:::     :::

กลยุทธ์เปิดร่างทองของคู่หู เฟร็ด-คาเซมิโร่

วันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม 2565 คอลัมน์ #BELIEVE โดย ศาลาผี
3,787
ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
คู่มือการใช้งาน "เฟร็ด-คาเซมิโร่" อิมพอร์ตจากทีมชาติบราซิล ส่งพัสดุมาแลนดิ้งที่โอลด์แทรฟฟอร์ดเรียบร้อยแล้ว เตรียมตัวเจอกับ "เฟร็ดร่างทอง" ของแท้ จากคุณภาพการเล่นระดับเวิร์ลคลาสของ "The Tank" รถถังคามิคาเซ่ คาเซมิโร่!!!"

เชื่อว่าตอนนี้แฟนแมนยูไนเต็ดคงจะดีใจกันกับของขวัญ "เซอไพรส์" ที่อย่างน้อยเราก็มีเรื่องอะไรให้ชื่นใจบ้าง จากการเสริมนักเตะ "ถูกจุด" ได้ตรงกับแอเรียที่เรากำลังอ่อนแออยู่ในแผงมิดฟิลด์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มิดฟิลด์ตัวต่ำที่ทำหน้าที่เป็นเหมือนหัวใจหลักของการเล่น ทั้งการเซ็ตบอล แกะเพรส ตั้งเกมจากแดนหลัง ตามปรัชญาของเอริค เทน ฮาก รวมถึงมิดฟิลด์ผู้เป็นเหมือนโล่ของทีม คอยปัดกวาดเคลียร์งานให้คู่เซ็นเตอร์แบ็ค ไม่ต้องเจอกับอันตรายบ่อยๆ

มิดฟิลด์ตัวต่ำ ถือเป็นตำแหน่งปิดทองหลังพระที่สำคัญมากๆของทีมๆหนึ่ง และการที่แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด คว้าตัวมิดฟิลด์ตัวรับระดับโลก ที่คว้าแชมป์มาแล้วนับไม่ถ้วนอย่าง "Casemiro" มาเข้าทีมได้ อย่างน้อยๆแม้ว่าเอริคจะยังไม่ได้ตัวเป้าหมายเบอร์หนึ่งของเขาอย่าง แฟรงกี้ เดอ ยอง มาก็ตาม แต่ตอนนี้ระบบการเล่นของทีมก็ดูจะสบายใจได้ เมื่อมีมิดฟิลด์ฝีเท้าระดับท็อปคลาส เข้ามาเสริมในรอยรั่วให้แล้ว

การเล่นร่วมกันเคียงคู่กับราฟาเอล วาราน และ คริสเตียโน่ โรนัลโด้ พวกเขากวาดแชมป์ให้กับเรอัล มาดริดมาแล้วมากมาย โดยเฉพาะการคว้าถ้วย UEFA Champions League ถึง4ครั้งภายใน5ปี

เท่านั้นยังไม่พอ การมีโทนี่ โครส และ ลูก้า โมดริช สองมิดฟิลด์ระดับโลกเช่นกันเล่นอยู่เคียงข้างคาเซมิโร่ และเติมเต็มความสามารถซึ่งกันและกันจนสร้างตำแหน่งทริโอในแดนกลางที่โลกฟุตบอลต้องจดจำว่าเป็นเซ็ตที่แข็งแกร่งที่สุดอีกชุดนึง ประหนึ่งสามเหลี่ยมเบอร์มิวดาที่ทรงพลังและลึกลับในอดีต

ด้วยคำอวยพรดีๆจากเพื่อนรักที่เล่นร่วมกันมาอย่างยาวนาน ทั้งโครสและโมดริช ก็เชื่อว่าคาเซมิโร่เพื่อนของเขา จะได้โชว์ฝีเท้าให้แฟนๆปีศาจแดงเห็นแน่นอน

ตลาดนักเตะปีนี้ถือว่า ผู้เล่นที่ซื้อมามีแต่เข้าเป้าทั้งนั้นในยุคของเอริค เทน ฮาก

ณ ตอนนี้ ได้มา 4 ตัวแล้วก็ถือว่าซื้อได้ถูกจุด และแม่นยำมากๆ ทั้งไทเรลล์ มาลาเซีย ที่เล่นเกินค่าตัวอันแสนถูกที่ไปไฮแจ็คมาจากลียง ที่ตอนนี้น่าจะกัดฟันกรอดๆเมื่อได้เห็นมาลาเซียเล่นกับแมนยูไนเต็ด กับการวิ่งเติมขึ้นเติมลง ไล่สกัดบอลคู่ต่อสู้แบบกัดไม่ปล่อย

ลิซานโดร มาร์ติเนซ "The Butcher" พ่อค้าเนื้อผู้สับเป็ดออกเป็นชิ้นพอดีคำ หยำๆง่ำๆอาหย่อยเมื่อสองสามวันที่ผ่านมา คือกองหลังที่แสดงให้เห็นแล้วว่า ในโลกฟุตบอล ส่วนสูงไม่matterเท่ากับฝีเท้า และจิตใจนักสู้ ไม่งั้นนักเตะบางคนบนโลกนี้คงจะไม่สามารถเป็นตำนานได้เลยถ้าคุยกันแต่เรื่องความสูง หรือคิดแต่ว่าลีกอังกฤษจะต้องโยนบอลกันอย่างเดียว ซึ่งมันไม่ใช่

