:::     :::

ความต่างของแม็คเฟร็ด บนความเป็น Box to Box และ Carrilero

วันพุธที่ 10 กุมภาพันธ์ 2564 คอลัมน์ #BELIEVE โดย ศาลาผี
20,605
ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
นี่คือบทความที่จะบ่งบอกถึงความแตกต่างในการเล่นมิดฟิลด์ของ แม็ค-เฟร็ด ว่าสองคนนี้แตกต่างกัน"โดยสิ้นเชิง" และมีประโยชน์ใช้งานกันคนละมิติเพื่อประโยชน์ในการเล่นของแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด

หลายๆคนอาจจะมองว่า "แม็คเฟร็ด" (McTominay & Fred) นั้นเป็นมิดฟิลด์ตัวต่ำของทีมเช่นกัน และทำหน้าที่ร่วมกันในการเป็น "กลางรับคู่" double pivotของแผน 4-2-3-1 ในทีมเราขณะนี้ ดูเผินๆทั้งสองคนนี้อาจจะเล่นคล้ายๆกัน และช่วยๆกันวิ่งในแดนกลางให้ทีมเรา

แต่จริงๆแล้ว สไตล์การเล่นของแม็คโทมิเนย์กับเฟร็ด แตกต่างกันมากพอสมควร หากจะสังเกตดีๆ โดยที่เราสามารถจำแนกความแตกต่างของสองคนนี้ได้  โดยการวิเคราะห์เบื้องต้นผ่านทาง "บทบาทการเล่นมิดฟิลด์" (Role) ที่ไม่เหมือนกันของทั้งสองคน ว่าแต่ละคนนั้นเล่นด้วยroleอะไรเป็นหลักในสนาม 

เมื่อพบว่ามันเป็นคนละroleกัน เราก็จะมองเห็นถึงความต่างระหว่างสองคนนี้ได้ชัดเจน และนี่คือภาควิเคราะห์ถึงนักเตะในทีมแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด ที่ทำให้รู้ว่านักเตะของเรานั้นมีอะไรที่นำเสนอและช่วยทีมได้บ้าง

Scott McTominay "Box to Box"

แม็คโทมิเนย์เราสามารถระบุเขาได้อย่างชัดเจนแน่นอนแล้วในตอนนี้ว่า เขาคือมิดฟิลด์ประเภท "Box to Box" ขนานแท้และดั้งเดิมแบบ100% เน้นๆเลย ซึ่งคำจำกัดความของBox to Box ก็อย่างที่เราทราบกันว่า มันคือมิดฟิลด์ที่เติมขึ้นสูงไปเล่นจนถึงในกรอบ(box)ของคู่ต่อสู้ได้ในขณะที่เล่นเกมรุก

แต่ในขณะเดียวกัน เวลาเล่นเกมรับ เขาก็จะลงต่ำมาจนสุดกรอบเขตโทษฝั่งตนเอง(box)เช่นกัน และช่วยทีมเล่นป้องกันแบบเต็มตัวได้

มันคือการเล่นที่ขึ้นสุด(box)ลงสุด(box)นั่นเอง

เกมรุก มิดฟิลด์ box to box จะเติมขึ้นสูงถึงขนาดได้โอกาสจบสกอร์ด้วย ไม่ว่าจะยิงหรือโหม่งลูกครอส เข้าไปเติมยิง หรือแม้กระทั่งถอนต่ำลงมานิดหน่อยเพื่อโจมตีด้วยลูกยิงระยะไกลนอกกรอบก็เช่นกัน คือพูดง่ายๆคือรุกทุกรูปแบบทั้งวงนอกวงใน จะทำหมด (ซึ่งก็เป็นการเล่นของน้องแม็คชัดๆ)

เกมรับมิดฟิลด์box to box จะลงต่ำมาเพื่อจัดการกับกลางรุกของคู่แข่ง ไล่บดขยี้และปกป้องแผงเกมรับ(defensive line)ในด้านหลัง เรียกง่ายๆก็คือเล่นรับเต็มตัวอีกนั่นเอง

การเติมมายิงประตูได้บ่อยครั้ง คือจุดที่บ่งบอกชัดเจนถึงการเติมเกมรุกของแม็คโทมิเนย์ที่สุดมากๆ จากนัดล่าสุดด้วยประตูโทนเอาชนะเวสต์แฮมนี่การเติมมายิงในกรอบมันคือมิติมิดฟิลด์ Box to Box แบบชัดเจน

