:::     :::

Tactical Analysis : ยกระดับ"เพรสซิ่ง" ผีจะยิ่งบินสูง

วันอังคารที่ 23 มีนาคม 2564 คอลัมน์ #BELIEVE โดย ศาลาผี
3,259
ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ในฟุตบอลยุคสมัยใหม่ ทีมระดับท็อปคลาสในยุคนี้มักจะมีการเล่นเพรสซิ่งคุณภาพสูงแทบจะทุกทีม หากแมนยูพัฒนาจุดนี้ได้ ทีมจะยกระดับไปอีกมหาศาล และนี่คือข้อมูลบทวิเคราะห์ทั้งหมดที่จะทำให้แฟนผีเห็นว่า เราควรมีการยกระดับการเล่นเพรสซิ่งเพิ่มเติมเข้าไปอีกมิติหนึ่งของการพัฒนาทีมด้วยด้วย

นี่คือประเด็นของแทคติคการเล่นที่ดูเหมือนว่าแฟนแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดจะรู้กันดีว่าทีมเราไม่ค่อยเน้นเท่าไหร่ นั่นก็คือเรื่องของการเล่น "เพรสซิ่ง" ของทีมเรานั่นเอง ซึ่งหากพูดจากการดูเกมภาพรวมและพิจารณาแทคติกแมนยูไนเต็ดทุกๆนัดไม่เคยขาดของผู้เขียนนั้น สิ่งที่เห็นก็คือ แมนยูไนเต็ดเราในยุคนี้ "มีการเล่นเพรสซิ่ง" เป็นอีกหนึ่งฟังก์ชั่นการใช้งานที่เป็น tools หนึ่งของการเล่นทีมเรา

ซึ่งหากเมื่อใดก็ตามที่เราสั่งแผนให้มีการเพรสซิ่งคู่ต่อสู้ แมนยูยุคนี้ถือว่าพัฒนาขึ้นมากว่าก่อนนี้มากที่พวกเราไม่เคยมีการเพรสซิ่งที่เป็นระบบเลยแม้แต่นิดเดียว เพราะไม่ใช่วิธีการถนัดของนักเตะหลายๆคนที่อยู่โยงในทีมเรามานานหลายปีตั้งแต่สมัยของมอยส์ ฟานกัล ก็ไม่เคยมีมาก่อน และยิ่งยุคของมูรินโญ่ ก็ลืมมันไปได้เลย

ยกตัวอย่างเรื่องวิธีเล่นอย่างเดียวนะ น้ามูยังเป็นขวัญใจของผู้เขียนเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง

ดังนั้นถ้าใครจะไม่สังเกต นับตั้งแต่การเข้ามาคุมทีมของโอเล่ กุนนาร์ โซลชา ทีมเริ่มมีการใช้ "เพรสซิ่ง" แบบเป็นสัดเป็นส่วนอย่างเห็นได้ชัดมากๆ จากสมัยก่อนที่แทบจะไม่มี หรือถ้ามีก็คือวิ่งไล่บอลใส่กองหลังคู่ต่อสู้แบบ "สะเปะสะปะ" มากๆ ซึ่งเราก็ยอมรับความจริง ทั้งในด้านความเข้มข้นของการวิ่งที่ก็ไม่ได้หนักหน่วงอะไรขนาดนั้น แถมวิธีการเล่นของตำแหน่งอื่นๆที่ไม่ได้เพรสซิ่งนั้น ก็ไม่มีตำแหน่งไหนมารองรับการ "ไล่บอล" ของนักเตะเราเลย

เหมือนต่างคนต่างไล่ ตัววิ่งไล่บอล ตัววิ่งเพรส ก็วิ่งไป ส่วนคนอื่นก็ไม่ได้ร่วมวิ่งบีบด้วยเป็นทีม ในขณะที่แดนหลัง หรือตำแหน่งอื่นๆก็ไม่ได้พร้อมตามเพรสเข้าไปเพื่อรอรับบอลในช็อตต่อไป หากว่าเพรสสำเร็จ หรือเพื่อจะช่วยบีบเข้าไปในพื้นที่แคบให้คู่ต่อสู้จนมุม

หรือสรุปง่ายๆภาษาชาวบ้านว่า แมนยูยุคก่อนไม่มีระบบเพรสซิ่งจริงๆจังๆเลยนั่นเอง

แทคติกยุคน้ามู ชัดเจนนะครับว่าแบ็คสองข้าง drop backต่ำยืนระนาบเดียวกับdefensive lineสุดท้ายร่วมกับCB

ข้อแตกต่างตรงนี้เอาจริงๆแฟนแมนยูสามารถมองเห็นสิ่งนี้กันได้ด้วย "ตาเนื้อ" เหมือนที่จารย์อิ๋มเห็นผียังไงยังงั้น(ฮา) เราเชียร์บอลกันอยู่ทุกนัดย่อมต้องเห็นอยู่แล้ว แต่สิ่งที่จะมาช่วยยืนยันตรงนี้ได้เล็กน้อยว่ามันมีการเปลี่ยนแปลง ก็คือตัวเลขสถิติที่จะนำมาประกอบความเข้าใจให้เห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น

ข้อแตกต่างของการเปลี่ยนแปลงให้ทีมเรามีระบบเพรสซิ่งนั้น เกิดขึ้นระหว่างรอยต่อที่ชัดเจนของยุคน้ามู กับ ยุคโซลชา อย่างที่เราทราบๆกันว่า ก่อนหน้านี้มอยส์กับฟานกัลก็ไม่มีอะไรอย่างนี้อยู่แล้ว ยิ่งมายุคมูรินโญ่ยิ่งชัดเจนใหญ่ เมื่อแผนของน้ามูเน้นที่จะดึงแนวรับของทั้งทีมลงไปเล่นรับลึกในแดนต่ำหน้าประตูอยู่แล้วตามปกติ พวกเราก็ทราบสไตล์น้าแกกันดี

แต่ทันทีที่โอเล่เข้ามา หากใครจำกันได้ นักเตะเราวิ่งกันเป็นม้าเลยในนัดแรกๆ ซึ่งแน่นอนว่ามันคือความสุขที่เกิดขึ้นจากการเป็นบอลเปลี่ยนโค้ช ได้ผู้จัดการใหม่ที่ถูกใจเข้ามา นักเตะก็ดูจะสดชื่นเป็นพิเศษ

