:::     :::

Neves / Ndidi / Rice ใครเหมาะกับการแก้ปัญหากลางรับปีศาจแดง

วันอาทิตย์ที่ 16 พฤษภาคม 2564 คอลัมน์ #BELIEVE โดย ศาลาผี
5,287
ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
สามรายชื่อที่แฟนผีพูดถึงมากที่สุดในการจะซื้อมาเสริมทีมในตำแหน่งมิดฟิลด์ตัวต่ำ โดยพิจารณาจุดเด่นเปรียบเทียบกันแต่ละตัว และดูว่าคุณสมบัติของใครเหมาะกับการแก้ปัญหาในภาคต่างๆ(อันมากมาย)ในแดนกลางแมนยูไนเต็ด

การแข่งขันตลอดฤดูกาล2020/21ที่ผ่านมา ทำให้เราได้เห็นพัฒนาการของทีมนักเตะแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด ภายใต้การสร้างทีมของโซลชาว่ามีการปรับปรุงพัฒนาอย่างไรบ้าง สิ่งใดคือจุดแข็งที่ดีของทีม และส่วนไหนที่เป็นจุดอ่อนซึ่งยังต้องแก้ไขและปรับปรุงต่อไป

พิจารณาSquad Player ของนักเตะวัยรุ่นชุดนี้ถือว่ามีค่าเฉลี่ยอายุค่อนข้างน้อยมากถ้าเทียบกับทีมอื่นในพรีเมียร์ลีก และยังสามารถพัฒนาได้อีกเยอะมากในอนาคต ดังนั้นแผนการทำทีมระยะยาวจึงค่อนข้างเหมาะในการนำมาใช้พัฒนาทีมนี้ เพราะช่วงอายุดังกล่าวยังต้องใช้เวลาในการพัฒนาสั่งสมไปเรื่อยๆกว่าที่เด็กชุดนี้ส่วนใหญ่จะพีค ก็น่าจะยังอยู่อีกสักราวๆ 2-3ปีข้างหน้า

เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว สิ่งที่สโมสรเริ่มทำขึ้นมานับตั้งแต่โซลชาก้าวขึ้นมาเป็นผู้จัดการทีม และเริ่มใช้ long-term management ในการสร้างทีมขึ้นมา จึงเป็นการวางแผนงานทำทีมที่ถูกต้องมากๆ ซึ่งเมื่อเป็นการสร้างทีมระยะยาว ดังนั้นช่วงต้นๆของแผนการสร้างทีมใหม่ แฟนบอลจะต้อง"เข้าใจ"ทีมหน่อยว่ามันกำลังอยู่ในช่วงพัฒนาอยู่ ดังนั้นจุดอ่อนและช่องโหว่มันจึงยังคงมีอยู่แน่ๆ ไม่งั้นมันก็ไม่ใช่สิ่งที่เรียกว่าการสร้างทีมแล้ว ถ้ามันจะไม่มีจุดอ่อนอะไรเลยแล้วคว้าแชมป์ได้ขนาดนั้น ซึ่งเรายังไปไม่ถึงตรงนั้น

แต่กำลังคืบหน้าไปเรื่อยๆอยู่

อยากให้แฟนผีใจเย็นๆตรงๆนี้ เพราะหลังจากที่โซลชาเข้ามาคุมทีม2ปีครึ่ง สัญญาณของการพัฒนามันมีให้เห็นชัดเจน เมื่อแมนยูไนเต็ดหลุดพ้นจากยุคมืดของสามผู้จัดการทีมก่อนหน้านี้แล้วเรียบร้อย ที่อันดับขึ้นๆลงๆไม่มีความแน่นอน และทำได้เพียงแค่เล่นUCLแบบปีเว้นปีเท่านั้น

แต่ปีนี้เรากำลังจะเมคชัวร์การได้เล่นถ้วยแชมเปี้ยนส์ลีกต่อเนื่องอย่างมั่นคงแบบไม่ต้องลุ้นกันเหนื่อยเหมือนปีที่แล้ว เมื่อซีซั่นนี้กำลังใกล้จะจบลงด้วยการจบอันดับ2ของแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ดีที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ และก็เป็นรองเพียงแค่แมนเชสเตอร์ซิตี้ซึ่งเป็นแชมป์ลีกเท่านั้นเอง

ผลงานในลีกคือสิ่งที่เป็นรูปธรรมที่สุดในการวัดว่าทีมมีมาตรฐานการเล่นดีขึ้นหรือไม่ อย่างที่โซลชาบอกว่าเกมลีกมันเป็นตัวบ่งชี้ตรงนี้ได้ดีกว่าการคว้าแชมป์บอลถ้วย แต่ถึงกระนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าโซลชาจะทิ้งบอลถ้วยแต่อย่างใด และการจะคว้าแชมป์ยูโรปาลีกให้ได้ปีนี้ก็ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญในการต่อยอดไปปีหน้าด้วย ซึ่งมันหมายถึงความเชื่อมั่นจากบอร์ด แฟนบอล และนักเตะที่จะย้ายมาร่วมทีมในอนาคตว่า เขาจะมั่นใจได้มากน้อยแค่ไหนว่า มาทีมนี้แล้วจะมีโอกาสประสบความสำเร็จจริงๆ

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว เราจึงยังต้องเสริมทีมกันต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง โดยมีรากฐานเป็นนักเตะอายุน้อยๆทั้งหลายในทีม ที่ต้องเสริมนักเตะชั้นยอดจากข้างนอกเข้ามาเสริมให้ทีมแน่นและแข็งแกร่งยิ่งขึ้น ซึ่งทีมของเราในตอนนี้แฟนผีก็คงจะรู้กันดีว่า จุดไหนคือจุดแข็ง และสิ่งใดคือจุดอ่อนที่ต้องแก้ไข

จุดแข็งที่เรามีตอนนี้ที่เห็นชัดๆก็คือเรื่องของ "การทำเกมรุกของทีม" ที่ค่อนข้างแน่นอน และหวังผลได้ โดยที่สามแกนหลักของแนวรุกเราตอนนี้ที่คาดหวังประตูได้แน่ๆก็คือ บรูโน่ แฟร์นันด์ส / เอดินสัน คาวานี่ / ปอล ป็อกบา นี่คือสามนักเตะระดับท็อปคลาสในแนวรุกของทีมที่ต้องบอกว่าไม่ได้แพ้ทีมชั้นนำอื่นๆในลีกเลย

ถ้าแฟนผีจะสังเกตตัวเอง ผมค่อนข้างเชื่อว่าส่วนใหญ่เวลาเราดูแมนยูช่วงนี้กัน เวลาที่ทีมโดนนำเราส่วนใหญ่จะคิดตรงกันในแง่ที่ว่า เห็นแล้วก็ไม่ตกใจเท่าไหร่เวลาโดนนำ เพราะเชื่อว่าเดี๋ยวครึ่งหลังก็ยิงคืนได้แน่ๆ

มันคือ "ความเชื่อมั่น" ที่แนวรุกทีมเราสร้างขึ้นมาให้แฟนผีโดยไม่รู้ตัว

มันคือความมั่นใจว่าแนวรุกของเรายิงประตูได้แน่ๆ ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ และยิ่งมีแนวรุกวัยรุ่นสองคนที่เป็นตัวสลับกันมาสอดแทรกยิงประตูให้ทีมด้วยอย่าง มาร์คัส แรชฟอร์ด และเมสัน กรีนวู้ด ยิ่งเติมความสดให้กับเกมรุกของทีมได้เยอะ

มันคือความเชื่อมั่นจริงๆ

นอกจากแนวรุก เรามีแอเรียไหนอีกที่ไว้วางใจได้? ส่วนตัวผู้เขียนมองว่า ตำแหน่งแบ็คทั้งสองข้างของทีม ก็ถือว่าเป็นแอเรียที่ทีมเราแข็งแกร่งสุดๆ เพราะอย่างที่ทราบกันแล้วว่า ลุค ชอว์ ผลงานกระฉูดแตกขนาดไหน ทั้งเกมรุกเกมรับ และการสร้างสรรค์โอกาสบุกให้ทีมทุกๆเกมจนกลายเป็น Playmaker Full-Back อีกคนไปแล้ว

อีกฟากฝั่งหนึ่งอย่าง อารอน วานบิสซาก้า ก็มีผลงานที่แข็งแกร่งไว้ใจได้สุดๆในแง่แนวรับที่ยังไม่มีดรอปเลยจนถึงตอนนี้ แบ็คขวาคือแน่นมากๆและคู่แข่งแทบไม่สามารถเจาะฝั่งนั้นได้เลยหากว่ามีAWBเล่นอยู่ในสนาม (ความแตกต่างเห็นชัดเจนตอนที่ดาวรุ่งอย่างแบรนดอน ลงสนาม โดนกระชากผ่านรัวๆเลย)

แต่นอกจากเกมรับที่สุดโหดแน่ๆแล้วนั้น ตอนนี้วานบิสซาก้ายังพัฒนาเรื่องการทำเกมรุกได้เด่นชัดมากๆอย่างชัดเจน จากที่ย้ายมาแรกๆเกมรุกบอดมาก แต่ซีซั่นนี้พัฒนาตัวเองอย่างเห็นได้ชัด กล้าเล่นรุกมากขึ้น เติมสูงขึ้น และทำผลงานได้ดีทั้งการขึ้นมาสุดเส้นเอง หรือทำเกมร่วมกับปีกขวาอย่างเมสัน กรีนวู้ด เป็นต้น

ที่กล่าวมานั้นคือจุดแข็งของทีมเราเท่าที่มีอยู่ แต่ในความเป็นจริงเราก็มีจุดอ่อนที่ต้องแก้ไขในภาคการเล่นและการเสริมทีมอยู่เยอะมากเช่นกัน จุดอ่อนอย่างเป็นรูปธรรมของทีม เท่าที่แฟนผีพอจะมองเห็นจากการดูทีมรักลงแข่งทุกสัปดาห์ เท่าที่นึกออกเรื่องใหญ่ๆก็มีดังนี้

-ปัญหาการรับมือลูกเซ็ตพีซ

เรื่องนี้ยังคงแก้ไม่ตกเหมือนเดิม และจากข้อมูลล่าจาก The Athletic UK เปิดเผยออกมาว่า ประตูทั้งหมดที่แมนยูไนเต็ดเสียในฤดูกาลนี้ หากไม่รวมลูกจุดโทษนั้น ประตูทั้งหมดที่เราเสียในซีซั่นนี้ 37%ของทั้งหมดคือการเสียประตูจาก"ลูกเซ็ตพีซ" แบบเน้นๆ ซึ่งวัดเป็นสัดส่วนถือว่าสูงที่สุดในลีกจริงๆ นั่นแปลว่าทีมเรามีปัญหาในการรับมือกับลูกนิ่งค่อนข้างมาก

เป็นอีกเรื่องที่ต้องแก้ไขอย่างยิ่งในเรื่องการป้องกันตรงนี้ ไม่ว่าจะเป็นการหานักเตะที่โหม่งสกัดบอลเก่งๆ ซึ่งในทีมเรามีที่เก่งจริงๆอยู่เพียงคนเดียวคือแฮรี่ แมกไกวร์เท่านั้น นอกนั้นคือกากหมดจริงๆ ยิ่งแบ็คทั้งสองข้างของเรามักจะโหม่งแพ้บ่อยๆตามสถิติ ส่วนเซ็นเตอร์อื่นอีกสองคนอย่าง ลินเดอเลิฟ กับ ไบญี่ ก็ไม่ใช่กองหลังที่แย่งโหม่งได้เก่งแต่อย่างใด เราจึงมักจะโดนแย่งโหม่งได้บ่อยครั้ง

นอกจากนี้ในเรื่องของแทคติกการป้องกันเซ็ตพีซก็ยังต้องปรับปรุงและแก้ไขอย่างมาก เพราะทีมเรามักจะใช้วิธี"โซน"ป้องกันพื้นที่อันตรายที่บอลจะถูกโยนเข้ามา แต่หลายๆครั้งเราก็ยังเสียประตูอยู่ดี เพราะไม่ยอมmarkingประกบตัวคู่แข่งที่มักจะวิ่งหลุดมาโหม่งคนเดียวโล่งๆเสมอ

สถิติเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2564

-ปัญหาการขาดปีกขวา

ประเด็นนี้ถือว่าอยู่ในจุดของการเสริมตำแหน่งที่ขาด ซึ่งเอาจริงๆทีมเราไม่มีปีกขวาเลย หากไม่นับดาวรุ่งอย่าง อามัด เดียโล่ ที่ถือว่ายังเป็นแค่ดาวรุ่งของทีมที่ยังไม่สามารถฝากฝังให้รับภาระหนักได้เลยในทันที ต้องให้เวลาพัฒนาและเก็บประสบการณ์ต่อไปอีกหลายปี ในขณะที่ภาคการเล่นในพื้นที่ฝั่งขวาทุกวันนี้ มีที่เล่นได้ดีจริงๆในตัวหลักเพียงแค่คนเดียวนั่นก็คือ เมสัน กรีนวู้ด เท่านั้นเองที่เล่นกองหน้าฝั่งขวาได้อันตราย ทั้งในแง่การทำประตู และการสร้างสรรค์เกม มีส่วนร่วมกับเกมที่ดีขึ้นเรื่อยๆ

