:::     :::

ดรอปบรูโน่ : ผลดีต่อ Mentality & Physical และ Performance

วันพฤหัสบดีที่ 25 พฤศจิกายน 2564 คอลัมน์ #BELIEVE โดย ศาลาผี
6,754
ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
เกมล่าสุดที่เราได้เห็นบรูโน่นั่งตัวสำรองนั้น จริงๆแล้วถือเป็นสัญญาณที่ดีเล็กๆจุดหนึ่ง จากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในทีม และสิ่งนี้จะส่งผลใน "ด้านที่ดี" กับ Bruno Fernandes ได้มากกว่าที่หลายคนคิด และนี่คือคำตอบเชิงวิเคราะห์เรื่องดังกล่าว

หลังจากมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด กับการบรรลุข้อตกลงร่วมกัน ระหว่างสโมสร และอดีตผู้จัดการทีมอย่าง โอเล่ กุนนาร์ โซลชา เกิดขึ้นเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา สโมสรก็จำเป็นต้องเดินหน้าต่อไป แม้ว่าจะไม่มีผู้จัดการทีมที่แท้จริงอยู่ในขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นผู้จัดการทีมถาวร หรือผู้จัดการทีมชั่วคราวก็ตาม เพราะในตอนนี้ ไมเคิล คาร์ริค เหมือนเป็นเพียงรักษาการแทนในตำแหน่งเฮดโค้ชที่ต้องพาทีมลงทำการแข่งขันก่อน

แต่เราก็ไม่สามารถใช้คาร์ริค ซึ่งไม่เคยมีประสบการณ์เป็น "ผู้จัดการทีม" ไปได้ตลอดฤดูกาล ยังไงก็ต้องมีผู้จัดการทีมชั่วคราวเข้ามาแทนอยู่ดี ซึ่งต้องตามดูต่อไป

สิ่งที่เกิดขึ้นทันทีที่โซลชาออกจากตำแหน่ง นั่นก็คือ "การเปลี่ยนแปลง" ที่เกิดขึ้น ถึงแม้อาจจะไม่มากเท่าไหร่ เพราะยังไม่มีคนเข้าแทน และทีมสตาฟฟ์โค้ชทั้งหมด ก็ยังคงเป็น "ชุดเดิมที่เคยทำทีมกับโซลชา"

ดังนั้นหากแฟนผีต้องการการเปลี่ยนแปลงที่ปุบปับกะทันหัน แล้วทีมดีขึ้นแบบหน้ามือเป็นหลังมือ กลับมาถล่มคู่ต่อสู้ด้วยฟอร์มเทพเลยในทันที คงจะหวังให้เป็นแบบนั้นยาก

แต่ถามว่า แม้จะเป็นสตาฟฟ์ชุดเดิม มันเปลี่ยนแปลงน้อยขนาดนั้นเลยหรือ? ก็ต้องตอบว่า ไม่

เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในหลายๆจุด มันก็เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดอยู่พอสมควรว่ามัน "เปลี่ยน" จากเดิมตอนโอเล่อยู่จริงๆ ถ้าจะบอกว่าเป็น Minor Change ก็อาจจะพอได้ เพราะมีการเปลี่ยนแปลงตัวผู้ตัดสินใจสูงสุด จากโซลชา กลายเป็นไมเคิล คาร์ริค แล้วเป็นที่เรียบร้อย

ซึ่งประเด็นที่เราจะพูดวันนี้นั่นก็คือ เรื่องของ "บรูโน่ แฟร์นันด์ส" นั่นเอง ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบเห็นชัดเจนที่สุด นั่นก็คือ เกมนัดแรกหลังจากที่ไม่มีโซลชา เขาลงไปนั่งเป็น "ตัวสำรอง" ทันที

บางสิ่งที่ดีขึ้นในภาคของ "การจัดการ" เริ่มต้นจากจุดเล็กๆในสิ่งนี้

มีสถิติหนึ่งที่ผู้เขียนไปค้นมาเอง แล้วพบความจริงอันน่ากลัวอย่างหนึ่งว่า ฤดูกาลนี้แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด ลงแข่งขันในทุกๆรายการ รวมทั้งหมดแล้ว "18เกม"