แต่ในความสดชื่นของบอลเปลี่ยนโค้ชที่ว่านั่น จริงๆแล้วก็ "It's all about tactics" อีกแล้ว

ภานพนี้จากFootballwhispers.com แสดงให้เห็นถึงการปรับปรุงในเรื่องเกมเพรสซิ่งของแมนยูไนเต็ด จากยุคมูรินโญ่ทางซ้าย เทียบกับยุคโซลชาทางขวา ในช่วงรอยต่อของการเปลี่ยนมือผู้จัดการทีมตอนซีซั่น 2018/19 ตัวเลขที่เปลี่ยนแปลงเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นเช่น การชิงบอลในพื้นที่สุดท้ายแดนคู่ต่อสู้ได้มากกว่าเดิม จาก2.76 เป็น 4.25 ต่อเกม

ในขณะที่โอกาสของคู่แข่งในการได้จ่ายบอล ต่อการครองบอลของพวกเขานั้น คู่แข่งได้จ่ายบอลน้อยลงมาก จากเดิมครองบอลทีนึงจ่ายบอลเฉลี่ยๆ 3.7ครั้งในยุคน้ามูที่มีเวลาเยอะมาก พอมาเป็นยุคโอเล่ตัวเลขลดลงอย่างชัดเจนเหลือแค่ 2.83 เท่านั้นเอง ซึ่งก็คือคู่แข่งมีโอกาสในการจ่ายบอลน้อยลงเนื่องจากการเพรสซิ่งใส่

ช่วงเวลาครองบอลก็ลดลงตามจำนวนลูกจ่ายไปด้วย จากยุคมูเฉลี่ย 10.32 ลดลงเหลือ 7.16นาที รวมถึงระยะห่างเฉลี่ยที่คู่แข่งจ่ายบอลไปมานั้น จากเดิมรวมแล้ว 69.93เมตร ลดเหลือเพียง 49.38เมตร เท่านั้นเอง และสุดท้าย ระยะห่างเฉลี่ยจากปากประตูของตัวเองในการได้ครองบอล จากเดิมคู่แข่งในยุคมูได้ครองบอลออกหากจากประตูตัวเองมาถึง62.24เมตร ยุคโอเล่ลดลงเหลือ 59.38เมตร ซึ่งก็คือคู่แข่งครองบอลออกมาได้ระยะที่สั้นลงนั่นเอง

จะเห็นว่านี่คือความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเจนในแง่ของสถิติเบื้องต้นที่เป็นรอยต่อระหว่าง โซลชา กับ มูรินโญ่ เพราะฉะนั้นมันไม่ใช่แค่เพราะบอลเปลี่ยนโค้ชอย่างเดียว ซึ่งการฮึกเหิมของบอลเปลี่ยนโค้ชบางทีตัวเลขมันอาจจะไปอยู่ที่ค่าสแตทอื่นๆอย่างเช่น จำนวนการได้ยิง จำนวนการได้ประตูก็ได้ แต่นี่คือสถิติในเชิงเพรสซิ่งล้วนๆ (เพราะเป็นactionจากฝั่งคู่แข่งที่ทำได้น้อยลง ไม่ใช่จากฝั่งเรา)

เพราะฉะนั้น "ไม่ต้องมโน" นี่คือสถิติที่เป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง

เบื้องต้นนี่คือการยกตัวอย่างถึงความเปลี่ยนแปลงในการ "เข้ามา" ของเพรสซิ่ง สู่ระบบการเล่นของแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด ตามบอลสมัยใหม่จริงๆ อย่างที่แฟนผีที่เข้าใจเรื่องนี้กันดีอยู่แล้ว ก็รู้ๆอยู่ว่าเรื่องแทคติก และความเป็นบอลสมัยใหม่ โอเล่ถือเป็นผู้จัดการทีมยุคใหม่แบบจ๋าๆคนนึงเลย ในขณะที่เขาก็สืบทอดความโอลด์สคูลบางส่วนมาจากบรมครูนักบริหารในตำนานอย่างเซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสันด้วย

แต่

สิ่งที่ยกขึ้นมานี้ เพียงแค่จะบอกว่า เราได้ติดตั้งระบบเพรสซิ่งเข้ามาในทรงการเล่นแล้ว แต่เกมเพรสซิ่งสำหรับแมนยูไนเต็ดตอนนี้ถือว่าอยู่ในระดับที่ "พอใช้งานได้" ในระดับกลางๆเท่านั้น

หากว่าวันไหนโอเล่ต้องการแทตติกที่ว่านี้ เขาก็สามารถสั่งเด็กๆในทีมลงไปเล่นงานคู่แข่งได้ และผลการแข่งขันที่ดีในการเจอทีมระดับบิ๊กๆ หลายๆครั้งก็เกิดจากการเพรสซิ่งใส่คู่ต่อสู้นี่แหละ

เพียงแต่ว่า ความถี่และความเข้มข้นในการใช้งานเกมเพรสซิ่งของเรานั้น ถือว่ายังไม่ใช่ "อาวุธหลัก" ของทีมในตอนนี้ เพราะหลักๆเราจะมีชุดคิดอื่นเป็นแกนอยู่ ในยุคโอเล่ นั่นก็คือ

-ถ้าเจอคู่ต่อสู้อ่อนชั้นกว่า ทีมจะเน้นครองบอลบุกหาช่องเจาะ

-ถ้าเจอคู่แข่งที่เล่นกันเร็ว บุกดี และครองบอลเหนือกว่า ทีมจะแพ็คเกมรับให้แน่น แล้วรออาวุธโต้กลับด้วยความเร็ว

จะเห็นว่าหลักๆสองอย่างนี้ ยังไม่มีตรงไหนที่เป็นเพรสซิ่งแบบเด่นชัด แต่เพรสซิ่งจะ"รวม"อยู่ในวิธีคิดหลัง ในการแพ็คเกมรับให้แน่นของทีม ตรงนี้แหละที่เพรสซิ่งของแมนยูจะถูกงัดมาใช้งานในบางโอกาส หากว่าโอเล่ไม่ต้องการให้คู่แข่งเล่นงานเราได้ง่ายๆ และต้องการจะกดคู่แข่งให้ออกห่างจากหน้าประตูของเราเอง การเพรสซิ่งเพื่อทำลายการเล่นของคู่ต่อสู้ก็จะถูกงัดจากก้นหีบมาใช้ในที่สุด

