะเห็นว่าทุกสำนักตรงกัน คือxGฝั่งลิเวอร์พูลเยอะกว่าทุกเจ้าแบบเห็นได้ชัด นั่นก็คือพวกเขา"สากกะเบือ" กว่าแมนยูนั่นเอง ซึ่งก็ตรงกับความเป็นจริงที่มีattempts 18 ครั้งแต่เข้ากรอบแค่3นั่นเอง (ลิเวอร์พูลโคตรยิงทิ้งยิงขว้างมากๆ) ดังนั้นผลเสมอกันของทั้งสองทีมก็ถือว่าแฟร์แล้วล่ะ

แต่เมื่อหน่งปีที่แล้ว ยามที่ยูไนเต็ดเดินออกจากแอนฟิลด์ไป ตอนนั้นเราตามลิเวอร์พูลอยู่30แต้ม แต่ปีนี้มันกลายเป็นเกมที่เรานำอยู่สามแต้มซึ่งสิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงการพัฒนาอย่างชัดเจนของยูไนเต็ดแล้ว แต่เราก็ยังคงเซ็งและเสียดายที่ไม่ได้เกินหนึ่งแต้มจากที่นั่น แต่เอาจริงๆเราควรจะต้องอยู่ในอารมณ์ที่ดีกว่านี้ เพราะการขึ้นมาสู้กับพวกเขาได้ขนาดนี้ถือเป็นการก้าวกระโดดขึ้นมาจากหลุมดำอันมืดมิดของปีก่อนๆแล้ว

โอเล่ กุนนาร์ โซลชาอาจจะบ่นเสียดายเล็กน้อยประมาณว่า "เราชิงความได้เปรียบจากปัญหาอาการบาดเจ็บของพวกเขาไม่ได้" แต่ในขณะเดียวกันโซลชาเองก็อาจจะต้องย้อนดูผลงานของตัวเองเล็กน้อยว่า เรายังคงใช้systemการเล่นแบบเดิมๆกับทีมชั้นนำ (เชลซี แมนซิตี้) ก็ยังคงได้ผลการแข่งขันแบบเดิม และเจอปัญหาเดิมๆของทีมนั่นแหละ

หากอยากได้ "ผลลัพธ์ที่ต่างออกไป" ต้องการสิ่งที่แตกต่างหรือดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องไหนๆไม่เพียงแต่ฟุตบอล คุณก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนหรืออัพเกรดเพิ่มเติมเท่านั้น อย่าใช้แต่วิธีเก่าเดิมๆที่ไม่ได้ผล

ยกเว้นแต่ว่าเขาต้องการอยากได้ 0-0 เหมือนเดิมจากบ้านอยู่แล้ว อันนั้นแหละค่อยบ่นไม่ได้ ซึ่งจะบอกว่า โอเค เราเจอทีมใหญ่ ขอแค่ไม่แพ้ก็กำไรแล้ว จากนั้นค่อยไป"ตบเด็ก"เก็บแต้มจากทีมเล็ก นั่นก็ถูกอีกเหมือนกัน แต่บทความนี้เราพูดกันในมิติที่ว่า "หากคุณมีเป้าหมายที่จะเป็นแชมป์ คุณจำเป็นต้องชนะในเกมเจอทีมใหญ่ๆแบบนี้บ้าง"

อันนี้หวังว่าคนอ่านจะเข้าใจว่ามันคนละประเด็นของการพิจารณากัน

มาตามโผ โซลชาเลือกใช้ Scott McTominay กับ Fred ในการเล่นคู่pivotกลางสนามในเกมนี้ ถึงแม้จะมีตำรามากมายที่วิเคราะห์เอาไว้ถึงการเอาชนะบอลของซิตี้ ถูกเขียนไว้เต็มไปหมด ด้านแมนซินั้นใช้วิธีการครองบอลและขยายพื้นที่เล่นในแนวกว้าง ในขณะที่แนวรับแมนยูไนเต็ดก็ต้องโยกเกมรับไปด้านซ้ายทีขวาที จากนั้นซิตี้ก็จะค่อยๆหาช่องเจาะแนวรับเราที่โดนถ่างและเกิดรอยรั่วในแผงเกมรับให้ถูกเจาะเอาได้ (วิธีเดียวกับลิเวอร์พูลเป๊ะ) และขณะเดียวกันก็ใช้วิธีทำลายการครองบอลของยูไนเต็ดให้ไม่สามารถเก็บบอลได้ ในยามที่แมนยูได้บอลคืนกลับไป

ใช่แล้ว เกมเพรสซิ่งสูง(ของทั้งสองทีม)นั้นแหละ

เกมแดงเดือดเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา แมนยูต้องการใช้ป็อกบาให้หุบเข้ามาด้านในเพื่อช่วยมิดฟิลด์ในพื้นที่การครองบอล นี่คือแผนที่วางไว้ แต่เราไม่สามารถทำได้เมื่อมาร์คัส แรชฟอร์ด ไม่สามารถเก็บบอลหรือทำเกมในแดนหน้าได้เลย

ฟอร์เมชั่นการยืนนั้นต้องพึ่งการเล่นของป็อกบาที่วิ่งพล่านไปทั้งสนาม หากบอลเทไปเล่นทางซ้าย ป็อกบาจะต้องคัฟเวอร์พื้นที่โซนกลาง+ขวา เป็นพื้นที่ที่กว้างมากๆ

