:::     :::

บาร์ซ่า กำลังจะล้มละลาย ?

ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
กลายเป็นข่าวฮือฮาไปทั่วโลก เมื่อ บาร์เซโลน่า ออกมาเปิดเผยผลประกอบการในฤดูกาล 2019-20 และพบว่ามีหนี้สินมหาศาลถึง 1,173 ล้านยูโรเลยทีเดียว เช่นนี้แล้วพวกเขาจะล้มละลายหรือไม่ ?

หนี้สินจำนวน 1,173 ล้านยูโร แบ่งออกเป็นหนี้ระยะสั้นจำนวน 730 ล้านยูโร เพิ่มขึ้นอีกจากเดิม 225 ล้านยูโร ส่วนหนี้ระยะยาวอยู่ที่จำนวน 442 ล้านยูโร 

หนี้ระยะสั้น...ต้องชำระเมื่อไหร่ ? 

หนี้ระยะสั้นสำหรับ บาร์เซโลน่า ถูกตีความถึงภาระหนี้สินที่มีกำหนดชำระภายในวันที่ 30 มิถุนายนนี้ ซึ่งเมื่อคำนวนจากห้วงเวลาและจำนวนเงินแล้วถือว่ากระชั้นชิดอย่างมาก 


บางส่วนของหนี้ระยะสั้นนี้ได้แก่

29.25 ล้านยูโร จ่ายให้ธนาคารสำหรับค่าตัว ของ ฟิลิเป้ กูตินโญ่ (ยังเหลือระยะยาวอีก 40 ล้าน)

16 ล้านยูโร จ่ายให้ อาแจ็กซ์ สำหรับค่าตัวของ แฟร้งกี้ เดอ ยองก์ (ยังเหลือระยะยาวอีก 48 ล้าน)

4.81 ล้านยูโรจ่ายให้ ยูเวนตุส สำหรับค่าตัวของ มิราเลม ปานิช (ยังเหลือระยะยาวอีก 52.8 ล้าน)

9.8 ล้านยูโรจ่ายให้ บอร์กโดซ์ สำหรับค่าตัวของ มัลคอม (ยังเหลือระยะยาวอีก 10.1 ล้าน)

9.6 ล้านยูโรจ่ายให้ บราก้า สำหรับค่าตัวของ ตรินเกา (ยังเหลือระยะยาวอีก 9.84 ล้าน)

9 ล้านยูโรจ่ายให้ เรอัล เบติส สำหรับค่าตัวของ จูเนียร์ ฟีร์โป

7.99 ล้านยูโรจ่ายให้ เกรมิโอ สำหรับค่าตัวของ อาร์ตู (ยังเหลือระยะยาวอีก 13.5 ล้าน)

6.5 ล้านยูโรจ่ายให้  บาเลนเซีย สำหรับค่าตัวของ เนโต้ (ยังเหลือระยะยาวอีก 13 ล้าน)

4.6 ล้านยูโรจ่ายให้ พัลไมรัส สำหรับค่าตัวของ มาเตอุส แฟร์นานเดส

1.25 ล้านยูโรจ่ายให้ ลาส ปัลมาส สำหรับค่าตัวของ เปดรี

9.5 แสนยูโรจ่ายให้ บาเยิร์น มิวนิค สำหรับค่าตัวของ อาร์ตูโร่ วีดัล

6  ล้านยูโรจ่ายให้ แอต.มิเนโร่ สำหรับค่าตัวของ เอแมร์ซอน (ตอนนี้เล่นกับ เรอัล เบติส) 

3.75  ล้านยูโรจ่ายให้ ยูเวนตุส สำหรับค่าตัวของ มาเตอุส เปไรร่า

2.5 แสนยูโรจ่ายให้ เรอัล บายาโดลิด สำหรับค่าตัวของ โฆเซ่ อานาอิตซ์ 

2.4 ล้านยูโรจ่ายให้ เออิบาร์ สำหรับค่าตัวของ มาร์ค กูกูเรย่า

2.5 แสนยูโรจ่ายให้ บียาร์เรอัล สำหรับค่าตัวของ เดนิส ซัวเรซ (ยังเหลือระยะยาวอีก 4.8 แสน)

2 ล้านยูโรจ่ายให้ อัลบาเซเต้ สำหรับค่าตัวของ เรย์ มานาจ

5 ล้านยูโรจ่ายให้ แอต.มาดริด สำหรับค่าสิทธิพิเศษ (ยังเหลือระยะยาวอีก 5 ล้าน)

หนี้สินมหาศาลเช่นนี้ บาร์เซโลน่า จะล้มละลายหรือไม่ ? 

