:::     :::

3 ประสานยุคใหม่อาร์เซน่อล

ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา อาร์เซน่อล มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากทั้งขุมกำลังในทีมและโครงสร้างการบริหารที่ล่าสุดเตรียมเข้าสู่ยุคใหม่เต็มตัวกับการมี 3 ประสาน วิไน เวนเกตชาม, เอดู กาสปาร์ และ มิเกล อาร์เตต้า คอยขับเคลื่อนทีมไปข้างหน้า

เมื่อกลางเดือนที่ผ่านมา อาร์เซน่อล ประกาศยืนยัน ราอูล ซานเยฮี หัวหน้าฝ่ายกิจกรรมฟุตบอล (Head of football) จะอำลาสโมสรและมีผลทันที พร้อมกับให้ วิไน เวนเกตชาม กรรมการผู้จัดการ (Managing director) รับช่วงต่อในการบริหารสโมสร 

อาร์เซน่อล ไม่ได้ให้เหตุผลถึงการแยกทางการกระทันหัน แต่ในแถลงการณ์ของ ราอูล ซานเยฮี มองว่าเป็นผลกระทบที่เกิดจาก "โควิด" จึงมีการปรับเปลี่ยนภายในสโมสร และปรับโครงสร้างการบริหารใหม่


∎ 'ซานเยฮี'โดนเด้ง

การ "หลุดตำแหน่ง" ของ ซานเยฮี ถือเป็นอีกการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของ อาร์เซน่อล เพราะ ซานเยฮี ถือว่ามีบทบาทในงานบริหารอย่างมากตลอด 2 ปีครึ่งนับตั้งแต่ย้ายมาทำงานในอังกฤษ 

ย้อนไปในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2018 อีวาน กาซิดิช ประธานบริหารในตอนนั้นต้องการให้ ซานเยฮี และ สเวน มิสลินตัท อดีตแมวมองของ โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ เป็น 2 แกนนำสำคัญในฝ่ายบริหารชุดใหม่ โดย ซานเยฮี เป็นคนที่เสนอชื่อ อูไน เอเมรี่ ให้มาเป็นกุนซือต่อจาก อาร์แซน เวนเกอร์ 

แต่หลังจากที่ กาซิดิช แยกตัวไปรับงานที่ เอซี มิลาน งานบริหารต่างๆ ที่เคยรับผิดชอบจึงตกมาอยู่ที่ ซานเยฮี และ วิไน เวนเกตชาม ก่อนที่ ซานเยฮี จะไปดึง เอดู กาสปาร์ อดีตนักเตะของ อาร์เซน่อล กลับมารับงานในตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายเทคนิคในช่วงซัมเมอร์ปีที่แล้ว 

ด้วยตำแหน่งหน้าที่และความรับผิดชอบที่ต้องตัดสินใจหลายอย่าง งานของ ซานเยฮี จึงเผชิญหน้ากับความขัดแย้งเป็นระยะ ความตึงเครียดแรกๆ คือเขาเป็นคนที่พยายามผลักดันให้สโมสรต่อสัญญาใหม่กับ อูไน เอเมรี่ หลังจบนัดชิงชนะเลิศ ยูโรปา ลีก ที่ อาร์เซน่อล แพ้ เชลซี 1-4 ทั้งที่ตอนนั้น เอเมรี่ เพิ่งคุมทีมได้ฤดูกาลเดียว 


ซานเยฮี หมดเวลากับ อาร์เซน่อล

ฤดูกาลต่อมาที่ผลงานไม่ดี กระแสจากแฟนบอลเปลี่ยนเป็นเรียกร้องให้ปลด เอเมรี่ ออกจากตำแหน่ง สโมสรมีแผนจะปลดกุนซือชาวสเปนหลังเกมแพ้ เลสเตอร์ ซิตี้ 0-2 เพื่อใช้เวลาช่วงเบรกทีมชาติ 2 สัปดาห์สรรหากุนซือใหม่ แต่ ซานเยฮี คัดค้านทำให้อดีตกุนซือ เซบีย่า ได้คุมต่ออีก 2 นัดจนถึงเกมยูโรปา ลีก ที่แพ้คาบ้านต่อ แฟร้งค์เฟิร์ต 1-2 ซึ่งเป็นการไม่ชนะใคร 7 นัดติดจากทุกรายการ ท้ายที่สุด เอเมรี่ ถูกปลดออกจากตำแหน่งในเดือนพฤศจิกายน  