เราจึงได้บอกว่า มันคืออุปกรณ์หนึ่งในการใช้งานของแมนยูไนเต็ดยุคโอเล่ แต่ยังไม่ใช่ตัวหลักที่โฟกัสจริงจังสุดๆขนาดนั้น

รูปแบบพื้นฐานของPressing Tactics จากแมนยูไนเต็ด

สำหรับคนที่สังเกตทีมเราในสนามคงพอจะนึกภาพออก นี่เป็นเบสิคที่ทีมเราใช้งานเวลาที่จะเล่นเพรสซิ่งลักษณะแบบ High Pressing สายโซนเพรส กดโซนใส่คู่ต่อสู้ ขอยกตัวอย่างในเกมเจอกับเชลซีมาให้เห็นตามตัวอย่างนี้

พื้นฐานหลักๆ เด็กเราจะมีคู่ต่อสู้เป้าหมายหลัก ตำแหน่งต่อตำแหน่ง อย่างเช่น แบ็คเราเพรสปีกเขา หรือ ปีกเราเพรสแบ็คเขา กองหน้าตัวเป้าเพรสใส่คู่CB, กลางรุกเราเพรสใส่กลางต่ำเขา, คู่double pivotแดนกลางของเรา เพรสใส่ตัวรุกหน้าแผงหลังเขา, รวมถึงเซ็นเตอร์แบ็คเราก็จะออกจากตำแหน่ง ตามมาเพรสเร็วติดตัวใส่ "หน้าเป้า"คู่แข่งอีกด้วย

หลักๆเบื้องต้นนักเตะแต่ละคนจะมีเป้าหมายหลักๆตรงตามตำแหน่งอยู่แล้ว เนื่องจากpositionการเล่นจะตรงกับตำแหน่งตัวเอง

ดังนั้นการมีการroamingออกจากตำแหน่งของคู่ต่อสู้ ที่เห็นส่วนใหญ่ก็คือจะ "ตาม" ตัวจับของตนเองไป แล้วให้เพื่อนคนอื่นมายืนทดแทนตำแหน่งตัวเอง ในลักษณะของman to man pressingต่อเนื่อง หากว่ามีการขยับออกจากตำแหน่งของคู่ต่อสู้ ทีมเราจะเพรสจับตัว-ตัวแบบนี้ มากกว่าจะเน้นยืนโซนแล้วค่อยเพรส ไม่งั้นจะไม่มีการตามตัววิ่งให้เห็น ถ้าหากเจอบอลที่คู่ต่อสู้เล่นpass & moveกันจะค่อนข้างลำบากถ้าหากว่าเน้นเพรสซิ่งแบบรักษาโซนเฉพาะตัวที่เข้ามาในโซน

จากรูปนี้ด้านบนก็อธิบายชัดเจนอยู่แล้ว นี่คือbaseของการเพรสซิ่งพื้นฐาน นักเตะจะจับกันตามตำแหน่งอย่างที่เห็น ดูภาพแล้วอยากให้ผู้อ่านคิดตามเอง ไม่ต้องอธิบายเป็นตัวหนังสือให้ยาวรกเกินไป

วิธีการที่ยูไนเต็ดเล่นเพรสซิ่งนั้น คีย์หลักคือการบีบการครองบอลให้ไปหา "พื้นที่ที่เราต้องการจะตัดบอลให้ตัวรุกที่มีความเร็ว" ในการเล่นtransition playเปลี่ยนจังหวะเข้าทำเร็วฉับพลันใส่คู่ต่อสู้

ลองคิดดูว่า ใครคือตัวรุกที่มีความเร็วที่เราอยากตัดบอลไปให้? แน่นอนครับ ปีกทั้งสองข้างนั่นเอง ไม่ว่าจะแรชฟอร์ด กรีนวู้ดยามเล่นหน้าขวา หรือ เจมส์ก็ตาม

เพราะฉะนั้น วิธีคิดหลักๆของเราคือ การบีบให้คู่แข่งออกด้านข้าง จากนั้นยูไนเต็ดจะ"โจมตีหนักหน่วงด้วยเพรสซิ่ง" ในจังหวะเอาเป็นเอาตายที่จะเสี่ยงเข้าไปแทคเกิล50/50 เพื่อที่จะสร้างโอกาสชิงบอลมาในพื้นที่นี้ทันที

เพราะฉะนั้น หลังจากนี้ให้สังเกตดีๆในเกมต่อๆไปที่เหลือในซีซั่นว่า แมนยูไนเต็ดจะไม่เข้าเสี่ยงเวลาเพรส"ตรงกลาง" แต่หากว่าบอลออกข้างเมื่อไหร่ เราจะเข้าหนักติดตัวคู่แข่งเพื่อสร้างโอกาสแย่งบอลขึ้นมาทันที โดยใช้นักเตะ2-3คนในเพลย์การแย่งบอล

นั่นก็คือ ปีก1 + แบ็ค1ที่ดันสูงตามขึ้นมา และ "กลาง"ที่จะถ่างออกข้างมาช่วยอีก1

ผมเชื่อว่าทุกคนนึกภาพไม่ออก ถ้านึกไม่ออกให้นึกย้อนไปเกมที่เล่นจัดการตัวรุกของปารีส ด้วยการเล่นทีมเวิร์คไล่เตะตูดNeymarโดยคอมโบฝีตีนของ Wan-Bissaka + McTominay

หลังจากที่ตรงกลางของคู่แข่งถูกหน้าเป้า หรือ กลางรุกของเราบีบให้จ่ายออกข้าง เพื่อไปหวังผลการตัดบอลให้นักเตะตัวรุกเร็วอย่างปีกสองข้างได้เล่นเร็วในทันทีตอนชิงบอลมาได้ ตัวอย่างการบีบออกข้างไปชิงบอลนั้นขอยกตัวอย่างเกมเจอเชลซีอีกครั้งตามภาพด้านล่างนี้ กรีนวู้ดเป็นตัวหลักในการเล่นกองหลัง

