:::     :::

Tactical Analysis : "อีฟส์ บิสซูม่า" ถ้าซื้อมาต้องใช้ให้ถูก

วันเสาร์ที่ 31 กรกฎาคม 2564 คอลัมน์ #BELIEVE โดย ศาลาผี
4,486
ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
อีฟส์ บิสซูม่า มิดฟิลด์ตัวรับของดีราคาถูกจากไบรจ์ตัน ที่หลายๆทีมน่าซื้อไปใช้งาน โดยเฉพาะแมนยูไนเต็ดของเรา รวมถึงทีมอย่างลิเวอร์พูลด้วย แต่ต้องใช้เลือกแทคติกที่เหมาะกับเขาด้วย ผ่านบทวิเคราะห์ที่เน้นเชิง tactical ที่เหมาะกับการเล่นของบิสซูม่า

ไบรจ์ตัน แอนด์ โฮฟ อัลเบี้ยน เซ็นสัญญา "อีฟส์ บิสซูม่า" มาจากลีลล์เมื่อสามปีที่แล้วในปี2018 ด้วยมูลค่าราว 15 ล้านปอนด์ ในฐานะนักเตะแห่งอนาคต ซึ่งสองฤดูกาลแรกของเขากับทีมนกนางนวลนั้นยังไม่ค่อยนิ่งเท่าไหร่ เมื่อต้องเข้าๆออกๆทีมและยังโชว์ฟอร์มไม่ได้อย่างที่ไบรจ์ตันต้องการจะให้เขาเป็น

แต่ซีซั่นที่ผ่านมาบิสซูม่าก็แจ้งเกิดขึ้นมา ลงเป็นตัวจริงให้กับไบรจ์ตันและโชว์ฟอร์มได้อย่างยอดเยี่ยมจนมีข่าวเตะตาหลายๆสโมสรยักษ์ในยุโรป ไม่ว่าจะเป็นเรอัล มาดริด, แมนยูไนเต็ด, ลิเวอร์พูล รวมถึง อาร์เซนอลด้วยก็ตาม

เรอัล มาดริดเองก็ต้องเริ่มมองหาตัวทดแทนระยะยาวของทริโออย่างโมดริช โครส คาเซมิโร่เอาไว้บ้าง ซึ่งป็อกบาก็เคยมีข่าวกับพวกเขา ในขณะที่ทางเปเอสเชคือตัวเต็งอีกทีมที่น่าจะได้ตัวไปในอนาคต ส่วนแมนยูไนเต็ดก็ต้องเล็งหาใครสักคนที่จะมาทดแทนดาวเตะเฟร้นช์แมนผู้นี้อีกต่อหนึ่ง หากว่าเขาย้ายออกจากสโมสรไป

ดังนั้น บทวิเคราะห์เชิงแทคติกนี้จะมาanalyzeการเล่นของบิสซูม่าว่าเป็นอย่างไรบ้าง และถ้า "ซื้อ" นักเตะคนนี้เข้าทีม แมนยูไนเต็ดจะได้อะไรมาเพิ่มเติมมิติการเล่นให้กับทีม

บิสซูม่าเป็นมิดฟิลด์ตัวกลางที่มีร่างกายแข็งแกร่ง และสามารถปรับใช้เข้ากับแทคติกและบทบาทการเล่นที่หลากหลายได้ ด้วยความสูง 182 cm ในวัย24ปี บิสซูม่ามีเรทการดวลลูกกลางอากาศที่สูงระดับใกล้ๆกับเซ็นเตอร์แบ็คระดับทั่วๆไปเลย นั่นก็คือ 63.3% (อ้างอิงจากข้อมูลล่าสุดหลังจบฤดูกาล2020/21)

อันนี้คือค่อนข้างชัดมาก เรื่องAerial Duels Won % จากภาพด้านบนก็จะเห็นชัดว่ามันสูงกว่าค่าเฉลี่ยมิดฟิลด์คนอื่นในลีก ปกติยุคนี้กองกลางแมนยูโหม่งแย่งใครไม่ค่อยจะชนะเลยเวลาบอลถูกเปิดโด่งออกมาจากแดนหลังของคู่แข่ง และต้องพึ่งพาแมกไกวร์อยู่คนเดียว ถ้าซื้อบิสซูม่าเข้ามาเล่นมิดฟิลด์ให้กับเรา มีโอกาสสูงมากที่จะทำให้ชิงโหม่งแดนกลางได้ดีกว่าเดิม

และแน่นอน ช่วยเรื่องการรับมือกับ "ลูกเซ็ตพีซ" ได้เพิ่มอีกตัวด้วย!

ที่ไบรจ์ตันเจ้าตัวลงเล่นเป็น CM ได้ทั้งตัวซ้ายและตัวขวาในแผน 3-4-3 ของแกรห์ม พ็อตเตอร์ ซึ่งด้วยความเร็วและความแข็งแกร่งของเจ้าตัว ทำให้บิสซูม่าเป็นตัวป้องกันแผงหลังที่ดีและคุมพื้นที่ได้ค่อนข้างกว้างไปจนถึงไล่เกมริมเส้น

(ดูจากheat mapด้านบนนี้ก็ชัดเจนว่าการเล่นเขาคือ CMตัวกลาง ที่พล่านพื้นที่middle third และคัฟเวอร์กลางได้อย่างดี ไม่ใช่กลางรับปักหลัก แต่เป็นพวกตัวเคลื่อนที่ตรงกลางเหมือนคล้ายๆว่าบิสซูม่าจะเป็นพวก "Mezzala" (มิดฟิลด์ตัวขับเคลื่อนเกม) อยู่เหมือนกันในบางส่วน แต่ถ้าให้จำกัดความจริงๆ ยังไงตัวนี้ก็ต้องเรียกว่าเป็น "Ball-winning Midfielder" ดูจะถูกต้องกว่า เพราะการวิ่งพล่านคือเล่นเกมรับเน้นๆ)

