:::     :::

[Tactical Analysis] คอมโบลูกกรอก เกมตอกหมาป่า

วันอังคารที่ 25 พฤษภาคม 2564 คอลัมน์ #BELIEVE โดย ศาลาผี
3,665
ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
บทบาทการเล่นของ4ลูกกรอกคะนองจากทีมชุดU-23s ที่ลงมาวาดลวดลายถล่มวูล์ฟอย่างสวยงาม พร้อมเป็นความหวังในอนาคตให้แก่แฟนผี พวกเขามีจะมีการเล่นที่เด่นแง่ใดบ้าง และสามารถใช้งานยังไงในการลงเล่นกับแทคติกของทีม และการ "คอมโบ" เด็กนรกเหล่านี้ด้วยกัน เพื่อสร้างsuper weaponในอนาคตให้กับปีศาจแดง

เกมนัดที่38ของแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดได้ปิดฉากฤดูกาล 2020/21 อย่างสวยงามด้วยชัยชนะต่อวูล์ฟแฮมพ์ตัน 1-2 ที่สนามโมลินิวซ์ บ้านวูล์ฟ ส่งท้ายนูโน่ เอสปิริโต้ ซานโต้ ไปอย่างสมศักดิ์ศรีด้วยฟุตบอลที่ดีที่สุดที่แมนยูไนเต็ดเล่นอย่างเต็มที่ต่อหน้าทีมเจ้าบ้าน และได้สองประตูจาก แอนโธนี เอแลงก้า และ ฮวน มาต้า เป็นประตูชัยจากจุดโทษ ส่วนเจ้าบ้านเองตีเสมอได้จากเนลสัน เซเมโด้

ผลการแข่งขันนี้ทำให้แมนยูไนเต็ดไม่แพ้ใครเลยในเกมเยือนทั้งฤดูกาล จบอันดับสองของพรีเมียร์ลีกด้วยคะแนน74แต้ม ห่างจากแมนเชสเตอร์ซิตี้12คะแนน แต่อย่างไรก็ตาม มันก็เป็นตำแหน่งที่ดีที่สุดในลีกของอีก19ทีมที่ไล่ตามแมนเชสเตอร์ซิตี้ ซึ่งหวังว่าปีต่อๆไปเราจะทำได้ในการลดระยะห่าง12คะแนนนี้ให้แคบลง และเข้าไปกดดันตำแหน่งจ่าฝูงได้มากกว่านี้จนอยู่ในระดับที่ได้ลุ้นแชมป์จริงๆจังๆ หลังจากที่ปีนี้เคยขึ้นจ่าฝูงมาแล้ว ซึ่งก็นับเป็นนิมิตหมายที่ดีในอนาคต

แต่หากพูดถึงอนาคต แฟนผีหลายๆคนคงจะเห็นกันแล้วว่า รากฐานนักเตะดาวรุ่งของทีมเราที่กำลังสร้าง และพัฒนาขึ้นมาใช้งานนั้นมีมากมายหลายคนที่น่าสนใจ และแข็งแกร่งพอจะเป็นความยั่งยืนในระยะยาวของทีมได้จากการที่มีนักเตะคุณภาพดีขึ้นมาใช้งานจากระบบเยาวชนอย่างต่อเนื่อง

นักเตะเหล่านั้น หากเป็นแฟนผีที่ติดตามทีมชุดเยาวชนของเราไม่ว่าจะ U-18s หรือ U-23s ก็คงมีหลายๆคนที่เรารู้จักกันบ้างแล้วผ่านรีวิวและคลิปการเล่นต่างๆ และมีหลายต่อหลายคนที่ผู้จัดการทีมแมนยูไนเต็ดอย่าง โอเล่ กุนนาร์ โซลชา ดึงจากทีมชุด U-23s ขึ้นมาซ้อมร่วมกับทีมชุดใหญ่

ในนั้นมีโอกาสได้ลงเดบิวต์กับสโมสรแล้ว ขณะที่มีอีกหลายคนที่รอจ่อคิวขึ้นมาอีกเช่นกัน ซึ่งเกมนัดสุดท้ายของฤดูกาลในการไปเยือนวูล์ฟนั้นเป็นเกมที่ไม่มีผลกระทบใดๆต่ออันดับในลีกของแมนยูแล้ว จึงเป็นโอกาสให้โอเล่ได้ลองส่งดาวรุ่งหลายๆรายลงมาเก็บประสบการณ์แบบเต็มๆในยามที่เกมการแข่งขันสามารถใช้ทดลองนักเตะและแผนการเล่นใหม่ๆได้เพื่อเตรียมทีมในซีซั่นต่อไป

และเกมเจอวูล์ฟดังกล่าว เป็นโอกาสการได้ลงสนามของ 4 ดาวรุ่งจากชุดเยาวชน U-23s ของเรากันครบครัน มากน้อยลดหลั่นกันไป แต่หลายๆคนก็ทำผลงานได้ดีเยี่ยมและประทับใจแฟนผีไม่น้อยในเกมวันนั้น ทำให้เราสบายใจว่าอย่างน้อยๆในระยะยาว เราพอจะมีตัวดีๆที่มีแววจะขึ้นมาทีมชุดใหญ่ได้เรื่อยๆ โดยไม่ต้องลำบากใช้จ่ายเงินซื้อนักเตะแพงๆเข้ามาอย่างเดียว แต่สิ่งที่ถูกต้องก็คือการพัฒนาควบคู่กันไประหว่างการทุ่มเงินซื้อนักเตะระดับแนวหน้าเข้ามาผสมผสานกับนักเตะจากระบบเยาวชนของทีม ซึ่งมีทั้งนักเตะท้องถิ่น (เช่น แรชฟอร์ด เป็นต้น) รวมกับดาวรุ่งฝีเท้าดีที่scoutของเราควานหามาเจอจากทั่วทุกมุมโลก (เช่น ป็อกบา)

วันนี้เราจะมาดูกันว่า ดาวรุ่ง4คนในเกมเจอวูล์ฟนั้น ผลงานเป็นยังไงบ้าง มีอะไรน่าสนใจ ตำแหน่งการเล่นและสไตล์เป็นยังไง และ"คอมโบ"การจัดทีมในอนาคต 4คนนี้สามารถนำมาปรับเล่นยังไงได้บ้างในแผนไหนสำหรับอนาคตระยะยาวในอีก5ปีข้างหน้าโดยประมาณ

4คนดังกล่าวคือ

Anthony Elanga

Amad Diallo

Shola Shoretire

Hannibal Mejbri

เรามาดูกันว่า ข้อมูลการเล่นเบื้องต้นของแต่ละคนเป็นยังไงกันบ้าง

1.Anthony Elanga

อายุ : 19ปี / สูง : 178cm / เท้าที่ถนัด : ขวา

สัญชาติ : สวีเดน

ตำแหน่งถนัด : LW / ตำแหน่งอื่นที่เล่นได้ RW, CF

สไตล์และบทบาทการเล่น :

สำหรับเจ้าหนูแอนโธนี เอแลงกา เป็นตัวรุกริมเส้นในลักษณะของ "Inside Forward" ที่เล่นเป็นปีกตัดเข้าในนั่นเอง ซึ่งมีความเร็วสูงเป็นจุดเด่น มีการเลี้ยงที่คล่องแคล่ว และสามารถตัดเข้ามาเล่นด้านในได้รวมถึงสามารถจบสกอร์ได้ดี

ครั้งแรกๆที่เห็นเอแลงกา มันก็ค่อนข้างชัดเจนเลยว่าผู้เขียนเหมือนเห็น แรชฟอร์ดที่เป็นวัยรุ่นอายุน้อยๆที่เพิ่งขึ้นมา เอแลงกามีการเล่นที่ชัดเจน มั่นใจ และตัดสินใจในช็อตการเล่นได้ดีและรวดเร็ว ไม่คิดเยอะ ไม่ใช้จังหวะเยอะ และใช้ความเร็ว ความแรงในการโจมตีคู่แข่ง

เห็นแล้วคิดถึงแรชจริงๆตั้งแต่แรกๆ ดังนั้นเมื่อเราดูความสดของน้อง ดูความมุ่งมั่น ดูไฟในการเล่น ผู้เขียนรู้สึกตั้งแต่ก่อนจะถูกเรียกขึ้นชุดใหญ่แล้วว่า การเล่นที่ "กล้า" เช่นนี้ เราคาดหวังอยากจะให้น้องลงเล่นปีกซ้ายแทนแรชช่วงที่ฟอร์มตกเพราะร่างกายไม่ฟิตซะอีก ซึ่งแรชปัจจุบันใช้จังหวะมากไปทำให้การเล่นของทีมไม่ลื่นไหล และบอลมักไปหยุด และตายที่เขาบ่อยครั้ง