เชื่อหรือไม่ บรูโน่ แฟร์นันด์ส ลงครบทั้ง 18 เกม ไม่มีเกมไหนที่เขาได้พักเลย แถมที่สำคัญคือ 18เกม บรูโน่ลงเป็นตัวจริงไปทั้งหมด "16 เกม" ในทุกๆรายการ

เป็นตัวสำรองแค่สองเกม และหนึ่งในสองนั้นคือ เกมที่โซลชาไม่ได้คุมทีมแล้ว ในแมตช์บุกไปชนะบียาร์เรอัล 0-2 ในรายการยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีกนั่นเอง ตามสถิติจาก FBref ที่เป็น open source แฟนบอลให้สืบค้นได้

การออกไปของโซลชา ก็มีการเปลี่ยนแปลงให้เห็นเล็กน้อยในเรื่องของชุดความคิดภาคการจัดทีม เพราะถ้าเขายังอยู่ เกมเจอบียาร์เรอัล บรูโน่ต้องสตาร์ทตัวจริงชัวร์ๆ เพราะเป็นเกมสำคัญ ในขณะที่ ดอนนี่ ฟานเดอเบค ก็อาจจะต้องสำรองเหมือนเดิม แม้ว่านัดที่แล้วลงมาครึ่งหลัง แล้วโชว์ฟอร์มตบหน้าโซลชาหนักพอสมควรในครึ่งหลัง เกมที่แพ้วัตฟอร์ด 4-1

แถมเล่นดีไม่พอ ดอนนี่ยังเป็นคนทำประตู

ไมเคิล คาร์ริค จึงเลือกดอนนี่ ฟานเดอเบค ลงเป็นตัวจริงในแชมเปี้ยนส์ลีกเมื่อคืนก่อนที่ผ่านมา และส่งลงในตำแหน่งกลางรุก ที่เป็นPlaymaker เบอร์10 แทนที่บรูโน่เลยทันที

แล้วบรูโน่ก็ต้องลงไปนั่งสำรองอย่างที่เห็น เป็นสิ่งที่เราแทบจะไม่มีวันได้เห็นถ้าโซลชาอยู่

การ "ดรอป" บรูโน่ในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นสัญญาณที่ดีของ Squad-management (การบริหารทรัพยากรนักเตะในทีม) ที่ให้โอกาสนักเตะตัวอื่นๆของทีมมากขึ้น ที่ไม่ใช่นักเตะตัวหลัก อย่างเช่นการลงเป็นตัวจริงของดอนนี่ ฟานเดอเบค เป็นต้น เรื่องนี้ต้องวัดกันในนัดถัดไปโดยเฉพาะกับเชลซีว่า มันดีขึ้นจริงรึเปล่า ในการจัดตัวของไมเคิล คาร์ริค

แต่สิ่งที่ได้มากกว่าเรื่องการจัดนักเตะในทีมแล้ว มันยังเป็น "Man-management" (การบริหารคน) อีกด้วย ในเรื่องของการ organization (การจัดการ) และเรื่องของการ Control บุคคล

ซึ่งผลของการดรอปครั้งนี้ จะส่งผลดีในด้าน "การพัฒนาคุณภาพนักเตะ" (Quality) ทั้งในด้านจิตใจและร่างกาย (Mentality & Physical)

รวมถึง "ผลงานการเล่นในสนาม" (Performance) อีกด้วย

และเมื่อเขียนมาถึงตรงนี้ หลายๆคนอาจจะสงสัยว่า การ "ดรอป" หรือการไม่ส่งนักเตะคนนึงลงเล่น แล้วให้อยู่บนม้านั่งข้างสนาม มันจะเป็น "ผลดี" ในเชิง Mentality, Physical & Performance ตามที่หัวบทความเขียนได้ยังไง? เพราะนักเตะไม่ได้โอกาสลงเล่น

สำหรับนักเตะคนอื่นๆ อาจต้องพิจารณาเป็นคนๆไป แต่สำหรับบรูโน่ แฟร์นันด์ส การ "ดรอป" เขาอย่างถูกต้องและเหมาะสม จะเป็น "ผลดี" ล้วนๆกับตัวบรูโน่แน่นอน

