:::     :::

"หากปราศจากแฟนบอล ฟุตบอลก็ไร้ค่า" และการรักษาสมดุลในกรณี ESL

วันพฤหัสบดีที่ 22 เมษายน 2564 คอลัมน์ #BELIEVE โดย ศาลาผี
2,433
ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
การจัดตั้ง ESL อาจจะทำลายรากเหง้าของเกมกีฬาฟุตบอลก็เป็นเรื่องจริง แต่การบาลานซ์เรื่องเชิงธุรกิจฟุตบอลก็เป็นสิ่งสำคัญ ในข้อพิพาทที่เกิดขึ้นกับกรณีซุปเปอร์ลีกอาจจะเป็นเรื่องดีที่ถ่วงดุลให้ฟุตบอลยุโรปต้องปรับตัวไปในทางที่เป็นธรรมกับทุกฝ่ายกว่าเดิม

"Football without fans is nothing" ประโยคนี้คือหนึ่งใน quotes ที่โด่งดังของทั้ง Sir Matt Busby ตำนานผู้จัดการทีมแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดที่สร้างเหล่าบัสบี้เบ๊บส์ และพาแมนยูคว้าแชมป์ดิวิชั่น1โบราณ 5สมัย และยูโรเปี้ยนคัพ1967-68 อีก1สมัย และรวมถึงยังเป็นวลีคำพูดของ Jock Stein ตำนานของทีมCeltic ทั้งในสมัยเป็นนักฟุตบอล และเป็นผู้จัดการทีมที่พาเซลติคคว้าแชมป์ยูโรเปี้ยนคัพปี 1966-67 และแชมป์ในประเทศอีกมากมายกว่า30ถ้วย เป็นประโยคคลาสสิคที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงบ่อยครั้งอยู่ตลอดเวลา

แม้ว่าบริบทของสังคม และโลกฟุตบอล เปลี่ยนแปลงไปตามยุค ซึ่งปัจจุบันนี้กีฬาเป็นเรื่องของ"ธุรกิจ"มากขึ้น แต่คำๆนี้ก็ยังคงเป็นจริงและใช้ได้เสมอ เพราะธรรมชาติของฟุตบอล มันคือการที่ "คน" มาร่วมแข่งขันกีฬา "ร่วมกัน" โดยมี "แฟนบอล" เป็นแรงสนับสนุนที่สำคัญมากที่สุดในความสัมพันธ์ของฟุตบอลเช่นนี้

ต่อให้กลการของการแข่งขันจะมีเรื่องใดๆมาเกี่ยวข้องก็ตาม แต่มันคือกิจกรรมของมนุษย์ซึ่งมีความรู้สึกนึกคิด มีจิตใจอยู่ในนั้น ซึ่งมันคือสิ่งที่เรียกว่า Passion ในการเชียร์ฟุตบอล หรือเชียร์ทีมใดทีมหนึ่งเกิดขึ้นมานั่นเอง

ดังนั้นทุกคนจะเข้าใจดีว่า ฟุตบอลมันเป็นเรื่องของเกมกีฬาที่ถูกแข่งด้วยคน และมีความรู้สึกของคนในการเชียร์เป็นสำคัญที่สุด

ต่อกรณีที่เกิดการจัดตั้ง European Super League เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อสามวันก่อน(18 เมษายน) โดยมีข่าวลือมาตั้งแต่ก่อนที่จะเริ่มเกมของแมนยูไนเต็ด VS เบิร์นลีย์ ในช่วง4ทุ่มของบ้านเรา และก็กระพือกันอย่างหนักในขณะที่แมนยูกำลังไล่บี้เบิร์นลีย์ให้สำเร็จ ส่วนเบิร์นลีย์เองก็กำลังตะบี้ตะบันโยนยาวให้คริส วู้ดยิงประตูอยู่นั้น(ฮา) คืนวันนั้นตามเวลาบ้านเราคือจุดเริ่มต้นของข่าวลือสุดเดือดของการตั้งลีกใหม่ที่จะแข่งขันกันช่วงกลางสัปดาห์คล้ายๆแชมเปี้ยนส์ลีก โดยที่มีสโมสรfounders 12ทีม "จัดแข่งขันกันเอง กำกับและดูแลโดยกองทุนของผู้ก่อตั้งเอง"

อย่างทราบกันแล้วตามข่าวว่า มันคือBig Six ของอังกฤษ อันได้แก่ แมนซิตี้ แมนยูไนเต็ด ลิเวอร์พูล อาร์เซนอล สเปอร์ส และ เชลซี ซึ่งเป็นทีมระดับแม่เหล็กที่แฟนบอลล้นหลามสุดๆ บวกกับ3ทีมจากสเปน และ3ทีมของอิตาลีอย่าง เรอัลมาดริด, แอตเลติโกมาดริด, บาร์เซโลน่า, เอซีมิลาน, อินเตอร์มิลาน, ยูเวนตุส ทีมเหล่านี้คือสโมสรที่มีแฟนบอลมหาศาลทั้งสิ้น

พูดตรงๆก็คือพวกยักษ์ใหญ่นั่นเอง

นอกจากนี้การแข่งขันอาจจะมีการรับผู้ก่อตั้งเพิ่มอีก3 รวมเป็น5 และอีก5ทีมอาจจะคัดเลือกจากผลงานในลีก โดยวิธีการแข่งขันที่วางแพลนกันเอาไว้ก็คือ การแบ่ง2สาย กลุ่มละ10ทีม เจอกันเหย้าเยือน แล้วเลือก4ทีมที่คะแนนดีที่สุดของแต่ละสายมาเข้ารอบ8ทีม เตะกันเหย้าเยือนในรอบน็อคเอ้าท์จนถึงชิงแชมป์

หลักการอธิบายแบบคร่าวๆของESLจะเป็นประมาณนี้ คิดง่ายๆคือเหมือนเอาUCLมาปรับในรูปของซุปเปอร์ลีก ลีกที่มีแต่ทีมยักษ์ใหญ่อยู่ด้วยกัน แข่งแบบเจอกันหมดเหย้าเยือน แล้วเอาทีมคะแนนสูงสุดเข้ารอบน็อคเอ้าท์เพื่อหาแชมป์ทีมสุดท้ายนั่นเอง

ซุปเปอร์ดีลระหว่างทีมยักษ์ใหญ่ที่มีอิทธิพลเหล่านี้ ดูเหมือนเป็นการปฏิวัติวงการฟุตบอลยุโรปอีกครั้ง ด้วยการเกือบๆจะล้มล้างระบบที่เคยมีมาตลอดของการร่วมแข่งขันฟุตบอลรายการยุโรปที่อยู่ในธรรมเนียมปฏิบัติ70ปีของฟุตบอลสโมสรยุโรป โดยการแยกไปรวมตัวกันเอง แข่งกันเอง จัดสรรรายได้มหาศาลกันเองระหว่างทีมยักษ์ใหญ่ดังกล่าว โดยมีตัวตั้งตัวตีเป็น12สโมสรแม่เหล็กดังกล่าวนั้น ซึ่งก็รวมถึงแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดของแฟนบอลปีศาจแดงด้วย

ปฏิวัติยังไง? แนวคิดหลักของเรื่องนี้มันคือการการันตีถึงการดำรงอยู่ในลีกดังกล่าวของทีมยักษ์ใหญ่ผู้ก่อตั้ง โดยรับประกันไม่ต้องมีการตกชั้น ไม่ต้องพยายามทำผลงานกับลีกในประเทศ ยังไงทีมเหล่านี้ก็ได้แข่งขันและโผล่หน้ามาเตะกันให้เห็นทุกปี โดยไม่ต้องมีผลงานมาชี้วัด"คุณภาพในการเข้าร่วม"

ขอแค่คุณเป็น12-15ทีมบิ๊กเหล่านี้ คุณก็อยู่ในESLนี้แล้ว

ต่างจากเดิมที่การเข้าร่วมฟุตบอลยุโรป ไม่ว่าจะเป็นแชมเปี้ยนส์ลีก หรือยูโรปาลีกในยุคปัจจุบัน ทีมทุกทีมจะต้องพัฒนาทีมให้ดีที่สุด และลงแข่งให้ทำผลงานดีพอจะติดโควตาการเข้ามาเล่นรายการใหญ่ของทวีปเช่นนี้ อย่างเช่นพรีเมียร์ลีกที่ต้องทำอันดับติด1-4 ถึงจะมีโอกาสเป็นต้น ดังนั้นที่ผ่านมา การแย่งท็อปโฟร์ถือเป็นเรื่องคอขาดบาดตายของทุกๆทีมจริงๆอย่างที่เราเห็นกันมา โดยเฉพาะแมนยูที่ปีนี้ดูเหมือนจะเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีนับตั้งแต่หลังยุคเซอร์อเล็กซ์ เป็นปีแรกที่เราจะได้ไปUCLถึงสองปีติด

จุดที่แตกต่างกันระหว่าง UCLเดิมของทางยูฟ่า กับ ESL มันคือ "การฟันฝ่าต่อสู้อย่างสุดชีวิตเพื่อที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในรายการแข่ง" จะหายไปทันที

เฉพาะยักษ์ใหญ่ทีมบิ๊กซิกส์อย่าง แมนยู ลิเวอร์พูล แมนซิตี้ อาร์เซนอล สเปอร์ส เชลซี พวกนี้จะอยู่ในสปอตไลต์ของ ESL ตลอดทุกปี ต่อให้อันดับในลีกจะฟอร์มบู่ตกไปแถบกลางตารางก็ตาม คุณก็จะได้ลงเล่นทันที

