:::     :::

การถอยครั้งสำคัญ คือการก้าวไปข้างหน้าอย่างสมดุล [ซัมเมอร์เจอกู]

วันพฤหัสบดีที่ 11 มีนาคม 2564 คอลัมน์ #BELIEVE โดย ศาลาผี
8,254
ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
นี่คือแรงกระเพื่อมระลอกใหญ่แห่งการเปลี่ยนแปลงจากการปรับโครงสร้างอำนาจบริหารในสโมสร ซึ่งรับประกันได้เลยว่ามันเป็นเรื่องที่"ดีขึ้น"ของเราอย่างแน่นอน ความหวังในการกลับมายิ่งใหญ่ก็ใกล้ขึ้นมาอีกก้าว

วันนี้มีเหตุการณ์สำคัญกับแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดเกิดขึ้น เมื่อofficialของทางสโมสรประกาศอย่างเป็นทางการว่า แมนยูไนเต็ดแต่งตั้งจอห์น เมอร์ทัฟ และ ดาร์เรน เฟล็ทเชอร์ ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกีฬา (Football Director) และผู้อำนวยการฝ่ายเทคนิค (Technical Director) ตามลำดับ

เริ่มที่John Murtough เขาได้รับการเชิญมาทำงานที่สโมสรตั้งแต่ปี2013 และดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายพัฒนาด้านฟุตบอลของสโมสร ในระยะเวลา1เดือนหลังจากที่เอ็ด วู้ดเวิร์ดเข้ามาแทนตำแหน่งของเดวิด กิลล์ และในที่สุดจากการที่สโมสรไม่เคยมีคนทำงานด้านData Scientists จนถึงเวลาแล้วที่จอห์น เมอร์ทัฟ ก็ก้าวขึ้นมาเป็นหัวหอกคนสำคัญในการพัฒนาทางด้านยุทธศาสตร์ของสโมสร

และคำประกาศจากสโมสรเพื่อแนะนำตัวและบทบาทหน้าที่ของจอห์นอย่างเป็นทางการมีดังนี้

"จอห์นจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำและรับผิดชอบในด้านของการแผนยุทธศาสตร์และการดำเนินงานในทุกๆด้านของฟุตบอล ซึ่งจะช่วยส่งเสริมรากฐานอันแข็งแกร่งที่มีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้นไป"

"การแต่งตั้งในครั้งนี้เกิดขึ้นจากการที่จอห์นได้ดำเนินงานมาแล้วในช่วงหลายๆปีก่อนหน้านี้โดยทำงานใกล้ชิดกับโอเล่ กุนนาร์ โซลชาและก็ทีมงานอื่นๆเพื่อรังสรรค์โครงสร้างต่างๆ, กระบวนการทำงาน และสร้างวัฒนธรรมที่จะสานต่อความสำเร็จในสนาม ซึ่งรวมถึงความสำเร็จทั้งในภาคส่วนอะคาเดมี่ของสโมสรและแผนกสรรหาบุคลากรอีกด้วย"

"ในตำแหน่งผู้อำนวยการกีฬา จอห์นจะทำงานร่วมกับโอเล่ทุกวันเพื่อปรับการจัดหาบุคคลและกลยุทธ์อื่นๆเพื่อให้แน่ใจว่าทีมชุดใหญ่จะได้รับการสนับสนุนทุกๆสิ่งที่จำเป็นต่อการประสบความสำเร็จของทีมเราอย่างดีที่สุด"

"โอเล่ก็ยังคงทำหน้าที่ในกระบวนการหานักเตะเช่นเดิม และจะได้รับการสนับสนุนโดยฝ่ายแมวมองของสโมสร สนับสนุนฟังก์ชั่นการวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆที่จะรายงานให้กับจอห์นอย่างต่อเนื่อง และแมตต์ จัดจ์เองก็จะรายงานต่อจอห์นด้วยเช่นกันในฐานะบทบาทใหม่ในสโมสรนั่นก็คือตำแหน่ง "ผู้อำนวยการฝ่ายเจรจาต่อรองทางด้านฟุตบอล" (Director of Football Negotiations)"

ที่ผ่านมาแมนยูไนเต็ดเป็นเพียงไม่กี่สโมสรใหญ่ที่ยังไม่มีการจ้างคนมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกีฬา(ฟุตบอล) แต่ว่าจอห์น เมอร์ทัฟก็ถือว่าเป็นคนที่ใกล้เคียงที่สุดที่จะมาดำรงตำแหน่งนี้ในช่วงหลายๆปีที่ผ่านมา แม้ว่าความรับผิดชอบส่วนใหญ่จะตกอยู่ที่เอ็ด วู้ดเวิร์ด โดยมีแมตต์ จัดจ์เป็นผู้ช่วยก็ตาม