ถือว่าการเล่นตำแหน่งนี้ก็แบ่งเบาลงไปได้หน่อย เมื่อพอจะมีคนถูๆไถๆเล่นได้บ้าง เพราะแดนเจมส์ หรือแรชฟอร์ดเองก็สามารถมาลงตำแหน่งปีกขวาให้ทีมได้ชั่วคราว แม้จะไม่ดีเท่าไหร่ แต่ก็พอจะหาคนลงอุดๆไปก่อนได้ แต่ทีมเราก็ยังคงจำเป็นต้องนำเข้าปีกขวาแท้ๆเข้ามาอยู่ดีเพื่อสลับกันเล่นกับกรีนวู้ดให้พื้นที่ด้านขวาอันตรายและทำเกมรุกใส่คู่แข่งได้ ซึ่งฤดูกาลนี้คงจะได้ลุ้นกันกับดีลของ เจดอน ซานโช่ อันอีกยาวๆ เพราะในช่วงนี้ใกล้จบซีซั่น ข่าวก็เริ่มหนาหูขึ้นเรื่อยๆอีกครั้งเหมือนปีที่แล้วเป๊ะ ยิ่งราคาที่ลดลงมาอยู่ราวๆ80-90ล้านปอนด์ ก็ยิ่งมีโอกาสเป็นไปได้มากขึ้น

-ปัญหาขาดเซ็นเตอร์แบ็คที่ไว้ใจได้มายืนเป็นหลักคู่แมกไกวร์

เรื่องนี้คือปัญหาในด้านที่ต้องใช้การเสริมทีมช่วยในการซื้อนักเตะกองหลังที่ดีพอจะเข้ามายืนจับคู่กับแมกไกวร์ในระยะยาวให้มีการเล่นที่มั่นคง เพราะCBตัวหลักอีกสองคนที่เหลือต่างก็ยังมีจุดอ่อนของตัวเองทั้งนั้น เช่นลินเดอเลิฟ ตั้งเกม+ครองบอลได้ดีจริง แต่มีปัญหาเรื่องการเล่นเกมรับที่ไม่แข็งแกร่ง และมักจะสกัดบอลไม่ขาดอยู่เสมอจนทำให้ทีมเสียประตู, ในขณะที่สต็อปเปอร์อย่างไบญี่เอง ก็ขาดความแน่นอนในเรื่องของการเล่นและการยืนตำแหน่งที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ แม้จะมีการแทคเกิลที่ดีที่สุดในบรรดาเซ็นเตอร์ทั้งหมดของทีมก็ตาม

หากเป็นไปได้ เซ็นเตอร์คนใหม่ที่เข้ามาก็ควรที่จะมีเกมรับที่แข็งแกร่งมากๆในการเข้าสกัดบอลที่แน่นอน ทั้งtackleและinterception แต่ในขณะเดียวกันถ้าจะให้ดีก็ควรเป็นกองหลังที่เล่นลูกกลางอากาศได้ดีใกล้เคียงกับแมกไกวร์ด้วย เพื่อที่จะแบ่งเบาปัญหาจุดนี้ และไม่เป็นจุดอ่อนฝั่งCBที่โดนคู่แข่งบอมป์ใส่ อย่างที่เราเห็นว่ากองหน้าคู่แข่งมักจะมายืนประกบอยู่กับกองหลังอีกตัวที่ไม่ใช่แมกไกวร์อยู่เสมอ เพราะสามารถเอาชนะลูกโหม่งได้นั่นเอง

แต่สิ่งที่เป็นปัญหาหนักที่สุดมาตลอดซีซั่น ซึ่งส่งผลกระทบต่อความแน่นอนในด้านทรงการเล่นของทีมนั้น คือปัญหาเรื่องของ "มิดฟิลด์" ทีมเรา ซึ่งหลายๆครั้งมิดฟิลด์ของเราไม่สามารถสู้คู่แข่งได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการโดนเล่น"เพรสซิ่ง"ใส่ เรามักจะมีปัญหามากๆเวลาที่เจอทีมเพรสใส่อยู่บ่อยๆ เรียกได้ว่าทีมไหนมาเจอเราแล้วเพรส มีโอกาสทำให้แมนยูลำบากได้ทุกทีม

กับระบบ 4-2-3-1 ในการใช้กลางคู่ของโซลชานั้น คู่ที่เป็นตัวหลักในการใช้ลงdouble pivotตรงกลาง ที่เราเห็นกันบ่อยๆก็คือคู่ของ "แม็คเฟร็ด" สก็อตต์ แม็คโทมิเนย์ กับ เฟร็ด ที่จับเป็นคู่มิดฟิลด์ตรงกลางให้กับทีม

ปัญหาหลักโดยทั่วไปของสองคนนี้คือ เวลาเจอการโดนเพรสซิ่งสูงขึ้นมาบีบใส่การเล่นของพวกเขาหน้าแผงหลังฝั่งตัวเอง มักจะเอาตัวรอดไม่ค่อยได้ ทั้งในแง่ของชั้นเชิงทางบอลในการ "แกะเพรส" ของคู่แข่งเวลาที่ตัวเหล่านั้นบีบเข้ามา สองคนนี้มักจะช้าไปหนึ่งจังหวะ และมักจะตัดสินใจได้ไม่ค่อยดีในการหาช่องจ่ายหนีการโดนเพรส

ที่สำคัญสุดคือ ความสามารถเฉพาะตัวก็ไม่ดีพอจะเอาตัวรอดบอลเพรสได้มากพอ เนื่องจากทักษะในการholdingก็ไม่มีเชิงหรือทางบอลที่ดีมากพอ สุดท้ายแล้วจึงเสียบอลกันง่ายมากๆหน้ากรอบเขตโทษตัวเอง ส่งผลให้ทีมต้องเสียประตูง่ายๆแบบไม่น่าเสียบ่อยมาก กับประตู 1-3 ในเกมเจอลิเวอร์พูลยิ่งเปิดแผลชัดเจนจากการโดนเพรสหนักๆแล้วการเสียบอลก็ส่งผลต่อการเสียประตูในทันที

เรื่องนี้แฟนผีส่วนใหญ่ "รู้ดี" มาตลอด และยังคงเป็นปัญหาเดิมๆที่ทีมแก้ไม่ได้เสียที เห็นกันอยู่แทบทุกนัดเวลาโดนบีบสูงใส่

นอกจากเรื่องการโดนเพรสแล้วนั้น ก็ยังมีประเด็นในส่วนที่ว่าสองคนนี้เป็นมิดฟิลด์ที่ตั้งเกมได้ไม่ดี ซึ่งก็คือปัญหาใกล้เคียงกับเรื่องที่ไม่มีความสามารถในการโฮลด์บอลนั่นเอง เพราะว่าสกิลทักษะในการเล่นของแม็คโทมิเนย์ หรือ เฟร็ดนั้น ยังไม่ดีพอในแง่ของการตัดสินใจในการเลือกตัวจ่ายบอล จังหวะการจ่าย การพลิกบอล และที่สำคัญสุดคือ "ความแม่นยำของการจ่ายบอล" ที่ไม่ค่อยจะดีทั้งคู่

ดังนั้นการทำเกมจากตำแหน่งมิดฟิลด์แนวหลังของทีม จึงแทบจะไม่มีเลย บอลจึงข้ามแดนนี้ไปเหมือนเป็นแค่พื้นที่เปลี่ยนผ่าน ส่งต่อจากหลัง ขึ้นไปหน้าแค่นั้นเองในการซัพพอร์ตบอล แต่ไม่สามารถสร้างสรรค์อะไรเองจากตำแหน่งมิดฟิลด์กลางสนามได้ (เหมือนแดนกลางของทีมเป็นสุญญากาศ)

ทุกวันนี้ที่เราดูเกมแมนยูกัน เราเห็นอะไรบ้าง นอกจากการที่สองCBของเราค่อยๆถ่ายบอลหาช่องเพื่อขึ้นหน้าไป จากนั้นก็ขึ้นเกมด้วยแบ็คได้เป็นหลักๆ จากนั้นคือบอลก็จะไปอยู่ที่ตัวรุกอย่างบรูโน่เป็นหลักเลย แต่เราจะไม่เห็นการสร้างสรรค์ใดๆจากคู่กองกลางมากเพียงพอ

โอเค นานๆทีอาจจะมีบ้างจากลูกคิลเลอร์พาสของเฟร็ดที่วิ่งเติมขึ้นมาได้ และจ่ายบอลแทงช่องได้ ในขณะที่น้องแม็คเองก็ชอบการวางบอลยาวจากแนวลึกบ่อยๆ

เพียงแต่ว่ามันยังน้อย และไม่เพียงพอเลยสำหรับการเล่นกลางสนามที่จะกดคู่แข่งในแง่ของการควบคุมเกม

ปัญหาที่มิดฟิลด์เราไม่สามารถคุมเกมได้นั้น คือเรื่องใหญ่มากๆอีกเรื่องของทีม นักฟุตบอลที่เล่นสนาม11คนจะรู้ดีมากๆว่า การที่จะคุมบอลให้อยู่กับทีมเราให้มันแน่นอนนั้น คือเรื่องสำคัญมากๆที่จะทำให้บอลอยู่นิ่งๆกับการครอบครอง และจะทำให้เราต่อบอลกันขึ้นไปถึงแดนสุดท้ายเพื่อลุ้นโอกาสเข้าทำ

แต่สิ่งที่แม็คเฟร็ดเป็นก็คือ ไม่สามารถทำให้กลางนิ่งได้เลย เพราะเขาเอาตัวรอดไม่ได้ เก็บบอลไม่ได้ แกะเพรสไม่ได้ เมื่อใดที่สองคนนี้ลงคู่กันกลางสนามและโดนคู่แข่งเพรสใส่ บอลแดนกลางเราไม่มีคำว่านิ่งเลยจริงๆ นั่นแหละคือจุดด้อยที่แย่มากๆที่กองกลางเราไม่สามารถคุมเกมได้

ปัญหาส่วนอื่นๆก็ยังมีอยู่อีก เช่นในภาคของ "เกมรับ" สองคนนี้อาจจะเป็นคู่ที่ผนึกกันแล้วเกมรับดีก็จริง แต่มันก็คือการที่ต้องใช้มิดฟิลด์ในเกมรับถึง "2คน" ในสนาม ซึ่งทำให้ทีมขาดแคลนมิดฟิลด์ที่มีความสามารถทำเกมรุกได้ในแดนกลาง เพราะทั้งแม็คและเฟร็ดปั้นเกมรุกกันไม่ค่อยดีทั้งคู่ อย่างที่เราเห็นกันว่าเฟร็ดบอดสนิทขนาดไหนในการทำเกมรุก ยังดีว่าพอจะมีไม้ตายก้นหีบอย่าง คิลเลอร์พาส เอาไว้ใช้งานได้ในบางครั้ง แต่ก็ไม่ใช่ว่าบ่อย / ในขณะที่แม็คโทมิเนย์ ยังไม่ได้โชว์ความอันตรายในกรอบเขตโทษคู่แข่งมากพอในฐานะการเป็นมิดฟิลด์ Box to Box ที่ต้องสร้างแรงกดดันให้คู่แข่งได้มากกว่านี้ ถ้านึกไม่ออกว่า กองกลางB2Bแบบไหนที่เล่นได้มีประสิทธิภาพจริงๆ ก็ให้นึกถึงแมนยูตอนที่โดน "เฟลไลนี่" เติมขึ้นมาในกรอบสมัยอยู่เอฟเวอร์ตันแล้วกัน

นึกภาพแล้วสยองไหมล่ะ? ใช่แล้ว ถ้าแม็คจะเล่นroleนี้ ก็ควรจะทำให้ได้ใกล้เคียงเฟลไลนี่แบบนั้นบ้าง แต่นี่ก็ยังไม่ใกล้เคียง

เมื่อสองมิดฟิลด์ของเราบอดเกมรุกขนาดหนัก ทำให้งานทั้งหมดทุกอย่างตกไปอยู่กับบรูโน่ แฟร์นันด์ส อยู่คนเดียวทุกวันนี้จนทำให้พี่แกต้องทำทุกอย่างในแดนหน้าจริงๆ ทั้งการวิ่งพล่านรับบอล เชื่อมบอล, การถ่างออกข้างไปช่วยปีก ช่วยแบ็คเล่น, การวางบอลจากแนวลึกวงนอก แจกจ่ายบอลไปให้ตัวรุกในจุดต่างๆของสนาม และหลายๆครั้งก็ต้องเติมเข้ากรอบขึ้นไปเล่นจังหวะสุดท้าย และทำประตูหรือแอสซิสต์ให้ทีมด้วย

งานมันoverloadมากเกินไปสำหรับมิดฟิลด์เพียงคนเดียวที่ต้องแบกทุกอย่างของทีมเอาไว้เช่นนี้ แถมเรายังใช้งานเขาแทบทุกเกมเลยด้วยซ้ำ นี่คือจุดที่น่าเป็นห่วงมากพอๆกับเคสที่แมกไกวร์เจ็บไป ปีนี้เรายังโชคดีที่พี่หนวดยังฟิตเป็นคนเหล็ก รับประทานส้นเท้าของคู่แข่งที่ประเคนมาให้ตลอดทั้งปี แต่ยังโชคดีไม่เจ็บ

ถ้าพี่แกเจ็บขึ้นมาจริงๆสักคน ปีหน้าลำบากแน่ ถ้ายังไม่มีมิดฟิลด์มาแบ่งเบาเกมรุกเขาเช่นนี้ ซึ่งทุกวันนี้ก็ทำอยู่คนเดียวเป็นส่วนใหญ่ ส่วนป็อกบานั้นก็ถูกใช้เป็นตัวรุกในแดนหน้าแล้วเรียบร้อยในตำแหน่งLW คนที่ต้องลงมาเล่นในเกมแดนกลางเยอะที่สุดจึงเป็นบรูโน่

ผู้อ่านเขียนมาถึงตรงนี้อาจจะเข้าใจว่า แม็คโทมิเนย์ กับ เฟร็ด นั้นเป็นมิดฟิลด์ที่แย่ ควรขายทิ้ง