ไม่งั้นฟาบิโอ คันนาวาโร่ รวมถึง ดิเอโก้ มาราโดน่า และ ลีโอเนล เมสซี่ คนตัวเล็กเหล่านี้คงไม่ได้ขึ้นแท่นสุดยอดนักเตะที่เก่งที่สุดตลอดกาลของโลกเราไม่ได้แน่ ถ้าเอาส่วนสูงมาตัดสินกันโดยไม่ดูฝีเท้า

คริสเตียน อีริคเซ่น นักเตะที่ไม่รู้ว่าเราไปกล่อมอีท่าไหน เขาถึงได้มอบหัวใจ และยอมย้ายจากเมืองหลวงอันสุขสบาย มาอยู่กันแบบเปียกๆแฉะๆแจ๊ะๆที่แมนเชสเตอร์แบบนี้ แต่กลายเป็นนักเตะบทบาทสำคัญที่ปีศาจแดงจะต้องใช้เขาลงไปคุมเกมแดนกลางให้กับทีมเราในทุกนัดถ้าเป็นไปได้ ด้วยคลาสบอลและประสบการณ์ที่มากมาย ดีพอจะสร้างความเหนือกว่าคู่แข่งได้ โดยไม่ต้องใช้พละกำลังอะไรให้มาก

ทั้งสามคนนี้เห็นชัดแล้วว่า เป็นการเสริมทีมที่ดีพอจะเข้ามาเป็นตัวหลักให้ทีมไปยาวๆ และคนที่สี่อย่าง คาเซมิโร่ ก็น่าจะเดินรอยตามพวกเขา และไปสมทบกับอดีตเพื่อนร่วมทีมราชันชุดขาวอย่าง ราฟาเอล วาราน ที่ต้อนรับเป็นอย่างดี รวมถึง คริสเตียโน่ โรนัลโด้ด้วย หากว่าเขาไม่ย้ายทีมไปไหน โด้ก็จะมีนักเตะ "คลาสเดียวกัน" เล่นร่วมกันในทีมเพิ่มขึ้นนอกเหนือจากพวกวาราน อีริคเซ่น ซึ่งไม่ต้องพิสูจน์อะไรอีกแล้ว

แต่.. ในบรรดานักเตะทีมเรา มีอยู่หนึ่งคนที่ต้องจับตามองว่า จะได้รับประโยชน์โดยตรงจากการมาของคาเซมิโร่อย่างแน่นอน แถมดีไม่ดีจะกลับมา "เปิดร่างทอง" (ฮา) เหมือนอย่างที่หลายๆคนจินตนาการเอาไว้ และดูเหมือนว่ามันมีโอกาสจะเป็นจริงสูงซะด้วย

เขาไม่ใช่ใคร กระทาชายคนดีคนเดิม "เฟร็ด" หรือชื่อเต็มๆของแกคือ Frederico Rodrigues de Paula Santos นั่นเอง

แน่นอนว่าตัว คาเซมิโร่ ไม่มีอะไรต้องสงสัยมากอยู่แล้ว สำหรับการเป็นมิดฟิลด์ตัวรับที่เก่งที่สุด และสมบูรณ์แบบที่สุดอีกคนหนึ่งบนโลกนี้ ด้วยความสามารถในการเล่นเกมรับที่สามารถหยุดเกมการรุกของคู่แข่งได้ "ชะงัด" ที่สุด เหมือนบุกมาเตะบอลอัดกำแพงกี่ครั้งๆ ก็กระเด้งกลับมานั่นแหละครับ

ความสามารถในการเล่นเกมรับของคาเซมิโร่ ไร้ที่ติ และไม่ต้องอธิบายอะไรกันให้มาก ทั้งความขยันมุ่งมั่นที่เล่นแบบ "โคตรทุ่มเท" เต็มที่ในสนาม

ด้วยความเป็นนักเตะอเมริกาใต้ที่เล่นบอลแบบถึงลูกถึงคน แถมใจกล้า ไม่กลัวบาดเจ็บในการเล่นเกมปะทะกัน ทำให้เกมรับของคาเซมิโร่ เนียนกริ๊บและแข็งแกร่งมากๆ เหมือนมี "เซ็นเตอร์แบ็คตัวสุดท้าย" ที่ถวายชีวิตเล่นเกมรับอยู่พื้นที่ตรงนั้น ประหนึ่งว่าข้างหลังของเขาเหลือแค่ผู้รักษาประตู

แต่เอาจริงๆคือ คาเซมิโร่ ช่วยเก็บงานให้เรอัล มาดริด ซะจนสามารถที่จะเล่นเกมรุกได้ตลอดเวลา เพราะมีเขาเป็นตัวช่วยเปลี่ยนกระแสการเล่นในสนาม จากรับให้กลายเป็นรุกได้ เพราะการปัดกวาดของเขาที่แข็งแกร่งนี่เอง ซึ่งไม่ใช่แค่ว่าเข้าบอลหนักธรรมดา แต่คาเซมิโร่เป็นนักเตะที่เหมือนจะมีสกิลต้านใบเหลืองใบแดง ทั้งๆที่เข้าแรงแบบไม่กลัวแดงสามเท่า

