:::     :::

"ยาสุชิ โยชิดะ" ดาบซามูไรเล่มใหม่ของไทยลีก

วันเสาร์ที่ 25 ธันวาคม 2564 คอลัมน์ ONE MAN SHOW โดย แมน โกสินทร์
5,575
ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
หลังจาก มาซาทาดะ อิชิอิ ได้ลาจาก สมุทรปราการซิตี้ เพื่อไปคุมทีม บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด โดยมีโปรเจกต์ในการสร้างทีมเยาวชนของสโมสร ให้ขึ้นมาด้วยวิถีซามูไร จึงจำเป็นที่ "เขี้ยวสมุทร" ต้องไปควานหาเทรนเนอร์คนใหม่ ที่มีความเหมาะสมกับทีม

เป้าหมายหลักที่ผู้บริหารอยากจะสานงานต่อชัดเจนว่าต้องเป็น “เจแปนนีส สไตล์” ก่อนจะเลือก "ยาสุชิ โยชิดะ" กุนซือชาวญี่ปุ่น ขึ้นเป็นหัวหน้าผู้ฝึกสอนคนใหม่อย่างเป็นทางการ และถือเป็นคนที่สามจากแดนอาทิตย์อุทัยที่คุมทีมอย่างต่อเนื่อง 

และที่สำคัญยังได้ "แชมป์” วงศ์ธวัช กันทรากรกิติ ล่ามที่เชี่ยวชาญฟุตบอลญี่ปุ่น หลังเคยไปอยู่กับ สิทธิโชค ภาโส กองหน้าชลบุรี เอฟซี ช่วงเลกสอง ตอนเล่นให้กับ คาโงชิมา ยูไนเต็ด ใน เจ 3 เมื่อฤดูกาล 2017 จากนั้นปี 2018 เป็นล่ามให้ ธีรศิลป์ แดงดา หัวหอกทีมชาติไทย ที่ได้เป็นรองแชมป์ เจ ลีก กับ ซานเฟรซเช่ ฮิโรชิมา โดยเกือบไปถึงโทรฟี่อยู่แล้ว จนมาซีซั่น 2019 เขากลับมาเมืองไทย ก่อนจะเป็นล่ามให้กับสมุทรปราการซิตี้ แล้วโยกไปเป็นล่ามให้ ฐิติพันธ์ พ่วงจันทร์ ที่โออิตะ ทรินิตะ และเมื่อจบฤดูกาลนั้นเขาเองก็กลับมาเมืองไทย ซึ่งก่อนจะเริ่มสตาร์ทปี 2020 ที่เขาเข้าเป็นล่ามให้ มาซาทาดะ อิชิอิ อยู่ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ 

หลายคนอาจจะเคยทราบประวัติของ โยชิดะ ไปบ้างแล้ว สำหรับวันนี้จะขอล้วงลึกข้อมูลเพื่อทำความรู้จักกับกุนซือวัย 62 ปีผู้นี้มากยิ่งขึ้น


รู้จักแข้งไทยเป็นอย่างดี

ย้อนกลับไปในปี 2011 ยาสุชิ โยชิดะ ได้นำทีม ยู-19 ของญี่ปุ่น มาเล่นรอบคัดเลือก ที่ประเทศไทย และต้องมาเจอกับทัพ “ช้างศึก” ในเกมสุดท้าย เจ้าถิ่นชุดนั้นอยู่ภายใต้การคุมทีมของ “น้าฉ่วย”สมชาย ชวยบุญชุม ที่มีนักเตะฝีเท้าระดับฟุตบอลนักเรียน และแชมป์ เอฟเอ ยูธ คัพ เข้ามาผสมผสานกันมากมาย

ทั้ง ฐิติพันธ์ พ่วงจันทร์, จตุรงค์ พิมพ์คูน, นฤบดินทร์ วีรวัฒน์โนดม, นิติพงษ์ เสลานนท์, พีระพัฒน์ โน๊ตชัยยา, อดิศร พรหมรักษ์, อดิศักดิ์ กลิ่นโกสุมภ์, ปกรณ์ เปรมภักดิ์, ชนาธิป สรงกระสินธ์, ธนบูรณ์ เกษารัตน์ ฯลฯ ซึ่งคู่นี้ถือว่าเป็นนัดชี้ชะตาว่าทีมใดจะเข้ารอบเป็นที่ 1 ในสาย