แต่จริงๆแล้วไม่ใช่

หากว่าเลือกใช้งานสองคนนี้ให้เหมาะสมกับแผนแทคติกประจำเกมนั้นๆ สองคนนี้ก็ยังคงมีประโยชน์อยู่ ทั้งในด้านความแข็งแกร่งของร่างกายในเกมเข้าปะทะของแม็คโทมิเนย์ และความขยันในการวิ่งคัฟเวอร์พื้นที่แดนกลาง รวมถึงพลังงานที่ไม่มีวันหมดในการวิ่งซ้อนจังหวะสองให้เพื่อนของเฟร็ด สองคนนี้ยังมีประโยชน์อยู่เยอะในแง่ของการใช้งาน

เพียงแต่ว่า พวกเขาควรที่จะมีหลักประกันอีกคนนึงในแดนกลาง ในการที่จะคุมเกม ครองบอล และตั้งเกมจากแดนหลังได้ เพราะสองคนนั้นเหมาะกับการจะใช้เป็นมิดฟิลด์ตัวที่ช่วยซัพพอร์ตคนเล่นหลักมากกว่า หากว่ามีมิดฟิลด์ตัวหลักหนึ่งคนที่คุมเกมในแดนกลาง เราจะสามารถใช้แม็ค หรือ เฟร็ด คนใดคนหนึ่งมาเป็นตัวช่วยมิดฟิลด์หลักคนนั้นให้ทำงานได้ง่ายขึ้นในระบบการใช้double pivotของโอเล่ โดยไม่ต้องเปลี่ยนระบบมาเป็นแผนที่ใช้กลางต่ำแค่คนเดียวอย่าง 4-3-3 ยังได้เลยถ้ามีตัวหลักเข้ามาช่วยคนนึงในตำแหน่งกลางคู่ของทีม

ถ้ามีตัวหลักเข้ามา เราก็จะใช้แม็คหรือเฟร็ดเป็นลูกหาบ หรือองครักษ์ให้กับมิดฟิลด์ตัวหลักคนนั้นนั่นเอง เพราะสองคนนี้มีพลังงานในการเล่นที่เยอะมาก และน่าจะช่วยตัวทำเกมหลักได้ ก็เหมือนหน้าที่การป้องกันควอเตอร์แบ็คของทีมในการที่จะขว้างบอลไปทำทัชดาวน์ในอเมริกันฟุตบอลนั่นเอง คล้ายๆกัน ยิ่งภาคการเล่นของเฟร็ดที่เล่นเป็นตัว The Shuttler หรือ "Carrilero" ที่ทำหน้าที่ซัพพอร์ตบอลระหว่าง กลางรับ กับ กลางรุก ยิ่งใช่เลย นั่นคือคำตอบแล้วว่าเฟร็ดควรที่จะทำหน้าที่เป็นตัวช่วย แต่ไม่สามารถเป็นตัวหลักได้

แต่ทุกวันนี้สิ่งที่เกิดขึ้นคือ สองคนนี้ลงจับคู่กันเอง มันเลยกลายเป็นมิดฟิลด์สองคนที่ไม่มีความสามารถจะคอนโทรลเกมได้ทั้งคู่ มาจับคู่กันเอง มันจึงเหมือนเป็นการ "เตี้ยอุ้มค่อม" ที่ไม่มีใครยืนเป็นหลักให้ทีมได้สักคน และทำได้เพียงวิ่งไล่บอลคู่กันสองคนไปมาเท่านั้น แต่ไม่มีใครสามารถคุมบอลหรือออกบอลได้ เกมแดนกลางเราจึงบอดคู่ไปเลยเพราะไม่มีใครทำได้

การจับมายืนด้วยกันจึงเป็นการ "ตายคู่" ในภาคของการครองบอลและการทำเกม หากว่าบรูโน่ไม่ลงต่ำมาช่วย หรือได้แผงหลังเราดันเกมสูง มันจะมีปัญหาทันที เพราะสองคนนี้ไม่สามารถคุมกลางได้

เรื่องอื่นๆนอกจากปัญหาหลักๆด้านบนที่กล่าวมา ที่เหลืออีกเล็กน้อยก็อย่างเช่น ปัญหาการที่คู่กลางเรามักจะไม่ค่อยชอบเข้าแทคเกิลตัดเกมสักเท่าไหร่เวลาที่โดนบุกเข้ามา ส่วนใหญ่มักจะชอบถอยมากกว่าที่จะเข้าไปจิ้มสกัดบอล ถ้าสังเกตดีๆ ปัญหาเดียวกันกับลินเดอเลิฟเป๊ะ แม็คเฟร็ดแม้อาจจะดูจับคู่กันแล้วเล่นดี แต่สองคนนี้ไม่ค่อยมีความมั่นใจในการเข้าแทคเกิลสักเท่าไหร่ ซึ่งมันทำให้ไม่มีคนตัดเกมคู่แข่ง ไม่มีคนสกรีนงานให้อยู่หมัด ซึ่งทำให้ทีมเกิดปัญหาการเคลียร์บอลไม่ขาดหน้าแผงหลังอยู่บ่อยๆจนพาไปสู่การเสียประตู  เพราะเนื่องจากสองคนนี้ไม่ใช่มิดฟิลด์ตัวรับธรรมชาติ

เฟร็ดเป็นมิดฟิลด์สายลูกหาบ ที่ซัพพอร์ตบอล เชื่อมบอลให้กลางตำแหน่งอื่นๆ ไม่ใช่คนที่เล่นเกมรับเลย ซึ่งสรีระ ความแข็งแกร่งก็แน่นอนอยู่แล้วว่าแทบไม่มี ร่างกายแพ้คู่แข่งตลอดเวลาเจอการเข้าปะทะกันด้วยกายภาพ

แม็คโทมิเนย์เล่นเซ็นเตอร์แบ็คในทีมชาติก็จริง แต่น้องแม็คก็ไม่ใช่มิดฟิลด์ตัวรับธรรมชาติอยู่ดี ซึ่งพื้นที่หน้าแผงหลังไม่ใช่สิ่งที่เขาถนัดมากนัก ถนัดในการใช้ร่างกายเข้าปะทะในพื้นที่สุดท้ายเลย ไม่กรอบตัวเอง ก็กรอบคู่แข่ง แต่พื้นที่กลางสนามแม็คโทมิเนย์ยังมีชั้นเชิงทางบอลที่ไม่เก๋าพอ

เปรียบเทียบเรื่องทางบอลง่ายๆ มิดฟิลด์ที่เก่งจริงๆก็ต้องทางบอลดีๆเหนือๆแบบคาร์ริค หรือไม่ก็มาติชนี่แหละ แต่แม็คโทมิเนย์ไม่ค่อยมีสิ่งนั้นสักเท่าไหร่ในตอนนี้ ซึ่งมันเป็นมิติที่จำเป็นมากๆของคนเล่นมิดฟิลด์ โดยเฉพาะมิดฟิลด์ตัวรับ(ตัวต่ำ)นั่นเอง

สรุปแล้วสองคนนี้ ไม่มีใครเป็น "มิดฟิลด์ตัวรับธรรมชาติ" จริงๆเลยสักคน แต่ถูกจับมาเล่นในบทบาทหน้าที่ที่ไม่เหมาะกับพวกเขาแบบ100% จะโทษก็โทษได้ไม่เต็มปากเช่นกัน เพราะมันอยู่ที่แทคติกและการใช้งานด้วย

สองคนนี้ปรับใช้งานดีๆก็จะเหมาะกับแมตช์ที่ต้องเน้นรับ เน้นจับตัวคีย์แมน และเล่นเกมสวนกลับ ซึ่งไม่ต้องครองบอลมากนัก

ทั้งหมดที่กล่าวมาคือ ปัญหาในภาพรวมทั้งหมดที่เกิดขึ้นในพื้นที่ตรงกลาง โดยเฉพาะในจุดมิดฟิลด์ตัวรับ สรุปเป็นหัวข้อใหญ่ๆที่เรามีปัญหาอีกครั้งได้ดังนี้

-ทีมขาดมิดฟิลด์ตัวรับที่ยืนเป็นหลักให้กับทีม (เพื่อที่จะใช้แม็คเฟร็ดสลับกันลงมาเป็นตัวช่วย)

-ปัญหาการแกะเพรส และโดนเพรสซิ่งสูง

-ปัญหาการครองบอล เก็บบอล และขึ้นเกมจากแดนกลาง

-ปัญหาเกมรับในการสกรีนงานให้แผงหลัง และเรื่องที่ต้องใช้ปริมาณมิดฟิลด์ตัวรับเยอะเกินไป(2คน)

ทั้งหมด4หัวข้อใหญ่ๆนี้คือปัญหาที่เป็นจุดอ่อนในแดนกลาง และถ้าอ่านกันดีๆจะเห็นชัดเลยว่า ส่วนใหญ่จะไม่ใช่ปัญหาการเล่นเกมรับด้วยซ้ำ เพราะเกินครึ่งคือเรื่องของการ "เซ็ตเกมบุกจากแนวหลัง" ซึ่งกลางต่ำก็ต้องช่วยอย่างมาก โดยเฉพาะการโฮลด์บอล การแกะเพรส การจ่ายบอลขึ้นหน้า ดังนั้นแฟนผีหลายคนอาจจะเข้าใจผิดและมองว่า กลางรับไม่สำคัญ เพราะไม่เห็นว่าเกมรับเรามีปัญหามาก แต่จริงๆทีมมีปัญหาในภาคการเล่นจากคู่มิดฟิลด์ตรงกลางจริงๆที่ "ครองเกมไม่ได้"  ส่วนปัญหาในดีเทลเรื่องเกมรับมีเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นเอง ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเหตุผลว่าทำไมเราถึงต้องซื้อกลางรับเข้ามาเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ให้ได้นั่นเอง

การพิจารณาคุณสมบัติของมิดฟิลด์ตัวต่ำที่จะเข้ามาเสริมทีมดังกล่าว ควรที่จะเข้ามาแล้วสามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ให้หมดไปให้ได้ จึงจะเป็นการซื้อที่ถูกจุดและเข้ากับการแก้ไขจุดอ่อนในเชิงการเล่นของทีม ดังนั้นถ้ามิดฟิลด์คนไหนที่ดูแล้วน่าจะช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ได้มากและครอบคลุมที่สุด เราก็ควรจะซื้อตัวนั้นเข้ามาเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ในแดนกลางของทีม

ไม่จำเป็นต้องเก่งขนาดแก้ได้คนเดียว4ข้อก็ได้ แต่ขอให้สามารถแก้ได้เป็นส่วนใหญ่ให้มากที่สุดก็พอ

มิดฟิลด์ตัวรับที่มีข่าวกับแมนยูนั้นมีเยอะแยะไปหมด อย่างล่าสุดเมื่อคืนก็เพิ่งจะมีข่าวกับ Mauro Arambarri กลางรับขนานแท้ของเกตาเฟ่ในลาลีกามาหมาดๆ แต่ตัวที่มักจะเป็นข่าวบ่อยๆ และได้รับการพูดถึงเป็นส่วนใหญ่นั้น ก็มักจะเป็นมิดฟิลด์ตัวรับจากทีมร่วมพรีเมียร์ลีกเอง ที่ได้รับการพูดถึงอยู่บ่อยๆ

ซึ่งสามชื่อที่แฟนๆปีศาจแดงมักจะนึกถึง และพูดถึงในการซื้อเข้ามาเสริมทีมอยู่บ่อยที่สุดนั้น เท่าที่เห็นก็คงจะหนีไม่พ้นสามตัวที่เราจะเอามารีวิวเพื่อเปรียบเทียบกันในวันนี้ ระหว่าง Declan Rice, Rúben Neves และ Wilfred Ndidi จากเวสต์แฮมยูไนเต็ด วูล์ฟแฮมพ์ตัน และ เลสเตอร์ซิตี้ตามลำดับ

วันนี้เราจะรีวิวชี้ให้เห็นถึงจุดเด่นๆของมิดฟิลด์ทั้งสามคนว่า พวกเขาเป็นกลางต่ำที่แตกต่างกันยังไงบ้าง ใครเด่นด้านไหน และแข็งแกร่งเรื่องอะไรบ้าง รวมถึงคุณสมบัติที่มีนั้น มันจะเข้าแก๊ปกับการ "แก้ปัญหากองกลางแมนยู" ได้มากน้อยกว่ากัน

และนี่คือการเปรียบเทียบและวิเคราะห์นักเตะสามคนนี้

1.Declan Rice

อายุ : 22 ปี / ส่วนสูง : 185 cm / เท้าที่ถนัด : ขวา

สัญชาติ : อังกฤษ

ต้นสังกัด : เวสต์แฮม ยูไนเต็ด

ค่าตัวโดยประเมิน : 60ล้านยูโร

ตำแหน่งที่เล่นได้ : DM, CB

ลักษณะและสไตล์การเล่น

เดแคลน ไรซ์นั้น คือนักเตะที่เล่นในลักษณะของการเป็น "Defensive Midefielder" หรือเป็นมิดฟิลด์เชิงรับนั่นเอง

หลายคนอาจจะสงสัยว่า อ้าว ก็พูดถึงกลางรับอยู่ มันจะเล่นอย่างอื่นที่ไม่ใช่กลางรับได้ยังไง

แต่จริงๆแล้ว ตำแหน่งที่เรากำลังพูดถึงอยู่นี้คือ "มิดฟิลด์ตัวต่ำ" ที่ยืนอยู่หน้าแผงหลัง  ถ้าใช้คำว่ากลางรับจะเข้าใจได้ง่ายกว่าในperceptionการรับรู้ของแฟนบอลโดยทั่วๆไปในวงกว้างที่อาจจะไม่ได้เจาะรายละเอียดยิบย่อยเชิงแทคติก