ซานเยฮี มีส่วนร่วมในตลาดนักเตะของ อาร์เซน่อล 3 รอบ ในช่วงนี้ รูปแบบการคัดเลือกนักเตะใหม่เปลี่ยนไปจากเดิม ซานเยฮี เน้นเครือข่ายที่ตัวเองรู้จักโดยเฉพาะ เคีย ชูรับเชี่ยน หนึ่งในเอเยนต์คนดังของวงการ ทำให้บทบาทของบรรดาแมวมองที่เคยทำงานให้สโมสรลดลง นักเตะที่ได้มาร่วมทีมมีทั้งดีและแย่ 

3 จาก 4 นักเตะใหม่ที่ อาร์เซน่อล เซ็นสัญญาเข้ามาล้วนเป็นนักเตะในเครือของ ชูรับเชี่ยน ซึ่งรวมถึง วิลเลี่ยน ปีกจอมเก๋าที่เป็นการเซ็นสัญญาแรกประจำซัมเมอร์นี้ ซึ่งการเน้นใช้บริการนักเตะในสังกัดใดสังกัดหนึ่งอาจไม่ใช่เรื่องผิด แต่มันทำให้ ซานเยฮี ถูกจับผิดหรือถูกมองได้มีแนวคิดอย่างไรในการเลือกนักเตะ 

ดิ แอธเลติก สื่อดังรายงานว่าในช่วงที่ ราอูล ซานเยฮี อยู่ในตำแหน่ง ฝ่ายวิเคราะห์ข้อมูลและแมวมองต่างรู้สึกถูกมองข้ามหัว ไม่มีความสำคัญ นำไปสู่การอำลาตำแหน่งของหลายคน ขณะที่ล่าสุด ฟรานซิส คาซิเกา หัวหอกแมวมองที่ทำงานกับ อาร์เซน่อล มาหลายปีและค้นพบนักเตะดีๆ มากมายไม่ว่าจะเป็น เชส ฟาเบรกาส, โรบิน ฟาน เพอร์ซี่, เอคตอร์ เบเยริน และ กาเบรียบ มาร์ติเนลลี่ ก็ถูกโละออกจากสโมสรเช่นเดียวกับแมวมองในอีกหลายประเทศ ด้วยเหตุผลที่ อาร์เซน่อล แถลงว่าเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของ โควิด

ซานเยฮี ขึ้นมาทำงานต่อจาก กาซิดิช แต่สิ่งที่ต่างกันคือ ซานเยฮี ไม่ได้นั่งเก้าอี้บอร์ดบริหารของสโมสร โดย โครเอนเก้ สปอร์ตส์ เอนเตอร์เทนเมนต์ ที่เป็นเจ้าของตัดสินใจตั้ง ทิม ลูอิส ทนายของ สแตน โครเอนเก้ ประจำกรุงลอนดอนที่แนะนำนักธุรกิจจากอเมริกาเข้ามาเทกโอเวอร์สโมสรหลายปีก่อน นั่งในบอร์ดแทน และมีหน้าที่หลักคือบริหารงานด้านธุรกิจให้เดินหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ 

สื่อในอังกฤษประเมินว่า อาร์เซน่อล ในภาพรวมตลอด 2 ฤดูกาลครึ่งที่ ซานเยฮี บริหารงาน ไม่มีความก้าวหน้าแบบชัดเจน ฤดูกาลล่าสุดทีมได้แชมป์เอฟเอ คัพ ก็จริง แต่ผลงานในลีกที่จบเพียงอันดับ 8 ของตาราง และห่างทีมแชมป์มากถึง 43 คะแนนก็ถือว่าแย่สุดในรอบ 25 ปี


วิไน เวนเกตชาม ก้าวขึ้นมาบริหารเต็มตัว

เขาไม่ได้รับความไว้วางใจจากกลุ่มโครเอนเก้เหมือนเดิม ต่างจาก วิไน เวนเกตชาม ที่ได้รับความสำคัญมากขึ้นให้บริหารงาน เช่นเดียวกับ เอดู ที่มีความใกล้ชิดกับนักเตะในทุกช่วงเวลาทั้งการซ้อมและวันแข่งขัน รวมถึงปรึกษาหารือกับ มิเกล อาร์เตต้า โดยตลอด แสดงให้เห็นถึงบทบาทกับทีมที่มากขึ้นตลอด 13 เดือนที่กลับมาทำงานกับสโมสร และ เอดู ก็เป็นคนแรกที่โทรไปทาบทามให้ อาร์เตต้า กลับมารับงานที่ เอมิเรตส์ สเตเดี้ยม 