จากนั้นเมื่อบอลถูกถ่ายออกฝั่งใดฝั่งหนึ่ง mechanicของการเพรสซิ่งเราคือ "บอลไปด้านไหน ปีกกับแบ็คด้านนั้นจะขยับเข้าเพรสซิ่งใส่ตัวริมเส้นของตัวเองทันที" ดังภาพข้างล่างนี้ที่บอลจากคริสเตนเซ่นจะถูกถ่างออกมาให้เดฟนั้น แรชฟอร์ดจะวิ่งเข้าโจมตีใส่กัปตันรายนี้ทันที ในขณะที่เพื่อนตัวริมเส้นด้านหลังอย่าง ชอว์ จะต้องเพรสซิ่งพร้อมกันด้วยการตามมาชิดตัวปีกเชลซีเกมนั้นอย่างฮัดสัน โอดอย ตามภาพนี้เลย เพื่อที่จะปิดพื้นที่ตัวเหล่านี้ให้เล่นไม่ได้ เพื่อที่จะแย่งบอลมาครอง

ในขณะที่ทางจ่ายบอลอื่นๆ ตัวกลางอย่างบรูโน่ แฟร์นันด์ส จะต้องวิ่งคุมทั้งคนรับบอลต่ออย่าง ก็องเต้ ที่เป็นกลางต่ำ และรวมถึงถ้าเป็นไปได้ก็จะคัฟเวอร์พื้นที่ลามไปถึงCB และกองกลางเชลซีที่ถอนต่ำลงมาช่วยอย่างโควาด้วย ซึ่งอีกฟากนึงของเกมเพรสซิ่ง ในด้านที่บอลไม่ได้ถูกถ่ายไปนั้นจะเห็นว่า ปีกมนุษย์ดัดแปลงพลังงานอนันต์อย่าง แดเนียล เจมส์ จะรับหน้าที่วิ่งตามมาบีบตัวมารับบอลอย่าง โควา รวมถึงคุมตำแหน่งของกองหลังฟอร์มเยี่ยมที่สุดในชั่วโมงนี้อย่างรูดิเกอร์ด้วย ส่วนด้านไกลหากว่าบอลถูกแกะแล้วสวิตช์ข้ามฝั่งไปให้เบน ชิลเวลล์ได้ ตัวนั้นถึงจะเป็นหน้าที่ของ วานบิสซาก้า ที่จะบีบขึ้นสูงตามกลไกพื้นฐานของเกมป้องกันต่อไป

ภาพนี้จะแสดงให้เห็นว่า เมื่อบอลถูกถ่ายไปข้างไหนแล้วนั้น ตัวริมเส้นเรา กับ ตัวกลาง จะเข้าปิดทางรับจ่ายบอล และทำการเข้าเพรสซิ่งติดตัวเพื่อจะ"แย่งบอล"มาทันที

นี่คือกลไกพื้นฐานของเรา ตามภาพด้านล่างนี้ที่ยกมาเป็นตัวอย่าง

นอกจากวิธีการวิ่งแล้ว สังเกตการยืนดีๆจะเห็นว่าทีมเราเวลาเล่นแบบนี้ก็จะดันพื้นที่ขึ้นมาเป็นHigh Pressingในแดนของคู่ต่อสู้ด้วย ซึ่งเป็นหลักทั่วไปของบอลสมัยใหม่ที่เป็นการ Pressing from the front เช่นนี้ที่หลายๆทีมก็ทำกันอย่างเช่นลิเวอร์พูล เป็นต้น อีกทีมที่เล่นแบบนี้ก็อย่างเช่นเซาท์แธมพ์ตันของฮาเซนฮุทเทิล เป็นต้น ที่ดันสูงครึ่งสนาม และกลางบีบเพรสออกข้างและคุมเส้นทางการจ่ายบอลในลักษณะของ block passing lane ที่จะเปิดช่องการจ่ายคู่แข่ง ดังเช่นรูปข้างล่างนี้ ก็จะคล้ายๆสูตรของแมนยูเช่นกัน เป็นเบสิคทั่วๆไปที่ทุกทีมทำอยู่แล้ว

จากแผนตัวอย่างนี้จะเห็นว่าคู่แข่งเล่นในแผนไม่มีกลางรับ เพราะฉะนั้นตัวกลางของทีมเพรสจะค่อนข้าง"ฟรี" มากๆในการวิ่งเพรส และสร้างsituation 3 VS 2 ใส่ตัวครองบอลที่ถูกบีบออกข้างทันที

คุ้นๆไหมครับ เออ นั่นแหละ ที่แมนยูโดนบ่อยๆไงล่ะ คุ้นยัง!!! T__T

ในเบื้องต้นหลักการเล่นเพรสซิ่งก็จะมีประมาณนี้ ซึ่งหากสังเกตดีๆตัวที่วิ่งเยอะมากๆในแผนเพรสซิ่ง มันคือพวกนักเตะในแนว"Front Line" ของทีมเรา ไม่ว่าจะเป็นสามกองหน้า / แบ็คสองข้าง / กลางรุก / รวมถึงมิดฟิลด์ที่ดันสูงมาช่วยด้วย ที่ทำงานในภาคเกมเพรสซิ่งหนักจริงๆ จากสถิติที่ผ่านๆมาของทีมก็จะเห็นชัดมากๆว่า ตำแหน่งไหนและ "ใคร" คือผู้เล่นที่มีอัตราการเพรสซิ่งเยอะที่สุดของทีมที่ทำงานหนักมากๆ อย่างเช่นสถิตินี้

*สถิติจากช่วงDecember 2020

แน่นอนว่า นักเตะที่วิ่งหนักจัดๆอย่างเฟร็ด กับ บรูโน่ คือสองอันดับแรกของทีมที่วิ่งไล่เพรสซิ่งมากที่สุด รองลงมาคือสองแบ็คอย่าง ชอว์ กับ วานบิสซาก้า แล้วก็เป็นกองกลางอีกคนคือ สก็อตต์ แม็คโทมิเนย์ ที่รับงานเอ็นฯด้วยการวิ่งประเคนส้นตีนใส่คู่แข่งอย่างที่เห็น ด้วยปริมาณของการเพรสตามลำดับดังนี้ สิ่งที่น่าสนใจคือ "ผู้เล่นในพื้นที่ตรงกลาง" จะเพรสซิ่งเยอะมากๆโดยเฉพาะ บรูโน่ เฟร็ด รวมถึงแม็ค สามตัวนี้เล่นตรงกลางกันหมด และเพรสซิ่งให้ทีมเยอะจริงๆ รองลงมาคือ"แบ็ค" อย่างที่เห็น

