:::     :::

[Tactical Analysis] "INTENSE-TINA" ดุดันไม่เกรงใจคราย!!!

วันพฤหัสบดีที่ 15 ธันวาคม 2565 คอลัมน์ #BELIEVE โดย ศาลาผี
1,559
ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
แกะความแข็งแกร่งของทีมชาติอาร์เจนติน่าในเชิงการวิเคราะห์แทคติก ที่พวกเขาแกร่งทั้งเกมรุก เกมรับ บนปรัชญา Positional Play ที่มีทั้งความยืดหยุ่น และความเข้มข้นดุดันแบบไม่เกรงใจใคร!!!!

จากการนั่งชมเกมการเล่นของทีมฟ้าขาวอาร์เจนติน่า มีสิ่งที่เราสามารถจะสังเกตได้หลายๆอย่างว่า ทีมนี้ซึ่งนำโดยลีโอเนล เมสซี่นั้น ไม่ใช่เพียงแค่ว่าจะใช้การเล่นของเมสเป็นผู้นำทัพ และแบกการเล่นอย่างเดียว แต่คุณสมบัติอื่นๆของทีมชาติอาร์เจนติน่าก็มีดีพอที่จะส่งให้พวกเขาเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศได้

ทีมฟุตบอลที่ดีหนึ่งทีม ควรจะต้องมีทั้งเกมรุก และ เกมรับ สมดุลกันทั้งสององค์ประกอบ รวมถึงปัจจัยอื่นๆที่สำคัญกับฟุตบอลสมัยใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องความยืดหยุ่นและความเข้มข้น (Flexibility & Intensity)ในการเล่น

อาร์เจนติน่ามีสิ่งเหล่านี้หมด

จุดสมดุลของทุกองค์ประกอบที่มารวมกัน ส่งผลให้ทีมหนึ่งทีมเล่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ เรามาดูกันว่า ในแต่ละด้านของอาร์เจนติน่า เราสามารถสังเกตได้จากเรื่องไหนบ้าง จากตัวอย่างเหล่านี้

1. เกมรุกและความยืดหยุ่น

อาร์เจนติน่าเป็นหนึ่งทีมในฟุตบอลโลกครั้งนี้ที่มีเกมรุกดุดัน ชัดเจน และโจมตีคู่แข่งได้แบบถึงน้ำถึงเนื้อ พูดภาษาชาวบ้านๆคือ เล่นแล้ว "ยิงได้" นั่นแหละ

นักเตะที่เป็นผู้นำของเกมรุก หนีไม่พ้นลีโอเนล เมสซี่ จอมทัพในวัย 35 ปีที่ทำทุกอย่างเพื่อทีมได้อย่างดีเยี่ยม การเล่นของเขาคนเดียวสามารถที่จะ "แบกทีม" ในมีเกมรุกซึ่งทำประตูคู่แข่งได้

ทั้งเป็นตัวยิงประตู และเป็นคนยิงในช็อตสำคัญๆได้ ซึ่งปกติก็จะเป็นจุดโทษที่เมสจะได้ยิงเยอะหน่อย รวมถึงโอเพ่นเพลย์บางครั้งเขาก็อาจจะต้องทำเองบ้าง

ต้องเข้าใจก่อนว่า เมสซี่ไม่ได้เล่นเป็น "Withdrawn Striker" หรือ "กองหน้าตัวทำเกม" เหมือนสมัยก่อนแล้ว ที่จะถอยต่ำลงมาทำเกมทั้งซ้าย ขวา กลาง และขึ้นไปจบสกอร์ด้วยตัวเอง เขาไม่ใช่ Striker อีกต่อไปในวัยที่มากขึ้น แต่เมสซี่ปรับบทบาทลงมาปั้นเกมรุกจากแนวลึกอย่างชัดเจนในฐานะ "หน้าต่ำ" ของทีม (Deep-lying Forward)

ซึ่งก็จะมีกองหน้าตัวจบสกอร์ที่ขึ้นไปค้ำตัวบนสุด เพื่อวิ่งโจมตีด้วยสปีดและความเร็ว ไม่ว่าจะเป็นเลาตาโร่ มาร์ติเนซ หรือ จูเรียน อัลวาเรซ เป็นต้น

เกมรุกของอาร์เจนติน่าที่มีตัวทีเด็ด ชี้เป็นชี้ตายแบบเมสซี่ จึงมักจะโจมตีเข้าจุดตายคู่แข่งอยู่เสมอ โดยมีกองหน้ารุ่นน้องเหล่านี้เป็นตัวเข้าทำอยู่ด้านหน้าตัวปั้นอย่างเมสนั่นเอง