สาเหตุไม่ใช่เพราะใช้ดวงของลัคกี้แมนแต่อย่างใด แต่เป็นเพราะสกิลทักษะและความชาญฉลาดในการเล่นเกมรับของคาเซมิโร่มันสูงมากนั่นเอง

เขาไม่ใช่นักเตะที่จะมาใช้พลังร่างกายเล่นเกมรับอย่างเดียว แต่คาเซมิโร่คือ "บอลรับที่ใช้สมอง" แถมยังเต็มไปด้วยเล่ห์เหลี่ยมในการเล่นที่ฉลาด บวกกับความสามารถในการเล่นมิดฟิลด์ที่ครบเครื่อง ทำหน้าที่ในการเป็นมิดฟิลด์กลางสนามได้ครบทุกประเภท แม้กระทั่งการเติมเกมรุกแกก็ยังทำได้เช่นกัน

เพราะฉะนั้น คาเซมิโร่ ไม่ได้เป็นเพียงแค่ "ตัวทำลายเกมคู่แข่ง" เหมือนที่ใครเข้าใจว่าเขาคือตัว Ball-winning แต่คาเซมิโร่ คือนักเตะกลางตัวรับที่เล่นในroleใหญ่ของ Defensive Midfielder ที่แข็งแกร่งสุดๆในด้านเกมรับ เฉพาะtaskการทำลายเกมคู่แข่งก็สามารถทำได้ เท่านั้นยังไม่พอ แกยังเป็น DM ที่สามารถเล่น support ทีมได้อีกอย่างที่บอก

หรือจะให้เล่นตัดเกมรับ ซัพพอร์ตให้เพื่อนเก็บบอลไปในฐานะ Ball-winning ก็ได้ จะถอยต่ำลงไปเป็น Half-Back ก็สบายๆ อย่างที่อธิบายข้างบนว่า คาเซมิโร่เล่นเกมรับเหมือนเขาเป็น "กองหลังตัวสุดท้าย" ที่เคลียร์งานได้หมดจดสุดๆ

ดังนั้น ถ้าอยากจะใช้แค่ให้ปักหลักเป็น Anchor man หน้าแผงหลังเฉยๆก็ยังได้เลย แต่นั่นจะเสียของคาเซมิโร่ซะเปล่าๆ เขาดีพอที่จะทำทุกอย่างให้กับทีมได้ ทั้งเกมรับ การตั้งเกม-เซ็ตเกม การแกะเพรส รวมถึงการเติมขึ้นไปซัพพอร์ตเกมรุกให้ทีม ก็ทำได้สบายๆ

มิดฟิลด์ตัวรับที่สมบูรณ์แบบ เป็นอะไรที่ไม่มากเกินไปเลยสำหรับ คาเซมิโร่ ที่แตกต่างจาก มิดฟิลด์ตัวรับสมัยอดีตในฟุตบอลยุคก่อน2000s ที่จะตัดเกม ทำลายเกมแบบหนักหน่วงอย่างเดียว

ถ้าพูดแค่เรื่องวิธีการเล่นเกมรับ คาเซมิโร่เป็นนักเตะที่บล็อคได้แข็งแกร่ง สไลด์ได้แม่นยำ และกะจังหวะไทม์มิ่งการพุ่งเข้าใส่คู่แข่งได้พอดีเป๊ะมากๆ

Clean Tackle คือไม้ตายของคาเซมิโร่ ที่เป็นสาเหตุว่าทำไมเขาถึงไม่ค่อยพลาดโดนใบแดงให้ทีมเสียหาย

สกิลทักษะการเล่นในแดนกลาง โดยเฉพาะการเป็นมิดฟิลด์ที่มีภาระหน้าที่ช่วยเกมรับให้กับทีม และยืนต่ำอยู่หน้าแผงหลัง ทุกๆสถิติของคาเซมิโร่ เหนือกว่ากองกลางสองคนซึ่งเป็นตัวที่เน้นรับเหมือนกัน อย่างทั้ง เฟร็ด และ แม็คโทมิเนย์ แบบที่ชนะกันทุกด้าน (ซึ่งมันแหงอยู่แล้ว) สถิติต่างๆเหล่านี้ไม่จำเป็นเลย ดูด้วยตาก็รู้ได้ว่าการเล่นของคาเซมิโร่มันดีกว่าตัวที่เรามีอยู่

สถิติตัวเลขพวกนี้ เป็นแค่ส่วนหนึ่งเล็กๆเท่านั้น เพราะในสนามบอลจริงๆ มันมีอะไรที่ต้องทำมากกว่าสถิติพวกนี้เยอะ เช่นความชาญฉลาดในการยืนตำแหน่ง การหาพื้นที่ ทีมเวิร์ค สปิริต และ Winning Mentality ที่แสดงออกมาในสนาม

แต่สิ่งที่เราต้องทำ เพียงแค่รับรู้เอาไว้เฉยๆเท่านั้นถึงความสามารถในระดับสูงมากของคาเซมิโร่ ไม่ใช่ว่าเราจำเป็นจะต้องมาเปรียบเทียบ เพื่อ "กด" หรือ "ด่า" แม็คโทมิเนย์ หรือเฟร็ด