การใช้ป็อกบายืนด้านข้าง ไม่ว่าจะซ้ายกับซิตี้หรือขวากับลิเวอร์พูลดังกล่าวนั้น จุดนึงที่มีข้อดีในการใส่เขาไว้ในเลข3ตัวรุก ของแผน 4-2-3-1 มันทำให้ป็อกบาปลดปล่อยอิสระและเติมขึ้นเกมรุกได้สบายใจมากขึ้นจนสามารถปล่อยพลังคุกคามใส่คู่ต่อสู้ได้ แต่การจะทำเช่นนั้นได้ เชื่อว่าแฟนบอลหลายๆคนทราบเรื่องนี้ดี นั่นก็คือ

"ด้านหลังของป็อกบาต้องไว้ใจได้" โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คู่มิดฟิลด์ด้านหลังจะต้องเก็บรักษาบอลไว้กับตัวในภาคของการโฮลดิ้งและดึงจังหวะเกมช้าเร็วได้

เขียนมาถึงตรงนี้ ผู้อ่านนึกถึง "แม็คเฟร็ด" หรือไม่ .. ผมเชื่อว่า 99% นึกถึง "เนมันย่า มาติช" มากกว่า ซึ่งรวมถึงตัวคนเขียนด้วยนั่นล่ะ

แม็คเฟร็ดไม่ใช่มิดฟิลด์สายที่เก็บบอลได้เลยแม้แต่น้อย อย่างที่ทราบกันว่าสองคนนี้ไม่ใช่มิดฟิลด์ตัวรับธรรมชาติ แต่โอเล่จับมายืนคู่กันเพื่อใช้เป็นกลางรับให้ทีมเรา แต่จริงๆพวกพี่แกคือ Box to Box Midfielder ทั้งคู่ ซึ่งสถานะการครองบอลเฉลี่ยของแมนยูทั้งทีมนั้น อยู่ที่ "47.14%" เท่านั้นเองในยามที่สองคนนี้สตาร์ทเป็น11ตัวจริงคู่กันในสนาม

เมื่อเทียบกับคู่อื่นๆที่ลงแล้วทำให้ทีมมีการครองบอลของทีมเฉลี่ย 56.7% มันก็ชัดเจน

โอเคว่า มันอาจจะเกี่ยวกับ "ทีมที่เราเจอ" ด้วยว่าเราเจอทีมอะไร ถ้าเจอประเภทครองบอลโหดสัสๆแบบซิตี้ลิเวอร์พูลมันก็ไม่ได้แย่อะไรหรอก แต่เห็นได้ชัดว่าตัวเลขตรงนี้มันเปลี่ยนไปเล็กน้อยเท่านั้นเองเมื่อเจอกับทีมอย่าง นิวคาสเซิล, ลีดส์, เลสเตอร์ซิตี้ และแม้กระทั่งแอสตันวิลล่า แมนยูไนเต็ดมีเปอร์เซ็นต์ครองบอลเพียงแค่ 49%เพียงเท่านั้นในการเจอกับทีมพวกนี้ ก็น่าจะเป็นคำตอบที่ชัดเจนว่าเรา(แมนยูไนเต็ด)ไม่สามารถครองบอลต่อคู่แข่งรายไหนได้โดดเด่นกว่าเลย

เมื่อทีมไม่สามารถครองบอลได้ formationการยืนของยูไนเต็ดที่เป็นแผนไฮบริดจึงปรับเป็น 4-2-2-2 สี่เหลี่ยมคางหมูที่มิดฟิลด์ตัวรุกสองคนถ่างออกด้านข้าง และมีกองหน้าสองคนทันที (ซึ่งในต้นฉบับเปรียบเทียบให้เป็น 4-4-2 จริงๆจะนับแบบนั้นก็ได้ แต่Average Positionจริงๆของมันจะไม่ใช่ 4-4-2 Winger ที่สองข้างต้องเป็นปีกแท้จริงๆ และคู่กลางคือปักหลักกันเฉลี่ยบริเวณกลางสนาม แต่แผนเราคู่กลางด้านหลัง พื้นที่การยืนเฉลี่ยมันค่อนข้างต่ำ ดังนั้นที่ถูกจริงๆคือ 4-2-2-2 สถิติวิเคราะห์ออกมาเรียบร้อย

นี่คือ 4-2-2-2 มิดฟิลด์สี่เหลี่ยมคางหมู Trapezoid Box ในเกมเจอซิตี้

4-4-2 หรือ 4-4-2 Winger แบบปกติจะยืนแบบนี้ คู่กลางต้องคุมกลางสนามแบบคีนสโคลส์ ปีกแท้ออกริมเส้น แต่ของเราที่เจอซิตี้ไม่ใช่แผนนี้

เมื่อครองบอลไม่ได้และทรงยืนมันไฮบริดปรับเป็นเกมที่ถ่างออกมาเล่นด้านข้างเพื่อหนีเพรสตรงกลาง กับซิตี้ป็อกออกซ้ายบรูโน่ถ่างขวา ส่วนเกมเจอลิเวอร์พูล ป็อกบามายืนปีกขวา มาร์กซิยาลยืนปีกซ้าย และแดนหน้าบรูโน่วิ่งดันสูงอยู่กับแรชฟอร์ดในการเป็นตัวรุก(ในภาคการเล่นจริงในสนาม ไม่ใช่แผนในกระดาษ)

ค่อนข้างชัด มันคือ4-2-3-1ที่ไฮบริดร่างเป็น 4-2-2-2 หรือ 4-4-2ระหว่างเกม และบรูโน่เล่นสูงใกล้ๆกับแรชฟอร์ด