ขณะนั้นไทยนั้นเข้ารอบแน่นอนแล้วเพราะชนะรวดมา 3 นัด ส่วนญี่ปุ่นก็ชนะมา 2 นัดเช่นเดียวกัน โดยเกมนัดนี้มีแฟนบอลให้ความสนใจเข้ามาชมเกมเกือบเต็มความจุของสนามเลยทีเดียว ก่อนจบเกมด้วยการเสมอกันไป 0-0 ทำให้ญี่ปุ่นได้อันดับ 3 ต้องไปเล่นรอบเพลย์ออฟ

ยังดีที่ 4 นัดในกลุ่ม East Zone พวกเขา ชนะ 2 เสมอ 1 แพ้ 1 มี 7 คะแนนเท่ากับ อินโดนีเซีย แต่คว้าตั๋วเข้าไปเล่นในรอบสุดท้าย ด้วยลูกได้เสียที่ +30 อย่างไรก็ตาม ยาสุชิ โยชิดะ พาทีมชาติญี่ปุ่น จอดแค่รอบ 8 ทีมสุดท้าย หลังจากแพ้ อิรัก ไป 1-2


เชี่ยวชาญในการทำงานกับนักเตะเยาวชน

การเป็นกุนซือเยาวชนทีมชาติญี่ปุ่น ทำให้เขารู้ข้อมูลแข้งวัยรุ่นในประเทศเป็นอย่างดี ในการคุมทีมไปเล่นศึก ฟุตบอลโลก ยู-20 เมื่อปี 2005 ที่ประเทศฮอลแลนด์ ซึ่งอยู่ในกลุ่ม เอ ร่วมกับ เจ้าภาพ ที่ขน ไรอัน บาเบิล, เออร์บี้ เอ็มมานูเอลสัน, คอลลินส์ จอห์น, อิบราฮิม อเฟลลาย นอกจากนี้ยังมี ออสเตรเลีย กับ เบนิน เป็นเพื่อนร่วมสาย

รายชื่อขุนพล "ซามูไร บลู" ชุดนั้น อาจจะยังไม่มีชื่อเสียงโด่งดังแต่กลับสร้างผลงานเพิ่มมูลค่าขึ้นมาหลายคน และต่อยอดด้วยการออกไปค้าแข้งในยุโรป ทั้ง มาซาฮิโกะ อิโนฮะ, เคซึเกะ ฮอนดะ, โยเฮ คาจิยามะ, อาคิฮิโร อิเอนากะ, โคกิ มิซูโนะ, ทาคายูกิ โมริโมโตะ, โซตะ ฮิรายามะ และ โรเบิร์ต คัลเล่น ที่เคยมาเล่นในไทยลีกกับ สุพรรณบุรี เอฟซี เมื่อฤดูกาล 2014

ผลงานคุมทีมครั้งนั้นของ ยาสุชิ โยชิดะ เริ่มต้นด้วยการแพ้ ฮอลแลนด์ 1-2 แล้วเสมอ เบนิน 1-1 ตามด้วยเสมอ ออสเตรเลีย 1-1 มี 2 คะแนนเท่ากัน 3 ทีม แต่ญี่ปุ่นเข้ารอบต่อไป ด้วยกฏประตูได้ที่เยอะกว่า แต่ก็ไปจอดที่รอบ 16 ทีมสุดท้าย เมื่อพวกเขาปราชัยให้กับ โมร็อกโก 0-1

จากนั้นปี 2007 เขาพาทีมชาติญี่ปุ่น กลับมาเล่นในรายการนี้อีกครั้ง โดยมีกลุ่มสายเลือดใหม่ ที่ต่อมาโด่งดังแบบพลุแตก ทั้ง ชินจิ คากาวะ, โทโมอากิ มาคิโนะ, อัตสึโตะ อุจิดะ และโยสึเกะ คาชิวางิ จนพาทีมคว้าแชมป์กลุ่ม เอฟ ด้วยผลงานชนะ 2 เสมอ 1 แต่ไปตกรอบ 16 ทีมสุดท้าย เช่นเดิม หลังแพ้ สาธารณรัฐเช็ก ด้วยการดวลจุดโทษตัดสิน