กลับกัน คาเซมิโร่นี่แหละที่จะต้องให้ทั้งเฟร็ด และแม็ค เป็นตัวเล่นที่ช่วยเหลือเขาในสนาม และเขาเองก็จะช่วยให้ทั้งสองคนนี้เล่นได้ดีขึ้นเช่นกัน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "เฟร็ด" ของเรา คือจุดสนใจอย่างมากมายว่า ร่างทองของเฟร็ดน่าจะมาแน่ๆ ถ้าได้เล่นคู่กับคาเซมิโร่ ด้วยเหตุผลในเชิงแทคติก ที่หลายๆคนเข้าใจอยู่แล้วว่า "เฟร็ด" ไม่ควรจับมาใช้ยืนกลางต่ำ แม้ว่าเขาจะพร้อมลงเล่นและทำเพื่อทีมเสมอ แต่การใช้งานนักเตะผิดตำแหน่ง ก็สร้างผลเสียให้กับทีมมหาศาลเช่นกัน

จะโทษเฟร็ดที่เล่นพลาดฝ่ายเดียวก็ไม่ได้ ต้องโทษคนจัดเลือกตัวนักเตะลงไปเล่น รวมถึงบอร์ดบริหารสโมสรที่ปล่อยให้เราขาดมิดฟิลด์ตัวต่ำที่จะมายืนเป็นหลักให้ทีมได้ในระยะยาวอยู่แบบนี้มานานแล้ว

เฟร็ดถือเป็นนักเตะที่ฟอร์มขึ้นๆลงๆ ตามสภาพแทคติก ตามหน้าที่ที่เขาได้รับให้ลงไปเล่นในสนาม ซึ่งอย่างที่รู้กัน วันไหนที่เฟร็ดต้องลงไปยืนกลางต่ำให้ทีม เรามักจะมีปัญหาทุกครั้งเวลาที่เจอคู่แข่งเล่นบีบประชิดติดตัว

ไม่ว่าจะเป็นการเพรสซิ่งกลางสนาม หรือจะเป็น High Pressing ที่บีบพื้นที่ขึ้นมาไล่ทีมเราต่ำจนถึงหน้าปากประตู ไม่ให้เซ็นเตอร์แบ็ค หรือกลางต่ำเล่นได้ง่ายๆ ซึ่งนั่นไม่ใช่ความสามารถที่ถนัดของเฟร็ดเลยในการเก็บบอลเอาตัวรอดมาจากพื้นที่อันตรายหน้ากรอบเขตโทษ

ดูดวิชาจากคาร์ริคมาไม่มากพอ

แต่เมื่อใดก็ตามที่เฟร็ดได้ยืนสูงขึ้นมาในพื้นที่ของ CM แดนกลางสนาม ได้เล่นเติมสูงในลักษณะของมิดฟิลด์เบอร์ 8 ฟอร์มการเล่นของเขาจะดูอันตราย ช่วยทีมได้เยอะ แถมมีเกมรุกที่สามารถสร้าง Goal Contribution ให้กับทีมได้บ่อยๆทั้งการยิงประตูเอง รวมถึงการจ่ายบอลแอสซิสต์

ตัวอย่างที่หลายๆคนน่าจะจำไม่ลืม คือเกมแดงเดือดที่ราชมังคลากีฬาสถาน ที่ชิพข้ามหัวอลิซง เบ็คเกอร์ เข้าไปยังกะคันโตน่านั่นแหละ!

ฟอร์มเขาเป็นแบบนี้เสมอที่แมนยูไนเต็ด เอาแน่เอานอนไม่ได้ ดีก็ดีใจหาย แย่ก็แย่แบบ พ่องXXX (พ่อร็อคแมนX) เลยทีเดียว

แต่กลับกัน ฟอร์มของเฟร็ดที่ทีมชาติบราซิลนั้น เขาเล่นได้อย่างโดดเด่น และโชว์ฟอร์มได้ดีสม่ำเสมอมากๆ โดยที่ปัจจัยสำคัญก็คือ การที่เฟร็ดได้เล่นร่วมกันกับคาเซมิโร่ ที่ยืนปักหลักอยู่ข้างหลังเขาในทัพเซเลเซานั่นเอง

เพราะฉะนั้นเรามาดูกันว่า การเล่นคู่กันของเฟร็ดกับคาเซมิโร่ ที่จะสร้างคู่หูคู่ใหม่ขึ้นมาแทน "แม็คเฟร็ด" ให้กลายเป็นคู่หู "เฟร็ดเซ่" (เฟร็ด-คาเซมิโร่) ของแมนยูไนเต็ดนั้น มันมีอะไรที่น่าสนใจบ้างกับทีมชาติบราซิล

และแมนยูไนเต็ดควรจะใช้งานสองคนนี้ยังไง ตามคู่มือใช้งานในทีมชาติบราซิลของสองคนนี้

แบ็คกราวน์แรกสุดของการวิเคราะห์ข้างต้นก็คือ น่าดีใจมากที่ทีมชาติบราซิลเอง ก็เล่นในระบบ Formation ที่คล้ายๆกับเอริค เทน ฮาก ใช้เป็นประจำ นั่นก็คือ 4-2-3-1 รวมถึง 4-3-3 ซึ่งในการเล่น 4-3-3 จะมีอีกหนึ่งตัวซึ่งเป็นมิดฟิลด์คนที่สาม ทำหน้าที่ดันเกมขึ้นสูงเวลาครองบอลบุก นั่นก็คือ "ลูคัส ปาเกต้า" (Lucas Paquetá) มิดฟิลด์ตัวรุกของโอลิมปิค ลียง ชายผู้เคยบาดเจ็บเพราะว่าวมาแล้ว (เล่นแล้วเชือกว่าวบาดนิ้วจริงๆ)