ทักษะการเล่นกับบอลนั้น เขาสามารถเป็นมิดฟิลด์ที่เล่นอย่างโดดเด่นให้กับทีมได้ ไม่ใช่แค่ตัวปิดทองพลังพระ เทคนิคแน่น และสามารถใช้ความสามารถทางกายภาพในการทำลายไลน์ และป้องกันการครองบอลได้

ระยะจ่ายก็ดีเยี่ยม น้ำหนักการให้บอลดี และวางบอลยาวก็ทำได้เช่นกัน แม้อาจจะไม่ใช่ตัวทำประตูได้มากมาย แต่ก็มีการเล่นที่ดี และมักลองเสี่ยงยิงไกลให้ทีมอยู่บ้าง ซึ่งค่าสถิติในพรีเมียร์ลีกตลอดซีซั่นที่ผ่านมา บิสซูม่าทำการส่องประตูเฉลี่ย 1.22 ครั้งต่อเกม หมายความว่า เกมๆนึงๆเขาจะต้องมีลองเสี่ยงยิงให้เห็นบ้าง ซึ่งตัวเลขนี้ก็ถือว่าสูงอยู่ในราวๆมากกว่า65%ของมิดฟิลด์ทั้งหมดในพรีเมียร์ลีก (สมัยก่อนตอนอยู่ลีลล์ โอกาสลองยิงต่อเกมเยอะกว่านี้อีก อยู่ที่ 2.2-2.4 ครั้งโดยเฉลี่ย)

แต่อย่างไรก็ตาม มีจุดอ่อนบางอย่างของบิสซูม่าในเรื่องของการอ่านเกม และการยืนตำแหน่ง ซึ่งในภาคเกมรับนั้นบิสซูม่าดูแต่ที่บอล และพลาดหลุดตัวประกบที่วิ่งด้านหลัง ทำให้มีตัววิ่งฟรีที่หลุดประกบเกิดขึ้น

ในขณะที่ความขยันมากเกินไปก็ทำให้เขามักจะวิ่งเข้าไปแย่งบอลอยู่ตลอดเวลา ทำให้เกิดรูโหว่ในโครงสร้างการยืนของเกมรับ และอีกจุดอ่อนคือเรื่องของระดับความดุดันในการเล่นที่ค่อนข้างaggressive และเสียฟาล์วบ่อยๆ เฉลี่ย 1.5 ครั้งต่อเกม

แต่ประเด็นเรื่องเสียฟาล์วนี้ มันมีเรื่องที่ดีอยู่ในนั้น เพราะสิ่งที่น่าตกใจคือ ปีนี้การเล่นของบิสซูม่าเปลี่ยนไปมาก เรื่องการเข้าแทคเกิลนั้นจากเดิม 3ฤดูกาลก่อนหน้านี้ เขาแทคเกิลรวมๆเฉลี่ยปีละประมาณ60ครั้งเท่านั้นเอง แต่ซีซั่น2020/21 ที่ผ่านมา ปริมาณการเข้าแทคเกิลของบิสซูม่ามากถึง 114 ครั้ง และ tackle won ไป 74 ครั้ง คิดเป็น 64.91% ในขณะที่การวิ่งเข้าเพรสซิ่งกดดันสำเร็จนั้น ก็มีอัตราสำเร็จที่สูงกว่าปีก่อนๆของเขาเอง จากเดิมเฉลี่ยราวๆ 26.6% ปีที่ผ่านมา เพรสซิ่งสำเร็จ 34.6% โดยสถิติจากwhoscoredบ่งบอกว่า แทคเกิลเฉลี่ยต่อเกมของเขาคือ 2.9 tackles per game

ทั้งปริมาณ ทั้งคุณภาพถือว่าดีกว่าปีก่อนๆมาก เป็นการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของนักเตะคนนี้ และเป็นข้อดีที่ติดมาอยู่กับข้อด้อยในเรื่องที่ทำฟาล์วบ่อย แต่เฉลี่ยเสียฟาล์ว 1.5ครั้งต่อเกมก็ไม่ได้ถือว่ามากมายอะไร เป็นปกติของมิดฟิลด์ที่ทำงานหนักอยู่แล้ว

(รวมๆซีซั่นที่ผ่านมา จากทั้งหมด 39เกม บิสซูม่ายิงไป2ประตู เสีย 9 ใบเหลือง 1 ใบแดง ยังโอเคอยู่ใช่มั้ย ฮา)

ในยามเล่นเกมรุก บิสซูม่าก็มีปัญหาคล้ายๆกันกับเรื่องรับ นั่นก็คือ มักจะยืนตำแหน่งไม่ค่อยดี หรือจัดระเบียบร่างกายรับบอลไม่เนี้ยบสักเท่าไหร่ ในขณะที่ก็เล่นบอลหลายจังหวะด้วย แทนที่จะออกบอลเร็ว ซึ่งมักถูกบีบให้จ่ายคืนหลังได้ง่ายๆ ในขณะที่ก็พยายามจะดวลกับคู่แข่งด้วยตัวเองบ่อยครั้งเกินไป เนื่องจากออกบอลช้า เฉลี่ยแล้วเขาได้บอลแล้วต้องดวลกับคู่แข่งสูงถึง 8.03 ครั้งต่อเกม ซึ่งเยอะในระดับ top20% ของมิดฟิลด์ในพรีเมียร์ลีก

