:::     :::

"เซ็ตพีซ=ประหาร" วิธีแก้ปัญหาลูกนิ่งฉบับลูกเสือชาวบ้าน

วันเสาร์ที่ 13 มีนาคม 2564 คอลัมน์ #BELIEVE โดย ศาลาผี
3,157
ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
การเสียประตูจากลูกเซ็ตพีซท้ายเกมถือว่าเป็นปัญหาเรื้อรังของแมนยูไนเต็ดในยุคโซลชาอย่างมาก และนี่คือประเด็นปัญหาที่เรามีเกี่ยวกับเรื่องนี้แบบเข้าใจง่าย และวิธีแก้ไขเบื้องต้นในเรื่องนี้ที่พอจะทำได้

ถือเป็นโอกาสอันดีที่เราจะมาเขียนวิเคราะห์ถึงปัญหานี้ ที่ผู้เขียนหาโอกาสเหมาะๆจะเขียนอยู่ แต่แมนยูก็ยังแพ้ แถมไม่โดนลูกลักษณะนี้สักที การจะเขียนถึงเรื่องของ "ปัญหา" ในช่วงที่ทีมกำลังฟอร์มดีๆและชื่นมื่น อย่างเช่นเกมนัดชนะซิตี้ 0-2 นั้น คงจะขัดฟีลแฟนบอลไม่น้อย ดังนั้นเราจึงเลือกที่จะเก็บหัวข้อนี้เอาไว้ จนกว่าจะถึงช่วงดีๆและแผลของปัญหามันเปิดมาอีกครั้ง

และนี่น่าจะเป็นเวลาที่เหมาะสมที่สุดแล้ว เพราะว่านัดล่าสุดที่เราเจอกับเอซี มิลาน ในเกมยูโรปาลีก ก็มีปัญหานี้ขึ้นมาอีกแล้ว ดังนั้นวันนี้จึงเหมาะที่สุดที่เราจะมาdiscussกันถึง "ปัญหาเรื้อรัง" ของแมนยูไนเต็ดชุดนี้ที่ยังคงแก้ไขไม่ได้ นั่นก็คือ "การรับมือกับลูกเซ็ตพีซ" ที่เรายังคงเจอปัญหาหนักมากๆ

ยามที่ทีมเจอกับการบุกจากโอเพ่นเพลย์ หากสังเกตดีๆเราจะเสียน้อยมากๆในระยะหลัง ทีมที่กระซวกเราได้หนักสุดๆในจังหวะโอเพ่นเพลย์ฤดูกาลนี้ ก็มีตอนที่แพ้สเปอร์ส 1-6 นั่นเอง (เกมนั้นเหลือ10คนด้วยแหละ อย่างว่านะ) แต่นอกจากนั้นถ้าให้วัดกันจริงๆ แมนยูไนเต็ดแทบจะไม่ค่อยพบปัญหาในภาคการป้องกันเกมโอเพ่นเพลย์เลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการครองบอลบุกใส่เรานี่ คือ"ของหวาน" ที่โปรดปรานซึ่งแมนยูไนเต็ดรอให้คู่แข่งใช้แทคติกนั้นใส่เราอยู่แล้ว

เพราะเราจะได้สวนมันให้ยับนั่นเอง

แต่เมื่อใดก็ตามที่เกมบุกของคู่แข่งมันเหนี่ยวไกด้วยลูกนิ่ง ไม่ว่าจะเป็นฟรีคิกที่เปิดเข้ามา หรือการได้ลูกเตะมุมก็ตาม จนถึงตอนนี้แล้วก็ยังคงสร้างปัญหาให้ทีมเราได้อยู่เสมอ เพราะหลายๆครั้งทีมเรามีโอกาสเสียประตูสูงมากๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามันมาในช่วง "ท้ายเกม" จะยิ่งอันตรายเป็น2เท่า เพราะนักเตะแมนยูไนเต็ดดูเหมือนจะรับความกดดันเวลาโดนลูกตั้งเตะในช่วงท้ายเกมไม่ได้ ในยามที่สกอร์ไม่ขาด ไม่ว่าจะนำ1ลูกหรือเสมออยู่ มักจะเจอทีเด็ด99จากคู่แข่งเล่นงานเสมอ

ก็อย่างที่ขึ้นหัวบทความไว้ โดนเซ็ตพีซ=ประหาร ยิ่งท้ายเกมนะมึงเอ๊ย อย่าให้เซด เกิดแบบนี้มาแล้วหลายครั้ง แมตช์แสบๆก็เกมเจอมิลานล่าสุด หรือแม้กระทั่งเกมเจอกับเอฟเวอร์ตันที่โดนตีเสมอ3-3แบบเจ็บปวด

เพื่อที่จะแก้ไขปัญหาตรงนี้ให้แมนยูไนเต็ด เรามาลองวิเคราะห์แยกส่วนกันดูว่า ปัญหาการโดนเซ็ตพีซของแมนยูต้องพัฒนาปรับปรุงเรื่องใดบ้างเท่าที่เราเห็นจุดสำคัญๆในเบื้องต้น เท่าที่พอจะแก้ได้แบบสไตล์ลูกเสือชาวบ้านไปก่อน แม้จะเป็นแค่การแก้ปัญหาเบื้องต้น แต่อย่างน้อยก็ยังสามารถต่อยอดไปปรับปรุงทีมในซีซั่นหน้าได้ หากว่าเราเจอรอยรั่วเหล่านั้น

1.การดวลลูกกลางอากาศ (Aerial Duels)

ข้อนี้อาจจะจำเป็นต้องใช้สถิติมาประกอบกันนิดหน่อยเพื่อใช้factมาซัพพอร์ตสมมติฐานในครั้งนี้ โดยใช้ทั้งตัวเลขในเชิงปริมาณมาก่อน ซึ่งจะดูยากว่ามันดีหรือไม่ดี แต่วัดจากปริมาณAerial duels won per game ว่าในแต่ละนัด นักเตะเราชนะลูกกลางอากาศ "กี่ครั้ง" โดยเฉลี่ยต่อเกม(ในลีก) และรวมถึงตัวเลขในเชิงคุณภาพที่เป็นเรื่องของ "อัตราการชนะลูกกลางอากาศ" (Aerial Duels won %) ในลีกเช่นกัน ซึ่งตัวเลขแรกจะไม่แสดงให้เห็นว่าการดวลมีคุณภาพดียังไง ดูได้แค่ปริมาณ