การเปลี่ยนแปลงในด้านโครงสร้างอำนาจเชิงบริหาร อาจจะเป็นการส่งสัญญาณว่าเอ็ด วู้ดเวิร์ดนั้นได้ยอมลดบทบาทของตัวเองลงในเรื่องของดีลซื้อขายต่างๆ ซึ่งจะทำให้เมอร์ทัฟนั้นมีอิสระจะได้ปฏิวัติแนวทางการลงตลาดซื้อขายของแมนยูไนเต็ดได้

ส่วน Darren Fletcher ที่ขึ้นมาเป็นทีมสตาฟฟ์เบื้องหลังของโซลชาด้วยอีกคนเมื่อเดือนก่อน ก็ได้รับการเลื่อนขั้นแต่งตั้งเช่นกัน โดยที่อดีตมิดฟิลด์รายนี้ได้มีส่วนร่วมเป็นทีมงานที่ดูแลทีมในMatchdayวันแข่งมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมานับตั้งแต่กลับมาทำงานในอ้อมอกของสโมสรอีกครั้ง แต่เราก็มักจะเห็นว่าดาร์เรน เฟล็ทเชอร์นั้นมักจะไม่ค่อยได้มารวมอยู่กับโซลชา และเหล่าทีมโค้ชคนใกล้ชิดคนอื่นๆเช่นแมคเคนน่า คาร์ริค หรือป๋าไมค์สักเท่าไหร่ ซึ่งบางทีเฟล็ทเชอร์ถูกจับภาพอยู่ร่วมกับเหล่าตัวแทนสโมสรเสียมากกว่าด้วย

ในที่สุดเฟล็ทเชอร์ก็ได้รับการแต่งตั้งเป็น technical director หรือ"ผู้อำนวยการฝ่ายเทคนิค" นั่นเอง ก็จะทำงานใกล้ชิดร่วมกับเมอร์ทัฟอีกที และทำหน้าที่ดูแลเชิงลึกภายในทีมชุดใหญ่และก็เหล่านักเตะเยาวชนคู่กัน เพื่อแผนการ"ระยะยาว"ของทีมเราทั้งด้านการพัฒนาตัวผู้เล่น(player) และพัฒนาคุณภาพทีมโดยรวม(squad development)

แมนยูไนเต็ดประกาศแนะนำและต้อนรับถึงเฟล็ทเชอร์เอาไว้ดังนี้

"ดาร์เรนจะทำงานกับจอห์นในด้านการพัฒนาและป้อนกระบวนการในเชิงเทคนิคให้กับทีมมากขึ้น (technical input) รวมถึงควบคุมดูแลทิศทางของการดำเนินงานต่างๆในทุกๆมิติของเชิงฟุตบอล เขาจะมุ่งเน้นไปที่เรื่องของการประสานงานเพื่อเชื่อมโยงทีมชุดใหญ่กับทีมเยาวชนให้พัฒนาไปในทิศทางบนแผนงานเดียวกัน ทั้งด้านการพัฒนาทรัพยากรนักเตะ และคุณภาพของทีม ให้สอดคล้องไปกับคุณค่าและวัฒนธรรมของสโมสรด้วย"

คนสำคัญอย่าง "เอ็ด วู้ดเวิร์ด" นั้นก็ได้ออกมาพูดแสดงความยินดีและกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า

"นี่คือการแต่งตั้งครั้งสำคัญมากๆที่จะส่งเสริมการพัฒนาไปข้างหน้าของสโมสรที่เราได้ทำในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเพื่อที่จะแสวงหาความสำเร็จเข้ามาอย่างไม่หยุดยั้ง"

"เราเดินหน้าไปอย่างมากในการดำเนินงานทางด้านฟุตบอล ซึ่งผลลัพธ์ที่ดีนั้นเห็นได้ชัดจากการที่เราสามารถดึงเอานักเตะพรสวรรค์ต่างๆมากมายจากชุดเยาวชนขึ้นสู่ทีมชุดใหญ่อย่างต่อเนื่อง และสถิติที่ดีขึ้นของการจัดหาบุคลากรเข้าสู่สโมสร"

"จอห์น(เมอร์ทัฟ) อยู่ร่วมการพัฒนาแอเรียต่างๆมาก่อนแล้ว และความเข้าใจอย่างลึกซึ้งของเขาต่อพัฒนาที่เราเน้นย้ำวัฒนธรรมสโมสรในเรื่องการดึงนักเตะอายุน้อยจากทีมเยาวชนขึ้นชุดใหญ่นั้น ก็จะสืบสานให้คงอยู่ต่อๆไป"