ตัวนี้จะเติมขึ้นสูงเสมอในระบบ 4-3-3 โดยที่อีกสองตัวด้านหลัง ก็คือ เฟร็ด กับ คาเซมิโร่ นั่นเอง ที่ยืนเล่นร่วมกันในลักษณะของการเป็นกลางคู่แบบ "double pivot"

ต้องบอกว่า ทั้งสองระบบนี้เป็นแผนที่เหมาะสำหรับทีมที่เล่นบอลระบบ บอลทีมเวิร์ค ทักษะสูง และการเคลื่อนที่ดีๆ เนื่องจากมันเป็นแผนที่กระจายนักเตะไปยังพื้นที่ทั่วทุกแดนในสนาม โดยเฉพาะการมีนักเตะอยู่ครบถ้วนในแอเรียการเล่นที่ถูกแบ่งออกเป็น "สามประเภท ห้าแถว" ในมุมมองแนวตั้ง นั่นก็คือ

"Flanks" ริมเส้นสองข้าง

"Centre" พื้นที่ตรงกลาง

"Half-space" พื้นที่ที่อยู่กึ่งกลางระหว่าง แนวกลางสนาม กับ พื้นที่ริมเส้น จะบอกว่าพื้นที่ฮาล์ฟสเปซเป็นแดนที่ส่วนใหญ่ตัวเล่นที่เป็นตัวริมเส้นตัดเข้าใน จะได้ใช้งานอยู่บ่อยๆ ก็ได้

รวมแล้วสามประเภท ห้าแนว ดูภาพข้างล่างนี้ก็จะเข้าใจได้ แถมตัวอย่างในรูปก็ดันเป็นซิตี้ ซึ่งระบบการเล่นและปรัชญาก็มีความคล้ายคลึงกันกับบอลดัตช์ของ ETH อีก จึงอธิบายเรื่องนี้ได้ง่ายๆเลย แถมโชคดีที่บราซิลก็เล่นFormationนี้เหมือนกัน

ในภาพนี้จะเห็นชัดเจนเลยว่า ตำแหน่งเบอร์ 6 แบบปักหลักของบอลระบบ 4-3-3 จะต้องเป็นกลางรับเดี่ยวที่ยืนปัดกวาดเกมรับ ตั้งบอลเซ็ตบอล และคุมพื้นที่ได้เก่งมากๆ เพราะส่วนใหญ่ต้องเอาตัวรอดให้ได้ด้วยตัวคนเดียว

เป็นระบบที่เน้นความ "แน่น" ของแดนกลาง ที่มีมิดฟิลด์ร่วมกันสามตัว อย่างที่เรอัล มาดริดเล่น โดยใช้โครส โมดริช คาเซ เป็นโครงกระดูกหลักของทีม

เมื่อกลางแน่นแล้ว สิ่งที่ตามมาคือ มันมักจะเป็นปรัชญาการเล่นที่เน้นเรื่องของการ "ครองบอล" ให้เหนือกว่าคู่ต่อสู้อย่างชัดเจน ซึ่งทั้งซิตี้เองก็ใช่ รวมถึง "ทีมชาติบราซิล" ของเฟร็ด และ คาเซมิโร่ ก็เป็นทีมที่เน้นเรื่องของการครองบอลเป็นหลักเหมือนกัน

เวลาที่พวกเขาไม่มีบอลอยู่กับทีม (phase2) บราซิลจะทำงานและเล่นเกมรับอย่างดุดัน เข้มข้น เพื่อจะชิงบอลกลับคืนมาให้ได้ ซึ่งในวิธีการนี้ ตำแหน่ง "มิดฟิลด์" สำคัญมากๆสำหรับการเล่นที่เข้มข้นดังกล่าว

แฟนแมนยูอาจจะคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว กับธรรมชาติการเล่นที่ใจสู้สุดชีวิตของเฟร็ดที่วิ่งตลอดทั้งเกมไม่มีหมด แม้ร่างกายจะเสียเปรียบ แต่แกทำงานหนักจริงๆ รวมถึงเรื่องการเพรสซิ่งสูงเข้าไปใส่คู่แข่งของเฟร็ดเช่นกันเพื่อที่จะไล่ตามบอลไปให้สุดทางเท่าที่เขาจะทำได้

ดังนั้น ความสามารถของเฟร็ดคือการ "เพรสซิ่งสูง" ยามที่ทีมไม่ได้ครอบครองบอลได้นั่นเอง

สำหรับฟุตบอลทีมชาติบราซิล จิตใจนักสู้ก็แข็งแกร่งแบบนี้เช่นกัน แต่ว่ามันมีความแตกต่างที่สำคัญอย่างหนึ่ง อย่างที่เห็นด้านบนก็คือ "เฟร็ด" มักจะถูกใช้เพรสสูงมากเวลาที่ทีมพวกเขาเสียการครองบอลให้คู่แข่ง แต่ไม่ว่ายังไง ด้านหลังจะต้องเหลือมิดฟิลด์หนึ่งตัวในการปักหลัก "คัฟเวอร์" ระวังหลังให้การเล่นของเฟร็ดเสมอ