ข้อมูลการดวลลูกกลางอากาศของแบ็คโฟร์ตัวหลักของเรามีดังนี้

Maguire : อัตราชนะ 76.3% (ชนะ116 แพ้36) / ชนะลูกกลางอากาศเฉลี่ย 4.1ครั้งต่อเกม

Bailly : อัตราชนะ 60.7% (ชนะ17 แพ้11) / ชนะลูกกลางอากาศเฉลี่ย 1.9ครั้งต่อเกม

Lindelof : อัตราชนะ 65.8% (ชนะ48 แพ้25) / ชนะลูกกลางอากาศเฉลี่ย 2.3ครั้งต่อเกม

Wan-Bissaka : อัตราชนะ 53.0% (ชนะ35 แพ้31) / ชนะลูกกลางอากาศเฉลี่ย 1.2ครั้งต่อเกม

Shaw : อัตราชนะ 50.0% (ชนะ28 แพ้28) / ชนะลูกกลางอากาศเฉลี่ย 1.4ครั้งต่อเกม

นำข้อมูลมาให้เห็นชัดๆกันเช่นนี้ สำหรับผู้เขียนแล้วมันนำมายืนยันให้เห็นสถิติกันแบบจะจะชัดเจนเป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้น เพื่อจะเอามาซัพพอร์ตกับสิ่งที่เราคิดแบบบ้านๆในปัญหาที่ว่า แผงแบ็คโฟร์ของทีมเราตอนนี้ 5คนหลัก มีเพียงแค่ "แฮรี่ แมกไกวร์" เพียงตัวเดียวเท่านั้นเองที่สามารถเล่นลูกกลางอากาศได้ดีที่สุดแบบเห็นได้ชัด แต่ในขณะเดียวกันตัวอื่นที่เหลือ3-4ตัวในแผงหลัง ไม่มีใครที่มีจุดแข็งเรื่องลูกกลางอากาศอยู่ในตัวเลยสักคนเดียว

แรกสุดก่อนเลยคือแบ็คสองตัว แม้จะบอกว่าเป็น"แบ็ค"ก็ตามไม่ใช่เซ็นเตอร์ แต่เวลาเล่นเกมรับมือลูกเซ็ตพีซ ลูกโยน นักเตะตำแหน่งแบ็ค รวมถึงกลางรับด้วย ทุกคนก็ต้องมาร่วมเล่นป้องกันให้กับทีมอยู่ดี ดังนั้นจะบอกว่า ให้นักเตะเซ็นเตอร์แบ็คพัฒนาเรื่องนี้อยู่คนเดียว มันไม่พอ

แบ็คของเราสองคนอย่างชอว์ และ บิสซาก้า จำเป็นต้องอัพเกรดการรับมือลูกกลางอากาศโดยด่วนๆ เพื่อที่จะช่วยให้ทีมรับมือลูกเซ็ตพีซได้ดีกว่านี้

"เพราะบอลมันไม่ได้ถูกโยนโด่งมาใส่หัวเซ็นเตอร์แบ็คอย่างเดียวเสียหน่อย"

ประโยคนี้แหละสำคัญ ดังนั้นเมื่อบอลมันไม่ได้จะมาถึงหัวแมกไกวร์อยู่ตลอดเวลา ดังนั้นจะมารอพึ่งกัปตันอย่างเดียวไม่ได้ นักเตะคนอื่นๆต้องพัฒนาสกิลการเอาชนะลูกกลางอากาศให้ได้

ส่วนเอริค ไบญี่ กับวิคตอร์ ลินเดอเลิฟ สองเซ็นเตอร์คู่หูของแมกไกวร์นั้น ดูจากสถิติก็ถือว่าแค่ so-so งั้นๆ อยู่ระดับกลางๆเท่านั้น เพราะอัตราชนะอยู่ที่ราวๆ60-65% ซึ่งก็เยอะกว่า50%มาไม่มากนัก แถมด้วยปริมาณการเล่นลูกโหม่งก็น้อยกว่าแมกไกวร์เกินเท่าตัว

(152ครั้งของแมกไกวร์ VS 73 ลินเดอเลิฟ 28 ไบญี่ สองคนนั้นรวมกันแล้วปริมาณการขึ้นดวลลูกกลางอากาศยังได้แค่2ใน3ของแมกไกวร์เท่านั้นเอง)

สรุปแบบลูกเสือชาวบ้าน : แผงหลัง มีแมกไกวร์เก่งอยู่คนเดียว แต่ตัวอื่นๆยังเอาชนะลูกกลางอากาศได้ไม่ดี โดยเฉพาะแบ็คสองคน ดังนั้นเพื่อรับมือเซ็ตพีซได้ดีขึ้น นักเตะตัวอื่นอีก5คนจะต้องอัพเกรดการดวลลูกโด่งให้ดีกว่านี้เพื่อช่วยงานแมกไกวร์ เพราะบอลมันไม่ได้จะมาถึงแมกไกวร์ซะทุกครั้ง

2.แทคติกรับมือลูกเซ็ตพีซ ที่มักจะเน้นโซนมากกว่ามาร์คแมน

ข้อนี้เรียกง่ายๆว่าแผนในการรับมือลูกโด่งนี่แหละ ซึ่งจากการสังเกตและแฟนผีหลายๆคนก็น่าจะเห็นนั่นคือ ทีมเรามักจะใช้วิธีการ"ตั้งโซน" เป็นหลัก (zonal marking) ซึ่งไอ้การตั้งโซนเนี่ยแหละที่ไม่ดีพอและมักจะเกิดตัวหลุดว่างประจำ เพราะไม่มีตัวไปประกบ

ด้วยแผนการแทคติกเกมรับแบบนี้ แมนยูอาจจะ"โซน" จุดสำคัญๆได้ก็จริง แต่แทบทุกครั้งบอลมันก็จะไม่ได้เข้าไปจุดสำคัญก่อนโดยตรง แต่มักจะไปเข้าหัวตัวที่ "หลุดประกบ" อยู่เสมอๆ เพราะเราเน้นโซนมากกว่า แม้จะบอกว่ามันมีการmixingของการป้องกันแบบ man-to-man เข้ามาด้วย เพราะบางตัวก็เห็นมีมาร์คแมนอยู่

แต่ว่าไม่ได้ประกบแมน-แมนทุกตัว เหมือนจะครึ่งๆกลางๆมากกว่า คนตั้งโซนก็จะไปกระจุกกันอยู่กลุ่มนึงเหมือนขดก้อนขนหมาที่บ้าน(ฮา อันนี้ไม่ได้จะด่านะ นึกภาพขนน้องหมาที่บ้านขึ้นมาเฉยๆ)  ส่วนพวกประกบตัว ก็จะมีอยู่แค่อีกส่วนนึง

และทุกครั้งที่เห็นมีการ "หลุดประกบ" ที่ขึ้นโหม่งเล่นงานเราได้ มักจะเป็นตัวที่ไม่มีคนประกบ เนื่องจากตัวรับผิดชอบไปตั้งโซนกระจุกกันอยู่นั่นเอง