นอกจากตรงกลางแล้ว อาร์เจนติน่ายังมีเกมรุกริมเส้น ที่ถูกเติมขึ้นมาโดย "แบ็ค" สองข้าง ที่ได้ประสิทธิภาพมากๆ โดยเฉพาะเกมนัดหลังๆของอาร์เจนติน่า เราจะเห็นการเติมเกมของทั้ง Marcos Acuña / Nahuel Molina รวมถึง Nicolas Tagliafico 

โดยเฉพาะแมตช์ที่เล่นหลังสาม เจอกับฮอลแลนด์ การเติมจากแบ็คจะค่อนข้างชัดเจน ถ้าเทียบกับแมตช์แรกๆที่เล่นด้วยการใช้ปีกธรรมชาติอย่าง อังเคล ดิมาเรีย เล่น เขาจะเป็นคนขึงด้านหน้าขวา และแบ็คอย่างนาฮูเอล โมลิน่า จะไม่เติมสูงมากนัก

ข้างบนนี้ก็จะเป็นแทคติกเกมรุกนัดแรกๆของอาร์เจน ที่แฟนบอลน่าจะเห็นชัดว่า ทีมใช้ดิมาเรีย ทำเกมรุกทางขวาเป็นหลัก การเล่นก็จะไปอยู่ทางซีกนี้บ่อยครั้ง(และโดนปิดผนึกด้วย) เมื่อเจอเกมที่ตั้งรับลึก ดิมาเรียจะเจาะไม่ค่อยเข้าสักเท่าไหร่ เนื่องด้วยอายุ ที่สปีดความคล่องตัวลดน้อยลงไป แผน 4-3-3 narrow จึงยังไม่แสดงผลเท่าไหร่นัก

แต่เมื่อเติมเกมรุกด้วย "วิงแบ็ค" การเล่นของอาร์เจนติน่าดูน่ากลัวกว่าเดิมเยอะ ด้วยผู้เล่นตัวสดๆ โดยเฉพาะ Molina กับ Acuna นี่คือชัดเจนมากๆ ประตูแรกของ Molina ในการยิงประตูนำฮอลแลนด์ 1-0 จากการเติมขึ้นมายิง และเพลย์การเล่นชั้นอ๋องจาก Killer Pass ของเมสซี่ ส่งผลให้ทีมขึ้นนำอย่างรวดเร็ว

แบ็คขวาเติมขึ้นมาสูงกว่ากองหน้าตัวเป้าและหน้าต่ำของทีม

และลูกจุดโทษของเมสซี่ในเม็ดที่สอง ก็ได้มาจากการเติมขึ้นมาสูงถึง Final Third ของ Marcos Acuna แบ็ควัย 31ปี ที่เรียกจุดโทษสำเร็จจากความผิดพลาดที่ไปปาดขาเขาของเดนเซล ดัมฟรีส์

การเติมของแบ็คอาร์เจนติน่าที่ได้กล่าวมานั้น ถ้ามองเผินๆก็เป็นการเติมเกมบุกธรรมดา แต่ไส้ในของรายละเอียดการเล่น นี่คือสิ่งที่เรียกว่า "Positional Play" ที่มองหาความได้เปรียบและ "ความเหนือกว่า" (Superiority) คู่ต่อสู้เสมอๆเพื่อสร้างจำนวนนักเตะที่ได้เปรียบคู่แข่งในสนาม ซึ่งของอาร์เจนติน่าจะเน้นพื้นที่สุดท้ายที่ใช้แบ็คเติมเข้ามาโจมตี ทำให้แนวรับคู่แข่งป้องกันได้ยากเวลามีตัวเติม และใช้มิดฟิลด์เป็นตัวทดแทนตำแหน่งริมเส้น

จากภาพข้างล่างนี้ในเกมเจอฮอลแลนด์ มีการเติมของกองหลังตัวข้าง(RCB)อย่าง คริสเตียน โรเมโร่ ขึ้นมาเหมือนเป็นปีกหุบเข้าใน โดยมีโมลิน่าโอเวอร์แลปขึงริมเส้น จังหวะที่เดอปอลดึงคู่แข่งออกจากพื้นที่อันตราย แน่นอนว่ามันครีเอท "สเปซ" ให้เกิดขึ้นแล้วเรียบร้อยในวงกลมข้างล่างนี้

เมสซี่เห็นสเปซว่างดังกล่าว สามารถเข้าไปเล่นได้ในพื้นที่ทำการ ซึ่งอยู่ในบริเวณตรงกลางเยื้องๆฮาล์ฟสเปซนิดๆ ซึ่งอันตรายมากๆ ตรงกลางมีทั้งจูเรียน อัลวาเรซ รวมถึง เอ็นโซ่ ที่คอยรับบอลอยู่ แถมด้วยอคุนญ่า ที่เติมขึ้นมาเป็นวิงซ้าย ด้านล่าง