ก็เลยอยากเห็นเอแลงกาลงแทนบ้าง เผื่อจะเติมเชื้อไฟให้ทีมได้ เพราะการเล่นของน้องดูดีมากๆโดยเฉพาะพลังทำลายในการยิงประตูอย่างรวดเร็ว รุนแรงที่ได้เห็นจากชุดสำรองนี่คือน้องก็อยู่เกินเลเวลนั้นไปแล้ว

ตำแหน่งอื่นๆที่เอแลงกาเล่นได้ ก็คือ ปีกขวา ที่ทำได้ดีเช่นกัน และก็เล่นขวาในลักษณะของ Inside Forward เหมือนกับการเล่นทางฝั่งซ้าย เพราะบางครั้งนักเตะที่ย้ายฝั่งไปอยู่ด้านเดียวกับขาข้างที่ถนัด บ้างครั้งจากIF จะปรับไปเล่นแบบ "Winger" แทนที่ใช้การกระชากวงนอกแล้วครอสด้วยขาข้างถนัดที่อยู่ฝั่งด้านนอก

แต่เอแลงกา เป็นปีกที่ยังคงตัดเข้าในมาเล่นตรงกลางเพื่อหาโอกาสยิงอย่างชัดเจน จะไม่เล่นริมเส้นที่เป็นwide areaตลอดเวลา

อีกตำแหน่งที่เล่นได้ก็คือ CF กองหน้าForwardตัวกลางที่คล้ายๆกับเมสัน กรีนวู้ด คือไม่ใช่หน้าเป้า แต่เป็นForwardที่ใช้ความเร็ว ความคล่องในการหาจังหวะยิง แต่ก็อยู่ในระดับที่เล่นได้ หากถามว่าถนัดตรงไหนมากกว่ากัน พื้นที่ด้านข้างน่าจะมีสเปซให้น้องใช้ความเร็วได้มากกว่า

2.Amad Diallo Traoré

อายุ : 18 ปี / ส่วนสูง : 173 cm / เท้าที่ถนัด : ซ้าย

สัญชาติ : ไอวอรี่โคสต์

ตำแหน่งถนัด : RW / ตำแหน่งอื่นที่เล่นได้ LW, CF

สไตล์และบทบาทการเล่น :

อามัด เดียโล่ เป็นผู้เล่นปีกขวาที่เล่นในลักษณะของ "Inverted Winger" ที่เป็น "ปีกตัดเข้าใน" ในลักษณะของการใช้เท้าซ้ายเลี้ยงตัดเข้าในจากฝั่งขวา ซึ่งอามัดเป็นผู้เล่นที่เป็นปีกธรรมชาติ เล่นเป็นปีกมากกว่าที่จะเล่นเป็นกองหน้า ดังนั้นเราจะไม่เรียกอามัดว่าเป็น IF เหมือนพวกแรชฟอร์ด เอแลงกา แต่เขาคือปีกกลับด้านที่เป็น IW ซึ่งแม้จะตัดเข้าใน แต่การเล่นโดยรวมยังคงเป็นWingerอยู่ ซึ่งมีสกิลของปีกครบครัน ไม่ว่าจะเป็นความเร็ว ความคล่อง ทักษะ เทคนิค ที่ปีกคนนึงควรจะมี

รวมถึงความแม่นยำในการจ่ายบอลให้เพื่อนด้วย ซึ่งสำคัญมากสำหรับปีกในการจ่ายต่อให้กองหน้าจบสกอร์ ไม่ว่าจะด้วยการแทงคิลเลอร์พาส หรือการครอสบอลก็ตาม

อามัด เดียโล่ เป็นผู้เล่นที่มีสกิลรอบตัวและสามารถเล่นได้"ทุกจุด" ในสนาม ไม่ว่าจะปีกขวาที่ถนัด หรือโยกมาปีกซ้ายก็ได้ เล่นกลางก็ได้ ซึ่งRoleการเล่นของอามัดถือว่า แพรวพราว และ หลากหลายที่สุดในบรรดาสี่ตัวที่นำมาเขียนแล้ว เพราะในยามที่อามัดโยกไปเล่นLW เขาก็จะเล่นเป็นตำแหน่ง "Winger" แบบแท้ๆที่กระชากขึ้นทางซ้ายด้วยเท้าซ้ายฝั่งด้านนอก แล้วใช้ความเร็วเอาชนะ จากนั้นก็ครอสบอลด้วยซ้ายเข้ากลาง จะไม่ตัดเข้ามาในอีก

อีกตำแหน่งนึงก็คือตัวกลาง จริงๆแล้วอามัดเก่งพอจะเล่นเป็นตัวรุกเพลย์เมคเกอร์ตรงกลางได้ แต่อย่างที่แฟนผีเห็นกันแล้วว่า เขามีพลังในการทำประตูได้ด้วย และเล่นกลางได้อย่างคล่องแคล่ว ซึ่งบทบาทของอามัดในการเล่นตรงกลางนั้น อามัดจะเล่นกลางในลักษณะของการเป็น "กองหน้า False Nine" ให้ทีมได้

ซึ่งก็คือยืนกองหน้าตรงกลางให้ทีมเราได้ด้วย แต่เล่นในลักษณะที่จะไม่ค้ำเป็นเป้า แต่จะดรอปต่ำลงมาและเล่นสนับสนุนให้กองหน้าด้านข้างเป็นตัวเข้าทำแทนจากตำแหน่งอื่นๆเช่นปีกเป็นต้น แล้วจากนั้นตัวเองจะสอดเข้าไปยิงด้วยก็ได้

3.Shola Shoretire

อายุ : 17 ปี / ส่วนสูง : 175 cm / เท้าที่ถนัด : ขวา

สัญชาติ : อังกฤษ

ตำแหน่งถนัด : LW, CF / ตำแหน่งอื่นที่เล่นได้ : RW

สไตล์และบทบาทการเล่น :

สำหรับเจ้าหนู ชอลา ชอเรติเร เป็นรุกพิเศษมากคนนึง ซึ่งจุดเด่นของชอลา นอกจากความเร็วแล้วนั้น สิ่งที่เรียกว่า "พิษสง" ของเด็กคนนี้มีอยู่รอบตัว เรียกง่ายๆว่าเป็นตัวอันตรายของคู่แข่งคนนึงเลยถ้าลงสนาม เพราะหมอนี่ ทำได้ทุกอย่าง และเล่นจังหวะสุดท้ายได้ดีและโหดมากๆ ไม่ว่าจะยิงเอง หรือแอสซิสต์ให้เพื่อน ซึ่งประสิทธิภาพของการทำสกอร์ให้ทีมถือว่าสูงมากๆ ซึ่งก็มักจะเป็นตำแหน่งของ กองหน้าตัวเป้า หรือพวก Forward ต่างๆ

แต่ชอลาเป็นสิ่งที่พิเศษกว่านั้น นั่นก็คือ เขาเป็นกองหน้าแบบ "Withdrawn Striker" ที่หมายถึง "กองหน้าตัวอิสระ" ที่จะไม่ยืนค้ำอยู่ในตำแหน่งของ Stiker นั่นเอง ถ้าให้พูดเป็นภาษาแบบง่ายๆบ้านๆก็คือ "กองหน้าที่ไม่ยืนกองหน้า"

เอาไปตั้งเป็นเพลงใหม่Getsunovaได้เลย!