"ส่วนดาร์เรน(เฟล็ทเชอร์)นั้น ความสำเร็จสมัยตอนเป็นผู้เล่น และการก้าวมาจากอะคาเดมี่ของเขาขึ้นสู่การเล่นระดับพรีเมียร์ลีก จนได้เป็นแชมป์ยุโรป สิ่งเหล่านี้มันหมายความว่าเขามีความเคารพและเข้าใจถึงความสำคัญเรื่องDNAของสโมสรอย่างเข้มข้น"

"ในตำแหน่งหน้าที่ใหม่นี้ซึ่งเพิ่งเคยมีครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของสโมสรเรา เขา(เฟล็ทเชอร์) จะให้คำแนะนำเชิงเทคนิคในทุกๆด้านที่เกี่ยวกับภาคฟุตบอลของเรา ตลอดจนมีส่วนในการถ่ายทอดปรัชญาฟุตบอลของเราให้คงอยู่ในทุกๆมิติของสโมสร ณ ปัจจุบัน"

"ผมดีใจมากที่จอห์นกับดาร์เรนรับตำแหน่งเหล่านี้เอาไว้ และตั้งตารอคอยสิ่งที่พวกเขาจะสรรค์สร้างขึ้นมาให้กับเรา โดยร่วมงานกับโอเล่และสตาฟฟ์ทั้งหมดในแนวทางที่เรากำลังสร้างอยู่เพื่อที่จะประสบความสำเร็จในอนาคต"

ส่วนทางด้านผู้อำนวยการกีฬาคนใหม่ จอห์น เมอร์ทัฟ ก็กล่าวเอาไว้ดังนี้

"มันเป็นช่วงเวลาที่ช่างน่าตื่นเต้นสำหรับทุกๆคนที่เกี่ยวข้องกับแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด และด้วยการที่ทีมชุดใหญ่ ทีมเยาวชน และทีมหญิงของเราทำผลงานได้อย่างแข็งแกร่งเช่นนี้นั้น เราก็จะยังคงไม่หยุดที่จะเดินหน้าพัฒนาต่อไปให้ไกลยิ่งขึ้นอีก"

"มันเป็นความรู้สึกที่พิเศษมากๆที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการที่ว่านั้น และเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่จะได้ดูแลฝ่ายกีฬาของเราโดยทำงานอยู่เคียงข้างกับโอเล่, เคซีย์ และสตาฟฟ์อันยอดเยี่ยมอีกหลายๆคนที่ได้อุทิศตนเพื่อความสำเร็จแด่สโมสรแห่งนี้

ส่วนคนสุดท้ายที่พูดถึงเรื่องนี้ก็คือโซลชาที่ออกมาพูดถึงดาร์เรน เฟล็ทเชอร์เช่นกันว่าเขาจะยังคงมีส่วนร่วมกับการ coaching setup ที่คอยติวเข้มลูกทีมเราอยู่เหมือนเดิม แต่อาจจะทำหน้าที่น้อยลงหน่อยเพราะมีภาระต้องรับผิดชอบอย่างอื่นด้วย

"กับจอห์นนั้น ผมรู้จักเขาตั้งแต่มาที่นี่ และนี่คือบทบาทอย่างเป็นทางการมากขึ้นของเขา เขาทำงานหลังฉากได้อย่างดีเยี่ยมสุดๆ เขาเข้ากับวัฒนธรรมสโมสรเราได้อย่างดีและแฮปปี้กับสิ่งที่เราเป็นอยู่ รวมถึงมีไอเดียที่สดใหม่อย่างต่อเนื่องตลอดเวลา"

"ส่วนเฟล็ทเชอร์ เมื่อย้อนไปช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาในตอนที่เรากำลังต้องตัดสินใจเรื่องราวต่างๆนั้น ก็มีเรื่องของเฟล็ทเชอร์รวมอยู่ด้วย และสิ่งหนึ่งที่เรารู้ก็คือเราจะเสียเขาไปไม่ได้เด็ดขาด เขาเป็นคนที่มีไอเดียใหม่ๆ และมีมุมมองที่กว้างไกลในเรื่องของฟุตบอลที่กระตือรือร้นมากๆ ต่อจากนี้เขาอาจจะได้ลงมาทำหน้าที่โค้ชลูกทีมน้อยลงหน่อยและมีบทบาทสำคัญในด้านอื่นๆมากขึ้น เช่นไปพูดคุยกับตัวนักเตะและเป็นผู้นำเสนอแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด ในฐานะที่เขารู้จักตัวตนของสโมสรเราเป็นอย่างดี"