ลักษณะการเล่นแบบนี้จะใช้จุดแข็งเรื่องการเติมเกมของตัวเล่นแนวหลังเยอะ และทำได้สำเร็จในประตู ทำให้จุดเด่นเรื่อง "ความยืดหยุ่น" ดังกล่าว สามารถที่จะสร้างสเปซในการโจมตีคู่แข่งได้ ทั้งตัวเล่นและตัวเข้าทำ อย่างเช่นจังหวะ 1-0 เกมชนะฮอลแลนด์

ในนาทีที่ 35 จากภาพนี้จะค่อนข้างชัดว่า ความยืดหยุ่น และปรัชญาการเล่นที่เป็น Positional Play ใน Minor Area พื้นที่เล็กๆทางด้านขวา อาร์เจนติน่ามีเดอปอล ดึงสเปซให้เมสซี่มีจังหวะเล่นในช็อตนั้น และนาฮูเอล โมลิน่า เติมขึ้นมาและหุบเข้ากลางไปยังจุดนัดพบที่เมสกำลังจะเปิดให้ อาร์เจนติน่าแสดงให้เห็นความยืดหยุ่นที่นักเตะมิดฟิลด์ วิงแบ็ค หน้าต่ำ สามารถขยับทดแทนตำแหน่งกันเพื่อสร้าง "สเปซ" การเล่น และเจาะช่องว่างคู่แข่งได้

จากภาพข้างล่างนี้ชัดเจนว่าตำแหน่งมันสลับกันเป็นสามเหลี่ยม เมสที่ควรอยู่บนถอยมายืนกลาง / กลางถ่างออกไปริมเส้น และตัวริมเส้นเติมขึ้นหน้ามายิงประตู

มันคือการเล่นที่สร้างความเหนือกว่าใน "พื้นที่ย่อย" ทางขวา ที่ไม่ได้จะใช้ปรัชญาดังกล่าวเต็มพื้นที่เหมือนพวกบอลสเปน หรือพวกสายบาร์ซ่าอย่างเป๊ป หรือเอ็นริเก้ ที่เน้นการครองบอลและสร้าง Superiority เต็มสนาม อาร์เจนติน่าไม่ได้เล่นแบบนั้น แต่แค่เอาชนะในพื้นที่แคบๆจากการเติมเกมของตัวเล่นที่มีความยืดหยุ่นสูงในทีมได้ ก็สร้างจังหวะเข้าทำสวยๆแบบนี้ที่เจาะแนวรับคู่แข่งได้สำเร็จ

แล้วทีมที่โดน ดันเป็นทีมที่เซ็ตหลังสามของจารย์หลุยส์ซะด้วย มันถึงได้เป็นข้อพิสูจน์ว่าการเล่นแบบนี้มันเจาะคู่แข่งเข้าจริงๆ จากทีมเวิร์คเกมรุก และความสามารถเฉพาะตัวที่แบกการทำเกมของทีมโดย "ลีโอเนล เมสซี่" ทำให้จังหวะโอเพ่นเพลย์ เมสก็อันตราย และลูกเซ็ตพีซทั้งหลายรวมจุดโทษ เขาก็สามารถ Kill ได้ด้วย

นี่คือ "เกมรุกที่มีความยืดหยุ่นและความเข้มข้นสูง" ของอาร์เจนติน่า

ขยับตำแหน่งดึงตัวประกบ + สร้างพื้นที่เล่นให้ "ตัวฆ่า" ได้มีโอกาสปั้นเกม นั่นคือสิ่งที่ทีมฟ้าขาวทำอยู่

ไอเดียเรื่องการสร้างความเหนือกว่าคู่แข่งดังกล่าวนี้ ในเกมเจอโปแลนด์ สกาโลนี่ก็ใช้ให้เห็นจากระบบ "4-3-3 Narrow" ได้เช่นกัน ไม่จำเป็นต้องเล่นหลังสาม โดยใช้ความสามารถในของเมสซี่ (อีกแล้ว) ในการถอยไปเล่นและดึงสเปซ ดึงแนวรับคู่แข่งให้เกิดช่องว่างได้

จากภาพด้านล่าง สะท้อนแนวคิด Positional Play ได้เป็นอย่างดีที่จะสร้ามได้เปรียบในเชิงจำนวน / ได้เปรียบตำแหน่ง และ ได้เปรียบในเรื่องไดนามิคการเคลื่อนที่ของทีม

จากรูปนี้ มีสังเกตสองจุดที่อาร์เจนติน่าสร้าง "Situation 2 vs 1" ขึ้นมาสองบริเวณย่อยดังนี้

1. เดอปอลที่หลุดตำแหน่งเพราะผู้เล่นโปแลนด์มัวไประวังแต่เมสซี่คนเดียว เดอปอลสามารถรับบอลจากเมส และเข้าไปใช้พื้นที่ว่างในpocketตรงนั้น(วงกลมสีขาว)เพื่อโจมตีได้ ได้ทั้งสเปซ ได้ทั้งความเหนือกว่าด้านปริมาณ สร้างสถานการณ์ 2-1 และได้เปรียบในพื้นที่เล่นนักเตะโปแลนด์ในพื้นที่ตรงนั้น