ข้อมูลตรงนี้จึงทำให้เรารู้ใน"เชิงปริมาณ"ว่า แอเรียไหนที่โอเล่สั่งนักเตะวิ่งคัฟเวอร์พื้นที่เยอะๆ ก็คือแดนกลาง และริมเส้นนั่นเองที่ดันแบ็คมาเพรสคู่แข่งตลอดเวลาที่ใช้การเพรสซิ่ง และถ้าลองแยกดูนัดสำคัญๆก็มีดังนี้

เกมเจอปารีสนี่ชัดเจนเลย กลางสามคน+วานบิสซาก้า ทำงานหนักมากๆที่ต้องรับมือทั้งเนย์มาร์ และเอ็มบาปเป้ที่โยกมาบุกทางซ้าย งานหนักจริงๆวันนั้น

เกมเจอเซาท์ฯที่ชนะ 2-3 ก็ยังคงเป็นบรูโน่-เฟร็ด เช่นเดิมที่นำโด่งมา จากนั้นตามมาไม่ห่างด้วยVDB และพระเอกอย่างCavaniในเกมนั้นที่เพรสแดนหน้าอย่างเถื่อน

ทั้งหมดนี้คือการนำเสนอแทคติกเบื้องต้นให้รู้ว่าเรามีกลไกวิธีคิดเรื่องการเพรสซิ่งยังไงบ้าง แต่สิ่งที่เป็นประเด็นหลักสำคัญๆในบทความนี้ จริงๆแล้วก็คือเรื่องของความเข้มข้นในการใช้งานเพรสซิ่ง ตามหัวบทความที่ว่าไว้ว่า

"หากยกระดับเกมเพรสซิ่ง แมนยูไนเต็ดจะบินสูงได้กว่านี้"

คำพูดนี้คืออะไร คิดไปเองหรือไม่ สถิติแบบไม่ต้องมโนไปเอง มีผลการวิเคราะห์ข้อมูลออกมาให้เห็นแนวโน้มที่มีผลเชิงประจักษ์อย่างชัดเจนว่า "ยิ่งมีการเพรสซิ่งที่ดี ก็มีแนวโน้มที่จะสร้างโอกาสยิงต่อเกมได้มากขึ้น" ตามไปด้วย เราจึงได้ขึ้นเป็นหัวบทความนี้ไว้ เพื่อยกระดับแมนยูไนเต็ดให้ดีกว่านี้อีก

คำตอบนี้แสดงออกมาในกราฟด้านล่าง

นี่คือกราฟที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่าง "อัตราการเพรสซิ่งสำเร็จ(%)" กับ "การสร้างโอกาสยิงต่อเกม" ของแต่ละทีมจากท็อป5ลีกในยุโรปซีซั่น 2020/21

แกนนอน(x) คือการสร้างโอกาสยิงต่อเกมของทีมนั้นๆ หากอยู่ทางซ้ายแปลว่าสร้างโอกาสยิงได้น้อย หากเยื้องมาทางขวานั่นคือทีมที่สร้างโอกาสยิงได้มากตามลำดับ โดยมีaverage ค่าเฉลี่ยๆอยู่ที่ 18.41ครั้งต่อเกม

แกนตั้ง(y) คืออัตราการเพรสซิ่งสำเร็จ(%)ของทีมนั้นๆ ที่จะแสดงให้เห็นว่าแต่ละทีมเพรสซิ่งได้ดีเยี่ยมและได้ผลมากเพียงใด โดยที่ค่าเฉลี่ยของทีมทั่วๆไปจะเพรสซิ่งสำเร็จที่ 30.04% ทีมที่เพรสสำเร็จสูงกว่านี้จะอยู่เยื้องไปด้านบน แปลว่าเป็นทีมที่มีคุณภาพการเพรสซิ่งสูงมากๆ ในขณะที่ทีมอยู่ต่ำกว่าเส้นเฉลี่ย คือทีมที่เพรสกากๆ ไม่ค่อยสำเร็จนั่นเองพูดง่ายๆ

[อนึ่ง] ตรงนี้สำคัญ ค่าการเพรสตรงนี้ไม่ใช่ "ปริมาณการเพรส" ไม่ได้หมายความว่าทีมไหนเพรสเยอะแล้วดี แต่หมายถึงคุณภาพการเพรส ที่ใช้แล้วสำเร็จสูงๆ เรียกง่ายๆว่าเพรสดีและได้ผลมากกว่ากันนั่นเอง

ในแง่ของการแสดงผล จากกราฟนี้ก็ถือว่าเป็นindex(ตัวชี้วัด)ได้ดีมากๆอยู่แล้วสำหรับแต่ละทีม หากว่าดูคร่าวๆ อย่างเช่น ทีมที่อยู่มุมบนขวาคือ ทีมที่เพรสซิ่งโหดๆ และสร้างโอกาสยิงได้เยอะ ส่วนมุมขวาล่าง คือทีมพวกสร้างโอกาสยิงได้เยอะๆต่อเกม แต่เพรสกาก / มุมซ้ายบน คือพวกเพรสซิ่งโหดมาก แต่ครีเอทโอกาสยิงได้ไม่ดี และสุดท้ายท้ายสุดพวกซ้ายล่างคือพวกเพรสซิ่งก็ห่วย สร้างโอกาสยิงก็ได้น้อยทั้งคู่

(แต่ไม่จำเป็นว่าพวกนี้จะต้องเป็นพวกท้ายตาราง หรือabsolutely kakอย่างเดียวนะ อาจจะเป็นทีมที่ไม่ค่อยเพรส แต่ใช้โอกาสยิงไม่เปลือง บุกน้อยๆแต่เน้นๆด้วยลูกสวนกลับก็ได้ ตัวอย่างง่ายสุดคือ คริสตัล พาเลซในกราฟนี้นั่นแหละ พวกเขาอยู่อันดับ12ในลีก และมักถอนต่ำ ไม่เพรส แล้วรอลูกสวนกลับจากกองหน้าสายสปีดเน้นๆนั่นเอง เพราะงั้นไม่ได้แปลว่าพวกล่างซ้ายคือทีมอ่อนอย่างใด การอ่านกราฟเหล่านี้ควรต้องมองให้ครบทุกมิติ อย่าฟันธงด้วยชุดความคิดตื้นๆเด็ดขาด)

