:::     :::

ซื้อ-ขายหลังยุคป๋า ใครเข้าเป้า ใครเข้าว่าว

วันเสาร์ที่ 20 มีนาคม 2564 คอลัมน์ #BELIEVE โดย ศาลาผี
11,439
ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ข้อมูลสรุปภาพรวมการซื้อขายนักเตะของแมนยูหลังยุคป๋า ผ่าน4ผู้จัดการทีม มีการใช้เงินสุทธิไปเท่าไหร่ และนักเตะที่ซื้อมานั้น ยุคไหน"เข้าเป้า"หรือ "เข้าว่าว"มากน้อยกว่ากัน บทความนี้น่าจะทำให้เห็นทิศทางการสร้างทีมในแต่ละยุคได้อย่างดีในแง่ของการเสริมทีม

หลังจากที่เราชื่นมื่นกับเกมเฉือนเอาชนะมิลานได้ 0-1 และผ่านเข้ารอบด้วยประตูรวม 1-2 นั้น ระหว่างที่แฟนผีกำลังตั้งตารอที่จะรวมพลังส่งใจเชียร์ทีมอีกหนึ่งนัดในเกมเอฟเอคัพรอบ8ทีมสุดท้ายกับเลสเตอร์คืนวันอาทิตย์นี้นั้น จากเกมนัดก่อนที่พลิกสถานการณ์ด้วยการสร้างความแตกต่างให้เกิดขึ้นในเกมนี้ จาก "นักเตะระดับเวิร์ลคลาสของแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด" อย่าง ปอล ป็อกบา

มันก็ทำให้เรารู้สึกว่า การได้ตัวป็อกบากลับมา มันคือการเซ็นสัญญาที่เข้ามาแล้วimpactต่อทีมมากจริงๆ เช่นเดียวกันกับการเข้ามาของบรูโน่ แฟร์นันด์ส ที่ปลุกDNAปีศาจแดงและหลอมรวมทีมวัยรุ่นที่สะเปะสะปะ ให้เข้าที่เข้าทางด้วยการเป็นผู้นำในสนาม

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วสิ่งนี้ก็ทำให้เราแฟลชแบ็คไปอีกครั้งว่า ปอล ป็อกบานั้น ย้ายเข้ามาตั้งแต่ตอนที่ทีมได้ตัวโชเซ่ มูรินโญ่เข้ามาคุมทีมด้วย และก็มีนักเตะอีกหลายๆคนเช่นกันที่ตบเท้าก้าวเข้าทีมมาในช่วงนั้น เมื่อรวมกับยุคของโอเล่ กุนนาร์ โซลชาแล้ว จะเห็นว่าตัวหลักในทีมปัจจุบันส่วนใหญ่ก็จะมาจากสองยุคหลังนี้

แต่จริงๆ มีแกนหลักหลายคนที่เกิดมาจากผู้จัดการทีมก่อนหน้านั้นด้วย

วันนี้เราจะลองมาย้อนไล่เรียงกันอีกครั้งแบบคร่าวๆว่า นับตั้งแต่หมดยุคของเซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสันของเรา ผู้จัดการคนหลังๆนั้นได้ซื้อขายนักเตะเข้ามาเป็นยังไงบ้างในเรื่องของเม็ดเงินลงทุน ว่าใช้เงินสุทธิไปเท่าไหร่ จากการซื้อเข้ามาและขายออก และนักเตะตัวไหนที่นำเข้ามาแล้วถือว่า "เข้าเป้า"(HIT) และตัวไหนที่ย้ายมาแล้วถือว่า "เข้าว่าว"(MISS)

อนึ่ง : เรื่องของการระบุว่า ตัวไหนเข้าเป้า ตัวไหนเข้าว่าว หรือตัวไหนโอเคนั้น เป็นเพียงแค่การนำเสนอในความเห็นมุมมองส่วนตัวของผู้เขียน ซึ่งก็อาจจะไม่ตรงกับคนอ่านได้อันนี้คือเบื้องต้น ไม่ได้แปลว่าที่เขียนนี้คือถูกที่สุดแล้ว ผู้อ่านอาจจะมองต่างกันเช่น ตัวนั้นอาจจะว่าว ตัวนี้อาจจะเข้าเป้าก็เป็นได้

defineให้คำจำกัดความกันก่อนว่า การ"เข้าเป้า" ไม่ได้แปลว่านักเตะคนนั้นเก่งสุดยอด แต่เป็นดีลที่ประสบความสำเร็จ และเข้ากับเรา ในขณะที่ดีล "เข้าว่าว" ก็ไม่ได้แปลว่านักเตะคนนั้นกากแต่อย่างใด เพียงแค่มาแล้วไม่ประสบความสำเร็จ หรือมาแล้วไม่เข้ากับทีมเราเท่านั้นเอง เพราะนักเตะที่ย้ายมาในทีมเราส่วนใหญ่ก็มีคุณภาพที่ดีแทบทั้งสิ้น

บทความนี้จุดหลักๆอยากให้โฟกัสที่factเรื่องการใช้จ่าย และการประสบความสำเร็จในภาพรวมมากกว่า ว่าผู้จัดการคนไหนดึงนักเตะเข้ามาแล้วปังๆบ้างที่เป็นมรดกตกทอดมาจนถึงทุกวันนี้ นี่คือสาระหลักๆที่สำคัญในนี้ ส่วนในมุมมองว่าดีหรือไม่ดีนั้นเป็นเรื่องความเห็นปัจเจก