ตำแหน่งการยืนของชอลา และroleการเป็น Withdrawn Strikerนั้นจำเป็นต้องครบเครื่องขนาดหนัก เล่นได้ทุกอย่างทั้งยิงประตู ทั้งแอสซิสต์ ทำเกมให้ทีม และเล่นได้ทุกจุดไม่ว่าจะตรงกลาง หรือริมเส้น

สถิติการลงเล่นนั้น ชอลาได้ยืนในตำแหน่ง "ปีก" มากกว่า เพราะยืนปีกขวา11นัด ปีกซ้าย7นัดในการลงแข่งPL2ให้กับทีมสำรอง รวม18นัดในการสตาร์ทริมเส้น ยิงไป9ประตู ส่วนลงตำแหน่งกองหน้านั้น 2เกมยิงไปอีก1ประตู

ลงตัวริมเส้นก็จริง แต่ฝีเท้าและการเล่นของเจ้าหนูชอลาดีเกินกว่าจะเล่นได้แค่ริมเส้น จริงๆแล้วเขาเล่นตรงกลางได้น่ากลัวที่สุด เพราะจังหวะที่ทำประตูส่วนใหญ่ก็อยู่ตรงกลางทั้งนั้นในการเล่นจริงในสนาม เพราะหากใครได้ดูทีมชุด U-23s จริงๆข้อมูลจะไม่ตรงกับบางเว็บ เนื่องจากเจ้านี่เล่นตรงกลาง และเพื่อนซี้อย่างฮันนิบาลต่างหากที่ออกไปเล่นปีกมากกว่า

ของแบบนี้สถิติก็ช่วยอะไรไม่ได้นอกจากต้องไปดูการเล่นของน้องเอาเอง แต่จริงๆแล้ว ตำแหน่งWS เป็นตำแหน่งที่เหมือนเอา นักเตะกองหน้า ถอยต่ำลงมายืนด้านล่างออกในตำแหน่งยืนของstrikerปกติ (ถึงได้เรียกว่า Withdrawn ที่แปลว่าเป็นการเอาออกจากจุดที่มันอยู่) เป็นกองหน้าที่ไม่ยืนจุดกองหน้านั่นแหละ เพราะงั้นจะไปยืนที่positionของ LW RW ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรสำหรับ Withdrawn Striker อยู่แล้ว

ชอลามีความเร็วสูง ความคล่องตัว และการเล่นในจังหวะสุดท้ายได้ดีที่เล่นได้คมมาก ไม่ว่าจะจ่ายบอลหรือจบสกอร์เอง ถ้าใครเห็นเกมนัดสำรองก็คงจะเห็นนัดที่เขายิงแฮททริกได้จาก แอสซิสต์แฮททริกจากอามัดเช่นกัน สองคนนี้โคตรเข้าขากันเว่อร์ๆทั้งๆที่อามัดเพิ่งย้ายเข้าทีมมาปีนี้เท่านั้น

4. Hannibal Mejbri

อายุ : 18 ปี / ส่วนสูง : 182 cm / เท้าที่ถนัด : ขวา

สัญชาติ : ฝรั่งเศส

ตำแหน่งถนัด : AM / ตำแหน่งอื่นที่เล่นได้ LW, CM

สไตล์และบทบาทการเล่น :

หมอนี่เปรียบเทียบง่ายสุดๆ ก็ "บรูโน่ แฟร์นันด์ส" เป็นยังไง ฮันนิบาล เมจบรี ก็เป็นแบบนั้นแหละ หมอนี่คือเพลย์เมคเกอร์ตัวรุกในลักษณะของ "Advance Playmaker" ที่เป็นเพลย์เมคเกอร์ผู้ซึ่งทำหน้าที่ได้หลากหลาย ซึ่งจะโจมตีและสอดตัวอยู่ระหว่าง Midfield Line กับ Defensive Line ของคู่ต่อสู้ โดยที่จะทำหน้าที่ออกบอลให้เพื่อนในเบื้องต้นเหมือนเพลย์เมคเกอร์พื้นฐาน แต่ตัวแอดวานซ์จะเล่นมากกว่านั้น ไม่ได้รอจ่ายบอลอย่างเดียว เพราะจะวิ่งเติมจากแนวลึกเข้าใส่แนวป้องกันคู่แข่งด้วย, ถ่างออกด้านกว้างเพื่อที่จะเล่นลูกครอสเข้าไป รวมถึงแทงบอลเข้าพื้นที่Final Thirdของคู่แข่งเพื่อให้เพื่อนหรือเข้าไปโจมตีด้วยตัวเอง

พูดง่ายๆคือเป็นตัวสร้างสรรค์เกมรุกและทำทุกหน้าที่ในเกมรุกจริงๆ ซึ่งก็คือสิ่งที่Bruno Fernandes ทำอยู่นั่นแหละ

แต่ ฮันนิบาล เมจบรี แม้จะเล่นเป็นตัวAPคล้ายบรูโน่ยังไงก็ตามในด้านการทำเกมรุกที่แพรวพราว มีจินตนาการ และมีเซนส์บอลที่ดี แต่ฮันนิบาลแตกต่างกับบรูโน่มากๆในด้านของ "ความเร็ว" ที่เร็วกว่าบรูโน่เยอะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกมสวนกลับ ฮันนิบาลสามารถกระชากขึ้นมาหน้าเองได้สบายๆ ด้วยสกิลการเลี้ยงที่ดีเยี่ยม และไปกับบอลได้โคตรเร็ว

นอกจากนี้แล้วทีมสำรองฮันนิบาลยังเล่นปีกซ้ายได้อีกด้วย แถมเล่นดีเหมือนเป็นWingerจริงๆซะอีก

เปรียบเปรยง่ายๆ หมอนี่เล่นเพลย์เมคเกอร์เหมือนบรูโน่ แต่กระชากบอลขึ้นหน้าด้วยความเร็วแบบเดียวกันลินการ์ด ที่มีสกิลสามารถเล่นปีกได้เหมือนลินการ์ดเช่นกัน เป็นเพลย์เมคเกอร์ความเร็วสูงที่สกิลทักษะอยู่ในระดับยอดเยี่ยมมาก

บรูโน่เคยพูดว่า ถ้าเขามีความเร็วเหมือนแรชฟอร์ดเขาคงได้บัลลงดอร์ไปแล้วมั้ง..

พูดแบบนี้นั่นแปลว่าฮันนิบาลจะ...

การใช้งานดาวรุ่งทั้ง4จริงในสนาม ในเกมเจอวูล์ฟแฮมพ์ตัน

ก่อนที่จะไปถึงวิธีการคอมโบเด็กทั้ง4คนนี้เข้าด้วยกัน ต้องนำ "ของจริง" มาเปรียบเทียบให้เห็นก่อน ไม่ใช่การพูดลอยๆ เพื่อให้คนอ่านเห็นว่า ของจริง4คนนี้เล่นยังไง ยืนตรงไหนบ้างในสนาม และมันตรงตามRoleของบทบาทการเล่นหรือไม่

ต้องอธิบายอย่างหนึ่งก่อนว่า ตำแหน่ง กับ บทบาทการเล่น ไม่เหมือนกัน

ตำแหน่งๆหนึ่ง อาจจะมีลักษณะบทบาทการเล่นที่แตกต่างกันได้ อย่างเช่น ในตำแหน่งมิดฟิลด์ตัวต่ำ มันก็มีทั้งตัวที่เป็น เพลย์เมคเกอร์ตัวต่ำ (DLP), มิดฟิลด์ตัวรับ (DM), มิดฟิลด์ตัวตัดเกม (BWM) รวมถึงเอาตัว Box-to-Box มายืนก็ได้

ดังนั้น การที่นักเตะลงมายืนตำแหน่งกลางรุก เขาอาจจะไม่ได้เล่นเป็นมิดฟิลด์ตัวรุกก็ได้ เพราะในจุดAMมันก็ยังเล่นอะไรได้อีกเยอะไม่ใช่เพียงแค่มิดฟิลด์สร้างสรรค์เกม

เรามาดูกันซิว่า ในเกมเจอวูล์ฟ ดาวรุ่งทั้ง4คนยืนตรงไหนกันบ้าง และเล่นยังไง positionการยืนเป็นแบบไหน

ลักษณะของแผนการเล่นในวันนั้นของแมนยูไนเต็ดนั้น เอาจริงๆแล้วถูกวางตำแหน่งการยืนในpositionแบบ formationพื้นฐานของ "4-2-3-1" ที่เป็นชุดวิธีคิดของการใช้ แบ็คโฟร์(4) + คู่มิดฟิลด์ตัวกลาง(2) + ตัวรุกสามคน(3) + กองหน้าตัวเป้า(1)

แต่การจัดตัวในเกมเจอวูล์ฟ โอเล่ส่ง แดเนียล เจมส์ แอนโธนี เอแลงกา ฮวน มาต้า และ อามัด เดียโล ลงพร้อมกัน

สิ่งที่เกิดขึ้นคือ กองหน้าตัวเป้า(1) ในแผนของเราวันนีี้ เราใช้ "อามัด เดียโล่" ในการลงเล่นในตำแหน่งกองหน้าให้กับทีม

(กราฟฟิคและข้อมูลจากที่ต่างๆมักจะขึ้นมาให้แฟนผีที่ไม่ได้ดูแทคติกแบบละเอียดเข้าใจผิดว่า คนที่เล่นกองหน้าคือ เอแลงกา แล้วอามัดยืนปีกขวา แต่จริงๆไม่ใช่  คนที่ยืนปีกขวาคือ แอนโธนี เอแลงกา)