และเป็นอีกครั้งที่บรูโน่ยังไม่สามารถผลิตผลลัพธ์ในเชิงประจักษ์อย่างการทำประตูหรือแอสซิสต์ได้ในเกมใหญ่ๆเหล่านี้ อย่างที่กองแช่งหลายๆคน หรือแฟนบอลตัวเองนี่แหละบอกไว้ เอาจริงๆแล้วบรูโน่ยังคงเล่นแล้วมีประโยชน์กับทีมอยู่ในเกมเหล่านี้ถ้ามองกันจริงๆแบบไม่คอยจับผิดหรืออคติ เขายังคงเป็นตัวตั้งต้นและศูนย์กลางเกมรุกอยู่ เพียงแต่ว่าฟอร์มมันก็มีดร็อปบ้างล้าบ้างเท่านั้น ถ้าจะจับจ้องกันแต่ว่าเขาเล่นไม่ออกในเกมใหญ่ มันก็อาจจะเป็นเรื่องที่จับผิดมากไปหน่อย

แต่ในเรื่องนี้มันก็มีมูลให้ได้ขบคิดว่า เป็นเพราะอะไร บรูโน่ถึงได้ดูเงียบๆในเกมใหญ่เหล่านี้

ก็เหมือนกับปัญหาอื่นที่มีนั่นเอง คำตอบอยู่ในการตั้งคำถามไปที่ "แผงมิดฟิลด์" บรูโน่เล่นได้ดีที่สุดในตำแหน่งเพลย์เมคเกอร์เบอร์10 เล่นสนับสนุนกองหน้าด้วยอิสระในการเคลื่อนที่ไปรอบๆและหาตำแหน่ง การที่แผนของทีมต้องไฮบริดไปยืนทรงอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น 4-2-2-2 ที่ตัวรุกถ่างออกด้านข้าง(เพื่อหนีกลางรับที่จะเข้ามาจัดการกับบรูโน่ตรงกลาง) หรือแผนที่ใช้หลังสาม จากทรง 3-4-1-2 บ่อยครั้งที่การยืนจริงในสนามมันเป็น 3-4-3 เพราะต้องเติมขึ้นไปสูงเพื่อหาโอกาสทำประตู

สิ่งต่างๆเหล่านี้ที่ทำให้บรูโน่ต้องขยับออกจากจุดถนัด มันทำให้เขาลดประสิทธิภาพในเกมบุกลงอย่างชัดเจน

โอเค บรูโน่เป็น Advance Playmaker ประเภทที่ทำได้ทุกอย่างตั้งแต่ครองบอล ทำเกม ถ่างออกด้านข้าง รวมถึงยิงประตู ..แต่ก็นั่นแหละเมื่อเขาออกห่างจากประตูมากขึ้นเรื่อยๆไปทางด้านข้าง performanceมันก็ลดลงอันเนื่องมาจากผลที่กลางเก็บบอลไม่ได้นั่นเอง ทำให้พื้นที่อันตรายที่สุดของบรูโน่ในการ "เล่นในspaceระหว่าง มิดฟิลด์ กับ แผงหลัง" ถูกremoveออกไปเพราะไม่สามารถทำเกมจากจุดนั้นได้ อันส่งผลให้บรูโน่จะถูกประกบปิดการเล่นได้ง่ายมากกว่าเดิมอีกเพราะไม่ได้สอดอยู่ระหว่างแนวรับคู่แข่งแล้ว

ถ้าทีมต้องการมิติแบบนั้นของบรูโน่ที่ยืนอยู่ระหว่างไลน์ เพื่อจะได้เห็นสกิลบางอย่างของเขาในพื้นที่นั้นเช่น ยิงไกลแถวสอง หรือเคาะบอลชิ่งสั้นร่วมกับมาต้า หรือ ฟานเดอเบค (ทุกอย่างนี้เป็นสกิลที่บรูโน่จะสำแดงฤทธิ์เดชออกมาได้เมื่อยามที่สอดอยู่ระหว่างไลน์เท่านั้น) คุณจำเป็นที่จะต้องมีมิดฟิลด์กลางสนามที่สามารถเล่นเร็ว หรือจ่ายแทงทะลุช่องแม่นๆไปถึงเขาที่อยู่ในพื้นที่อันตรายให้ได้

ในภาพคนที่จ่ายบอลนี้คือ "มาติช" ที่แทงทะลุให้บรูโน่บริเวณนั้นที่พร้อมรับบอลและบุกขึ้นหน้าต่อได้

การใช้ "McFred"ลงเกมใหญ่ในจุดdouble pivot ยังไม่สามารถช่วยเกมรุกของทีมในด้านนี้ได้ กรณีของสองคนนี้จึงเด่นที่เกมรับ ซึ่งโอเค ไล่บอลได้จริง สู้ในเกมที่มีไดนามิคการเคลื่อนที่ได้ก็จริง แต่นั่นคือเกมรับอย่างเดียว แต่หากอยากให้ทีมทำประตูได้ ในยามที่แม็คเฟร็ดลงสนาม เกมสวนกลับของแมนยูต้องดีกว่านี้ เพราะนั่นเป็นอาวุธเดียวที่เราจะใช้ได้ในยามที่แม็คเฟร็ดลงคู่กัน ไม่งั้นก็คือต้องพึ่งป็อกบากับบรูโน่สองคนเท่านั้น เพราะกองหน้าที่เรามีอย่าง หมากแรช กรีนวู้ด พวกนี้ปั้นเกมเองไม่เป็นเลย ต้องรอบอลจากป็อกบาบรูโน่อย่างเดียว