ดังนั้น เรามาลองย้อนดูข้อมูลที่เข้าใจง่ายเหล่านี้อีกครั้ง โดยข้อมูลจากfootballcritic.com ที่รวบรวมมาได้ดังนี้ โดยที่รายรับรายจ่ายของฐานข้อมูลชุดนี้จากsourceจะเน้นดูคร่าวๆที่การเสริมตัวหลัก ตัวเลขอาจจะมีเคลื่อนกับแหล่งอื่นๆบ้างแค่นิดหน่อยไม่มาก แต่ช่วยให้แฟนผีมองภาพใหญ่ได้ดีขึ้น

David Moyes

Net Spend : 68ล้านปอนด์

เงินค่าซื้อนักเตะอยู่ที่ราว70ล้าน และได้เงินกลับเข้ามา2ล้าน Net Spendเมื่อคิดสุทธิแล้วจึงเกือบๆเท่ากับที่จ่ายออกไป

ค่อนข้างชัดเจนว่ามอยส์เองก็ไม่ค่อยได้รับการซัพพอร์ตที่ดีพอสักเท่าไหร่ในเรื่องของการซื้อขาย เพราะว่าเดวิด กิลล์ก็วางมือไปพร้อมๆกับเซอร์อเล็กซ์เลย ในขณะที่ เอ็ด วู้ดเวิร์ดเองก็ประสบการณ์เป็น 0 ทั้งในดีลซื้อขายสโมสรใหญ่ๆเช่นนี้ และทั้งเรื่องในสนามฟุตบอล สโมสรพลาดการเซ็นสัญญากับ Ander Herrera และได้มาเพียงมารูยาน เฟลไลนี่เท่านั้น ก่อนที่ตลาดหน้าหนาวจะเซ็นฮวน มาต้า เข้ามาอีกหนึ่งราย

สำหรับเฟลไลนี่ แน่นอนว่าเป็นดีลถือว่าอยู่ในระดับที่สอบผ่านเช่นกัน แม้จะไม่ได้ยืนเป็นตัวหลักที่มีผลงานอลังการแบบโดดเด่นมากๆ แต่เขาก็เป็นfirst team playerที่อยู่ในสถานะอาวุธหนักพิเศษประจำทีมที่ไม่มีใครเหมือน โดยเฉพาะการเป็นอาวุธบินที่รุนแรงประดุจทีมมี "คิรอฟ รีป๊อดเต็ด" อยู่ในทีมหนึ่งฝูงบิน

ส่วนฮวน มาต้า ที่อยู่เป็นตัวหลักให้กับทีมมายาวนานมากนับตั้งแต่มอยส์จนมาถึงโอเล่ ถือว่ามาต้าเป็นดีลที่เข้าเป้าพอสมควร เพราะการเป็นนักเตะตัวรุกหลักให้กับทีมมา และทำประตู+แอสซิสต์สำคัญๆให้ทีมมาตลอดช่วงเวลา ถือว่านี่คือดีลที่ประสบความสำเร็จและคุ้มค่ามากๆ ทั้งในแง่ผลงานในสนาม รวมถึงการเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพของสโมสร และเราก็อยากจะให้เขาอยู่เป็นแรงงาน(ฮา) เอ้ย เป็นสตาฟฟ์ที่นี่ต่อไปหลังจากแขวนสตั๊ด

Louis van Gaal

Net Spend LVGซีซั่นแรก : 132ล้านปอนด์

มาดูปีแรกของจารย์หลุยส์ ฟาน กัล กันก่อนว่าแกเซ็นใครเข้ามาบ้าง ก็อย่างที่เห็นนั่นคือ ดีลสะท้านโลกันตร์ของ อังเคล ดิมาเรีย ตำนานเบอร์7ที่พอปักชื่อบนหลังเสื้อแล้วโคตรเท่ ก่อนที่แฟนผีหลายคนแทบจะเผาทิ้งกันไม่ทันเนื่องจากปัญหาในช่วงนั้นอย่างที่เราทราบกันดี กับเม็ดเงินลงทุนกว่า67ล้านปอนด์ และการเข้าว่าวที่ซื้อมาแล้วพลาดเป้าอย่างมากเพราะในที่สุดแล้วนักเตะก็งอแงและหาทางย้ายออกในที่สุด ในเรื่องของฟอร์มการเล่นช่วงแรกๆก็เหมือนจะดี แต่เนื่องจากมีปัญหาส่วนตัวที่ครอบครัวโดน บวกกับการไม่เหมาะกับระบบทีม สุดท้ายก็เสียตำแหน่งให้แอชลีย์ ยัง และก็ฟอร์มหลุดไปในที่สุด แต่หลังจากย้ายและสภาพจิตใจดีขึ้นก็พิสูจน์แล้วว่า จริงๆฝีเท้าดิมาเรียไม่ได้ดรอป แต่แค่เขาไม่เหมาะและไม่ได้อยากอยู่กับที่นี่เท่านั้นเอง

ดีลของโรโฮ กับ บลินด์ ถือเป็นดีลที่สอบผ่านและทำหน้าที่ในฐานะSquad Playerให้กับทีมมาได้หลายซีซั่นมากๆ แบบนี้ถือว่าเป็นดีลที่ใช้งานได้จริง แม้อาจจะไม่ได้ถึงกับปังเปรี้ยงแต่ก็ขาดไม่ได้ แต่ดีลที่น่าเสียดายก็คือการยืมตัวมาของพี่เสือ ราดาเมล ฟัลเกา ที่ไม่สามารถแจ้งเกิดการระเบิดตาข่ายกับที่นี่ได้เหมือนกันที่อื่นเนื่องจากสภาพร่างกายไม่พร้อมในเวลานั้น