เมื่อใช้อามัด เดียโล่ ลงเล่นกองหน้าในแผน 4-2-3-1 การเล่นของอามัดที่ปกติเป็นปีกนั้น เมื่อมายืนกลาง เขาจะเล่นเป็น "กองหน้าตัวหลอก" ในลักษณะของ "กองหน้า False Nine"

ซึ่งกองหน้าชนิดนี้เป็นกองหน้าที่ส่งลงมาหลอกๆคู่ต่อสู้ ให้เหมือนกับทีมมีกองหน้า แต่จริงๆไม่มี และนักเตะคนนั้นก็จะ "ไม่เล่นหน้าที่กองหน้า"

ดังนั้นการเล่นของเขาจะลงต่ำมาอย่างที่เห็น เมื่อกองหน้ากลายเป็นFalse Nineอย่างอามัด สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ภาคของการยืนตำแหน่งเกมนี้ อามัดจะถอยต่ำลงมายืนระนาบเดียวกับ "มิดฟิลด์ตัวรุก" อย่างฮวน มาต้า ที่แทบจะเป็นการยืนเล่นคู่กันเลย

สังเกตจากรูปด้านบนก็คือ ภาพพื้นที่วงกลมสีแดง เป็นจุดที่กองหน้าแท้ๆตามปกติจะไปยืน ไม่ว่าจะคาวานี่ กรีนวู้ด หรือมาร์กซิยาลของเรา

แต่เมื่อกองหน้าวันนี้ใช้เป็น F9 สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือกองหน้าดรอปลงมายืนต่ำ "ไม่ค้ำหน้า" เหมือนกองหน้าตัวจริง ดังนั้นในด้านของวิธีคิดในการเล่น ยังแยกย่อยตามหน้าที่ของ 4-2-3-1 อยู่ แต่ในการยืนตำแหน่งจริงๆ Formationของแมนยูวันนั้นคือ "4-2-4" ตลอดทั้งเกม

แผนแมนยูวันนั้นด้านการเล่นจริง Average Position ในสนามจะยืนกันลักษณะนี้เป็นหลัก โดยแบ่งส่วนกันอย่างชัดเจนของ ตัวรุก4คนเล่นด้วยกันข้างหน้า / ถัดมาคือ ตรงกลาง ที่ดอนนี่ ฟานเดอเบค กับ มาติช จับคู่กันสองคน / แผงแบ็คโฟร์ที่เซ็ตไลน์ร่วมกัน โดยปลดปล่อยวิงแบ็คสองข้างเติมสูงอยู่เรื่อยๆ

ภาพนี้จึงเป็นคำตอบว่า Amad Diallo ยืนตำแหน่งยังไงเวลาจับมาเล่นตรงกลาง มันก็จะเป็นลักษณะแบบที่ยืนของกองหน้าฟอลส์ไนน์นั่นเองตามภาพที่เห็น ซึ่งส่งผลต่อformationจริงในสนามด้วยที่ กองหน้าไม่ได้เล่นกองหน้า และลงมาเชื่อมเกม ทำเกมร่วมกับเพื่อน เหมือนเป็นมิดฟิลด์และตัวรุกคนอื่นๆในทีม

ซึ่งนั่นคือคำจำกัดความของ กองหน้า False Nine จริงๆที่เป็นตัวหลอกให้ปีกตัวอื่นเข้าทำ และเกมนี้อามัดก็เป็นตัวดึงหลอกตรงกลางจริงๆเพื่อให้ ปีกตัวอื่นเข้าทำ

นั่นก็คือ "แอนโธนี เอแลงกา" ผ่านการครอสของปีกอีกคนอย่าง "แดเนียล เจมส์"

จากรูปนี้จะเห็นชัดว่า อามัด เดียโล่ ในตำแหน่งฟอลส์ไนน์นั้น  ยืนอยู่ในระนาบเดียวกับปีก ในขณะที่ ฮวน มาต้า ซึ่งเป็นเพลย์เมคเกอร์นั้นถอยต่ำลงมาสร้างทางจ่ายบอล และเชื่อมเกมให้เพื่อนจากแนวลึก

อามัดที่เล่นกองหน้าตัวหลอกฟอลส์ไนน์นั้น ถึงเวลาเข้าทำเขาก็จะสอดขึ้นมาจากแนวลึก เพื่อเข้ามาอยู่ในจุดกองหน้าตัวกลางในจังหวะทำเกมบุก ซึ่งจากรูปเห็นชัดเจนว่ามีตัวประกบที่ระวังและทิ้งระยะจากตัวหลัง มาตามประกบเขาอยู่สองคน

ด้านล่าง แดเนียล เจมส์ กำลังจะวิ่งถ่างออกมาด้านนอกเพื่อรับบอล และเรียกสเปซในการเล่นให้กว้างกว่าเดิมในการขึ้นเกมริมเส้น และจะไม่ตัดเข้าไปตรงกลางที่มี อามัดที่กำลังวิ่งค้ำอยู่แล้ว

รวมถึง "อีกคนนึง" ที่กำลังจะตัดเข้ากลางมา

ใช่แล้วครับ Anthony Elanga ในจังหวะนี้สังเกตดีๆว่า directionของการวิ่ง เขาหันหน้าเข้ามาตั้งท่าวิ่งตัดเข้ากลางอย่างชัดเจนในลูกศรเคลื่อนที่สีเขียว แต่จะไม่วิ่งออกด้านกว้างในเส้นสีแดง เพราะนี่คือลักษณะการเล่นของ "Inside Forward" แบบเอแลงกา และแรชฟอร์ด ที่จังหวะเข้าทำจะสามารถตัดเข้ามาโจมตีจากการยืนริมเส้นได้

ลักษณะการวิ่งนี้ของเอแลงกา ชี้ชัดว่าเขาคือกองหน้าตัดเข้าในอย่างชัดเจนที่สุด

ภาพต่อมาในข้างบนนี้ก็ชัดเจนครับ แดเนียล เจมส์ โล่งอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน และเปิดด้วยซ้ายที่เนียนที่สุดซึ่งเป็นข้างที่ไม่ถนัด แรงเปิดก็เลยไม่ล้นเหมือนที่เคยๆเพราะเปิดด้วยข้างไม่ถนัด หากเปิดด้วยขวามีโอกาสล้นเหมือนกัน สังเกตตรงกลางดีๆ เราจะเห็นว่า กองหน้าฟอลส์ไนน์ของเรา เข้ามายืนกองหน้าตรงกลางแล้วเรียบร้อย

อามัดสอดเข้ามาตรงกลางในพื้นที่อันตราย พร้อมกับดึงแนวป้องกันมาไว้ที่ตัวเองถึงสองตัวเต็มๆที่marking และรอinterceptบอลอยู่ ซึ่งเป็นการโดนหลอกให้ใช้ทรัพยากรแนวป้องกันไปอย่างเปล่าประโยชน์ เพราะกองหน้าตัวหลอกคนนี้ในกรอบสีเหลืองนั้น ไม่ใช่เป้าหมายของการเข้าทำมาตั้งแต่ "ตอนซ้อมแผน" แล้วด้วยซ้ำ

ไม่เกี่ยวกับว่าจังหวะนี้อามัดโดนประกบ แต่priorityในการจ่ายบอลนั้นทีมเราต้องรู้อยู่แล้วว่าอามัดนั้นเป็นแค่ตัวหลอกทำเกมเฉยๆ ไม่ได้เข้าทำด้วยตัวเอง ดังนั้นสาเหตุที่เจมส์มองเห็นได้ไวว่า ต้องจ่ายไปที่ใครนั้นมันจึงไม่ยาก และต้องรู้อยู่แล้วตามแทคติกการเล่นที่ใช้F9ในสนามเช่นนี้ ซึ่งคนเล่นF9ไม่ใช่คนที่จบสกอร์ได้ดีที่สุด

เมื่อบอลลอยข้ามหน้าประตูไป อามัดก็กระซิบข้างหูบอกทั้งสองตัวที่ตามประกบเขาว่า "หยอกๆ" ด้วยสีหน้าตายด้านอย่างสะใจที่หลอกสำเร็จ

และก่อนที่กองหลังวูล์ฟสองคนนั้นจะทันรู้ตัว พวกเขาก็โดนฟอลส์ไนน์หลอกแล้วเรียบร้อย เพราะก็ต้องมาร์คกิ้งตามหน้าที่นั่นแหละ หลายๆคนเข้าใจแบบนั้น แต่สิ่งที่ดีคือ ถ้าอามัดไม่เคลื่อนที่เข้ามาตรงนั้น กองหลังคู่แข่งก็จะไม่ตามเขามา และอาจจะรอดักลูกโหม่งที่จะไปยังตัวสอดด้านไกลด้วย 

