:::     :::

บาร์ซ่า จะซื้อ ฮาลันด์ ไม่ใช่ฝันใช่มั๊ย ?

ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ฮือฮาไปทั้งวงการเมื่อ บาร์ซ่า ตกเป็นข่าวว่าจะซื้อ ฮาลันด์ หลายคนไม่เชื่อว่ายักษ์ใหญ่กาตาลันจะทำได้ ด้วยเพราะสถานะทางการเงินที่ย่ำแย่อย่างที่รู้ๆกันอยู่...แต่ แต่ แต่ว่า ??

ชัดเจนแล้วนะครับว่า เออร์ลิ่ง ฮาลันด์ คือเป้าหมายอันดับ 1 ของ บาร์เซโลน่า ในตลาดนักเตะช่วงซัมเมอร์ปีหน้า

เวลานี้ โจน ลาปอร์ต้า และทีมงานเริ่มเดินเครื่องแล้วเพื่อดึงกองหน้าสุดฮอตมาสวมเสื้อเลือดหมู-น้ำเงิน ซึ่งข่าวการพบกันที่โรงแรมใน ตูริน ระหว่าง ลาปอร์ต้า กับ มิโน่ ไรโอล่า เป็นเครื่องยืนยันได้ดี 


แต่ดีลนี้ คงต้องยอมรับว่ายากถึงโคตรยากส์ !! 

อย่างที่รู้กัน สถานะทางการเงินของ บาร์เซโลน่า กำลังย่ำแย่อันนำมาซึ่งความยุ่งยากในการยื่นข้อเสนอที่จะสร้างความพึงพอใจให้กับ โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์, ไรโอล่า และครอบครัวของ ฮาลันด์  

……………………………

ฮาลันด์ ราคาเท่าไหร่ ?

อ้างอิงจากข้อมูลล่าสุดของ sport 1 สื่อดังเยอรมัน รวมถึงคำสัมภาษณ์ของบอร์ดบริหาร ‘เสือเหลือง’ ทำให้เวลานี้ไม่แน่ชัดเสียแล้วว่า ฮาลันด์ มีค่าฉีกสัญญามูลค่า 75 ล้านยูโรอย่างที่เคยเข้าใจกันหรือเปล่า แต่ถ้ายึดจากรายงานของ sport 1 ก็คือ ‘ไม่มี’ 

ระหว่าง ดอร์ทมุนด์ กับ ฮาลันด์ นั้น เป็นเพียงสัญญาใจเท่านั้น ไม่มีข้อผูกมัดเป็นลายลักษณ์อักษรว่า สโมสรต้องยอมปล่อยหัวหอกทีมชาตินอร์เวย์ หากได้ข้อเสนอที่พึงพอใจ 

“ข้อเสนอที่พึงพอใจ” ตีความได้ค่อนข้างกว้าง แต่ sport 1 ประเมินว่าน่าจะอยู่ราว 100-120 ล้านยูโร ไม่ใช่ 75 ล้านยูโรตามที่เข้าใจ นอกจากนั้นแล้ว ในส่วนเงินกินเปล่าที่จะต้องจ่าย กะเกณฑ์ว่าอยู่ราวๆ 60 ล้านยูโร 


60 ล้านยูโร แบ่งเป็น 2 ส่วน 40 ล้านเป็นของ ไรโอล่า และ 20 ล้านเป็นของ อัลฟ์ อิงเก้ ฮาลันด์ พ่อของ เออร์ลิ่ง 

ถัดจากเงินกินเปล่าแล้ว ที่เหลือก็จะเป็นเงินค่าเหนื่อยของ ฮาลันด์ ที่เชื่อว่าหลังหักภาษีจะอยู่ที่ 30 ล้านยูโรต่อปี หมายความว่า บาร์เซโลน่า จะต้องจ่ายราว 60 ล้านยูโรต่อปี ภายในระยะสัญญา 5 ปีที่คาดจะเซ็นกัน คำนวนแบบง่ายๆ 