2. ด้านล่างของภาพ อัลวาเรซ กับ อคุนญ่า ขึ้นมาสร้างจังหวะ 2 VS 1 แล้วเรียบร้อยที่เขากำลังจะวิ่งโจมตีแบ็คโปแลนด์ตรงนั้น (แคช) ทำให้ไม่สามารถจะป้องกันได้ว่าตัวไหนจะเป็นผู้เข้าทำในจังหวะนี้ เพราะการโดน2-1 มันเสียเปรียบอยู่แล้ว

จากจังหวะนี้ ทำให้เห็นชัดว่า พื้นที่ด้านข้างสองฝั่ง รวมฮาล์ฟสเปซ ถูกอาร์เจนติน่า "ยึด" หมดแล้วเรียบร้อย แม้ช็อตนี้จะไม่ใช่ช้อตประตู แต่แสดงให้เห็นว่าความยืดหยุ่นและการเติมใส่คู่แข่งของอาร์เจน ถูกใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพจริงๆ หลายๆจังหวะที่สร้างเกมรุกที่ทำอันตรายโปแลนด์ได้ ก็มาจากเกมริมเส้นเหล่านี้ โดยที่ทุกจุดเริ่มต้น มาจากลีโอเนล เมสซี่ล้วนๆ

คงไม่ต้องอธิบายมากว่า Touch Map ของเมสซี่ทำให้เห็นว่าเขาอยู่ในจุดที่เป็นตัว Receiver ของทีม เพื่อคอยรับบอลป้อนจากเพื่อน และสตาร์ทเกมรุกจากตำแหน่งต่างๆ รวมถึงเชื่อมเกม และขยับพื้นที่ตัวเองเพื่อสร้างสเปซโจมตีให้คนอื่นๆได้

นอกจากนี้ การเซ็ต "หลังสาม" เพื่อปิดช่องที่คู่แข่งจะวิ่งเจาะเข้ามาได้ในเกมเจอฮอลแลนด์ ทำให้พวกเขามีตัวเล่นที่เหนือกว่าในการเจอกันระหว่าง Defensive Line ของอาร์เจน 3 VS 2 แนวรุก Front Line ของฮอลแลนด์ ซึ่งช่วยให้อาร์เจนสามารถที่จะเซ็ตบอลจากแดนหลังได้สบาย โดยไม่ต้องกังวลเรื่องการโดนเพรสซิ่งสูงใส่ และสร้างเกมรุกได้ต่อเนื่อง โดยมี "เมสซี่" เป็นคีย์แมนที่ทำให้ทุกระบบของอาร์เจนติน่า มีเกมรุกที่อันตรายในทุกจังหวะ

ภาพข้างล่างนี้ภาพเดียวแสดงให้เห็นว่า นอกจากระบบหลังสามที่ใช้กลางแน่นๆถึง 5 ตัว(รวมวิงแบ็ค) จะช่วยเรื่องเกมรับได้แล้ว การเซ็ตบอลจากแนวลึก พวกเขายังมีตัวเล่นพิเศษ ... ก็เมสซี่อีกนั่นแหละ!! ในการถอนต่ำลงมารับบอลและครองบอลอย่างอันตราย แนวรับของฮอลแลนด์ถูกลากไปถึง 3 ตัว + 1 ที่เข้าไปรุม และให้ความสนใจเขา

แนวรับฮอลแลนด์โย้ไปทางซ้ายแบบเห็นชัด ตัวเล่นอื่นของอาร์เจนติน่าจึงเกิดตัวฟรีหลายตำแหน่ง ที่ชัดสุดก็ด้านล่างเลย แม็คอัลลิสเตอร์เหลือตัวประกบแค่คนเดียว และฝั่งซ้ายเกิดพื้นที่ซึ่งทีมฟ้าขาวสามารถbuildขึ้นไปโจมตีได้ จากการเล่นของเมสซี่ตัวเดียว 

ช็อตนี้โรเมโร่รับบอลจากเมสซี่ และก็แกะเพรสผ่านออกมาทางอเล็กซิสแม็คฯ ได้แบบสบายๆ

และข้างล่างนี่ก็อีกช็อตที่เมสซี่ดึงตัวประกบไปอีก 4 ทำให้เพื่อนคนอื่นๆเติมขึ้นหน้าได้ สังเกตว่าตรงนั้นโมลิน่ายืนว่างอยู่ด้านบน และสามารถขึ้นไปทำเกมรุกได้สบายๆ จากจุดเริ่มต้นการเล่นที่แน่นในแดนกลางโดยมีเมสซี่เป็นผู้นำ ถึงได้เกิดการเล่นที่เติมเกมกันได้อิสระแบบนี้

