:::     :::

ที่มาที่ไปของ ยูโรเปี้ยน ซูเปอร์ ลีก และสิ่งที่อาจเกิดขึ้นหลังจากนี้

วันจันทร์ที่ 19 เมษายน 2564 คอลัมน์ ศาสดา On The Ball โดย ศาสดาลูกหนัง
2,362
ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
กลายเป็นข่าวใหญ่ในแวดวงกีฬาชนิดที่กลบข่าวผลฟุตบอลคู่สำคัญลงไปจนมิดเลยนะครับสำหรับโปรเจคท์ "ยูโรเปี้ยน ซูเปอร์ ลีก" ที่ไม่ใช่แค่คำพูดลอย ๆ อีกต่อไปแล้ว เมื่อ ฟลอเรนติโน่ เปเรซ ประธานคนแรกของของ ซูเปอร์ ลีก ได้ออกแถลงการณ์ก่อตั้งลีกเมื่อคืนนี้

"12 สโมสรฟุตบอลชั้นนำของยุโรปขอประกาศร่วมกันว่า พวกเราได้ก่อตั้งการแข่งขันรายการใหม่ในชื่อว่า ซูเปอร์ ลีก ซึ่งจะบริหารดูแลโดยสมาชิกผู้ก่อตั้งข้างต้น และกำลังจะมีอีก 3 สโมสรที่จะมาเข้าร่วมก่อนที่ฤดูกาลแรกจะเริ่มต้น ซึ่งพวกเราตั้งใจจะเริ่มแข่งทันทีที่สามารถทำได้"


ก่อนจะไปดูว่า สมาชิกทั้งหมดมีใครบ้าง ผมขอพาทุกคนย้อนดูที่มาที่ไปของ ซูเปอร์ ลีก กันก่อนนะครับ ว่ามันเริ่มมาจากไหน และเดินทางมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?


Chapter 1: การรวมตัวครั้งแรกของกลุ่ม G-14


ย้อนกลับไปในปี 1998 หลังจากที่ ยูฟ่า ยอมปรับเปลี่ยนรูปแบบของถ้วยยูโรเปี้ยน คัพ มาเป็น ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ได้ 6 ฤดูกาล หลายทีมในยุโรปเริ่มมีการพูดคุยปรึกษากันถึงการรวมตัวกันเพื่อคานอำนาจต่อรองกับยูฟ่าในเรื่ิองรายได้ โดยมีการนำ ซูเปอร์ ลีก ขึ้นมาเป็นหัวข้อในการคัดง้าง ก่อนที่จะตั้งชื่อกลุ่มว่า G-14 ซึ่งมีสมาชิกแรกเริ่มอยู่ 14 สโมสร ได้แก่ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด กับ ลิเวอร์พูล จากอังกฤษ, เรอัล มาดริด กับ บาร์เซโลน่า จากสเปน, เอซี มิลาน, ยูเวนตุส และอินเตอร์ จากอิตาลี, โอลิมปิก มาร์กเซย กับ ปารีส แซงต์-แชร์กแมงจากฝรั่งเศส, บาเยิร์น มิวนิค กับ โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ จากเยอรมัน, อาแจ๊กซ์ อัมสเตอร์ดัม กับ พีเอสวี ไอนด์โฮเฟ่น จากฮอลแลนด์ และปิดท้ายด้วย เอฟซี ปอร์โต้ จากโปรตุเกส ซึ่งกลุ่ม  G-14 นั้นก่อตั้งครั้งแรกอย่างเป็นทางการในปี 2000 ก่อนที่จะได้สมาชิกมาเพิ่มอีก 4 สโมสรได้แก่ อาร์เซน่อล, ไบเออร์ เลเวอร์คูเซ่น, บาเลนเซีย และ โอลิมปิก ลียง รวมทั้งหมดเป็น 18 ทีม แต่ยังคงใช้ชื่อ G-14 ตามเดิม


การรวมกลุ่มครั้งนั้น เนื้อแท้แล้วดูเหมือนว่าเหล่าสมาชิกไม่ได้ต้องการจะแยกตัวไปตั้งลีกจริงจังเท่าไหร่ แต่เป็นการรวมกลุ่มเพื่อขอต่อรองกับยูฟ่าเรื่ิองรายได้เสียมากกว่า  โดยเฉพาะรายได้จากลิขสิทธิ์​ถ่ายทอดสดที่มีมูลค่ามหาศาลรวมไปถึงเรื่องค่าใช้จ่ายให้กับนักเตะในกรณีที่ได้รับบาดเจ็บจากการไปเล่นให้ทีมชาติอีกด้วย​