ปรัชญาการทำทีมที่ชัดเจน

จากข้อที่ 2 เห็นได้ชัดว่า เขานิยมเลือกใช้งานตัวผู้เล่นที่ยังไม่ได้โด่งดังแต่มีแวว เข้ามาปั้นในทีมเยาวชนทีมชาติญี่ปุ่น ด้วยโครงสร้างของ JFA ที่มีความแข็งแกร่งตั้งแต่ระดับรากหญ้า เริ่มจากระดับโรงเรียน จนมาถึงอคาเดมีของสโมสร

ฟุตบอลระดับโรงเรียนที่ญี่ปุ่นจะจัดดขึ้นในช่วงปิดเทอมฤดูหนาว มีทีมร่วมแข่งขัน 48 ทีม จนไปสิ้นสุดการแข่งขันรอบสุดท้ายช่วง 2 สัปดาห์ปลายปีระหว่างเดือนธันวาคมถึงมกราคม โดยเป็นแหล่งรวมของเหล่าแมวมองที่คอยจับตานักเตะเพื่อดึงเข้าอคาเดมีของสโมสรต่างๆ ไปขัดเกลารอวันเติบใหญ่ 

เมื่อเป็นเช่นนั้น สมุทรปราการ ซิตี้ ซึ่งมีระบบการสร้างนักเตะระดับเยาวชนจากการคัดเลือกเข้ามาของ มาซาทาดะ อิชิอิ อยู่ก่อนแล้ว จะถูกสานต่อแบบไม่ขาดช่วงในการหล่อหลอมของ ยาสุชิ โยชิดะ เพื่อเจียระไนให้กลายเป็นเพชรขึ้นมา และมีอยู่หลายคนที่น่าจะก้าวไปเป็นรุ่นใหญ่ได้ในไม่ช้านี้

ผู้เล่นชุดใหญ่ทั้ง ชัยวัฒน์ บุราญ ซึ่งมี ธีราทร บุญมาทัน อดีตแบ็คซ้าย โยโกฮามา เอฟ มารินอส เป็นไอดอล ก็เริ่มจะฝึกการเล่นสไตล์อินเวิร์ทวิงแบ็คที่สามารถตัดเข้าตรงกลาง เพื่อเชื่อเกมในแนวลึก หรือสร้างสรรค์โอกาสมากไปกว่าทางริมเส้น หรือ ศุภนันท์ บุรีรัตน์ ซึ่งเติบโตขึ้นมากในวิธีการเล่น, นพพล พลคำ ฮาร์ดแมนแดนกลางที่โดดเด่นไม่น้อยในเลกแรก และอีกหลายคนที่รอให้กุนซือคนใหม่เข้ามาปรับจูน

ด้วยวิถีการทำงานแบบญี่ปุ่น ที่เน้นเรื่องระเบียบวินัย, ความฟิต และมีแนวทางการฝึกซ้อมที่ชัดเจน ผสมผสานกับการที่ "เขี้ยวสมุทร" ของ "มาดามเจี๊ยบ" ศิริมา พานิชชีวะ ผู้อำนวยการสโมสรซึ่งหลงรักในสไตล์การทำฟุตบอลในแบบฉบับญี่ปุ่นอย่างสุดหัวใจไปแล้ว เชื่อเหลือเกินว่านอกเหนือจากผลงานในสนามที่สามารถจับต้องได้แล้ว

ผลประโยชน์จะตกไปสู่นักฟุตบอลไทยอีกหลายชีวิต ที่ได้บ่มเพาะความเป็นมืออาชีพอย่างใกล้ชิดจากคนที่มีองค์ความรู้และประสบการณ์ระดับของแท้เช่นนี้ จึงต้องถือว่าเป็นเรื่องดีๆ สำหรับวงการฟุตบอลไทยอย่างไม่ต้องสงสัยเลย


ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ระดับ : {{val.member.level}}
{{val.member.post|number}}
ระดับ : {{v.member.level}}
{{v.member.post|number}}
ระดับ :
ดูความเห็นย่อย ({{val.reply}})

ข่าวใหม่วันนี้

ดูทั้งหมด