1.Mentality (ด้านจิตใจ)

เรื่องนี้ต้องขอยกเอาเคสของการบริหารงานนักเตะของเซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ในเชิงจิตวิทยาต่อเคสของ "นานี่" และ "รูนีย์" ต่อ ซึ่งป๋าคือเบอร์หนึ่งของผู้จัดการทีมจริงๆที่มีสกิลของนักบริหารระดับสูงสุดของโลกนี้ ที่เก่งทุกด้านไม่ว่าจะเป็นการบริหารทรัพยากร การจัดการ แทคติกที่ปรับปรุงตัวเองตามยุคสมัย

และที่สำคัญที่สุด จิตวิทยาป๋า โคตรสุดยอด!

มนุษย์เราเกิดมาไม่เหมือนกัน บางคนจิตใจเข้มแข็ง บางคนจิตใจอ่อนแอ

คนจิตใจอ่อนแอบางคน ถ้าไปกระแทกหรือโจมตีใส่อย่างรุนแรง อาจจะบอบช้ำ หรือสูญเสียความมั่นใจไปเลยก็ได้ อันจะเกิดรอยร้าวในเชิงจิตวิทยาหลายๆอย่าง โดยเฉพาะพวกที่เซนส์ซิทีฟมากๆ ยิ่งต้องระวัง ถ้าเขาไม่ใช่นักเตะที่เหมาะจะไปว้ากใส่เพื่อกระตุ้น อย่างเช่นนานี่เป็นต้น

วันไหนที่นานี่เล่นไม่ดี แล้วไปด่าซ้ำโดยตรง รับรองว่านานี่ลงเล่นต่อครึ่งหลังไม่ได้ชัวร์ๆ และเขาอาจจะร้องไห้ด้วยซ้ำ

สิ่งที่ป๋าทำก็คือ ใช้วิธีจิตวิทยาแบบ "ตีวัวกระทบคราด" เลือกที่จะด่านักเตะคนอื่นแทน เพื่อให้นานี่รับฟังแบบอ้อมๆ ไม่ได้โจมตีที่เขาโดยตรง และเป้าหมายส่วนใหญ่ที่มักจะโดนป๋าหยิบมาใช้งาน ก็คือ "เวย์น รูนีย์" นั่นเอง ที่โดนด่าบ่อยๆแบบที่บางทีเจ้าตัวก็งงเองเหมือนกัน (ฮา)

เวย์น รูนีย์ เป็นนักเตะที่มี Mentality แข็งแกร่ง และใจสู้มากๆ ดังนั้นเขาไม่มีทางหวั่นไหวต่อการโดนด่าตะคอกใส่แรงๆจากป๋า ป๋าจึงเลือกที่จะไปด่ารูน แทนที่จะด่านานี่ตรงๆนั่นเอง

นี่คือตัวอย่างที่เราหยิบยกมา เพื่อแสดงให้เห็นว่า นักฟุตบอลแต่ละคนไม่เหมือนกัน นักเตะบางคนต้องกระตุ้นด้วยการให้กำลังใจแต่แง่ดี ด้านบวก เพื่อเพิ่มพลังให้เค้า ในขณะที่นักเตะบางคน ต้องซัดหนักๆ เพื่อที่จะเรียกแรงฮึดขึ้นมาให้ได้ เป็นต้น

ในกรณีของ "บรูโน่ แฟร์นันด์ส" เป็นนักเตะประเภทที่มีจิตใจแข็งแกร่งเป็นนักสู้ เกลียดความพ่ายแพ้

และที่สำคัญที่สุดคือ "เขากินคำวิพากษ์วิจารณ์เป็นอาหาร" การตำหนิคือแหล่งพลังอันโอชะ ของเขา ดังนั้นถ้าโดนวิจารณ์ เขารับมือกับมันได้ และจะนำสิ่งนั้นไปปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้น เรื่องนี้ถูกถ่ายทอดออกมาจากเรื่องราวส่วนตัวของบรูโน่เอง

แต่สิ่งที่เกี่ยวข้องกับเรื่อง "โดนดรอป" นี่คือเรื่องของจิตใจในด้านที่ "เกลียดความพ่ายแพ้" ของเขา