ตรงนี้ต้องอาศัยภาพประกอบช่วย จะเห็นเลยว่าหลายๆจังหวะแมนยูเป็นแบบนี้จริงๆ

ภาพแรกนี่ก็ค่อนข้างชัดเจน นักเตะ5คนของเราเล่น zonal marking ไปยืนกระจุกทับกันเองอยู่ตรงนั้น5-6ตัว ทำเหมือนกับว่า บอลจะต้องถูกโยนไปจุดนั้นจุดเดียวซะยังงั้น ในขณะที่คู่แข่งมีตัวที่รอวิ่งจากวงนอก ซึ่งการวิ่งเราไม่สามารถคาดเดาได้ว่าไอ้3-4ตัวของเค้าจะวิ่งเข้าไปตรงไหน และจุดตกมันอยู่ตรงไหน

ลูกศรสีดำนั่นคือปริมาณของนักเตะส่วนที่ทำหน้าที่ป้องกันแบบ man-to-man ซึ่งก็ใช้ปริมาณผู้เล่นแบบ 1-1 เช่นกัน ดังนั้นตัววิ่งสองตัวของคู่แข่ง ก็จะดวล1-1กับเราเลย

ประเด็นสำคัญมากๆของการป้องกันลักษณะนี้ น้ำหนักใหญ่ๆจะอยู่กับ "คนรับหน้าที่ประกบคู่แข่ง" อย่างในภาพนี้คือวานบิสซาก้าเส้นดำนั่นเอง

จุดตายก็คือ หากคู่แข่งสลัดตัวประกบไปได้ เขาจะสามารถเข้าไปเล่นงานตรงไหนในแผงป้องกันได้ทันที เพราะจะไม่มีตัวอื่นมาตามประกบได้อีกแล้ว ซึ่งมันก็สามารถเล่นเพลย์ช็อตนั้นได้ไม่ว่าจะโหม่งเองโดยตรง หรือโหม่งทำเกมต่อให้เพื่อนตัวอื่น

นี่คือnatureการป้องกันของแมนยูไนเต็ด

ภาพที่สองด้านบนนี้ก็เป็นอีกครั้งที่แสดงให้เห็นแทคติกวิธีการรับมือกับคู่แข่งของเรา หลักๆที่จะให้ดูในภาพนี้คือนักเตะจะเน้นzonalมากกว่าด้วยการเซ็ตdefensive lineเพื่อดันคู่แข่งออกมาห่างจากปากประตู

ข้อดีหลักๆของวิธีการนี้เพื่อจุดประสงค์ในการลดอันตรายจากการต้องต่อสู้บริเวณหน้าปากประตูของเดเคอาโดยตรงนั่นเอง แต่ข้อเสียของมันคืออะไร แน่นอนว่าจังหวะแบบนี้ ทุกคนทั้งฝั่งเราฝั่งเขาก็จะต้อทำการ "วิ่ง" เคลื่อนที่รับมือลูกโยนเข้ามาอยู่แล้ว ซึ่งโอกาสที่จะพลาดยังถือว่าสูงมากๆสำหรับลูกฉาบฉวย50-50แบบนี้

วิธีการนี้ไม่ค่อยเหมาะเท่าไหร่นักกับทีมที่มีแผงกองหลังมี อัตราชนะดวลลูกกลางอากาศน้อยๆเช่นนี้ เพราะการเล่นลักษณะนี้คือต้องวัดAerial Duelsกันโดยตรงเลย และถ้าหลุดทีนึงก็จะหลุดไปเลยหากว่าคู่แข่งเทคตัวเอาชนะลูกโหม่งได้ ไม่ว่าจะโหม่งตรง หรือ โหม่งชงก็ตาม

ต่อเนื่องจากด้านบน นี่ก็คืออีกครั้งการเซ็ตแนวป้องกันของทีมลักษณะนี้ จะต้องดวลกันในจังหวะ50-50 อย่างที่ผมเขียนไว้ และสิ่งที่เกิดขึ้นก็ดูเอาเองครับ ขนาดว่านักเตะเราสองคนรุมคู่แข่งอย่างไมเคิล คีนอยู่ แต่สุดท้ายแล้วน้อนไมค์อดีตเด็กเก่าเราที่มาเยือนกรุงเทพด้วยเมื่อ7ปีที่แล้ว ก็ยังจะอยู่ในตำแหน่งที่ดีและเทคเอาชนะตัวประกบสองคนของเรา ทั้งวานบิสซาก้า และ ชอว์ จนบอลหลุดไปถึงDCLยิงเข้าไปชิลๆ ซึ่งอย่างที่บอกไปว่า แบ็คของเรามีปัญหาในเรื่องการดวลลูกกลางอากาศมากๆ สองคนนี้เสียเปรียบกันคนละด้าน เดี๋ยวจะว่ากันอีกที แต่ภาพนี้จะแสดงให้เห็นว่า ทีมเรามีเรทการดวลลูกกลางอากาศชนะน้อยมากๆ

ถ้าไม่นับแฮรี่ แมกไกวร์ ซึ่งโหม่งจนหัวถลอกไปแล้ว ตัวอื่นๆดวลลูกโด่งได้ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ต้องยอมรับในจุดนี้

และภาพด้านบนนี้คือล่าสุดสดๆร้อนๆ ลูกที่โดนเอซี มิลาน ตีเสมอในนาทีทดเจ็บ อยากให้ผู้อ่านย้อนไปดูไฮไลต์ด้วยว่า จังหวะนี้แมนยูไนเต็ดจัดระเบียบเกมรับได้ห่วยมากๆ ไม่มีการประกบตัวที่ดีเพียงพอ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ นักเตะมิลาน"6ตัว" ที่เข้าไปมะรุมมะตุ้มหน้ากรอบประตูของเรานั้น วิ่งหาตำแหน่งโหม่งกระจายกันอิสระมากๆยังกะคอลลอยด์ในสนามฟุตบอลเลย ถ้าเป็นเชื้อโควิดนี่คือฟุ้งกระจายติดกันตาย5ไปหมดแล้ว และเมื่อเกิดการวิ่งหาตำแหน่งโดยที่ไม่มีใครประกบตัวแบบman-to-man เพื่อป้องกันคู่แข่ง สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ไซม่อน เคียร์ หลุดประกบจากมาติช แล้วขึ้นเทคโหม่งคนเดียวโล่งๆแสกหน้าน้องดีนเข้าไปแบบเต็มหัวเน้นๆสบายๆไม่มีตัวประกบเบียดแย่งโหม่ง