จะบอกว่าอามัดไม่มีประโยชน์อะไรในจังหวะนี้ไม่ได้เด็ดขาด

และมันก็กลายเป็นช่องว่างให้ตัวที่สอดมาจากปีกอย่าง แอนโธนี เอแลงกา วิ่งมาสอดเป็นตัวเข้าทำแทน ที่ไม่ใช่อามัด เพราะผู้เล่นคนอื่นที่ไม่ใช่ฟอลส์ไนน์ มีความสามารถในการทำประตูมากกว่า เพราะงั้นจังหวะนี้ คนที่ไม่ได้เข้าทำจริงอย่างอามัด จึงล่อคู่แข่งได้มากถึงสองตัว ทำให้ตัวเข้าทำอย่างเอแลงกา มีการป้องกันอยู่แค่ตัวเดียว ทำให้บอลไปถึงเขาและได้ช่องโขกจบสกอร์เต็มๆหัวอย่างสวยงาม

ดังนั้นหลักๆแล้ว False Nine ของอามัด เดียโล่ จึงมีหน้าที่คอยดึงตัวประกบ รอซัพพอร์ตบอล โจมตีกดดันคู่แข่งจากแนวลึก และสร้างช่องให้ปีกเข้าทำนั่นเอง ซึ่งวิธีการเช่นนี้เหมาะกับทีมที่ไม่มีกองหน้าแท้ๆใช้ อย่างแมนเชสเตอร์ซิตี้ หรือเหมาะกับทีมที่ ปีกจบกสอร์ได้ดีกว่า อย่างลิเวอร์พูลที่มีฟีร์มีโน่ เล่นฟอลส์ไนน์ ให้ซาลาห์ กับ มาเน่ เป็นตัวเข้าทำและยิงสกอร์กันถล่มทลายอยู่สองคนนั่นเอง

ความอิสระของฟอลส์ไนน์ทำให้เขาจะไปอยู่ตรงไหนก็ได้ที่ไม่ใช่การเล่นเป็นกองหน้า ภาพนี้อามัดก็ถ่างออกข้างขวาไปเล่นยังริมเส้นที่เขาถนัด โดยมีตัวswapเข้ามากลางแทนอย่าง แอนโธนี เอแลงกา ที่กำลังจะวิ่งตัดเข้ากลางในจังหวะภาพบนนี้ และแน่นอนว่า หลังจากช็อตนี้คือคอนเนคชั่นของกลุ่มโจรเงามายาอย่าง มาต้า ที่แทงบอลให้ ดอนนี่ ฟานเดอเบค ที่วิ่งทำทางมาแต่ไกล และกำลังจะวิ่งหลุดขึ้นหน้าไปด้วยเซนส์นักเตะระดับสูงที่ทันกันในทีม

นักเตะแมนยูไนเต็ดควรที่จะทำในสิ่งที่มาต้า บรูโน่ และ ดอนนี่เล่นด้วยกันเช่นนี้ได้ มากกว่าที่จะโทษระบบการเล่นของทีมว่าเขาไม่เข้ากับระบบ แต่จริงๆระบบเป็นเพียงแค่systemเท่านั้น แต่ปัญหามันอยู่ที่ความชาญฉลาดในการเล่น ไม่ใช่ระบบ

เพราะถ้าระบบไม่เข้ากับดอนนี่จริง ทำไมคนอย่างมาต้า บรูโน่ คาวานี่ ป็อกบา ถึงได้ทันเซนส์ดอนนี่ได้ล่ะ?

ปัญหามันไม่ได้อยู่ที่ระบบ แต่อยู่ที่นักเตะอีกหลายคนในทีมจะต้องพัฒนาเซนส์การเล่นระดับสูงให้ขึ้นมาทัดเทียมตัวเหล่านี้ให้ได้ต่างหาก

ด้านบนนี้คืออีกจังหวะในครึ่งแรกที่เจอวูล์ฟซึ่งเราต่อบอลกันได้สวยมาก และเป็นอีกครั้งที่แทงบอลทะลุช่องให้แบ็คที่เติมสอดขึ้นหน้ามาอย่าง แบรนดอน วิลเลียมส์ จะหลุดขึ้นหน้าไปยิงใส่โกลวูล์ฟได้ในช็อตนี้

สังเกตตำแหน่งการเล่นของ อามัด กับ เอแลงกา ให้ดีว่า ถ่างออกมาและไปเล่นติดอยู่ริมเส้นทั้งคู่

เพื่อช่วยในการขึ้นเกมทางขวา นักเตะที่ทำการโรมมิ่งออกจากตำแหน่งไปซัพพอร์ตเพื่อนก็คือ อามัด เดียโล่ ในตำแหน่งฟอลส์ไนน์นี่แหละที่ก็ยังคงไม่ไปยืนค้ำแดนหน้าอยู่ดี และลงมาช่วยทีมเล่นในทุกๆหน้าที่ ทุกๆอย่าง ดังนั้นกองหน้า False Nine จึงทำหน้าที่เล่นได้ทุกอย่างในสนามเพื่อทีม

ยกเว้นอย่างเดียวคือ เล่นกองหน้านี่แหละ!

เกมครึ่งหลังก็ยังคงเล่นเหมือนเดิม ในภาพนี้ก็คงชัดเจนแล้ว ไม่ต้องทำเครื่องหมายอะไรเพิ่มเติมว่า อามัดนั้น ลงมายืนต่ำในตำแหน่งpositionระนาบเดียวกันกับมาต้าเลย ไม่ได้ขึ้นไปเล่นตัวบนสุดด้านบนอย่างisolateคนเดียว นี่คือแทคติกที่เตรียมมาบนหน้าที่ของกองหน้าตัวหลอกจากอามัด

นี่คืออีกครั้งในครึ่งหลัง ยามที่อามัดยังอยู่ในสนามเขาก็ยังคงออกมาเล่นต่ำอย่างอิสระในตำแหน่งตัวรุกของทีม ที่ไม่ได้ยืนเล่นเป็นกองหน้า จนกว่าจะถึงจังหวะเข้าทำ อามัดเดียโล่ถึงจะค่อย "วิ่งเข้าพื้นที่" ไปยืน "เหมือนเป็นกองหน้า" ในจังหวะนั้น แต่ก็ไม่ยิงเองอยู่ดี ซึ่งในเกมนั้นเห็นชัดว่าจังหวะการเข้าทำของทีมนั้น ทุกครั้งจะต้องมีอามัดไปวิ่งอยู่ตรงกลางตลอดทุกครั้ง

ซึ่งต่างกันกับจังหวะที่ไม่ใช่จังหวะเข้าทำ แต่เป็นจังหวะการเซ็ตเกมบุก ต่อเกม เชื่อมเกม หน้าที่ของF9จะค่อนข้างลงมาต่อบอลกับทีมค่อนข้างมาก ถ้านึกไม่ออกให้นึกไปถึงทีมต้นตำรับการใช้กองหน้าFalse Nine อย่างเช่นบาร์ซ่าก็ได้ที่มีพื้นฐานการเล่นที่ใช้การต่อบอลเป็นสำคัญ ดังนั้นกองหน้าพวกเขาก็ต้องมีส่วนร่วมในการต่อบอลเยอะด้วย บาร์ซ่าจึงเป็นอีกทีมนอกจากซิตี้ที่ใช้F9ได้ดีเพราะเหมาะกับปรัชญาการเล่นของทีมที่เน้นการครองบอล ต่อบอล

อามัด เดียโล่ ที่ลงมาต่อบอลเร็วแบบเซนส์ทันกันกับดอนนี่ ฟานเดอเบค ในรูปนี้นั้น แสดงให้เห็นว่าหน้าที่ของฟอลส์ไนน์ค่อนข้างชัดเจนสุดๆในการเล่นของเขา ที่ควบคู่ไปกับการเล่นเป็นปีกตัดเข้าในแบบ Inverted Winger ที่เป็นพื้นฐานของเดียโล่เองอยู่แล้ว ดังนั้นช็อตที่อามัดจะได้เล่นจริงๆ แผลงฤทธิ์จริงๆ จึงไม่ใช่การตัดเข้าในไปยืนกองหน้าหลอกๆ แต่จะเป็นช็อตที่เขาได้ครองบอลในแนวลึกทางปีกขวามากกว่านั่นเอง ที่สลับกับ เอแลงกา ซึ่งบางทีswapเข้าไปยืนในแทนบ้าง