เราดูบอลกันมาถึงยุคที่สามคนนี้เป็นผู้บริหารกันหมดแล้ว

สิ่งหนึ่งที่แฟนผีหลายๆคนอยากจะรู้และอยากได้ความมั่นใจหน่อยว่า ในเมื่ออยู่ดีๆในที่สุดสโมสรก็ทำสิ่งที่เรารอคอยกันมานานเสียทีอย่างการแต่งตั้งผู้อำนวยการกีฬาขึ้นมาในที่สุด ซึ่งไม่ใช่การที่ดันโอเล่ขึ้นมาทำด้วย แต่เป็นการแต่งตั้งหนึ่งในทีมงานคนสำคัญที่ดำเนินการร่วมกันกับทีมมาสักระยะใหญ่ๆแล้วอย่างเมอร์ทัฟ

ว่าแต่ จอห์น เมอร์ทัฟ ชื่อเสียงเรียงนามเป็นมายังไง และเก่งด้านอะไรบ้าง นี่คือประวัติของผู้อำนวยการกีฬาคนแรกในประวัติศาสตร์ของแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด

โดยข้อมูลจากหลายๆสื่อได้ระบุโพรไฟล์ของชายผู้เป็น "ยอดฝีมือหลังฉาก" เอาไว้คร่าวๆดังนี้

จอห์นถือเป็นหนึ่งในบุคลากรที่มีผลงานโดดเด่นจากบทบาทการพัฒนาทีมเยาวชน ทีมชุดใหญ่ และนักเตะต่างๆในสโมสรอื่นๆ เช่นเคยอยู่ฝ่ายพัฒนาเยาวชนของฟูแล่มมา4ปี ในช่วง 2004-2008 ,กลับมาดูแลอะคาเดมี่ของเอฟเวอร์ตัน รวมถึงเป็นผู้ริเริ่มการขยับขยายเครือข่ายแมวมองของทีมให้กว้างขวางยิ่งขึ้น รวมถึงเป็นผู้นำโปรเจ็คต่างๆมากมายอย่างเช่นเรื่องของการพัฒนาทางด้านข้อมูลในเชิงวิทยาศาสตร์การกีฬา

เขาเคยทำงานร่วมกับ David Moyes ที่ Evertonมาก่อนในฐานะ Sport Scientist(นักวิทยาศาสตร์การกีฬา) และก่อนจะมาแมนยูจอห์นก็ได้เข้าร่วมเป็นหัวหน้าฝ่ายพัฒนาของทางพรีเมียร์ลีก

หลังจากนั้นด้านเดวิด มอยส์เองนั้นได้รับการแต่งตั้งเข้ามาเป็นผู้จัดการทีมในวันที่ 1 มิถุนายน ปี2013 นั่นแปลว่า จอห์น เมอร์ทัฟ ก็ตามการเชื้อเชิญดึงตัวของมอยส์มาจากที่นั่นในภายหลังนั่นเอง โดยเข้ามาอยู่แมนยูไนเต็ดตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนในปี2013

เรียกง่ายๆว่าจอห์นคือหนึ่งในสมบัติจากมอยส์ก็อาจจะพูดได้ และมันคือหนึ่งเดือนหลังจากที่เอ็ดเข้ามากุมบังเหียนใหญ่ต่อจากกิลล์อย่างที่กล่าวมาแล้ว

และเมื่อจอห์นมาอยู่ที่นี่ ภายหลังเขาก็ได้กลายเป็น หัวหน้าฝ่ายพัฒนาฟุตบอล (head of football development) ของแมนยูในปี2016 หรือตั้งแต่5ปีที่แล้ว กลายมาเป็นผู้ช่วยคนสำคัญของเอ็ดที่วางแนวทางสโมสรให้ถูกต้อง(ใช้คำว่า put the pathway in place) ซึ่งในที่สุดแล้วมันทำให้เราได้ผลผลิตอย่าง สก็อตต์ แม็คโทมิเนย์, มาร์คัส แรชฟอร์ด, เมสัน กรีนวู้ด และดาวรุ่งพรสวรรค์คนอื่นๆขึ้นมาใช้งานนั่นเอง