100 (ค่าตัว) + 60 (เงินกินเปล่า) + 60 x 5 = 460 ล้านยูโร 

ภายใต้สัญญา 5 ปี เฉลี่ย 460 ÷ 5 = 92

92 ล้านยูโร  นี่คือเงินที่ บาร์เซโลน่า จะต้องจ่ายให้ ฮาลันด์ ในแต่ละปี 


……………………………

ดูจากสถานะทางการเงินของ บาร์เซโลน่า แล้ว ไม่น่าจะมีความสามารถในการยื่นขอซื้อ ฮาลันด์ ได้ แต่ ลา ลีกา มีกฏอยู่ข้อนึงที่เป็นทางออกให้กับพวกเขา กฏที่ว่านี้คือ la regla '1 por 4’ หรือ กฏ1 ต่อ 4 

กฏ1 ต่อ 4 คืออะไร ?  กฏนี้เป็นกฏที่ ฆาเบียร์ เตบาส ประธานลา ลีกา พูดย้ำอยู่เสมอว่ามันคือทางออกของทีมที่มีปัญหากับกฏเพดานเงินเดือน (limite salarial) 

กฏ1 ต่อ 4 อนุญาตให้สโมสรที่มีปัญหาตรงนี้สามารถซื้อนักเตะใหม่เสริมทัพได้ ในวงเงินสูงสุดเกิน 25% ของทุกๆต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ลดลงของทีม 

อธิบายง่ายๆก็คือหากสโมสรสามารถลดค่าใช้จ่ายลง 4 ส่วน และในทุกๆ 4 ส่วนที่หายไป จะสามารถนำเงินมาใช้จ่ายซื้อนักเตะได้ 1 ส่วน 

ตัวอย่างเช่น ถ้า บาร์ซ่า ลดค่าใช้จ่ายได้ 4 ล้านยูโร พวกเขาจะได้รับอนุญาตให้ใช้เงินซื้อนักเตะได้ 1 ล้านยูโร 

ในกรณีของ เออร์ลิ่ง ฮาลันด์ ที่ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 92 ล้านยูโร ก็เท่ากับว่า บาร์เซโลน่า จะต้องลดค่าใช้จ่ายลง 368 ล้านยูโรต่อปีจึงจะซื้อได้ 

....................................

จะลดรายจ่ายมหาศาลนี้ได้ยังไง ? 

1.ขายผู้เล่น 

2.ลดค่าเหนื่อยนักเตะ

3. ลดค่าจ้างเทรนเนอร์และทีมสต๊าฟ


บาร์เซโลน่า มีนักเตะที่ต้องการปล่อยออกจากทีมอยู่หลายคน โดยเฉพาะ ฟิลิเป้ กูตินโญ่ กับ ซามูแอล อุมตีตี้ หากในซัมเมอร์ 2022 สามารถปล่อยออกไปได้ ออกเหนือจากจะได้เงินค่าตัวแล้ว สโมสรยังได้ลดเพดานค่าเหนื่อยลงอีก และน่าจะมีส่วนช่วยได้ เนื่องจากว่าทั้ง คูตี้ และ อุมตีตี้ ต่างก็เป็นนักเตะค่าเหนื่อยสูงระดับต้นๆของทีม 

แต่กระนั้นก็อาจจะไม่พอ ซึ่งหมายว่า บาร์เซโลน่า อาจจำต้องขายนักเตะแกนหลักบางรายออกไปเพื่อหาเงินก้อนใหญ่เข้าสโมสรเพิ่ม ในการนี้อาจหมายถึงนักเตะอย่าง แฟร้งกี้ เดอ ยอง , เปดรี กอนซาเลซ หรือ ปาโบล กาบี 


อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหนึ่งอ๊อปชั่นที่สามารถช่วยให้ฝันเป็นจริง โดยที่สโมสรอาจไม่ต้องเร่ขายนักเตะแกนหลักออกไป นั่นก็คือการหาสปอนเซอร์กระเป๋าหนักเข้ามาสนับสนุน

ตามกฏของ ลา ลีกา เงินจากสปอนเซอร์จะสามารถใช้หักลดเพดานค่าเหนื่อยได้ทันทีโดยไม่ต้องรอคิดในรอบปีถัดไป 

“เงินจากสปอนเซอร์” ตรงนี้ สามารถตีความเป็นเงินอุดหนุนซึ่งจะมาจากแหล่งใดก็ได้ นั่นเองทำให้ 2 วันมานี้ นอกจากข่าว ลาปอร์ต้า นัดคุย ไรโอล่า แล้ว ยังมีข่าวว่าเขากำลังเจราจาใหม่กับ CVC 