มีอีกหนึ่งตัวที่ข้อมูลจากfootballcriticตกหล่นไปในปีนี้ นั่นก็คือการซื้อตัว "อังเดร เอเรร่า" มาจากแอธเลติคบิลเบา ในราคาราว25ล้านปอนด์อีกหนึ่งตัว ซึ่งถือว่าเป็นอีกหนึ่งผู้เล่นที่ซื้อมาแล้ว "เข้าเป้า" อย่างมากสำหรับดีลนี้ ดังนั้นในด้านของปริมาณสัดส่วนนักเตะที่ซื้อเข้ามาแล้วประสบความสำเร็จ เทียบกับตัวที่เฟลนั้น สัดส่วนตัวดีจะเยอะกว่า ในการซื้อขายซีซั่นแรกของอาจารย์หลุยส์ ฟาน กัล

แต่ดีลที่เจ๋งที่สุดของหลุยส์ฟานกัล ในด้านของการซื้อตัวเข้ามานั้น คงต้องยกความดีความชอบในยุคนั้นให้กับการดึงตัวเอาแบ็คซ้ายแห่งอนาคตระยะยาวอย่าง ลุค ชอว์ เข้ามาร่วมทีมจากเซาท์แธมพ์ตัน ซึ่งผลลัพธ์ออกมาแล้วว่า การซื้อตัวครั้งนั้นอย่างที่เราคาดหวังเอาไว้ว่าเขาจะเป็นแบ็คซ้ายระยะยาวให้กับทีม ดูเหมือนว่าจะเป็นเช่นนั้นจริงๆแล้ว และมีทีท่าว่าชอว์จะปักหลักอยู่กับทีมยาวจนอายุแตะหลัก30+อย่างแน่นอน

นอกจากนี้ ฟอร์มการเล่นที่แข็งแกร่ง เชื่อถือได้ และรักษามาตรฐานได้นิ่งสุดๆหากว่าไม่มีอาการบาดเจ็บและได้ลงสนามต่อเนื่อง ฟอร์มของชอว์ถือเป็นผู้เล่นที่ฟอร์มดีของทีมแทบจะทุกนัด และเป็นกำลังสำคัญที่แบกริมเส้นจริงๆสำหรับลุค ชอว์ อีหนูฝั่งซ้ายขวัญใจของพวกเรา

ซีซั่นนี้ชักว่าวกันรัวๆ

Net Spend LVG ซีซั่น2 : 48ล้านปอนด์

ขวบปีที่สองของฟานกัลใช้เงินอีกพอสมควรราวๆ140ล้านปอนด์ แต่ก็ได้เงินกลับคืนมา92ล้าน ทำให้Net Spendปีนี้ไม่ถึงกับเดือดมากเท่าไหร่ อยู่ที่48ล้านปอนด์

แต่ก็อย่างที่เห็นกันอย่างชัดเจนว่า เป็นซีซั่นที่ซื้อเข้ามาแบบหว่านแหแล้ว"พลาด" แทบจะหมดเกลี้ยง มีเพียงแต่ดีลของอ็องโตนี่ มาร์กซิยาล ที่ถือว่า"เข้าเป้า" และใช้งานเป็นตัวหลักในแนวรุกของทีมได้จริงๆ ซึ่งก็ช่วยทำประตูให้ทีมมานับตั้งแต่ซีซั่นแรกเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ถือว่าเป็นดีลแห่งอนาคตที่ประสบความสำเร็จสำหรับหมาก

ส่วนนอกจากนั้นคือเข้าว่าวล้วนๆ ตั้งแต่ชไนเดอร์ลินที่แทบจะไม่ได้ลงสนาม / เมมฟิสเองที่เราคาดหวังกันว่าจะเข้ามาเป็นเบอร์7ที่แบกทีมได้ ก็ไม่ปังกับทีมเราทั้งๆที่ก็มีศักยภาพอยู่ในระดับที่โอเค / มัตเตโอ ดาร์เมี่ยน ที่ฟอร์มดีช่วงแรกๆก่อนที่หลังจะนั้นจะแสดงให้เห็นว่าเขาไม่เหมาะกับพรีเมียร์ลีก และรายสุดท้าย ขวัญใจผู้เขียนสุดๆอย่างบาสตี้ บาสเตียน ชไวน์สไตเกอร์ ที่ต้องบอกว่าฝีเท้าระดับเวิร์ลคลาสของบาสตี้นั้นคือเรื่องจริงที่ไม่มีใครปฏิเสธ เพียงแต่ว่าเราเจอกันช้ามากในยามที่ร่างกายบาสตี้ไม่แข็งแกร่งเท่ากับตอนหนุ่มๆ เมื่อมาเจอเกมหนักของพรีเมียร์ลีกยิ่งหนัก ในขณะที่มาถึงยุคมูรินโญ่ก็เจอวิบากกรรมที่ถูกดรอปไปซะอีก

Jose Mourinho

Net Spend : 124ล้านปอนด์

ซีซั่นแรกของน้ามูถือว่าบอร์ดจัดหนักให้มากๆ Net Spendถือว่าใกล้เคียงกับปีแรกของLVGพอสมควรเมื่อหักลบเงินออกเงินเข้า จะเห็นว่า4ตัวที่ดึงเข้ามาในปีนั้นก็ถือว่าดูวูบวาบและปังแทบทุกตัว ซึ่งการตัดสินเรื่องของการประสบความสำเร็จนั้นก็ดูจากผลสำเร็จในเชิงจับต้องได้ของการเป็นแชมป์ยูโรปาลีกสมัยแรกในประวัติศาสตร์สโมสร รวมถึงลีกคัพอีกถ้วยในปีนั้น

