:::     :::

ระบบคัดกรองมืออาชีพกำลังทำงาน

วันอาทิตย์ที่ 04 กุมภาพันธ์ 2561 คอลัมน์ ONE MAN SHOW โดย แมน โกสินทร์
1,803
ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
หลังจากที่ฟุตบอลไทยลีก ก่อร่างขึ้นมาจนกลายเป็นระบบอาชีพแบบเต็มตัว หลายทีมมีการใช้จ่ายเงินอยู่ในเกณฑ์ที่ค่อนข้างสูง แม้กระทั่งทีมที่ผลประกอบการยังไม่ฟันกำไรแน่นอนก็กล้าทุ่มจนเกินตัว ซึ่งปัญหา "ฟองสบู่แตก" คงไม่ใช่แค่เรื่องพูดกันเล่นๆ แต่ความเสี่ยงมีสูงถ้ามองจากความเป็นจริง

ยิ่งเวลาผ่านไป มีโอกาสที่หลายทีมจะเจ๊งไปตามสภาพเศรษฐกิจที่ไม่อำนวย ทีมที่มีเงินหนา หรือทีมที่มีกลุ่มทุนร่ำรวยมาสนับสนุนคงไม่เท่าไหร่ เพราะเจ้าของทีมฐานะเป็นมหาเศรษฐีอยู่แล้ว และสามารถหมุนเวียนงบประมาณได้โดยใช้เงินร้อนเงินเย็นบ้าง ซึ่งก็ไม่ได้ทำให้ขัดสน

แต่ทีมระดับกลางหรือล่าง โอกาสประสบความสำเร็จจากการแข่งขันมีน้อยอยู่แล้ว ถ้าคิดจะอยู่ด้วยยอดเงินค่าตั๋วหรือขายเสื้อ ลำพังเงินเดือนนักเตะยังไม่พอจ่ายด้วยซ้ำ หรือต่อให้พลิกล็อกคว้าแชมป์รายการใดขึ้นมาได้ เงินตำแหน่งแชมป์แค่เอามาจ่ายค่าจ้างทีมงานก็แทบเกลี้ยงแล้ว

เราคงเอาตัวเองไปเทียบลีกดังๆ ของยุโรปอย่าง พรีเมียร์ลีก, ลา ลีกา, บุนเดสลีกา หรือแม้กระทั่งเจลีก ของญี่ปุ่น ยังไม่ได้ เพราะค่าลิขสิทธิ์ทีวีของเขาสูงมาก พรีเมียร์ลีกแค่ได้เข้าร่วมสังฆกรรมก็รับเงินค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดไปเหนาะๆ ประมาณ 80 ล้านปอนด์แล้ว เมื่อมีถ่ายทอดทุกนัดไปทั่วโลก สปอนเซอร์ก็แย่งกันเข้ามาสนับสนุน นี่ยังไม่รวมรายได้จากค่าตั๋ว, ขายเสื้อ, ของที่ระลึก, สิทธิประโยชน์จากตัวนักเตะ ฯลฯ

แต่ไทยพรีเมียร์ลีก รายได้ต่างๆ จากสโมสรส่วนใหญ่จะเท่าไหร่กันเชียว คิดเป็นเปอร์เซ็นต์แล้วยังมองไม่ออกว่างบกำไรขาดทุนแต่ละปีจะเป็นบวกได้อย่างไร รายรับทั้งปีของหลายๆ ทีมยังไม่ได้ครึ่งของเงินที่ต้องจ่ายไปด้วยซ้ำ

ตอนนี้เริ่มเห็นแล้วว่า มีหลายทีมที่ใช้จ่ายเกินตัว เจ้าของทีมเริ่มรับสภาพว่าไปต่อไม่ไหว จนมีข่าวจะยุบทีมออกมาไม่ขาดสาย แม้ทุกวันนี้บอลไทยจะได้รับความนิยมมากขึ้น แต่รายจ่ายของคนไทยกับการดูฟุตบอลยังถือว่าน้อย หลายๆ ทีมคงต้องคิดหนักแล้วว่าจะบริหารทีมอย่างไรให้เหมาะสมและยั่งยืน