ภาพข้างล่างนี้คืออีกหนึ่งการเล่นที่เติมผู้เล่นด้วยการสร้างความเหนือกว่าคู่แข่งในพื้นที่ย่อยต่างๆของสนาม จะเห็นว่าตัวเล่นของอาร์เจนในพื้นที่ตรงกลาง (วงกลมสีเหลือง) มีจำนวนที่ไม่เสียเปรียบกับแนวรับอาร์เจนติน่าเลย (4 vs 4)

แต่อย่างไรก็ตาม อาร์เจนติน่าก็ยังมีปัญหาอยู่บางประการที่มีช่องว่างของระยะห่างในการเล่น ซึ่งทำให้ผู้เล่นบางคนต้องเคลื่อนที่ ขยับตำแหน่งตลอดเวลา ทั้งวิ่งขึ้นลง และถ่างเข้าถ่างออกตรงกลางกับริมเส้น โดยเฉพาะกลางอย่าง แม็คอัลลิสเตอร์ กับ โรดริโก้ เดอปอล ที่ตรงเคลื่อนที่ทดแทนเมสซี่ และถมที่ให้วิงแบ็คเวลาเติม รวมถึงโจมตีด้านข้าง ก็จะรับภาระหนัก และคุมพื้นที่ค่อนข้างกว้าง

โดยทั้งเดอปอล กับ แม็คอัลลิสเตอร์ จะเป็นตัวเล่นที่ทำเกมได้ครอบคลุมพื้นที่บริเวณกว้างในแดนกลาง+ถ่างซ้ายขวา ดูจากสถิติของ markstats bot ในภาพนี้จะเห็นชัด เวลาเป็นฝ่ายครองบอล นักเตะแต่ละคนต้องรับผิดชอบพื้นที่เป็นวงกว้างมากๆ รวมถึงตัวสูงอายุอย่างเมสซี่ด้วย

เดอปอลจึงต้องถ่างและหาพื้นที่ตลอดเวลาเพื่อที่จะสร้างโอกาสให้กับทีม เนื่องจากว่าการเล่นของอาร์เจนติน่าจะแตกต่างจากพวกบอลสายดัตช์ตรงที่เซ็นเตอร์บางครั้งจะดรอปต่ำ และไม่ขยับขึ้นมาทำเกมcompact มิดฟิลด์จึงต้องรับภาระพอสมควร ภาพข้างล่างนี้ก็จะเห็นว่าเดอปอลต้องขยับตำแหน่งค่อนข้างไกลเพื่อหาพื้นที่รับบอล ในจังหวะที่ทีมอยู่ใน Phase 1 [with ball possession]

2. เกมรับที่ดุดันในด้านความเข้มข้น (Aggressive Blocks)

พูดถึงเกมรับที่ดุดัน หลายคนอาจจะนึกถึงกองหลังที่เข้าบอลหนักอย่างพวกโอตาเมนดี้ มาร์ติเนซ โรเมโร่ แต่จริงๆแล้วเกมรับของอาร์เจนติน่า เริ่มต้นตั้งแต่พื้นที่ Middle Third ที่จะวิ่งไล่บอลและบล็อคการเล่นคู่แข่งแบบประชิดติดตัว ด้วยแผนการเล่นที่หลากหลายเพื่อสร้างความ "แน่น" ในพื้นที่ตรงกลาง

ยกตัวอย่างง่ายๆ ในเชิงแทคติก สกาโลนี่รู้ดีว่าโครเอเชียเป็นทีมที่เหนียวแน่น แข็งแกร่ง และเซ็ตเกมตรงกลางได้ดีเยี่ยม พวกเขาจึงเล่นด้วยแผนที่อัดกลางมาสี่ตัวด้วยแผน 4-3-1-2 ในลักษณะกึ่งๆไดมอนด์ ที่แม้อาจจะไม่ได้ยืนเป็นเหลี่ยมบนเหลี่ยมล่างชัดเจน แต่จุดประสงค์หลักคือ "อัดกลางให้แน่น"

การเล่นของโครเอเชียจึงได้แต่ครองบอล แต่ไม่สามารถสร้างสรรค์เกมรุกได้ เพราะเมื่อเข้ามาในพื้นที่อันตราย มิดฟิลด์และกองหลังของอาร์เจนติน่าจะเข้าบอลทันที เพื่อบีบให้คู่แข่งปั้นเกมไม่ได้ ซึ่งถ้าเปิดเข้าไปได้ก็จะเจอแนวรับด่านสุดท้าย ทั้งพวกโอตาเมนดี้ โรเมโร่ รวมถึงโกลที่ออกมาตัดลูกกลางอากาศเก่งๆอย่าง เอมี่ มาร์ติเนซ อีกหนึ่งราย