ซึ่งผู้อำนวยการที่พื้นเพเป็นสเก๊าเซอร์รายนี้นั้นได้ชำระและยกเครื่องอะคาเดมี่ของยูไนเต็ดและฝ่ายจัดหานักเตะให้เป็นโฉมหน้าใหม่ แม้กระทั่งไปเช็คฟอร์มดาวเตะวัยรุ่นอย่าง Hannibal Mejbri ในเกมนัดกระชับมิตรระหว่างแมนยูไนเต็ดกับทีมKristiansund บ้านเกิดของโอเล่ที่นอร์เวย์ในปี2019อีกด้วย

สื่อของเมืองแมนเชสเตอร์เข้าใจว่าเมอร์ทัฟนั้นเสนอตัวเองในการเป็นผู้อำนวยการกีฬาเมื่อตอนที่เขาเป็นคนดูแลเรื่องการสร้างทีมหญิงของเราขึ้นมาในปี2018

แจ่มๆทั้งน้านนนน

มีRare Interview ที่เป็นบทสัมภาษณ์อันหาดูได้ยากของจอห์น เมอร์ทัฟอยู่ ซึ่งตามปกติแล้วเขาเป็นคนเบื้องหลังที่ไม่ค่อยออกสื่อเท่าใดนัก เป็นส่วนหนึ่งของเทปบันทึกถึงความร่วมมือในฐานะพาร์ทเนอร์กันระหว่างแมนยูไนเต็ดกับGulf Oilในปี2019 ซึ่งพูดคุยกันถึงเรื่องเนื้องานของเขา และให้ข้อมูลเชิงลึกถึงสิ่งที่เขามองหาเวลาที่พบเจอนักเตะ และการดำเนินงานที่เขาบริหารดูแลอยู่

จอห์น เมอร์ทัฟเคยให้สัมภาษณ์เอาไว้ ซึ่งเป็นพาร์ทสำคัญมากๆที่ "โชว์วิสัยทัศน์" อันยอดเยี่ยมของเขา ที่จะทำให้แฟนผีได้สบายใจจากการขึ้นมาดำรงตำแหน่งสำคัญของสโมสรเรา

จอห์นได้พูดเอาไว้ดังนี้

"เราเริ่มscoutนักเตะอายุน้อยตั้งแต่อายุ7ปี เราพยายามอย่างยิ่งที่จะหาโอกาสเข้าแข่งขันตั้งแต่รุ่นอายุต่ำกว่า9ปีลงไปโดยมีพื้นฐานอยู่แถบถิ่นตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะอังกฤษ"

"นักเตะในรุ่นอายุเพิ่มขึ้น เราก็จะพยายามเข้าถึงมากยิ่งขึ้นไปกว่าเดิม เราจึงพยายามมองหานักเตะอายุน้อยที่เก่งที่สุดเข้ามาโดยไม่จำกัดแค่ถิ่นตะวันตกเฉียงเหนืออีกแล้ว แต่ว่าเอาทั้งหมดในสหราชอาณาจักรเลย และเมื่อขึ้นมาเป็นนักเตะช่วงอายุ 16,17ปีเราก็จะขยายสโคปออกไปสรรหานักเตะพรสวรรค์จากทั่วทั้งทวีปยุโรป"

ซึ่งหากตีความเท่านี้ก็จะหมายความว่า รุ่นเล็กๆก็จะดูเด็กถิ่นเป็นหลัก พออายุมากขึ้น ในช่วง 9-16ปี เป็นเยาวชนชุดกลางๆก็จะสรรหานักเตะรอบๆUKนั่นเอง จากนั้นรุ่นใหญ่ที่จะขึ้นมาใกล้เคียงกับการเซ็นสัญญาอาชีพได้นั้นก็ค่อยขยายการscoutingไปถึงระดับทวีป

"เรามีแมวมองทั่วไปอยู่กว่า300คน และแมวมองที่จ้างเป็นลูกจ้างประจำfull-timeอีกราว55คน ที่จะสแกนไปทั่วโลกเพื่อที่จะสรรหานิวป็อกบา หรือมาร์คัส แรชฟอร์ดคนต่อไปเข้ามาให้ได้"

"ผมคิดว่าพรสวรรค์ไม่มีค่าอะไรหากว่าไม่ทำงานหนัก สิ่งที่เรากำลังทำอยู่ก็คือเราพยายามและมองหาคุณลักษณะที่มันดูมีศักยภาพจะพัฒนาขึ้นได้ในอนาคต"

"ไม่ว่าพวกเขาจะเป็นพวกเอาตัวรอดเก่งๆ หรืออาจจะเป็นจอมรั้นก็ตาม แต่เราพยายามมองหาคนที่มีคุณภาพหรือมีศักยภาพที่จะสามารถทำงานเข้ากับระบบพัฒนาของสโมสรเราได้"