โดยไม่ต้องดิ้นรนใดๆทั้งสิ้น

ยกตัวอย่างง่ายๆ ทีมบางทีมไม่มีแชมป์ใหญ่มาประดับนานแล้ว ในขณะที่หลายๆทีมอันดับก็หลุดร่วงลงไปเกือบๆจะถึง10ในลีกของตัวเอง แต่ก็ยังมีโอกาสมีส่วนร่วมในดีลลีกนี้ ความไม่สัมพันธ์กันของคุณภาพการเล่น กับการเข้าร่วมESLจึงแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง (จริงๆไม่ต้องยกตัวอย่างหรอก พูดตรงๆเลยก็แล้วกัน อย่างเช่นอาร์เซนอล สเปอร์ส หรือ ลิเวอร์พูลเองก็ตามที่หลุดวงโคจรออกไป)

นี่คือความแตกต่างอย่างรุนแรงระหว่าง ESL กับ UCLของทางUEFA ในบริบทของการแข่งขัน และการเข้ามามีส่วนร่วมของแต่ละสโมสร(participation)ต่อลีกยักษ์ใหญ่ที่กำลังตั้งขึ้นมาครั้งนี้

การขาดหายไปของการต่อสู้ ดิ้นรนของการแข่งขันนี้นั้น ผู้จัดการทีมอย่างเป๊ป กวาร์ดิโอลาร์เองก็ออกมาพูดเป็นนัยๆถึงเรื่องดังกล่าวว่า พื้นฐานของเกมกีฬา มันมาจาก "ความพยายาม" เป็นหลัก

ความพยายามในการฝึกซ้อม ความพยายามในการเตรียมทีม

ความพยายามในการต่อสู้อย่างถึงที่สุดด้วยจิตวิญญาณเพื่อผลแพ้ชนะ

ผู้อ่านคงจะทราบกันดีว่า กว่านักกีฬาจะลงแข่งได้ต้องมีการเตรียมตัวมากมาย ความเหน็ดเหนื่อยของการฝึกซ้อม ทุกอย่างเกี่ยวพันโดยตรงทั้งสิ้น ดังนั้นเมื่อความสำเร็จมันถูกการันตีไปแล้วว่า คุณได้เล่นแน่ๆ หรือการพ่ายแพ้เป็นสิ่งที่ไม่มีผลอะไร กีฬาจะไร้ค่าลงไปทันที

สิ่งนี้หลายคนอาจจะพูดว่ามันคือเสน่ห์ก็จริง แต่คำว่าเสน่ห์ยังไม่สำคัญเท่ากับเรื่องของ "พื้นฐานของเกมกีฬา" ที่ตั้งแต่เราเป็นเด็กมา หากจะแข่งกีฬาอะไรเราก็ต้องซ้อมเพื่อไปลงแข่งให้ชนะ หรือได้ผลที่ต้องการ ซึ่งทุกคนต้องใช้ความพยายามตรงนี้สูง

หากเกิดการรับประกันการลงเตะเช่นนั้นเกิดขึ้น จิตวิญญาณของเกมกีฬาจะสูญหายไปอย่างมาก

แต่นอกจากเรื่องสปิริต ที่การสร้าง ESLขึ้นมาอาจจะส่งผลให้สูญเสียมันไปแล้วนั้น ประเด็นสำคัญเรื่องหนึ่งของ ESL ที่ไม่พูดถึงไม่ได้นั่นก็คือเรื่องของ "รายได้"

โดยการดำเนินงานเรื่องธุรกิจรายได้ของทาง ESLจะมีการเปิดเผยตัวเลขรายรับรายจ่ายที่แน่นอน และส่วนแบ่งมูลค่าต่างๆ ทีมที่เข้ามาร่วมในซุปเปอร์ลีกนี้ก็จะได้แบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย และมหาศาลมากกว่าเดิมเยอะจากที่เคยลงเล่นในรายการของUEFA

ประเด็นเรื่องของรายได้และเม็ดเงินนี้ มันกลืนไม่เข้าคายไม่ออกแบบDilemmaเล็กน้อย

ESL อาจจะทำให้สโมสรชั้นนำเหล่านี้ฟันรายได้มหาศาลได้มากกว่าเดิม จากที่เคยได้รับจากยูฟ่า ซึ่งเงินทุนอัดฉีดของยูฟ่าในแชมเปี้ยนส์ลีกเดิมอยู่ที่ 4.5พันล้านยูโร ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นคือ รายได้จากส่วนแบ่งลิขสิทธิ์การถ่ายทอดต่างๆมูลค่ามหาศาลยิ่งกว่านี้ แต่เงินที่ทางยูฟ่าจัดสรรมาให้นั้นไม่เป็นธรรม และสโมสรเหล่านี้ก็รู้แล้วว่าสิ่งที่ตนเองลงทุนอยู่มันไม่คุ้มกับเม็ดเงินที่ลงไปในระบบ ทั้งค่าเหนื่อยนักฟุตบอล ค่าตัวนักเตะระดับมหาศาลที่ต้องทุ่มทุนซื้อเข้ามาให้แฟนบอลพึงพอใจ

ผลที่จะตามมาหลังจาก ESLตั้งขึ้นสำเร็จ จะทำให้สโมสรเราเหล่านี้รายได้ตามที่สมควรจะได้มากขึ้น เพราะเก็บค่าลิขสิทธิ์ กำกับรายได้ต่างๆกันเอง ไม่ต้องผ่านสิ่งที่เรียกว่า "พ่อค้าคนกลาง" อย่างUEFA ที่เป็นคนดูแลจัดการเงินทั้งหมดอยู่เพียงฝ่ายเดียว โดยที่ไม่สามารถหาความโปร่งใสในนั้นได้ และเม็ดเงินที่กระจายมาก็ยังไม่เพียงพอเท่าที่ควร ซึ่งสโมสรยักษ์เหล่านี้ก็ลงทุนสูงจริงๆอย่างที่ทราบกัน

ทั้งค่าเหนื่อยนักเตะที่เราชื่นชอบ ทั้งค่าตัวของนักเตะที่แฟนบอลร้องจะเอากัน ไม่ว่าจะฮาลันด์ เคน เอ็มบาปเป้ ซานโช่ทั้งหลายแหลเหล่านี้ มหาศาลเกินกว่าจะจินตนาการได้

บอร์ดอาจจะบอกว่า เออ แล้วอย่ามาร้องเอาไอ้สองตัวนี้แล้วกัน

สโมสรจำเป็นต้องใช้เงิน และฟุตบอลในยุคนี้คือกิจกรรมที่เรื่องทางธุรกิจถือว่าสำคัญสุดๆ อย่างที่เราเห็นกันในเรื่องรายได้ต่างๆ การสนับสนุนของสปอนเซอร์แบรนด์ต่างๆที่จะเข้ามาโปรโมทสินค้าของตัวเองผ่านทางเกมกีฬาที่มี "ตัวแทน" เป็นสโมสรต่างๆแต่ละทีมเหล่านี้ มากน้อยแตกต่างกันไป

ฟุตบอลยุคปัจจุบันนี้เราปฏิเสธไม่ได้ว่า มันมีธุรกิจเกี่ยวข้องเยอะมากในทุกๆส่วน และที่สำคัญที่สุด เม็ดเงินเหล่านี้คือส่วนสำคัญในการ "หล่อเลี้ยง" ให้ทีมที่เราชื่นชอบเหล่านี้ดำเนินกิจการต่อไปได้ ทั้งการจ่ายเงินค่าเหนื่อย ค่าบำรุงดูแลรักษาสนาม ค่าจ้างสตาฟฟ์ ฯลฯ

ในสภาพการณ์ปัจจุบัน เรารู้กันดีว่าขณะนี้โลกถูกโควิด19เล่นงานจนธุรกิจเสียหาย และฟุตบอลเองก็ไม่มีคนเข้าดูในสนามมานานเป็นปีๆแล้ว สภาพคล่องทางการอุดหนุนสินค้าของสโมสรก็ลดลงไป เพราะผู้คนต่างต้องเซฟเงินเอาไว้รักษาชีวิตครอบครัวตนเองมาก่อน และการรวมตัวกันทำกิจกรรมทางกีฬา ถูกระงับไปมากเพื่อความปลอดภัยของชีวิตมนุษย์เป็นหลัก

เพราะถ้าตายไปซะก่อน เราก็จะไม่มีฟุตบอลมาแข่งขันให้ดูกัน ดังนั้นชีวิตสำคัญที่สุด และนี่คือกรณีที่ทุกสโมสรไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้เลย

หลายๆแห่งต้องปลดพนักงานออก ไม่เว้นแม้กระทั่งมาสคอตของบางทีม ในขณะที่บางสโมสรก็เลือกที่จะรักษาพนักงานของสโมสรเอาไว้ โดยแบกรับการจ่ายเงินเดือนค่าเหนื่อย และเก็บเอาไว้ในตำแหน่งเหล่านี้ ซึ่งการเงินสโมสรเมื่อยังมีรายจ่ายออกไปอย่างคงที่ แต่รายรับกลับลดน้อยลงจนแทบจะไม่มีในช่วงนี้ ไม่ว่าสโมสรไหนก็กระเทือนทั้งนั้น ไม่เว้นแม้กระทั่งแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดที่ขายได้ในระดับglobalเองก็ขาดทุนยับเช่นกัน

เรื่องตรงนี้เห็นได้ชัดว่าโดนกันหมด ขนาดการถ่ายทอดของยูฟ่าเองยังมีปัญหาเลย ซึ่งขณะนี้ก็ดำเนินการอยู่บนUefa.tv อย่างที่เห็นกันซึ่งรายได้ก็ขาดหายไปจากเมื่อก่อน