Chapter 2: ECA และการแยกตัวของกลุ่ม G-14


8 ปีที่กลุ่ม G-14 ก่อตั้งขึ้นมานั้น พวกเขาแยกตัวในตอนปี 2008 ซึ่งในช่วงนั้นพวกเขาได้ตั้งองค์กรขึ้นมาอีก 1 องค์กรก็คือ The European Club Association (ECA)​ โดยเป็นหน่วยงานที่คอยช่วยดูแลผลประโยชน์ของสโมสรฟุตบอลสมาคมอาชีพในยุโรป 


จุดเริ่มต้นของ ECA มาจากความระหองระแหงของสมาชิกใน G-14 ซึ่งนำโดย บาเยิร์น มิวนิค ที่้มองว่าการบริหารของ ฟลอเรนติโน่ เปเรซ นั้นไม่ค่อยเข้าท่าในหลาย ๆ เรื่อง กอปรกับ "มิเชล พลาตินี่" ซึ่งเป็นประธานยูฟ่าได้ทำการเปิดโต๊ะเจรจากับทุกฝ่าย ซึ่งมีทั้งฟีฟ่า, ยูฟ่า และกลุ่ม G-14 


ก่อนที่สุดท้ายแล้ว ECA ก็สามารถฟ้องร้องและชนะคดีความจากองค์กรใหญ่อย่างฟีฟ่าได้สำเร็จในกรณีต้องจ่ายเงินชดเชยค่ารักษาพยาบาลของนักเตะ ยามที่กลับมารับใช้ทีมชาติ ขณะที่การต่อรองกับยูฟ่าก็สำเร็จในหลาย ๆ เรื่องด้วยเช่นกัน อาทิ ส่วนแบ่งค่าลิขสิทธิ์, เงินรางวัล, แรงกิ้งต่าง ๆ เมื่อเค้กแบ่งลงตัว กลุ่ม G-14 จึงถูกยุบไปในปีดังกล่าว เหลือไว้เพียงแค่ ECA อย่างเดียวเท่านั้น


ECA เป็นหน่วยงานที่ยูฟ่าให้การรับรอง โดยเริ่มต้นจากการมีสมาชิก 103 สโมสร จาก 53 สมาคมฟุตบอลทั่วยุโรป จนถึงปัจจุบัน ECA มีสมาชิกรวมทั้งสิ้น 232 สโมสร และสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองนียง ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ประธานคนปัจจุบันคือ อันเดรีย อันเญลลี่ นายใหญ่ของสโมสร ยูเวนตุส จากอิตาลีนั่นเอง


Chapter 3: เมื่อโปรเจคท์ ซูเปอร์ ลีก กลับมาลุยต่อ


อาร์แซน เวนเกอร์ เคยพูดถึงแนวคิด ซูเปอร์ ลีก ในปี 2009 เอาไว้ว่า 'อีก 10 ปีข้างหน้า มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้จริง'​ 


นับตั้งแต่ ECA เข้ามามีบทบาทแทน G-14 พวกเขาพยายามดันโปรเจคท์ ซูเปอร์ ลีก มาตลอด แม้จะถูกปัดตกหรือเงียบ ๆ ไปบ้าง เนื่องจากทุกครั้งที่ยิงเรื่องนี้ขึ้นมา ทางยูฟ่าก็พยายามจัดสรรระบบการแข่งและรายได้ให้ใหม่ตลอด จนกระทั่ง ผมคิดว่าในตอนนี้มันสุกงอมจนได้เวลาที่ ECA จะผลักดัน ซูเปอร์ ลีก ให้มันเกิดขึ้นได้จริงเสียที ถึงได้กล้าเปิดตัวอย่างที่เห็นกัน


ซูเปอร์ ลีก จะแข่งอย่างไรและมีโครงสร้่างแบบไหน? 


จากข่าวที่หลุดมา มีการระบุตัวเลขสูงถึง 3,100 ล้านปอนด์ โดยที่จะแบ่งกันสำหรับ 15 สโมสรผู้ก่อตั้ง (12+3) ซึ่งสโมสรที่ได้มากสุดจะอยู่ที่ 310 ล้านปอนด์ น้อยที่สุดจะอยู่ที่ 89 ล้านปอนด์ เลยทีเดียว ซึ่งเงินพวกนี้สามารถช่วยพยุงสถานภาพ​ทางการเงินของแต่ละสโมสรในช่วงที่ไม่มีรายได้จากแฟนบอลในสนามได้เป็นอย่างมาก


นอกจากนี้รายได้อีกทางที่สำคัญคือลิขสิทธิ์​ถ่ายทอดสดและสปอนเซอร์ต่าง ๆ ที่เหล่าทีมผู้ก่อตั้ง 12+3 สโมสรจะได้ 32.5% ก้อนแรก, อีก 32.5% หารกัน 20 สโมสรที่ร่วมลงแข่ง, 20% เป็นเงินรางวัลตามอันดับคะแนน และสุดท้ายอีก 15% แบ่งตามค่าโฆษณาซึ่งขึ้นอยู่กับชื่อเสียงทีม