สรุปแบบลูกเสือชาวบ้าน : แมนยูมักจะป้องกันเซ็ตพีซแบบตั้งโซนมากกว่าประกบตัวต่อตัว ทำให้หลายๆครั้งมักจะมีตัวประกบหลุดว่าง และได้ขึ้นโหม่งเราบ่อยๆ ปัญหาจึงอยู่ที่เรื่องของ "แทคติกการป้องกันเซ็ตพีซ" ที่เราประกบตัวคู่แข่งน้อยเกินไป และพยายามยืนโซนมากกว่า ซึ่งหลายๆครั้งมันช่วยอะไรไม่ได้  เมื่อมารวมกับปัญหาการขึ้นดวลลูกกลางอากาศที่นักเตะตัวอื่นๆนอกจากแมกไกวร์มักจะดวลแพ้อยู่เสมอ ทีมจึงมักโดนเล่นงานแบบนี้ประจำ

3.ผู้รักษาประตู

ปัญหาอีกหนึ่งจุดในการเจอเซ็ตพีซของแมนยูไนเต็ดก็คือภาคของการป้องกันโดยผู้รักษาประตู ซึ่งมีปัญหาอยู่ในขณะนี้เช่นกัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเราต้องพิจารณาปัญหาทีละด้านนั่นก็คือ "การออกมาตัดบอลโด่ง" และ "ลูกเซฟหากโดนโหม่งระยะใกล้"

3.1 การออกมาตัดบอลโด่ง

ปัญหาการออกมาตัดบอลโด่ง เรื่องนี้จะมีปัญหาอยู่ที่ "ดาวิด เดเคอา" มากกว่า อย่างที่แฟนผีรู้ๆกันว่าเจ้าเดเป็นโกลสายShot Stopper ดังนั้นเจ้าตัวจึงเก่งในด้านการเซฟลูกยิงมากกว่า ไม่ว่าจะใกล้หรือไกล แต่การเจอบอลโด่ง ก่อนที่จะต้องให้ทีมมาเสี่ยงว่า โกลจะเซฟได้หรือไม่ได้ ซึ่งมันก็50-50นั้น มันจะดีกว่าและปลอดภัยกว่า หากว่าโกลสามารถออกมาตัดบอลโด่งได้ก่อน

เราจะเจอปัญหานี้ หากว่าคนลงสนามคือเดเคอา แต่จะไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องตัดบอลโด่ง หากเป็นโกลสายcommanderอย่าง ดีน เฮนเดอร์สัน

3.2 ลูกเซฟระยะประชิด

แต่ในทางตรงกันข้าม ในมิติของผู้รักษาประตูบางทีมันก็ไม่สามารถออกมาตัดบอลได้ทุกลูก เพราะบอลใช่ว่าจะถูกเปิดมาอยู่ใน "ขอบข่ายแอเรีย" ที่โกลจะสามารถออกมาตัดได้ บางทีมันก็จำเป็นต้องหยุดรอปัดบนเส้นจึงจะเหมาะสมที่สุด ซึ่งลูกโหม่งและบอลโด่งจากเซ็ตพีซเหล่านี้ จุดแข็งของลูกโหม่งมันคือ "ความเร็ว" ในการเปลี่ยนทิศทางบอลที่จะทำให้คู่แข่งป้องกันไม่ทัน

หากว่าเป็นลูกเซ็ตพีซที่คู่แข่งถึงบอลก่อน และสามารถ"โหม่งได้" นักเตะที่จะมีปัญหาก็คือ ดีน เฮนเดอร์สัน ที่ลูกเซฟยังคงด้อยกว่าเดเคอาอยู่ดี ท่ามกลางกระแสต่างๆที่บางคนถึงขนาดเอาดีน ไปบลัฟเดเคอากันไปแล้วนั้น ต้องบอกกันตามตรงว่า สิ่งที่เป็น "ลูกเซฟปฏิกิริยา" ซึ่งเหมาะกับการปัดลูกโหม่งเร็วแบบนี้ เดเคอายังคงดีกว่าดีนอยู่ จากนัดล่าสุดที่เราโดนเอซีมิลานโหม่งเข้าในลูกนี้  เชื่อว่าหลายๆคนนึกถึง "เดเคอา" ขึ้นมาทันทีล่ะในจังหวะดังกล่าว

ไม่มีอะไรรับประกันนะครับว่าถ้าเป็นเดเคอาจะปัดได้ไหม แฟนผีไม่สามารถเอามันมาเคลมได้นะ แต่ถ้าให้ตัดสินโดยคอมมอนเซนส์ทั่วๆไปที่เรารู้จักนักเตะเราเองดีนั้น  เดเคอายังดูมีภาษีที่อาจจะปัดลูกนี้ได้อยู่

สรุปแบบลูกเสือชาวบ้าน : ปัญหาเรื่องโกลนี่เป็นเรื่องที่แก้ไม่ตกจริงๆ ทั้งเดเคอาและดีนต่างก็มีจุดดีจุดอ่อนที่แตกต่างกัน และรอบนี้ยิ่งตอกย้ำชัดเจนต่อแนวคิดของผู้เขียนที่ว่า ถ้าเป็นไปได้(ซึ่งยาก) เราควรใช้ดีโน่ในเกมลีกมากกว่า ส่วนเดเคอา เหมาะกับการเจอเกมยุโรปแน่นอน

เกมลีกเราจะโดนบอมป์จากทีมอังกฤษน้อยลงหากว่าเป็นดีนลงสนาม กลับกัน บอลยุโรปที่อาศัยชั้นเชิงมากกว่าการเล่นบอลกรรมกร เดเคอาน่าจะเหมาะกว่าอย่างชัดเจน

ซึ่งเรื่องนี้เป็นไปไม่ได้ เดเคอาไม่มีทางยอมแน่นอน ในขณะที่ดีนเองก็ไม่อยากอยู่ในสถานะแบบปีนี้ไปตลอด ปัญหาเรื่องโกลนี่ต้องเลือกใครสักคนจริงๆในปีนี้ จะมาทำเป็นทาทายังด้วยการ "อยากเก็บเธอไว้ทั้งสองคน" แบบนี้ไม่ได้

4.ลูกตุกติก

ปัญหาลูกเซ็ตพีซหลายๆครั้ง เราจะเห็นว่าทีมเรามักจะทำตัวพยายามเป็นคนดีตลอดเวลา เพราะไม่มีใครในทีมที่มี "ลูกสกปรก" ในการเล่นงานคู่ต่อสู้เลย คือมีแต่นักเตะดีๆ คนดี เล่นตามกติกากันหมด แต่ถามคำเดียวว่า คู่ต่อสู้เขาทำแบบนี้กับเราเหรอ? ก็เปล่า มันก็เหมือนกับการยืนคุยกับสิงโต แล้วบอกกับมันว่า เฮ้ย เราไม่ฆ่านายนะ นายอย่ามาฆ่าเรา อย่ามากัดเรานะเว้ย เท่าเทียมกัน

อีกสองวิต่อมา มึงเข้าไปอยู่ในปากสิงโตแล้วเรียบร้อย!