เมอร์ทัฟเป็นผู้ที่มีส่วนช่วยในการนำตัวมาร์คัส แรชฟอร์ด เข้ามาอยู่ยูไนเต็ดเช่นเดียวกันกับสก็อตต์ แม็คโทมิเนย์และเมสัน กรีนวู้ด ส่วนเจสซี่ ลินการ์ด และปอล ป็อกบาเองก็มาจากระบบอะคาเดมี่ของยูไนเต็ดเช่นกันก่อนที่เมอร์ทัฟจะย้ายเข้ามาที่นี่ และเขาก็ชี้ให้เห็นว่าพวกเขาเหล่านั้นเปลี่ยนแปลงสถานะขึ้นมาสู่ทีมชุดใหญ่ได้ยังไง จอห์น เมอร์ทัฟให้สัมภาษณ์เอาไว้ดังนี้

"มาร์คัสมีความมุ่งมั่นอันเหนียวแน่นอยู่เสมอ มีแรงขับและแพชชั่นความหลงใหลในการเล่นฟุตบอล เขารักการลงแข่งมากๆ คุณไม่มีทางจะลากเขาออกจากสนามซ้อมได้เลยนะเพราะเขาอยากซ้อมอยู่ตลอด และมักจะฝึกฝนเพิ่มเติมเป็นการส่วนตัวหลังจากซ้อมทีมเสร็จเรียบร้อย"

"ส่วนเจสซี่จะต่างจากมาร์คัสนิดหน่อย เขาได้เดบิวต์ช้ากว่า และเราจำเป็นต้องรอจนกว่าร่างกายเขาจะพร้อมเหมาะสมสำหรับตัวเขาเอง ความตั้งใจ แพชชั่น แรงขับ ความมุ่งมั่นที่จะเอาชนะนั้นเปล่งประกายออกมาจนท้ายที่สุดเขาก็ได้ลงเล่นในฐานะนักเตะแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดได้สำเร็จ"

"ปอลเข้ามาอยู่ในทีมเยาวชนของเราตั้งแต่16ปี เขาเฉิดฉายอย่างมากและเปิดตัวได้อย่างติดปีก"

"เวลาที่เรานำนักเตะจากต่างประเทศเขามานั้น เราทำงานในเรื่องของการช่วยเหลือให้พวกเขาเข้าใจการเล่นในสนาม เข้าใจถึงแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด เข้าใจวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และประเพณีของเรา ซึ่งมีงานนอกสนามเหล่านี้ที่เราต้องทำมากมายหลายอย่างเลยทีเดียว"

"การเดินทางไปยังที่ต่างๆคือสิ่งจำเป็นมากๆต่อเรื่องที่เรากำลังทำอยู่ เพราะว่ามีเกมการแข่งขันมากมายเลยที่เราจะต้องเข้าไปนั่งดูอยู่ด้วย ไม่ว่ามันจะเป็นการดูนักเตะของเราเองที่ลงทำการแข่งขัน หรือนักเตะที่ปล่อยยืมตัวออกไปยังสโมสรอื่นๆ ผมนี่ต้องขับรถขึ้นๆลงๆทางด่วนเป็นว่าเล่นเลยล่ะ!"

บทบาทใหม่ของจอห์นในการขึ้นเป็นผู้อำนวยการนั้น คงจะทำให้เขาได้ลดความเหนื่อยจากการเดินทางขึ้นนิดนึงกระมัง

ทั้งหมดนี้คือข้อมูลทุกอย่างที่คุณควรรู้ และจะได้รู้จักถึงแบ็คกราวด์เบื้องหลังตำแหน่งใหม่ที่เกิดขึ้นในสโมสรแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดของเรา รวมถึงคนที่มารับตำแหน่งที่เรายังไม่ค่อยรู้จักเขาดีมากนักอย่างจอห์น เมอร์ทัฟนั่นเอง ส่วนทางด้านเฟล็ทเชอร์นี่เรารู้อยู่แล้วว่าเขารู้ถึงรากเหง้าของสโมสรดียิ่งกว่าใครๆจากการขึ้นมาจากรากนักเตะเยาวชนของทีมตั้งแต่เล็กแต่น้อย

รวมถึงการเป็นนักฟุตบอลที่เข้าถึงและรู้ถ่องแท้ในภาคการเล่น และการเป็นนักฟุตบอลเป็นอย่างดี ดังนั้นตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายเทคนิคของเฟล็ทเชอร์นั้น ถ้าพูดภาษาชาวบ้านก็คล้ายๆกับเป็น "ผอ.ฝ่ายวิชาการ" ของแมนยูนั่นแหละ ที่จะควบคุมทิศทาง และอัดมอบความรู้ในมิติเชิงฟุตบอลเข้าสู่ทีมอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สอดรับกับโลกฟุตบอลสมัยใหม่ที่มีภาคการวิเคราะห์จากสถิติและแผนการเล่นที่ซับซ้อนอย่างมาก

สวัสดีค่ะ ผอ.