แต่นอกจากการเป็นมิดฟิลด์ประเภทนี้100%แล้วนั้น แม็คโทมิเนย์ยังมี "มิติอื่น" ที่ชัดๆอีกสองมิติการเล่นกองกลางนั่นก็คือ

-Ball Winning Midfielder หรือพูดง่ายๆคือ การเป็นมิดฟิลด์สายบวก เข้าปะทะทำลายเกม และชิงบอลจากคู่แข่งมาให้ได้ เรียกภาษาแบบศาลาผีคือ มิดฟิลด์สาย"ทำลายล้าง" ตัดทำลายเกมคู่แข่งแล้วชิงบอลมาให้ได้ นั่นคือสิ่งที่แม็คเป็นในยามเล่นเกมรับ

-Half Back อันนี้เขียนอยู่บ่อยๆ มันคืออีกมิตินึงที่แม็คโทมิเนย์มี คือการที่สามารถลงไปยืนต่ำยิ่งกว่า"มิดฟิลด์ตัวรับ" ได้อีก ซึ่งก็จะดร็อปต่ำลงไปยืนเกือบๆจะระนาบเดียวกับสวีปเปอร์เลย โดยฮาล์ฟแบ็คจะยืนราวๆCBตัวข้าง ที่ยืนสูงกว่าSWนิดนึง ซึ่งก็เป็นแผนที่แมนยูไนเต็ดใช้ในการbuild-up บอลขึ้น จากแดนหลังไปหน้านั่นเองที่ผมเขียนถึงอยู่บ่อยๆ และแฟนบอลก็น่าจะเห็นทีมเรายืนตำแหน่งแบบนี้กันทุกๆนัด หากสนใจจะสังเกตแทคติกทีมเรา นั่นก็คือ การเซ็ตหลังสามชั่วคราวด้วยทรง 3-1-2-1-3 (หรือ 3-3-1-3) ที่กระจายนักเตะแผ่ออกไป แดนหลังยืนกันสามตัว กลางซ้ายขวา มิดฟิลด์ตัวต่ำรับบอลคนนึง จากนั้น วิง กับ กลางรุกด้านหน้าก็จะกระจายๆกันรอรับบอลต่อ

วิธีการเซ็ตบอลจากแดนหลังของทีมเรามักจะใช้มิดฟิลด์ตัวต่ำสุดในการลงมาช่วยตั้งบอลเสมอ และมักจะเป็น มาติช หรือ แม็คโทมิเนย์นี่แหละ ที่เป็นมิดฟิลด์กึ่งๆเซ็นเตอร์แบ็คเสมือน ตัวที่สาม นั่นคือภาคการตั้งบอล

ส่วนเกมรับ ก็แน่นอน ฮาล์ฟแบ็คคือมิดฟิลด์ที่บางทีก็ลงไปยืนเป็นเซ็นเตอร์ตัวพิเศษ เพิ่มขึ้นมาอีกคนในdefensive lineของทีม

และเป็นสิ่งที่แม็คโทมิเนย์ก็ทำได้อีกเช่นกัน ดังนั้น ด้วยความเป็น Box to Box Midfielder ของScott McTominay นั้น เขายังมีมิติของการเล่น HB และ Ball-Winning อีกด้วย

Fred (Carrilero)

มาดูทางด้านเฟร็ดกันบ้าง จริงอยู่ที่เราสามารถระบุแบบ"กว้างๆ" ได้ว่า เฟร็ดเป็นมิดฟิลด์ประเภท Box to Box อีกคนเช่นกันที่วิ่งขึ้นวิ่งลงให้กับทีม เติมเล่นร่วมเกมรุก วิ่งถอยต่ำลงมาเล่นเกมรับ อันนี้ง่ายๆ

แต่ในความเป็นจริงแล้ว รายละเอียดการเล่นของเฟร็ดมันยิบย่อยกว่านั้น และคำว่าบ็อกซ์ทูบ็อกซ์มันยังเป็นคำที่ค่อนข้าง "กว้างไป" และระบุการเล่นของเฟร็ดได้ไม่ชัดเจนครอบคลุมอย่างจริงๆจังๆ

แล้วเฟร็ดคืออะไร?