สิ่งนี้แค่จะเปรียบเปรยว่า คู่แข่งพร้อมที่จะฆ่าและเล่นงานเราด้วยทุกวิถีทางอย่างไม่ปรานี แม้จะโกงหรือเล่นสกปรกยังไงก็ตาม แต่กลับกัน แมนยูกลับเล่นเจี๋ยมเจี้ยมเกินไป และมักจะโดนคู่แข่งตุกติกใส่อยู่ตลอดหลายๆครั้ง ซึ่งเมื่อดวงมันซวย หากว่าเล็ดลอดสายตากรรมการ หรือผ่านตะแกรงรูของVARไป เราก็จะเสียประโยชน์ฟรีๆแบบที่ไม่มีใครกลับลำแก้ผลการแข่งขันให้

ดังนั้นแมนยูไนเต็ดจึงถือว่ามักจะโดนลูกตุกติกแบบนี้เล่นงานบ่อยมากๆในจังหวะแทคติก อย่างเช่นตัวอย่างข้างล่างนี้

นี่คือตอนที่โดนลูก 0-1 ในเกมที่แพ้บ๊วยอย่างเชฟฟิลด์ยูไนเต็ดที่ผู้จัดการทีมลาออกไปแล้ว แต่ลูกนี้เราจะเห็นถึงปัญหาสองอย่างเลยเต็มๆ อย่างแรกคือเรื่องของ "การดวลลูกกลางอากาศ" ที่เราชี้ให้เห็นในข้อแรกไปแล้วว่า นักเตะกองหลังแมนยูดวลลูกกลางอากาศแพ้ประจำ ซึ่งในช็อตนี้ก็คือแอ็กเซล ตวนเซเบ้ ที่ขึ้นไม่ถึงบอล และโดนโหม่งเข้าไปในที่สุด

นี่คือปัญหาแรก

แต่อย่างที่สองก็คือ ลูกนี้เราก็รู้ๆกันว่า เดเคอาโดนกระแทกจากด้านหลังแบบเต็มๆจนเสียหลัก ทำให้เข้าไปชกบอลไม่ถึง ลูกนี้คือฟาล์วแน่นอน100%เพราะไปขัดขวางการเล่นโกล สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือกรรมการไม่เห็น VARไม่ให้

เราจะทำอะไรได้นอกจากก้มหน้ารับกรรมไป เพราะเจอลูกสกปรกแบบนี้เล่นงาน

ภาพนี้คือลูกที่แมนยูไนเต็ดเสียจากการเจอกับWBA ซึ่งช็อตนี้มันไม่ใช่ลูกเซ็ตพีซ แต่ว่าเป็นลูกโด่งที่ครอสเข้ามาตรงกลาง สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ วิคตอร์ ลินเดอเลิฟ โดนกระซวกลูกตาจากด้านหลังแบบเต็มๆแถมโดนกดด้วย แต่กรรมการไม่ให้ และก็กลายเป็นประตูไปแบบงงๆ นี่คืออีกครั้งที่เรามีปัญหากับการเจอลูกตุกติกเล่นงานที่รอดสายตาผู้ตัดสิน  รวมถึงยังเป็นปัญหาด้านการเอาชนะลูกกลางอากาศด้วยที่มักจะแพ้การชิงจังหวะบอลโด่งแบบนี้เสมอๆ ไม่ว่าจะโดนฟาล์วหรือไม่ก็ตาม

สรุปแบบลูกเสือชาวบ้าน : ปัญหานี้มาจากพื้นฐานเรื่องของความดุดันในตัวของนักเตะเกมรับของเรา ที่มีแต่ตัวติ๋มๆที่เล่นตามกฏกติกาอย่างเดียว แต่คู่แข่งเขาไม่ได้ทำแบบนั้นกับเรา เขาพร้อมที่จะทำทุกอย่างไม่ว่ามันจะผิดกติการหรือฟาล์วใดๆก็ตาม แล้วค่อยไปวัดเอาว่ากรรมการให้หรือไม่ให้เท่านั้นเอง แต่นักเตะเรากลับเป็นผู้ถูกกระทำดั่งนางเอกผู้แสนดีอย่างเดียว

ไม่แปลกใจว่าทำไมถึงมีเสียงเรียกร้องบางส่วนให้นำเข้าพี่มอส แซร์คิโอ รามอส เข้ามาเติมความเก๋าและลูกสกปรกให้แผงหลังบ้าง

5.การรับแรงกดดันช่วงท้ายเกม

จุดสำคัญอีกอย่างหนึ่งซึ่งถือว่าจำเป็นไม่แพ้กับปัญหาเชิงกายภาพของการเล่นแล้วนั้น ในด้านสภาวะจิตใจเชิงmentalityของนักเตะ ต้องยอมรับว่าเด็กๆทีมเรายังรับมือกับการโดนกดดันช่วงท้ายเกมยังไม่เนี้ยบพอ

ใช้คำว่า ไม่เนี้ยบพอ หมายความว่า มันไม่ได้ถึงกับห่วยแตก ย่ำแย่แบบไม่มีอะไรดีขนาดนั้น

นักเตะยูไนเต็ดมีการพัฒนาขึ้นในจุดที่ควบคุมความกดดันในการเล่นช่วงท้ายเกมได้"ดีขึ้น"จากเมื่อก่อน สังเกตเห็นได้จากเกมล่าสุดที่เจอกับซิตี้ จิตใจเด็กๆมั่นคงมากแม้จะโดนกดดันอยู่ตลอดทั้งเกมจนถึงช่วงท้ายแต่ก็ไม่มีอาการลนลานให้เห็นเลย แถมมีลูกเก๋าดึงเวลาด้วย

แต่ว่ามันก็ยังไม่พอสำหรับลูกเซ็ตพีซ ที่มักจะโดนท้ายเกมเสมอๆ คือจังหวะบุกโอเพ่นเพลย์เนี่ยมาเหอะ แต่ถ้าเป็นเซ็ตพีซ หากว่าโดนท้ายเกมนี่บอกเลยว่า แฟนผีทำใจกันเกิน50%แล้ว เพราะมีโอกาสเสียประตูเยอะมาก

ปัญหาเรื่องนี้แก้ไขอะไรไม่ได้นอกจากที่ต้องอาศัย "เวลา" ในการเพาะบ่มความเก๋า ความนิ่ง และอาศัยประสบการณ์ที่มากขึ้นกว่านี้ ซึ่งเด็กๆชุดนี้อายุเฉลี่ยยังค่อนข้างน้อยมาก ดังนั้นต้องอาศัยลูกเก๋าเกมมากกว่านี้เยอะเวลาอยู่ในช่วงท้ายๆเกม ซึ่งความเก๋าดังกล่าวนี้บางทีมันก็เกี่ยวพันกับหัวข้อด้านบนที่เป็นเรื่องลูกสกปรกและการชนะกันด้วยลูกตุกติกที่ต้องใช้ร่างกายเอาชนะกันโดยตรงด้วยในจังหวะเซ็ตพีซที่ต้องมาอัดกันในกรอบเขตโทษ