แต่จริงๆตำแหน่งมิดฟิลด์ตัวต่ำดังกล่าว มันก็ยังมีกลางต่ำในหลายๆรูปแบบ หลายๆลักษณะที่แตกต่างกันมากมายในแง่ของวิธีการเล่นจากตำแหน่งนั้น

กลางต่ำไม่จำเป็นต้องเป็น "กลางรับ" อย่างเดียว นี่คือคำตอบในเรื่องนี้

กลับมาที่เดแคลน ไรซ์อีกครั้ง สำหรับน้องข้าวนั้นเล่นในroleของ Defensive Midfielder อย่างชัดเจน ซึ่งมันคือลักษณะการเล่นที่ยังคงยึดโยงกับการเล่นด้วยมิติของคนเป็น "มิดฟิลด์" เป็นหลัก คอยเชื่อมบอล ทำเกม วิ่งสู้ฟัดในแดนกลาง แต่ว่าการเป็นDMชื่อก็บอกอยู่คือ เป็นมิดฟิลด์ที่เน้นการเล่นเกมรับ นั่นเอง สำหรับเดแคลน ไรซ์

มิดฟิลด์คือนักบอลที่เล่นในพื้นที่ตรงกลางสนามนั่นเอง ซึ่งสกิลทักษะต่างๆที่คนเป็นมิดฟิลด์จะต้องมีนั้น เดแคลน ไรซ์มีหมด ไม่ว่าจะเป็น ชั้นเชิง เหลี่ยมบอล ทางบอล ที่อยู่ในระดับที่ดี และทักษะการครองบอล เอาตัวรอดจากคู่แข่งในแดนกลางก็ทำได้ดีและเล่นฉลาด ถือว่าเซนส์มิดฟิลด์มีครบ

นอกจากนี้คนเล่นมิดฟิลด์ต้องฟิต และอึดกว่าตำแหน่งอื่นๆเพราะใช้ร่างกายหนัก และใช้การวิ่งเยอะมากๆไม่ต่างจากวิงแบ็คยุคใหม่ที่ต้องวิ่งขึ้นวิ่งลง มิดฟิลด์เหนื่อยกว่านั้นอีกเพราะต้องเจอเกมปะทะแดนกลางตลอดเวลาด้วย

ไรซ์จึงเป็นมิดฟิลด์ตัวรับธรรมชาติ ที่คุมเกมในแดนกลาง และเล่นเกมรับได้เป็นอย่างดี เพราะเนื่องจากแกมีสกิลของกองหลังติดตัวอยู่ด้วย เนื่องจากว่าตำแหน่งอื่นที่เล่นได้นั้น ไรซ์สามารถลงต่ำมายืนเป็นเซ็นเตอร์แบ็คได้ด้วยนั่นเอง รวมถึงการเล่นกลางรับตัวปัดกวาด ที่เน้นยืนปักหลักอยู่หน้าแผงหลังในแบบของ Anchor man ก็ได้อีกด้วย

จุดเด่นของDeclan Rice

สิ่งที่เด่นมากๆของเดแคลน ไรซ์นั้นมีหลายอย่าง ส่วนใหญ่จะเป็นข้อดีในด้านเกมรับทั้งหลายที่จำเป็น เขามีครบครัน

-ความแข็งแกร่งทางกายภาพ (strength)

ร่างกายของไรซ์แกร่งมากๆ และก็คุ้นเคยกับการเจอเกมหนักของบอลอังกฤษอยู่แล้วเป็นอย่างดี เกมเข้าปะทะหนักๆสามารถทำได้สบายๆ และรวมถึงความฟิตด้วย

-การตามประกบและเข้าปะทะ (marking & tackle)

อย่างที่บอกไปแล้วว่า ไรซ์เล่นกองหลังได้ และเป็นกลางเชิงรับแท้ๆ ดังนั้นเรื่องเล่นเกมรับไม่ต้องสงสัย ด้วยร่างกายที่แข็งแกร่งเป็นต้นทุน ทำให้เขาเข้าเล่นเกมแทคเกิลได้แข็งแกร่งและแม่นยำมากในการเบียดปะทะเอาชนะคู่แข่ง และยังรวมถึงการตามประกบตัวรุกคู่แข่งที่ขึ้นมาบุกใส่ ไรซ์ก็เข้าไปสกัดได้อยู่บ่อยๆในการสกรีนงานให้แผงหลัง

-ทางบอลดี เก็บบอลอยู่ ขึ้นเกมได้ (holding midfield)

ถ้าใครได้ดูไรซ์เล่นในสนามและสังเกตดีๆ เขาไม่ใช่มิดฟิลด์ตัวรับที่รอสกัดบอลในเกมป้องกันอย่างเดียว แต่ไรซ์สามารถเล่นโฮลดิ้งได้ และมีเหลี่ยมบอล ทางบอลที่ดีในการเอาตัวรอดจากคู่แข่งกลางสนาม และเก็บบอลอยู่ ไม่เสียบอลไปง่ายๆ

ลักษณะของชั้นเชิงการพลิกบอลในสนามของไรซ์ แมนยูไนเต็ดก็เจอมาเอง และเขาแก้ไขสถานการณ์ได้ดี คือเป็นมิดฟิลด์ตัวรับที่ไม่ได้ดีแต่เล่นรับ พูดง่ายๆ แต่เหลี่ยมบอลดี เอาตัวรอดเก่งเหมือน เนมันย่า มาติช แม้อาจจะไม่เนียนเท่ามาติชที่เก๋ากว่า แต่ไรซ์ก็ทางบอลดีเลยทีเดียว ไม่ใช่มิดฟิลด์ทื่อๆแน่นอน ซึ่งส่วนตัวผู้เขียนสนใจทักษะด้านนี้ของไรซ์มากกว่าเกมรับซะอีก

-ความคิดอ่านในการเล่น (Mentalityในการเล่นต่างๆเช่น การอ่านเกม ทีมเวิร์ค ยืนตำแหน่ง  ความนิ่ง ความมุ่งมั่น work rate)

ข้อนี้จริงๆเกี่ยวพันกับด้านบนด้วย ซึ่งมันมีส่วนทำให้เดแคลน ไรซ์ เป็นมิดฟิลด์ตัวรับที่ทางบอลดี เพราะด้านจิตใจของแกมั่นคง มีสมาธิ และเล่นได้นิ่งจริงๆกลางสนาม จึงสามารถเอาตัวรอดได้ นอกจากนั้นยังมีความมุ่งมั่นและความทุ่มเทในการเล่นที่ดีอีกด้วย แถมยังมีทีมเวิร์คกับเพื่อน และการอ่านเกมรวมถึงการยืนตำแหน่งที่ดี

จุดอ่อนของDeclan Rice

เห็นจะเป็นเรื่องของการอ่อนในด้านเกมรุก เทคนิคสำหรับเล่นรุกค่อนข้างน้อย  ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติของพวกนักเตะสายเกมรับ ซึ่งก็ไม่ได้เป็นปัญหาอะไร

เพราะเราคงไม่หวังเกมรุกอะไรเยอะแยะจากมิดฟิลด์ตัวรับกันหรอก.. ใช่ไหมล่ะ?

2. Rúben Neves

อายุ : 24 ปี / ส่วนสูง : 180 cm /เท้าที่ถนัด : ขวา

สัญชาติ : โปรตุเกส

ต้นสังกัด : วูล์ฟแฮมพ์ตัน วันเดอเรอร์ส

ค่าตัวโดยประเมิน : 50ล้านยูโร

ตำแหน่งที่เล่นได้ : DM, CM

ลักษณะและสไตล์การเล่น

อันนี้ง่ายและชัดเจนมาก สำหรับรูเบน เนเวส เป็นมิดฟิลด์ตัวต่ำที่เป็นพวก "Deep-lying Playmaker" (DLP) แบบจ๋าๆเลย นั่นก็คือเขาเป็นเพลย์เมคเกอร์ตัวต่ำ ที่ทำเกมจากแนวลึกนั่นเอง

รูเบน เนเวส ทำหน้าที่ควบคุมกระแสของเกม ไม่ว่าจะดึงช้า หรือเล่นเร็ว และทำการออกบอลเปิดเกมรุกด้วยตัวเองจากแนวลึกที่ยืนต่ำด้านหลัง และวางบอลยาวแจกจ่ายไปให้เพื่อนทุกคนในทีม ยังส่วนต่างๆของสนามได้ทั้งหมด

นอกจากนี้ด้วยชั้นเชิงและคลาสการเล่นที่สูงและเต็มไปด้วยเบสิคแน่นๆ และเทคนิคที่ดีเยี่ยม ทำให้เขามีมิติในการเล่นเกมรุกอยู่ในตัวสูงมากด้วยในการสร้างสรรค์เกมบุกให้ทีมจากแนวลึก และบางทีก็เติมสูงขึ้นมาขึงเกมได้เอง และที่สำคัญ ไม้ตายก้นหีบของรูเบน เนเวส คงไม่ต้องพูดถึงแล้วว่า "ลูกไฟ" ที่เป็นลูกยิงแถวสองจากพี่แกมันอันตรายยังไง

แฟนผีรู้ดีแน่ล่ะ ก็โดนมันตะบันใส่สวยๆให้เห็นมาแล้ว ยังจำได้ดีเลย

หากว่าต้องการศูนย์บัญชาการเกมในแนวลึก ที่ทำหน้าที่คุมเกม ออกบอลให้เพื่อน และเปิดเกมรุกด้วยตัวเอง รวมถึงเติมขึ้นมาบุกแล้วละก็ รูเบน เนเวส คือคำตอบที่เป๊ะมากๆของการครองเกมและเซ็ตเกมจากแนวหลัง

จุดเด่นของRúben Neves

สกิลที่โดดเด่นส่วนใหญ่ของรูเบน เนเวส เป็นสกิลคอนโทรลบอลและเล่นเกมรุกค่อนข้างเด่นชัดหลายอย่าง

-การวางบอลยาว (long pass)

อันนี้น่าจะเป็นไม้ตายที่โหดที่สุดของรูเบน เนเวส เพราะหมอนี่เป็นตัวที่วางบอลยาวได้เนี้ยบมากๆ เนเวสรับหน้าที่แจกจ่ายบอลและวางยาวขึ้นหน้าอยู่ตลอด ซึ่งความแม่นยำไม่ต้องพูดถึง แต่ที่เหนือกว่าความแม่นคือ การออกบอลยาวของเขามันมีความเนียน มีความเนี้ยบอยู่ในตัว หากสังเกตกันดีๆไปหาดูกันเองตามคลิปไฮไลต์นั้น รูเบน เนเวสมักจะวางบอลยาวโดยติดแบ็คสปินแบบบางๆที่เฉือนทิ้งเอาไว้ให้เพื่อนตามไปเล่นต่อได้ง่ายด้วย การวางบอลยาวของเนเวสจึงแน่นอนและมีประสิทธิภาพมาก

-ลูกยิงแถวสอง (long shot)

นี่คือมิติของการทำเกมรุกที่มีอยู่ในตัวรูเบน เนเวส ที่สามารถเติมขึ้นมาเป็นอาวุธระยะไกลให้กับทีมได้เวลาที่ตื้อตัน หรือเจาะคู่แข่งที่ตั้งรับลึกไม่เข้า หากว่ามีโอกาส เนเวสสามารถซัดไกลได้ทันที ซึ่งก็ํอันตรายทุกลูก และนั่นจะทำให้แนวรับคู่แข่งอาจจะต้องแบ่งกำลังมาประกบเขาไม่ให้ยิงได้ง่ายๆ จนทำให้ผู้เล่นอื่นสามารถเจาะเข้าไปได้อีก ลูกไฟถือเป็นซิกเนเฌ่อร์ของเนเวสทีเดียว

-การโฮลด์บอล (holding)

ขึ้นชื่อว่า DLP ชั้นเชิงและคลาสต้องสูงอยู่แล้ว สิ่งที่เราคาดหวังอยากจะได้ในเรื่องการเก็บบอลนั้นมีอยู่ในตัวเนเวสแน่นอน และถ้าเก็บบอลเอาไว้ได้ โอกาสที่เขาจะจ่ายบอลต่อให้นักเตะแดนหน้ายิ่งสูงขึ้น และจะทำให้เราเซ็ตบอลขึ้นไปบุกกันได้บ่อยครั้งและดีกว่าเดิม

-เทคนิคการเล่น วิสัยทัศน์ และเซนส์บอล (technique & vision)

สิ่งสำคัญที่DLPคลาสสูงๆจะต้องมี หมอนี่มีหมด และมาพร้อมกันด้วย โดยที่เบสิคการเล่นฟุตบอลพื้นฐาน ถือว่าเบสิคดีและเทคนิคการเล่นแพรวพราวและสูงมาก จะเป็นลูกตั้งเตะ ฟรีิคิก จุดโทษ เนเวสสามารถรับผิดชอบยิงได้หมด

แต่เทคนิคเหล่านั้นจะไม่เกิดประโยชน์ หากผู้ใช้งานมันไม่ฉลาดในการเล่น แต่รูเบน เนเวส เป็นอีกหนึ่งนักเตะที่วิสัยทัศน์ในสนามถือว่าดีมากๆ เรียกรวมๆว่าเซนส์บอลดีจริงๆ ทั้งการอ่านจังหวะเกม การตัดสินใจ วิสัยทัศน์การมองเห็นและความเข้าใจในสนามถือว่าดีเยี่ยมมากๆ

จุดอ่อนของRúben Neves

รูเบน เนเวสมีความแข็งแกร่งทางกายภาพค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับนักเตะคนอื่นในลิสต์นี้ ทั้งความแข็งแกร่ง ความเร็ว แรงปะทะ ถือว่าด้อยสุดในลิสต์