ที่น่าสนใจคือ พวกมุมขวาบนกลุ่มแรกสุดที่เพรสซิ่งก็โหด & สร้างโอกาสยิงต่อเกมก็ทำได้เยอะ ส่วนใหญ่คือพวกบอลระบบจากเยอรมันทั้งนั้น ทีมที่โหดที่สุดชั่วโมงนี้คงหนีไม่พ้นตัวเต็งบอลยุโรปอย่าง บาเยิร์นมิวนิค มุมบนขวาสุด, ทีมอื่นๆที่สองค่านี้ดีๆก็ดอร์ทมุนด์ ไลป์ซิก เลเวอร์ฯ รวมถึงอตาลันต้าด้วย

ทีมกลุ่มรองๆลงมาก็เป็นพวกพรีเมียร์ลีกแจมมาแล้ว และแน่นอนว่า ซิตี้ กับ ลิเวอร์พูล คือจอมเพรสซิ่งประจำลีกเราที่ตามมาในกรุ๊ปผู้นำอันดับสองที่อยู่ในกลุ่มมุมบนขวา(เพรสดี&บุกยิงได้เยอะ) กลุ่มนี้ยังมีพวกปารีส เชลซี สตุ๊ทการ์ดด้วย

ทีมพิเศษที่น่าสนใจคือ บาร์ซ่า เป็นทีมอันดับสองที่ครีเอทโอกาสยิงได้รองจากบาเยิร์นเลย แต่พวกเขากลับมี%เพรสซิ่งสำเร็จน้อยมากๆ นั่นเป็นเพราะปรัชญาการเน้นครองบอลเป็นหลัก ทำให้อาวุธการเพรสจึงไม่จำเป็นต้องเน้นแต่อย่างใด ก็ยังหาโอกาสยิงได้เยอะอยู่ดี

ส่วนแมนยูไนเต็ดของเรา อย่างที่เห็นกันว่าอยู่ทางซีกขวา ในกลุ่มทีมที่สร้างโอกาสยิงต่อเกมได้พอๆกับพวกมาดริด โรม่า ลิเวอร์พูล แอสตันวิลล่า รวมถึงมิลานกับอินเตอร์ด้วย แต่แมนยูนั้นอยู่ต่ำกว่าเส้นเฉลี่ยของ pressing success% ลงมา นั่นแปลว่าเกมเพรสซิ่งเราใช้แล้วสำเร็จในอัตราที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทีมในยุโรปอยู่ แปลว่าทีมเราเพรสยังไม่ดีพอนั่นเอง แต่ว่าสร้างโอกาสบุกได้ดีในระดับทีมท็อปๆในยุโรปแล้ว

ตรงนี้เราสามารถสังเกตจากกราฟนี้ได้หลายๆอย่าง เช่น วิลล่าเป็นอีกทีมที่คล้ายเรามากๆ คือบุกกระหน่ำซัมเมอร์เซลล์ แต่เพรสกากสุดๆ เช่นเดียวกันกับมิลานที่เราเพิ่งชนะมา ทั้งการสร้างโอกาสและการเพรสซิ่ง ค่อนข้างคล้ายและใกล้เคียงเรามากๆ ส่วนทางด้านของคู่แข่งในรอบ8ทีมยูโรปาลีกอย่าง Granada มองไปทางซ้ายล่างได้เลย พวกเขามีเกมเพรสซิ่งที่ห่วยแตกมากๆ ต่ำกว่ามีนเยอะเลย นั่นแปลว่าการเจอคาราด้านั้นไม่ต้องกลัวเรื่องเพรสซิ่งเลย ในขณะที่เกมรุกก็สร้างโอกาสยิงได้น้อยมากๆแบบที่ต่ำกว่ามาตรฐานเฉลี่ยทีมในยุโรปเยอะมากจนน่ากลัว ทั้งๆที่ก็อยู่ในครึ่งตารางบนของลาลีกา

ชัดเจนว่า รอบต่อไปแมนยูควรผ่านกรานาด้าได้แบบไม่มีข้อแก้ตัว ถ้าทะลึ่งตกรอบอีกก็ด่ากันเต็มที่ได้แล้วงานนี้

คู่แข่งที่อาจจะเจอเราได้ในรอบรองถ้าผ่านเข้าไป โรม่ามีเกมเพรสซิ่งที่ดีกว่าเราตามมาตรฐาน ในขณะที่เกมรุกก็สร้างโอกาสยิงใกล้เคียงกับเรา โรม่านี่งานหนักแน่นอน ส่วน Ajaxนี่คือของหนักแน่นอน พวกเขาเพรสซิ่งสำเร็จที่ 35.3% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยในยุโรปมากๆ ส่วนการสร้างโอกาสยิงต่อเกม เฉลี่ยบอลยุโรปของพวกเขาในUCL กับตอนเล่นEuropa เฉลี่ยอยู่ที่20ครั้งต่อเกม ก็เกินค่าเฉลี่ยอีกเช่นกัน ดังนั้นถ้ามาพล็อตในกราฟนี้ Ajaxจะอยู่มุมขวาบน ด้านบนWolfsburg ระนาบแกนตั้งเกือบสูงสุดเท่าเลเวอร์ฯเลย ซึ่งดูดีกว่ายูไนเต็ดมาก

ยูโรปาลีก ตัวอันตรายสุดๆที่แมนยูเสี่ยงโดนเขี่ยตกรอบก็คือ "Ajax" ทีมเก่าไอ้เจ้าดอนนี่นี่แหละ

ดอนนี่เอาหน่อยน้องรัก เพื่อนเอ็งฟาร์มจน"เกิด"แล้วนะนั่น

แต่กราฟนี้สิ่งที่สำคัญจริงๆไม่ใช่เพียงแค่indexชี้วัดของทีมต่างๆเท่านั้น แต่สิ่งที่ไม่ปรากฎบนกราฟนี้นั่นก็คือ "Trend Line" ในกราฟนี้ที่ไม่ได้มีการคำนวณวาดขึ้นมา