สรุปแบบลูกเสือชาวบ้าน : หลักๆคือเวลาเท่านั้นที่จะแก้เรื่องนี้ได้ดีที่สุด แต่หากจะปรับปรุงเฉพาะหน้าในประเด็นดังกล่าว อาจจะมีการcoachingในแง่เชิงจิตวิทยา และอาจจะหาวิธีฝึกฝนหลายๆอย่างเพื่อทดลองเจอความกดดันบ่อยๆในสนามซ้อม น่าจะพอช่วยได้บ้างเล็กน้อย

6.วิธีการแก้ปัญหาเบื้องต้น

จากทั้งหมดที่เขียนมาแล้วนั้น มีจุดที่ต้องปรับปรุงจุดใหญ่ๆอยู่สองจุด นั่นก็คือเรื่องของ "แทคติก" การป้องกันลูกเซ็ตพีซ และอีกอย่างก็คือ "ความสามารถของนักเตะแนวรับในการเอาชนะลูกกลางอากาศ"

ประเด็นแรก แก้แทคติกการรับมือเซ็ตพีซ จุดนี้สำคัญสุดที่ต้องแก้ไขก่อนเรื่องใดเลย และจริงๆแล้วถ้าแก้ไขเรื่องนี้ได้ มันจะสามารถไปช่วยบรรเทาปัญหาข้ออื่นๆได้เยอะ

สิ่งที่เห็นชัดๆตอนนี้คือแมนยูมีปัญหากับการ "ตามประกบคู่แข่ง" ในจังหวะเซ็ตพีซมากๆ วิธีการแก้เบื้องต้นซึ่งได้แต่หวังว่าทีมโค้ชจะanalyzeได้ว่า ปัญหาอยู่ที่ตรงไหน เราควรจะติวเข้มเด็กๆเรา ซ้อมการรับมือเซ็ตพีซเยอะๆ โดยที่ให้ความสำคัญกับการmarkingตามตัวคู่แข่งก่อนเป็นอันดับแรก โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกตัวที่มี "ความสูง" พอเหมาะ อย่าง วานบิสซาก้า ไบญี่ และ ลินเดอเลิฟ สามตัวนี้จะต้องมีหน้าที่ในการตามประกบแบบ man-to-man ตัวคู่แข่งในกรอบ เพราะว่าพอจะมีกายภาพที่สามารถไปสู้หรือเบียดให้เขาโหม่งลำบากได้ ดังนั้นควรจะทำ

ส่วนนักเตะอย่างแฮรี่ แมกไกวร์นั้น เหมาะมากที่จะใช้ยืนป้องกันแบบ zonal ในจุดอันตรายๆ ด้วยความช้าในตัวเขาที่ไม่เหมาะกับการออกจากpositionไปประกบตัว-ตัว  แมกไกวร์คือคนที่ควรยืนคุมโซนเอาไว้ ร่วมกับนักเตะอีกคนนึง ซึ่งเป็นใครก็ได้ที่ไม่มีตัวman-to-manให้รับผิดชอบอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเซ็นเตอร์คู่ หรือว่า"กลางรับ" ที่มักจะลงมายืนเป็น3rd CBให้ทีมอยู่ตลอด ไม่ว่าจะมาติช หรือแม็คโทมิเนย์ก็ตาม

พูดง่ายๆคือ ใช้ตัวยืนโซนแค่สัก 2ตัว ก็ถือว่าเพียงพอแล้ว ส่วนตัวอื่นๆที่เหลือแบ่งไปmarkingประกบตัวต่อตัวจะดีมากๆ

ประเด็นที่สอง พัฒนาการเอาชนะเรื่องดวลลูกกลางอากาศ เรื่องนี้ถือว่าค่อนข้างแก้ยากกว่าแทคติก เพราะมันเป็นความสามารถของตัวนักเตะคนนั้นๆ

วานบิสซาก้า : เห็นชัดเลยคือเรื่องของการยืนตำแหน่ง ที่มักจะไม่ค่อยดี ทั้งในจังหวะโอเพ่นเพลย์และจังหวะโดนลูกนิ่ง ที่สำคัญเรื่องของลูกกลางอากาศ AWBมักจะ "โหม่งว่าว" บ่อยมากๆ

ทั้งๆที่สรีระเขาไม่เสียเปรียบใครเลยในเรื่องลูกโด่ง แต่ที่เขาว่าวบ่อยนั่นเป็นเพราะมักจะ กะระยะจุดตกของลูกบอลพลาดอยู่เสมอๆ คือกะไม่แม่นว่าบอลจะลงมาจุดไหน ดังนั้นความสูงกับสปริงในการเทคตัวที่ดีของเขา มักจะไร้ค่า ถ้าอยู่ไม่ตรงจุด และกะระยะพลาด

ลุค ชอว์ : ชอว์ดูจะมีปัญหาเรื่องลูกกลางอากาศเยอะสุด ทั้งสรีระที่ไม่ได้สูงมากและเสียเปรียบคู่แข่งที่ตัวใหญ่กว่า และjumping reachที่แรงกระโดด กับจุดโหม่งก็ต่ำทั้งคู่ คือพูดง่ายๆแย่งโหม่งไม่ดีว่างั้นแหละ และอย่าเอาไปรวมกับจังหวะโหม่งเคลียร์นะ อันนั้นมันไม่ใช่Aerial duels เพราะไม่ได้โดนแย่งโหม่งโดยตรง

โหม่งออกแม่น คนละประเด็นกับแย่งโหม่งเก่ง

ไบญี่ : รายนี้ดูมีความยืดหยุ่นดีในด้านการเล่นที่มักจะมีลูกผาดโผนอยู่เยอะ ไบญี่เหมาะกับการส่งออกไปประกบman-to-manกับตัวที่มีความเร็วและขยับหาตำแหน่งโหม่งในกรอบ พอๆกับการยืนzonal ในจุดสำคัญๆเช่นกัน เพราะไบญี่เคยสกัดบอลสวยๆแบบนี้มาแล้ว

รวมๆไบญี่เป็นตัวสายบาลานซ์ที่ สั่งไปมาร์คตายคู่แข่งก็ดี สั่งให้ยืนคุมหน้าปากประตูก็โอเค