ปอล ป็อกบา กับ ซลาตัน อิบราฮิโมวิช ยูนิต"69"ของเรา ที่วันก่อนเจอกันในยูโรปาลีกยังแลกเสื้อกันอย่างชื่นมื่นอยู่เลยนั้น ถือว่าเป็นสองตัวแบกที่เข้ามาแล้วimpactกับทีมแบบเต็มๆอย่างแท้จริงในตำแหน่งมิดฟิลด์และกองหน้าตัวเป้าตามลำดับ ส่วนไบญี่ก็ถือว่าเป็นกองหลังเลือดใหม่ที่มีความสดและสไตล์ส่วนตัวสูง

ในรายของมิคกี้นี่ถือว่าพูดยากและตัดสินใจยากมาก จริงๆแล้วส่วนตัวอยากจะให้ดีลมิคกี้ผ่านเป็น "OK" มากกว่าด้วย เพราะผลงานช่วงปีแรกก็ถือว่าโอเคเลย แต่มิคกี้ปีหลังมีปัญหาและสุดท้ายแล้วก็อยู่กับเราเพียงแค่1ปีครึ่งก่อนจะอยู่ในดีลswapนักเตะกันกับอเล็กซิส ซานเชส

เนื่องจากว่าตัวเปรียบเทียบในซีซั่นนี้มันเห็นชัดมากๆ เพราะ69ก็ปัง ในขณะที่ไบญี่ก็มีดีพอจะลงเล่นเป็นตัวจริงให้ทีมเราได้ แต่มิคกี้ฟอร์มดรอปอย่างชัดเจนเมื่อส่งลงสนามแล้วก็ยังไม่สามารถสร้างอะไรได้ตามที่คาดหวังเท่าไหร่นัก เมื่อต้องย้ายตัวออกไปกลางฤดูกาลเช่นนี้ ก็คงจะต้องถือว่าสุดท้ายแล้วก็เป็นดีลที่แห้วของเราแล้วกัน

ไม่ได้แปลว่ามิคกี้กาก แต่แค่ไม่สามารถลงเล่นเป็นกำลังรบให้กับเราได้เหมือนนักเตะคนอื่นๆที่อยู่ได้นานและลงเรื่อยๆ อย่างเช่นเคสของโรโฮ หรือบลินด์เช่นนั้นที่ได้ใช้งานจริงๆ

Net Spend : 138ล้านปอนด์

การเสริมทีมซีซั่นสองของน้ามู ต้องบอกเลยว่าบันเทิงอย่างหนักในเคสของโรเมลู ลูกากู และ อเล็กซิส ซานเชส เอาจริงๆแล้วสำหรับลูกากูนั้นไม่ได้ถึงกับห่วยแตกมากขนาดนั้นเพราะเขาก็ยิงประตูให้ทีมได้พอสมควร เพียงแต่ว่าสไตล์การเล่นที่ใช้งานเขานั้นมันไม่เหมาะที่จะให้ลูกากูเล่นเป็นตัวเป้าพักในแบบของซลาตันเลย ซึ่งเป็นแทคติกหลักของน้ามูที่ต้องมีตัวเป้าใหญ่ๆเก็บบอลเช่นนี้ เพราะลูกากูมีจุดเด่นเรื่องการเคลื่อนที่ด้วย ดังนั้นภาพของการจับบอลลั่น แย่งโหม่งไม่ได้ จึงมีให้เห็นเรื่อยๆ และทุกวันนี้ก็ค่อนข้างชัดเจนว่าข้อสมมติฐานนี้ถูกต้องในเรื่องระบบ เพราะเขาก็ไปปังมากๆอยู่ที่อินเตอร์มิลานขณะนี้ แต่ถ้าให้วัดช่วงเวลาขณะอยู่ที่เราก็ต้องถือว่า"เข้าว่าว" อยู่ เพราะสุดท้ายก็ต้องขายออกไปเพื่อระดมทุนเข้ามา

เนมันย่า มาติช คือนกฟินิกส์เพลิงฟ้าที่คืนชีพขึ้นมาจากเถ้าถ่านที่ว่า เขาคือดีลระยะสั้นที่ซื้อมาใช้ได้แค่ปีเดียว เพราะหลังจากนั้นดูเหมือนว่ามาติชฟอร์มจะดรอปมากๆจากการที่ลงเล่นต่อเนื่องจนกระทบกับความฟิต แต่ในยุคของโอเล่ช่วงหลังๆเมื่อมีตัวทดแทนและได้รับการพักอย่างพอเหมาะ คลาสของมาติชจึงช่วยทีมได้จนถึงขณะนี้ ถือว่าเป็นดีลที่เข้าเป้ามากพอสมควรอย่างน่าเหลือเชื่อ ทั้งๆที่ทำใจไปแล้วตอนที่ฟอร์มตกๆ

มรดกน้ามูในชุดปัจจุบัน

ส่วนวิคตอร์ ลินเดอเลิฟ นักเตะที่เปิดตัวอย่างอลังการด้วยการหวดว่าว แต่หมอนี่ถ้าให้นับจริงๆ ดีลของลินเดอเลิฟถือว่า "เข้าเป้า" อีกคนนึง เพราะจนถึงตอนนี้ลินเดอเลิฟก็เป็นกองหลังตัวหลักที่ฝีเท้าดีขึ้นเรื่อยๆ คล้ายๆเคสของคริสเตนเซ่นกับรูดิเกอร์ของเชลซีในตอนนี้เช่นกัน