แม็คเฟร็ดลงสนาม คือการสร้างจุดแข็งในเกมรับ แต่ภาคการครองบอลและเกมรุก พวกเขาทำให้ภาระไปตกอยู่กับ4ตัวในแดนหน้าค่อนข้างมาก หากว่าพวกแนวหน้าเล่นไม่ออก เกมรุกแมนยูก็จะจบเหมือนเกมที่เสมอ 0-0 พวกนี้นั่นแหละในการเจอกับBig Teamต่างๆ

พอทุกสิ่งไม่เป็นไปตามที่ต้องการ เราไม่สามารถคอนโทรลลูกจ่ายหรือครองบอลได้ มันทำให้บรูโน่รวมถึงป็อกบานั้น ต้องพยายามลงต่ำไปล้วงบอล รับบอลจากแนวลึกเพื่อช่วยกองกลาง จนบ่อยครั้งเกมรุกติดขัดเพราะไม่รู้จะจ่ายใครต่อได้

ทั้งหมดนี้คือประเด็นสำคัญที่ว่า เมื่อใดก็ตามที่แม็คโทมิเนย์กับเฟร็ดลงด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเกมใหญ่ บรูโน่นั้นมักจะต้องลงมารับบอล และได้บอล(touches)ในพื้นที่บริเวณที่ "ไกลจากปากประตู" อยู่เป็นประจำ ให้ลองดูความแตกต่างตรงนี้ในยามที่บรูโน่เล่นร่วมกับคู่แม็คเฟร็ด และบรูโน่เล่นร่วมกับคู่อื่นๆ


สถิติด้านบนจากStatsbomb ภาพนี้ภาพเดียวตอบทุกอย่างเลยนะว่า การใช้บรูโน่ เล่นกับแม็คเฟร็ดด้านหลัง มันทำให้ประสิทธิภาพเกมบุกของพี่หนวดลดน้อยลงอย่างมาก ไล่ตั้งแต่ปริมาณการได้บอลเฉลี่ยต่อ90นาที เล่นคู่แม็คเฟร็ดได้บอลแค่71.61 touches น้อยกว่าเล่นกับกลางคู่อื่นถึง15ครั้งโดยเฉลี่ย(85.06)

ส่วนร่วมในการได้บอลของเขากับทีมก็ลดน้อยลง จาก11.83% เมื่อเล่นกับแม็คเฟร็ดจะเหลือแค่ 11.57%

และที่สำคัญที่สุด เล่นร่วมกับแม็คเฟร็ด แอเรียส่วนใหญ่ที่บรูโน่จะได้บอลคือ "แดนหลังกับแดนกลาง"ซะมากกว่า ในพื้นที่ของ defensive third กับ middle third ซึ่งนั่นแปลว่า บรูโน่ต้อง"ลงต่ำ" (มาแนวหลัง หรือแดนกลาง) ซะเยอะ ในการเล่นร่วมกับแม็คเฟร็ด

เริ่มจากการได้บอลในแดนหลัง บรูโน่ได้ถึง 14.10% เมื่อเล่นกับคู่หูแม็คเฟร็ด แต่เล่นกับคนอื่นได้แค่ 12.54% โดยเฉลี่ย

ส่วนแดนกลาง เล่นกับแม็คเฟร็ด บรูโน่ได้บอล 46.47% เล่นกับคู่อื่นได้บอล 44.19% บรูโน่ก็ต้องมารับบอลแดนกลางจากมิดฟิลด์คู่อื่นน้อยกว่าอีก

แต่ในเกมรุก ถ้าเล่นกับมิดฟิลด์คู่อื่น อาจจะเป็น ป็อกบา มาติช บรูโน่กลับได้บอลในพืื้นที่อันตรายโซนattack thirdหรือ final third เยอะกว่ามาก เทียบการเล่นกับแม็คเฟร็ดได้บอลในพื้นที่บุก 44.12% แต่เล่นกับคู่กลางอื่นเขาได้บอล 47.55% หรือเกือบ50%ของการได้บอล(สัมผัสบอล)ทั้งพื้นที่

อาการหนักคือ เกมเจอลิเวอร์พูล บรูโน่ได้บอลแค่ 38% เท่านั้นเองในพื้นที่เกมรุก ซึ่งไม่ถึง40%ของการเล่น คำถามคือจะให้เอาฟอร์มแบบไหนมาให้แฟนผีกัน ในเมื่อกองกลางไม่สามารถซัพพอร์ตเค้าได้เลย และโดนลิเวอร์พูลบุกกดครองบอลใส่อยู่ข้างเดียวเช่นนั้น จนต้องให้ป็อกบามาช่วยเป็นคนเก็บบอลนั่นแหละ (เขียนเอาไว้ในรีวิวหลังเกมจริงๆเรื่องนี้ ว่าเกมเจอลิเวอร์พูล กลับกลายเป็นเจ้าป็อกเนี่ยแหละที่ลงปีกขวา ดันกลายเป็นคนเก็บบอลให้ทีมได้ซะงั้น แม็คเฟร็ดเก็บไม่ได้เลย)