ถ้ามีการดรอปนักเตะที่มีจิตใจกระหายมากๆอย่างบรูโน่เกิดขึ้น สิ่งที่จะตามมาในเชิงจิตวิทยาแบบเล็กๆก็คือ เขาจะเริ่มรู้สึกไม่โอเค และจะพยายาม "สู้" มากกว่าเดิม จะ "กระหาย" มากกว่าเดิม เพราะตัวเองยอมไม่ได้แน่นอนที่จะต้องตกเป็นตัวสำรอง หรือโดนดรอป ในเกมที่เขารู้สึกว่า เขาจะต้องได้ลงสนาม

คนจิตใจแข็งแกร่งอย่างบรูโน่ เป็นนักสู้ และจะทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้ลงแข่งขันในทุกๆเกม

ดังนั้น การ "ดรอปบรูโน่" จึงเป็นสิ่งที่จะกระตุ้น Mentality ของเขาได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าให้ดรอปบรูโน่บ่อยๆ ดรอปยาวๆไปเลยอะไรแบบนั้น

คือให้เลือก"ดรอปตามสถานการณ์อย่างเหมาะสมเท่าที่จำเป็น" อย่างถูกต้อง จะเป็นประโยชน์กับทีมและตัวเขาเอง

เช่น เพื่อกระตุ้นฟอร์มของเขาบ้างหากเริ่มเห็นว่าฟอร์มดรอป บรูโน่จะได้รู้ตัวเองว่า ไม่มีprivilege ใดๆทั้งสิ้นที่จะต้องได้ลงสนามแน่ๆ เหมือนอย่างเช่นเกมเยือนบียาร์เรอัลนี้ เขาจะต้องเริ่มรู้แล้วว่า ตัวเองมีสิทธิ์นั่งสำรองได้บ่อยขึ้น ดังนั้นต้องพัฒนาฟอร์มของตัวเอง

และยิ่งการที่ไม่ได้ลงสนาม มันจะเพิ่ม "ความกระหายและความมุ่งมั่นตั้งใจ" (eagerness & determination) ให้เขาลงมาแล้วอยากจะทำผลงานให้หนักกว่าเดิม เล่นให้ดีกว่าเดิม วิ่งมากกว่าเดิม สู้มากกว่าเดิม

นักเตะอย่างบรูโน่ มีจิตใจนักสู้แบบนี้แหละครับ การจัดการเช่นนี้จะส่งผลเชิงจิตวิทยากับนักเตะที่มีความมุ่งมั่นและpassionสูงจัดๆแบบเขาอย่างแน่นอน

จิตวิทยาใส่บรูโน่ดีๆ ทั้งทางบวกและทางลบ ให้แกมีความหงุดหงิดในใจเล็กๆ รับรองว่าเจ๋งแน่ เพราะพี่แกจะระบายมันออกด้วยการเล่นอย่างโคตรทุ่มเทในสนามกว่าเดิมแน่นอน!!!

2.Physical (กายภาพ)

การดรอปบรูโน่ "บ้าง" จะส่งผลดีในเชิงกายภาพแน่นอน ข้อนี้คิดว่าน่าจะเดาง่าย เนื่องจากว่า ปีที่ผ่านๆมา นับตั้งแต่บรูโน่ ย้ายเข้ามาอยู่กับแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด เขาลงสนามแทบจะทุกนัด และลงเต็มเกมอยู่บ่อยๆแบบไม่ได้พัก จนแฟนบอลหลายๆคนเป็นห่วงว่าพี่แกจะไหวไหม เล่นไปต้องแบกถังออกซิเจนไปด้วย

การที่แกต้องลงสนามทุกนัด เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทรงการเล่นของแมนยูไนเต็ดก็จริง แต่การใช้งานที่ตะบี้ตะบันส่งลงทุกนัดขนาดนั้นของโซลชา เป็นวิธีการบริหารทรัพยากรนักเตะที่ไม่ดีเอามากๆ แม้จะบอกว่า ถ้าบรูโน่ไม่ลง แล้วใครจะลง?