ฟอร์มการเล่นของสองคนนี้เลยผิวน้ำของคำว่าOkขึ้นมาแล้ว และถือว่าเป็นดีลที่ซื้อมาได้เข้าเป้าพอควรเพราะใช้งานได้จริง และฟอร์มก็โอเคทั้งคู่ หรือความคิดเห็นอื่นๆจริงๆแล้ว มาติชลินเดอเลิฟจะใส่สเตตัสให้เป็นดีล "OK" ก็ได้เช่นกัน

Net Spend : 46ล้านปอนด์

เป็นปีที่ล้มเหลวในตลาดนักเตะจริงๆสำหรับแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด พลาดเป้าการได้ตัวดีๆมาหลายคนโดยเฉพาะแมกไกวร์ที่น่าจะได้มาตั้งแต่ปีนี้ และมีตัวที่เข้ามาในทีมหลักเพียงแค่ตัวเดียวคือเฟร็ด ส่วนดาโลต์นั้นมาในฐานะดาวรุ่งเสริมทีมเท่านั้น ซึ่งจนถึงตอนนี้เราไม่สามารถพูดได้ว่าดาโลต์เกิดแล้ว ดังนั้นจึงเป็นเข้าว่าวไปก่อน ส่วนเฟร็ด หลังจากโดนด่าอยู่เยอะ ทุกวันนี้ก็ยังโดนด่าอยู่บ้าง(ฮา) แต่เฟร็ดพิสูจน์ตัวเองแล้วว่าพลังของความใจสู้ ความขยันในแดนกลางของเขานั้น ช่วยทีมได้เยอะมาก และเป็นสิ่งที่ "ฟุตบอลสมัยใหม่" ต้องการเป็นอย่างยิ่ง การมีเฟร็ดถือว่าช่วยทีมได้มหาศาลจริงๆแม้จะยังมีข้อผิดพลาดบ้าง ดังนั้นนี่ถือเป็นดีลที่ "เข้าเป้า" แบบเต็มๆแม้ต้องใช้เวลานิดหน่อยในช่วงแรก

Ole Gunnar Solskjaer

Net Spend : 119ล้านปอนด์

นับแต่ตัวหลักที่เข้ามา4ตัว (ยังไม่ได้รวมค่ายืมอิกาโล่) นี่น่าจะเป็นหน้าต่างซื้อขายที่ดีที่สุดในรอบสิบปีของแมนยูไนเต็ดเลยก็ว่าได้ เพราะ4ดีลหลักที่เข้ามา ถือว่าซื้อมาแล้วใช้งานจริง ดีพอจะเป็นตัวหลัก แถมฟอร์มการเล่นยังดีในระดับที่น่าพึงพอใจมากๆ รวมถึงดีลอนาคตอย่างแดเนียล เจมส์ ที่แม้ช่วงปีแรกจะต้องใช้เวลาปรับตัว และยังไม่ปัง แต่ซีซั่นปัจจุบันนี้เริ่มแสดงให้เห็นแล้วว่า เขาคือดีลที่โอเคมากๆและใช้งานช่วยทีมได้จริงในขณะนี้ และยังมีเวลาปรับปรุงและพัฒนาการเล่นอีกมาก

แมกไกวร์คือนักเตะคนสำคัญที่มาตรฐานการเล่นดีและคงเส้นคงวามากๆ มีจุดอ่อนเล็กน้อยแต่ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ของทีมเลย ในขณะที่วานบิสซาก้าคือนักเตะที่มีศักยภาพจะพัฒนาได้อีกในอนาคต สองคนนี้จึงเป็นดีลที่ถือว่าเข้าเป้าพอสมควร

แต่กับสุดยอดดีลแห่งทศวรรษอย่าง บรูโน่ แฟร์นันด์ส ที่เข้ามาคืนชีพจิตวิญญาณให้กับทีม รวมถึงนำพาชุดนักเตะวัยรุ่นเหล่านี้ให้มีทางเดินที่ชัดเจน รวมถึงสไตล์การเล่นของบรูโน่ที่เน้นความเร็ว เน้นการบุก รวมถึงสปิริตนักสู้ในสนามที่ไม่ยอมแพ้จนนาทีสุดท้ายก็เหมือนจะเกิดมาเพื่อแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดจริงๆ

รูปที่เห็นในตารางนี้ดูเหมือนจะเล็กไปสำหรับความสำคัญของบรูโน่ต่อแมนยูไนเต็ด และแฟนผีอย่างพวกเราด้วยซ้ำ

Net Spend : 42ล้านปอนด์

ฤดูกาลล่าสุดที่เรากำลังล่องเรือฝ่ามรสุมกันอยู่อย่างเมามัน และกำลังไปได้สวยเมื่อพายุลูกสุดท้ายในระยะนี้อยู่ตรงหน้ากับเกมเจอเลสเตอร์ ที่หากว่าฝ่าไปได้ จะมีช่วงเวลาลมสงบให้แมนยูได้พักเรือในอ่าวเงียบๆสัก2อาทิตย์เพื่อฟื้นฟูทีม ก่อนจะกลับมาลุยกับพายุกลุ่มสุดท้ายกันอีกครั้ง ปีนี้หากว่าดูแต่ตัวหลักที่ใช้งานจริงสามคน ยังไม่ได้รวมพวกดีลดาวรุ่ง สามตัวหลักที่เห็นก็คือ เอดินสัน คาวานี่, ดอนนี่ ฟานเดอเบค และ อเล็กซ์ เตลีส