และด้วยแผนที่กลางแน่นเช่นนี้ มันสามารถสร้างเกม Counter-attack ได้อีก โดยมีตัววิ่งที่เป็น Poacher ด้านบนอย่างจูเรียน อัลวาเรซ ซึ่งทำให้พวกเขาสวนกลับจนเรียกจุดโทษให้เมสซี่ยิงสำเร็จในลูกแรกตามภาพนี้ ที่อัลวาเรซวิ่งหลุด จากลูกจ่ายข้ามแนวรับของเอ็นโซ่น เฟอร์นานเดซ

จังหวะประตู 2-0 ภาพนี้ก็น่าจะชัดว่า อาร์เจนใช้ตัวเล่นเกมรุกที่น้อย ก็สามารถเล่นในจังหวะสวนกลับได้ จากเกมรับที่ป้องกันสำเร็จ และมีเมสซี่เป็นตัวรับบอล เขาเป็นคนป้ายให้อัลวาเรซได้บอลขึ้นหน้าแล้ว Solo Kill คนเดียวในประตูที่สอง นอกจากการโต้กลับแล้ว ให้สังเกตว่าด้านหลังเมสซี่ มีตัวเล่นของอาร์เจนติน่ายืนคุมพื้นที่เกมรับให้แข็งแกร่งอยู่ถึง 4 คนในแดนกลาง + 4คนในแนวหลัง

เหลือตัวเล่นเกมรุกแค่สองคน หนึ่งในนั้นก็ไม่สปีดขึ้นหน้าแล้วอย่างเมสซี่(ฮา) แต่เขาก็ป้ายต่อให้ตัวสวนกลับสกิลสูงอย่างอัลวาเรซ ได้บอลขึ้นไปจัดการโครเอเชียได้ด้วยตัวคนเดียว

นอกจากอัลวาเรซ สังเกตว่ายังมีการเติมเกมจากเพื่อนอีก ช็อตนี้ถ้าอัลวาเรซยิงไม่ได้ ก็มีเพื่อนเติมขึ้นมาอีกอยู่ดี การเติมเกมรุกของอาร์เจนทำได้ดีทั้งจังหวะ Transition Play และการสร้างสเปซหาพื้นที่เจาะบล็อคแนวรับลึกคู่แข่ง อาร์เจนเผชิญหน้าได้หมดทุกประเภทเกมรับ และเกม Counter-attack ที่ว่านี้ก็เริ่มต้นมาจาก "เกมรับ" ที่แข็งแกร่งเป็นหลัก

ลักษณะของเกมรับอาร์เจนติน่ามีความดุดัน เหนียวแน่นที่เข้าถึงตัวคู่แข่งได้ แต่ไม่ทำให้เกิด "ช่องว่าง" เวลาโดนแกะเพรสสำเร็จ หรือเข้าพรวดแล้วพลาด เนื่องจากว่าพวกเขาเล่นในระบบที่ใช้นักเตะแต่ละแดนสำคัญจากแนวกลาง+หลังค่อนข้างเยอะ แล้วใช้ตัวเล่นเกมรุกน้อยตัวมากๆ

ทั้งระบบ 4-3-1-2 (4-4-2 ไดมอนด์) ในเกมเจอโครเอเชีย ก็กลาง 4 ตัว รวมถึง 3-5-2 ก็มีหลังที่แน่นปั้ก รวมถึงกลางห้าคนอีก ระบบพวกนี้เป็นฐานสำคัญของอาร์เจนที่ทำให้เกมรับแน่น เพราะเมื่อใดก็ตามที่โดนคู่แข่งเจาะ หรือมีคนหลุดตำแหน่งออกไปจากการโดน take-ons เลี้ยงกินตัวเอาชนะไปได้ ก็จะมีเพื่อนซ้อนอยู่เสมอ ด้วย "ปริมาณ" ที่เหนือกว่าตลอดเวลา

ความยอดเยี่ยมตรงนี้ก็แน่นอนว่า ต้องชม Lionel Scaloni ด้วยเต็มๆเช่นกันในการวางระบบที่สร้างสมดุลให้ทีมได้ดีแบบนี้

นอกจาก Formation แล้ว ทีมฟ้าข้าวยังมีระบบการเล่นเกมรับที่ผสมผสานระหว่างการใช้ "Man-Marking" ผสมกับการยืนตำแหน่งเซ็ต "Zonal" ทำให้อาร์เจนไม่ขาดตกบกพร่องในเกมรับ ทั้งภาคการประกบติดตัวคู่แข่งเมื่อเข้ามาพื้นที่สำคัญ และ "ไม่สร้างช่องว่าง" เพราะการตั้งโซนยืนที่ดีเยี่ยม