ภาพด้านบนนี้เป็นนาที82 ที่เกิดขึ้นหลังจากถอดเอา มาต้า กับ อามัด เดียโล่ ออกไปแล้ว ซึ่งเป็นสองผู้เล่นที่ยืนในpositionของ AM เหมือนกัน แต่เป็น APคนนึง เป็น F9 คนนึง

ซึ่งนักเตะที่ลงมาแทนสองคนอย่างที่เราทราบกันก็คือ ชอลา ชอเรติเร กับ ฮันนิบาล เมจบรี นั่นเอง

สองคนนี้ลงมาในลักษณะของการ "แทนตำแหน่ง" กันเองโดยตรงเลย โดยเฉพาะฮันนิบาลก็จะชัดเจนหน่อยที่เล่นตำแหน่งแบบเดียวกับมาต้าเป๊ะๆ

เมื่อเป็นการแทนตำแหน่งกันโดยตรงแล้ว จะเห็นว่า ลักษณะการยืนก็แทบจะไม่ต่างจากเดิมเลยตลอด80นาทีที่ผ่านมา หากสังเกตดีๆในรูปนี้ก็คือ "ฮันนิบาล กับ ชอลา" จะยืนในระนาบเดียวกันของ AM ในแผนการเล่นเรา

และทรงก็จะยังชัดเจนอยู่ดีว่า เรายังคงอยู่ในแผนการยืนที่เป็น 4-2-4 เช่นนี้ ที่เป็นการยืนจริงในสนาม ผ่านกรอบความคิดหลักของแผน 4-2-3-1 ที่จะใช้ตัวรุกสามคน และมีกองหน้าหนึ่งคน เพียงแค่ว่ากองหน้าลงมาต่ำเท่านั้นเอง แต่หลักๆจริงๆถือว่ามันก็ยังเป็น "4-2-3-1" อยู่

เพียงแค่การยืนมันไฮบริดเป็น 4-2-4 เท่านั้นเอง

(ภาพนี้ทีมเรากำลังเล่นเกมรับก็แทบจะเป็น 4-4-2 แล้วด้วยซ้ำ เพราะสังเกตน้องเจมส์ที่ลงต่ำมากๆไปป้องกัน จากความสามารถในการเล่นDefensive Winger ได้ด้วย นี่ก็ยืนตำแหน่งเดียวกับWing-Back เลย สังเกตดีๆเห็นไหมครับว่า เจมส์ยืนเยื้องสูงกว่าแผงแนวรับหลังสุดขึ้นมาแค่นิดเดียว)

มาดูที่การเล่นของฮันนิบาลกันบ้าง อย่างที่บอกไปว่า น้องเหมือนบรูโน่ที่วิ่งเร็ว และกระชากบอลเหมือนลินการ์ด ดังนั้นมิติการช่วยถ่างออกมารับบอลจากแบ็คในริมเส้นนั้น ไม่แตกต่างจากบรูโน่เลย ฮันนิบาลสัมผัสแรกก็รับบอลมาจากอเล็กซ์ เตลีส ในตำแหน่งริมเส้น

และภาพด้านบนนี้ก็คือช็อตที่แสดงออกถึง "บทบาทการเล่น" ที่ชัดเจนมากๆ

ฮันนิบาล ที่เป็น Advance Playmakerนั้นจะทำหน้าที่ออกบอลเกมรุก แทงคิลเลอร์พาส เปิดบอลให้ตัวรุกหรือกองหน้าคนอื่นๆเข้าทำ รวมถึงวิ่งเข้าโจมตีเองด้วย

จังหวะนี้เขาแทงบอลให้ "กองหน้า" อย่างชอเรติเร ได้วิ่งทะลุหลุดขึ้นหน้าไป จากนั้นจังหวะนี้ฮันนิบาลก็วิ่งตามขึ้นมาด้วยเลยเพื่อที่จะเล่นรุกโจมตีใส่พื้นที่สุดท้ายของวูล์ฟเพิ่มอีกคนนึงเช่นกัน

นี่คือมิติการเล่นของ Advance Playmaker ที่ทั้งจ่าย ทั้งเติมขึ้นมารุกเอง แบบเดียวกับที่บรูโน่ทำให้แรชฟอร์ดบ่อยๆ

ภาพข้างบนนี้สื่อสารถึงตำแหน่งการยืน และบทบาทการเล่นของ ฮันนิบาล และ ชอลา ได้อย่างดีที่สุด

ชอลาลงสนามมาด้วยการรับหน้าที่แทนอามัดตรงๆที่เล่นเป็น กองหน้าแบบ False Nine แต่ชอลานั้น ลงมาเล่นกองหน้าแทนก็จริง แต่ก็ยังเป็นกองหน้าแบบที่เขาเป็น นั่นก็คือ "Withdrawn Striker" นั่นเอง

ซึ่ง Withdrawn Striker คือ "กองหน้าตัวฟรี" นั่นเอง พูดง่ายๆคือ เป็นกองหน้า แต่เล่นได้อิสระ และฟรีมากๆ จะไปอยู่ตรงไหน และทำอะไรก็ได้หมดทั้งนั้นในแนวรุก

แต่ไม่ยืนในจุดกองหน้า!!

สังเกตการเล่นเป็นกองหน้าของชอลาในภาพด้านบนนี้ให้ดีว่า เขาเป็นกองหน้า แต่ลงมายืนในระนาบเดียวกันกับ ตัวรุกเลย ดังเช่นที่ลากให้ดูในเส้นสีเขียว และเขาไม่ไปยืนค้ำหน้าในที่แรเงาสีแดงไว้

เรื่องนี้ต้องอธิบายกันยาวเลย ถ้าเอาเป็นเรื่องของบทบาทการเล่นที่เป็นกองหน้าตัวฟรีเช่นนี้ ในด้านRoleนั้น ชอลา ชอเรติเร มี"หน้าที่เหมือนกับเมสซี่" ในบาร์เซโลน่า ที่เป็นWithdrawn Striker เหมือนกัน

ส่วน อามัด เดียโล่นั้น บทบาทไม่เหมือนเมสซี่ เพราะเขาเล่นเป็นปีกตัดเข้าในเป็นหลัก แต่สไตล์ในการเล่น ทั้งท่าทาง การเลี้ยงบอล การจ่ายบอล เซนส์ ความฉลาดในสนาม อามัดมี "สไตล์เหมือนกับเมสซี่" ที่จะใช้ความเร็ว ความคล่องแคล่วในการครองบอล ไปกับบอล และเลี้ยงเอาชนะคู่แข่งเพื่อหาจังหวะจ่ายต่อให้เพื่อนเข้าทำอย่างไหลลื่น

จะเห็นจากภาพด้านบนเลยว่า แม้ชอลา จะลงสนามมา แต่ก็ยังไม่มีใครมาเล่นกองหน้าจริงๆเหมือนเดิม เพราะพื้นที่วงกลมสีแดงนั่นคือ พื้นที่ที่ปกติแล้วกองหน้าจะมายืนค้ำอยู่แถวๆนั้น หากว่าเป็นคาวานี่หรือมาร์กซิยาล

แต่กองหน้าของเรา ลงไปยืนอิสระอยู่นู่นนนน ฝั่งซ้าย ดังเช่นที่ขีดเส้นใต้สีแดงเอาไว้กับการยืนของชอลา ที่จะไม่เข้ามาค้ำในกรอบ แต่จะเล่นรุกอิสระอยู่ด้านล่าง

วิธีคิดง่ายๆของ Withdrawn Striker ก็คือ เหมือนกับการจับเอา "กองหน้า" ลงมายืน "AM" หรือไม่ก็ RW LW นั่นแหละ

หลายคนคงสงสัยว่า ถ้าเป็นกองหน้าที่ไม่ยืนค้ำหน้าเหมือนกัน แล้ว False Nine กับ Withdrawn Striker ต่างกันยังไง

คำตอบก็คือ False Nine เป็นคนที่ลงมาเหมือนเป็นกองหน้า แต่เป็นตัวหลอก และ"ไม่เล่นเป็นกองหน้า"

แต่ Withdrawn Striker คือนักเตะที่ "เล่นเป็นกองหน้า"  แต่ไม่ยืนในจุดกองหน้า ลงมายืนตำแหน่งอื่น

ซึ่งทั้งสองตำแหน่ง ไม่มีใครยืนค้ำหน้าสุดสักคนเลย ดังนั้นอย่างที่บอก การยืนทีมเรามันจึงเหมือนเป็น 4-2-4 ซะมากกว่าในวันนั้น เพราะไม่มีใครยืนเป้าเลยตลอดทั้งเกม เนื่องจากทีมเราพักหน้าเป้าตัวจริงไว้หมด และส่งกองหน้าเสมือนเหล่านี้มาลงสนามแทน

