:::     :::

ฟุตบอล ... มองไม่เห็นด้วยตา แต่สัมผัสได้ด้วยใจ

วันศุกร์ที่ 15 กันยายน 2560 คอลัมน์ Zero to Hero โดย บังคุง
1,854
ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
"ฟุตบอล" คือประสบการณ์สาธารณะ มีความเชื่อมโยงกับระบบสังคมอย่างแนบแน่น ทั้งการเมือง, ศาสนา และวัฒนธรรม คอยแทรกซึมเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันแบบแยกกันไม่ออก

        อีกหนึ่งบทบาทของเกมลูกหนัง นั่นคือการหล่อเลี้ยงความฝัน และสร้างแรงบันดาลใจ รวมถึงกลุ่มคนที่ส่วนใหญ่ในสังคมมักมองข้าม และไม่เห็นความสำคัญอย่าง "ผู้พิการ"

        ย้อนกลับไปไม่นานเกินจำความได้ ศึกพรีเมียร์ลีก อังกฤษ เคยทำการจัดอันดับสนามฟุตบอล ในหัวข้อที่ว่า "ระบบรองรับแฟนบอลพิการที่ดี"

        ผลปรากฏว่า “ลิเบอร์ตี้ สเตเดี้ยม” รังเหย้าของทีมสวอนซี เข้าป้ายมาเป็นอันดับ 1 โดยทีมจากประเทศเวลส์ มีโครงสร้างรองรับเรื่องดังกล่าวที่ยอดเยี่ยมมาก

        พลพรรค "หงส์ขาว" ทำการออกแบบเส้นทางของรถเข็นวิลแชร์อย่างมีแบบแผน สามารถเคลื่อนย้ายผู้พิการได้สะดวก และมีพื้นที่รองรับบุคคลกลุ่มนี้ราว 500 คน

        ตัวเลขดังกล่าว ยังรวมคนที่ตามมาดูแลผู้ป่วยด้วย ซึ่งถือว่ามากพอสมควร เมื่อเทียบกับสโมสรยักษ์ใหญ่ของประเทศอย่างแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, แมนเชสเตอร์ ซิตี้, เชลซี, อาร์เซน่อล และลิเวอร์พูล

        ซึ่งการให้ความสำคัญเหล่านี้ ทำให้ฉุกคิดถึงเรื่องราวดีๆของแฟนบอลผู้พิการคนหนึ่ง ที่อาศัยอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะอังกฤษ กับคุณยายนามว่า "ออเดรย์ ดายสัน"

        ย้อนเวลากลับไปช่วงปี 1997 เธอต้องสูญเสีย 2 สิ่งสำคัญในชีวิตคือ "บ็อบ ดายสัน" สามีคู่ชีวิตที่จากไปอย่างไม่มีวันกลับ ตามมาด้วยอวัยวะที่สำคัญอย่าง "ดวงตา" ที่พ่ายแพ้ต่อโรคต้อหิน

        บ็อบ ถือเป็นแฟนบอลพันธุ์แท้ของทีมโยวิล ทาวน์ (ปัจจุบันลงเล่นอยู่ในระดับลีก ทู) ถือเป็นแรงบันดาลใจให้เธอเข้าสนาม มาเชียร์ทีมแทนคนรักที่ตายไป ถึงแม้ดวงตาจะบอดสนิทก็ตาม

        ปัจจุบันคุณยายมีอายุเกินหลัก 90 ปีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทว่าสร้างความประหลาดใจ ด้วยการครอบครองตั๋วปีของทัพ "เดอะ กลัฟเวอร์ส" พร้อมกับเดินทางมาเชียร์ทีมรักอยู่เป็นประจำ

        สถิติที่น่าเหลือเชื่อบ่งบอกว่า ตลอดเกือบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ผู้พิการทางสายตาคนนี้ แทบจะไม่เคยพลาดการแข่งขันเกมเหย้าเลย ซึ่งการมาสนามในแต่ละครั้ง จะมีลูกชายเป็นคนคอยดูแลไม่ห่าง