อาร์เจนใช้เกมรับทั้งสองแบบ Mix กัน ตามภาพข้างล่างนี้เป็นตัวอย่าง

จากรูปข้างบนนี้ จะเห็นว่าตัวรับบอลต่กจากVVDในแดนกลาง ถูกกองกลางอาร์เจนติน่าจับตา และพุ่งเข้าไปประชิดตัวเร็วด้วยแมนมาร์คที่เต็มไปด้วยพลังงาน จากการเล่นที่เน้น Physical Game สู้กับคู่แข่ง ซึ่งต้องบอกว่าเรื่องพลังกายและความดุเดือดของการเล่นสไตล์อเมริกาใต้ อาร์เจนฯไม่เป็นสองรองใครอยู่แล้ว ทำให้หลายๆครั้งคู่แข่งเซ็ตเกมไม่ได้ต่อเนื่อง และถูกกันให้ออกห่างจากปากประตูพวกเขา เพราะแมนมาร์คติดตัวเช่นนี้ แต่ยังไม่เสีย Shape ของการยืน เพราะมีการผสมผสานด้วยเกมรับที่ "ตั้งโซน" อยู่ ให้สังเกตวงกลมสีเหลืองในบริเวณนี้ว่า มีตัวเล่นแดนกลาง ยืนคุมพื้นที่อยู่ "ห้าตัว" รวมเมสซี่ กับ อัลวาเรซ ที่ยืนคุมโซนบริเวณนี้อยู่ด้วย

คิดง่ายๆว่า ถ้าเอ็นโซ่วิ่งชิงบอลในช็อตนี้มาได้ บอลมีสิทธิ์ถูกจ่ายต่อให้เมสซี่ ปั้นบอลให้อัลวาเรซวิ่งทะลวงกองหลังฮอลแลนด์แน่นอน มันจึงมีทั้งความ Aggressive ของการเข้าประชิดตัวของอาร์เจนติน่าต่อคู่แข่ง และการคุมโซนที่พร้อมเล่น Transition Play ด้วย ภาพข้างล่างนี้ก็คุมโซน และแมนมาร์คกิ้งผสมกัน

ความแน่นดังกล่าวยังไม่รวมด้านหลังที่ยืนเซ็ต "แบ็คไฟว์" กันอยู่อีกเมื่อยาม Out of possesionในรูปนี้ พวกเขาสามารถที่จะดันเอาโรเมโร่ หรือ มาร์ติเนซ ดันขึ้นมาแทคเกิลคู่แข่งที่อาจจะหลุดขึ้นมาได้อีก เพื่อกันให้คู่ต่อสู้ได้เล่นในพื้นที่ห่างแอเรียรับผิดชอบของเอมี่ มาร์ติเนซให้ไกลที่สุด

มาร์กอส อคุนญ่า จึงกลายเป็นเซ็นเตอร์ตัวซ้ายแทนที่ลิซ่าที่ดันขึ้นมาติดตัวReceiverของคู่แข่ง โอกาสเสียประตูในจังหวะเกมรับดันพื้นที่สูงแบบนี้จึงแทบไม่มี ด้วย Physical Game ที่มีทั้งแมนมาร์คและโซนผสมผสานกัน

นอกจากการเล่นป้องกันแล้ว ยังมีเกม "Pressing" ที่อาร์เจนติน่า ปรับมาใช้เพื่อเล่นป้องกันตั้งแต่แดนคู่แข่ง ติดเอาไว้ใช้ในกรณีที่เกมของสกาโลนี่ต้องการหยุดไม่ให้คู่ต่อสู้ Build-up ขึ้นมาได้ โดยมีจุดสังเกตคือ ตัว "Trigger" หรือสัญญาณการเพรสนั้น อาร์เจนติน่าจะใช้วิธีเพรสทันทีเมื่อคู่แข่งจ่ายบอลไปให้วิงแบ็คของพวกเขา จากภาพข้างล่างนี้ ที่แม็คอัลลิสเตอร์เป็นตัวเริ่มต้นการเพรส + แดนกลางที่ยืน Zonal จะใช้ Man-marking คุมตัวรับบอล โดยมีการสนับสนุนการเพรสขึ้นมาจากเซ็นเตอร์แบ็คอย่างโอตาเมนดี้ อีกหนึ่งคนเพื่อป้องกันไม่ให้เปิดบอลยาวหนีเพรสได้

ตัวอย่างดังกล่าวเป็นเกมเพรสซิ่งต้านการเซ็ตบอลของโครเอเชีย ตามภาพด้านล่างนี้ โดยเมื่อบอลถูกจ่ายให้วิงแบ็คโครเอเชีย เกมเพรสซิ่งจะเริ่มต้นทันที โดย CB ฝั่งด้านที่ทีมทำเกมเพรส จะบีบโซนการเล่น เพรสให้แบ็คคู่แข่งออกบอลยาก สุดท้ายเสียบอล ด้วยการบล็อคแบบ Man-to-Man ในพื้นที่ตรงกลาง ครบทุกแชนแนลไม่ว่าจะเป็นแดนกลาง ริมเส้น หรือ ฮาล์ฟสเปซ