ลินเดอเลิฟ : ตัวนี้มีปัญหาที่แรงปะทะเวลาขึ้นเทคแย่งกับคู่แข่ง และจุดแข่งของลินเดอเลิฟคือความเหนียวในการวิ่งตามmarkingคู่แข่งแบบกัดไม่ปล่อย ดังนั้นลินเลิฟจึงเป็นอีกคนนึงที่เวลาเจอเซ็ตพีซ ไม่ควรไปยืนเถ่ออยู่หน้าประตู แต่ควรวิ่งออกมาตามประกบตัวโหม่งคู่แข่งแบบman-to-manมากกว่า

ประเด็นที่สาม ซื้อกองหลังใหม่ที่มีความสามารถด้านลูกกลางอากาศดีๆเข้ามา เพื่อแบ่งเบาแฮรี่ แมกไกวร์

เรื่องนี้ถือว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ค่อนข้างยากกว่าเรื่องอื่นหน่อยเพราะมันคือการต้องซื้อนักเตะเข้ามา ซึ่งก็ทำไม่ได้ง่ายๆ แต่ถือว่าปีนี้พลาดไปแล้วก็พลาดไป ซีซั่นหน้าเริ่มต้นใหม่ เราควรต้องแก้ไขเรื่องนี้ด้วยการ เติมกองหลังที่เก่งพอจะยืนเป็นหลัก ที่ดีกว่าไบญี่ ลินเดอเลิฟ และมาจับคู่กับแมกไกวร์ได้ในแผงCB ซึ่งจุดสำคัญของตัวที่จะซื้อเข้ามานั้น ควรที่จะต้องเป็นกองหลังที่มีลูกกลางอากาศดีมากๆด้วย

เพราะอย่างที่บอกไปแล้ว 4ตัวนอกจากแมกไกวร์ ไม่มีใครมีลูกกลางอากาศดีๆสักคนนึงเลย

เพราะงั้นการเซ็นตัวเข้ามาช่วยรับมือลูกโด่ง จะสามารถแก้ปัญหาเรื่องเซ็ตพีซให้ทีมได้ดีมากๆเพราะจะได้มี "จุดโหม่งชนะ" มากกว่าแค่ที่แมกไกวร์คนเดียว เพราะตอนนี้หากว่าบอลไปเข้าหัวในจุดอื่นๆที่ไม่ใช่แมกไกวร์ โอกาสแพ้แทบจะ50-50เลย ซึ่งมันสูงเกินไป

ถามว่า ใครบ้างอยู่ในข่ายที่เหมาะจะเสริมทีมเพื่อแก้ไขจุดนี้ ก็ต้องเป็นกองหลังที่มีลูกกลางอากาศเด่นๆนั่นเอง

ในบรรดานักเตะกองหลังตัวที่น่าสนใจและเข้าข่ายจะเสริมทีมมามีดังนี้

Jules Koundé
Ibrahima Konaté
Pau Torres
Nikola Milenkovic
Benoît Badiashile
Milan Škriniar

ถ้าพูดกันเฉพาะในบริบทของเรื่องนี้ กับการแก้ปัญหาเซ็ตพีซที่ต้องแก้ไขให้เด็กเราดวลลูกกลางอากาศชนะให้มากขึ้น การจะซื้อตัวที่ดวลลูกโด่งเก่งๆเข้ามาถือว่าสำคัญ และมีตัวที่โดดเด่นจริงๆอยู่สองตัวนั่นก็คือ

Nikola Milenkovic กับ Benoît Badiashile

สองคนนี้มีความสูงใกล้ๆกันอยู่ที่ 195cm และ 194cm ซึ่งก็ตัวเท่าๆกับแมกไกวร์เลย และสองตัวนี้เป็นกองหลังที่เก่งเรื่องลูกกลางอากาศมากๆ โดยเฉพาะมิเลนโควิช ที่สถิติพอๆกับแมกไกวร์เลย อย่างเช่น อัตราชนะลูกกลางอากาศ (Aerial duels won %) มิเลนโควิชอยู่ที่ 78.6% ซึ่งสูงพอๆกับแมกไกวร์(76.3%) และเฉลี่ยทำได้ 3.5ครั้งต่อเกม ก็ใกล้ๆกับแมกไกวร์ที่ 4.1เช่นก้ันในด้านปริมาณ ส่วนเบอนัวต์ บาดิอาชิลล์มีสถิติอยู่ที่ 3.3ครั้ง ก็ใกล้เคียงกับมิเลนฯเรื่องปริมาณเช่นกัน

แต่ปัญหาคือบาดิอาชิลล์มีจุดอ่อนด้านการเข้าแทคเกิลมากๆ แค่0.8ครั้งต่อเกม ถือว่าน้อยจนน่ากลัว ดังนั้นซื้อมาก็ได้ใช้แต่ลูกกลางอากาศ แต่เกมรับอื่นๆจะรั่วมากทันที ให้นึกภาพตัวที่ไม่เข้าแทคเหมือนลินเดอเลิฟอีกตัวนั่นแหละ ปัญหาเกมโอเพ่นเพลย์มาแน่นอน

ส่วนตัวอื่นๆอย่าง มิลาน สคริเนียร์ ตัวที่แมนยูมีลุ้นจะได้ตัวมา หากว่าอินเตอร์ยังชำระหนี้อีก50ล้านยูโรไม่ได้ แต่สคริเนียร์มีสถิติลูกกลางอากาศที่ไม่ค่อยดีเลยซะเลย อยู่ที่ 52.9%ในซีซั่นนี้ และปีก่อนๆสถิติก็ไม่ได้ต่างจากนี้เท่าไหร่ คือลูกโด่งไม่เด่นเลย ส่วนทางด้าน Jules Koundé ไม่ต้องพูดถึง ด้วยส่วนสูงแค่178cm เลิกคิดไปได้เลยว่าจะซื้อตัวนี้มา เปอร์เซ็นต์ชนะลูกกลางอากาศแค่ 59% ก็ไม่เพียงพออยู่ดีในการเจอกับเกมพรีเมียร์ลีก

ในขณะที่น้องเปา Pau Torres ที่มีส่วนสูง191cm แต่จากที่เคยดูเขาก็ไม่ได้มีลูกโหม่งที่แข็งแกร่งเท่าไหร่ที่สมกับส่วนสูง เพราะแรงปะทะดูน้อยๆ และอัตราแค่61.7นี่คือแย่กว่าลินเดอเลิฟซะอีก

เหลืออีกตัวเดียวที่น่าสนใจและหลายๆคนอยากได้นั่นก็คือ Ibrahima Konaté ที่มีความสมดุลของการเล่นเกมรับเยอะกว่าตัวอื่นๆ ซึ่งโคนาเต้นั้นสถิติaerial won อยู่ที่ 82.6% ดูเหมือนว่าwin rateจะดี แต่จริงๆแล้วมันมาจากปริมาณชนะ 19ครั้ง แพ้4ครั้ง รวมแล้วลูกกลางอากาศมีแค่ 23ครั้งในลีกที่ขึ้นดวลลูกกลางอากาศ ดังนั้น%มันจึงเยอะหน่อยเพราะปริมาณน้อย อาจจะยังวัดอะไรไม่ได้มาก แต่ก็ถือว่าดูดี เพียงแต่ว่าปีนี้โคนาเต้เจ็บยาวและเพิ่งจะลงเล่นไปแค่15นัดเท่านั้นเอง ส่วนสถิติด้านเกมรับอื่นๆก็ยังมีจุดที่เป็นรองMilenkovicอยู่บ้าง

