:::     :::

ฟุตบอลโลก 1930 : ปฐมบท

ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ฟุตบอลโลก ''ครั้งแรก'' มีความพิเศษในตัวเองอย่างสุดคลาสสิกไม่ว่าจะเป็น 4 ทีมเดินทางมามอนเตวิ เอโอของอุรุกวัยด้วยเรือ ''ลำเดียวกัน'', สนามแข่งขันที่สร้างไม่เสร็จ และหนึ่งในผู้ยิงประตูรอบชิงชนะเลิศมีแขน เพียง ''ข้างเดียว''

การแข่งขันจบลงพร้อมการเฉลิมฉลองของชาติเจ้าภาพที่กลายเป็นแชมป์โลกทีมแรกหลังเอาชนะคู่ปรับร่วมทวีปอเมริกาใต้อย่าง อาร์เจนตินา 4-2

มีการพูดคุยอยู่นานกว่าที่ฟุตบอลโลกครั้งปฐมบทจะเป็นจริงขึ้นมาได้ สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) ที่ก่อตั้งขึ้นในปี 1904 ต้องการจัดทัวร์นาเมนต์ระดับนานาชาติ ทว่าต้องรอจนถึงยุค 1920 ที่เริ่มได้รับเสียงสนับสนุนจริงจัง 

การแข่งขันฟุตบอลในกีฬาโอลิมปิก เกมส์ 1924 ประสบความสำเร็จอย่างมากด้วยยอดผู้ชมในรอบชิงชนะเลิศระหว่าง อุรุกวัย กับ สวิตเซอร์แลนด์ มากกว่า 40,000 คน เป็นสิ่งกระตุ้นให้ฟีฟ่าอยากจัดการแข่งขันของตัวเองที่ไม่ได้ข้องเกี่ยวกับโอลิมปิก

ในการประชุมฟีฟ่าเมื่อปี 1927 ได้บทสรุปให้จัดฟุตบอลโลกครั้งแรกในปี 1930 ปัญหาข้อต่อมามีเพียง ชาติใดจะรับหน้าเสื่อเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน

สเปน, อิตาลี, ฮอลแลนด์ และ อุรุกวัย แสดงความสนใจพร้อมรับหน้าที่ แต่มีเพียง อุรุกวัย ชาติเดียวที่เสนอจ่ายค่าเดินทางและค่าที่พักสำหรับทุกทีมที่เข้าแข่งขัน รวมถึงสร้างสนามใหม่แม้เศรษฐกิจในประเทศไม่ดีนักก็ตาม

นอกจากนี้ ยังเป็นวาระโอกาสที่ อุรุกวัย จะได้ฉลองเอกราชของประเทศครบ 100 ปี จึงมีความเหมาะสมในการรับหน้าที่เจ้าภาพฟุตบอลโลกครั้งแรก และมีการยืนยันอย่างเป็นทางการในการประชุมของฟีฟ่าที่บาร์เซโลน่าในปี 1929

การหาทีมเข้าร่วมการแข่งขันคือสเต็ปต่อมา โดย 7 ทีมในอเมริกา รวมถึง เม็กซิโอ และ สหรัฐฯ ลงชื่อเข้าร่วมศึก แต่ก่อนทัวร์นาเมนต์เปิดฉาก 2 เดือนก็ยังไม่มีตัวแทนจากยุโรปแสดงความสนใจเพราะติดปัญหาสำคัญคือ การเดินทางจากยุโรปมาอเมริกาใต้ที่ค่อนข้างลำบาก

ชูลส์ ริเมต์ ประธานฟีฟ่าในยุคนั้น โน้มน้าวให้ เบลเยียม, ฝรั่งเศส, โรมาเนีย และ ยูโกสลาเวีย ยอมเข้าร่วมแข่งขันได้สำเร็จ 


ชูลส์ ริเมต์ ประธานฟีฟ่าในยุคฟุตบอลโลก 1930

นอกเหนือกจาก ยูโกสลาเวีย ที่เดินทางมาเอง อีก 3 ชาติยุโรป รวมถึงท่านประธาน ชูลส์ ริเมต์ ที่เป็นพ่องานหลัก ต่างขึ้นเรือลำเดียวกันข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก โดยออกจากท่าที่บาร์เซโลน่าในวันที่ 22 มิถุนายน และในเรือลำนี้ยังนำถ้วยแชมป์ขนาดความสูง 30 ซม. และหนัก 4 กก. ขึ้นเรือมาด้วย 