นอกจากนั้นแล้ว สิ่งที่ตามมา เมื่อเขาไม่ใช่กองกลางสายรับแท้ๆ ดังนั้นรูเบน เนเวสจึงไม่สามารถเล่นรับได้ครบทุกมิติ การจะใช้งานเขาถ้าจะให้ดีต้องมีองครักษ์ หรือผู้ช่วยอีกคนคอยป้องกัน และสกรีนงานให้ ไม่เช่นนั้นเกมรับพรุนแน่นอนถ้ามีเนเวสคนเดียว


3.Wilfred Ndidi

อายุ : 24 ปี / ส่วนสูง : 183 cm /เท้าที่ถนัด : ขวา

สัญชาติ : ไนจีเรีย

ต้นสังกัด : เลสเตอร์ ซิตี้

ค่าตัวโดยประเมิน : 50ล้านยูโร

ตำแหน่งที่เล่นได้ : DM, CB

ลักษณะและสไตล์การเล่น

สำหรับวิลเฟร็ด เอ็นดิดี้นั้น บอกได้เลยว่า เขาคือ "มิดฟิลด์ตัวตัดเกมธรรมชาติ" ในการเล่นเป็นตัวเข้าหยุดและทำลายเกมรุกของคู่แข่งในการเป็น "Ball-winning Midfielder" นั่นเอง ที่จะทำหน้าที่เข้าไปทำลายคู่แข่ง ไปตัดเกม หยุดเกม และแย่งบอลคืนมาให้เป็นของฝั่งเราให้ได้

ลักษณะของมิดฟิลด์ที่ชอบเข้าไปแย่งการครองบอลให้เปลี่ยนมือมาเช่นนี้นั้น เหมาะมากๆกับทีมที่ใช้การเล่นในสนามที่เปลี่ยนจังหวะการเล่นแบบทันทีทันใดอย่างรวดเร็ว จากรับเป็นรุก (หรือจากรุกกลายเป็นรับ)ในทันที ซึ่งมันคือการเล่นแบบ"transition play" ที่เป็นการเคลื่อนไหวขั้นแรกสุดอย่างรวดเร็ว ทันทีที่บอล "เปลี่ยนมือ"

ไม่ว่าจะเปลี่ยนมือจากฝั่งเขามาสู่เรา หรือเปลี่ยนจากเรามาสู่เขา

คีย์ของการเปลี่ยนตรงนั้นคือการตัดบอล การแย่งบอลได้ของอีกฝ่าย เพราะงั้นแล้ว วิลเฟร็ด เอ็นดิดี้จึงเหมาะมากๆกับทีมที่ใช้transition play ในการเล่นเยอะๆ ไม่ว่าจะเป็นการเล่นเกมสวนกลับ เล่นบอลไดเร็คต์ หรือแม้กระทั่งการใช้counter-pressing ที่หลังจากเสียบอลในเกมบุก นักเตะในทีมก็จะปรับมาเล่นเกมรับด้วยการดันตามขึ้นมาเพรสซิ่งสวนกลับไปทันทีหลังจากเสียบอล

เห็นอะไรไหมครับ? ใช่แล้ว ผมมองเห็นการเล่นของ "เลสเตอร์ซิตี้" เองนี่แหละที่มักจะใช้transition playเช่นนี้บ่อยๆ โดยมีจุดหมุนสำคัญอยู่ที่คีย์การตัดเกมได้ของมิดฟิลด์ตัวรับเค้า จากเมื่อก่อนเป็นก็องเต้ ตอนนี้ก็กลายเป็นเอ็นดิดี้ที่ทำหน้าที่นั้นแทนแบบเป๊ะๆนั่นเอง (ใครเป็นแมวมองเลสเตอร์ฟะ เดี๋ยวตีมือเลย หาตัวแทนก็องเต้เก่งชะมัด)

เมื่อเป็นงั้นแล้ว การที่พวกเขามีเอ็นดิดี้เล่นเป็นตัว Ball-winning จึงเข้าแก๊ปกับสูตรการเล่นสวนกลับเร็วและวางบอลยาวทันทีทันใดของเลสเตอร์มากๆ ซึ่งไอ้คนวางบอลก็ไม่ใช่ใครอื่นไกล ก็ตัวมันเองอีกนั่นแหละที่สามารถตัดเองได้แล้ววางบอลสวนกลับเองได้เลยทันที ไม่ต้องเสียเวลาไปต่อบอลที่อื่นด้วย

บอลของเลสเตอร์มันจึงสวนขึ้นหน้ามาเร็วมากเว่อร์เหมือนอย่างที่เราเห็น ปัจจัยหลักของแทคติกคือการที่พวกเขามีเอ็นดิดี้นี่เองที่เป็นหัวใจสำคัญ

นอกจากการเล่นเป็นมิดฟิลด์ตัวตัดเกมแล้ว พี่แกยังสามารถลงต่ำไปยืนเป็นกองหลังชั่วคราวในการเป็นHalf-Back ได้อีกด้วย เพราะร่างกายที่ใหญ่โต และเล่นเกมรับ สกัดบอลได้ดีเยี่ยม ทำให้ลงไปยืนกองหลังจำเป็นก็สามารถทำได้

จุดเด่นของWilfred Ndidi

ส่วนใหญ่จะเป็นสกิลที่เกี่ยวข้องกับการทำลายเกม และชิงบอลกลับมาในครอบครองของทีมเป็นส่วนใหญ่

-การเข้าปะทะ(tackle)

เอ็นดิดี้เข้าปะทะได้ดี แข็งแกร่ง และไม่ค่อยแพ้ใคร ซึ่งเป็นจุดเด่นทางด้านเกมรับอย่างแท้จริงที่ทำได้ดีมากๆในการเข้าไปถึงตัวคู่ต่อสู้ เพื่อที่จะหยุดเกมของคู่แข่งเพื่อจะตัดเกม ทำลายจังหวะ และแย่งบอลคืนมาให้ทีมได้

หากใครได้ดูเอ็นดิดี้เล่นจริงๆจะเห็นชัดว่าเขาเข้าสกัดได้แข็งแกร่งและแน่นอนมาก ด้วยขาที่ค่อนข้างยาวของเอ็นดิดี้ ทำให้เขาได้เปรียบในจังหวะการยืดขาออกไปสกัดบอลได้แม่นยำ และสกัดขาด

ภาพจำที่เห็นทุกนัดคือการที่เขาเข้าไปแทคเกิลและจิ้มสกัดบอลแบบแม่นๆออกจากเท้าคู่แข่งนี่ทำได้ดีจริงๆ

-การอ่านทางบอล และการยืนตำแหน่ง

เป็นข้อที่ติดพ่วงมากับการเข้าปะทะที่แม่นยำ คือเอ็นดิดี้เป็นนักเตะที่อ่านทางคน อ่านทางบอลได้เก่งมากๆ รู้ว่าควรเข้าไม่ควรเข้ายังไง และตำแหน่งการเล่นของเพื่อนและคู่แข่งอยู่ตรงไหน ซึ่งการอ่านทางตรงนี้แหละทำให้เขาสามารถเล่นรับได้อย่างแม่นยำ เพราะอ่านทางคู่แข่งได้ขาดนั้นเอง

นอกจากอ่านทางแล้ว อีกข้อดีนึงของเอ็นดิดี้ที่เกี่ยวข้องด้วยนั่นก็คือ "การยืนตำแหน่ง" ที่ช่วยให้เขาสามารถทำงานได้ง่ายขึ้นเพราะยืนตำแหน่งดี ทำให้เล่นป้องกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสิ่งนี้มักจะมีในนักเตะที่สามารถเล่นกองหลังได้

-การวางบอลยาว

นี่เป็นอาวุธหลักของเกมรุกจากเอ็นดิดี้เลย อย่างที่บอกว่าในtransition play เมื่อเขาตัดบอลได้เขาสามารถวางบอลยาวสวนขึ้นไปให้สองกองหน้าอย่างอิเฮียนาโช่ กับ วาร์ดี้ ที่ขึ้นไปโจมตีแนวหน้าได้ทันที เป็นอีกคนที่ชอบวางบอลยาวจากแนวลึกมาก

-ความแข็งแกร่งและความอึด (strength & stamina)

เอ็นดิดี้เป็นอีกหนึ่งมิดฟิลด์ที่มีข้อดีทางกายภาพสูงมากๆ ร่างกายแข็งแกร่ง หน่วยก้านดีได้เปรียบคู่แข่ง และที่สำคัญ อึดยิ่งกว่าช้างกระทืบโรงอีกคน พลังเต็มถังวิ่งได้ตลอดทั้งเกม ซึ่งเกี่ยวพันกับข้อดีทางด้านความทุ่มเทและ "work rate" ของเขาในสนามด้วยที่สูงไม่แพ้ใคร และช่วยทีมวิ่งได้อย่างเต็มที่

-ลูกกลางอากาศ (heading & jumping reach)

ของแถมจากการซื้อเอ็นดิดี้เข้ามา คือการเล่นลูกกลางอากาศที่ดีเยี่ยมจากเขาทั้งการป้องกัน และการทำเกมรุก ซึ่งมีลูกหัวที่ดีมากๆจากแรงจัมพ์ที่ดีในการกระโดด และส่วนสูงที่ไม่เสียเปรียบนักเตะคนอื่น ทำให้เขาเล่นลูกโหม่งได้ดีคนนึง

จุดอ่อนของWilfred Ndidi

ข้อเสียคล้ายๆกับเดแคลน ไรซ์ นั่นก็คือเทคนิคการเล่นเกมรุกไม่สูงมาก จบสกอร์ไม่ค่อยได้ ก็เป็นเรื่องธรรมดาของนักฟุตบอลที่ถนัดเล่นเกมรับ เพราะงั้นไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร

การเปรียบเทียบมิติการเล่นระหว่าง Declan Rice / Rúben Neves / Wilfred Ndidi

เป็นสามมิดฟิลด์ตัวรับที่ได้รับการพูดถึงมากที่สุดเป็นชื่อแรกๆ ในการจะซื้อเข้ามาเสริมทีมแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดยุคปัจจุบัน เราจะมาดูกันว่า สามคนนี้มีข้อแตกต่างกันยังไงในการเล่น โดยสังเกตความโดดเด่นจากการเล่นในสนาม ผนวกกับ fact ข้อมูลการเล่นที่นำมาเปรียบเทียบกันตัวต่อตัวมีดังนี้

สถิติการลงเล่นทั่วไปในพรีเมียร์ลีก

Declan Rice : ลงเตะ 30 นัด (เวลาลงเล่นทั้งหมดหาร90นาที=30), ทำได้ 1 ประตู 1 แอสซิสต์

Rúben Neves : ลงเตะ 33นัด (เวลาลงเล่นทั้งหมดหาร90นาที=27.5), ทำได้ 5 ประตู 1 แอสซิสต์

Wilfred Ndidi : ลงเตะ 24นัด (เวลาลงเล่นทั้งหมดหาร90นาที=22.2), ทำได้ 1 ประตู 3 แอสซิสต์

เอ็นดิดี้ได้ลงน้อยกว่าคนอื่นในปีนี้ ส่วนอีกสองคนพอๆกัน ตัวที่เล่นเกมรุกได้ชัดเจนสุดคือเนเวส ยิงได้5ลูก

เกมรับ

#เกมรับ-แทคเกิล

Declan Rice : tackle 71 (เฉลี่ย 1.9ต่อเกม) tackle won  69 % / tackleชนะคู่แข่งที่จะเลี้ยงผ่าน =47.1% 

Rúben Neves : tackle 82 (เฉลี่ย 2.4ต่อเกม) tackle won 73% / tackleชนะคู่แข่งที่จะเลี้ยงผ่าน =39.1%

Wilfred Ndidi : tackle 97 (เฉลี่ย 3.6ต่อเกม) tackle won 65% / tackleชนะคู่แข่งที่จะเลี้ยงผ่าน =38.6% 

#เกมรับ-ตัดบอล

Rice : blocks 48 / interceptions เฉลี่ย2.1ครั้งต่อเกม / เพรสสำเร็จ 30% / เสียฟาล์ว 21 ครั้ง / เคลียร์บอล 43

Neves : blocks 66 / interceptions เฉลี่ย1.5ครั้งต่อเกม / เพรสสำเร็จ 33.7% / เสียฟาล์ว 41 ครั้ง / เคลียร์บอล 52

Ndidi : blocks 61 / interceptions เฉลี่ย2.4ครั้งต่อเกม / เพรสสำเร็จ 37.7% / เสียฟาล์ว 49 ครั้ง / เคลียร์บอล70

เกมรับ : 1. Ndidi > 2. Rice > 3. Neves

สามคนนี้ตามสถิติเหมือนจะเก่งคนละอย่าง แต่เอ็นดิดี้ดูจะมีเกมรับในภาพรวมที่ดีที่สุดในลิสต์นี้ เพราะแม้จะลงน้อยกว่าอีกสองคน แต่ปริมาณการเข้าแทคเกิล เอ็นดิดี้แซงไปไกลมาก นอกจากนี้เรื่องของปริมาณการบล็อค การตัดบอล การเคลียร์บอลเยอะมากเช่นกัน รวมแล้วเอ็นดิดี้เยอะกว่าทุกคนทั้งๆที่ลงน้อยกว่า รวมถึงเพรสซิ่งกดดันคู่แข่งสำเร็จสูงสุดด้วย

เดแคลน ไรซ์ เก่งเรื่องการInterceptionsตัดบอล และการเอาชนะคู่แข่งที่พยายามเลี้ยงผ่านไรซ์ก็เหนือกว่าคนอื่น เพราะไรซ์เข้าแทคเกิลคนพยายามจะเลี้ยงเอาชนะเขาได้สำเร็จถึง47.1% (ในขณะที่คนอื่นไม่ถึง40%) 