ภาคเกมรุก : เทคนิคการเล่นของบิสซูม่าสามารถดึงออกมาใช้เต็มขีดจำกัดได้หรือไม่

การเล่นภาคbuild-up play ของไบรจ์ตันนั้น บิสซูม่าจะลงต่ำมาเพื่อรับบอลและเซ็ตบอลจากแดนหลัง แต่เขาจะไม่ทำเกมด้วยตัวเอง จะให้มิดฟิลด์คนอื่นเป็นผู้นำในการทำเกมเองมากกว่า ซึ่งการจ่ายบอลเฉลี่ย (average passes) ของบิสซูม่าอยู่ที่ 46.8 ครั้งต่อเกม ซึ่งถือว่าค่อนข้างน้อยมากกว่ามิดฟิลด์ส่วนใหญ่ในพรีเมียร์ลีก

ความโดดเด่นของบิสซูม่าในเกมรุกคือการใช้พลังในการวิ่งทะลุไลน์เกมรับคู่แข่ง เป็นนักเตะที่วิ่งได้ดีมากๆ ทำได้ดีในการเปลี่ยนจังหวะเกม และพาบอลขึ้นหน้า การวิ่งทะลุขึ้นหน้าของบิสซูม่าเฉลี่ยแล้ว 1.28 ครั้งต่อเกม ทำให้เขาติดอยู่ในtop 38.5% ในบรรดามิดฟิลด์ของพรีเมียร์ลีก และการวิ่งที่ว่านี้จะเป็นอาวุธของทีมได้เวลาที่เจอกับ high pressing ใส่ (เพราะจะสามารถสลัดตัวประกบขึ้นหน้า และสร้างออฟชั่นการจ่ายให้เพื่อนได้)

การวิ่งของบิสซูม่าไม่ได้มีประโยชน์แค่การทะลุขึ้นหน้า หรือช่วยในเกมรุกขณะอยู่ในแดนคู่แข่งเท่านั้น เขายังมีไหวพริบในการดึงคู่แข่งหลายๆตัวเข้ามาได้ในยามที่ครองบอลอยู่ จากนั้นก็สามารถจ่ายบอลไปให้เพื่อนที่ไม่มีตัวประกบในจังหวะที่เหมาะสม ซึ่งสร้างสเปซให้เพื่อร่วมทีม ทั้งยังทำให้ทีมได้เปรียบคู่แข่งหลายๆอย่าง

ในภาพด้านล่างนี้เป็นตัวอย่างการวิ่งของเขา ที่บิสซูม่าได้บอลและกระชากขึ้นหน้าท่ามกลางการโดนล้อมของคู่แข่งถึง4ตัว ซึ่งเขาสามารถดึงตัวประกบไปได้เยอะมาก และจากนั้นจังหวะนี้บิสซูม่าก็จ่ายบอลต่อให้เพื่อนทางปีกซ้ายได้ (เส้นสีน้ำเงินในรูป) ซึ่งนั่นก็ทำให้เพื่อนว่าง และหลุดตัวประกบพาบอลบุกขึ้นหน้าได้สะดวก เพราะมีทั้งเวลาและพื้นที่การเล่นที่จะเปิดเกมรุกต่อได้อีกมากมาย

เทคนิคของบิสซูม่านั้นเข้าขั้นดีมาก เขาเล่นบอลในพื้นที่แคบๆได้ดี และใช้ร่างกายบังบอลหนีเพรสได้อีกด้วย การให้บอลน้ำหนักดีและมีเรนจ์ของการจ่ายบอลที่ดีเยี่ยม แม้ในสถานการณ์ยากๆ บิสซูม่าก็จะใช้หน้าสัมผัสของเท้าขวาที่แตกต่างกันในการออกบอลรูปแบบต่างๆได้หลากหลาย หรือจะใช้เท้าเล่นบอลลอยกลางอากาศก็ทำได้ดี

เมื่อทีมทำการเอาชนะไลน์การเพรสซิ่งด่านแรกได้ และจ่ายบอลมาที่เขา บิสซูม่าสามารถเล่นcounter-attackได้อย่างรวดเร็ว และสามารถสร้างโอกาสให้ทีมด้วยการวางบอลยาวได้ ซึ่งบอลยาวเฉลี่ยต่อเกมของเขาอยู่ที่ 2.1 ครั้งต่อเกม อัตราสำเร็จของการวางบอลยาวอยู่ที่ 78.2% ซึ่งก็เป็นสถิติที่ดีมาก

ทักษะการทำเกมของเจ้าตัวนั้นจะทำได้ดีเวลาหันหน้าเข้าหาโกล ในสถานการณ์ดังกล่าวบิสซูม่าสามารถถ่ายบอลข้ามฝั่งได้อย่างดีด้วยความสามารถและเรนจ์การจ่ายบอลที่ดีเยี่ยม และยังมีทางเลือกในการวิ่งทะลุไปด้วยตัวเองหากว่าเขาเห็นพื้นที่ด้านหน้ามันมีช่องให้วิ่งได้ จ่ายเร็วได้ วางยาวเร็วได้

ทั่วๆไปแล้วความแม่นยำในการจ่ายของบิสซูม่าค่อนข้างแม่นยำ สถิติจากFBrefอยู่ที่ 87.2% แต่เรื่องวิชั่นการแทงบอลทะลุ หรือจ่ายขึ้นหน้าในลักษณะของ progressive passes นั้นจะไม่ค่อยเด่นเท่าไหร่ เฉลี่ยต่อเกมเขามีการจ่ายขึ้นแดนหน้าราวๆ 5.48 ครั้งต่อเกม ถ้าเทียบกับมิดฟิลด์ตัวกลางในEPLก็ถือว่าน้อยกว่ามิดฟิลด์ที่เหลืออีก 56.8%ในพรีเมียร์ลีก และก็ไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีในการนำบอลเข้า final third ให้ทีมด้วย