……………………………


ท้าวความกันสักนิด สำหรับเรื่องนี้ มีจุดเริ่มต้นจาก ลา ลีกา (LFP) ไปทำข้อตกลงแบ่งขายหุ้น 10% ให้กับ cvc ซึ่งจะทำให้ได้รับเงินอัดฉีดก้อนใหญ่ 2,700 ล้านยูโรเข้ามาในระบบ โดยเม็ดเงินก้อนนี้จะถูกจัดสรรปันส่วนให้แต่ละสโมสรใน ลา ลีกา และ เซกุนด้า อย่างเป็นธรรม โดย บาร์เซโลน่า จะได้รับส่วนแบ่งทั้งสิ้น 270 ล้านยูโร 


39 จากทั้งหมด 42 สโมสร ในระดับ ลา ลีกา (20 ทีม) และเซกุนด้า (22ทีม) โหวตเห็นด้วยกับดีลนี้ เพราะมองว่าในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ การได้เงินอัดฉีดเข้ามาจะช่วยพยุงสถานะทางการเงินของสโมสรที่กำลังง่อนแง่นให้ดีขึ้น ยกเว้น 3 สโมสรที่ไม่เห็นด้วย คือ เรอัล มาดริด,บาร์เซโลน่า และ แอธ.บิลเบา ที่มองว่ามันคือการปอกลอกสโมสรของพวกเขาในระยะยาว เพราะต้องแบ่งเอาสิทธิประโยชน์ที่พึงได้ให้กับ cvc ในระยะยาว 50 ปี 


ลาปอร์ต้า แถลงว่าข้อตกลงกับ cvc จะทำให้ บาร์เซโลน่า สูญเสียรายได้ในระยะยาวราว 900 ล้านยูโร ซึ่งเป็นการได้ที่ไม่คุ้มเสีย จึงปฏิเสธที่จะทำข้อตกลงด้วย 

ผลของการปฏิเสธในครั้งนั้น กระทบชิ่งไปถึงการต่อสัญญากับ ลิโอเนล เมสซี่ นักเตะอันดับหนึ่งของสโมสร เพราะ บาร์เซโลน่า กำลังมีปัญหาทางการเงินอย่างหนักจนค่าใช้จ่ายทะลุเพดานกฏ limite salarial  ที่ ลา ลีกา กำหนด จนไม่ได้รับอนุญาตจาก ลา ลีกา ให้ต่อสัญญากับ เมสซี่ 

……………………………

เวลาผ่านไปสถานะทางการเงินของ บาร์เซโลน่า ย่ำแย่ลงเรื่อยๆ ต่างจาก เรอัล มาดริด 

ซัมเมอร์ที่ผ่านมา ทีมชุดขาว มีเงินมากมายพอที่จะทุ่มซื้อ คิลิยัน เอ็มบั๊บเป้ ในราคา 200 ล้านยูโร แต่บาร์เซโลน่า นอกจากต้องยอมปล่อย เมสซี่ แล้ว ยังต้องขาย อองตวน กริซมันน์ ให้ แอต.มาดริด

ซ้ำร้ายยังไม่มีวงเงินเหลือให้ใช้ซื้อผู้เล่นใหม่เข้ามาเสริมทัพ ต้องดึงนักเตะฟรีเข้าทีม ซึ่งไม่ได้คุณภาพอย่างที่ต้องการ 

ผ่านถึงเดือนธันวาคม เรอัล มาดริดนำจ่าฝูงลา ลีกา ด้วยแต้มที่ทิ้งห่างทุกทีม แถมยังเข้ารอบน็อคเอาท์ แชมเปี้ยนส์ลีกในฐานะแชมป์กลุ่มแบบสบายๆ 

ส่วน บาร์เซโลน่า ตกต่ำลงเรื่อยๆ ต้องแก้ไขสถานการณ์ด้วยการปลด โรนัลด์ คูมัน ออกและดึง ชาบี เอร์นานเดซ เข้ามากอบกู้ทีม แต่ไม่มีอะไรดีขึ้น 