บาร์เซโลน่า ไม่เลวร้ายถึงขั้นล้มละลายอย่างแน่นอน แม้หนี้สินที่มีจะทำให้สถานการณ์ทางการเงินของสโมสรตึงเครียดอย่างมาก แต่ยังมีทางออกอีกมากมาย 


ลำดับแรก บาร์เซโลน่า ถือครองทรัพย์สินที่มีมูลค่ามหาศาล ยกตัวอย่างพวกอสังหาริมทรัพย์ เช่น สนามคัมป์ นู, เมกะสโตร์,พิพิธภัณฑ์สโมสร,ฮอลล์ที่ใช้แข่งขันบาสเกตบอล,แฮนด์บอล ที่ดินที่ใช้ปลูกสร้าง,สนามซ้อมโจน กัมเปร์ แถวชานเมืองขนาด 136,839 ตารางเมตรซึ่งรวมแล้วมีมูลค่าสูงกว่าหนี้สินที่พวกเขามีหลายเท่าตัว 


นอกจากนี้ในส่วนของมูลค่านักเตะที่สโมสรครอบครองอยู่ก็ถือว่าสูงมากพอที่จะแบ่งเบาภาระหนี้สินได้ไม่ยาก ตัวอย่างเช่น อองตวน กริซมันน์,ฟิลิเป้ กูตินโญ่,อุสมาน เดมเบเล่ หรือ แฟร้งกี้ เดอ ยองก์ แข้งทั้ง 4 รายนี้ หากสโมสรนำออกขายทอดตลาดจริงๆ อย่างน้อยก็จะลดปริมาณหนี้ระยะสั้นลงได้เกือบครึ่งเลยทีเดียว 


แล้วพวกเขาจะจัดการกับสถานการณ์นี้อย่างไร ?

การจัดการหนี้สินถือเป็นงานสำคัญลำดับแรกๆของประธานสโมสรคนใหม่ที่กำลังจะถูกเลือกเข้ามาทำหน้าที่ในวันที่ 7 มีนาคมนี้ ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่างานแรกๆที่ท่านประธานจะต้องดำเนินการก็คือการเข้าเจราจากับธนาคารต่างๆ


เบื้องต้นคือการขอยืดระยะเวลาชำระหนี้ออกไปในช่วงเวลาที่สโมสรคำนวนแล้วว่าสามารถหามาจ่ายได้ทัน เพื่อบรรลุข้อตกลงนี้กับสถาบันการเงิน ความสามารถในการแก้ไขปัญหาทางด้านการเงินและความน่าเชื่อถือของประธานสโมสรคนใหม่ถือว่ามีความสำคัญมาก  หากประธานมีเครดิตดี น่าเชื่อถือ บาร์เซโลน่า ก็คงผ่านการเจราจาได้ไม่ยากแม้กระทั่งการทำเรื่องกู้เงินเพิ่มเติม 

ต้องไม่ลืมว่าแม้จะมีหนี้สิน แต่ประเมินจากทรัพย์สินที่มีแล้ว บาร์เซโลน่า ถือว่ามีมูลค่ามากกว่า อีกทั้งแบรนด์ของพวกเขายังมีความแข็งแรงมาก ซึ่งนับเป็นตัวชี้วัดว่ามีศักยภาพสูงในการใช้หนี้ เช่นนี้แล้วหาก บาร์เซโลน่า ต้องการ พวกเขาน่าจะได้รับอนุมัติเงินกู้ได้ไม่ยาก 


บริหารขาดทุน บาร์เซโลน่า จะถูกเปลี่ยนระบบบริหารเป็น S.A.D หรือไม่ ? 

สำหรับข้อนี้ ก่อนอื่นต้องอธิบายเสียก่อนว่าปัจจุบันสโมสรบาร์เซโลน่ามีระบบการบริหารงานแบบ socio (โซซิโอ) หรือแบบสมาชิก ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับระบอบประชาธิปไตยค่อนข้างมาก 

โซซิโอ มีสิทธิเลือกตั้งประธานและคณะบริหารขึ้นมาบริหารสโมสร สโมสรไม่ถูกครอบครองโดยใครคนใดคนนึง เหมือนประเทศที่ประชาชนทุกคนคือเจ้าของ และมีนายกรัฐมนตรี หรือประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งเป็นผู้บริหาร มีวาระการบริหารงาน และมีการตรวจสอบการทำงานโดยโซซิโอ 

ปัจจุบันในสเปนเหลือสโมสรที่บริหารงานในระบบโซซิโอเพียง 4 สโมสรเท่านั้น นอกจาก บาร์เซโลน่า แล้ว ก็มี เรอัล มาดริด,แอธ.บิลเบา และ โอซาซูน่า ส่วนทีมอื่นๆนั้นบริหารด้วยระบบ S.A.D. 