เรือลำประวัติศาสตร์ที่ชื่อว่า ''ดับเบิลเอส คอนเต้ แวร์เด้'' (SS Conte Verde) เทียบท่าจอดที่ ริโอ เดอ จาเนโร เพื่อรับนักเตะทีมชาติบราซิลเดินทางมาด้วย ก่อนจอดแวะซื้อผลไม้พวกกล้วย, ส้ม และสับปะรด ที่เมืองซานโตสอีกที 

การเดินทางอันยาวนานของ 3 ชาติยุโรป และอีกชาติอเมริกาใต้ก็มาถึงกรุงมอนเตวิเอโอ เมืองหลวงของอุรุกวัยพร้อมกับการต้อนรับของผู้คนชาติเจ้าภาพราว 10,000 คน

นักเตะทั้ง 13 ชาติที่แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม (กลุ่ม 1 มี 4 ทีม อีก 3 กลุ่มมีกลุ่มละ 3 ทีม) พร้อมแล้ว ทว่าสนามแข่งขันยังไม่พร้อม ''เอสตาดิโอ เซนเตนาริโอ'' สนามหลักและเป็นหนึ่งใน 3 ที่ใช้จัดการแข่งขันและอยู่ในมอนเตวิเอโอทั้งหมด เพิ่งตอกเสาเข็มเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม ปี 1929 หรือก่อนหน้าฟุตบอลโลกไม่ถึงปี

การก่อสร้างดำเนินไปตลอด 24 ชั่วโมงต่อวันเพื่อให้ทันเวลาโดยมี ฮวน อันโตนิโอ ซาสโซ่ สถาปนิกฝีมือดีเป็นผู้ควบคุม ขณะที่ฝนฟ้าก็กลายเป็นอีกอุปสรรคทำให้ขั้นตอนล่าช้า และเสร็จแบบไม่สู้จะเรียบร้อยดีนักก่อนนัดแรกที่ต้องใช้งานเพียง 5 วันในเกมที่เจ้าภาพ อุรุกวัย เฉือนชนะ เปรู 1-0 

การแข่งขันนัด 7-8 นัดแรกต้องแข่งที่อีก 2 สนามคือ เดอ โปซิตอส และ ปาร์เก้ เซนตรัล สเตเดี้ยม ซึ่งจุได้เพียง 20,000 และ 1,000 คนตามลำดับ  


เอคตอร์ กาสโตร แข้งชุดแชมป์โลกของอุรุกวัยผู้มีแขนเดียว

นัดเปิดสนามฟุตบอลโลกมีขึ้นในวันที่ 13 ก.ค. เป็นเกมระหว่าง ฝรั่งเศส กับ เม็กซิโอ ลูเซียงต์ โลร็องต์ จารึกชื่อเป็นคนทำประตูแรกเมื่อกดประตูให้ทัพตราไก่ขึ้นนำในนาที 19 ก่อนพาทีมเก็บชัยชนะสวยงาม 4-1

มีการแข่งขันก็ย่อมมีข้อถกเถียงในจังหวะปัญหา ฟุตบอลโลกครั้งแรกก็เช่นกัน และเป็นฝรั่งเศสทีมเดิมที่มีเอี่ยวอีกครั้งในนัดสองกับอาร์เจนตินา 

ลุยซิโต้ มอนติ ปั่นฟรีคิกให้ทัพฟ้าขาวนำไปก่อน ตราไก่เร่งเครื่องตีเสมอและได้ลุ้นในจังหวะหลุดเดี่ยวของ มาร์กแซล ลองกีเย่ร์ ทว่า อัลเมยด้า เรโก้ ผู้ตัดสินกลับเป่านกหวีดหมดเวลาทั้งที่เหลืออีกถึง 6 นาที นักเตะฝรั่งเศสประท้วงกันวุ่นวายก่อนผู้ตัดสินชาวบราซิลคนดังกล่าวจะให้กลับมาแข่งต่อก่อนจบเกมด้วยชัยชนะของอาร์เจนตินา 1-0 แบบทุลักทุเล

ทัพฟ้า-ขาว ไล่ขย่ม เม็กซิโอ อีก 6-3 ในนัดสองทั้งที่ไม่มี มานูเอล แฟร์เรยร่า หักหอกกัปตันทีมที่เดินทางกลับบูเอโนสไอเรส เนื่องจากติดสอบในมหาวิทยาลัย กิลเยร์โม่ สตาบิเล่ ที่ลงสนามแทนสร้างชื่อกระหึ่มตั้งแต่นัดแรกที่เล่นทีมชาติด้วยการกดแฮตทริกได้ทันทีก่อนยิงรวม 8 ประตูจนคว้าตำแหน่งดาวซัลโวไปครอง 