ถึงจะเป็นวิธีการใช้งานให้เฟร็ดได้เล่นเต็มประสิทธิภาพ จากการโรมมิ่งออกจากตำแหน่งไปเล่นเกม High Pressing ใส่คู่แข่งได้อย่างเข้มข้นและดุเดือด (Intensive & Aggressive) ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้แมนยูชนะลิเวอร์พูลมา 2-1 ด้วยในเกมล่าสุด

เป็นเหตุผลเบื้องต้นมาจากmentalityเรื่องของ fighting spirits ที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพการเล่น และมันจะเกิดขึ้นได้จะต้องมี "แทคติก"(tactical) รวมถึง "แผน"(gameplan) ที่ดีด้วย ไม่ใช่แค่ใจสู้อย่างเดียว


ปัญหาอย่างหนึ่งที่เฟร็ดมี ณ ยามเย็นที่เล่นกับยูไนเต็ดมาตลอดก็คือ เขาคือผู้เล่นที่จำเป็นต้องมีตัวคัฟเวอร์ด้วย แต่ว่าในยามที่นักเตะคลาสสูงอย่าง Nemanja Matić หรือ Paul Pogba เล่นในสนาม เฟร็ดต้องกลายเป็นตัวคัฟเวอร์ซะเอง และด้วยสไตล์การเล่นค่อนข้างเข้ากันได้ยาก

(มาติชเป็นตัวโฮลดิ้ง + ออกบอลด้วยตัวเอง ขณะที่เฟร็ดเป็นตัวที่ต้องเล่นร่วมกันกับเขา เซ็ตบอลเชื่อมบอลสั้นด้วยกัน และจะต้องช่วยระวังเกมรับให้เฟร็ดได้เวลาเขาวิ่งพล่าน ซึ่งมาติชไม่ใช่มิดฟิลด์ที่เด่นเกมรับมาตั้งแต่แรกแล้ว)

แต่ที่ทีมชาติบราซิล คาเซมิโร่เนี่ยแหละที่เป็นอัศวินผู้คอยพิทักษ์ และคัฟเวอร์ให้กับเฟร็ด ทำให้เขาสามารถที่จะขึ้นไปวิ่งพล่านเพื่อชิงบอล ตัดเกมคู่แข่งได้อย่างอิสระตามที่เขาต้องการ คอยขัดจังหวะและก่อกวนทีมที่พยายามจะครองบอลขึ้นมาบุกได้เสมอ แถมคุกคามและก่อกวนฝั่งตรงข้ามได้อย่างต่อเนื่องด้วย (เพราะพลังกายที่วิ่งได้ไม่มีหยุด)

คาเซมิโร่เองก็เป็นมิดฟิลด์ที่มีความขยันอย่างมาก เป็นตัวเล่นเกมรับที่เข้มข้นในฐานะหนึ่งในตัวที่แข็งที่สุดในโลก แต่เขายังมีความสามารถในการ "ยืนตำแหน่ง" ที่ชาญฉลาดมากๆ แถมมีระเบียบวินัยในการเล่นคุมรับต่ำที่เฟร็ดไม่ค่อยมี

เรามาดู Heat map (อีกแล้ว วันก่อนก็เพิ่งดูของบรูหนวดวิ่งมาราธอนในสนามไปหมาดๆ) คราวนี้มาดูของคาเซ กับ เฟร็ดกันบ้าง ฮีทแมพตรงนี้มาจากทีมชาติบราซิลในปี 2022 COMNEBOL (ยูฟ่า คัพออฟแชมเปี้ยน) เกมนั้นบราซิลชนะโบลิเวียไป 4-0 เฟร็ดลงคู่คาเซมิโร่ด้วย และนอกจากนี้ก็ยังเป็นฮีทแมพจากฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกของทีมชาติบราซิล

เป็นสถิติวิเคราะห์การเล่นที่ทำให้เห็นบทบาทในสนามของทั้งคู่ ในจังหวะที่ทีมชาติบราซิลไม่มีบอลอยู่ในการครอบครอง

ฮีทแมพเป็นดังนี้

Heap map ของ Casemiro (SofaScore)

อย่างที่เราได้เห็นแผนภูมิความร้อนตรงนี้ที่แสดงให้เห็นการเล่นการเคลื่อนที่ในสนาม จะชัดเจนว่า ความถี่มากๆ(สีเข้ม) ของเฟร็ดใน Heat map จะเห็นชัดว่าเขาดันเกมขึ้นสูงในสนามบ่อยกว่าทางด้านคาเซมิโร่มาก ซึ่งตัวคาเซมีภาระหน้าที่จะต้องเป็นโล่คอยปกป้องแผงแนวรับของทีมด้วย

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เฟร็ดก็ "ลงต่ำ" มาด้วยเช่นกัน ไม่ใช่แค่ลงมาช่วยเกมรับคาเซมิโร่อีกคน (ซึ่งไม่ต้องนึกภาพนะครับว่า ถ้า "เฟร็ดเซ่" เล่นเกมรับคู่กัน มันจะเถื่อนขนาดไหน ตัวนึงแข็งโป๊กยังกะรถถัง อีกตัวนึงวิ่งพล่านไล่ไม่ไปยังกะแมลงวันบราซิล)