นอกจากนี้การทำเสียฟาล์วในสนามของไรซ์นั้น น้อยกว่าคนอื่นถึงครึ่งนึง (ไรซ์20 เทียบกับ เนเวส40 เอ็นดิดี้49) ทั้งๆที่ปริมาณการแทคเกิลก็พอๆกัน ถือว่างานเนี้ยบพอสมควรในเกมรับ แต่ปริมาณการบล็อค และการเคลียร์บอลก็ไม่มากเท่าไหร่

ส่วนเนเวสนั้นดีในเรื่องการเข้าบอลที่แม่นยำกว่าคนอื่น และบล็อคจังหวะยิงหรือจ่ายได้ค่อนข้างดี สังเกตว่าเนเวสเป็นคนที่ ไทม์มิ่งการเล่นรับแม่นมาก เพราะการบล็อคได้เยอะๆแปลว่าจังหวะเวลาบล็อคคู่แข่งแม่นยำ รวมถึงอัตราส่วนของtackle won เนเวสก็สูงกว่าคนอื่นๆด้วยถึง73% (ชนะ60จาก82ครั้ง)

เทียบกันระหว่างไรซ์ กับ เนเวส ดูเหมือนจะเก่งรับกันคนละด้าน เนเวสเล่นรับได้ดีอย่างไม่น่าเชื่อในระดับที่ใกล้เคียงไรซ์ แต่ถ้าวัดเกมรับกันจริงๆ ไรซ์ก็ยังเหลื่อมเนเวสอยู่พอประมาณ เพราะลงมาเล่นกองหลังได้ และลูกกลางอากาศก็ดีกว่าเยอะ

สรุปแล้วการเล่นเกมรับที่โดดเด่นสุดๆ ทั้งปริมาณและคุณภาพที่เหมาะสม เป็นวิลเฟร็ด เอ็นดิดี้อย่างเห็นได้ชัดเจนที่สุด เพราะเกมรับไม่ได้มีแต่การวัดจากสถิติแทคเกิลอย่างเดียว เกมรับยังมีเรื่องการเคลียร์บอล การบล็อค การอ่านดักตัดบอลอีก

รองจากเอ็นดิดี้ลงมาน่าจะเป็นไรซ์และเนเวสตามลำดับ ในแง่ของปริมาณเกมรับที่ทำได้

การครองบอล

Declan Rice : สัมผัสบอล 1634 ครั้ง / เลี้ยงผ่านคู่ต่อสู้สำเร็จ 87.5% / จำนวนการเล่นที่เป็นคนครองบอล 1088 ครั้ง/ ระยะทางที่พาบอลไปกับตัว 7086 หลา / การรับบอลสำเร็จ 93.3%

Rúben Neves : สัมผัสบอล 2133 ครั้ง / เลี้ยงผ่านคู่ต่อสู้สำเร็จ 66.7% / จำนวนการเล่นที่เป็นคนครองบอล 1315 ครั้ง ระยะทางที่พาบอลไปกับตัว 5538 หลา / การรับบอล 94.9%

Wilfred Ndidi : สัมผัสบอล 1605 ครั้ง / เลี้ยงผ่านคู่ต่อสู้สำเร็จ 52.6% / จำนวนการได้ครอบครองบอล 1009 ครั้ง/ ระยะทางที่พาบอลไปกับตัว 4626 หลา / การรับบอลสำเร็จ 93.2%

การครองบอล : 1. Rice > 2. Neves > > 3. Ndidi

ความสามารถในการโฮลดิ้ง รักษาการครอบครองบอลไว้กับตัว "เดแคลน ไรซ์"นำมาเป็นอันดับหนึ่งด้วยเปอร์เซ็นต์การเลี้ยงผ่านคู่แข่งสำเร็จได้สูงที่สุดถึง87.5% และระยะทางที่พาบอลไปกับตัวก็เยอะกว่าคนอื่นมาก อยู่ที่7086หลา

ด้วยความแข็งแกร่งของร่างกาย และทางบอลที่ดีในแง่การเอาตัวรอดกลางสนาม ทำให้ไรซ์เป็นมิดฟิลด์ที่ครองบอลได้ดีสุดในลิสต์นี้ โดยมี รูเบน เนเวสรองลงมา ซึ่งยอดเยี่ยมไม่แพ้กัน และมีจำนวนการสัมผัสบอลที่เยอะมาก พาบอลไปเล่นเองค่อนข้างเยอะรองลงมา แต่จุดแข็งของเนเวสคือแตะบอลเอาตัวรอดในแดนกลางได้ดี หนีเพรสได้

ตัวที่ไม่ค่อยครองบอลไว้กับตัว ก็คือเอ็นดิดี้ที่เลี้ยงผ่านคู่แข่งสำเร็จน้อยสุด และระยะทางที่พาบอลไปก็น้อย

การจ่ายบอล

Declan Rice : จำนวนการจ่ายบอล 1363 ครั้ง (เฉลี่ยต่อเกม 48.4ครั้ง) จ่ายสำเร็จ 85.8% / บอลสั้น90.2% จ่ายระยะกลาง 89.9% / การวางบอลยาว 2.5 ครั้งต่อเกม ความแม่นยำของบอลยาว 73.9%

Rúben Neves : จำนวนการจ่ายบอล 1768 ครั้ง (เฉลี่ยต่อเกม 54.7ครั้ง) จ่ายสำเร็จ 84.2% / บอลสั้น87.5% จ่ายระยะกลาง 89.9% / การวางบอลยาว 5.1 ครั้งต่อเกม ความแม่นยำของบอลยาว 75.7%

Wilfred Ndidi : จำนวนการจ่าย 1287 ครั้ง (เฉลี่ยต่อเกม 56.3ครั้ง) จ่ายสำเร็จ 88.5% / บอลสั้น88.8% จ่ายระยะกลาง 93.7% / การวางบอลยาว 2.1 ครั้งต่อเกม ความแม่นยำของบอลยาว 79.6%

การจ่ายบอล : 1. Ndidi > 2. Neves > 3. Rice

หากเทียบสถิติกันแล้ว เรื่องของคุณภาพการจ่ายบอล เอ็นดิดี้จ่ายบอลเฉลี่ยต่อเกมมากสุด และเปอร์เซ็นต์จ่ายสำเร็จสูงสุดในลิสต์นี้อยู่ที่เกือบๆ90% โดยที่ระยะกลาง กับ ระยะไกล %การจ่ายสำเร็จทิ้งขาดอีกสองคนที่เหลือ (แต่ถ้าเป็นบอลสั้น ไรซ์แม่นกว่า)

ส่วนทางด้านเนเวส ปริมาณรวมการจ่ายบอลทั้งหมดเยอะกว่าไรซ์และเอ็นดิดี้ แต่rateของการจ่ายสำเร็จก็ยังสูงอยู่

จุดที่น่าสนใจคือ เพราะการเล่นหลักของทั้งเนเวส กับ เอ็นดิดี้นั้นใช้ quick transitioning play เล่นเหมือนกัน เอ็นดิดี้มักจะวางบอลเร็วสวนกลับให้วาร์ดี้หรืออิเฮียนาโช่ในแดนหน้า ส่วนรูเบน เนเวส ก็มีเพื่อนซี้อย่างฆิมิเนส ที่รอการวางบอลยาวอยู่เหมือนกัน โดยที่ปริมาณการวางบอลยาวต่อเกม รูเบน เนเวส วางบอลยาวบ่อยกว่า อยู่ที่5.1ครั้งต่อเกมโดยเฉลี่ย ซึ่งถือเป็นสถิติที่สูงมาก ยิ่งถ้ามีพวกตัวรุกอย่างเนโต้รอวิ่งอยู่ด้วยเนเวสก็จะยิ่งมีโอกาสเปิดบอลเยอะกว่าเดิม

แต่ถ้าเป็นความแม่นยำของการจ่ายบอลโดยรวม ต้องยกให้เอ็นดิดี้

เกมรุก

Declan Rice : ยิง 1ประตู จากxG 2 / ยิงเฉลี่ย 0.76 ครั้งต่อเกม / ยิงตรงกรอบ 26.1% / แอสซิสต์ 1 / สร้างโอกาสยิง 1.59ครั้งต่อเกม / key pass 0.7 ครั้งต่อเกม

Rúben Neves : ยิง 5ประตู จากxG 5.1 / ยิงเฉลี่ย 2.22 ครั้งต่อเกม / ยิงตรงกรอบ 23% / แอสซิสต์ 1 / สร้างโอกาสยิง 2.14ครั้งต่อเกม / key pass 0.9 ครั้งต่อเกม

Wilfred Ndidi : ยิง 1ประตู จากxG 0.8 / ยิงเฉลี่ย 0.72 ครั้งต่อเกม / ยิงตรงกรอบ 6.3% / แอสซิสต์ 3 / สร้างโอกาสยิง 1.4ครั้งต่อเกม / key pass 0.6 ครั้งต่อเกม

เกมรุก : 1. Neves >> 2. Rice >= 3. Ndidi

ภาคการทำเกมรุกเปรียบเทียบกันระหว่างกลางต่ำทั้งสามคน แน่นอนว่าอันดับหนึ่งไม่มีใครชนะรูเบน เนเวสอีกแล้ว ทั้งยิงทั้งสร้างโอกาสบุก อย่างที่เห็นจากสถิติการทำ 5ประตู แถมโอกาสยิงต่อเกม การยิงตรงกรอบ การสร้างสรรค์โอกาสยิงต่อเกม เหนือกว่าคนอื่นขาดลอย

ส่วนนักเตะที่มีปัญหาในเรื่องเกมรุก โดยเฉพาะการจบสกอร์ด้วยตัวเองก็คือ "เอ็นดิดี้" ที่มีเปอร์เซ็นต์การยิงตรงกรอบแค่6.3%เท่านั้นเอง (16 เข้ากรอบ 1 และก็เป็น ประตูเดียวที่ทำได้ในปีนี้)

แต่ถ้าเป็นการเปิดบอลให้เพื่อน เอ็นดิดี้ก็ถือว่าไม่ถึงกับแย่มากนัก เพราะถนัดปั้นคนอื่นมากกว่า เพราะสถิติ 3แอสซิสต์ ก็เป็นคำตอบที่ดีว่าเขาก็พอจะทำเกมรุกได้บ้าง 

แต่รวมๆแล้วเนเวสเจ๋งสุด ถ้ามีทีมไหนต้องการกลางต่ำที่เล่นเกมรุกดีๆให้ทีม ทั้งยิงเอง ทั้งปั้นเพื่อน หมอนี่ตอบโจทย์มาก

สถิติอื่นๆ

Declan Rice : ดวลกลางอากาศชนะ 61.4% / ใบเหลือง 2 / ครอสบอล 30 / เก็บบอลสอง 282ครั้ง

Rúben Neves : ดวลกลางอากาศชนะ 55.1% / ใบเหลือง 7 / ครอสบอล 14 / บอลสอง 308ครั้ง

Wilfred Ndidi : ดวลลูกกลางอากาศชนะ 61.0% / ใบเหลือง 5 / ครอสบอล 2 / เก็บบอลสอง 279ครั้ง

สถิติตรงนี้น่าสนใจมาก เท่าที่เห็นคือลูกกลางอากาศ ไรซ์กับเอ็นดิดี้ทำได้พอๆกัน และสถิติดีประมาณกองหลังทั่วๆไปคนนึง ซึ่งมาตรฐาน Aerial won เฉลี่ยตามมาตรฐานของกองหลัง ก็อยู่ที่ราวๆ60%เช่นนี้ ซึ่งก็ตรงกับการที่ทั้งสองเล่นCBได้ ส่วนเนเวส ลูกกลางอากาศอ่อนที่สุด (%ใกล้เคียงวานบิสซาก้า)

เดแคลน ไรซ์ มีสถิติการครอสบอลที่เยอะกว่านั่นแปลว่ามีการถ่างออกไปช่วยเกมริมเส้นเยอะกว่าคนอื่นด้วย

ตัวที่เสียใบเหลืองบ่อยสุด และเล่นลูกโด่งแย่สุดคือเนเวส แต่เขาก็รีคัฟเวอร์บอลตายจังหวะสองได้เยอะกว่าคนอื่นเช่นกัน ในเรื่องความขยันหายห่วง

การเปรียบเทียบสามมิดฟิลด์ตัวต่ำดังกล่าว วัดเรียงลำดับความสามารถจากการวิเคราะห์ทั้งการเล่นจริงในสนาม และจากสถิติตัวเลข เปรียบเทียบแบบคร่าวๆจะได้ดังนี้

เกมรับ : 1. Ndidi > 2. Rice > 3. Neves

การครองบอล : 1. Rice > 2. Neves > > 3. Ndidi

การจ่ายบอล : 1. Ndidi > 2. Neves > 3. Rice

เกมรุก : 1. Neves >> 2. Rice >= 3. Ndidi

ซึ่งเราต้องนำตรงนี้ไปพิจารณาว่า นักเตะตัวไหนในสามคนนี้จะเหมาะกับการซื้อมาเสริมทีม โดยดูจาก "ปัญหา" ของแมนยูว่ากำลังมีปัญหาอะไรเป็นหลัก

พิจารณาทีละข้อว่าใครเหมาะกับเรื่องไหน

1.นักเตะที่จะมายืนต่ำ เป็นตัวหลัก และเหมาะจะจับคู่กับ แม็ค หรือ เฟร็ด ได้เหมาะสม : Declan Riceเน้นๆ

สาเหตุที่หัวข้อนี้สำคัญและต้องพิจารณา เพราะว่าในโลกแห่งความเป็นจริงมันไม่ใช่การเล่นเกมที่นึกจะซื้อใครเข้ามาก็ซื้อ แต่ในทีมของเราก็ยังมี "แม็คโทมิเนย์ กับ เฟร็ด" อยู่