ดังนั้น เรื่องบอลคิลเลอร์พาส ให้ลืมไปได้เลยสำหรับบิสซูม่า มีไม่บ่อยเท่าไหร่ เพราะอัตราส่วนการจ่ายขึ้นข้างหน้า (forward passes) ของเจ้าตัวอยู่ในกลุ่ม25%ล่างของนักเตะทั้งหมดในตำแหน่งเดียวกันกับเขาเทียบกันในลีก ซึ่งจะอธิบายในเรื่องนี้ต่อไป

เขาเป็นนักเตะที่ไม่ค่อยยิงหรือแอสซิสต์ แต่เขาสามารถยิงลูกดีๆได้ และลองเสี่ยงยิงไกลอยู่เรื่อยๆ ในเส้นทางค้าแข้งของเจ้าตัวนั้นเคยทำประตูสวยๆได้ในลักษณะของการยิงไกลมาแล้ว ทั้งจากโอเพ่นเพลย์ และจากลูกเซ็ตพีซ ดังนั้นถ้าต้องการเกมรุกจากเจ้าตัว เพื่อทำประตูเพิ่มให้กับทีม ก็คิดว่าเขาน่าจะเสริมตรงนี้ให้ทีมได้

ปัญหาในการเล่นจะเกิดขึ้นมาให้เห็นในยามที่ต้องพลิกบอลและเล่นอย่างรวดเร็ว ในยามที่โดนเพรสเข้าใส่ เขามักจะใช้วิธีการบังบอลจนกว่าจะหาจังหวะจ่ายบอลที่ปลอดภัย แต่ก็ทำได้ไม่ค่อยดีเท่าไหร่เวลาที่ต้องรับบอลขณะหันหลังเข้าหาโกล บางทีจับบอลนานและเยอะไป เพื่อจะมองหาตัววิ่งให้เจอ แทนที่จะเล่นด้วยการรีบออกบอลเร็ว อ่านเกมในสนามได้ไม่ดีพอที่จะรู้ว่าช็อตต่อไปจะเล่นยังไงก่อนที่จะได้รับบอล

การที่ขาดความรับรู้ของตำแหน่งในสนาม และมีแนวโน้มที่จะสัมผัสบอลมากเกินไปนั้น ทำให้เขาต้องพยายามพาบอลหนีคู่แข่งบ่อยมากอย่างที่กล่าวไปแล้ว และปริมาณการพยายามเลี้ยงบอลคือ 2.2 ครั้งต่อเกม (dribble attemptsทั้งซีซั่น=76) การเล่นที่ต้องพาบอลดวลคู่แข่งบ่อยๆไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นสำหรับมิดฟิลด์ตัวกลาง เพราะนั่นจะทำให้เปิดโอกาสให้คู่แข่งได้มีเวลาในการเข้ามาบีบใส่เขา และออกบอลช้ามากเกินไปที่จะหนีเพรสได้ การเล่นของทีมจึงอาจจะติดขัด แม้ว่าการดวลกับคู่แข่งจะมีอัตราการสำเร็จที่สูงกว่าค่าเฉลี่ย แต่ก็มีการเสียบอลที่บ่อยครั้งมากเช่นกัน

เวลาที่รับบอล เมื่อจัดระเบียบท่าทางหรือตำแหน่งไม่ดี เขามักจะถูกบีบให้ต้องจ่ายคืนหลัง หรือไม่ก็จำเป็นต้องพยายามเลี้ยงเอาชนะคู่แข่งไปให้ได้ สิ่งนี้ทำให้เจ้าตัวกลายเป็นเป้าหมายของการเพรสซิ่งจากคู่แข่งเวลาที่ได้รับบอลจากเซ็นเตอร์แบ็คอยู่บ่อยๆ ทำให้มันเป็นเหตุผลว่าทำไมต้องใช้ผู้เล่นคนอื่นในทีมเป็นตัวหลักในการเซ็ตเกมขึ้นมา จากนั้นเขาจึงจะได้ประโยชน์จากการเป็นอิสระในการเล่นภาค off the ball แล้วใช้การวิ่งให้เป็นประโยชน์ในสถานการณ์อื่นๆมากกว่า

พูดภาษาชาวบ้านคือ ไม่เหมาะ และไม่ควรเป็นตัวโฮลดิ้งนั่นเอง

ตัวอย่างด้านล่างนี้เราจะเห็นประเด็นนี้ชัดเจนว่า บิสซูม่าได้บอลจากแบ็คซ้ายทางด้านล่างของภาพ ผ่านทางเส้นประสีน้ำเงิน ซึ่งแทนที่เขาจะพลิกบอลได้ และหาตัวเลือกจ่ายบอลให้รวดเร็ว แต่เขาครองบอลนาน และพาบอลไปในแนวขวางสนาม (horizontal) ซึ่งภาพนี้เป็นจังหวะที่เจอโคตรทีมจอมเพรสซิ่งอย่างลิเวอร์พูลเล่นงานใส่

ซึ่งแม้จะป้องกันบอลเอาไว้ได้ดี แต่ก็เสี่ยงมากที่จะพลาดเสียบอลในพื้นที่อันตราย สุดท้ายแล้วในภาพนี้เจ้าตัวก็พยายามจ่ายคืนหลังไปให้เซ็นเตอร์แบ็คตัวขวา ทั้งๆที่น่าจะทำได้ดีกว่านี้ เพราะออฟชั่นการจ่ายบอลในสถานการณ์นี้มีเยอะมาก ตามลูกศรสีเหลืองในภาพนี้ว่า มีทางเลือกจ่ายบอลถึงสามตัว แต่กลับไม่ได้มองตัวเหล่านั้น และสุดท้ายโดนบีบให้กลับหลังไปจากการเล่นเพรสซิ่งของลิเวอร์พูล