ก็ตัวสำรองไงครับ

หลายๆคนในปีนี้พอที่จะฝากผีฝากไข้ได้ ไม่ว่าจะเป็นเจสซี่ ลินการ์ด ที่กลับมาอย่างเฉียบคมแล้วหลังจากไปยืมตัวกับเวสต์แฮมเมื่อซีซั่นก่อน

หรือนักเตะในตำแหน่งเดียวกันที่รอลงเล่นอยู่ตลอดเวลาแต่ไม่เคยได้รับโอกาส อย่างดอนนี่ ฟานเดอเบค เป็นต้น

โซลชาใช้นักเตะKey Player ของทีมลงสนามมากจนเกินไป แบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อนจริงๆ เพราะขนาดเกมถ้วยเล็กๆอย่างลีกคัพ พี่แกก็ยังส่งบรูโน่ ส่งแมกไกวร์ลงสนามแบบไม่ให้พักเลย

นักเตะอาจจะยังไหว ร่างกายภายนอกอาจจะไหว เพราะไม่ได้บาดเจ็บอะไรรุนแรง

แต่สิ่งที่เรียกว่า "ความล้าสะสม" (accumulated fatigue) มันมีอยู่จริง คนเล่นบอลต้องรู้อยู่แล้ว ว่าถ้าเตะบอลติดๆกันหลายๆวัน วันหลังๆเช่นวันที่ 2 วันที่ 3 จะเริ่มก้าวขาไม่ออก และไม่สดเท่า "วันแรก" ที่กลับมาเตะบอล หลังจากได้เตะ

เช่นกัน การลงแข่งชนิดที่เรียกว่า 3 วัน 1 นัด ทั้งสุดสัปดาห์ ทั้งกลางสัปดาห์ ลงทุกนัด การใช้งานถี่ยิบขนาดนี้ถามจริงๆว่าจะเอาเวลาไหนให้กล้ามเนื้อมันได้พักฟื้นฟูบ้าง? โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตัวKey Player ของทีม ที่โซลชาขยันใช้งานแบบไม่ให้โอกาสพักเลย อย่างแมกไกวร์ บรูโน่ ก็จะเกิดอาการล้าสะสม

อันเป็นบ่อเกิดที่เสี่ยงจะทำให้นักเตะ "บาดเจ็บ" เหมือนอย่างที่ปลายปีที่แล้ว แมกไกวร์ในที่สุดก็เขื่อนแตก เจ็บจนได้ในช่วงสำคัญท้ายฤดูกาล

ในขณะที่บรูโน่เอง แม้จะยังไม่บาดเจ็บ แต่ในสนามเห็นชัดเจนว่า "ความล้าสะสม" ส่งผลให้ฟอร์มของพี่แกดรอปลงไปเช่นกัน

ดังนั้น เราต้อง "ดรอป" บรูโน่ที่ "ฟอร์มดรอป" เพราะความล้าบ้าง เพื่อให้ร่างกายของเขาได้พักผ่อนบ้าง จะได้กลับมาสดชื่น มีพลังงานเต็มถัง ลดความเสี่ยงที่อาจเป็นบ่อเกิดของอาการบาดเจ็บได้ด้วย

การเล่นก็จะดีขึ้นแน่นอนถ้าร่างกายสด แรงเปิดบอล แรงยิง ความแน่นอนของการเล่น ทั้งยิงทั้งจ่าย จะดีขึ้น และคล่องแคล่วขึ้นแน่ๆถ้าบรูโน่สดมากกว่านี้ และไม่ต้องรับภาระลงสนามทุกนัด

การดรอปบรูโน่ ส่งผลดีต่อเชิง Physical โดยตรงแน่นอน ซึ่งหวังว่าพอไม่มีโอเล่อยู่แล้ว เรื่องนี้จะดีขึ้น จากการที่เราจะได้เห็นบรูโน่โดน "ดรอปเพื่อพักให้ร่างกายเขาได้ฟื้นฟู" มากขึ้น

3.ประสิทธิภาพการเล่น (Performance)

ข้อนี้คือผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมาจากผลดีในเชิง Mentality กับ Physical ที่ดีขึ้น อย่างที่กล่าวไว้แล้ว เมื่อจิตใจแข็งแกร่ง กระหายกว่าเดิม มุ่งมั่นกว่าเดิม เดี๋ยวประสิทธิภาพในสนามมันก็จะตามมาเองโดยอัตโนมัติ