S.A.D. ย่อมาจาก Sociedad Anonima Deportiva ถอดความออกมาคือ sports corporations หรือบริษัทกีฬา เป็นนิติบุคคล ซึ่งเริ่มขึ้นในปี 1990 เพื่อส่งเสริมความโปร่งใสของสโมสรฟุตบอลในกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการค้า 

เนื่องจากในช่วงทศวรรษ 1980 สโมสรฟุตบอลอาชีพในสเปนหลายแห่งประสบภาวะขาดทุนมกาศาล จนล้มละลาย ซึ่งส่งผลกระทบไปยังสถาบันต่างๆมากมาย ไม่ว่าจะเป็นสถาบันทางการเงิน หรือหน่วยงานสาธารณะที่ทำงานเชื่อมโยงกับทางรัฐบาล

ดังนั้นทางรัฐบาลของ นายเฟลิเป้ กอนซาเลซ นายกรัฐมนตรีของสเปนในยุคนั้นจึงผลักดันสนับสนุนให้มีการสร้างกฎหมายใหม่เพื่อให้สโมสรต่างๆมีอิสระทางการเงินมากขึ้น 


วิธีการคือบีบให้สโมสรที่ประสบภาวะขาดทุนในเวลานั้นทั้งหมดต้องเปลี่ยนมาบริหารในระบบ S.A.D. มีการเปิดขายหุ้นระดมทุนจากนายทุนที่ต้องการครอบครองสโมสร ส่วนสโมสรที่ยังมีกำไรก็ให้บริหารในระบบโซซิโอต่อไปหากต้องการ ซึ่งในเวลานั้น บาร์เซโลน่า คือหนึ่งในทีมที่ตัวเลขอยู่ในแดนบวกจึงดำรงการบริหารแบบดั้งเดิมเอาไว้ได้ 

จนกระทั่งมายุคนี้ ที่การเงินย่ำแย่เป็นหนี้สินนับ 1,000 ล้านยูโร จึงมีความกังวลว่า บาร์เซโลน่า จะถูกบีบให้ต้องเปลี่ยนระบบไปเป็นเหมือนสโมสรส่วนใหญ่ใน ลา ลีกา หรือไม่ 


ตรงนี้ตอบได้เลยว่า ‘ไม่’ มีความเป็นไปได้เกือบ 100% ที่ บาร์เซโลน่า จะยังคงการบริหารงานในระบบโซซิโอต่อไปตามเดิม แม้ว่าจะมีหนี้สินมหาศาล แต่อย่างที่เขียนอธิบายไปข้างต้นว่าสโมสรยังมีทรัพย์สินที่มีมูลค่ามากกว่าหนี้สิน พูดง่ายๆคือยังมีศักยภาพในการใช้หนี้ ดังนั้นพวกเขาจึงจะไม่ถูกบีบจากรัฐบาลอย่างแน่นอน 

“ยกเว้นเสียแต่จะยอมเปลี่ยนกันเอง” กระนั้นจากท่าทีของผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานทั้ง 3 คน ไม่ว่าจะ โจน ลาปอร์ต้า,โตนี่ เฟรช่า หรือ วิคตอร์ ฟอนท์ ทุกคนต่างแสดงจุดยืนตรงกันคือสโมสรบาร์เซโลน่าจะยังคงยึดระบบการบริหารที่มีโซซิโอสโมสรเป็นเจ้าของร่วมกันต่อไป 


บาร์ซ่า มีเงินเสริมทัพในตลาดนักเตะซัมเมอร์นี้หรือไม่ ? 

หากไม่นับว่าสโมสรมีปัญหาเรื่องการเงินแล้ว เมื่อว่ากันตามกฏ  salary caps  ของ ลา ลีกา บาร์ซ่า แทบไม่มีส่วนต่างในการใช้เงินเหลืออยู่เลย 

ดังนั้นแล้ว กลุ่มผู้เล่นที่ บาร์เซโลน่า จะสามารถดึงเข้ามาสู่ทีมได้ตามความเห็นของทีมงานของผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานทั้ง 3 คน มองว่าเกือบทั้งหมดจะต้องเป็นผู้เล่นที่ไม่มีค่าใช้จ่าย ยกตัวอย่างเช่น เมมฟิส เดปาย,เอริค การ์เซีย และ จอร์จินโญ่ ไวนัลจ์ดุม เป็นต้น 


แล้ว บาร์ซ่า จำเป็นต้องขายนักเตะออกไปหรือไม่ ? 