บิสซูม่าพยายามจะเข้าไปใกล้ๆกับบอลเวลาที่เพื่อนร่วมทีมครองบอลอยู่ ซึ่งนั่นทำให้เขาไม่ได้ประจำอยู่ในpositionที่ดีที่จะช่วยให้ทีมพาบอลขึ้นหน้าได้ ยามที่เขาเข้าใกล้เพื่อน มักเปิดโอกาสให้คู่แข่งเข้ามาบีบได้ง่าย และไม่ค่อยได้สร้างช่องจ่ายขึ้นหน้าให้กับเพื่อนสักเท่าไหร่ เรียกง่ายๆว่ายืนตำแหน่งไม่ดีจริงๆนั่นเอง

เพราะฉะนั้นแล้วเขาควรจะต้องอดทนรอ และยืนสร้างช่องหลังแนวเพรสซิ่งเพื่อสร้างโอกาสให้เพื่อนพลิกจ่ายขึ้นหน้าได้ เรื่องนี้จะต้องปรับปรุง รวมถึงการอ่านเกมในสนามและรับรู้ถึงตำแหน่งเพื่อนร่วมทีม ซึ่งเป็นอีกเหตุผลที่ทำให้เขามีปัญหาเวลาโดนเพรส และต้องครองบอลนานๆในยามที่ต้องรับบอลเล่นหันหลังให้ฝั่งคู่แข่ง

ในภาพด้านล่างนี้ เซ็นเตอร์ของไบรจ์ตันเซ็ตบอลขึ้นมาจากแดนหลัง แทนที่บิสซูม่าจะรักษาตำแหน่งหลัง pressing line ของลิเวอร์พูลเพื่อสร้างช่องจ่ายให้เพื่อน แต่เขาวิ่งเข้ามาตามเส้นประ เข้ามาใกล้ๆเพื่อนเพื่อจะช่วยรับบอล สุดท้ายแล้วก็ช่วยจังหวะนี้ไม่ได้ และยังลากเอาตัวประกบบีบเข้ามาใกล้อีกทำให้เพื่อนไม่มีทางเลือกต้องวางบอลยาวออกไป

หรือหากจังหวะนี้บิสซูม่าได้บอลต่อมา ก็จะเป็นสถานการณ์ลำบากแน่นอนเพราะโดนเพรสหนักจากด้านหลังที่จะไม่มีมุมให้จ่ายขึ้นหน้าได้เลย สุดท้ายก็นั่นแหละครับ เซ็นเตอร์ตัวล่าง คืนหลังเหมือนเดิม


ภาพด้านล่างนี้เป็นอีกครั้งที่เห็นการตัดสินใจที่ไม่ดีด้านการยืนตำแหน่งของบิสซูม่า แบบเดียวกับsituationข้างบนเป๊ะ

ในจังหวะที่CBตัวขวาที่กำลังได้บอลในรูปล่างนี้ และตอนแรกบิสซูม่าอยู่ในตำแหน่งที่ดี ด้านหลังpressing lineของคู่แข่ง (วงกลมใหญ่สีเหลืองด้านหลัง) แต่เขาใจร้อนและวิ่งออกจากตำแหน่งนั้นออกมาเพื่อจะเข้ามารับบอล และใกล้กับบอลมากขึ้น ทำให้สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ช่องจ่ายบอลทะลุคู่แข่งมันหายไป และในช็อตนี้ไบรจ์ตันก็ไม่มีออฟชั่นให้ตั้งบอลจากแดนหลังได้เช่นเดิม (เพราะโดนนักเตะเอฟเวอร์ตันmarkingทุกตำแหน่งแล้ว)

ในเซ็ตชั่นนี้ของการวิเคราะห์การเล่น เราจะเห็นว่าบิสซูม่ามีพื้นฐานทางธรรมชาติที่จะเป็นมิดฟิลด์ที่ยอดเยี่ยมได้ในภาคเกมบุกของทีม เขามีความสามารถทางกายภาพที่จะเล่นงานคู่แข่งได้ในการเปลี่ยนจังหวะเล่นเร็ว (quick transitions) รวมถึงเทคนิคการจ่ายบอล และระยะการวางบอลให้เพื่อนที่อยู่ในตำแหน่งที่ดี

แต่เขามีปัญหาเวลาที่หันหลังเล่นกับโกล และแต่งบอลเยอะและนานเกินไปเนื่องจากเซนส์การรับรู้ตำแหน่งไม่ค่อยดี ซีซั่นที่ผ่านมาคือปีที่พีคของเจ้าตัว และยังคงต้องพัฒนาบางจุดในแง่มุมต่างๆเหล่านี้ แต่สภาพร่างกายตามธรรมชาติของเขาก็น่าสนใจมาก และการทำงานในสนามบางอย่างของเขาก็จะทำให้เจ้าตัวมีโอกาสจะเป็นมิดฟิลด์ในระดับท็อปได้เช่นกัน

บทบาทในเกมรับของบิสซูม่า : ป้องกันการโดนเล่นเร็ว และเป็นหัวหอกตัวเข้าเพรสซิ่งคู่แข่ง

หน้าที่ในเกมรับของเขานั้น เริ่มแรกคือในยามที่เพื่อนกำลังโจมตีใน final thirdของคู่แข่ง มิดฟิลด์จะยืนต่ำมากๆ แต่ในขณะที่ไบรจ์ตันเป็นฝ่ายเพรสซิ่งสูง เขาจะขยับขึ้นมาใกล้เพื่อที่จะทำให้ตัวเองมีโอกาสเข้าrecoveryแย่งบอลได้ในจังหวะสอง