เปรียบเทียบข้อมูลในเชิง Performance ของบรูโน่ แฟร์นันด์ส ในฤดูกาลนี้ กับ ฤดูกาลที่แล้ว ปีนี้ฟอร์มดรอปกว่าปีก่อนอยู่พอสมควร แม้ว่าจะยังเทียบกันยากอยู่ เพราะว่าเป็นการเทียบกับ สถิติเฉลี่ยของทั้งซีซั่นที่แล้ว เทียบกับปีนี้ที่เล่นไปแค่ 12 เกมในลีก แต่มันก็พอจะทำให้เห็นว่า ปีนี้บรูโน่ฟอร์มดรอปลงเล็กน้อย ตามสถิติบางอย่างดังนี้

ความแม่นยำในการยิงตรงกรอบ (Shot on Target Percentage)

2020/21 : 36.4%

2021/22 : 24.1%

ความแม่นในการยิงตรงกรอบ ตกลงมาเกิน 12% ก็ถือว่าลงเยอะเหมือนกัน ก็ตามเนื้อผ้าที่เห็นในสนาม

ปริมาณการยิงเฉลี่ยต่อเกมก็ลดลงเช่นกัน จาก 3.19 เหลือแค่ 2.53 ครั้ง (whoscored 2.5)

คือต่อหนึ่งเกม ปีนี้บรูโน่ยิงน้อยลงมาก (จริงๆปัจจัยเรื่องปริมาณตรงนี้มีเยอะ เพราะการเล่นของทีมโดยรวมแย่ลงด้วย บอลขึ้นหน้าไม่ได้ บรูโน่เลยไม่ค่อยได้ยิง อันนี้อาจจะพอdefenseให้แกได้)

ส่วนระยะทางในการยิง (ระยะห่าง) ค่อนข้างใกล้เคียงกันกับปีที่แล้ว ระยะยิงเฉลี่ยใกล้ๆกัน, ปีที่แล้วระยะยิงเฉลี่ยของบรูโน่คือ 22.0 หลา ปีนี้ 23.3 หลา ไม่ต่างกันมาก แต่ถ้าวัดจริงๆก็ถือว่า ปีนี้บรูโน่ยิงในระยะที่ห่างจากปีที่แล้ว เฉลี่ย 1.3 หลา

อันนี้ลูกจุดโทษนะ

ความแม่นยำในการจ่ายบอล (Passing Completion)

2020/21 : การจ่ายบอลสำเร็จเฉลี่ย 74.6% / บอลสั้น 85.7% จ่ายระยะกลาง 79.8% วางบอลยาว 57.2%

2021/22 : การจ่ายบอลสำเร็จเฉลี่ย 73.8% / บอลสั้น 85.1% จ่ายระยะกลาง 79.1% วางบอลยาว 55.3%

(บอลสั้น ระยะ5-15 หลา / กลาง 15-30 หลา / วางบอลยาว ไกลเกิน30หลาขึ้นไป)

ปีนี้การจ่ายบอลของบรูโน่ โดยเฉลี่ยเท่าที่ลงแข่งขันในลีก ก็ถือว่าดรอปลงไปจากปีก่อนในทุกๆสถิติ ไม่ว่าจะเป็นเฉลี่ยรวมทั้งหมด และทั้งสามระยะไม่ว่า ระยะใกล้ ระยะกลาง ระยะไกล ความแม่นยำลดลงทุกระยะ

การสร้างสรรค์เกมรุก

การเล่นที่ทำให้ทีมได้โอกาสยิง (SCA) เฉลี่ยต่อเกม

2020/21 : 4.88

2021/22 : 4.81

การเล่นที่ทำให้ทีมมีโอกาสได้ประตู (GCA) เฉลี่ยต่อเกม

2020/21 : 0.78

2021/22 : 0.35

Rating เฉลี่ยต่อเกม (whoscored)

2020/21 : 7.43

2021/22 : 7.09

คะแนนความสามารถเฉลี่ยจาก Whoscored ถือว่าปีนี้ลดลงอย่างมีนัยเหมือนกัน หายไป 0.4 ถือว่าเยอะ