เอาจริงๆแล้วแฟนผีรู้คำตอบนี้อยู่แล้วแหละ แค่ไม่ได้เขียนออกมาเป็นชื่อต่างประเทศที่เขาเรียกกันเท่านั้นเอง

เขียนมาถึงตรงนี้ อยากให้คนอ่านหยุดคิดหน้าจอสัก15วิ แล้วตอบผมมาว่า เวลาคุณนึกถึงเฟร็ด คุณจะเรียกเขาว่าเป็นกองกลางแบบไหน ติ๊กต่อกๆๆ..

อ่ะครบ15วิแล้ว ผู้เขียนใช้สแตนด์ King Crimson ตัดเวลาให้ คำตอบก็คือ เฟร็ดเป็น "มิดฟิลด์ลูกหาบ" นั่นเอง เนี่ยแหละ คำจำกัดความแบบไทยที่ชัดที่สุด แต่ยังมีดีเทลเยอะกว่านั้นอีก เพราะลักษณะของเฟร็ดเป็นกลางลูกหาบแบบที่ต่างประเทศเค้าเรียกว่า "Carrilero" นั่นเอง

ทุกวันนี้ก็ถือเป็นลูกหาบคนสำคัญของบรูโน่เหมือนกันนะ

Carrilero อาจจะมีคนตีความเข้าใจว่ามันคือวิงแบ็ค แต่จริงๆแล้ว ไอ้ตำแหน่งนี้คือ "กองกลางลูกหาบ" หรือภาษาอังกฤษเขาจะเรียกมันว่า "Shuttler" นั่นเอง

ตำแหน่งนี้มันคือมิดฟิลด์ลูกหาบ และลูกหาบมีหน้าที่ซัพพอร์ตในแดนกลางเป็นหลักๆ ซึ่งมันก็คือเฟร็ด เพราะเฟร็ดจะเป็นกองกลางของเราที่คอยเชื่อมเกม ต่อเกม และช่วยเหลือให้เพื่อนคนอื่นเล่นในเพลย์ต่อๆไปได้ แค่ข้อแรกนี่เฟร็ดก็ถือว่าเข้าเงื่อนไขเป็น Carrilero นี่แล้ว

ถ้าให้ยกตัวอย่างอธิบายเรื่องตำแหน่งการยืน การเล่นของCarrilero จะยกตัวอย่างยังไงนั้น จะชี้ให้ชัดๆว่า ตำแหน่งการเล่นของCarrilero คือการเล่นเชื่อมอยู่ในแอเรียระหว่าง "กลางรุก" กับ "กลางรับ" นั่นเอง

พื้นที่เล่นเขาจะขึ้นลงๆอยู่ "ระหว่าง" การเล่นของสองตำแหน่งนี้

หากเปรียบเปรยกับformationการเล่นง่ายๆ ขอให้ทุกคนนึกถึง 4-4-2 diamond ที่ยืนกันเป็นมิดฟิลด์4เหลี่ยมข้าวหลามตัดนั่นเอง

เหลี่ยมบนมันคือกลางรุก เหลี่ยมล่างมันคือกลางรับ อันนี้ทุกคนเข้าใจ

ส่วนมิดฟิลด์เหลี่ยมซ้าย เหลี่ยมขวาที่อยู่ตรงกลางระหว่างเหลี่ยมกลางรุกกับเหลี่ยมกลางรับ นั่นแหละคือ "Carrilero" หรือว่า Shuttler นั่นเอง

ยกตัวอย่างเหลี่ยมกลางสองคนในภาพนี้ที่ทำหน้าที่เป็นตัวShuttler คือเฟร็ด กับ บรูโน่ เป็นต้น

คนที่ใช้ตัวลูกหาบแบบนี้บ่อยๆชัดเจนก็มีให้เห็นอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "มาร์เซโล่ บิเอลซ่า" ยามคุมชิลีด้วยแผน 3-3-1-3 เขาใช้ "Shuttler สองคน" ยืนช่วยงานอยู่ข้างๆ Holding Midfield นั่นเอง และสองคนนี้ก็จะวิ่งขึ้นวิ่งลง และทำงานหนักให้กับทีมเพื่ออำนวยความสะดวกเป็นดั่งลูกหาบให้กับตัวหลักที่เป็น มิดฟิลด์ตัวโฮลดิ้งบอลนั่นเอง