2 ทีมวางทั้งอาร์เจนตินาและสหรัฐฯ ต่างคว้าแชมป์กลุ่มได้สำเร็จและเข้าไปเจอกันในรอบรองชนะเลิศ ทว่าเป็นเกมที่สู้กันไม่ได้เลยเมื่ออาร์เจนฯ ไล่ทุบขาดลอย 6-1 สตาบิเล่ กดอีก 2 ประตู และพาทีมเข้าชิงชนะเลิศกับเจ้าภาพอุรุกวัยที่อัดยูโกสลาเวียในสกอร์เดียวกัน กลายเป็นคู่ชิงคู่เดิมกับโอลิมปิกเมื่อ 2 ปีก่อนหน้า

แฟนบอลฟ้า-ขาว ราว 30,000 คน ยกพลข้ามน่านน้ำริเวอร์ เพลท จากบูเอโนสไอเรสมายังมอนเตวิเอโอเพื่อตามเชียร์ชาติตัวเองในรอบชิงชนะเลิศวันที่ 30 ก.ค. 1930 จนทำให้สนามเอสตาดิโอ เซนเตนาริโอ แน่นขนัดด้วยยอดผู้ชมราว 93,000 คน 

อาร์เจนตินาเริ่มต้นเกมช่วงแรกได้ดีกว่า แม้เสียประตูให้อุรุกวัยไปก่อนจาก ปาโบล โดราโด้ แต่สปีดอันรวดเร็วและชาญฉลาดในการเล่นเกมรุกก็ทำให้ได้ 2 ประตูแซงนำจาก คาร์ลอส ปวยเซลเล่ และ สตาบิเล่

ทว่าในครึ่งหลังกลับเป็นหนังคนละม้วน อุรุกวัยกลับมาเล่นได้อย่างแข็งแกร่งและได้ 2 ประตูจาก เปโดร เช และ วิคตอเรียโน่ ซานโตส จนเป็นฝ่ายพลิกแซงนำ 3-2 ก่อนที่ท้าย เอคตอร์ กาสโตร ที่มีแขนเพียงข้างเดียวเนื่องจากประสบอุบัติเหตุในวัยเด็ก ก็มายิงปิดท้ายให้อุรุกวัยเก็บชัยชนะอย่างเด็ดขาด 4-2 และได้ชูถ้วยแชมป์โลกเป็นทีมแรกในประวัติศาสตร์ 


เอสตาดิโอ เซนเตนาริโอ สังเวียนแข้งรอบชิงชนะเลิศ

@แฟกต์ไฟล์ฟุตบอลโลก 1930 

ชาติเจ้าภาพ : อุรุกวัย 

สนาม : 3 สนาม 

จำนวนทีม : 13 ทีม

จำนวนนัด : 18 นัด

วันแข่งขัน : 13 กรกฎาคม 1930 ถึง 30 กรกฎาคม 1930 

จำนวนประตู : 70 ประตู (เฉลี่ย 3.9 ต่อนัด)

ผู้ชมทั้งหมด : 590,549 คน (32,808 คนต่อนัด) 

ทีมแชมป์ : อุรุกวัย

รองแชมป์ : อาร์เจนตินา

อันดับ 3 : สหรัฐอเมริกา

อันดับ 4 : ยูโกสลาเวีย

รางวัลรองเท้าทองคำ : กิลเยร์โม่ สเตบิเล่ (อาร์เจนตินา) 8 ประตู

สรุปดาวซัลโว : 

- 8 ประตู : กิลเยร์โม่ สตาบิเล่ (อาร์เจนตินา)

- 5 ประตู : เปโดร เช (อุรุกวัย)

- 4 ประตู : กิลเยร์โม่ ซูเบียเบร (ปารากวัย), เบิร์ต พาเทนัวต์ (สหรัฐอเมริกา)

- 3 ประตู : คาร์ลอส เปเชลเล่ (อาร์เจนตินา), เปกวินโญ่ (บราซิล), เปเรดริโน่ อันเซลโม่ (อุรุกวัย), อีวาน เบ็ค (ยูโกสลาเวีย) 


ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ระดับ : {{val.member.level}}
{{val.member.post|number}}
ระดับ : {{v.member.level}}
{{v.member.post|number}}
ระดับ :
ดูความเห็นย่อย ({{val.reply}})

ข่าวใหม่วันนี้

ดูทั้งหมด