ป็อกเก็บบอลได้ ส่วนบรูโน่เก็บป็อกขึ้นจากพื้น ช็อตที่หลุดไปยิงติดพี่หมีเบ็คเกอร์

ปริมาณการได้บอล สัมผัสบอลมันก็มากขึ้นลดลง แล้วแต่การครองบอลได้ของทีม แต่ให้เราโฟกัสที่เปอร์เซ็นต์การสัมผัสบอลของบรูโน่เมื่อเทียบกับทีมในหัวข้อที่สอง (% of United's total touches) มันดรอปลงประมาณ 1-1.5% ในเกมเจอซิตี้ เชลซี ลิเวอร์พูล เฉลี่ยสามทีมนี้บรูโน่ได้บอลราวๆ 10.43% จากการสัมผัสบอลทั้งหมดของแมนยู และเป็นการที่บรูโน่ได้บอลในแอเรียไม่อันตรายด้วยในสนาม (ดรอปต่ำลงมารับแดนกลาง แดนหลัง) ซึ่งแม้จะเป็นคู่ของ "เฟร็ด+มาติช" สถิติก็บ่งบอกว่าเขาได้บอลน้อยเช่นกันเมื่อซีซั่นก่อน มันแปลว่าในแดนกลาง ยูไนเต็ดอาจจะต้องใช้งานบอลจ่ายดีๆของ ป็อกบา หรือ ฟานเดอเบค มากกว่านี้ที่จะเป็นเฟร็ดหรือแม็ค

ตัวที่ดีที่สุดในทีมจะแผลงฤทธิ์ไม่ได้เลยหากว่ายังคงไม่ได้บอลเล่นใน "Best Place" หรือในโซนไม้ตายของเขาเขาได้ ยิ่งคนอย่างบรูโน่เมื่อไม่ได้บอลเขาจะยิ่งหงุดหงิดและพยายามด้วยตัวเองมากขึ้นยิ่งกว่าเดิม ซึ่งก็นั่นแหละ การออกจากตำแหน่งถนัดเพื่อล้วงลูกจึงเกิดขึ้นและปัญหาเกมรุกดรอปก็ตามมา

นี่เป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขทันทีด้วยการจ่ายบอลสู่แดนหน้าไปถึงเขาให้ได้ และในยามที่บอลขึ้นหน้าพวกเขาก็มักจะขาดตัวช่วยในเกมรุกอีกเพราะว่าแม็คเฟร็ดก็ยืนเล่นใกล้กันมากเกินไป และเมื่อมีโอกาสและมีเวลาเล่น ก็จะอย่างที่เห็นคือ มักจะทำอะไรไม่ได้มาก ถ้าไม่จ่ายบอลเสียก็มีแต่จ่ายคืนหลังเป็นส่วนใหญ่ ดังเช่นในรูปที่ไปยืนติดกันมากจนจ่ายให้กันเองไม่ได้เพราะตำแหน่งไม่ได้เปรียบ สุดท้ายก็คืนหลัง

และหลังจากนั้นก็เป็นอีกครั้งที่หากรักษาการครองบอลไว้ไม่ได้ มิดฟิลด์ตัวรุกของเราก็ต้องถ่างออกข้างเพื่อหนีเกมตรงกลาง ซึ่งนั่นทำให้เขาหลุดออกจากแดนอันตรายของเจ้าตัวระหว่างไลน์เกมรับคู่แข่ง ซึ่งทำให้ตรงกลางนั้นมีพื้นที่มากโขพอจะทำให้ "ติอาโก้ อัลคันทาร่า" หรือใครก็ตามที่เป็นกองกลางตัวอันตรายของคู่แข่ง มีพื้นที่ในการทำลายล้างแมนยูได้สบายๆ

และเมื่อกลางรุกหลุดออกจากตำแหน่ง กองกลางคู่แข่งจะวางบอล หรือมีพื้นที่ยืนว่างๆเล่นสบายเลย ในรูปนี่แม้ติอาโก้จะไม่ได้บอล แต่ดูพื้นที่เล่นของเขาที่"ว่าง"สิ วงให้เห็นชัดๆไปเลย ป็อกถ่างออกมาช่วยเกมรับขวา บรูโน่อยู่นู่นนน ด้านบน



อีกครั้งที่ติอาโก้สอดอยู่ระหว่างไลน์ของเรา ก็เป็นรูปแบบพื้นฐานเดียวกันที่ซิตี้กับลิเวอร์พูลใช้ในการต่อกรกับเกมที่เรามีแม็คเฟร็ด แพ็คกันตรงกลาง ดังนั้นพวกเขาจึงทำการหาทาง "ถ่างและขยายแนวรับยูไนเต็ด" ออกมา ไม่ว่าจะซ้าย ขวา หรือดึงให้ดันสูง เพื่อที่จะหาช่อง "เจาะ" เข้าไปตรงกลางให้ได้

เริ่มตั้งแต่ช็อตในภาพข้างล่างนี้ เฮนเดอร์สันครองบอลดึงให้นักเตะแมนยู(แรชฟอร์ด)ขยับตามเขาขึ้นมาก่อนในขั้นแรก