และจริงๆทรงยืนนี้ของบิเอลซ่า มันคือแผนBuild-up Play อันเดียวกันกับที่ยูไนเต็ดใช้ตั้งบอลขึ้นหน้าในทีมชุดปัจจุบันนี้นี่แหละ

ใช้ได้ทั้งกลางแท้หรือวิงแบ็คเอามาเล่นตำแหน่งนี้ได้

มาในยุคลีดส์บิเอลซ่าก็ยังใช้ Kalvin Philips เป็นตัวโฮลดิ้งอยู่ และกลางคนอื่นๆของลีดส์ก็เล่นเหมือนเป็นกลางตัวช่วยฟิลลิปส์นั่นเอง ไม่ว่าจะKlich, Dallas ที่คอยทำเกมต่อบอล/ป้องกันอยู่ข้างๆเสมอ แม้จะไม่ได้เป็นShuttlerแท้ก็ตาม

นอกจากนี้มีอีกตัวอย่างนึงให้เทียบ ก็คงจะเป็นFabinho ตอนที่เล่นอยู่กับMonaco ก็นับได้ จากที่กล่าวมาแล้วนั้น นักเตะเหล่านี้จึงเป็น Unsung Hero (ฮีโร่ปิดทองหลังพระ) แทบทั้งสิ้น เขียนคำนี้แล้วแฟนผีอาจจะคิดถึงใครขึ้นมาอย่างแน่นอน เพราะว่า "Park Ji Sung" ของพวกเราก็เล่นกองกลางในแบบ Carrilero ด้วยเหมือนกันเวลายืนในตำแหน่งมิดฟิลด์

สรุปแล้ว Carrilero มันก็คือลูกหาบที่จะสนับสนุนไปทั่วสนามด้วยการซัพพอร์ตมิดฟิลด์ตัวรุก หรือกองกลางตัวต่ำนั่นเอง Roleนี้จะเล่นในพื้นที่ "ระหว่างไลน์มิดฟิลด์ทั้งสอง" อย่างที่ผมบอกไป คือวิ่งระหว่างกลางรุกกลางรับ

เทียบกับแผนแมนยูปัจจุบันนี้ก็ยิ่งชัดเจน เวลาวางเป็น3กองกลาง ประกอบด้วย แม็ค-เฟร็ด และ บรูโน่ ทุกๆครั้งก็คือ แม้จะถูกจัดลงมาให้เล่นคู่กัน แต่เฟร็ดจะยืนสูงกว่าแม็ค(กลางรับ) เพราะแม็คจะเล่นเป็นตัวหลังสุด ยืนต่ำกว่าเฟร็ดเลเวลนึงเนื่องจากการเซ็ตแทคติกการยืนที่จะให้เขาลงไปช่วยหลัง และเล่นเป็นHalf Back

และเฟร็ดก็จะยืน"ต่ำกว่าบรูโน่"(กลางรุก) เพราะเวลาเล่นเราจะเห็นประจำว่า เป้าหมายในการต่อบอลขึ้นหน้าไป เฟร็ดจะมองหาและจ่ายต่อให้บรูโน่เป็นคนแรกแทบจะทุกครั้ง นี่ก็เป็นบทบาทการเล่นที่ชัดเจนมากๆของเขา

นี่แหละคือพื้นที่การเล่นของ Carrilero กองกลางลูกหาบที่จะดูแลพื้นที่ระหว่างไลน์มิดฟิลด์ตัวรุก และมิดฟิลด์ตัวรับให้กับทีม ด้วยพลังงานการเล่นและความขยันที่ช่วยซัพพอร์ตให้ทีมเล่นได้ดีและไหลลื่นนั่นเอง

-ข้อแตกต่างระหว่าง Box to Box กับ Carrilero-

เมื่ออธิบายมาถึงขนาดนี้แล้ว สิ่งที่เป็นประเด็นสำคัญคือ การบ่งชี้ข้อแตกต่างระหว่างการเล่นของแม็คโทมิเนย์ กับ เฟร็ด ว่าแตกต่างกันยังไง เราสามารถเทียบกันระหว่าง Box to Box กับ Carrilero มันต่างกันยังไง นั่นแหละคือคำตอบว่า แม็ค กับ เฟร็ด แตกต่างกันเช่นไรด้วย

และสิ่งที่ต่างกันของสองตำแหน่งนี้คือ "Range ของพื้นที่การเล่น"