บาร์เซโลน่า แพ้ บาเยิร์น มิวนิค ยับเยินในเกมสุดท้ายของรอบแบ่งกลุ่ม ตกไปเล่นใน ยูโรป้า ลีก เป็นครั้งแรกในรอบ 17 ปี ส่วนใน ลา ลีกา รั้งอันดับ 8 มีแต้มตามหลังทีมชุดขาวถึง 18 แต้ม แทบจะหมดโอกาสในการลุ้นแชมป์ 


การตกรอบแบ่งกลุ่มแชมเปี้ยนส์ลีก ทำให้ บาร์เซโลน่า สูญเสียรายได้ก้อนโต ประกอบกับสถานการณ์ในลา ลีกา ที่ส่อแววว่าอาจไม่ติด 1-4 ทำให้ ลาปอร์ต้า ต้องแก้สถานการณ์ และทางเดียวที่ทำได้คือการเสริมทัพ นำนักเตะใหม่ที่มีคุณภาพเข้ามาช่วยยกระดับทีม 

ลาปอร์ต้า เชื่อมั่นว่า ฮาลันด์ คือทางออกของปัญหา เพราะไม่เพียงแค่จะเข้ามายกระดับผลงานในสนามของทีมเท่านั้น แต่ชื่อเสียงของเขายังสามารถช่วยเหลือด้าน marketing ของสโมสรได้อีกด้วย 


ฮาลันด์ คืออนาคตนักเตะหมายเลข 1 ของโลกที่ใครก็อยากดู ซึ่งช่วยดึงดูดสปอนเซอร์ให้วิ่งเข้ามาสโมสรแบบไม่ยาก 

นอกจากนี้ หาก เรอัล มาดริด ได้ คิลิยัน เอ็มบั๊บเป้ ไปแล้ว ถ้า บาร์ซ่า ไม่อยากโดนทิ้งห่างไปอีก ก็ต้องมี ฮาลันด์ ไว้ในครอบครอง เพื่อชิงความเป็นหนึ่ง เสมือนยุค ‘โรนัลโด้-เมสซี่’ ที่ผ่านมา 


…………………………………

ตามกฏของ ลา ลีกา บาร์เซโลน่า จะได้รับอนุญาตให้แบ่งเงินอุดหนุนจาก CVC จำนวน 270 ล้านยูโร มาซื้อนักเตะได้ 15% ซึ่งคิดเป็น 40.5 ล้านยูโร 

เมื่อนำไปรวมกับการปรับลดอีกหลายๆส่วน โดยเฉพาะการปล่อยนักเตะค่าเหนื่อยแพงๆออกจากทีม พร้อมทั้งหารายได้จาก สปอนเซอร์ รายอื่นๆ ก็น่าทำให้พอมีความเป็นไปได้ที่ บาร์เซโลน่า จะคว้าตัว ฮาลันด์ มาครอบครอง


เพราะในส่วนของตัวเงินจริงๆ แม้สโมสรจะเป็นหนี้อยู่ 1,044 ล้านยูโร แต่ก็มีเงินสดที่กู้มาแล้วจาก Goldman Sachs จำนวน 595 ล้านยูโร ซึ่งจะช่วยสภาพคล่องของ บาร์เซโลน่า ในระหว่างที่กำลังปรับจูนโครงสร้างทางการเงินด้วยอีกแรง

ที่สำคัญ การกลับลำกลืนน้ำลายตัวเอง หันไปจูบปากกับ CVC จะสร้างความพึงพอใจให้กับ ฆาเบียร์ เตบาส อย่างมาก และนั่นจะทำให้ บาร์เซโลน่า ได้รับสิทธิพิเศษต่างๆจาก ลา ลีกา 

อะไรที่เคยตึง ไม่ได้รับการผ่อนผัน ก็จะเปลี่ยนเป็นการโอนอ่อนผ่อนตาม ทีนี้ บาร์เซโลน่า จะทำอะไรมันก็ง่าย เพราะได้ชื่อว่าเป็นคนโปรดของคนคุมกฏ แม้จะได้ชื่อว่าทรยศต่อคำสัญญาที่เคยให้ไว้กับแฟนบอลก็ตาม 


        เจมส์ ลา ลีกา 



ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ระดับ : {{val.member.level}}
{{val.member.post|number}}
ระดับ : {{v.member.level}}
{{v.member.post|number}}
ระดับ :
ดูความเห็นย่อย ({{val.reply}})

ข่าวใหม่วันนี้

ดูทั้งหมด