ในส่วนของคาวานี่ถือเป็นดีลที่มาแล้ว "เข้าเป้า" พอสมควร จากมิติในการเป็นกองหน้าตัวเป้าที่ทำประโยชน์ให้กับทีมได้เยอะ คลาสบอลที่ยังอยู่ และความพยายามในการเล่นที่แสดงเป็นตัวอย่างให้น้องๆเห็นผ่านactionในสนาม คาวานี่มีประโยชน์กับนักเตะรุ่นน้องในทีมมากๆ รวมถึงการเล่นของทีมที่มีมิติมากขึ้นด้วย

อเล็กซ์ เตลีส คือดีลที่โอเค ในด้านของฝีเท้าเตลีสถือว่าเข้ามาแล้วใช้งานได้เลย ไม่ต้องปรับตัวเยอะ มาในฐานะอดีตกัปตันปอร์โต้มา ฝีเท้าก็ได้ตามที่คาดจริงๆในด้านของเกมรุกที่ลูกครอสของเขามีประสิทธิภาพสูงเอามากๆ อย่างน้อยที่สุดมาเป็นแบ็คอัพทำให้เซฟชอว์ได้เยอะมากๆแถมเป็นหลักประกันที่ไว้ใจได้ทางฝั่งซ้าย เตลีสถือว่าเป็นดีลที่ยอดเยี่ยมดีลนึงทีเดียว หากชอว์เจ็บเมื่อไหร่เราจะเห็นชัดเมื่อนั้นว่าเขาดีพอจะลงทดแทนให้ได้

แต่ดีลสุดท้ายที่แม้เราจะเชียร์เขาอยู่ และก็รู้ดีถึงศักยภาพฝีเท้าว่าหมอนี่ของจริง ไม่ได้กากอย่างที่ใครหลายคนคิด ดอนนี่ ฟานเดอเบค ในแง่ของการวัดประสิทธิภาพในการเล่นกับทีมเรา ต้องยอมรับว่าบทบาทเขาน้อยมากๆเพราะเป็นสำรองส่วนใหญ่ และการลงมาก็ยังไม่สามารถสร้างimpactอะไรให้ทีมได้เลยในแง่ต่างๆ ซึ่งต่างกับคาวานี่อย่างมากที่เรา"เห็นชัด"ว่าคาวานี่มีประโยชน์ทางด้านไหน

คงต้องพูดอีกครั้งว่าสไตล์การเล่นของดอนนี่นั้น จำเป็นที่จะต้องลงในแผนการเล่นที่เหมาะสมกว่านี้ และเขาน่าจะเหมาะกับแผน4-3-3 ที่ทำเกมร่วมกับบรูโน่พอสมควรในบทบาท 8s เพียงแต่ว่าทีมเราไม่มีกลางรับที่ยืนคุมเกมคนเดียวด้านหลังได้ ฟานเดอเบคจึงเกิดยากในตอนนี้ แถมแผน4-2-3-1โอเล่ก็หาที่ลงให้เขาไม่ได้อีก บางทีลงไปแทนตำแหน่งบรูโน่เลยก็เกิดปัญหา เพราะสไตล์การเล่นเขาไม่ควรจะแทนตำแหน่งกันโดยตรงเช่นนั้นเนื่องจากว่าเจ้าตัวไม่ใช่playmakerสายทำเกมรุกด้วยตัวเอง แต่จะเล่นเป็นตัวสอดเข้ากรอบจากตำแหน่งมิดฟิลด์มากกว่าในroleของการเป็นShadow Striker ไม่ใช่Advance Playmakerแบบบรูโน่

จริงๆแล้วหากปรับการเล่นให้ฟานเดอเบคมีบทบาทแดนกลางมากกว่านี้ เขาน่าจะเล่นตำแหน่ง Attacking Midfielder ที่เน้นใช้มิติความเป็นมิดฟิลด์หลักๆ และยืนสองจุดระหว่าง กลางสนาม กับ กลางรุก สลับกันได้ แต่ไม่ใช่Box to Boxลงต่ำเหมือนแม็คโทมิเนย์ (คือตำแหน่งเฉลี่ยๆจะสูงกว่าB2Bของแม็คหน่อย) หรือให้เทียบง่ายๆคือ เล่นแบบป็อกบาก็ได้ คือยืนกลางได้ เล่นตัวสูงได้ เป็นต้น

ปัญหาจึงอยู่ที่การใช้งานและแทคติก ซึ่งไม่ใช่ความผิดโดยตรงของเจ้าตัว แต่เจ้าตัวเองก็ต้องโน้มเอียงและปรับการเล่นให้เข้ากับทีมด้วยเพราะจะมาฝากบอลให้เพื่อนอย่างเดียวบางทีมันก็ไม่ได้ ดังนั้นเราจึงต้องลุ้นน้องกันต่อไป ยังไงศักยภาพมีเต็มเปี่ยมแน่นอนเพราะเบสิคฟุตบอลมาจากประเทศที่เล่นบอลกันดีอยู่แล้ว เหลือแค่การปรับตัวและภาคใช้งานจริงเท่านั้น

จนถึงตอนนี้ต้องยอมรับสภาพกันไปก่อนว่าซีซั่นนี้ยังเกิดไม่ได้ และให้เป็น "เข้าว่าว" กันไปก่อน แต่เราหวังว่าน้องจะเป็นแบบเฟร็ด และสามารถแจ้งเกิดได้หากว่าเจอระบบดีๆและปรับตัวได้แล้ว