เท่านั้นยังไม่พอ เฟร็ดยังลงต่ำมาช่วยคาเซในการเซ็ตบอลจากแดนหลังได้อีกด้วย แผนภาพข้างบนที่กระจายพื้นที่การเล่นไปทั่วสนามทั้งแดนบนแดนล่าง เป็นคำตอบอย่างดีว่า ในทีมชาติบราซิลสองคนนี้เล่นยังไง

ในถ้วยโคปา อเมริกา ตอนที่บราซิลทะลุเข้าไปสู่รอบชิงชนะเลิศได้นั้น สถิติการจ่ายบอลของคาเซมิโร่อยู่ที่ 48.8 ครั้งต่อเกม ส่วนเฟร็ดนั้นต้องจ่ายบอลมากถึง 54.7 ครั้งต่อเกมโดยเฉลี่ย

ส่วนในฟุตบอลโลกรอบคัดเลือก กลายเป็นว่า คาเซมิโร่จ่ายบอลเฉลี่ยมากถึง 60.8 ครั้ง ขณะที่เฟร็ด จ่ายแค่ 44.8 ครั้งต่อเกมโดยเฉลี่ยเท่านั้นเอง

สถิติตรงนี้หมายความว่า สองคนนี้เล่นซัพพอร์ตซึ่งกันและกัน ตามแต่สถานการณ์และแทคติก แบ่งความรับผิดชอบในสนามร่วมกัน ซึ่งความสัมพันธ์และการเป็นพาร์ทเนอร์ที่รู้ใจกันตรงนี้สำคัญสำหรับยูไนเต็ดมากๆ เนื่องจากเรายังคงเป็นทีมที่ขาดมิดฟิลด์จอมทัพ ตัว "conductor" ในการเซ็ตเกมที่เก่งระดับ Specialists เข้ามา

ก็รู้ๆอยู่ว่าใคร คนที่เจอ "พิษรักแรงโยก" คนนั้นนั่นไงล่ะพี่น้อง เค้าคงไม่ได้มาที่นี่แล้วแหละ ใจเค้าก็อยู่ที่นั่นด้วย

ดังนั้น การใช้งานเฟร็ดร่วมกับคาเซมิโร่ จึงจำเป็นอย่างมาก และต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อน ด้วยการยืมจุดเด่นตรงนี้ของทีมชาติบราซิลมาใช้

ทั้งสองคนนี้มีความสามารถเฉพาะตัวกันทั้งคู่อยู่แล้วในการเล่นกับบอล แฟนแมนยูก็จะได้เห็นหลายๆครั้งจากเฟร็ดในช่วงปีหลังๆ แต่ทั้งคู่ก็ยังคงไม่ใช่มือหนึ่งของการเซ็ตเกมที่ทำหน้าที่นี้ได้ด้วยตัวเองอยู่ดี

พวกเขาต้องการตัวช่วย ตัวสนับสนุนในการเล่นมิติbuild-up playให้กับทีม

ในทีมชาติบราซิล พวกเขามีเนย์มาร์ ที่แม้จะไม่ใช่มิดฟิลด์ แต่ก็สามารถที่จะวิ่งทั้งเกมได้ และช่วยเชื่อมเกมให้บราซิลได้อยู่บ่อยๆ แต่ที่ยูไนเต็ดเราไม่ได้มีนักเตะไทป์เดียวกันกับเนย์มาร์ ถ้าให้ใกล้เคียงสุดก็คือเจดอน ซานโช่ แต่การเล่นของซานโช่ก็ไม่ใช่ตัวที่จะวิ่งพล่านลงมาช่วยเชื่อมเกม หรือทำเกมขึ้นหน้าไปเองเหมือนที่เนย์มาร์มักจะแสดงความสามารถวันแมนโชว์ให้ได้เห็นในสนาม

ช่วงปรีซีซั่น เอริค เทน ฮาก ใช้เฟร็ดที่ถูก coaching ให้เล่นในฐานะตัวเชื่อมเกมในการครองบอล (connector) ที่จะต้องเป็นมิดฟิลด์ตัวดรอปลงไปยืนต่ำสุดเพื่อรับบอลจากเซ็นเตอร์ แล้วหาทางพาขึ้นหน้า

ที่เรอัล มาดริด คนที่ทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมแบบconnector จะมี Toni Kroos เล่นในบทบาทนี้อยู่แล้ว ด้วยการที่ Casemiro จะ positioning ตัวเองให้ยืนสูงกว่าโครสนิดหน่อย

น่าเสียดายที่แมนยูไม่ได้มีโครสทำแบบนั้นให้คาเซได้ และไอ้เจ้าเฟร็ดก็ไม่ได้เก่งแบบโครสซะด้วย-*- ดังนั้นการเล่นร่วมกันของเฟร็ด และ คาเซมิโร่ ที่ซัพพอร์ตซึ่งกันและกัน จะเป็นการ "แก้ปัญหา" ให้ทีมได้ ในยามที่เรายังไม่ได้ตัวแฟรงกี้ เดอ ยอง หรือมิดฟิลด์ตัวที่มีโปรไฟล์การเล่นในสไตล์ตัวเชื่อมเกมแบบนั้นเข้ามา