บิสซูม่าอ่านเกมด้านหน้าเขาได้อย่างดี แถมยังรวดเร็ว และเล่นฉลาดมากๆที่จะคอยป้องกันไม่ให้ทีมโดน "counter-attack" รวมถึงตามเข้าเก็บบอล หรือเคลียร์ให้เพื่อนได้เป็นฝ่ายบุกอีกครั้ง

ความสามารถทั้งทางกายภาพ และความคิดอ่านในเชิงแทคติกนี้ของบิสซูม่า ช่วยให้ไบรจ์ตันสามารถเล่นเพรสซิ่งสูงใส่คู่แข่งได้แบบเต็มๆ ดันขึ้นมาอัดใส่แดนคู่แข่งทั้งแดนได้เลย จุดนี้น่าสนใจมากๆสำหรับทีมที่เล่น "High Pressing" หนักๆ น่าดึงตัวเขาไปร่วมทีมอย่างมาก

ภาพด้านล่างนี้ให้สังเกตถึงตำแหน่งยืนปกติของบิสซูม่าในยามที่ไบรจ์ตันเป็นฝ่ายบุก เขาจะเป็นมิดฟิลด์ที่ปักหลักต่ำสุดๆ แต่ก็ยังเข้าใกลคู่แข่งอยู่ตลอดเพื่อที่จะสามารถเข้าเพรสเร็ว และตัดเกมสวนกลับได้ทันที นอกจากนี้เขาสามารถขยับเข้าใกล้กรอบเขตโทษคู่แข่งก็ได้ด้วยเพื่อที่จะจู่โจมจากวงนอกหากว่าบอลมาเข้าถึงเท้า ซึ่งโดยทั่วๆไปมิดฟิลด์ทั้งหลายจะยืนต่ำเพื่อรักษาตำแหน่งของตัวเองเอาไว้ แต่เนื่องจากไบรจ์ตันเล่นด้วยระบบหลังสาม ข้อดีของแผนนี้จึงทำให้มิดฟิลด์อย่างบิสซูม่า สามารถดันเกมขึ้นสูง และเล่น high press ได้แบบสบายๆไม่ต้องกังวลด้านหลัง

ในการเล่นเกมรับแบบจริงๆจังๆ บิสซูม่าจะโดดเด่นมากในภาคของการเข้าแทคเกิลทำลายเกม เขาจะใช้ขายาวๆและความคล่องแคล่วในการพุ่งสไลด์ใส่คู่แข่งในมุมเข้าที่ดี และแย่งบอลคืนมาได้บ่อยครั้ง นอกจากนี้กายภาพของเขาก็แกร่งมาก สามารถพุ่งเข้าบวกตรงๆได้โดยไม่กลัวเจ็บหากจำเป็น ซึ่งความสามารถในการเข้าปะทะ รวมถึงความแข็งแกร่งที่มี เมื่อรวมกับสปีดความเร็วจัดของฝีเท้าทำให้เขากลายเป็นตัวรับที่ดีมาก ทั้งการเพรสซิ่งสูงที่ชิงบอลจากคู่แข่งได้, ตามเก็บบอลในแดนคู่แข่งได้ ในขณะที่ซ้อนปีกในแดนตัวเองได้อีกด้วย โดยเฉพาะในยามที่ฟูลแบ็คหลุดตำแหน่ง เขาก็จะพุ่งตามมาซ้อนได้ดีมาก

ตัวอย่างของความสามารถในการแทคเกิลของบิสซูม่า ดูจากภาพล่างนี้เป็นตัวอย่างแรก บิสซูม่าวิ่งจากตำแหน่งตัวเองมาตามเส้นประสีน้ำเงิน ตามปีกคู่แข่งที่เลี้ยงผ่านแบ็คไบรจ์ตันอย่างปาสคาล กรอสมาได้ และพุ่งเข้าเสียบจังหวะสุดท้ายเพื่อบล็อคลูกครอสในจังหวะนี้ และแย่งบอลคืนมาได้ สถานการณ์ช็อตนี้แสดงให้เห็นถึงความเร็วและความคล่องตัวที่สามารถพุ่งเข้าแทคเกิลในจังหวะที่แม่นยำได้เก่งมาก

ภาพต่อไปจะได้เห็นอีกวิธีการหนึ่งที่บิสซูม่าตามเก็บบอลได้ เมื่อเขาเห็นการจ่ายบอลของนักเตะลิเวอร์พูล เขาสปีดเข้าถึงตัวคู่แข่งอย่างรวดเร็ว และมาในมุมที่เหมาะมากที่จะใช้ขายาวๆของเขาในการเกี่ยวแย่งบอลมา นี่เป็นภาพที่เห็นบ่อยครั้งในสนามยามที่เขาบีบสูงใส่คู่แข่งที่หันหลังให้โกล และหันหน้ามาไม่ทันจนทำให้คู่แข่งไม่สามารถพลิกบอลและเก็บบอลไว้ได้

พุ่งเข้าบีบและแย่งบอลเร็วมาก ว่าง่ายๆ

การเล่นอยู่หน้ากองหลังในระบบหลังสามทำให้บิสซูม่าออกจากตำแหน่งได้อิสระเพื่อจะเพรสซิ่งสูง หรือวิ่งไล่ตามบอลได้ตลอดเวลาเพราะรู้ว่ามีคนซ้อนให้เขาอยู่ด้านหลัง ไบรจ์ตันรู้ดีว่าเขามีประสิทธิภาพแค่ไหนในการป้องกันคู่แข่ง win rate ของการแทคเกิลอยู่ที่เกือบ 65% คือเข้าแล้วมีโอกาสชนะสูง พูดง่ายๆ และไบรจ์ตันก็จะปลดปล่อยให้เขาเป็นอิสระเวลาเล่นเพรสซิ่งคู่แข่ง ดังนั้นเขาจึงมีโอกาสดวลกับคู่แข่งสูงถึง 8.11 ครั้งต่อเกม (ซึ่งคิดเป็นtop 21.2%ของลีก) เขาจะทำได้ดีมากๆหากว่าจับคู่กับเพื่อนคู่หูมิดฟิลด์ที่รักษาตำแหน่ง และควบคุมเกมอยู่ด้านหลังในแนวลึก ทำให้เขาสามารถวิ่งพล่านไปทั่วสนามได้ ใช้ฝีเท้า การเข้าสกัด และระดับความสามารถในการวิ่งไม่มีหมดในตัวได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ


ในด้านที่ไม่ดีเช่นเดียวกันในภาคเกมรุก บิสซูม่ามักสนใจดูแต่บอลบ่อยๆจนลืมเช็กหรือวิ่งตามตัวประกบหลุดไป เขามักจะมองที่ตัวได้บอลอย่างเดียว และมักจะมองแต่ภาพตรงหน้าเป็นหลักๆ แต่มักจะไม่ค่อยมองด้านหลังว่าเกิดอะไรขึ้น

จุดนี้จึงเป็นปัญหามากที่จำเป็นจะต้องใช้งานเขาเล่นคู่กับมิดฟิลด์อีกคนนึงที่มีความหยั่งรู้และฉลาดในเชิงแทคติกขณะอยู่ในสนามที่มากกว่า เพื่อที่จะปลดปล่อยความสามารถของเขาให้โบยบินได้เต็มที่

ภาพด้านล่างนี้ บิสซูม่า(วงเหลือง) มองแต่บอลอย่างเดียวและไม่ทันสังเกตตัววิ่งด้านหลังอย่างดูกูเร่ที่กำลังจะหลุดเดี่ยวขึ้นไปเพราะไม่มีตัวประกบ และจะรับบอลและแอสซิสต์ให้กับฮาเมส(ทางขวา โล่งมาก) จังหวะนี้บิสซูม่าสมควรตามประกบดูกูเร่ให้ดีเพราะคู่แข่งตัวอื่นๆที่เหลือมีเพื่อนร่วมทีมในชุดสีเหลืองของบิสซูม่าตามประกบอยู่หมดทุกตัวแล้ว แต่จังหวะนี้เขาพลาดไม่ได้สังเกตตัววิ่งด้านหลังเขาที่เกิดขึ้น และสุดท้ายก็เสียประตูจากการหลุดประกบครั้งนี้

อย่างที่กล่าวไปแล้วเบื้องต้นในการวิเคราะห์โดยพิจารณาจากภาคเกมรุกนั้น บิสซูม่ามีธรรมชาติหลายๆอย่างที่จะทำให้เขาสามารถกลายเป็นสุดยอดมิดฟิลด์ตัวรับได้ เขาอ่านเกมเบื้องหน้าดี หยุดเกมสวนกลับได้ และพาทีมเล่นเพรสซิ่งสูงได้ โดยเฉพาะกายภาพอันแข็งแกร่งของเขาก็ยากที่จะเอาชนะได้ในการดวลเกมรับกัน แถมยังเด่นลูกกลางอากาศอีก

อย่างไรก็ตาม ก็อ่านเกมด้านหลังของตัวเองได้ไม่ดีเท่าที่ควร และหลุดจากตำแหน่งตัวเองได้ง่ายมากๆ จะบอกว่าหลักลอยก็ว่าได้ และการเสียฟาล์วที่บ่อยครั้งทำให้เขาควรจะต้องมีตัวซ้อนคอยระวังหลังให้อีกต่อ

Conclusion

ข้อสรุปในการวิเคราะห์บิสซูม่านั้น ถือเป็นนักเตะที่น่าสนใจ และจะเตะตาอย่างรวดเร็วถ้าได้เห็นเขาเล่น เขามีส่วนผสมที่ยอดเยี่ยมระหว่างกายภาพและเทคนิคที่สวยงามที่สามารถทำได้ทั้งการสร้างสรรค์เกมให้ทีม และทำลายเกมคู่แข่งได้ด้วยในเวลาเดียวกัน

แต่ก็อย่างที่เห็น เมื่อเจาะลึกลงไปจริงๆในภาคการเล่น ก็ยังมีช่องโหว่บางอย่างที่เขาจะต้องปรับปรุงแก้ไข โดยเฉพาะในเรื่องที่เขาไม่ค่อยรักษาตำแหน่ง และควรจะต้องมีคนคอยซ้อนตำแหน่งให้เขาเวลาที่พลาด

ด้วยอายุ24ปี ถือว่าไม่มากเท่าไหร่ แต่ก็ไม่ใช่ดาวรุ่งแล้ว สโมสรใหญ่ๆน่าจะเล็งเห็นคาแรคเตอร์ธรรมชาติของนักเตะรายนี้ เป็นผู้เล่นที่ทุกๆคนคงจะชื่นชอบในการดูเขาลงเล่น หากว่าเขาได้รับเวลามากกว่านี้ พร้อมกับการมีโค้ชที่เหมาะสม บิสซูม่าจะไปได้ไกลและโดดเด่นกับสโมสรใหญ่ๆได้อีกแน่นอนในระยะยาว และเป็นตัวแทนป็อกบาที่ถูกมากๆสำหรับแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด ในขณะที่ก็ดูจะเหมาะกับการเติมเต็มความแตกต่างให้กับอาร์เซนอลได้

รวมถึงดูจะเหมาะกับบอลเพรสซิ่งฮาร์ดร็อคคาเฟ่ของลิเวอร์พูลมากซะด้วยสิ!