ตะโก้ขึ้นไปสอดด้านบนแล้ว เฮนโด้มีเวลาเล่นและดึงแมนยูออกมาจากพื้นที่

แม้จีนี่ ไวนาลดุมจะขยับตามติดแรชฟอร์ด แม็คโทมิเนย์ก็ขยับสูงตามดุมขึ้นมาด้วยในภาพนี้ทำให้มันมีช่องว่างเกิดขึ้นด้านหลังแม็คเฟร็ด กับแนวรับเราด้านหลังที่ แมกไกวร์-ลินเดอเลิฟ อยู่ด้านหลังของภาพนี้ นั่นแหละ นักเตะลิเวอร์พูลอยู่ด้านหลังแม็คเฟร็ดโล่งๆสองคน รอโจมตีใส่คู่CBเราเรียบร้อยแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นสองจังหวะบุกเต็มๆหลังจากนี้ของลิเวอร์พูลก็คือ เฮนโด้เปิดยาวไปด้านหน้าถึงมาเน่ที่เก็บบอลได้ และสุดท้ายบอลไปถึงซาลาห์เกือบได้ยิง

อีกจังหวะนึงคือภาพนี้ก็เช่นกัน แม็คเฟร็ดโดนดึงสูงให้ลอย จากนั้นเจอ"บอลครอส" ของร็อบโบ้ วางยาวให้ตัวรุกที่หลุดประกบอยู่ด้านหลังแม็ค-เฟร็ด และพร้อมโจมตีใส่ แมก-เลิฟ ทันทีตามในรูปนี้ นี่ก็อีกครั้งที่โดนลิเวอร์พูลเล่นแบบนี้ใส่ในจังหวะติดๆกันครึ่งแรกเกมแดงเดือด

ไม่มีอะไรชัดกว่านี้แล้ว คู่กลางโดนดึงถ่างขึ้นหน้าจนข้างหลังหลุดไปดวลกับCB / ป.ล. ลูกศรจ่ายบอลเบี้ยวนิดหน่อยอย่าคิดมาก มันเป็นสตาวล์(style)

และอีกครั้งที่แผนการยืนของยูไนเต็ดมันหลุดทรง 4-2-3-1 เพราะว่าโดนโยกซ้าย โยกขวา โยกซ้าย โยกขวา เพื่อดึงและถ่างพื้นที่ อย่างที่บอกไปแล้วว่านี่คือวิธีของซิตี้ที่ใช้"เกมต่อบอล" แหวกแนวรับ พอทรงแมนยูเสียจะเกิดช่องว่างระหว่างไลน์กองหลังกับมิดฟิลด์เราทันที และพวกนักเตะอย่าง แช็คหรือฟีโน่ที่อยู่บริเวณนั้น รวมถึงโมซาลาห์ด้วย ก็จะต่อบอลบุกใส่เราได้ทันที


บ่อยๆครั้งที่ป็อกหุบเข้ากลางมาจนสลับตำแหน่งกับแม็คโทมิเนย์ที่ออกไปไล่บอลด้านข้าง จึงเกิดเครื่องหมายว่าถ้างั้นทำไมไม่ใช้ ป็อก-เฟร็ด ในแดนกลางไปเลย แล้วหาคนลงตำแหน่ง "ปีกขวา" เป็นคนอื่นเอา (กรีนวู้ด มาต้า หรือ แรชฟอร์ดยืนขวา)

อันนี้ตอบได้เลยว่า ถ้าเป็นแบบนั้นเราก็จะไม่มีทางได้แต้มกลับออกมาจากแอนฟิลด์เช่นกัน เพราะไม่น่ารอดชีวิตออกมา

โดนเปรียบมวยกับเดอบรอยน์ไม่พอ ยังต้องเจอเปรียบกับติอาโก้อีก พี่หนวดแกเป็นเป้าโจมตีจริงๆ

การพิจารณาปัญหาใหญ่เรื่องนี้มันก็เข้าสู่ประเด็นที่ว่า "ยูไนเต็ดต้องการมิดฟิลด์ตัวรับ" ดีๆสักคนในแดนกลาง(อีกแล้ว) เพราะเราจะกลายเป็นคนละทีมทันทีเมื่อมีเนมันย่า มาติชอยู่ในสนาม แต่ว่าเราก็ไม่มีตัวแทนของเขาโรเตชั่นในแดนกลางได้เลยที่จะเล่นเกมรับ+hold ballได้ดีเท่ากับเขาอีก และเมื่อไหร่ก็ตามที่มาติชไม่ได้ลงสนาม เราก็จำเป็นต้องใช้แผนมิดฟิลด์คู่ ทำงานเป็นยูนิตรับร่วมกันในแดนกลางเท่านั้น ทำทุกอย่างต้องทำเป็นแพ็คคู่ ไม่ว่าจะครองบอล ไล่บอล เล่นเกมรับ ขยับตำแหน่งยืนในระนาบเดียวกัน

ซึ่งเมื่อ"ตัวติดกัน" ขนาดนี้บางทีมันโดนเจาะได้ง่ายมากๆเลยนะถ้าโดนแทงบอลทะลุผ่านคู่นี้ไปได้ บอลก็แทบจะหลุดไปดวลถึงกองหลังเลย (อย่างที่เรายกตัวอย่างในภาพด้านบนนั้นที่แม็คเฟร็ดลอยสูงและโดนบอลไดเร็คต์เล่นงานใส่CBเลย)

แมนยูไนเต็ดจำเป็นต้องมีมิดฟิลด์ที่เป็นโล่ให้กับแผง "Fantastic (Back) Four" ของเรา เพื่อสามารถใช้นักเตะตัวอื่นไปทำเกมรุกได้มากกว่านี้เคียงข้างบรูโน่นั่นเอง

เขียนมาถึงตรงนี้อะไรลอยมาอีกแล้ว ใช่.. "4-3-3" ที่รอคอยก็ยังคงไม่มาเหมือนเดิม หากว่ายังไม่ได้DMแท้ๆเทพๆเข้ามาสักคน