วิธีการลงแข่ง จะมีทั้งหมด 20 ทีม แบ่งเป็น 2 กลุ่ม โดยจะเล่นแบบเหย้า-เยือน, จากนั้นเอาทีมอันดับ 1-3 ของแต่ละกลุ่มมาเล่นรอบน็อคเอาท์โดยอัตโนมัติ ส่วนทีมอันดับ 4 และ 5 ของทั้ง 2 กลุ่มต้องไปเตะเพลย์ออฟ เมื่อผ่านเข้ารอบมาแล้วจะแล้วเตะแบบเหย้า-เยือนไปเรื่อย ๆ จนถึงรอบชิงชนะเลิศ ซึ่งเตะกันนัดเดียวที่สนามกลาง


ช่วงเวลาแข่ง แน่นอนว่าเตะกลางสัปดาห์ เริ่มตั้ฃแต่เดือนสิงหาคมไปจบที่เดือนพฤษภาคม และแต่ละสโมสรสามารถหาเงินเข้าทีมได้เองจากการถ่ายทอดสดผ่านทางแพลตฟอร์มสโมสร ปีละ 4 นัด


Chapter 4: ยูฟ่าและฟีฟ่าออกโรงประนามพร้อมลงดาบ


ทันทีที่ข่าวเรื่อง ซูเปอร์ ลีก แพร่กระจายออกไป ฟีฟ่ากับยูฟ่าจึงรีบออกมาประนามการกระทำนี้ว่าเป็นการกระที่คล้ายกับลีกเถื่อน และประกาศกร้าวพร้อมลงโทษด้วยการ ห้ามในสโมสรที่้เล่นใน ซูเปอร์ ลีก นั้นลงเล่นในทุกรายการที่อยู่ภายใต้ยูฟ่า ทั้งในลีกและในบอลถ้วยทั้งหลาย และนักเตะในสโมสรเหล่านั้นก็จะถูกตัดสิทธิ์ในการเข้าร่วมในการแข่งระดับชาติทุกรายการอีกต่างหาก


หลังจากประกาศได้ไม่กี่ชั่วโมง ทางฝ่ายจัด ซูเปอร์ ลีก ซึ่งนำโดยประธานอย่าง ฟลอเรนติโน่ เปเรซ ก็ออกโรงแถลงการณ์ทันทีว่า ฟุตบอลรายการ ยูโรเปี้ยน ซูเปอร์ ลีก นั้น ได้ดำเนินการเริ่มขึ้นแล้ว




Chapter 5: Opinion


อย่างไรก็ดี ในมุมมองของผมแล้ว... 

ผมคิดว่านาทีนี้ สำหรับ ซูเปอร์ ลีก มีความเป็นรูปเป็นร่างกว่าในอดีตที่ผ่านมาเยอะมาก และน่าจะไม่มีเกียร์ถอยแล้วสำหรับ 12+3 ทีมที่ยังไม่ตัดสินใจ หรือตัดสินใจแล้วยังไม่เปิดตัว ซึ่งเดาก็คงไม่พ้น บาเยิร์น มิวนิค, โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ และ ปารีส แซงต์ แชร์กแมง หลายคนบอกแย้งว่าข่าวออกมาแล้วนี่ว่า 3 ทีมนี้ไม่เห็นด้วย และไม่เข้าร่วมไง แต่ในความรู้สึกและประสบการณ์ผมที่อยู่ในวงการ Sports Marketing และ Media มาหลายปี มันตะหงิดว่านี่คือ ตัวแปรที่ทาง 12 สโมสร จงใจทิ้งเอาไว้ต่อรองกับทางยูฟ่า ยังไม่ได้ทุบหม้อข้าวทิ้งทั้งหมดซะทีเดียว ซึ่งแน่นอนว่าถ้ายังตกลงกันไม่ได้และเกิดลีกใหม่ขึ้นมาจริง 3 ทีมที่เหลือนั้นมาแน่นอน เพราะถ้าไม่มา มันหมายถึงการตกรถผลประโยชน์ชิ้นโตที่ไม่มีวันจะหาได้จากยูฟ่าครับ