แต่เมื่อดูจากการกระจายของข้อมูล และ"แนวโน้มของความสัมพันธ์" ที่เกิดขึ้นนั้น จะเห็นจากการดูคร่าวๆได้เลยว่า "ทีมที่มีการเพรสซิ่งที่ดีและมีคุณภาพสูงๆ มีแนวโน้มที่จะสร้างโอกาสยิงได้เยอะขึ้น" จากการที่trend lineมันโน้มเอียงขึ้นไปทางขวาเรื่อยๆ

นั่นแปลว่า การสร้างโอกาสยิงได้เยอะๆก็แปรผันโดยตรงกับการที่ทีมมีคุณภาพการเพรสที่ดีๆนั่นเอง อย่างที่เราเห็นว่า ทีมระดับท็อปอย่าง บาเยิร์น ดอร์ทมุนด์ แมนซิตี้ ไลป์ซิก เลเวอร์ฯ ลิเวอร์พูล พวกนี้ที่ "เน้นใช้เกมเพรสซิ่งที่มีคุณภาพเป็นอาวุธหลักๆ" จะมีการสร้างโอกาสยิงได้กระจุยกระจายเช่นกัน

ทั้งการเป็นทีมนำในลีกของตัวเอง รวมถึงการเป็นตัวเต็งในแชมเปี้ยนส์ลีกด้วย

บอลสมัยใหม่นี้ ทีมระดับท็อปที่บุกโหด ส่วนใหญ่จะมีพื้นฐานการเล่นเกมเพรสซิ่งเป็นหลักๆ ดังนั้นเมื่อมันมีความสัมพันธ์กันจริงอย่างเห็นได้ชัดจากสถิติดังกล่าวแล้ว ดังนั้นเราสามารถที่จะบอกได้ว่า หากพัฒนา Pressing Success % ของแมนยูไนเต็ดให้มีคุณภาพสูงมากกว่านี้ มีโอกาสที่แมนยูจะสร้างสรรค์โอกาสยิงได้มากกว่าเดิมตามไปด้วย

กองหน้าตัวเป้าของทีมจะได้อานิสงส์จากการมีเกมเพรสซิ่งที่ดีขึ้นแน่นอน เพราะจะได้โอกาสยิงที่มากขึ้นกว่าทุกวันนี้

ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการยกระดับของทีมเราขึ้นไปอยู่ในแนวหน้าระดับเดียวกับปารีส แมนซิตี้ ดอร์ทมุนด์ บาร์ซ่า ยูเว่ ฯลฯ เหล่านี้ได้อย่างแท้จริงหากว่าพัฒนามันขึ้นอีกระดับ เพราะตอนนี้จุดที่เราอยู่ก็ยังเป็นรองทีมท็อปๆพวกนี้อยู่ ถ้าหากไม่หลอกตัวเองด้วยภาพลวงตาที่อวยทีมตัวเอง เราต้องยอมรับว่าปีนี้เราพัฒนาขึ้นมาแบบดีโคตรๆแล้ว แต่ก็ยังไม่อยู่ในฐานะผู้ท้าชิงที่แท้จริง

ทีมดีขึ้นมามากๆในปีนี้อย่างที่แฟนผีส่วนใหญ่พอใจในการพัฒนาทีมอย่างมีทิศทางและมีพัฒนาการเด่นชัดมากๆจนขึ้นมาแตะอันดับ2ของลีกได้ แต่เราก็ยังมีแอเรียจุดอ่อน และข้อบกพร่องให้พัฒนาทีมกันต่อไป "อีกเยอะและอีกนาน" มากๆ ซึ่งแฟนผีที่มีวิจารณญาณและทัศนคติดีที่ดีในการดูบอล จะเข้าใจสิ่งนี้

ใครที่รีบมากๆจะเอาความสำเร็จแบบ"สำเร็จรูป" แนะนำให้แอบแว้บไปเชียร์ทีมลีกอื่นที่ชอบไปก่อนพลางๆก็ได้ เพราะมันยังไม่ประสบความสำเร็จได้เร็วขนาดนั้นหรอก เนื่องจากนี้เป็นโปรเจ็คทำทีมที่ยั่งยืนในระยะยาวซึ่งต้องค่อยเป็นค่อยไปตามลำดับ โดยมีเงื่อนไขเรื่องเวลาและการพัฒนาทีมเป็นตัวแปรสำคัญ

ต้นทุนของแมนยูในการพัฒนาเกมPressing

ปัจจัยที่เอื้อและเป็นรากฐานที่ดีในการที่แมนยูไนเต็ดจะสามารถพัฒนาเป็นทีมที่เน้นเพรสซิ่งเป็นอีกหนึ่งอาวุธหลักในอนาคตได้นั้น หลักๆเลยมีอยู่สองอย่างซึ่งเป็นพื้นฐานของทีมอยู่แล้ว นั่นก็คือ

1.อายุเฉลี่ยของนักเตะในทีมชุดนี้ค่อนข้างน้อย

เพราะฉะนั้นแล้ว ทีมที่อายุน้อยเหล่านี้ ร่างกายจะยังสดอยู่มากๆด้วยวัยที่กำลังหนุ่ม และมีพลังงานในการเล่นสูง รวมถึงการฟื้นตัวที่ดีกว่านักเตะที่อายุมาก

เมื่อเราเป็นทีมที่อยู่ในข่ายของการเป็น "ทีมพลังหนุ่ม" อยู่ มันยิ่งเอื้อให้เราเล่นเพรสซิ่งได้มากกว่านี้อีกเยอะ

2.วิธีคิดเบื้องต้นจากDNAของสโมสร

การไม่ยอมแพ้จนนาทีสุดท้าย การลงเล่นด้วยสปิริตที่กระหายชัยชนะ ถือเป็นสิ่งที่แมนยูไนเต็ดพยายามจะยึดถือสิ่งนี้มาเป็นอันดับหนึ่งพอๆกับวัฒนธรรมอื่นๆในสโมสร

ทีมเราไม่เคยเป็นทีมที่เล่นกันได้สวยงาม เหนือชั้น โคตรเทพ พระเจ้า ฯลฯ อะไรกันขนาดนั้น แต่สิ่งที่แมนยูครองใจแฟนบอลอย่างเราได้นั้น คือเรื่องของจิตใจนักสู้ ที่จะไม่ยอมแพ้และทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่างลงไปในสนาม รวมถึงความดุดันในการบุกด้วยความเร็วและรุนแรง

mindsetหลักๆที่ยึดเหนี่ยวกันในสโมสรเรา มันเหมาะมากที่จะมาเล่นเกมของ"นักสู้"เช่นนั้นในสนาม ด้วยการวิ่งไล่อัดคู่แข่งให้ยุบกันไปข้างนึงนั่นเอง ดูจะเข้ากับบอลบู๊ล้างผลาญอย่างเรามากๆ

ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องย้อนกลับไปเบื้องต้นให้ฉุกคิดกันอีกครั้งว่า การพัฒนาเกมเพรสซิ่งที่ว่าในบทความนี้ ไม่ได้บอกว่าให้เราเปลี่ยนเป็นทีมบ้าพลังที่ให้นักเตะเรา "วิ่งควาย" กันให้มากกว่าเดิม ให้วิ่งไล่บอลตลอดเกม ไล่ทุกเกม ไล่เพรสซิ่งไปเรื่อยๆจนสุดหล้าฟ้าเหลือง(เขียว)

สิ่งที่เราต้องการคือความเข้มข้นของการใช้งาน ที่นอกจากอาจจะต้องโฟกัสการเพรสซิ่งให้ขึ้นมาเป็นวิธีการเล่นหลักอีกอย่างนึงที่ควรใช้ทุกเมื่อหากว่าใช้ได้แล้วนั้น จุดที่สำคัญกว่าคือเรื่องของ "คุณภาพการเพรส"  ที่ควรฝึกซ้อมเพรสให้มันได้ผลมากยิ่งขึ้น เพราะสถิติในที่นี้คือ success % ซึ่งไม่ใช่ number of pressing per game แต่อย่างใด เพราะฉะนั้นในบริบทนี้ก็หมายความว่า เราไม่ได้จำเป็นถึงขนาดต้องเล่น"เกเก้นเพรสซิ่ง" (counter-pressing) กันขนาดนั้นที่จะเพรสสวนคู่แข่งทันทีที่ทีมเสียบอลไป ซึ่งต้องใช้พลังงานของนักเตะแดนหน้าเยอะพอสมควร

เราไม่ได้จะให้แมนยูเพรสเยอะๆกว่าเดิม แต่เพรสให้"ดี"กว่าเดิมด้วยการปรับปรุงคุณภาพการเพรสของเราให้อันตรายกว่านี้ดีกว่า อย่างที่เอ่ยไว้ในเรื่องต้นทุนของทีมในการพัฒนาเพรสซิ่งนั้น ปัจจัยเอื้อมีเยอะมากๆเพราะนักเตะหนุ่มๆเราเยอะ ร่างกายดีๆและมีตัวขยันเพียบ ทั้งแบ็คสองคน กองกลางอย่างแม็คเฟร็ดบรูโน่ ที่สำคัญคือปีกตัวเพรสโหดๆอย่าง "แดเนียล เจมส์" ที่เล่นงานคู่แข่งได้ตลอดเวลาในทุกๆเกม

ไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมบิเอลซ่าถึงได้พยายามจะเอาตัวเขาไปให้ได้ขนาดนั้น กับนักเตะที่ดูเหมือนจะยิงได้น้อย แอสซิสต์ได้น้อย และ"ทำอะไรไม่ได้เลย" ในสายตาของคนบางคน แดเนียล เจมส์นี่แหละ โคตรสำคัญมากๆกับเกมฟุตบอลสมัยใหม่ที่ต้องวิ่งไล่ฟัดกันในสนามด้วยการเพรสตลอดเวลา นักเตะแบบนี้แหละเข้าระบบดีนักแล

ทั้งหมดทั้งมวลนี้จึงเป็นการนำเสนอแนวคิดในเรื่องของการ"พัฒนาทีม"ของเราแฟนผีว่า หากอยากให้ทีม "ยกระดับ" ขึ้น หนึ่งในวิธีที่เป็นไปได้ก็คือการอัพเกรดเกมเพรสซิ่งนี่เองที่จะทำให้ทีมมีการเล่นที่ทรงอานุภาพกว่าเดิมเยอะในบอลสมัยใหม่นี้ และประเด็นนี้ผมเชื่อว่าโอเล่เองก็อยากให้นักเตะทำนั่นแหละหากว่าเป็นไปได้ แต่มันยังมีปัจจัยสำคัญมากๆที่เขาต้อง "บริหารจัดการ" ในการสั่งแผนเพรสอีก เพราะข้อจำกัดเรื่องความถี่ในการลงสนามที่โหดร้ายทารุณมากๆของแมนยูไนเต็ด ที่ตัวเขาเองก็มักจะใช้นักเตะตัวหลักลงสนามมากกว่าตัวสำรอง เพราะงั้นการเล่นเพรสซิ่งของแมนยูจึงจำเป็นต้อง "เลือกเกมเล่นเพรสซิ่ง" ให้ดี เท่าที่จำเป็นจึงจะดีที่สุด ซึ่งนั่นคือคำตอบที่ว่า เราควรจะไปพัฒนาในแง่ของ "คุณภาพการเพรสซิ่ง" เป็นหลักนั่นเอง

หวังว่าโอเล่จะมองเห็นว่าสิ่งนี้คืออีกหนทางในการอัพเกรดแมนยูได้ ถ้าทีมเราทำตรงนี้ได้ ก็จะขึ้นไปทาบท็อปทีมในยุโรปได้เร็วยิ่งขึ้นเท่านั้น

-ศาลาผี-

References

https://footballwhispers.com/blog/solskjaer-press-upgraded-manchester-united/

https://runningtheshowblog.wordpress.com/2021/03/02/manchester-united-pressing-tactics-tactical-analysis-ole-gunnar-solskjaer/

https://i.redd.it/ukzs32ogtho61.jpg

https://themastermindsite.com/2021/01/16/pressing-from-the-front-tactical-trends-in-2020/

https://www.manutd.com/en/news/detail/ole-gunnar-solskjaer-sees-benefits-from-style-worked-on-in-training

https://fbref.com/en/squads/19c3f8c4/2020-2021/matchlogs/all_comps/gca/Ajax-Match-Logs-All-Competitions

ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ระดับ : {{val.member.level}}
{{val.member.post|number}}
ระดับ : {{v.member.level}}
{{v.member.post|number}}
ระดับ :
ดูความเห็นย่อย ({{val.reply}})

ข่าวใหม่วันนี้

ดูทั้งหมด