Team Success ความสำเร็จในด้าน คะแนนต่อเกม (Point per game : PPG) เมื่อบรูโน่อยู่ในสนาม

2020/21 : 1.92 คะแนน/เกม

2021/22 : 1.42 คะแนน/เกม

มันก็ดรอปลงไปจริงๆ จากสถิติหลายๆด้าน

แต่..ก็อย่างที่บอก ปีนี้เพิ่งเตะไป 12นัด คงเอามาวัดแล้วสรุปฟันธงไปเลยไม่ได้ เพราะตัวหารไม่เท่ากัน เรตติ้งปีที่แล้ววัดจาก 37 เกม ปีนี้เพิ่งเล่นมาแค่ 12 เกม และมันก็มีบางสถิติที่ดีขึ้นด้วย อย่างเช่น

Key Passes ต่อเกม (whoscored)

2020/21 : EPL 2.6ครั้ง/เกม, UCL 2.5ครั้ง/เกม

2021/22 : EPL 3.2ครั้ง/เกม, UCL 3.6ครั้ง/เกม

สถิติคีย์พาสที่เยอะขึ้น จากwhoscored แต่เมื่อนำไปเทียบเกมรุกจากสถิติแหล่งอื่นๆ ก็มีการขัดแย้งกันเล็กน้อย เมื่อ SCA กับ GCA ในภาคเกมรุก, ความแม่นยำในการยิง, ความแม่นยำในการจ่ายเฉลี่ย และเรตติ้งจาก whoscored เองก็ตาม ทุกๆอย่างลดลงหมด

มันทำให้พอจะสรุปในเบื้องต้นคร่าวๆได้ว่า Performance ในการเล่นของบรูโน่ลดไปจริงๆ

เพราะฉะนั้น เมื่อเกิดการเปลี่ยนผู้จัดการทีมเกิดขึ้นหลังจากนี้ และเริ่มมีการใช้งานบรูโน่ที่ดีขึ้นด้วยการดรอปเขาบ้าง ตามโอกาสที่เหมาะสม เชื่อว่า "Performances" จะดีขึ้นกว่านี้แน่นอน หลังจากนี้เป็นต้นไป

เพราะเมื่อ จิตใจได้รับแรงกระตุ้นมากขึ้น(เพราะเขาเป็นคนไม่ยอมแพ้) / กายภาพได้พักฟื้นและสดมากขึ้น (ความล้าลดลง) มันก็เป็นเหตุเป็นผลให้เราสามารถที่จะคาดการณ์ได้ว่า ประสิทธิภาพในการเล่นของเขา ก็น่าจะดีขึ้นตามมาแน่นอน ถ้ากล้าที่จะดรอปเขาบ้างในยามที่ฟอร์มตก หรือ overused ใช้งานเขามากเกินไปจนร่างกายไปต่อไม่ได้ เรียกฟอร์มไม่ไหว และเสี่ยงบาดเจ็บ

การดรอปในครั้งนี้ ถือเป็นสัญญาณที่ดี และจะดีต่อตัว บรูโน่ แฟร์นันด์ส ขวัญใจของพวกเราอย่างแน่นอน

ไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวลแต่อย่างใดสำหรับนักสู้อย่างเขา ^^

-ศาลาผี-

References

https://fbref.com/en/players/507c7bdf/all_comps/Bruno-Fernandes-Stats---All-Competitions

https://fbref.com/en/squads/19538871/2021-2022/matchlogs/all_comps/schedule/Manchester-United-Scores-and-Fixtures-All-Competitions

https://fbref.com/en/squads/19538871/2021-2022/all_comps/Manchester-United-Stats-All-Competitions

https://fbref.com/en/players/507c7bdf/dom_lg/Bruno-Fernandes-Domestic-League-Stats

https://www.whoscored.com/Players/123761/History/Bruno-Fernandes

ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ระดับ : {{val.member.level}}
{{val.member.post|number}}
ระดับ : {{v.member.level}}
{{v.member.post|number}}
ระดับ :
ดูความเห็นย่อย ({{val.reply}})

ข่าวใหม่วันนี้

ดูทั้งหมด