ตอนนี้ ถึงหน้าฉากจะมีการประกาศออกมาแล้วว่าไปแน่ ในขณะที่ทางยูฟ่า, ฟีฟ่า รวมไปถึงฟุตบอลลีกของแต่ละประเทศออกมาฮึ่ม ๆ ว่าจะเตะทีมเหล่านี้ออกจากสมาชิกฟุตบอลลีกในแต่ละประเทศทั้งหมด แต่หลังฉาก ผมว่าตอนนี้ยูฟ่าวิ่งเต้นต่อรองนำเสนอผลประโยชน์ให้กับทั้ง 12 ทีมพิจารณาเพิ่มแน่นอน งานนี้สโมสรได้เปรียบ แฟนบอลอาจจะไม่เห็นด้วยในตอนนี้ เริ่มมีการประท้วงในหลาย ๆ ช่องทาง แต่พอทุกอย่างเป็นรูปเป็นร่าง ผมเชื่อว่าการเดินหมากครั้งนี้ จะใช้เวลาไม่นานในการเอาแฟนบอลกลับมายืนข้างตัวเองอีกครั้งหนึ่ง ผ่านการแข่งขันที่เข้มข้นและน่าสนใจกว่าเดิม


หลายคนอาจจะบอกว่าเบื่อ เจอแต่ทีมเดิม ๆ แต่อย่าลืมว่า คำว่าทีมเดิม ๆ มันคือ ซูเปอร์เกม ที่แฟนฟุตบอลรอคอยกันทั้งนั้น และนี่เป็นแค่ก้าวแรกที่จะนำไปสู่ลีกแห่งชาติของยุโรป ที่ถ้าหากทีมสมาชิกโดนขับออกจากสมาคมแต่ละชาติจริง ก็พร้อมจะเดินหน้าให้ ซูเปอร์ ลีก อันนี้เป็นลีกแบบเตะจริงจังไปเลย แทนที่จะเป็นฟุตบอลถ้วย แถมด้วยอำนาจเงิน ผมเชื่อว่าการจะไปดึงเอาทีมขนาดกลางทั่วยุโรปให้ตามออกมา แล้วจัดแบ่งเป็นแต่ละดิวิชั่น อาจจะมี 1-3 ดิวิชั่น ให้มีเลื่อนชั้น ตกชั้น แบบลีกในประเทศ มันย่อมทำได้อยู่แล้ว และนี่เป็นสิ่งที่ยูฟ่าต้องประเมินสถานการณ์ให้ดี 


ผมไม่รู้ว่าตอนนี้เขาคุยอะไรกันหลังบ้านบ้าง แต่ถ้าให้ประเมินแล้ว งานนี้ยูฟ่ามีแต่เสียกับเสีย ขึ้นอยู่กับว่าจะเสียน้อยหรือเสียมากคงต้องเอามาคิดกันต่อ ฟุตบอลยุโรปที่ไม่มีทีมใหญ่จะไปขายการถ่ายทอดให้ใครดู ยิ่งทวีปเอเชีย ฐานลูกค้าสำคัญ จะมีใครยอมตืนตี 2-3 เพื่อมาดู มัคคาบี้ ไฮฟา เตะกับ เวสต์แฮม ยูไนเต็ด ไหม? แฟนบอลหายไปเกิน 95% แน่นอนครับ และอาจจะเป็นจุดจบของฟุตบอลถ้วยของยูฟ่า เนื่องจากไม่มีเม็ดเงินเข้ามาสนับสนุนก็ได้ แล้วเงินไหลไปไหน ก็แน่นอนซูเปอร์ ลีก ไง 


คิดภาพตาม เราจะเห็นว่า คนที่เสียหนัก ๆ คือ ทางยูฟ่าเอง ซึ่งงานนี้ก็ต้องมาดูกันว่า ยูฟ่าจะใช้ไม้ไหนในการตะล่อมให้ทั้ง 12 สโมสร ยอมกลับมาอยู่ในการควบคุมของทางยูฟ่าอีกครั้ง จะต้องจ่ายเท่าไหร่ จะต้องปรับอะไรบ้าง งานนี้ ยังอีกยาว ๆ ครับ


ส่วนเรื่องประเพณี เรื่องความคลาสสิก ผมเชื่อว่าทุกอย่างมันสร้างตามมากันได้ เหมือนที่เราเคยคิดว่ายูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก มันควรมีแต่แชมป์แต่ละประเทศมาเตะเท่านั้น แล้วปัจจุบันเป็นไงล่ะ?


โลกนี้ไม่มีอะไรจีรัง ตามข่าวกันต่อครับ ยังมีอะไรสนุก ๆ ให้ตามอีกเยอะ สิ่งที่จะตามต่อมาหลังจากข่าวใหญ่ของ ซูเปอร์ ลีก นั้น บางทีวงการฟุตบอลยุโรปอาจไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปก็เป็นได้.



ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ระดับ : {{val.member.level}}
{{val.member.post|number}}
ระดับ : {{v.member.level}}
{{v.member.post|number}}
ระดับ :
ดูความเห็นย่อย ({{val.reply}})

ข่าวใหม่วันนี้

ดูทั้งหมด