แน่นอนว่านี่คือสิ่งที่พวกเขาต้องทำ บาร์ซ่า ต้องการเงินเข้ามาหมุนเวียนในคลังสโมสร และเหล่านักเตะที่ไม่ใช่ตัวหลักของทีมจะถูกหยิบขึ้นมาพิจราณาขายออกเพื่อทำกำไร ข้อสำคัญที่ บาร์เซโลนิสต้า ทุกคนต้องท่องจำให้ขึ้นใจก็คือ “หากไม่มีขาออก ก็จะไม่มีขาเข้า”  นี่คือเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะการปล่อยออกนอกจากจะได้เงินเข้าทีมแล้ว ยังเป็นการลดค่าใช้จ่ายเรื่องค่าเหนื่อยอีกด้วย 


การเป็นหนี้คือเรื่องธรรมดาสำหรับสโมสรยักษ์ใหญ่หรือเปล่า ? 

ในโลกของฟุตบอล ถือเป็นเรื่องธรรมดามากๆที่สโมสรใหญ่จะเป็นหนี้ค่าตัวนักฟุตบอล เพราะการจ่ายเงินซื้อนักเตะยุคนี้จะทำการผ่อนจ่ายเป็นงวดๆ ในห้วงเวลาหลายปี กระนั้นที่ไม่ธรรมดาก็คือบรรดาหนี้ค่าตัวนักเตะที่ บาร์ซ่า ค้างอยู่ ถือว่าเยอะมาก และหลายรายย้ายออกจากทีมไปแล้วด้วยซ้ำ แต่สโมสรก็ยังชำระไม่หมด แสดงให้เห็นถึงวินัยทางการเงินที่แย่มาก


ใครคือผู้ที่ต้องรับผิดชอบที่เป็นเหตุให้ บาร์เซโลน่า เดินมาถึงจุดนี้  

แน่นอนที่สุดว่าจะต้องเป็นอดีตประธานสโมสรคนล่าสุด โจเซป มาเรีย บาร์โตเมว การบริหารการเงินของเขานั้นถือว่าล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง และก่อให้เกิดสถานการณ์ที่ยากลำบากตกอยู่กับสโมสร


ที่ผ่านมา บาร์โตเมว วนเวียนอยู่กับการนำเอาเงินในอนาคตมาใช้หมุนเวียนในปัจจุบันเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าซึ่งต้องบอกว่าเขาโชคร้ายอย่างมากเช่นกันที่มาเจอกับวิกฤตโควิด-19 ทำให้สถานะการเงินที่ง่อนแง่นพังทลายลงในทันที 

แน่นอนว่าประธานคนใหม่ที่จะเข้ามาบริหารงานต่อจากเขาในวันที่ 7 มีนาคมนี้ หากจัดการอะไรๆเข้าที่บ้างแล้ว เขาจะพุ่งตรงมายัง บาร์โตเมว อย่างแน่นอนเพื่อจัดการสะสางบัญชีนี้ ซึ่งหากมีโอกาสสูงที่ บาร์โตเมว จะเดือนร้อนจนถึงขั้นขึ้นโรงขึ้นศาล 


งานสร้างสนามแห่งใหม่จะเดินหน้าต่อหรือไม่ ? 

บาร์เซโลน่า ต้องการสนามแห่งใหม่ที่ใหญ่ขึ้นเพื่อสร้างรายได้เข้าสโมสรให้มากกว่าเดิม นิว คัมป์ นู จะต้องเกิดขึ้น เพียงแต่เวลานี้ไม่มีใครทราบได้ว่า “เมื่อไหร่ ?” 

สโมสรจะต้องจัดการสถานการณ์ยุ่งเหยิงทางการเงินให้เรียบร้อยเสียก่อน หลังจากนั้นค่อยพิจราณาความสามารถด้านการเงินว่าเพียงพอจะผลักดันโปรเจคต์ให้เกิดขึ้นได้หรือไม่ ซึ่งคาดกันว่าคงจะต้องเลื่อนออกไปอีกอย่างน้อย 2-3 ปี 


เจมส์ ลา ลีกา



ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ระดับ : {{val.member.level}}
{{val.member.post|number}}
ระดับ : {{v.member.level}}
{{v.member.post|number}}
ระดับ :
ดูความเห็นย่อย ({{val.reply}})

ข่าวใหม่วันนี้

ดูทั้งหมด