ดังนั้นแล้วตัวใหม่ที่จะเข้ามานี้ ต้องพิจารณาในเรื่องของการ "จับคู่" กับแม็คเฟร็ดด้วย ซึ่งสองคนนี้เป็นนักเตะที่เป็นสายสนับสนุนด้วยกันทั้งคู่ และก็ช่วยเล่นเกมรับได้ดี ทำหน้าที่เป็นลูกหาบองครักษ์ให้ตัวหลักได้

ดังนั้นตัวที่จะเข้ามายืนจับคู่กับ แม็ค หรือ เฟร็ด คนใดคนนึง สิ่งแรกที่ต้องนึกถึงคือ คนที่คุมเกมเป็น"หลัก"ให้สองคนนั้นได้

สิ่งที่สองก็คือ จะต้องยืนด้านหลังได้คนเดียวในบางเวลาที่เฟร็ด ดันสูงขึ้นไปซัพพอร์ตบอลให้เพื่อน / เวลาแม็คเติมสูงเข้าไปในกรอบเพื่อรอยิงหรือโหม่ง

ดังนั้นมิดฟิลด์ที่ยืนต่ำคนเดียวเวลาที่เพื่อนโรมมิ่งออกจากตำแหน่งไป ถือว่าสำคัญมากในหัวข้อนี้

เพราะเราคงไม่ไว้ใจให้แม็คเฟร็ดยืนต่ำคนเดียวแน่นอน ซึ่งสองคนนี้ "ทำไม่ได้"

*อนึ่ง -ไม่ต้องห่วงเรื่องเงื่อนไขที่ว่าสามารถปักหลักเล่นเกมรับคนเดียวได้ เพราะโซลชาเองก็อาจจะต้องการเล่นแผน4-2-3-1ที่ใช้คู่กลางแบบนี้ และยากมากที่จะไปเล่นแผนกลางต่ำตัวเดียวอย่างสูตร 4-3-3 

ทั้งสามมิดฟิลด์ดังกล่าวก็เล่นในระบบกลางคู่อยู่แล้ว อย่างเนเวส ก็จับคู่กับ เจา มูตินโญ่ ที่วูล์ฟ ส่วนเอ็นดิดี้ก็เล่นคู่กับทีเลมันส์ที่เลสเตอร์ แม้กระทั่งไรซ์ก็จับคู่กับซูเช็ค หรือโนเบิลได้เหมือนกัน

เราพิจารณาแค่ว่าตัวที่สามารถพอจะยืนคุมอยู่ด้านหลังในแผงกลางได้ เวลาที่กลางตัวอื่นขยับขึ้นไปหน้าตอนทำเกมนั่นเอง แต่ก็ไม่ได้ถึงกับว่าจะต้องยืนกลางต่ำคนเดียวได้ตลอดเวลา เพราะโอเล่ไม่เล่นแผนนั้น

ประเด็นในความเหมาะสมที่จะเอามาจับคู่กับแม็ค หรือ เฟร็ด นี้ เรามองว่า ตัวที่ปักหลักยืนต่ำได้ และเป็นหลักให้แม็คเฟร็ดได้ เดแคลน ไรซ์ ดูจะเข้าท่าที่สุด คำตอบเดียวเลย

แม้เนเวสดูน่าสนใจในการเอามาเป็น กลางสายรุก ที่จับคู่กับ กลางสายรับพอดี แต่ปัญหาสำคัญคือ เราไม่สามารถทิ้งแม็คเฟร็ดยืนหลังได้ ในยามที่เนเวสเติมขึ้นมาบุก

ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ แม็ค/เฟร็ดยืนหลังคนเดียว หรือ เนเวส ยืนหลังคนเดียว ในการจับคู่นี้  ดูจะไม่เวิร์คทั้ง2สถานการณ์

ส่วนเอ็นดิดี้นั้น ป้องกันลูกสวนกลับจริง แต่เขาเป็นมิดฟิลด์ตัวตัดเกมอย่างเดียวจ๋าๆ การเก็บบอล ครองบอลก็ไม่เด่น ความเหมาะสมในการจับคู่แม็คเฟร็ดจึงค่อนข้างน้อย ก็เหมือนเอามิดฟิลด์ที่เล่นได้แต่เกมรับอีกคนเข้ามาจับคู่แทน ก็เกือบจะไม่ต่างกับการจับคู่แม็คเฟร็ดเลย เพราะทำอย่างอื่นไม่ค่อยได้

2.ปัญหาการครองบอล และแก้เพรสซิ่งเพื่อขึ้นเกมจากแดนหลัง : ให้ Declan Rice / Rúben Neves

ในหัวข้อนี้ ต้องอาศัยความสามารถ "การครองบอล" ที่จะเก็บบอลได้เก่ง เอาตัวรอดได้ บวกกับ "การจ่ายบอล" ที่แม่นยำมีคุณภาพนั้นรวมเข้าด้วยกันสองประการ

จากสถิติเชิงตัวเลขที่วิเคราะห์ไปแล้วด้านบนก็จะเห็นว่า ตัวครองบอลดีๆคือเดแคลน ไรซ์ ส่วนคนที่จ่ายบอลสำเร็จเยอะสุด จ่ายแม่นสุดคือเอ็นดิดี้ จะเห็นว่าไรซ์ กับ เอ็นดิดี้นั้นเก่งกันคนละอย่าง เอ็นดิดี้จ่ายบอลดีจริงแต่ครองบอลน้อย ไรซ์ครองบอลมากกว่า แต่ลูกจ่ายไม่เนี้ยบเท่าเอ็นดิดี้

ส่วนรูเบน เนเวส มีปริมาณการเล่นกับบอลเยอะมากๆจากสถิติหัวข้อการครองบอล และเนเวสได้เรื่องของชั้นเชิง เซนส์บอลมาช่วย แก้ไขสถานการณ์กลางสนามได้ดีมากๆที่เห็นในการเล่นบ่อยๆ ส่วนภาคการครองบอล จ่ายบอล สถิติก็ไม่ได้แย่อะไรกว่าสองคนนั้นมาก

เมื่อวิเคราะห์เรื่องการหามิดฟิลด์เข้ามาแก้ปัญหาให้แมนยูสามารถเก็บบอล ครองบอลได้เก่งๆ และมีเซนส์ดี แก้ไขการเจอเพรสซิ่งได้ ตัวที่ดูจะสมดุล และมีทางบอลที่ดีพอจะครองบอลและแกะเพรสได้ดีนั้น เดแคลน ไรซ์ กับ รูเบน เนเวส ดูจะบาลานซ์พอดีที่สุดในการแก้ปัญหานี้ เพราะแม้จะไม่ใช่คนที่จ่ายดีสุด แต่รักษาการครองบอลได้ ซึ่งทั้งด้านทักษะการเล่น เทคนิค วิชั่นในสนาม ดูมีชั้นเชิงเอาตัวรอดในสนามสูง

3.สกรีนเกมรับให้แผงหลัง และเรื่องที่ต้องใช้ปริมาณมิดฟิลด์ตัวรับเยอะเกินไป(2คน) : ให้ Ndidi หรือ Rice

เรื่องเกมรับนั้น ยังไงเอ็นดิดี้กับไรซ์ก็โดดเด่นกว่าอยู่แล้ว สองคนนี้สามารถช่วยเกมรับได้ โดยเฉพาะในการสกรีนงานให้แผงหลังนั้น เอ็นดิดี้มาแบบยืนหนึ่งเดี่ยวๆมาเลยในฐานะที่แทคเกิลและเล่นเกมรับต่างๆ

สองคนนี้มีออฟชั่นในการ "ยืนกลางรับคนเดียว" ในแผนการเล่นได้

เอ็นดิดี้หรือไรซ์แข็งแกร่งมากในการปัดกวาดหลังบ้าน เพราะงั้นหากว่ากองกลางโอเล่ดึงเอาป็อกบาลงต่ำมา การใช้เอ็นดิดี้หรือไรซ์จะเข้าแก๊ปกว่าเนเวส

อย่าลืมว่ามิดฟิลด์ในทีมที่เล่นคู่กลางได้นั้นยังมีป็อกบาอีกคนนึง ดังนั้นหากจะพิจารณานักเตะเข้าทีมมา ถ้าเป็นตัวที่ "เล่นเกมรับดีๆ" อย่างไรซ์ หรือ เอ็นดิดี้ จะทำให้เราสามารถใช้งานป็อกบาในแดนกลางได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถ้ามีคู่หูที่คอยปัดกวาดเกมรับให้ป็อกบาอยู่ด้านหลัง

อย่าลืมพิจารณาเรื่องที่จะซื้อมาแล้วใช้เล่นคู่กับป็อกบาด้วย หากว่าเขาตัดสินใจอยู่ต่อ

ยังมีป็อกบาอีกคน หากว่าเลือกตัวรับดีเข้ามา จะใช้ป็อกบาลงเล่นในคู่double pivotได้

ดังนั้นถ้าแมนยูซื้อสองคนนี้เข้ามา จะมีโอกาสเพิ่มนักเตะกองกลางเชิงรุกลงสนามมาในแดนกลางได้ เพราะภาคเกมรับของทีม สามารถใช้เอ็นดิดี้หรือไรซ์คนเดียวได้เลย มิดฟิลด์อีกตัวเราใส่คนที่เล่นเกมบุกเป็นลงมาได้(ก็ป็อกนั่นแหละ)

ส่วนเนเวส เอาจริงๆแล้วสถิติการเล่นเกมรับของเขามันไม่แย่เลยนะถ้าสังเกตดีๆ แม้บทความนี้จะให้เขาอยู่เป็นอันดับ3 แต่เนเวส แทคเกิลต่อเกมเยอะกว่าเดแคลนไรซ์ซะอีก แถมโอกาสtackle wonก็เยอะกว่า

แต่จุดด้อยของเนเวสคือเรื่องที่ทิ้งเขายืนต่ำด้านหลังคนเดียวไม่ได้ นี่คือจุดบอดเดียวของเนเวสในเรื่องเกมรับ ถ้าจับมาคู่ป็อกโดยตรงเลยน่าจะไม่เวิร์ค เพราะเล่นDLPเหมือนกัน และไม่มีคนช่วยเกมรับของทีมในแดนกลางได้มากพอด้วยย

4. ช่วยเรื่องการเซ็ตบอลจากแดนหลังของแมนยูไนเต็ด : ให้Rúben Neves

ข้อนี้สำคัญสุดๆ เราต้องพิจารณาในเรื่องของการเล่นทีมเรา ซึ่งหน้าที่กลางต่ำที่เห็นคือ เป็นตัวรับบอลต่อจากกองหลัง แล้วก็เชื่อมเกม ขึ้นเกมจากแดนหลังนั่นเอง ดังนั้นคนที่มีสกิลในการ "จ่ายบอล" ได้ดีและแม่นยำ ก็เหมาะกับการซื้อมาเล่นกลางต่ำให้กับทีม

ตัวที่จ่ายบอลแม่นที่สุดคือ เอ็นดิดี้ ก็จริง แต่ตัวที่มีปริมาณการเล่นกับบอล สัมผัสบอล เนเวสเยอะมากๆ ซึ่งมันเหมือนเป็นจุดศูนย์กลางของทีมในการรับส่ง เชื่อมต่อบอลไปยังจุดต่างๆทั้งใกล้และไกล

มิติการเป็นตัวรับส่งบอลเช่นนี้มันทำให้เรานึกถึงการมี "ไมเคิล คาร์ริค" หน้าแผงหลังเรา จากตัวตนของรูเบน เนเวส

5. เพิ่มมิติเกมรุกจากมิดฟิลด์ ในเวลาที่ตัวรุกด้านหน้าตัน : ให้ Rúben Neves คนเดียวเน้นๆ

น่าเสียดายว่าหัวข้อนี้เรา "ไม่ได้คาดหวัง" อะไรกับมันมากนัก เพราะจุดประสงค์หลักของเราอยากเสริมกลางต่ำเข้ามาคุมเกมแนวหลัง เล่นรับได้ แกะเพรสได้ ครองบอลตั้งเกมได้ และเกมรุกของทีมเรามีคนทำหน้าที่อยู่แล้วอย่างบรูโน่ แฟร์นันด์ส ดังนั้นหัวข้อนี้น้ำหนักจะน้อยหน่อย แต่ถ้าถามว่าใครจะมาช่วยเกมรุกให้ทีมได้จากแนวลึก

แน่นอนว่ารูเบน เนเวส ที่เล่นเกมรุกได้โหดกว่านั้น กินขาดอีกสองคนที่เหลือซึ่งเป็นกลางรับธรรมชาติแน่นอน

6. บทบาทของมิดฟิลด์ตัวต่ำที่ลงตัวกับแทคติกแมนยูไนเต็ด : Defensive Midfielder ของ Declan Rice

นี่คือคำถามสำคัญว่า จริงๆแล้วแทคติกแมนยู เหมาะกับการเลือกหยิบเอามิดฟิลด์สไตล์ไหนมาเสริมทีม

ซึ่งในลิสต์สามคนนี้ของ ไรซ์ เนเวส เอ็นดิดี้ สามคนนี้สไตล์ต่างกันชัดเจนอย่างที่นำเสนอข้อมูลเบื้องต้นเอาไว้

Declan Rice = Defensive Midfielder

Rúben Neves = Deep-lying Midfielder

Wilfred Ndidi = Ball-winning Midfielder

สิ่งที่ต้องการคือ มิดฟิลด์ที่มีมิติกลางสนามเก่งๆ + ยืนต่ำได้ + เล่นเกมรับได้ + ครองเกมได้ + แกะเพรส + แจกจ่ายบอล ในหลายๆอย่างที่ต้องค่อนข้างครบเครื่องและสมดุล

ดังนั้นถ้าถามว่า Roleไหนของสามคนนี้ตรงสเป็คเราที่สุด ก็ต้องตอบตามตรงว่า ทีมเราเหมาะจะใช้ Defensive Midfielder ในแดนกลางมากกว่า เพราะเป็นบทบาทที่มีส่วนร่วมกับการเล่นของทีมจากแนวหลังสูง