ไม่ว่ายังไงก็ตาม คาเซมิโร่คือการเซ็นสัญญาที่สุดยอดแน่นอน และไอเดียการใช้คาเซ จับคู่เล่นร่วมกับเฟร็ดนั้น เป็นอะไรที่น่าดูชมโคตรๆแน่นอนสำหรับแฟนผี

ความทุ่มเทในการเล่นอาจจะเป็นปัญหาของสโมสรเราบ้างในบางครั้ง แต่ที่แน่ๆ เมื่อจับคู่มิดฟิลด์สองตัวนี้ลงในสนาม รับรองว่าเรื่อง Work rate จะไม่ใช่ปัญหาของทีมอีกต่อไป ให้ไปแก้ไขเรื่องอื่นๆได้เลย เพราะทั้งเฟร็ด ทั้งคาเซมิโร่ มันวิ่งและเข้าบอลกันเอาเป็นเอาตายแน่นอน

รอย คีน ทำพิธีคายตะขาบ "โคตรมิดฟิลด์ตัวรับพันธุ์ระห่ำแห่งโอลด์แทรฟฟอร์ด" ให้ คาเซมิโร่ เรียบร้อยแล้วในDay One

คาเซมิโร่จะเข้ามาเป็นผู้นำที่แสดงให้เพื่อนร่วมทีมได้เห็นว่า จะต้องทุ่มเทและอุทิศตัวเองเพื่อทีมให้ได้เท่ากับที่คาเซมิโร่จะแสดงให้เห็นในสนาม เฟร็ดเองก็เช่นกันที่แสดงความเป็นผู้นำของทีมในเรื่องความทุ่มเทให้ได้เห็นกันแล้วโดยเฉพาะในปีก่อน

และทั้งหมดนี้คือการใช้งาน และแทคติกการจับคู่กันเบื้องต้นระหว่าง เฟร็ด กับ คาเซมิโร่ ที่อาจจะวาง Formation และแผนการเล่นให้กับทีมได้อีกมากมาย ตามตัวอย่างข้างล่างนี้ ทั้งแผน 4-3-3 กลางรับปักเดี่ยว และเล่นคู่ 8s ทำเกมบุก หรือเล่น 4-2-3-1 แผนไฮบริด ที่เวลาบุก มิดฟิลด์คู่ double pivot ก็จะเติมขึ้นสูงเสมอ

ลองจินตนาการเล่นๆ แผนที่จัดได้ยามที่คาเซมิโร่เข้าทีมมา 11 ตัวจริงอาจจะเป็นเช่นนี้

4-2-3-1 ข้างบนนี้ ดูน่าจะเป็นแผนที่ใกล้เคียงความจริงจะเป็น "ชุดหลัก" ของแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด ในช่วงฤดูกาล 2022/23 มากๆแล้ว หากว่าได้แอนโทนี่ ซึ่งใกล้มากๆที่จะตกลงกันได้แล้ว ทรงการยืนและ 11 ตัวจริ ดูจะเหมาะสมกับการเล่นแบบนี้มากที่สุด

แต่อย่าลืมว่า คาเซมิโร่เล่นกลางรับเดี่ยวมาอย่างยาวนานที่เรอัล มาดริด ดังนั้นแผน 4-3-3 ที่แฟนผีรอคอย ก็อาจจะสามารถจัดได้เลย โดยโหลดกลางรุกขึ้นไปเล่นขู่ double eight (8s) ด้วยกันได้ในลักษณะนี้

4-3-3 ถ้าจัดตามแผนข้างบนนี้คือบุกยับจริงๆ ด้วย Striker สองตัว (โด้-แรช) ตัวปั้นเกมหลักถึงสามคน : บรูโน่ อีริคเซ่น ซานโช่(หรือแอนโทนี่) กลางรับสกรีนงานหนึ่งคน และตัวสต็อปเปอร์ขาโหดอีกหนึ่งคนตรงกลาง

ลิซ่า-คาเซ จ้องจะเล่นคุณอยู่

ยังไม่รวมยุงลายกัดไม่ปล่อยอย่างมาลาเซีย ที่พร้อมจะมอบมาลาเรียแห่งความตายให้คุณเข้าไปอยู่ในกระเป๋า เหมือนที่บังโม มุฮัมหมัด เศาะลาห์โดนมาแล้ว

แผนนี้บุกแหลกจริงๆ แถมรับแน่น น่าลองมากๆ

ความเดือดส์ในแดนกลางกำลังจะมา จากคืนที่มืดมิด สู่วันที่ฟ้าใส และความ Glow in the dark กำลังจะมาจากคัมภีร์ Darkgold (คู่แข่งคัมภีร์ Darkhold) ที่สร้างคู่อัศวินอันแข็งแกร่งขึ้นมาปกป้องปราสาทที่ชื่อว่าโอลด์แทรฟฟอร์ด

เฟร็ดร่างทอง กำลังจะถือกำเนิด เพราะการมาของ "คาเซมิโร่" ในอีก 3..2..1 ..

-ศาลาผี-


References

https://www.espn.com/soccer/report?gameId=561010

https://www.sportbible.com/utddistrict/manchester-united-erik-ten-hag-casemiro-brazil-analysis-20220823

ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ระดับ : {{val.member.level}}
{{val.member.post|number}}
ระดับ : {{v.member.level}}
{{v.member.post|number}}
ระดับ :
ดูความเห็นย่อย ({{val.reply}})

ข่าวใหม่วันนี้

ดูทั้งหมด