สถิติการจับคู่กันของมิดฟิลด์ วัดรวม2ซีซั่นล่าสุด แล้วดู%ชนะนั้นก็เห็นได้ชัดว่า คู่ที่ลงแล้วทีมเราโอกาสชนะเยอะสุดที่83.33% ยังคงเป็นคำตอบเดิมเหมือนบทความเก่าที่เคยเขียนไว้เมื่อปีก่อน ใช่แล้ว "ป็อกบา-มาติช" นั่นเอง

แม้จะบอกว่าเป็นเพราะการเลือกคู่มิดฟิลด์สองคนนี้ลงเจอกับทีมที่เป็นรองก็ตาม แต่คู่แม็คเฟร็ดเองลงด้วยกัน "19นัด" เข้าไปแล้วของสองซีซั่นล่าสุด นั่นแปลว่าไม่ได้ใช้สองคนนี้ลงเจอแต่ทีมใหญ่ๆแน่นอน แต่อัตราการชนะก็ยังแค่ 47.37%เท่านั้นเองซึ่งถือว่าน้อยกว่าครึ่งต่อครึ่งกับคู่ ป็อกบา-มาติช เลยนะ


ภาพที่สองเป็นของซีซั่นนี้ล้วนๆจะเห็นว่า คู่แม็คเฟร็ดเก็บคะแนนต่อนัดได้น้อยลงไปอีก %ชนะก็ลดลง ในขณะที่คู่ ป็อกบามาติช เล่นไป6นัด 83.33%เท่าเดิมเป๊ะเมื่อวัดรวมสถิติสองปี แปลว่าประสิทธิภาพในการเล่นยังพาทีมชนะได้ดีเหมือนเดิม

สถิติตรงนี้เคยมีคนเขียนและทำเอาไว้หลายๆแหล่งตั้งแต่ปีก่อน ผู้เขียนเองก็เคยทำบทความมาแล้วทีนึง แต่ดูเหมือนว่าทีมงานยูไนเต็ดก็จะยังไม่เห็นในข้อนี้สักเท่าไหร่ และภาพจำหลายๆคนก็ยังเชื่อว่า คู่กลางแม็คเฟร็ดยังคงดีที่สุดสำหรับทีมเรา

แต่ถ้าต้องการชนะ และอยากทำอันดับให้ดีๆ คู่ไหนลงแล้ว%ชนะมากกว่ากันมันก็ชัดเจน

และแม้จะเป็น "เกมใหญ่" ก็ตามที สถิติในการ "ใช้แม็คเฟร็ดเล่นคู่กลางเจอทีมใหญ่" มันก็ยังไม่ได้ถึงกับยอดเยี่ยมสุดๆอยู่ดี เมื่อเราชนะเพียงแค่ "2นัด" เท่านั้น ในการใช้สองคนนี้จับคู่กันแล้วลงเจอทีมใหญ่ที่จบใน6อันดับแรกของพรีเมียร์ลีก (ไม่ต้องงงว่า นัดเจอทีมใหญ่อื่นๆมันหายไปไหน ไม่ได้เอามานับเพราะนั่นคือเกมที่ไม่ได้ใช้แม็คเฟร็ดเล่นคู่กลางนั่นเอง)

ชนะแค่2นัด แต่เสมอไป6นัด จากทั้งหมด8เกมของสองซีซั่น มันอาจจะไม่ได้แย่มาก แต่ถ้าอยากเป็นแชมป์มันก็ต้องชนะได้เยอะกว่านี้อีกนิดนึง

และถ้าจะนับรวมเกมใหญ่ๆนอกลีกด้วยอย่างการเจอพวกปารีสอะไรพวกนี้ สถิติดังกล่าวก็จะเปลี่ยนเป็นแค่ ชนะ4 จาก 12นัด ในการใช้แม็คเฟร็ดเจอทีมใหญ่เท่านั้น

การเก็บคลีนชีตได้ต่อเนื่องก็บ่งบอกอยู่ในตัวแล้วว่า ก่อนเกมเหล่านี้มันเริ่มต้นด้วยความต้องการอย่างน้อยเสมอที่แอนฟิลด์ก่อน อันนี้ชัดเจนและเข้าใจได้ แต่นี่เป็นครั้งที่สามที่โซลชาเลือกเล่นในลักษณะแบบเดียวกันหมดทั้งสามเกมที่เสมอทีมใหญ่

หากแมนยูอยากจะชนะในเกมเหล่านี้ และยอมที่จะเสียการสร้างสรรค์เกมรุกไปเพื่อใช้คู่มิดฟิลด์เป็นแม็คเฟร็ดแพ็คตรงกลางนั้น พวกเขาจำเป็นที่จะต้องแสดงประสิทธิภาพมากกว่านี้

แต่แมนยูไม่ได้เป็นทีมที่เล่นได้คมขนาดนั้น ลูกเซ็ตพีซเราก็ไม่อันตราย ในขณะที่เกมรุกก็ต้องใช้โอกาสบุกมากกว่าแค่หนึ่งหรือสองครั้งเพื่อจบสกอร์สำเร็จ ถ้าไม่เป็นเช่นนั้นเราก็อาจจะต้องเล่นกันให้ฟอร์มพีคที่สุดเท่านั้นจริงๆถึงจะเก็บผลลัพธ์ในเกมนั้นๆได้สำเร็จโดยไม่เสียดายภายหลังว่าทำไมเกมนั้นชนะไม่ได้