เราพยายามที่จะบอกว่า "รายได้ เม็ดเงิน และธุรกิจ" ถือเป็นเรื่องที่สำคัญมากๆที่จะrunกิจการของสโมสรให้ดำเนินต่อไปได้ เพราะแม้ว่าการแข่งขันจะเป็นเรื่องของจิตวิญญาณ และการต่อสู้ของความพยายามก็ตาม แต่ในอีกแง่มุมบนโลกความเป็นจริงที่ทุกอย่างต้องขับเคลื่อนด้วยเงิน แม้กระทั่งนักเตะสุดเลิฟของคุณเอง ก็ต้องใช้ค่าเหนื่อยมหาศาลจ่ายเป็นค่าจ้างให้เขาเช่นกัน

ถ้าสโมสรไม่มีเงิน จะเอาที่ไหนมาจ่ายค่าจ้างนักเตะดีๆเหล่านี้

ถ้าสโมสรไม่มีเงิน จะเอาอะไรมาลุ้นให้ทีมมีโอกาสเสริมตัวดีๆที่ต้องการเข้ามาได้

และถ้าไม่มีเงิน สโมสรจะดำเนินงานให้ราบรื่นต่อไปได้อย่างไรในสภาวะการณ์ที่ลำบากกันทั้งโลก

เรื่องธุรกิจจึงเป็นเหตุผลของสโมสร ที่แฟนบอลจำเป็นต้องคำนึงถึงและเข้าใจเป็นอย่างยิ่ง

จากสองเรื่องใหญ่ๆนี้ทางด้านการจัดตั้ง ESL นั้น ผู้อ่านจะเห็นได้ชัดว่า มันมีทั้งเรื่องแย่ที่อาจจะทำลายความสำคัญของการแข่งขัน, ทำลายสปิริตของทีมต่างๆ และทำลายโอกาสของทีมเล็กๆไป

แต่ในด้านที่เป็นประโยชน์คือ ทีมที่เข้าร่วมกับESL ก็จะได้รับรายได้ที่เป็นธรรมมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งการเงินและธุรกิจเป็นสิ่งจำเป็นในการหล่อเลี้ยงให้สโมสรดำเนินต่อไปได้ ดังที่กล่าวมาแล้วว่ามันจำเป็นมากจริงๆ (คิดง่ายๆถ้าไม่มีเงินจ้างนักเตะชื่อดังทั้งหลาย เขาจะมาค้าแข้งให้สโมสรเราหรือไม่ ก็ไม่)

แต่เมื่อพิจารณาเหตุผลและภาพรวมแล้วแล้ว ไม่ต้องแปลกใจเลยว่า ทำไม "ESL" ถึงถูกแฟนบอลต่อต้านมากนัก  เพราะมีเหตุผลที่ไม่ยุติธรรมเกิดขึ้นมากมาย และมีข้อเสียมากกว่าข้อดีหลายข้อ ดังเหตุผลต่อไปนี้ นั่นคือ

1.การเจอกันของบิ๊กทีมทุกนัดทุกปีบ่อยครั้งเกินไป อาจจะทำให้ความน่าตื่นเต้นลดลงมาก

ข้อนี้เป็นเรื่องที่หลายๆคนพูดถึงกัน ซึ่งในฐานะผู้เขียน มองประเด็นนี้ว่า เป็นเรื่องที่สำคัญน้อยหน่อยในการพิจารณาว่า ควรมีESLหรือไม่ เพราะมันเป็นเรื่องของ "ความชอบ" ของแต่ละคน

แฟนบอลหลายคนชื่นชอบการมาเจอกันบ่อยๆของบิ๊กทีมเหล่านี้ เพราะจะได้ดูบอลมันส์ๆระดับสูงมาเจอกันตลอดเวลา แม้จะเจอกันทุกปีก็มีแฟนๆหลายคนที่โอเคกับการเจอกันแบบนี้ ก็คล้ายๆกับการได้ดูแมนยู แมนซิตี้ หรือ แมนยู ลิเวอร์พูล ปีละ2-3นัดในการเจอกันบนเกาะอังกฤษนั่นเอง

หากพิจารณากันดีๆ การเจอกันทุกปี ก็ไม่ใช่เรื่องแย่เสมอไป นี่คือความคิดเห็นของแฟนบอลกลุ่มที่โอเคกับการเจอกันทุกปีของทีมใหญ่และไม่เบื่อ ซึ่งลักษณะแบบนี้เชื่อว่าหลายๆคนอาจจะเคยเห็นรูปแบบของESLมาก่อนแล้วจาก มาสเตอร์ลีกของวินนิ่งนั่นเอง

คุ้นมั้ยล่ะมึง

ในขณะที่แฟนบอลหลายๆคน อยากให้การเจอกันของทีมใหญ่ เป็นโอกาสพิเศษที่เกิดขึ้นยากหน่อย นานๆเกิดทีมันจะตื่นเต้นและพิเศษเสมอ ยกตัวอย่างง่ายๆ ในยูโรปาลีกรอบรองชนะเลิศ แมนยูไนเต็ด กำลังจะลงสนามไปลุยกับ โรม่า ซึ่งสองทีมนี้ไม่เจอกันในบอลยุโรปนานมากแล้ว ภาพจำระหว่างแมนยู โรม่า ก็มีเพียงแค่เกมนัด 7-1 ซึ่งการเจอกันในUCLครั้งนั้นก็ผ่านมา14ปีแล้ว ถึงได้โคจรมาเจอกันใหม่เป็นต้น นี่ก็เป็นความตื่นเต้นแล้ว

การที่ไม่ได้พบเจอกันง่ายๆ และการต้องแข่งขันกับทีมมากหน้าหลายตา แล้วแต่วาระ โอกาส และปีนั้นๆที่ทีมมีส่วนร่วมในรายการแข่งขัน อย่างเช่นแมนยูถ้าไม่ตกรอบUCLมา ก็คงจะไม่มีทางได้เจอทีมอย่างGranada CF แน่ๆเป็นต้น ก็เป็นรสชาติและสีสันใหม่ๆดี

นี่คือความรู้สึกของแฟนบอลกลุ่มที่ไม่อยากให้ESLเกิดขึ้น เพราะมันจะทำลายความน่าตื่นเต้นไปหมด และการเจอกันของทีมใหญ่ๆ จะไม่ใช่เรื่องพิเศษอีกต่อไป ซึ่งอาจส่งผลให้ความน่าสนใจมันลดลงอย่างมาก

ประเด็นนี้เป็นเรื่องของความคิดเห็นที่แตกต่างกัน เป็นเรื่องของความชอบที่ไม่มีใครผิดใครถูก ดังนั้นเราไม่สามารถอ้างได้ว่า ESLจะนำความน่าเบื่อมาให้ เพราะแฟนบอลบางส่วนก็โอเคกับการดูทีมเดินๆลงเล่นทุกปีเหมือนกัน

(แม้ว่าตัวเขาเองก็จะไม่รู้อนาคตหรอกว่าตัวเองจะเบื่อไหม ถ้าดูแบบเดิมๆไป5ปี10ปี ตอนนั้นมนต์ขลังและpassionของฟุตบอลยุโรปอาจจะหมดลง แล้วกลายเป็นการแข่งขันกีฬาทั่วๆไปที่คนอาจจะเปิดยูทูปดูอย่างอื่นแทนแล้วก็ได้ในตอนนั้น)

ประเด็นหัวข้อแรกนี้ถือว่าเบาะๆ หัวข้อต่อไปสำคัญสุด

2. รายได้เป็นธรรมที่เกิดขึ้น คือการโอบอุ้มกันเองของยักษ์ใหญ่เท่านั้น แต่ทีมเล็กๆจะยิ่งตายลงเพราะความต่างชั้นที่มากขึ้น

ประเด็นนี้ถือว่าสำคัญสุดๆ เพราะรายได้มหาศาลที่ว่านั้น ดูเหมือนจะแฟร์ก็จริง แต่ผลประโยชน์ตกอยู่แค่กับ "ทีมใหญ่" เพียงเท่านั้นเอง เพราะรายได้เหล่านั้นก็จะเข้ากระเป๋า 12-15 สโมสรผู้ก่อตั้งเท่านั้นเอง

แล้วสโมสรอื่นๆที่ไม่ได้เข้าร่วมกับรายการดังกล่าว ที่ยักษ์ใหญ่เหล่านี้แยกตัวไปจัดกันเอง โดยที่พวกเขาไม่มีส่วนร่วม และแทบจะไม่มีสิทธิ์ได้เลยล่ะ?

ประธานสโมสรยูเวนตุสอย่าง อันเดรีย อันเญลลี่ พูดถึงเรื่องที่ว่าฟุตบอลจะต้องทำในรูปแบบที่เป็นอุตสาหกรรมที่มั่นคง มีกฎการเงินที่เข้มงวด และกระจายรายได้มากขึ้น

แต่คำถามคือ มันมั่นคงกับใคร?