ดังนั้นจะค่อนข้างชัดเจนว่า ชอลา ชอเรติเรนี่แหละ คือกองหน้าตัวจริงในบรรดาดาวรุ่งของทีม ซึ่งสถิติการยิงประตูและแอสซิสต์ในทีมสำรองก็โหดสุดในบรรดา4คนนี้

ชอลา ยิง 10 ประตู 5 แอสซิสต์

เอแลงกา ยิง 9 ประตู 3 แอสซิสต์

อามัด ยิง 4 ประตู 3 แอสซิสต์ (แต่เล่นแค่ไม่กี่นัดเองนะ)

ฮันนิบาล 4 ประตู 8 แอสซิสต์ (ชัดเนว่าเป็นเพลย์เมคเกอร์ ปั้นเพื่อนรัวๆ)

เมื่อผู้อ่านได้เข้าใจตำแหน่งการเล่นพื้นฐานของทั้ง4คนนี้แล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องพูดและตั้งข้อสังเกตไว้ให้ก็คือ นักเตะเราทั้ง4นั้น สามารถ "เล่นได้ทุกจุดในสนาม" กันทุกคนเลย

พวกเขาสามารถเล่นได้หมด ไม่ว่าจะริมเส้น ซ้ายขวา และตรงกลางเหมือนกันทั้ง4คนเลย

จากรูปนี้จะเห็นว่า ฮันนิบาล ที่เหมือนจะเล่นเพลย์เมคเกอร์ ก็ไปไล่บอลอยู่ข้างๆตัวริมเส้นอย่างอเล็กซ์แทน ในขณะที่ ชอเรติเร ก็ดรอปลงมายืนAM ซึ่งเป็นพื้นที่ทำการของกองหน้าตัวฟรีอย่างเขาอยู่แล้วที่ยิงประตูได้ถล่มทลายในทีมชุดเล็ก

ส่วน เอแลงกา เห็นชัดว่าก็หุบเข้ากลางมาจากทางตำแหน่งปีกขวา และยืนเป็นForwardให้ทีมเพื่อใช้ความเร็วเข้าทำประตูได้เหมือนกัน

เรียกง่ายๆว่า สามคนนี้ สลับตำแหน่งกันกระจุยกระจายเลย

ช่วงท้ายเกม โอเล่สั่งแผนการเล่นข้างสนามด้วยการชูมือเหมือนจะบอกว่า "5-4-1" หลังจากที่ส่ง Will Fish กองหลังดาวรุ่งวัย18ปี หน่วยก้านดีลงมาแทนเจมส์ แล้วมายืนเซ็ตเป็น "หลัง5" ทันที โดยการลงมาแล้วเล่นเป็น Sweeper ตัวกลางทันทีจากเซ็นเตอร์สามคน ซึ่งน่าสนใจมากๆ และก็ได้ทำงานเลยด้วยการสกัดบอล 1 ครั้งจากการซ้อนให้ไบญี่ที่เข้าชนคู่แข่งอยู่ และน้องปลาก็วิ่งเข้ามาเตะสกัดออกไปได้

การยืนของทีมกลายเป็น5-4-1 ดังรูป ซึ่งเป็นแผงแนวรับสุดท้าย5คน โดยมีมิดฟิลด์ข้างหน้า4คนคือ เอแลงกาปีกขวา ดอนนี่ กับ มาติช คุมกลาง โดยที่มาติชจะลงไปต่ำกว่าดอนนี่ดังรูปในหน้าที่ของHalf-Back และมีปีกซ้ายคือ ฮันนิบาล ที่อยู่ตัวซ้ายสุด อย่างที่บอกไปว่า เขาเป็นกลางรุกที่สามารถเล่นปีกได้ด้วย ในทีมสำรองก็เล่นปีกซ้าย ดังนั้นนี่คือตำแหน่งที่ดาวรุ่งอย่างฮันนิบาลจะเล่นได้อีกตำแหน่ง นั่นก็คือ LW หรือไม่ก็ LM เช่นกัน ซึ่งน้องบางทีก็ลงมาเล่นมิดฟิลด์แท้ในจุดCMได้ด้วย

ส่วน ชอลา ชอเรติเร เห็นชัดเจนว่ายืนค้ำหน้าโดดเดี่ยวคนเดียวในแผน 5-4-1 ดังนั้นก็ค่อนข้างชัดนะครับอย่างที่บอกไปว่า ตำแหน่งการเล่นของน้องมันคือ "กองหน้า" จริงๆ เพราะภาคการใช้งานในสนามมันชัดเจน เพียงแค่ว่าจะไม่เข้าไปยืนในกรอบเขตโทษเหมือน Striker ทั่วๆไปเท่านั้นเองที่ต้องยืนแดนหน้าสุดให้ทีม

พอน้องดรอปลงมาระนาบเดียวกับตัวรุก ทีมเราจึงเล่นกันแบบไม่มีใครยืนค้ำหน้าคนเดียวจนจบเกมนั่นเอง

และทั้งหมดนี้คือการอธิบายตำแหน่งของดาวรุ่งทั้ง4 ผ่านการนำของจริงในสนามมาประกอบเพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น

วิธีกดท่าคอมโบ

การที่จะนำดาวรุ่ง4คนนี้มาคอมโบเข้าด้วยกันนั้น ต้องบอกเลยว่า มีวิธีใช้ที่หลากหลายมากมายสุดๆ หากจะนำนักเตะเหล่านี้มาใช้งานจริง ซึ่งเชื่อว่า หากพัฒนาอย่างถูกต้อง และอยู่กับทีมด้วยกันไปยาวๆ มีโอกาสสูงมากที่ แนวรุก4คนของทีม อาจจะเป็นนักเตะเหล่านี้ในวันนี้นี่แหละที่ขึ้นชุดใหญ่มาพร้อมกัน และลงเล่นด้วยกันไปอีกหลายปี

จะบอกว่าเป็นแนวรุก  Class of 2021 ก็ได้

ทีนี้มาลองวิเคราะห์กันก่อนว่า ถ้าจะจัดลงพร้อมกันจริงๆ จะจัดทีมยังไงบ้างในอนาคต

อย่างที่เขียนแนะนำไปแล้วว่าสี่คนนี้มีตำแหน่งการเล่นที่แตกต่างกันตามสไตล์และความถนัด แต่ถ้าจะให้ดีที่สุดก็ควรจะเป็นเช่นนี้คือ

AM : Hannibal / LW : Elanga / RW : Amad / ST(ตัวต่ำ) : Shola / ST(หรือCF)แท้ : Greenwood

โดยที่อย่าลืมว่า "Mason Greenwood" ไม่ว่าจะเก่งไปไกลขนาดไหนก็ตาม แต่น้องก็วัยเดียวกันกับพวกอามัด ฮันนิบาล เอแลงกาเลย แก่กว่าแค่ปีเดียว (ไม้เขียวเพิ่ง 19ปี ยังไม่20) แทบไม่ต่างกันด้วยซ้ำ

กรีนวู้ดที่เล่นตำแหน่ง "Central Forward" อยู่แล้วนั้น ก็สามารถค้ำหน้าเป้าให้ทีมได้สบายๆ ในขณะที่อนาคตน้องน่าจะอัพเกรดตัวเองเป็นกองหน้าตัวเป้าแบบเบอร์9แท้ได้แน่ๆ หากว่าร่างกายแกร่งกว่านี้ เก๋ากว่านี้ และวิชาที่ดูดไปจากคาวานี่ น่าจะทำให้น้องกลายเป็นหน้าเป้าหลักของทีมเราได้ในอนาคตข้างหน้า

แถมในdepth ของ"กองหน้าดาวรุ่ง"ทีมเรา ยังมีไอ้ตัวแสบขวัญใจคนเขียนอย่าง Charlie McNeill วัย17ปี เจ้าของตำแหน่งกองหน้าตัวเป้าร่างทรงรุด ฟาน นิสเตอรอย ยิงไป25ประตู 6แอสซิสต์ จากการลงสนาม25นัดในชุด U-18s อีกคนที่รอจ่อจะขึ้นมา U-23s อีกคนแล้วในปีหน้า

ไม่ต้องห่วง กองหน้าตัวเป้าของเราก็มีคนเล่นแน่นอนจากดาวรุ่งพวกนี้ ซึ่งถ้าถึงเวลาจริงๆใช้อามัด ใช้ ชอลาเล่นก็ยังได้เลย ก็เล่นเหมือนที่เป็นนี่แหละ กับ F9 หรือไม่ก็ WS เหมือนเดิม