สรุปแบบลูกเสือชาวบ้าน : ถ้าจะให้ลิสต์ อันดับหนึ่งของกองหลังที่ดีที่สุดที่เราควรทุ่มเงินซื้อมาเสริมทีม เพื่อแก้ปัญหาแนวรับให้ทีมได้หลายๆอย่าง "Nikola Milenkovic" ดูมีภาษีดีที่สุดที่สามารถรับมือลูกโด่งได้ดีพอๆกับกัปตันแมกไกวร์เลย ลองคิดสภาพว่ามีตัวโหม่งดีๆเหมือนแมกไกวร์มายืนเพิ่มอีกตัว เราจะรับมือลูกโด่งและลูกเซ็ตพีซได้ดีขึ้นขนาดไหน

นอกจากลูกโด่ง มิเลนโควิชก็เด่นด้านTacklesด้วยที่อัตราชนะในการเข้าแทคเกิลการเลี้ยงบอลของคูต่อสู้นั้นสูงถึง77.8% แถมด้วยลูกบล็อคที่เป็นการบล็อคลูกยิง+เคลียร์บอลจากจุดอันตรายอีกมาก

เพราะฉะนั้นแล้วตัวนี้จึงเหมาะที่สุดหากว่าแมนยูอยากจะได้ตัวหลักมายืนคู่แมกไกวร์ และเป็นสายStopperขาโหดที่เข้าบอลดุดันหนักหน่วงไม่ต่างกับเนมันย่า วิดิช นักเตะที่เป็น "ไอดอลโดยตรง" ของตัวเขาด้วยซึ่งเป็นรุ่นพี่ในทีมชาติ

ด้วยวัย23ปีรุ่นเดียวกับแรชฟอร์ด ยังไงมิเลนโควิชก็ดีที่สุดในการเสริมทีมเพื่อแก้ปัญหาเกมรับให้ทีม และหากว่าไม่ใช่มิเลนโควิช ถ้าจะเป็นอิบราฮิมา โคนาเต้ ก็น่าจะใช้การได้เหมือนกัน เพราะดูสถิติย้อนหลังไป3-4ฤดูกาลตอนที่ลงเล่นจำนวนเยอะๆนั้น อัตราชนะก็อยู่ที่ราวๆ74.5 ซึ่งถือว่าโอเคเช่นกัน แม้ด้านแทคเกิลจะไม่เด่นเท่ามิเลนโควิช แต่ถ้าจะเสริมทีม เอาตัวนี้ก็โอเค เพียงแต่ว่าต้องยอมรับความเสี่ยงด้วยเพราะนักเตะเจ็บบ่อยมากพอสมควร ปีก่อนหายไปทั้งฤดูกาลจากปัญหาเอ็นกล้ามเนื้อฉีก ปีนี้มีปัญหาที่ข้อเท้าก็ได้ลงสนามน้อยมาก

และทั้งหมดนี้คือการวิเคราะห์ปัญหาลูกเซ็ตพีซของทีมเราว่า เบื้องต้นมีปัญหาในจุดใดบ้างเท่าที่พอจะมองเห็น และรวมถึงวิธีการแก้ปัญหาที่พอจะปรับแก้ไขในเบื้องต้นได้ด้วยวิธีคิดง่ายๆสไตล์บ้านๆ ก็ได้แต่หวังว่าทีมเราจะแก้ไขจุดนี้ให้ได้โดยเร็ว เพราะช่วงนี้มีบอลถ้วยกลับมาเตะอีกแล้วซึ่งผลแพ้ชนะบางทีมันตัดสินด้วยจังหวะแบบนี้ เราต้องปรับให้เร็วที่สุดเพื่อโอกาสจะประสบความสำเร็จได้ในถ้วยที่เหลือ ทั้งยูโรปาลีกรอบ16ทีมสุดท้ายเลกสองกับมิลาน และเอฟเอคัพรอบ8ทีมที่รอเจอกับเลสเตอร์ซิตี้

เอาจริงๆแล้วหากจำกันได้ แมนยูไนเต็ดแพ้เบิร์นลีย์มา 0-2 ตั้งแต่ต้นปีก่อนที่บรูโน่จะเข้ามา และเชื่อว่าโอเล่ก็คงจะรู้ปัญหานี้ดีแหละเพราะเค้าก็พูดว่ามันต้องแก้ไขเช่นกัน (โอเล่เอ่ยเองด้วยซ้ำว่า ฟุตบอลยุคนี้เรื่องของเซ็ตเพลย์นั้นสำคัญอยู่ที่ราวๆ30-40%ของเกมด้วย ซึ่งเยอะมาก ) แต่จนถึงตอนนี้ก็ยังแก้ไม่ได้เลย ดังนั้นก็ต้องลุ้นกันเหนื่อยหน่อยว่าเมื่อไหร่ที่เรื่องนี้มันจะดีขึ้น

หากจะเสริมนักเตะในเกมรับมาเข้าทีมเราในปีหน้า หากว่าบอร์ดจะจัดให้นั้น เราควรพิจารณาเรื่องความสามารถในการรับมือลูกกลางอากาศเป็นหลักๆเพื่อช่วยแก้ปัญหาลูกเซ็ตพีซ เพราะหากซื้อตัวที่เล่นลูกโด่งได้ไม่ดี ปัญหาเซ็ตพีซจะไม่มีทางหายไปแน่นอน และเราก็จะมีปัญหาเรื่อง "ผลการแข่งขัน" ที่อาจจะเสียหายจากลูกนิ่งเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ

ฝากด้วยนะตลาดนี้ เอ็ด จัดจ์ ดาร์เรน จอห์น พวกนายคือความหวังของหมู่บ้าน!!!

-ศาลาผี-

ฮัลโหลลลลล สุดท้ายก็หนีไม่พ้นกู หรือไม่ก็โอเล่สินะที่จะมาเป็นตัวสรุปปิดท้ายบทความเนี่ย!!!

References

https://fbref.com/en/

https://www.transfermarkt.com/

https://www.whoscored.com/

ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ระดับ : {{val.member.level}}
{{val.member.post|number}}
ระดับ : {{v.member.level}}
{{v.member.post|number}}
ระดับ :
ดูความเห็นย่อย ({{val.reply}})

ข่าวใหม่วันนี้

ดูทั้งหมด