แน่นอนครับ ก็สโมสรผู้ก่อตั้งสิบกว่าสโมสรเท่านั้นนี่แหละที่จะมั่นคงอยู่ฝ่ายเดียว ตีกินกันเต็มๆ คราวนี้มันไม่ใช่ปัญหาของพ่อค้าคนกลางอย่างยูฟ่าแล้ว แต่เป็นปัญหาที่ชาวนาเจ้าใหญ่ๆไปรวมตัวขายกันเอง แบ่งเค้กก้อนใหญ่ที่มากขึ้นเพราะรายได้เข้าโดยตรงกันเอง แต่ชาวนาเจ้าน้อยๆไม่มีสิทธิ์เข้าร่วมใน "ตลาดของชาวนาเจ้าใหญ่" เหล่านั้น ซึ่งก็คือESLนั่นเอง

ความมั่นคง ตกอยู่กับทีมเหล่านี้เท่านั้น ทีมอื่นๆในวงการฟุตบอลแทบไม่เกี่ยวข้องอะไรเลย

แม้อันเญลลี่จะบอกว่า มีอีก5ทีมที่จะเข้ามามีส่วนร่วมได้ และยังมีการพัฒนาเพาะบ่มดาวรุ่งก็จะยังอยู่

สรุปแล้วคำพูดของอันเญลลี่ก็ขัดกันเอง เพราะตลาดที่ว่า ไม่ได้กระจายความมั่นคงไปสู่รายเล็กๆแต่อย่างใด

กลับกัน เมื่อทีมใหญ่ๆเหล่านี้ได้เม็ดเงินมหาศาลจาก ESL ยิ่งทำให้พวกเขามีกำลังเงินมากยิ่งกว่าเดิมในการจัดซื้อ จัดจ้างนักเตะดีๆเข้ามาสโมสร ซึ่งก็แน่นอนว่า ทีมเล็กๆแม้จะมีโอกาส "ขายแพงๆ" ให้พวกยักษ์เหล่านี้ได้ แต่สุดท้ายเม็ดเงินที่สู้กันไม่ได้ ก็จะดึงดูดและชิงนักเตะดีๆไปร่วมทีมได้อยู่ดี

ความเหลื่อมลั้นทางชนชั้นของสโมสร จะยิ่งเกิดระยะห่างยิ่งกว่าเดิมในปัจจุบัน เพราะสโมสรยักษ์เหล่านี้ในESL จะมีเงินมหาศาลเอาไว้ใช้อยู่ฝ่ายเดียว แต่เม็ดเงินที่เป็นธรรมมันไม่ได้ตกอยู่กับคนอื่นที่ไม่มีส่วนร่วมในนั้นด้วย

สรุปก็ "เงิน" อยู่ดี เงินที่จะตกอยู่กับยักษ์เหล่านี้ที่อุ้มกันเอง แชร์กันเอง โดยไม่สนใจทีมอื่นๆในระบบ ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนั้น ระบบจะพังครืนลงจากต้นสู่ปลายแน่นอนหากว่าความเหลื่อมล้ำมันมากจนไม่สามารถแข่งขันกันได้

การรวมตัวไปทำกันเองเพื่อเม็ดเงินมหาศาลของกลุ่มตัวเองนั้น มันก็คือความ "เห็นแก่ตัว" ที่เกิดขึ้นนั่นเอง เพราะเอาตัวรอดคนเดียว คนอื่นๆ(สโมสรเล็กอื่นๆ)ที่ไม่ได้เกี่ยวข้อง ก็ไม่ได้มีส่วนร่วมด้วย

ยิ่งทำเช่นนี้ ฐานล่างยิ่งพัง เพราะบนยอดปีระมิดมันยิ่งห่างจากฐานไปเรื่อยๆจนอนาคตจะสู้กันไม่ได้

3. "โอกาสของทีมเล็ก" ความมุ่งมั่น ทะเยอะทะยาน และการต่อสู้ของฐานล่าง จะหมดความหมายทันที

เราจะเห็นว่าทีมเล็กๆพยายามที่จะพัฒนาทีมให้ดีขึ้นเพื่อจะขึ้นมาแข่งUCLให้ได้ หลายๆทีมลงทุนหนักเพื่อสร้างสนามใหม่ ยกตัวอย่างเช่นเอฟเวอร์ตันเป็นต้น ในขณะที่ดังที่เซอร์อเล็กซ์บอก มีทีมเล็กๆจากต่างภูมิภาคที่พยายามอย่างหนัก เพื่อที่จะเข้าร่วมในรายการเหล่านี้ให้ได้

มันคือคุณค่าของการให้ความสำคัญแก่ทีมเบื้องล่าง ให้พวกเขามีโอกาสขึ้นมาแข่งขัน และสามารถที่จะรับรายได้ เพื่อมาปรับปรุงพัฒนาทีม หรือหล่อเลี้ยงสโมสรต่อไป

หากESLเกิดขึ้น สิ่งต่างๆเหล่านี้ของทุกทีมจะฟาล์วหมดทันที เพราะยังไงทีมใหญ่ๆก็จะไปตั้งลีกเล่นกันเอง ดูกันเองฝ่ายเดียว โดยที่มีโอกาสแค่น้อยนิดมากๆเท่านั้นที่ทีมเล็กเหล่านี้จะขึ้นมามีส่วนร่วมได้ คิดง่ายๆเอาแค่5ทีมที่จะมาร่วมในESL เอาอะไรมาวัดได้บ้าง และโอกาสจะเผื่อแผ่อย่างยุติธรรมมากสักแค่ไหน ก็ไม่มีใครตอบได้ เพราะมันยังไม่เกิดขึ้น

นี่คือจุดสำคัญที่เป๊ปพูดเอาไว้เรื่องการแข่งขัน และมันคือ "โอกาสของทีมเล็ก" ที่จะหดหายไปทันทีที่เกิดลีกยักษ์ผูกขาดเช่นนี้เกิดขึ้นมา

ทีมระดับเวสต์แฮมอาจจะไม่มีโอกาสอีกต่อไปในอนาคต

นี่คือเหตุผลหลักๆที่ทำให้หลายๆฝ่ายไม่สนับสนุนและคัดค้านการเกิดขึ้นของ ESL ซึ่งมันคือการไปรวมกลุ่มกันเอง ผูกขาดกันเองของยักษ์ใหญ่ ที่มีเรื่องของ "เงิน" เป็นสำคัญ ซึ่งเป็นการตัดสินใจของผู้มีอำนาจส่วนบนๆของสโมสรทั้งสิ้น โดยที่นักเตะ สตาฟฟ์ แทบไม่มีใครรู้เรื่องนี้มาก่อนเลย อย่างที่เห็นข่าวกันว่า บรรดาผู้จัดการทีมและนักเตะของทีมเหล่านี้ที่เข้าร่วม (Big 6) ไม่มีใครรู้เรื่องนี้มาก่อนเลย

(แมนยูถือว่าโชคดีมากที่ลงเตะก่อนมีเรื่องนี้แดงขึ้น ไม่งั้นนักเตะเสียสมาธิในเกมเจอเบิร์นลีย์แน่นอน มีผลกระทบแน่ๆ)

นักฟุตบอล โค้ช ส่วนใหญ่จะเป็นคนในวงการฟุตบอล ที่เล่นฟุตบอล และมีจิตวิญญาณกับเกมฟุตบอลสูงมาก เมื่อจะเกิดลีกยักษ์ใหญ่ที่ไปตั้งกันเองแบบผูกขาด ไม่ต้องแข่งขันใดๆทั้งสิ้น ภายในจิตใต้สำนึกของนักฟุตบอลแทบทุกคนย่อมต่อต้านแน่นอน เพราะมันทำลายความเชื่อและชุดความคิดของ "นักกีฬา" ที่มีอยู่ในชีวิตมาโดยตลอดว่า นักกีฬาต้องต่อสู้ แข่งขัน และใช้ความพยายามในการมาถึงจุดนี้ได้

แล้วอยู่ดีๆสโมสรไปกระทำการเช่นนี้โดยพละการ มันก็เหมือนการ"ทรยศ"หักหลังทั้งนักเตะ และแฟนบอลเต็มๆ ไม่แปลกใจว่าทำไมทุกเสียงของนักบอลพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่เอาESL

เช่นกัน ในส่วนของแฟนบอล ซึ่งที่อังกฤษหรือว่าถิ่นฐานของแต่ละทีมเหล่านั้นที่เข้าร่วม รวมถึงแฟนบอลอื่นๆที่เชียร์สโมสรที่ไม่ได้ร่วมสังฆกรรมกับESL ก็ไม่เห็นด้วยเช่นกัน เพราะนี่คือการเอาสโมสรที่พวกเขารักและสนับสนุน เอาไปปู้ยี่ปู้ยำหาผลประโยชน์โดยไม่สนใจเสียงแฟนบอลท้องถิ่น ซึ่งเป็นเสียงที่สำคัญมากๆ เพราะเป็นผู้ที่สนับสนุนรายได้โดยตรง และรวมถึงเรื่องของการเข้าเชียร์การแข่งขันด้วย

ในเรื่องของจุดconflictที่เป็นปมขัดแย้งของนักฟุตบอลนั้น ก็น่าขบคิดเช่นกันว่า นักฟุตบอลที่ประท้วงสโมสรเหล่านี้ เขาเองก็ยังเป็นผู้ที่ "รับเงินค่าเหนื่อยมหาศาล" จากต้นสังกัดอยู่ เพราะงั้นมันอาจจะดูขัดกันเองว่า การออกมาต่อต้านครั้งนี้ นักเตะไม่คิดถึงสโมสรของเขาใช่หรือไม่

ประเด็นตรงนี้นักฟุตบอลที่ค่าเหนื่อยสูงๆและออกมาต่อต้านเรื่องนี้ก็จะถูก "แซะ" ความลักลั่นย้อนแย้งตรงนี้พอสมควร

แต่จริงๆแล้ว นักฟุตบอลอยู่ในสถานะลูกจ้างของสโมสร เขามีสิทธิ์ที่จะแสดงความคิดเห็น และออกมาcall outว่าตัวเองไม่เห็นด้วยในเรื่องนี้ได้อย่างเต็มที่

เพราะอะไร? ผมเชื่อว่านักเตะเหล่านี้อยากให้ต้นสังกัดตัวเองรวยๆ และ"มีรายได้"มหาศาลเข้ามาอยู่แล้วแหละ ไม่ว่าใครหน้าไหน