ส่วนตัวรุกด้านหลังกองหน้า ให้เป็นหน้าที่ของฮันนิบาลไป โดยที่ชอลาสามารถมาลงเล่นจุดนี้ได้ด้วย ซึ่งเขาทำได้ทั้งยิงทั้งจ่าย อย่างที่สถิติบ่งบอกแล้วว่าชอลาเป็นตัวรุกที่อันตรายที่สุดในบรรดาดาวรุ่งของทีม(หากไม่นับไม้เขียว)

ส่วนเอแลงกา และ อามัด ก็จะสแตนด์บายตัวรุกริมเส้นให้กับทีมเราได้ในอนาคต ไม่ว่าจะปีกซ้าย ปีกขวา สองคนนี้สลับกันเล่นได้อยู่แล้ว ยังไม่รวมดาวรุ่งคนอื่นๆที่ถ่างออกข้างมาเล่นได้หมด จะฮันนิบาล ชอลา รวมถึงกรีนวู้ดเองก็เล่นหน้าขวาได้อย่างที่ทราบกัน

ยิ่งทีมเรามีวิธีคิดที่จะเล่นเกมรุกด้วยความอิสระซึ่งตัวรุกสามารถสลับตำแหน่งกันได้สบายๆแบบFree-formนั้น มีโอกาสสูงมากที่การเล่นจริง หรือการใช้งานมันจะยืดหยุ่นมากแบบที่เป็นTotal Footballแบบย่อมๆในแดนหน้าของทีม และเรามีสิทธิ์ที่จะจัดทีมด้วยการสลับตำแหน่งสร้างแผนใหม่ๆขึ้นมาได้อีกเยอะ เช่นภาพข้างล่างนี้เป็นต้น เพราะน้องๆทุกคนสามารถเล่นได้ทุกจุดในสนาม และมีความสามารถที่หลากหลายกันทั้งสิ้นตามแบบนักฟุตบอลสมัยใหม่

และทั้งหมดนี้ที่เขียนมาก็คือ "คอมโบ" ในการใช้เด็กๆดาวรุ่งของทีมเราในอนาคตนั่นเอง ว่าจะใช้งานยังไงได้บ้าง ผ่านการเล่นในสไตล์และตำแหน่งถนัดของพวกเขา

ต้องบอกกันก่อนเพื่อไม่ให้เป็นการบิ๊วหรือไฮพ์กันจนลืมความเป็นจริงที่ว่า นักเตะเหล่านี้ยังคงเป็นดาวรุ่งอยู่ ไม่ว่าจะดูแล้วพร้อมมากขนาดไหน แม้กระทั่ง อามัด หรือ ฮันนิบาล ที่ดูเก่งกว่าเพื่อนๆ แต่ทั้ง4คนนี้เพิ่งจะ18ปี และประสบการณ์ในการเล่นจริงเพิ่งจะมีเพียงแค่ 1-2 นัดเท่านั้นเอง (ไม่นับรวมอามัดที่ลงมาเยอะกว่านี้หน่อย)

ในความเป็นจริงก็คือ น้องๆพวกนี้ยังไม่พร้อมใช้งานจริงแต่อย่างใดในการแข่งขันที่เอาจริงเอาจัง และนักเตะทีมอื่นๆก็ต้องสู้เพื่อทีมตัวเองทั้งนั้น ไม่ใช่สนามที่จะมาลองเด็กได้ง่ายๆ เพราะถ้าแมนยูแต้มไม่ขาด โอกาสที่จะส่งน้องๆพวกนี้ลงมาก็น้อย

เพราะมันเสี่ยงมากที่จะรับมือไม่ไหว และทีมแพ้ไป ซึ่งถ้าทีมแพ้ พวกนายบางส่วนก็ง้างรอด่าผู้จัดการทีมกันอีกใช่ไหมล่ะ(ฮา)

การเปลี่ยนตัวช่วงสิบนาทีท้ายในเกมเจอวูล์ฟถือว่าเปลี่ยนตัวได้สมเหตุสมผลแล้ว และไม่ได้ช้าไป เพราะว่าทีมนำวูล์ฟอยู่แค่ลูกเดียวเท่านั้น และเราก็ต้องการกำลังใจในการเรียกโมเมนตัมให้ทีมก่อนจะไปเล่นรอบชิง การเปลี่ยนสิบนาทีท้ายให้ฮันนิบาล กับ ชอลา ได้ลงมาเล่นก็ถือว่าสมควรแก่เหตุ

สิ่งที่ควรจะเป็นและอยากเห็นก็คือ เราอยากให้นักเตะเหล่านี้ได้ถูกปล่อยยืมออกไปในฤดูกาลหน้ากันให้หมด เพื่อที่จะให้พวกเขาได้เก็บประสบการณ์เล่นจริง เหมือนที่ตอนนี้ เจมส์ การ์เนอร์ กำลังไปได้สวยและบัญชาการทีมเจ้าป่าอย่างดีในเดอะแชมเปี้ยนชิพ

เอแลงกา ชอเรติเร ก็ควรได้รับโอกาสเช่นนั้นเหมือนกัน และยังมีแบรนดอน อีกคนที่ควรปล่อยยืมตาม อีธาน แลร์ด ออกไป ไม่งั้นการพัฒนาจะหยุดแน่ๆ

ส่วนฮันนิบาล ที่ดูเหนือชั้น และน่าจะเล่นในทีมชุดใหญ่เป็นแบ็คอัพให้บรูโน่ได้นั้น หากว่าอยากให้ฮันนิบาลไปไกล และจุดระเบิดการเล่นของตัวเองได้  น้องก็ยังควรต้องถูกปล่อยยืมไปอยู่ทีมระดับชั้นนำเหมือนกัน และเราเชื่อว่ามีหลายทีมที่สนใจนักเตะคนนี้ไปใช้ในปีหน้าแน่นอน

ดีกว่าให้นักเตะเหล่านี้เล่นอยู่แต่ในระดับชุด U-23s ซึ่งระดับของพวกเขามันแซงหน้าเลเวลนั้นไปไกลแล้ว เพราะแม้แต่เด็กๆรุ่นเดียวกัน พวกนี้ก็ยังเป็นตัวพิเศษที่เก่งกว่าเพื่อนในรุ่นเรียบร้อย

ยังไงก็ต้องปล่อยยืมเท่านั้น ซึ่งเด็กๆเหล่านี้ยังคงต้องใช้เวลาอีกอย่างต่ำๆ 1-3ปี ในการปั้น และปล่อยไปหาประสบการณ์มากกว่านี้ เพราะตอนนี้ยังไม่พร้อมจะดันขึ้นมาเลย เพราะหากเก็บไว้ แฟนผีคงจะรู้ดีว่า เด็กเหล่านี้น่าจะไม่ได้ลงสนามแน่ๆ และฝีเท้าก็จะมีพัฒนาการที่ช้าลงไป และอาจจะไม่แตะจุดที่potentialสูงสุดควรจะเป็นก็ได้

ต้องใช้เวลาปั้นกันอีกนาน แต่เด็กพวกนี้คืออนาคตที่สดใส และเป็นหลักประกันความมั่นคงของในทรัพยากรนักเตะที่เป็นเด็กปั้นลูกกรอกคะนองของแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดที่พวกเราภูมิใจจริงๆว่า นี่คือผลิตผลที่ทีมเราปั้นกันเอง และสร้างกันขึ้นมาเอง จนเป็นนักเตะที่มีแววเช่นนี้

พี่ไม่รู้ว่าพี่จะได้แก่อยู่ดูพวกน้องเล่นไปอีกกี่ปี แต่พี่จะอยู่ให้นานที่สุดเพื่อส่งเสียงเชียร์น้องๆแล้วกัน เพราะตอนนี้แค่จินตนาการว่าอนาคตจะเป็นยังไงก็ตื่นเต้นแล้ว

..แด่อนาคตอันแสนไกลที่เต็มไปด้วยความหวัง..

#BELIEVE

-ศาลาผี-

References

https://www.transfermarkt.com/anthony-elanga/profil/spieler/583189

https://www.transfermarkt.com/amad-diallo/leistungsdaten/spieler/536835

https://www.transfermarkt.com/shola-shoretire/leistungsdaten/spieler/640026

https://www.transfermarkt.com/hannibal-mejbri/profil/spieler/607224

ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ระดับ : {{val.member.level}}
{{val.member.post|number}}
ระดับ : {{v.member.level}}
{{v.member.post|number}}
ระดับ :
ดูความเห็นย่อย ({{val.reply}})

ข่าวใหม่วันนี้

ดูทั้งหมด