Box to Box จะมีเรนจ์ที่กว้างกว่า(ยาวกว่า) Carrilero อย่างชัดเจน เพราะจะเล่นแบบ "ขึ้นสุดลงสุด" ขึ้นจนสุดถึงกรอบคู่แข่ง (สุดกว่านี้ก็ยืนติดไข่ผู้รักษาประตูเค้าแล้วล่ะ) และลงจนสุดถึงในกรอบเขตโทษของตัวเอง

ระยะห่างระหว่างกรอบทั้งสองด้านของสนามค่อนข้างยาวมากๆ

แต่ Carrilero จะไม่ขึ้นสุดจนถึงในกรอบเขตโทษ จะวิ่งไปมาแค่ระยะ "หน้ากรอบคู่แข่งจนถึงหน้ากรอบตัวเอง" เท่านั้น

ไม่ขึ้นสุดลงสุดเท่าBox to Box

ยามบุกCarrilero จะคุมพื้นที่อยู่รอบๆนอกเท่านั้น ส่วนในเกมรับ เขาก็จะยืนไล่บอลอยู่หน้าแผงกองหลังอย่างเดียว แต่จะไม่ลงต่ำถึงในกรอบเขตโทษที่เขาไม่มีหน้าที่เกมรับในนั้น

เพราะฉะนั้น ระยะการเล่นของCarrilero นั้น เรนจ์การวิ่งขึ้นลงจะแคบกว่า Box to Box แบบเห็นได้ชัดเจน

ซึ่งถ้าพูดประเด็นถึงระยะการวิ่งในสนาม (distance covered) หากเกริ่นมาแบบนี้ ก็ดูเหมือนว่าBox to Box จะต้องเหนื่อยกว่า Carrileroรึเปล่า? เพราะขึ้นสุดลงสุดกว่า

แต่จริงๆแล้วไม่เป็นเช่นนั้น

เพราะทั้งสองตำแหน่งก็เหนื่อยกันคนละแบบ และแม้Carrileroลูกหาบแบบเฟร็ดจะไม่ขึ้นสุดเท่า แต่เขาจะทดแทนด้วย ปริมาณการวิ่งที่coverแอเรียกลางสนามให้มากขึ้นไปอีก หรือเรียกภาษาชาวบ้านว่า วิ่งพล่านไล่บอลในแดนกลางนั่นเอง มิดฟิลด์ลูกหาบแบบเฟร็ดจะทำแบบนั้น 

ส่วนแม็คโทมิเนย์ที่มีมิติจะเล่นในกรอบเขตโทษได้ เขาก็จะเติมสูงสุด ลงต่ำสุดกว่าเฟร็ดนั่นเอง เพื่อใช้ความสามารถในการพังประตู และร่างกายที่แข็งแกร่งในการเล่นเกมรับในกรอบเขตโทษเพื่อช่วยป้องกันประตูจากลูกปะทะหรือลูกโหม่งได้

นอกจากนี้ทางด้านอื่นๆนั้น จุดที่ต่างกันของสองRoleนี้ก็คือ เรื่องของการเล่นที่Carrileroจะเน้นบทบาทซัพพอร์ตตำแหน่งอื่นๆในสนามอย่างเดียวเป็นส่วนใหญ่ ส่วนBox to Box ถ้าไม่เล่นรับ ก็ขึ้นไปรุกเต็มตัวเลย

ทั้งหมดนี้คือคำตอบที่ว่า สก็อตต์ แม็คโทมิเนย์ กับ เฟร็ด มีความแตกต่างกันในการเล่นยังไงบ้าง ที่แฟนผีหลายๆคนอาจจะคิดว่าเขาเล่นเหมือนกัน แต่จริงๆแล้วมิติต่างกันโดยสิ้นเชิง

ประตูล่าสุดที่แม็คเติมจนสุดกรอบขึ้นไปยิงใส่ขุนค้อนได้ก็คงจะเป็นคำตอบที่ดีให้แฟนบอลเข้าใจประเด็นนี้มากขึ้นครับ

-ศาลาผี-


ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ระดับ : {{val.member.level}}
{{val.member.post|number}}
ระดับ : {{v.member.level}}
{{v.member.post|number}}
ระดับ :
ดูความเห็นย่อย ({{val.reply}})

ข่าวใหม่วันนี้

ดูทั้งหมด