แต่เราเชื่อว่า นักฟุตบอลที่ออกมาต่อต้านESLเหล่านี้ ต้องการให้สโมสร "หารายได้มาอย่างถูกต้องและไม่เห็นแก่ตัวกับผู้อื่น" มากกว่า คือหาเงินมาในวิธีที่ไม่ใช่การไปรวมกลุ่มกันตั้งลีกหาเงินกันเองโดยไม่สนใจทีมอื่น สโมสรอื่นๆเช่นนี้

นี่คือความคิดของนักฟุตบอล ซึ่งเขามีสิทธิ์ที่จะต่อต้านได้ โดยที่ไม่ควรถูกแฟนบอลบางส่วนแซะว่า ต่อต้านทำไมในเมื่อตัวเองยังรับรายได้อยู่

มีประเด็นพูดคุยเกิดขึ้น ในเรื่องของ"ทีมเล็ก"นั้น บางทีทีมเล็กเองก็ไม่ได้นึกถึงทีมใหญ่ๆเช่นกัน ดังในประเด็นที่เคยเกิดขึ้นเรื่องของการคัดค้านการเปลี่ยนตัว5คน ซึ่งจะสร้างความเหลื่อมล้ำได้เปรียบกันระหว่าง ทีมใหญ่ที่ขนาดทีมพร้อมกว่า ในขณะที่ทีมเล็กๆไม่มีsquad depthและทรัพยากรที่จะสู้ได้

เพราะหากกฎเปลี่ยนตัวดังกล่าวเกิดขึ้นได้ มันก็ไม่ได้สร้างความเหลื่อมล้ำอะไรเช่นนั้น เพราะทีมล่างๆก็เปลี่ยนตัวได้เท่ากัน ในขณะที่ก็ต้องพัฒนาตัวเองในการสร้างขนาดทีมให้ใหญ่และพร้อมมากขึ้น

เมื่อถึงเวลาจะเกิดESLขึ้นมา จะเห็นได้ว่าทีมเล็กไม่มีใครเห็นด้วยเลย และคัดค้านกันหมด ยกตัวอย่างเช่น14ทีมในพรีเมียร์ลีกเป็นต้น ถึงตอนนี้ทีมเล็กก็จะเรียกร้องกันขึ้นมาทันทีล่ะว่า "ทีมใหญ่ไม่สนใจทีมเล็ก" อย่างที่เห็น (ทั้งๆที่6ทีมดังกล่าวก็ยังไม่ได้แยกหนีจากพรีเมียร์ลีกไปซะที่ไหน)

ประเด็นตรงนี้ค่อนข้างพูดยากจริงๆ แต่หากจะให้พิจารณาว่า "ใครเอาเปรียบใครมากกว่ากัน?" ระหว่างทีมเล็กกับทีมใหญ่เหล่านี้ ชั่งน้ำหนักดูแล้ว คำตอบน่าจะเป็น "ทีมใหญ่" ที่เอาเปรียบมากกว่า เพราะไปตั้งลีกกันเอง หารายได้กันเอง โดยไม่สนใจระบบที่คนอื่นๆเข้าร่วมกันอยู่ เพราะมันเกี่ยวข้องกับสถานะทางการเงิน และการตั้งอยู่ของสโมสรเหล่านี้เลยว่าจะอยู่รอดหรือไม่ ซึ่งประเด็นมันใหญ่กว่าการจะแค่เอาเรื่องต่อต้านการเปลี่ยนตัวมาเทียบเคียงได้เลยว่า ทีมเล็กก็ไม่เห็นใจทีมใหญ่เช่นกัน

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ จะเห็นว่า การก่อตั้ง European Super League จะมีแต่คำคัดค้าน และข้อเสียมากมายที่ทีมใหญ่12ทีมนี้จะไปสรรหารายได้กันเอง ดังที่กล่าวและวิเคราะห์มา

แต่จริงๆแล้ว ESL ก็ไม่ได้ผิดไปซะทั้งหมด ในขณะที่อีกฝ่ายอย่างทาง "UEFA" ควรได้รับการปกป้องแต่อย่างใด

แย่พอกันทั้งคู่ และไม่ควรจะสนับสนุนใครเลยจริงๆ

บนโลกมนุษย์ทุกวันนี้เราปฏิเสธไม่ได้ว่า เรากำลังขับเคลื่อนบนโลกทุนนิยมเสรี และการที่12ทีมในESL จะไปตั้งรายการแข่งขันกันเองนั้น จริงๆแล้วก็ถือเป็นการแข่งขันเสรีที่ไม่ได้แปลกหรือผิดอะไร ในมุมมองของโลกทุนนิยม

เพียงแต่ว่า ข้อเสีย และความแย่ของการเห็นแก่ตัว มันเห็นได้ชัดมากๆจนไม่ควรจะเกิดขึ้นเท่านั้นเอง เพราะอย่างที่ทราบกัน ESL ถูกจัดตั้งขึ้นมาโดยการรวมตัวกันของพวกกลุ่มทุนอเมริกันทั้งนั้น อย่างเจ้าของทีมแมนยูไนเต็ด ลิเวอร์พูล อาร์เซนอล นี่ก็อเมริกันล้วน ไม่ว่าจะเป็นตระกูลเกลเซอร์, จอห์น เฮนรี่ และ โครเอนเก้ ซึ่งนำทัพโดยฟลอเรนติโน่ เปเรซ ของเรอัล มาดริด มันชัดเจนมากๆอยู่แล้วว่าพวกนี้เข้ามาลงทุนกับสโมสรในเชิงธุรกิจเป็นหลักอยู่แล้ว การจะจัดตั้งลีกดังกล่าว ก็เป็นเรื่องทางธุรกิจเป็นหลักเช่นกัน

เพราะมันอิงอยู่บนเหตุผลทางด้าน "เม็ดเงิน" ของผู้ได้รับผลประโยชน์ทั้ง12-15ทีมนี้ล้วนๆ

ดังนั้นมันชัดเจนว่าเป็นเรื่องเงินๆทองๆ เพราะผลประโยชน์ไม่ได้ไปตกอยู่กับคนอื่นเลย อย่างที่กล่าวไปแล้ว และการกระทำเช่นนี้ก็เป็นการตัดสินใจโดยไม่สนใจสโมสรอื่นๆอีกจำนวนมากที่ไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมอะไรด้วย

ทีมเก่าๆอย่างเชฟฟิลด์เว้นสเดย์ ก็จะถูกทิ้งห่างออกไปเรื่อยๆ

แต่ต้องถามว่า การแยกตัวออกไปครั้งนี้ มันเกิดขึ้นเพราะสาเหตุอะไร ก็ไม่ใช่ทางUEFAเองไม่ใช่หรือที่การจัดสรรรายได้นั้นไม่โปร่งใส และไม่สมน้ำสมเนื้อกับทีมใหญ่ๆเหล่านั้นที่ลงทุนไปมหาศาล แต่ได้รับผลตอบแทนไม่เพียงพอต่อการลงทุน

อย่างที่ทุกคนพูดกัน มีใครรู้เงินเดือนประธานยูฟ่าบ้างล่ะ?

ต้นเหตุที่ทำให้เกิด ESL ที่สโมสรพวกนี้จะไปหาเงินกันเอง ก็เกิดจากความไม่โปร่งใสเป็นธรรมของUEFAเองนั่นแหละที่ทำแบบนี้มาไม่รู้กี่ปีแล้ว ผลประโยชน์ถ่ายทอดสด ลิขสิทธิ์ต่างๆ เข้ากระเป๋าไปมหาศาล แต่สโมสรเหล่านี้ที่ลงทุนลงแรงไป กลับไม่ได้รับความเป็นธรรมเลยแม้แต่นิดเดียว ไม่เช่นนั้นคงจะไม่เกิดเรื่องแบบนี้เกิดขึ้น

เงินเพียงหยิบมือถูกหยิบมาโปรย ในขณะที่ก้อนใหญ่ๆ ถูกเก็บเอาไว้ในที่ที่ก็ไม่มีใครล่วงรู้ว่า "รายได้ทั้งหมด เข้ากระเป๋าไปเท่าไหร่แล้ว"

การจะเกิดขึ้นมาของ ESL จึงเป็นเหมือน "การแสดงพลังต่อต้านระบบ" ที่อยุติธรรม และไม่โปร่งใสที่ถูกครอบงำมานานเช่นนี้ ซึ่งไม่ใช่แค่ในเชิงสัญลักษณ์ แต่ครั้งนี้คือการเอาจริงเอาจังซะด้วย ไม่งั้นเรื่องไม่แดงขนาดหนักตลอดสามวันที่ผ่านมานี้ ซึ่งจริงๆแล้ว เหตุที่เกิดขึ้นมานี้ถือว่าเป็น "เรื่องดี" ของวงการฟุตบอลซะด้วยซ้ำที่มีการไฟต์กันเช่นนี้เกิดขึ้น

ยูฟ่าที่อยู่ในสถานะ "เสือนอนกิน" กินจนพุงออกอยู่ฝ่ายเดียว ก็ต้องหนาวๆร้อนๆบ้าง และไม่สามารถทำแบบเดิมได้อีกต่อไป

ปัญหาเรื่องของความละโมบ ความหิวเงินของยูฟ่าเองก็มีให้เห็นไม่ต่างกัน ดีไม่ดีแย่กว่าESLซะด้วยซ้ำ เพราะนอกจากรายได้มหาศาลที่จ่ายตอบแทนสโมสรอย่างไม่เป็นธรรมแล้วนั้น พวกเขายังมีท่าทีโลภเพิ่มขึ้นด้วยการพยายามจะปรับเปลี่ยนรูปแบบของยูฟ่าแชมเปี้ยนส์ลีก ด้วยการนำเอาระบบของสวิตเซอร์แลนด์มาใช้ ที่เรียกว่า "Swiss Model" มาปรับรูปแบบUCL