แน่นอนว่าเมื่อมีการดันเกมขึ้นมาสูงของกลางที่ถ่างออกไปบีบแบ็ค นักเตะบางคนจะต้องมีการถอยต่ำลงไปทดแทนตำแหน่งเพื่อนที่ออกไปเพรสซิ่ง ในภาพข้างบน กองกลางหนึ่งตัวอย่างเอ็นโซ่เป็นต้น จะถอยลงไปคุมพื้นที่ที่เพื่อนสองคนแดนกลาง บีบไปมาร์คตัวรับบอลซีกซ้ายของทีม เมสซี่ถือเป็นตัวยกเว้นที่ไม่ต้องวิ่งบีบ / จูเรียน อัลวาเรซเป็นตัวกดดันกองหลังคนถือบอลให้ต้องถ่ายออกไปด้านข้าง แล้วกระบวนการเพรสซิ่งก็จะ Triggered ทันที

3. Conclusion

สรุปแล้วเกมของอาร์เจนติน่า มีความสมดุลที่ดีทั้งเกมรุกและเกมรับ ซึ่งความยืดหยุ่นสูงมากจากการเติมเกมรุกจากแดนหลัง และการมีตัวเล่นที่ทำให้พื้นที่พวกเขา "แน่น" ในแดนสุดท้ายและแดนกลาง

ตัวรุกข้างหน้าใช้ยิ่งน้อยเท่าไหร่ ยิ่งทำให้อาร์เจนติน่าแข็งแกร่งเท่านั้น ซึ่งปัจจัยประสบความสำเร็จของพวกเขา เป็นเพราะมีตัวเล่นพิเศษที่ชื่อลีโอเนล เมสซี่ นี่เองที่ทำให้ทุกอย่างเกิดขึ้นได้ ทั้งการสร้างเกมรุกที่ปั้นให้เพื่อนเติมยิงอย่างสนุกสนาน และการเล่น Build-up ที่ก็ใช้ความสด ความอึดของการเคลื่อนที่นักเตะอาร์เจน เพื่อซัพพอร์ตการทำเกมของเมสซี่อีกต่อ

ความแข็งแกร่งที่สภาพร่างกายดีเยี่ยม และมีเกม Physical ที่ไม่เสียเปรียบคู่ต่อสู้เลยในด้านความแข็งแกร่ง และการดวลกับคู่แข่งในสนาม นี่เป็นจุดสำคัญที่ทุกอย่างลงตัวและผสานเข้าด้วยกันจนครบถ้วน

เกมรุก เกมรับ ความยืดหยุ่น ความแข็งแกร่ง ความเข้มข้นในการเล่น ทำให้พวกเขาเป็นตัวเต็งที่มีโอกาสคว้าแชมป์โลกสูงมาก เมื่อดูปัจจัยหลายๆอย่าง น่าคิดว่าถ้ากลางแข็งแบบนี้ ฝรั่งเศสจะทำเกมรุกใส่ยังไง เมื่อพวกเขามีแดนกลางและหลังที่แข็งแกร่งขนาดนี้

ถ้าเกมรุกทำไม่ได้ ความเฉียบคมของเอ็มบาปเป้อาจจะสิ้นท่าก็ได้ หากฝรั่งเศสไม่สามารถสร้างความเหนือกว่าในแดนกลางต่อหน้าอาร์เจนได้

ทีมฟ้าขาวแสดงให้แฟนบอลเห็นแล้วว่า ความหนักหน่วงแข็งแกร่งที่มี ตั้งอยู่บนความหลากหลายที่ยืดหยุ่น และสร้างความเหนือกว่าด้วยปรัชญา Positional Play แบบ Intensive ของอาร์เจนทั้งเกมรุกเกมรับ

มันคือ "Intense-Tina" ทีมชาติ Argentina ที่เล่นเกม Intensive กันอย่างดุเดือดและเข้มข้นในทุกอณู!!!

-ศาลาผี-

References

https://theathletic.com/3998773/2022/12/13/argentina-croatia-world-cup-alvarez-messi-modric/

https://totalfootballanalysis.com/match-analysis/tactical-preview/fifa-world-cup-2022-argentina-v-croatia-tactical-preview-analysis-tactics

https://totalfootballanalysis.com/match-analysis/fifa-world-cup-2022-netherlands-vs-argentina-tactical-analysis-tactics

https://twitter.com/markstatsbot

ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ระดับ : {{val.member.level}}
{{val.member.post|number}}
ระดับ : {{v.member.level}}
{{v.member.post|number}}
ระดับ :
ดูความเห็นย่อย ({{val.reply}})

ข่าวใหม่วันนี้

ดูทั้งหมด