มีโอกาสไปเป็นตัวแทนของดุมได้เหมือนกัน

แน่นอนว่า วิเคราะห์มาขนาดนี้ผู้อ่านแฟนผีน่าจะพอนึกออกแล้วว่า เขาเหมาะจะเติมพลังในภาคการทำลายล้างแดนกลางให้ทีมในฐานะ มิดฟิลด์คู่กลางที่เป็น double pivot มากกว่าที่จะเป็นมิดฟิลด์ตัวรับแบบยืนเดี่ยวๆคนเดียว

ดังนั้น ถ้าปีนี้โซลชายังไม่เปลี่ยนแผนการเล่น ยังยึดแผนเดิมของ 4-2-3-1 ที่ยังใช้เป็นมิดฟิลด์คู่กลางรับเหมือนเดิม บิสซูม่าดูเหมาะที่จะใช้เสริมเกมรับหลังบ้านเราให้แข็งได้กว่าเดิมจากคู่แม็คเฟร็ด กรณีนี้โอเค บิสซูม่าคือน่าซื้อสุดๆ และมีแนวโน้มที่จะใช้แผนแบบนั้นด้วย เพราะแม้จะมีข่าวมา แต่ยังไม่ได้เห็นการซ้อม หรือการลองทีมด้วยแผนใหม่เลยจนถึงตอนนี้

แต่มันจะไม่เวิร์คทันที ถ้าคิดจะซื้อบิสซูม่ามาใช้ "ยืนกลางรับเดี่ยว" ในแผน 4-3-3 หรือ 4-1-4-1

บิสซูม่าเหมาะกับการยืนแบบ "มีคู่หู" ให้เขา ดูจะเหมาะสมมากๆ ไม่ใช่ตัวปักหลักด้านหลังเฉยๆให้เสียของ เพราะพละกำลัง สปีด ความเร็ว ความคล่องในการเล่นของเขา มันเหมาะมากที่จะปลดปล่อยให้โบยบินได้อิสระ

ดังนั้นใครที่คิดว่าจะซื้อบิสซูม่า เพื่อมายืนปักหลักเป็น DM ตัวต่ำแบบกลางรับเดี่ยวให้ได้นั้น บอกได้เลยว่าผิดมหันต์ และจะเสียของอย่างมากด้วย

เขาเป็นตัวเลือกทดแทนการเสียป็อกบาที่ดีมากๆ ราคาประเมินก็โคตรจะถูก อยู่ที่ราวๆ 25ล้านยูโรเท่านั้น ถ้าต้องเสียป็อกบา ซื้อบิสซูม่ามาเลยทันทีก็ได้ (บิสซูม่าถือเป็นนักเตะสายเดียวกันเป๊ะๆที่ถูกเปรียบเทียบเป็น Similar Players กับนักเตะเป้าหมายเราอย่าง "เอดูอาร์โด้ คาเมวิงก้า" ด้วย)

ผู้เขียนได้แปะฟอร์มการเล่นตลอดซีซั่นของบิสซูม่าเอาไว้ให้ดูด้วยด้านล่างนี้ สำหรับผู้ที่ยังไม่เคยเห็นมันเล่น จะบอกว่ายังไงถ้าได้ตัวนี้มา ภาคเกมรับแน่นมากๆแน่นอน อาจจะมีจุดอ่อนอยู่บ้างตามที่วิเคราะห์ไว้ แต่ก็ดูน่าซื้ออยู่ดีในระดับมิดฟิลด์คู่ของเรา การเข้าแย่งบอลคือเข้าถึงตัวเร็ว เด็ดขาด แม่นยำ และแข็งแกร่งมาก มีทั้งลูกคลีนทั้งลูกหนัก ครบเครื่องเรื่องเกมรับ

ยิ่งจังหวะเร่งสปีดเข้าแทคเกิลแย่งบอลนี่คือเร็วจริงๆเท่าที่เห็น คู่แข่งเลยพลาดโดนแย่งบ่อยๆ มีโอกาสเป็น "แย่งบอลแมน" ตัวใหม่แทนตำนานของฮาร์กรีฟส์ได้เลยถ้าแมนยูซื้อมาจริงๆ แล้วถ้าเอามาจับคู่กับเฟร็ดในแดนกลางนี่ บอกเลยว่าคู่แข่งไม่มีปัญญาได้ทำอะไรแน่ๆ เพราะไอ้สองคนนี้จะวิ่งเข้าบีบตลอดเวลา และคลุมคัฟเวอร์พื้นที่แน่นๆแน่นอนในแดนกลาง ประหนึ่งมีวานบิสซาก้าวิ่งไล่บอลอยู่ตรงกลาง แถมกระชากสวนกลับเร็วได้อีกด้วยในจังหวะcounter-attackที่ปีศาจแดงชุดนี้ถนัด

ยังไงก็ควรซื้ออย่างยิ่งถ้ามีโอกาส แต่ขออย่างเดียวแค่ว่า ผู้จัดการทีมควรใช้เขาให้ถูกRoleและTacticsก็พอ

ถ้าซื้อมาปั้นและ Coachingดีๆ ตัวนี้จะกลายเป็นของดีราคาถูกที่ไปได้ไกลแน่นอน

-ศาลาผี-

References

https://totalfootballanalysis.com/analysis/forget-pogba-analyzing-yves-bissouma-brightons-powerhouse-wanted-by-real-madrid-and-man-united-tactical-analysis-tactics

https://www.transfermarkt.com/yves-bissouma/profil/spieler/410425

https://www.whoscored.com/Players/303096/Show/Yves-Bissouma


ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ระดับ : {{val.member.level}}
{{val.member.post|number}}
ระดับ : {{v.member.level}}
{{v.member.post|number}}
ระดับ :
ดูความเห็นย่อย ({{val.reply}})

ข่าวใหม่วันนี้

ดูทั้งหมด