ยูฟ่าจะทำการเพิ่มจำนวนทีมใน UCL จากเดิม32ทีม กลายเป็น36ทีม

ดูเผินๆเหมือนจะดี มีทีมได้เข้าร่วมมากขึ้น แต่จริงๆแล้ว ยูฟ่าเองต่างหากที่จะได้รายได้เพิ่มขึ้นเพราะมีทีมเข้ามาเยอะกว่าเดิม การลงเตะ ลิขสิทธิ์แข่งขันจะมากขึ้นอีกส่วนหนึ่ง

นอกจากนี้ยังไม่พอ ยังจะเพิ่มรูปแบบของSwiss Modelเข้ามาด้วยการให้ทุกทีมอยู่รวมคละกันไปเลย ไม่ต้องแบ่งกลุ่ม แล้วจัดโปรแกรมแข่งขึ้นมาทีมละ10นัดโดยประมาณ แล้วแต่ว่าจะจัดสุ่ม ทั้งเหย้าและเยือนอย่างละครึ่ง ในการเจอทีมต่างๆไป

จากนั้นนำทีมที่มีคะแนนสูงสุด8ทีมเข้ารอบไปเป็นทีมวาง จากนั้น 9-24 จะต้องมาเตะเหย้าเยือนเพลย์ออฟ เพื่อหาคนเข้ารอบไปอีก8ทีม เพื่อไปเตะรอบน็อคเอ้าท์กันแบบเหย้าเยือนอีกรอบ จนกว่าจะถึงรอบชิง

ดูเผินๆแล้ว เหมือนจะดี เราได้มีทีมเตะมากขึ้น มีบอลให้ดูเยอะขึ้น

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ นักฟุตบอลจะต้องรับภาระลงสนาม และมีเกมเพิ่มขึ้นเยอะมาก และจำนวนการแข่งขันทั้งหมดจากเดิม125นัด  อาจจะกลายเป็น 225นัดได้เลย ซึ่งมันเยอะมาก เฉลี่ยๆทีมนึงก็อาจจะต้องลงเล่น 15นัด ถึง19นัด(maxสุด) ซึ่งเยอะกว่าเดิมมากๆ เพราะขนาดว่าทีมที่ได้เตะถึงรอบชิง มากสุดยังแข่งแค่ "13นัด" เท่านั้นเอง

ลองคิดง่ายๆว่า แค่รอบแรกก็เตะต่างกัน4นัดแล้ว (เดิม6 ปรับเป็น10) แล้วถ้าพลาดตกอยู่ในอันดับ 9-24 เตะกันน้ำบานแน่นอนเพราะต้องเพลย์ออฟอีกประมาณ4นัด กว่าจะถึงรอบชิง อ่วมแน่นอน

ทั้งหมดนี้คือความคิดห่วยๆของทางยูฟ่าที่จะปรับรูปแบบที่ดีอยู่แล้ว ให้ทีมมากขึ้น เพื่อมีเกมเตะมากขึ้นเกือบสองเท่า ในการที่จะหารายได้และลิขสิทธิ์มหาศาลเข้ากระเป๋าเหมือนเดิม โดยไม่คำนึงถึงนักเตะที่เสี่ยงจะบาดเจ็บและต้องลงเล่นมากขึ้น ซึ่งสโมสรก็จะเสียหายมากกว่าเดิม ในขณะที่ "เงิน" ที่ได้จากUEFA ก็ไม่ได้ต่างจากเดิมมากนัก

มีการพยายามจะเอาใจและปรับเงินรางวัลจากยูฟ่า จากเดิน4.5พันล้านยูโร กลายเป็น 7พันล้านยูโร อันเกิดมาจากแรงกระเพื่อมของการจะจัดตั้งESLเกิดขึ้น เรื่องนี้เห็นได้ชัดเจนว่า หากไม่มีESL ทางUEFAก็จะเป็นเสือนอนกิน ฟันเงินมหาศาลเข้าตัวเองต่อไปเรื่อยๆโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ถ้าไม่มีสิ่งนี้ รับรองว่านอกจากเงินรางวัลไม่เพิ่ม ทีมฟุตบอลก็จะต้องรับภาระเพิ่มอีก

การเพิ่มเงินรางวัล จะไม่ใช่สิ่งสุดท้ายที่UEFAถอยอย่างแน่นอน ตราบใดที่ยังจะเดินหน้าเรื่องSwiss Model รับรองว่าเดี๋ยวมียกสองเกิดขึ้นมาอย่างแน่นอน

ลาสบอสตัวจริง

เปรียบเทียบดังนี้แล้วผู้อ่านจะเห็นทันทีว่า แม้ ESL จะเป็นการผูกขาด และไปโอบอุ้มกันเองของทีมยักษ์ใหญ่โดยไม่สนใจทีมรองๆที่จะไม่มีส่วนร่วมกับรายได้มหาศาลตรงนี้ แต่ในขณะที่ระบบเก่าของทางUEFAเอง ก็ไม่ได้มีอะไรโปร่งใสเลยทั้งสิ้นอย่างที่เห็นกันว่า รายรับรายจ่ายไม่เป็นธรรมอย่างมาก ทั้งๆที่มีรายได้มหาศาลเข้ามา เพราะงั้นแล้ว เราจึงแทบจะไม่อยากเชียร์ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเลย เพราะแย่พอกันทั้งคู่

ESL ก็ทรยศหักหลังแฟนบอลท้องถิ่น และทำลายโลกฟุตบอลโดยรวม ในขณะที่ UEFA ก็ทรยศต่อสโมสรผู้เข้าร่วม รวมถึงผูกขาดรายได้ฝ่ายเดียว โลภโมโทสันไม่ต่างกันกับอีกฝ่าย

แย่ด้วยกันทั้งคู่จริงๆ

ในฐานะแฟนบอลเราไม่สามารถสนับสนุนฝ่ายใดได้เลย หากจะพิจารณาด้วยเหตุผลที่ใจเป็นธรรม จะเห็นว่าควรต้องโดนโบกกบาลไม่ต่างกันเลย

แต่สาเหตุที่ ESL มีกระแสต่อต้านมากกว่า ก็เพราะว่ามันมีโอกาสที่จะทำลายโลกฟุตบอลได้สูงกว่า เพราะการผูกขาดที่ไม่ต้องมีการแข่งขันอีกต่อไป รายได้มหาศาลที่จะแบ่งกันเองแต่ทีมยักษ์เหล่านี้ซึ่งอุ้มกันเอง แข่งกันเอง รวยกันเอง และสุดท้ายก็กลายเป็นแค่ "เสือนอนกินตัวใหม่" เท่านั้น

การต่อต้านที่เกิดขึ้นจะเห็นว่า เหล่านักเตะเป็นตัวตั้งตัวตีสำคัญมากๆ เพราะเหมือนโดนสโมสรตัวเองทรยศ จึงต้องออกมาเดินหน้าประท้วงกันหนักๆอย่างที่เห็นกัน ไม่ว่าจะใครก็ต่อต้านทั้งสิ้น ส่วนนักเตะแมนยูไนเต็ดเองนั้นก็มีหัวหอกออกมาประท้วงเช่นกัน เช่นบรูโน่ที่ออกหน้าโพสต์คนแรก ในขณะที่ ลุค ชอว์ กับ แมกไกวร์ ก็ดำเนินเรื่องในการเข้าคุยกับผู้บริหารอย่างเอ็ดเช่นกันตามข่าวที่เกิดขึ้น

ส่วนในด้านของ "แฟนบอล" ทุกคนก็เห็นกันแล้วว่า แฟนบอลส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีใครเห็นด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งแฟนบอลต่างประเทศ และแฟนบอลท้องถิ่น ส่วนบนโลกออนไลน์ก็เช่นกัน ไม่ว่าจะแพล็ตฟอร์มไหน แฟนแท้แฟนเทียม แฟนredditอะไรก็แล้วแต่ เท่าที่เห็นส่วนใหญ่ก็ต่อต้านกันทั้งนั้น ยิ่งแฟนๆท้องถิ่นนี่คือชัดเจนเลย ทุกทีมที่เป็นแฟนBig 6 ดาหน้าออกมาประท้วงกันแทบทั้งสิ้น เห็นได้ชัดว่า นักเตะก็ไม่เอาด้วย สตาฟฟ์โค้ชต่างๆก็ไม่มีใครเอา ส่วนใหญ่จะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

(แต่ยูฟ่าเองก็ตีกินทุเรศเหมือนกัน เอาเสื้อต่อต้านESLหวังจะให้นักเตะกับ ผจก ใส่ แต่ในวันที่ลีดส์แข่งกับลิเวอร์พูล คล็อปป์ก็ปฏิเสธที่จะใส่ เพราะไม่อยากเป็นเครื่องมือของยูฟ่าเช่นเดียวกัน แม้คล็อปป์จะไม่เห็นด้วยเหมือนแฟนบอลเหมือนกัน)

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อคืนก็น่าจะชัดเจนแล้ว จากการที่เชลซีมีแมตช์จะเตะกับไบรจ์ตัน แฟนบอลเชลซีออกมาประท้วงปิดสนามกันอย่างที่เห็น จนเช็คก็ต้องมาเจรจาจนสุดท้ายแมตช์เลื่อนไปเล็กน้อยถึงได้เตะกันได้

เห็นชัดว่า "กระแสนี้ ไม่มีใครเอาด้วยเลย"

และสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อคืนวาน ใน24ชั่วโมงหลังของ2วันนรก จากข่าวESLนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ทีมค่อยๆมีการประกาศถอนตัวไปทีละสโมสร ไล่ตั้งแต่แมนเชสเตอร์ซิตี้นำทัพ ตามมาด้วยลิเวอร์พูล อาร์เซนอล สเปอร์ส แมนยูไนเต็ด และปิดท้ายด้วยเชลซี เป็นทีมสุดท้ายของเกาะอังกฤษ ตามมาด้วยอินเตอร์ แอตฯมาดริด และเอซีมิลาน จนถึงตอนนี้

จอห์น เฮนรี่ ประธานสโมสรลิเวอร์พูลออกมากล่าวคำขอโทษอย่างจริงใจ และยอมรับความผิดพลาดที่ดำเนินการโดยไม่บอกกล่าวแฟนบอล หรือสตาฟฟ์ของสโมสร โดยยอมรับว่าถ้าโปรเจ็คไม่ได้รับการสนับสนุนจากแฟนบอลพวกเขาก็จะไม่ดำเนินการต่อไป และขอโทษกับสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นการออกมาแถลงของเจ้าของทีมที่แสดงความจริงใจอย่างถึงที่สุด อย่างน้อยก็ยังรู้ และ"ยอมรับ"ว่าทำผิดพลาด

ในขณะที่รายล่าสุดสดๆร้อนๆ "โจเอล เกลเซอร์" ของพวกเราชาวปีศาจแดงก็ตามออกมาแสดงความขอโทษเช่นเดียวกัน โดยยอมรับว่า ESL ไม่น่าจะใช่วิธีการที่ถูกต้อง และขอโทษที่ล้มเหลวต่อการระมัดระวังและนึกถึงประเพณีซึ่งเป็นหลักคิดสำคัญของแมนยูไนเต็ดเอง และปิระมิดของโลกฟุตบอลที่สำคัญมาก

การออกมาแถลงขอโทษโดยตรงของเจ้าของสโมสร ซึ่งน้อยครั้งจะเกิดขึ้น ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีมากๆ แต่เราก็ไม่รู้ว่าจะเรียกศรัทธาและความเชื่อใจกลับมาได้หรือไม่ เพราะถ้าฉุกคิดดีๆ นี่ก็คือถ้อยคำขอโทษที่สวยงามจากการตัดสินใจจะเอาสโมสรที่แฟนบอลอย่างพวกเรารัก ไปหารายได้หาความมั่นคงอย่างไม่ถูกไม่ควร

นี่คือความสำคัญของสิ่งที่เรียกว่า "Supporters' trust" อย่างแท้จริง ที่loyaltyต่อ"สโมสร"อยู่เหนือสิ่งอื่นใด

แต่ไม่ใช่กับ"เจ้าของ"

ประเด็นความล้มเหลวในการตั้งซุปเปอร์ลีกตรงนี้สำคัญมากๆ เมื่อคืนเกิดแรงกระเพื่อมระดับมโหฬารทางฝั่งแมนยูเช่นกัน เมื่อสโมสรประกาศว่า เอ็ด วู้ดเวิร์ด ประกาศลาออกจากตำแหน่งรองประธานสโมสรแล้วเป็นที่เรียบร้อยโดยจะทำงานถึงแค่สิ้นปี2021นี้เท่านั้น และแมนยูไนเต็ดเองก็แถลงออกจากการเข้าร่วมก่อตั้ง ESL อย่างเป็นทางการ

ตามข่าวอย่างที่บอกไปว่า เอ็ดต้องต่อสายคุยกับนักเตะโดยทันที เพราะหลายฝ่ายไม่พอใจและขอการพูดคุยเกิดขึ้น ซึ่งหลังฉากเราก็ไม่รู้ว่า เป็นเพราะอะไรถึงเกิดการลาออกในตำแหน่งสำคัญนี้

มีข่าวรายงานว่าจริงๆแล้วมีแพลนจะออกอยู่แล้ว แต่การเกิดเรื่อง ESL แดงขึ้นมา เอ็ดจึงจำเป็นต้องประกาศลาออกเร็วกว่าเดิม เราก็ไม่รู้ว่าจริงเท็จแค่ไหน แต่เป็นที่แน่นอนว่า การลาออกของเอ็ดครั้งนี้ คือผลจากการ "ล้ม" ลงของโปรเจ็ค ESL อย่างแน่นอน

จะบอกว่าเอ็ดเป็นเครื่องสังเวยเหตุการณ์นี้ก็อาจพูดได้

การลาออกในครั้งนี้มีนัยอย่างแน่นอน แฟนผีสบายใจได้ว่า "มันมีเรื่องแน่ๆ" เอ็ดอาจจะต้องลาออกเพื่อลดแรงกดดันที่จะเข้ามาในเรื่องนี้ จากการที่สโมสรพยายามจะดันโปรเจ็คดังกล่าว (เป็นตัวสำคัญซะด้วย) หรือไม่เช่นนั้นก็คือ เขาอาจจะไปดำเนินการกับฝ่าย ESL เองแบบเต็มๆในอนาคตก็อาจจะเป็นไปได้ ไม่น่าแปลกใจว่าทำไมริโอ ถึงได้เรียกร้องดีๆให้เอ็ดออกมาอธิบายเรื่องที่เกิดขึ้น ว่าทำไมแมนยูไนเต็ดถึงทำเช่นนี้

แต่สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นก็คือ การลาออกของเอ็ด มันอาจจะไม่ใช่เรื่องดีสำหรับแมนยูไนเต็ดไปซะทุกเรื่อง

แฟนผีหลายๆคนอาจจะดีใจที่เอ็ดออกจากการบริหารของเราในอนาคต แต่อย่าลืมว่า แกก็เป็นซัพพอร์ตโปรเจ็คโซลชามาตลอด ในฐานะคนรับประกันเก้าอี้ให้โอเล่เลย แผนงานต่างๆถูกวางเอาไว้เรียบร้อย และเริ่มมีการจัดสรรตำแหน่งในสโมสรมากขึ้น แต่ในที่สุดก็เกิดประเด็นดังกล่าว

น่าเป็นห่วงต่อโปรเจ็คระยะยาวของโซลชาเล็กน้อยว่า ใครที่เข้ามาใหม่ หรือบอร์ดบริหาร จะสนับสนุนเขายังไงต่อไปบ้างในอนาคต ซึ่งมันอาจจะดีขึ้นหรือแย่ลงก็ได้ ไม่มีใครรู้

เห็นรูปนี้แล้วควรสบายใจก่อนใช่มั้ย

ที่แน่ๆสโมสรสูญเสียความสามารถในการดำเนินการด้านจัดการดีลสปอนเซอร์มหาศาลจากเอ็ดไปพอสมควร จากการทำงานกับที่นี่มาเป็นสิบกว่าปี เราได้เห็นผลงานทางธุรกิจแล้ว ก็ต้องถือว่าเรื่องเชิงธุรกิจของสโมสรทำได้ดีเลยทีเดียว มีปัญหาก็คือเรื่องทางด้านฟุตบอลเท่านั้น เพราะแกและทีมเป็นผู้บริหารที่ไม่ได้มีความรู้เรื่องฟุตบอลเลย แต่ด้านการบริหารจัดหารายได้นี่คือตัวท็อปจริงๆ

การสูญเสียความสามารถในการหารายได้ และการขาดหัวเรือใหญ่ที่ซัพพอร์ตโอเล่ไป เป็นเรื่องที่น่ากังวล และต้องลุ้นกันต่อไปว่า อนาคตคนที่จะเข้ามาทดแทนนั้นจะเป็นยังไงต่อไป

แต่ที่แน่ๆ มันยาวแน่นอน เพราะตอนนี้เหลือแต่ "บอร์ดบริหาร" ที่เป็นตระกูลเกลเซอร์เน้นๆแล้วที่ยังคงอยู่

มีกระแสข่าวขึ้นมาหลังจากการถอนตัวครั้งนี้ว่า อาจจะส่งผลต่อการตัดสินใจขายสโมสรของตระกูลเกลเซอร์เลยก็ได้

ซึ่งแม้จะเป็นเพียงแค่การตีขายข่าวเท่านั้น แต่ถามว่ามีมูลไหม มันก็อาจจะมี เพราะหากว่าการสร้าง ESL ล้มเหลว และกลุ่มทุนมะกันเหล่านี้สูญเสียโปรเจ็คทำเงินไปแล้ว มีโอกาสที่พวกเขาจะยอม "สละเรือ" ลำนี้ที่ไม่สามารถสร้างผลกำไรมหาศาลได้ และอาจจะขาดทุนต่อไปเรื่อยๆท่ามกลางสภาวะโควิด

มีโอกาสอยู่เหมือนกันที่พวกเกลเซอร์จะตัดสินใจcut loss ยอมตัดสินใจขายเพื่อไม่ให้ขาดทุนกว่าเดิม และปล่อยหุ้นสโมสรออกไปก็อาจจะเป็นได้

เรื่องของความเป็นเจ้าของสโมสรเหล่านี้ถูกพูดถึงมานานแล้ว เพราะเมื่อมีเจ้าของเข้ามาเทคโอเวอร์ ก็็จะเป็นอย่างที่เห็น คือสิทธิ์การตัดสินใจทั้งหลายจะถูกดำเนินโดยเจ้าของกลุ่มเดียวทันที นั่นคืออังกฤษ แต่ลีกเพื่อนบ้านอย่างบอลเยอรมันนั้นมีกฏที่เรียกว่า "50+1" ควบคุมอยู่ในบุนเดสลีกาที่ถูกใช้งานมานานแล้ว