ประเด็นของการวิเคราะห์เรื่องราวนี้นั้น หลังจากนี้จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรขึ้นหรือไม่กับสโมสรแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด เท่าที่เราสังเกตดูนั้น มันคือการแต่งตั้ง"คนใน" ที่ทำงานอยู่แล้วในปัจจุบัน ให้ขึ้นมามีตำแหน่งอย่างเป็นทางการในสโมสร

สิ่งเหล่านี้มีนัยสำคัญในเชิง"อำนาจการบริหาร" อย่างชัดเจน นั่นแปลว่ามันคือการได้รับมอบหมายให้ จอห์น เมอร์ทัฟ กับ เฟล็ทเชอร์นั้น "มีอำนาจ" ในการตัดสินใจ สั่งงาน และรับผิดชอบเนื้อหาด้านต่างๆของสโมสรโดยตรง

แฟนบอลบางคนที่ไม่เข้าใจก็อาจจะมองว่า มันก็แค่เสือกระดาษ แต่งตั้งขึ้นมาพอเป็นพิธี รวมๆแล้วก็ไม่ต่างอะไรจากเดิม แต่จริงๆนี่มันคือการขยับโครงสร้างการบริหารของสโมสรไปอีกระดับหนึ่งให้มีStructureที่มัน"ชัดเจน" เป็นสัดเป็นส่วนมากขึ้น

ว่าใครทำอะไร ใครทำหน้าที่ไหน และใครมีอำนาจอย่างไรบ้าง

แค่สามอย่างนี้ก็ถือว่ามันเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนแล้ว ซึ่งมันคือการกระจายอำนาจการบริหารออกมาจากส่วนกลางที่เคยไม่ชัดเจน และถือควบทุกอย่างผ่านทางซีอีโออย่าง Ed Woodward เป็นหลักอยู่เพียงผู้เดียว โดยมีเหล่าผู้ช่วยที่เป็นคนสนิทข้างๆกายเอ็ดคอยทำงานอยู่เท่านั้น

นี่คือการแต่งตั้งเพื่อ"กระจายงาน"ให้เป็นสัดเป็นส่วน ดังนั้นการดำเนินงานต่างๆมันจะกระชับรวดเร็วมากกว่าเดิมแน่นอน เนื่องจากมีคนที่มีอำนาจสั่งการเพิ่มขึ้นมาแล้วที่สามารถจัดการธุระต่างๆได้ทันทีทันใด

ทั้งหมดนี้มันคือการยอมลดบทบาทตัวเองลงไปของเอ็ด วู้ดเวิร์ด ไม่มากก็น้อย

แม้ตำแหน่งของเอ็ดจะอยู่เหมือนเดิม ไม่ได้โดนเนิร์ฟขั้นลงไปซะหน่อย(ฮา) แต่การแต่งตั้งคนทำหน้าที่เพิ่มขึ้นมานั้น มันแปลว่าเขาได้มอบอำนาจเหล่านี้กระจายมาสู่ จอห์น เมอร์ทัฟ, ดาร์เรน เฟล็ทเชอร์ และแม้กระทั่งถึง "แม็ต จัดจ์" ที่ไม่ได้เน้นในบทความนี้ แต่ก็ได้รับการแต่งตั้งเป็น Director of Football Negotiations เช่นกัน

สามคนนี้มีอำนาจที่แตกต่างกันชัดเจน คนนึงเป็นผู้อำนวยการกีฬา คุมภาพรวม คุมการคัดเลือกบุคลากรและวางทิศทางของแผนงาน, คนนึงดูแลในเชิงรายละเอียดดีเทลของนักฟุตบอลที่ลงลึกในภาคการเล่น, การซื้อขาย คนที่ทำหน้าที่ไปเจรจาต่อรองดีลก็เป็นแม็ต จัดจ์เช่นเดิม