เพราะว่าDLPของเนเวสนั้น แม้จะเป็นตัวต่ำเช่นกัน แต่การเล่นของเขามันก็เน้นเชิงรุกมากกว่าอยู่ดี แต่เราต้องการคนคุมเกมในแดนหลัง ซึ่งต้องมีทักษะ การเอาตัวรอดที่เพียงพอ ควบคู่กับ "เกมรับด้วย"

ส่วนเอ็นดิดี้ เป็น Ball-winning ที่เน้นแต่เกมรับอย่างเดียวในการเข้าแทคเกิล ตัดเกม หยุดเกมใส่คู่แข่ง แล้วรีบใช้ quick transition play ในการเล่นงานสวนคู่แข่งทันที แต่การครอบครองบอลก็จะหย่อนลงมา

ซึ่งการเล่นสไตล์นี้ของเอ็นดิดี้ไม่เข้ากับแทคติกหลักของแมนยูไนเต็ดที่ค่อยๆใช้การเซ็ตบอลที่แน่นอนจากแดนหลัง

พูดง่ายๆคือสองคนนั้นสุดโต่งเกินไปในทางของตัวเอง เนเวสรุกดีแต่รับไม่เด่น ส่วน เอ็นดิดี้ก็จะรับอย่างเดียวเน้นๆ

เพราะฉะนั้นแล้ว ในroleที่ดูจะสมดุลสุด คงจะเป็น Defensive Midfielder ที่หลักๆของหน้าที่นี้คือ มิติสำคัญๆของมิดฟิลด์ในการเก็บบอลแดนกลาง การแจกจ่ายบอลให้เพื่อน การเล่นเกมปะทะ และพลังงานในการเล่นต้องดี ร่างกายต้องแกร่ง แถมต้องเล่นรับได้ด้วย ยืนต่ำปักหลักด้านหลังคนเดียวได้เวลาคู่หู ไม่ว่าจะแม็คหรือเฟร็ด เติมไปซัพพอร์ตเพื่อนด้านหน้า

ที่สำคัญคือ เดแคลน ไรซ์ เล่นอยู่ในทีมที่มีระบบทีมใกล้เคียงแมนยูไนเต็ดมากๆอย่างเวสต์แฮม ปกติถ้าฟิตสมบูรณ์ลงสนาม เขาก็ไม่ได้เล่นกลางรับตัวเดียวเช่นกัน แต่เล่นกลางคู่ด้านหลังที่สร้างสมดุลหลังบ้านให้ทีม

เมื่อนำข้อมูลวิเคราะห์มาสรุปทั้งหมด ดูเหมือนว่าหัวข้อที่พิจารณาว่าใครเหมาะสมกับการแก้ปัญหาของเรานั้น มี "Declan Rice" ติดเข้ามา 4 จาก 6 หัวข้อ ซึ่ง2หัวข้อสำคัญคือเรื่องของ role การเล่นที่เหมาะกับส่วนที่ทีมกำลังขาด และเรื่องของการใช้งานที่ต้องซื้อตัวพวกนี้เข้ามาเล่นคู่กับแม็ค หรือ เฟร็ด

เดแคลน ไรซ์ ดูน่าจะเป็นคำตอบของจิ๊กซอว์ที่ลงล้อคพอดีกับ สิ่งที่แมนยูเป็น(แทคติก) และสิ่งที่แมนยูมีอยู่(แม็คเฟร็ด)

ส่วนนอกจากนั้นแล้วหัวข้ออื่นๆที่จำเป็นๆ ไรซ์ก็ติดเข้ามา แม้จะไม่ใช่ตัวที่ดีที่สุด แต่ก็ถือว่าใช้การได้ ทั้งในเรื่องการครองบอล และการสกรีนเกมรับ

ส่วนนักเตะอีกคนที่น่าสนใจรองลงมาก็คือ "Rúben Neves" ที่โดดเด่นมากๆในด้านของการเซ็ตบอลจากแดนหลังที่จ่ายบอล เชื่อมบอลได้เยอะมากๆเหมือนตอนที่เรามีคาร์ริค (ถ้าเฮียปลัดมองเห็นข้อนี้ของเนเวส คงจะไปชี้ให้โอเล่ซื้อมาแน่ๆ) นอกจากนี้เนเวสยังใช้แกะสู้บอลเพรสซิ่งของคู่แข่งได้ดี ซึ่งทุกวันนี้ในพรีเมียร์ลีกเราโดนหนักมากๆ น่าจะทำให้ทีมเอาตัวรอดตรงนี้ได้ดี

ยิ่งการเซ็ตบอลขึ้นมาของแมนยูใช้การต่อบอลค่อนข้างเยอะและแน่นอน ทำให้รูเบน เนเวสน่าจะเหมาะมากเพราะหมอนี่เป็นศูนย์กลางการต่อบอล จ่ายบอลจริงๆตามสถิติดังกล่าว และก็อย่างที่ตั้งข้อสังเกตไว้ว่าถ้าเขามาน่าจะทำหน้าที่ได้เหมือนตอนที่ไมเคิล คาร์ริค อยู่ที่นี่ในเรื่องของการแจกจ่ายบอลในแดนกลาง

แต่ปัญหาของเนเวสหลักๆอย่างที่บอกก็คือเรื่องที่ไม่สามารถฝากเกมรับให้แกปักหลักด้านหลังคนเดียวได้คือปัญหาหลัก เพราะอะไร? เพราะว่านักเตะที่จะมาเข้าคู่ด้วยนั้น มันคือแม็คเฟร็ด ที่ไม่สามารถยืนด้านหลังคนเดียวได้นั่นเองเวลาทำเกมกัน ปัญหาสำคัญจึงอยู่ตรงนี้ในภาคเกมรับ

จริงๆหลายคนอาจจะคิดว่า เอากลางต่ำเชิงรุกอย่างเนเวสเข้ามาก็ดีนะ คู่มิดฟิลด์ตัวกลางจะได้มีรุกคนนึง รับคนนึง ตามอุดมคติมันก็เป็นแบบนั้นแหละครับ แต่ในความเป็นจริง การจะซื้อ รูเบน เนเวส มาใช้ได้ ก็ต่อเมื่อ "กลางรับคนที่มายืนคู่ต้องเล่นเกมรับได้เนี้ยบสุดๆ" เท่านั้น ถ้าแมนยูมีกลางรับโหดๆที่ว่านั่น ผมจึงจะเชียร์ให้ซื้อรูเบน เนเวสเข้ามา

คุณภาพเกมรับ ของแม็คโทมิเนย์ หรือ เฟร็ด ยังไปไม่ถึงตรงนั้น ดังนั้นจึงไม่น่าจะเหมาะถ้าซื้อเนเวสมาจับคู่สองคนดังกล่าว เพราะเอาจริงๆแล้วนอกจาก เจา มูตินโญ่ แล้ว รูเบน เนเวสยังมีคู่หูที่เป็นกลางรับอีกคนอย่าง Dendoncker ด้วย ถ้ามีด้านหลังแข็งๆเขาก็จะดันเกมขึ้นไปทำเกมคู่กับบรูโน่ในการเล่น8sคู่กันได้อีกต่อ

ส่วนWilfred Ndidi เป็นนักเตะที่ถูกพิจารณาน้อยที่สุด จุดแข็งมากๆของเอ็นดิดี้คือเกมรับที่สุดจัดจริงๆ ตัดเกมได้ดีมากตามหน้าที่เขาเลย ขายาว จิ้มบอลแม่น แต่เขาไม่เข้าแก๊ปกับแทคติกแมนยูที่ต้องครองบอล ทำเกมกันจากแดนหลัง เพราะเอ็นดิดี้ไม่ใช่ตัวที่จะอยู่กับบอลหรือเล่นกับบอลเยอะมากนัก ส่วนใหญ่ก็เล่นในแทคติกของบอลเลสเตอร์อย่างที่เห็นนั่นเอง

จริงๆแล้วแนวคิดที่ว่าซื้อตัวไหนมาเสริมทีมมากกว่ากัน มันเป็นเรื่องของความเห็นเท่านั้น สามตัวนี้ใครก็ได้ ขอแค่เข้าทีมมามันมีข้อดีหมด แต่บทความนี้พิจารณาโดยดูปัจจัยประกอบทีละเรื่องๆเป็นหลัก ดังนั้นหากให้เรียงลำดับจากการพิจารณาซื้อเข้ามาเสริมทีม วัดกันแค่"เฉพาะสามตัวนี้"เท่านั้น (ไม่ได้แปลว่าเราจะมองกลางรับคนอื่นๆ)

ถ้าเป็นลิสต์ยอดฮิตนี้ เรียงตามลำดับตัวที่เหมาะสมจะซื้อเข้ามาเพื่อแก้ปัญหากองกลางแมนยู จากมากไปหาน้อยดังนี้

1. Declan Rice

2. Rúben Neves

3. Wilfred Ndidi

เอาจริงๆแล้ว สื่อหลายๆสำนักที่วิเคราะห์กันมาเป็นปีๆแล้ว บางที่มองว่าทีมเราควรจะมี "Rúben Neves จับคู่กับ Wilfred Ndidi" ด้วยซ้ำ อย่างที่กล่าวไปด้านบนแล้วเรื่อง คู่กลางรับ-รุก

จริงๆแล้วการได้คู่นี้มาเล่นร่วมกันต่างหาก คือคำตอบที่ถูกต้องจริงๆ เพราะเราก็จะมีNevesเป็น DLP ทำเกมคนนึง และใช้ตัวตัดเกมอย่าง Ndidi  ยืนจับคู่เล่นเกมรับให้ด้านหลัง

แต่มันเป็นไปได้แค่ในความฝัน

เพราะถ้าจะซื้อสองตัวนี้เข้ามาพร้อมกัน งบประมาณจะหมดแน่นอน เพราะราคาประเมินก็แรงทั้งคู่ อยู่ที่50ล้านยูโร ซึ่งถึงเวลาไปขอซื้อจริงๆ ราคากระฉูดแตกอยู่แล้ว เอ็นดิดี้นี่ถ้าจะเอาต้องมี80ล้านแน่ๆ เลสเตอร์ยิ่งเพิ่งได้แชมป์ด้วย ส่วนรูเบน เนเวส อาจจะมี 50-60ล้านปอนด์ได้ ราคาก็ถูกลงมาหน่อย แต่ถ้าจะเอาคู่กัน งบเสริมทัพหมดเลยแน่นอน

ส่วนไอ้เจ้าเดแคลน ไรซ์ อย่างที่ทราบกัน 80ล้าน+แน่นอน ตามข่าวจะเรียกร้อยล้านเลยด้วยซ้ำ แต่ก็อาจจะดีลลินการ์ดเป็นส่วนหนึ่งได้

ทั้งสามคนนี้จริงๆแล้วถือว่าเป็น "กลางรับตัวท็อป" ของโลกเล่นเช่นกัน เพราะพวกเขาอยู่ใน ท็อป7 ของมิดฟิลด์ตัวรับที่ประเมินราคาเอาไว้สูงที่สุดในโลก ถ้าไม่นับพวกคิมมิช โรดรี้ คาเซมิโร่พวกนั้น สามคนในบทความนี้ก็อยู่ระดับต้นๆเช่นกัน ในแรงค์ราคาระดับเดียวกันกับ "ฟาบินโญ่" ของลิเวอร์พูลนั่นแหละ ถ้าได้เข้ามา ก็เหมือนได้เกรดเดียวกับฟาบินโญ่มาคุมกลางต่ำ

ในสามคนนี้ คนที่ราคาเบาสุดน่าจะเป็น "Rúben Neves" ที่ดูจะเป็นช้อยส์ในการซื้อของดีราคาไม่แรงมาก เพื่อที่จะเอาเงินไปเสริมแอเรียอื่นได้ ไม่ว่าจะปีกขวา หรือกองหลัง มันก็จึงมีปัจจัยเช่นนี้เข้ามาอีก

แต่ถ้าไม่คิดมากเรื่องเงิน ตัวที่เหมาะสมที่สุดในการซื้อมาเล่นกลางต่ำก็คือ Declan Rice นั่นเอง

ไม่ว่าจะยังไงก็ตาม ขอให้มีกองกลางดีๆเหล่านี้เข้ามาก่อนสักตัว ไม่งั้นภาคการครองบอลจะเทียบแมนซิตี้ เชลซีไม่ติดเลย เพราะทีมชั้นนำเหล่านี้มีเบสการเล่นที่แข็งแกร่งมาจาก "กองกลาง" ด้วยกันทั้งคู่ ทั้งปรัชญาครองบอลของซิตี้ หรือการต่อเกมรุกของเชลซี จะเห็นได้ว่ากลางของสองทีมนี้โหดมากแค่ไหน นั่นแหละคือคำตอบว่าทำไมทีมเราก็ต้องเสริมกลาง  นอกจากนี้ถ้ากลางเราแกร่ง ก็ยังจะเอาชีวิตรอดจากทีมบ้าเพรสซิ่งอย่างการเจอลิเวอร์พูลได้อีกด้วย

เอาเป็นว่าซื้อเข้ามาสักคนก็พอ ไม่เรื่องมากหรอก กองกลางของทีมตอนนี้มันสู้ใครเค้าไม่ได้แล้วว้อย!

-ศาลาผี-

References

https://fbref.com/en/

https://www.whoscored.com/

https://www.transfermarkt.com/

ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ระดับ : {{val.member.level}}
{{val.member.post|number}}
ระดับ : {{v.member.level}}
{{v.member.post|number}}
ระดับ :
ดูความเห็นย่อย ({{val.reply}})

ข่าวใหม่วันนี้

ดูทั้งหมด