เมื่อสรุปรวมของทุกฤดูกาลเรียงกันมาแล้วนั้น ในเรื่องของNet Spendที่ดูการซื้อขายเฉพาะนักเตะตัวหลักๆนั้น คร่าวๆก็จะประมาณนี้ซึ่งพอจะทำให้เห็นปริมาณของเม็ดเงินหลักๆได้ว่าแต่ละซีซั่นของสี่ยุคผู้จัดการทีม ใช้มากใช้น้อยยังไง และตัวนักเตะเข้าเป้าหรือเข้าว่าว มากน้อยขนาดไหน หากสรุปแบบคร่าวๆ Net Spend ของผู้จัดการแต่ละคนจะเป็นดังนี้

เดวิด มอยส์ : 68 ล้านปอนด์

หลุยส์ ฟาน กัล : 180.86 ล้านปอนด์

โจเซ่ มูรินโญ่ : 308.51 ล้านปอนด์

โอเล่ กุนนาร์ โซลชา : 161 ล้านปอนด์

*ตัวเลขจากข้อมูลหลายๆแหล่งมีความคลาดเคลื่อนกันเล็กน้อย แต่เน้นให้เห็นปริมาณของNet Spendแบบคร่าวๆเพื่อเปรียบเทียบเงินก้อนที่ใช้ไปเน็ตๆของแต่ละคน

วัดจำนวนเม็ดเงินสุทธิโดยประมาณแล้วจะเห็นว่า มอยส์ได้ใช้งบน้อยสุด ส่วนโอเล่กับจารย์หลุยส์ตอนนี้ใกล้เคียงกันในในพีเรียดสองซีซั่น ส่วนน้ามูใช้เงินสามซีซั่นรวมกันแล้วเยอะสุดในระดับที่เบิ้ลไปเกือบสองเท่า แต่ถ้าดูเรื่องของการซื้อนักเตะมาแล้ว "เข้าเป้า" ในสัดส่วนที่ดูดีที่สุดนั้น แน่นอนว่า ยุคของโซลชาซื้อนักเตะเข้ามาแล้วใช้งานได้จริงแทบทุกตัว ขาดไปเพียงแค่VDBตัวเดียวเท่านั้นเองที่ยังไม่เกิด(ฮือ)

นักเตะจากยุคเก่า"ซื้อ"เข้ามาที่ยังคงอยู่ในชุดปัจจุบันของโอเล่ แยกตามยุคๆ และ+กับตัวเด็กปั้นคนสำคัญที่เกิดจากยุคนั้นๆ ไล่เรียงกันมานั้น นักเตะที่เป็นมรดกจากผู้จัดการทีมเก่าต่างๆมีดังนี้

Jose: Paul Pogba, Eric Bailly, Victor Lindelof, Nemanja Matic, Fred, Dalot + Scott McTominay (Tuanzebe)

Van Gaal: Anthony Martial, Luke Shaw,(Sergio Romero) + Marcus Rashford (Lingard & Pereira)

Moyes: Juan Mata

(แถม) SAF : David De Gea, Phil Jones

มรดกป๋าสองคนสุดท้าย

คนที่ซื้อมาแล้วปังลำดับถัดมาคือ มูรินโญ่ ที่ชุดปัจจุบันนี้ก็มีมรดกมาจากยุคเขาหลายตััวที่เป็นตัวหลักมาจนปัจจุบันนี้ ซึ่งรวมถึงการปลุกปั้นแม็คโทมิเนย์มาด้วย นั่นแปลว่าคู่กลางของเราตอนนี้สองคน (แม็คเฟร็ด) คือผลผลิตเริ่มต้นจากมูทั้งคู่ และพัฒนาดีขึ้นด้วยฝีมือของโซลชา

ยุคอาจารย์หลุยส์ คือยุคที่เสียเงินฟรีๆเยอะที่สุด แม้เม็ดเงินสุทธิจะพอๆกับโอเล่ แต่ตัวที่ซื้อมาแล้ว "เข้าว่าว" เยอะมากจนน่ากลัว มีเพียงแค่ลุค ชอว์ กับ มาร์กซิยาล เท่านั้นที่ยืนระยะในการเป็นตัวหลักวัยรุ่นของเราลากยาวมาจนถึงตอนนี้ที่อายุเข้าช่วงที่กำลังดี

แต่อย่าลืมว่า การแจ้งเกิดตัวหลักอีกคนอย่าง มาร์คัส แรชฟอร์ด ก็เป็นอีกเรื่องนึงที่ไม่ได้รวมอยู่ในบริบทของบทความนี้เพราะว่าไม่ใช่ตัวที่ซื้อมา ดังนั้นถ้าจะให้วัดจริงๆก็ถือว่า แม้จะซื้อขายล่มจม แต่มรดกของจารย์หลุยส์ที่สำคัญๆก็อยู่ในทีมชุดนี้ถึง3คนเต็มๆ ทั้งหมากแรชชอว์ ดังนั้นก็ต้องให้เครดิตแกในส่วนนี้ด้วย แม้จะบอกว่าดันแรชมาเพราะสถานการณ์บังคับด้วยส่วนนึง แต่ก็เพราะการให้โอกาสและการกล้าเชื่อใจเด็กน้อยโนเนมขึ้นมานี่แหละ ทำให้เราได้กองหน้าเด็กปั้นที่ภูมิใจคนนี้อยู่ในทีม กับฐานะตัวแบกในแดนหน้าเช่นนี้ของแรชฟอร์ด

เดวิด มอยส์ เป็นยุคแรกสุดที่มารับไม้ต่อจากป๋า และก็อย่างที่เห็น ได้มาแค่สองตัว แต่ถือเป็นสองตัวที่ไม่เฟลเลยสำหรับการซื้อมาช่วยทีมได้แบบยาวๆ