ดังนั้นสรุปแล้วอย่างที่บอกไปว่า การดำเนินงานด้านการวางแผน ทิศทางการพัฒนาทีม เราจะมีผู้อำนวยการดูแลเพิ่มขึ้นอย่างที่เห็น และมันก็จะดำเนินงานในprocessได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นกว่าเดิมแน่นอน ซึ่งที่แฟนผีเห็นว่าช่วงนี้ทีมเรามีการวางแผนที่เป็นรูปเป็นร่างดีมากๆมาพักใหญ่ๆแล้วนับตั้งแต่โอเล่เข้ามาคุมทีมนั้น ก็เครดิตของคนเหล่านี้นั่นแหละ รวมกับตัวผู้จัดการทีมเองที่ดูแลหมดทั้งฝ่ายปฏิบัติการและวางแผนด้วย เรื่องนี้พัฒนาแน่นอน

จุดที่น่าสนใจคือประเด็นของ "แม็ตต์ จัดจ์" ที่หลายคนยังกังวลอยู่ในเรื่องของการเจรจาซื้อขายนักเตะ อันนี้ก็ต้องพูดกันตามตรงว่า มันก็จริง เพราะสุดท้ายแล้วคนที่เดินทางไปดีล คือคนที่คิดแต่เรื่องของตัวเลขเป็นหลักอย่างแม็ตต์ จัดจ์ ซึ่งแฟนผีก็รู้ๆกันดีอยู่ว่าคนสนิทของเอ็ดรายนี้ไม่ได้เรื่องขนาดไหนนี่ก็ต้องพูดตรงๆ เพราะฉะนั้นเรื่องของดีลนักเตะ แฟนแมนยูอาจจะยังคง "ปวดตับกับเรื่องเดิมๆ" อยู่บ้าง อันนี้คือต้องทำใจกันล่วงหน้าเลย

แต่ก็ค่อนข้างเชื่อนะว่า การมีจอห์นมาเป็น ผอ.กีฬาเองโดยตรง นอกจากจะลดภาระโอเล่ได้แล้ว เชื่อว่าเขาน่าจะมีอำนาจในการ"ถ่วงดุล" กับจัดจ์เพิ่มขึ้นกว่าเดิมในเลเวลที่เท่าเทียมกัน ดังนั้นการให้น้ำหนักความสำคัญว่าจะซื้อนักเตะตัวไหนเข้ามานั้น เรื่องนี้ดีขึ้นแน่นอน เพราะมีคนควบคุมแล้วว่า

"ตัวไหนต้องเอาให้ได้ ตัวไหนที่ยอมถอยได้"

การถ่วงดุลตรงนี้สำคัญมากๆ ดังนั้นแม้คนดีลจะเป็นแม็ตต์ จัดจ์เจ้าเดิม แต่อย่างน้อยก็มีคนที่เข้ามาดูแลช่วยตัดสินใจเพิ่มแล้วว่า ดีลไหนจำเป็นต้องสู้ ดีลไหนเจอกันตรงกลางกับจัดจ์ ที่หมอนี่ก็มีข้อดีอยู่ตรงที่"งก" และคิดเฉพาะด้านเศรษฐศาสตร์เป็นหลัก ทำให้หลายๆดีลแมนยูก็ไม่โดนโขกแบบโง่ๆเหมือนในอดีตที่ผ่านมา  การมีจัดจ์ทำงานตรงนี้อยู่มันทำให้เราซื้อขายได้ไม่เสียเปรียบคู่ค้าและคุ้มค่าทุกเม็ดเงินจริงๆ จุดนี้ขอแค่มีคนถ่วงดุลเพิ่ม เชื่อว่าดีลนักเตะของทีมเราในปีต่อไปมันจะต้องดีขึ้นกว่าปีก่อนๆแน่

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ประโยคสุดท้ายผมอยากจะฝากบอกเอาไว้ได้เลยว่า

"ซัมเมอร์นี้เจอพวกกูแน่"

..ครับ

-ศาลาผี-

References

https://www.manutd.com/en/news/detail/Man-Utd-statement-on-appointment-of-Football-Director-and-Technical-Director?utm_campaign=ManUtd&utm_medium=post&utm_source=twitter

https://utdreport.co.uk/2021/03/10/manchester-united-announce-appointments-of-football-director-technical-director-director-of-football-negotiations/

https://www.manchestereveningnews.co.uk/sport/football/football-news/who-is-john-murtough-wiki-20035334

https://www.espn.com/soccer/news/story/_/id/1616931/man-united-make-approach-john-murtough

https://www.mirror.co.uk/sport/football/news/john-murtough-man-utd-director-23660273

https://www.mirror.co.uk/sport/football/news/man-utd-john-murtough-interview-23662568

ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ระดับ : {{val.member.level}}
{{val.member.post|number}}
ระดับ : {{v.member.level}}
{{v.member.post|number}}
ระดับ :
ดูความเห็นย่อย ({{val.reply}})

ข่าวใหม่วันนี้

ดูทั้งหมด