       ไม่ว่าจะเป็นการเดินจับมือเดินเข้าสู่สนาม, พาไปนั่งที่ประจำ, พาไปหาของกิน หรือพาไปเข้าห้องน้ำ ตัวของลูกชายก็จะคอยดูแลเป็นอย่างดี

        ภาพที่หลายคนเห็นจนชินตา เธอจะมาพร้อมกับอุปกรณ์การเชียร์แบบเต็มยศ ทั้งเสื้อแข่ง และผ้าพันคอ ที่เปรียบเสมือนความรักที่มีต่อพลพรรคขาว-เขียว

        คุณยายกล่าวว่า "ฉันไม่เคยไปสนามมาก่อน แต่อยากไปสัมผัสด้วยตัวเองสักครั้ง เมื่อโยวิล ทาวน์ สามารถยิงประตูได้ บรรยากาศในสนามจะยอดเยี่ยมมาก ฉันตื่นเต้น และกำลังเสพติดลูกหนัง"

        นอกจากนี้ เธอยังเผยถึงเคล็ดลับการดูฟุตบอลในสไตล์คนตาบอด นั่นคือเครื่องมือสื่อสารที่เรียกว่า "วิทยุ" ที่ถือเป็นอุปกรณ์สำคัญที่จะขาดไปไม่ได้เลย

        เธอกล่าวเสริมว่า "ฉันพกวิทยุติดตัวอยู่เสมอ พร้อมกับเสียบมันด้วยเฮดโฟน เพื่อรับฟังสถานีวิทยุของบีบีซี (บีบีซี เรดิโอ) ที่มีนักพากย์คอยบรรยายเกมให้ฟังนาทีต่อนาที"

        "สำหรับฉันแล้ว คิดว่าการตาบอดไม่ใช่ปัญหา นั่นเป็นเพราะว่า ฉันสามารถรับรู้เกมในสนาม พร้อมกับยังซึมซับบรรยากาศรอบตัวได้เหมือนกับคนทั่วไป"

        พร้อมกันนี้ เธอยังยอมรับว่า สิ่งที่ทำมาทั้งหมดเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงคำพูดที่ว่า บางอย่างไม่อาจมองเห็นด้วยตา แต่สามารถสัมผัสได้ด้วยใจ ซึ่งกีฬา "ฟุตบอล" ก็เป็นหนึ่งในนั้น

        อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีคนบางกลุ่ม ที่ไม่เข้าใจ พร้อมกับมองว่าเธอทำในสิ่งไร้สาระ และเสียเวลา เพราะการดูฟุตบอลในฐานะของคนตาบอด แทบจะเป็นเหมือนกับเส้นขนานที่ไม่สามารถบรรจบกันได้

        "บางคนอาจหัวเราะเยาะ และคิดว่าฉันเป็นคนแปลกประหลาด แต่ฉันไม่เคยสนใจเลย ฉันกำลังมีความสุขกับตัวเอง และฟุตบอลเท่านั้น"

        นั่นคือทัศนคติเชิงบวกของคุณยาย ที่มีความฝันในการติดตามทีมรักต่อไป ไม่ว่าผลงานจะดีหรือร้าย จะพบเธอในสนาม "ฮูอิช พาร์ค" ตราบลมหายใจสุดท้ายของชีวิตอย่างแน่นอน

        เรื่องนี้สอนให้เรารู้ว่า "ฟุตบอล" อาจไม่ช่วยให้หายจากโรคร้าย และอย่างน้อยยังทำให้รู้ว่า โลกก็ไม่โหดร้ายจนเกินไป .... ขอคารวะด้วยหัวใจแด่คุณยาย "ออเดรย์ ดายสัน"



ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ระดับ : {{val.member.level}}
{{val.member.post|number}}
ระดับ : {{v.member.level}}
{{v.member.post|number}}
ระดับ :
ดูความเห็นย่อย ({{val.reply}})

ข่าวใหม่วันนี้

ดูทั้งหมด