จริงๆ แล้วผมดีใจกับนักเตะยุคนี้ โดยเฉพาะไทยลีกที่ได้เงินเดือนกันหลักแสนกันแทบทั้งนั้น ในแง่ดีก็ถือเป็นแรงจูงใจให้เยาวชนคนรุ่นใหม่หันเข้าสู่วงการลูกหนัง เพราะผลตอบแทนอาจสูงยิ่งกว่าเรียนจบด็อกเตอร์หรือทำงานด้านอื่นๆ หลายเท่า และจะส่งผลต่อยอดให้มีดาวรุ่งหน้าใหม่เข้ามาประดับทีมชาติมากขึ้นในอนาคต

แต่ถ้ามองระยะยาว หลายๆ ทีมอาจจะล่มสลายลงด้วยเหตุนี้ ระดับเพดานค่าเหนื่อยของนักเตะไทยสูงเกินไปหรือไม่ ถ้าทีมต้องใช้เงินเยอะขนาดนี้ควรต้องลดหรือทำอะไรให้ค่าใช้จ่ายมันลดลงบ้างไหม

พื้นฐานเศรษฐกิจของไทยไม่ใช่ประเทศที่ร่ำรวย แต่ทีมฟุตบอลบ้านเราจ่ายเงินในในระดับที่ใกล้เคียงกับประเทศที่เศรษฐกิจดีกว่าเรา พื้นฐานต่างกัน ปัจจัยต่างกัน ต่อไปน่ากลัวว่ามันจะส่งผลกลายเป็นโดมิโน่ จนมีการก่อหนี้สินแบบ “ดินพอกหางหมู” ขึ้นมา

ทีมที่มีรายรับน้อยแต่ดันจ่ายเยอะ ก็เปรียบได้กับคนทำงานรับเงินเดือนไม่กี่หมื่น แต่อยากขับรถหรูราคาหลายล้าน โดยอาศัยเงินเดือนของตัวเองเท่านั้น คือจะไปกู้เงินมาซื้อก็พอทำได้ แต่เวลาผ่อนจ่ายจะไม่ไหวเอา เพราะรายรับทางอื่นก็ไม่มี สักวันก็คงไปไม่รอด

ทางรอดก็คือต้องหารายได้ทางอื่นมาเพิ่ม หรือยอมขับรถที่ถูกลง หรือจะเอารถเท่าที่มีอยู่แล้วมาแต่งเพิ่ม ก็ขึ้นอยู่กับวิธีการของแต่ละคน

ทีมที่ผมสนใจมากเป็นพิเศษในแนวคิดบริหารจัดการใมีห้เข้ากับยุคสมัย AEC ก็คือ โปลิศ เทโร เอฟซี ที่วางแผนการตลาดจากการคว้าตัว อ่อง ธู ซูเปอร์สตาร์แนวรุกทีมชาติเมียนมาเข้ามาร่วมทีม ฝ่ายการตลาด "มังกรโล่เงิน" มองเห็นเหมืองทองคำจากดีลนี้ ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวกับดาวเตะพม่า สามารถหยิบจับเป็นเงินเป็นทองได้หมด แม้ฤดูกาลยังไม่เปิด แต่สโมสรนี้เริ่มนับหนึ่งในการโกยรายได้จากแฟนคลับเรียบร้อยแล้วและจะยิ่งเพิ่มมูลค่ามากขึ้นเรื่อยๆ หากผลงานในสนามของ อ่อง ธู ไปได้สวย 

เรื่องการบริหารจัดการด้านการเงิน สุดท้ายแล้วคงต้องดูระบบของสโมสรต่างๆ กันต่อไป ว่าจะมีแนวโน้มในการรัดเข็มขัดอย่างไร ให้ไม่แน่นหรือหลวมจนเกินไป หวังว่าทีมฟุตบอลอาชีพของบ้านเราจะสามารถบริหารจัดการได้สมฐานะ และสมกับเงินทุกบาททุกสตางค์ที่ต้องจ่าย อย่าคิดแต่จะจ่ายแต่ไม่หารายรับที่มั่นคงถาวร ไม่คิดสร้างรากฐานให้แน่น

ถ้ายังไม่หยุดมือเติบอย่างที่ผ่านมา ต่อไปเราคงจะได้เห็นอีกหลายสโมสรที่ถูกฟ้อง ถูกยุบ หรือล้มละลาย ค่อยๆ ทยอยล้มหายตายจากไปจากวงการลูกหนังไทยทีละทีมอย่างแน่นอน


ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ระดับ : {{val.member.level}}
{{val.member.post|number}}
ระดับ : {{v.member.level}}
{{v.member.post|number}}
ระดับ :
ดูความเห็นย่อย ({{val.reply}})

ข่าวใหม่วันนี้

ดูทั้งหมด