เลเวล ณ ปัจจุบันของทีมเราเอาจริงๆแล้วก็คือ "เล่นยังไงก็ได้ให้ไม่แพ้ทีมใหญ่ไว้ก่อน แล้วค่อยไปเก็บแต้มจากชาวบ้านชาวช่องอื่นๆแทน" เช่นการ "ตบเด็ก" เป็นต้น

ลักษณะแบบนี้คงทำให้ทีมเราอยู่ในสถานะทีมลุ้นโควตาแชมเปี้ยนส์ลีกได้สบายๆนั่นแหละถ้าทำได้ แต่ถ้าอยากจะเป็น "แชมป์พรีเมียร์ลีก" เราจำเป็นต้องชนะไอ้เกมพวกนี้บ้าง และเพื่อการนั้นเราจำเป็นต้องมีผู้เล่นที่ช่วยเกมรุกได้มากกว่านี้

แต่ทุกอย่างมันก็เหมือนเหรียญสองด้าน อีกทางหนึ่ง ในบรรดาเกมที่แพ้(อย่างเช่น 1-6 กับสเปอร์ที่เป็นป็อกบามาติช แพ้พาเลซ1-3ก็แม็คป็อก) หากวันนั้นส่งคู่แม็คเฟร็ดอาจจะช่วยให้เราไม่แพ้ก็ได้ แต่นั่นจะทำให้คู่แข่งจับได้ทันทีว่า เมื่อไหร่ที่เราใช้รูปแบบนี้ ทีมจะขาดเขี้ยวเล็บในเกมรุกทันที

ลึกๆแล้วโซลชาอาจจะรู้ก็ได้ว่าแมนยูยังไม่พร้อมจะยกระดับขึ้นในสเต็ปถัดไปที่จะชนะทีมใหญ่ๆพวกนี้ไหว เพียงแค่ไม่ได้พูดออกมาสู่สาธารณะเท่านั้น แกคงรู้ขีดความสามารถทีมดีจึงจัดการให้ไม่แพ้บิ๊กเนมพวกนี้ไว้ก่อน และโชคก็เข้าข้างเขาที่โอกาสในการแก้มือมันกลับมาเร็วมากๆเมื่อเรากับคู่อริจะได้มาเจอกันอย่างรวดเร็วทันทีในเกมเอฟเอคัพสัปดาห์นี้

โซลชาจำเป็นต้อง "เปลี่ยน" อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งเขาไม่ได้ทำมันในเกมรอบรองคาราบาวคัพและโดนซิตี้เขี่ยตกรอบ แต่ว่าตอนนี้เราไม่ได้มีอะไรจะเสียอยู่แล้วในถ้วยนี้ จะตกรอบไปก็ไม่มีปัญหา เพราะฉะนั้น "เปลี่ยนเถอะโอเล่" เพื่อที่จะให้ตอนจบมันไม่เหมือนเดิม และอาจจะเป็นเราก็ได้ที่ชนะ สถิติต่างๆก็ทำออกมาให้เห็นขนาดนี้แล้ว

ลองเปลี่ยนวิธีดู อาจจะค้นพบแนวทางการเล่นเจ๋งๆของทีมเพิ่มขึ้นก็ได้นะ เหมือนที่ก่อนหน้านี้ลองดันป็อกบามาเล่นสูง และก็ติดลมบนมาจนถึงนัดล่าสุดกับฟูแล่มนี้

การลองเปลี่ยนดูแล้วแพ้ มันก็ไม่ได้ถึงกับโลกแตกขนาดนั้น เกมแดงเดือดที่เป็นแค่เอฟเอคัพรอบ4 แพ้ก็ไม่มีปัญหา แถมอาจจะช่วยเคลียร์โปรแกรมหนักๆในฤดูกาลนี้ให้เบาลงด้วย

เชื่อว่าแฟนผีน่าจะไม่ซีเรียสเท่าในลีกมากนัก ถ้านัดนี้พลาดแพ้ลิเวอร์พูลขึ้นมา อันนี้ไม่องุ่นเปรี้ยวนะ เพราะถ้าจะให้สะใจจริงๆคือการทำอันดับให้ทิ้งขาดพวกเขาในลีกต่างหากที่สะใจกว่า ซึ่งตอนนี้ก็ 1 VS 4 แถมกำลังจะตกลงไป 5อีกแล้วในเร็ววันนี้เพราะเอฟเวอร์ตันก็รอจ่อจะแทงดากส์อยู่แล้วรอมร่อ

และสุดท้ายนี้อย่าลืมว่า นี่เพิ่งจะเข้าปีที่สองของการสร้างทีมใหม่เท่านั้น เรายังมากันได้ขนาดนี้ และอย่าลืมว่า โซลชาย้ำเสมอว่านี่คือ "แผนการระยะยาว" ที่พวกเขาทำกันอยู่ในclubของเรา

ดูเหมือนว่าการรอคอยมันจะใกล้ขึ้นมาเรื่อยๆแล้ว

-ศาลาผี-

Reference

https://thebusbybabe.sbnation.com/2021/1/19/22236916/manchester-united-tactical-analysis-solskjaer-needs-to-be-bolder-against-big-six-rivals

ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ระดับ : {{val.member.level}}
{{val.member.post|number}}
ระดับ : {{v.member.level}}
{{v.member.post|number}}
ระดับ :
ดูความเห็นย่อย ({{val.reply}})

ข่าวใหม่วันนี้

ดูทั้งหมด