นอกจากนี้หากดู Net Spend แบบละเอียดเฉพาะในยุคของโซลชา มีคนทำInfographicออกมาให้เห็นดังนี้ ซึ่งรวมแล้วสองซีซั่น โอเล่ใช้จ่ายสุทธิไปทั้งหมดรวมแล้ว 189.63 ตามตารางนี้ ซึ่งเพิ่มเติมรายละเอียดแตกต่างกันข้อมูลด้านบนของfootballcriticนิดหน่อย ที่นำตัวเลขมาคิดไม่เหมือนกันบ้างอย่างในค่าตัวของVDBกับTelles รวมถึงพวกดาวรุ่งอย่าง Facundo กับ Amad ด้วย

ข้อมูลNet Spendสองซีซั่นแบบละเอียดมีดังตารางนี้

ข้อมูลตัวเลขคลาดเคลื่อนกันนิดหน่อยในวิธีคิดแต่ก็ไม่ได้ถึงกับหลุดความเป็นจริงมากนัก อันนี้ไม่ต้องซีเรียส แต่แค่แสดงให้เห็นว่าการซื้อ-ขายนักเตะของยุคโอเล่ กุนนาร์ โซลชา และเมื่อเปรียบเทียบกับยุคอื่นๆของสามผู้จัดการทีมก่อนหน้านี้นั้น มีความแตกต่างกันยังไงบ้าง

ทั้งในด้านปริมาณเม็ดเงินสุทธิที่ใช้มากน้อยต่างกันในผู้จัดการแต่ละคน

และปริมาณนักเตะที่ซื้อมาแล้วมัน "เข้าเป้า" แทบจะทั้งหมด ส่วนในบางปีก็มีนักเตะที่ "เข้าว่าว" เยอะจนน่ากลัว

ทั้งหมดนี้นำมาเป็นข้อมูลให้แฟนผีให้เห็นภาพรวมคร่าวๆ ซึ่งหลังจากที่ทีมแต่งตั้งJohn Murtough ขึ้นเป็น Football Director และการได้ดาร์เรน "ปรินซ์ออฟสก็อตต์" เฟล็ทเชอร์ ขึ้นเป็นTechnical Directorที่จะเข้าไปดูแลการซื้อขายร่วมกับแม็ตต์ จัดจ์อีกคน แม้ว่างบประมาณเสริมทีมในปีนี้จะโดนผลกระทบของโควิด19 ที่ทำให้รายได้หด แต่เราเชื่อว่า แม้เม็ดเงินจะจำกัด เราน่าจะได้นักเตะที่ "เข้าเป้า" มาแบบเน้นๆเหมือนสองซีซั่นที่ผ่านมาอย่างแน่นอน

แล้วเมื่อนำนักเตะใหม่ๆมารวมกับตัวเดิมที่ทีมเราวาง "รากฐาน" เอาไว้อย่างแข็งแกร่งมากๆตั้งแต่เริ่มต้นยุคโอเล่มาที่มี "ทิศทางการพัฒนาทีมที่แน่นอน" อย่างเห็นได้ชัดกว่ายุคของมอยส์ มู และ ฟานกัลแบบชัดเจนมากๆที่เป็นแค่การคุมทีมเพื่อความสำเร็จเฉพาะหน้า(เพื่อต่อยอดจากยุคเฟอร์กี้) จากการสำรวจของ The CIES Football Observatory ทีมที่มีการบริหารจัดการที่ยั่งยืนมากที่สุดท็อปแรงค์10อันดับ แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดของเรามาเป็นอันดับ1เลย ด้วยการพิจารณาจากหลายๆปัจจัย ซึ่งหลักๆน่าจะเป็นเรื่อง "ทิศทางของนโยบาย" ของทีมเราที่ชัดเจนมากๆว่า จะใช้เด็กจากอะคาเดมี่ที่ผลิตเองขึ้นมา รวมกับการซื้อนักเตะที่ "อายุน้อย" และเข้ากับทีมได้ รวมถึงตัวจั๋งๆที่เข้ามาเป็นหลักให้ทีม ผสมผสานกับนักเตะวัยรุ่น บนรากฐานการบริหารที่มีวัฒนธรรมสโมสรอันชัดเจนเป็นปึกแผ่น เราจึงได้รับการมองว่าการทำทีมในช่วงนี้ยั่งยืนมากที่สุดแล้วในบรรดาลีกต่างๆในยุโรป

การเสริมทีมในยุคโอเล่ ถือเป็นอีกจุดแข็งของผู้จัดการรายนี้มากๆ และเราเชื่อมือน้ามากๆว่าจะพาทีมไปสู่อนาคตที่สดใสในฐานะ"ทีมแห่งความหวังของแฟนผี" ได้อย่างแท้จริง

-ศาลาผี-

เยส! บทความนี้กูไม่โดนแซะตอนท้ายแล้วโว้ยยยยย

References

https://www.footballcritic.com/news/hit-or-missc-man-utds-transfer-record-since-2013-with-a-net-spend-of-over-700m/1208

https://www.transfermarkt.com/

https://i.redd.it/jld8xsc393o61.png

https://www.thesun.co.uk/sport/football/14369385/man-utd-sustainable-champions-league-prem/

https://talksport.com/football/234226/manchester-united-fc-news-comparing-how-david-moyes-louis-van-gaal-and-jose-mourinho-have/

ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ระดับ : {{val.member.level}}
{{val.member.post|number}}
ระดับ : {{v.member.level}}
{{v.member.post|number}}
ระดับ :
ดูความเห็นย่อย ({{val.reply}})

ข่าวใหม่วันนี้

ดูทั้งหมด