นั่นคือผู้ถือหุ้นร้อยละ51ของสโมสรจะต้องเป็นแฟนบอลสโมสรที่เป็นสมาชิก เพื่อที่จะป้องกันการครองอำนาจเบ็ดเสร็จของเจ้าของรายเดียว ดังนั้นการจะตัดสินใจทำอะไรต่างๆจะต้องผ่านการตัดสินใจของแฟนบอลโดยรวมด้วย เพื่อไม่ให้เจ้าของจะทำอะไรกับสโมสรได้ อย่างเช่น มาถึงเปลี่ยนโลโก้แมนยูกลายเป็นทีม "มังกรแดง" แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดแทน ถ้าเจ้าของเป็นกลุ่มทุนจีนงี้

ด้วยแนวคิดภายในของเยอรมัน ที่ส่วนใหญ่มีแนวโน้มจะไม่เข้ากับความคิดสายทุนนิยมเสรี จึงเป็นพื้นฐานอันแข็งแกร่งของฟุตบอลเยอรมัน จะเห็นว่าESL ไม่มีทีมเยอรมันอย่างบาเยิร์นหรือดอร์ทมุนด์เข้ามาร่วมด้วยเลยสักทีม ตรงนี้สะท้อนแนวคิดชัดเจน เช่นเดียวกันกับPSGด้วย

มาถึงตอนนี้ ค่อนข้างแน่ชัดว่าโปรเจ็ค ESL นั้นน่าจะ "ล่ม" ลงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แม้ว่าจะมีการต่อต้านเกิดขึ้นทุกสารทิศ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นเรากลับมองว่ามันเป็น"เรื่องดี" มากๆ ที่เกิดกระแสต่อต้านUEFAนี้เกิดขึ้น เพื่อให้รู้ว่าพวกเขาไม่ใช่เสือนอนกินไร้เทียมทานที่จะแดกเงินได้ตลอดไปแล้ว เพราะถ้ายังทำอะไรไม่เข้าท่าอีก หากว่าทีมเหล่านี้มีพลังอำนาจมากขึ้น และมีเหตุผลที่เมคเซนส์กว่านี้ และเรียกเสียงเห็นชอบจากแฟนบอล และนักเตะขึ้นมาได้สำเร็จในรอบหน้าเมื่อไหร่ รับรองว่า UEFA มีหนาวแน่นอน เพราะยูฟ่า ฟีฟ่า นี่ก็ขึ้นชื่อเรื่องความสกปรกไม่แพ้กัน

การเกิดขึ้นมาของ ESL ทำให้องค์กรทั้งสองนี้จำเป็นต้องรีบปรับตัวเหมือนกัน โดยที่เห็นชัดว่าก็กลัวไม่น้อย แม้จะพยายามออกมาทำตัวเป็นพระเอกว่า ให้อภัยทีมที่จะไปร่วมตั้ง ESL และไม่แบนพวกเขาออกจากรายการแข่งปัจจุบันก็ตาม

ทำเหมือนว่าพวกตัวเองขาวสะอาดและเป็นฝ่ายถูกซะเต็มประดา

หากไม่มี ESL เกิดขึ้น เงินรางวัลจะไม่มีทางเพิ่มให้เห็นแน่นอน และก็จะทำอะไรตามใจชอบเช่นเคย แม้กระทั่งวิธีบริหารงานที่เพิ่มทีม เพิ่มแมตช์แบบชุ่ยๆ และความโปร่งใสไม่มีให้เห็นในกระเป๋าเงินของพวกเขานั้น มันก็จะค่อยๆถูกตั้งคำถามมากขึ้นเรื่อยๆ

ยูฟ่าไม่มีทางกุมอำนาจต่อรองทีมเหล่านี้ได้นาน ถ้ายังไม่ปรับตัวและทำเหมือนเดิม หากว่ามีระบบที่เข้าท่ากว่านี้ และเรียกเสียงสนับสนุนได้ มีความเป็นธรรมต่อทีมทุกทีมเท่าเทียมกันมากพอ ยูฟ่ามีหนาวแน่นอน เพราะทุกวันนี้พวกเขาก็ต้องง้อทีมแม่เหล็กเหล่านี้ในการทำเงินมหาศาล

ผลประโยชน์และการคอรัปชั่นไม่เข้าใครออกใคร

จริงอยู่ว่า ESL มีเรื่องไม่ชอบมาพากล และจะทำลายโลกฟุตบอลอย่างมาก โดนต่อต้านก็สมควรแก่เหตุผลแล้ว แต่ประเด็นนี้ก็ไม่ได้มีแต่ข้อเสีย เพราะมันทำให้เราได้ตั้งคำถามต่ออะไรบางอย่างที่ไม่ยุติธรรม อย่างเช่นองค์กรอย่างUEFAด้วย

เป็นการลอง "เอาจริง" แค่ครั้งแรกที่ส่งแรงกระเพื่อมมหาศาลมาถึงองค์กรแห่งความมืดนี้ และเชื่อเถอะว่า ในอนาคตเดี๋ยวมีอีกแน่นอน เพราะตราบใดที่ยังไม่ยอมล้มเลิกSwiss Model มันไม่มีทางจบง่ายๆแน่

ในฐานะแฟนบอลธรรมดาคนนึงที่ชื่นชอบการดูฟุตบอล และอยากให้ทุกอย่างมันถูกต้อง อย่างน้อยที่สุดเราก็ยืนอยู่ข้างเดียวกันกับ "แฟนบอล" ดูท่าจะเป็นเรื่องที่ดีที่สุดแล้ว โดยจะต้องตั้งอยู่บนเหตุผล มากกว่าการยึดมั่นแต่เรื่องขนบธรรมเนียมประเพณีฟุตบอลแบบconservative แค่อย่างเดียว

การต่อต้านต้องรู้ว่าต่อต้านเพื่ออะไร เหตุผลอะไร ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องถูกใจไม่ถูกใจอย่างเดียวว่ามันทำลายของเก่าที่คุ้นเคย แต่ต้องพิจารณาให้ครบทุกมิติจึงจะดีที่สุด

วลี Football without fans is nothing ของ Jock Stein และ Sir Matt Busby จึงยังคงเป็นจริง และจะเป็นอมตะไปตลอดว่าแฟนบอลคือทุกสิ่งจริงๆ อย่างที่เหตุการณ์ครั้งนี้ออกมาแล้วว่า ไม่ว่าจะเป็นโปรเจ็คที่จัดตั้งโดยเหล่าผู้มีอำนาจหรือกำลังเงินมากเพียงใด แต่ถ้าแฟนบอลไม่เอาด้วย ทุกอย่างก็จบ

แต่ "ฟุตบอล" ก็ต้องเดินไปด้วยกัน ทั้งแฟนบอล นักฟุตบอล สตาฟฟ์โค้ช สโมสร รวมถึงต้องรักษาสมดุลกับมิติในเชิงธุรกิจด้วยเพื่อหล่อเลี้ยงกิจการ โดยทำให้โปร่งใส ถูกต้อง ชัดเจน และเป็นธรรมเท่านั้น จึงจะถูกต้องที่สุด

ขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่ได้เลย สองสิ่งนี้ต้องเดินไปด้วยกันอย่างสมดุลเท่านั้นจึงจะถูกต้องที่สุด

ปัญหาที่เกิดขึ้นในกรณีของ ESL นี้ เป็นเพราะการนำเอาเรื่องของ "ธุรกิจ" นำหน้า "จิตวิญญาณแห่งฟุตบอล" ที่อยู่คู่กันมานานแสนนานแล้วเท่านั้นเอง จึงเกิดเป็นกระแสต่อต้านนี้ขึ้นมา

เรื่องก็มีเท่านี้เอง

กว่าจะฝ่าฟันจนเกิดภาพนี้ได้ แมนยูไนเต็ดต้องต่อสู้มาเยอะเหมือนกัน และไม่ได้เกิดขึ้นได้เพียงแค่ช่วงเวลาปีเดียว

แต่จะด้วยเหตุผลใดก็แล้วแต่ ความรู้สึกแรกของผู้เขียนที่เกิดขึ้นมาต่อเรื่องนี้คือ เรานึกถึงเหล่านักเตะของทีมที่เชียร์อยู่เป็นอันดับแรกจริงๆ เราอยากที่จะยืนหยัดอยู่ข้างนักเตะและสตาฟฟ์โค้ชของเราอย่างถึงที่สุด เพราะนี่คือตัวแทนจิตวิญญาณของสโมสรที่เรารักและเชียร์มาตลอด

ผู้บริหาร เป็นเพียงแค่ผู้ถือกรรมสิทธิ์สโมสร แต่"จิตวิญญาณสโมสร"ที่แท้จริง มันอยู่ที่นักเตะ แฟนบอล และเหล่าบุคลากรที่ช่วยกันพาทีมก้าวไปข้างหน้าอยู่ในขณะนี้ อย่างเช่นทีมงาน สตาฟฟ์โค้ช และเด็กๆนักเตะชุดนี้นั่นเอง ที่เราควรจะซัพพอร์ตให้ถึงที่สุด

เราเชื่อในจิตวิญญาณของฟุตบอล และสิ่งนั้นก็มีอยู่ในตัวของเหล่าบุคคลที่กำลังต่อสู้เพื่อแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดอยู่ในตอนนี้

ดังนั้นเมื่อพวกเขาลงสนามและต่อสู้เพื่อตราบนหน้าอกของทีมที่เรารัก แฟนบอลก็ต้องสนับสนุนตัวแทนของจิตวิญญาณสโมสรเหล่านี้ร่วมไปด้วยกัน

นี่น่าจะสำคัญและถูกต้องที่สุดแล้ว

-ศาลาผี-


ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ระดับ : {{val.member.level}}
{{val.member.post|number}}
ระดับ : {{v.member.level}}
{{v.member.post|number}}
ระดับ :
ดูความเห็นย่อย ({{val.reply}})

ข่าวใหม่วันนี้

ดูทั้งหมด