ขณะที่อีกกระแสที่ว่าอาจพัวพันได้รับใต้โต๊ะในการย้ายทีมของ นิโกล่าส์ เปเป้ ที่ค่าตัวถึง 72 ล้านปอนด์ ก็ยังไม่มีรายงานใดที่เชื่อถือว่าได้ว่ามีเอี่ยวทำผิดจริงๆ 


∎ วิไน-เอดู-อาร์เตต้า 3 ประสานยุคใหม่ 

ถ้ามองในมุมการปรับโครงสร้างการบริหารเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์หลังยุคโควิด ราอูล ซานเยฮี อาจไม่คิดด้วยว่าตัวเองที่อยู่ในฝ่ายบริหารจะเป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่ต้องออกจากสโมสร เช่นเดียวกับสตาฟฟ์อีกจำนวนมากซึ่งรวมถึงตำนานทั้ง แพท ไรซ์, สจ๊วร์ต ฮุสตัน และ ชาร์ลี จอร์จ 

การไปของ ราอูล ซานเยฮี เท่ากับเปิดโอกาสให้ อาร์เซน่อล ได้เดินหน้าสู่ยุคใหม่เต็มตัว คิดใหม่ทำใหม่ภายใต้การประสานงานกันของ วิไน เวนเกตชาม, เอดู กาสปาร์ และ มิเกล อาร์เตต้า 

วิไน เวนเกตชาม อยู่กับ อาร์เซน่อล มา 10 ปีแล้ว ต่อจากนี้ต้องแสดงฝีมือเต็มตัวในฐานะผู้บริหารหลักที่การตัดสินใจหลายอย่างขึ้นอยู่กับเขา เรียกง่ายๆ คือต้อง "ออกหน้าฉาก" มากขึ้น ไม่ใช่เหมือนยืนประกบ ซานเยฮี เหมือนที่ผ่านมา

เวนเกตชาม ไม่ได้มาสายฟุตบอลโดยตรง เขาประสบความสำเร็จทางด้านธุรกิจก่อนถูก อาร์เซน่อล ดึงมาทำงาน แต่ข้อดีคือเป็นคนใจเย็น มีความรอบคอบ และเข้าถึงได้ง่าย อีกทั้งมีความผูกพันกับสโมสรมากกว่า ซานเยฮี

ความรับผิดชอบหลักของ วิไน เวนเกตชาม จะเน้นไปที่เรื่องเกี่ยวกับการเงิน รายรับ-รายจ่าย ค่าลิขสิทธิ์ สปอนเซอร์ต่างๆ เช่นเดียวกับการเป็นตัวแทนของสโมสรเข้าร่วมประชุมหรืองานอีเวนต์ใหญ่ๆ 

ส่วนในเรื่องของฟุตบอลจะเป็นความผิดชอบของ เอดู และ อาร์เตต้า

เอดู จะเป็นคนกลางที่คอย "เชื่อม" การทำงานระหว่าง เวนเกตชาม กับ อาร์เตต้า เพราะแม้เป็นคนหนุ่มอายุเพียง 42 ปี แต่มีพื้นฐานทั้งการบริหารจัดการและเคยเป็นอดีตนักฟุตบอลที่อยู่ในชุดยิ่งใหญ่ของสโมสรทั้งดับเบิ้ลแชมป์ 2002 ต่อเนื่องถึงแชมป์ไร้พ่าย 2004

ก่อนกลับมาทำงานกับ อาร์เซน่อล อดีตแข้งทีมชาติบราซิลก็ทำงานกับสหพันธ์ฟุตบอลแดนแซมบ้าในฐานะผู้ประสานงานซึ่งเป็นบทบาทที่คล้ายๆ ตำแหน่งปัจจุบันที่เป็นผู้อำนวยการฝ่ายเทคนิคคนแรกในประวัติศาสตร์สโมสร


เอดู กับ อาร์เตต้า จะมีบทบาทมากขึ้นต่อจากนี้

ตลอดปีเศษที่กลับมาทำงานกับ อาร์เซน่อล เอดู ทำได้น่าประทับใจทีเดียว เขาทำงานอย่างเต็มที่และใส่ใจในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่นไปดูการซ้อมของนักเตะ เดินทางไปเกมเยือนยูโรปา ลีก ในประเทศไกลๆ หรืออย่างตอนปิดดีลคว้า ปาโบล มารี มาร่วมทีม เอดู ก็เดินทางไปหิ้วเซนเตอร์ชาวสเปนที่ตอนนั้นเล่นให้ ฟลาเมงโก้ มาจากบราซิลด้วยตัวเองเลยทีเดียว

และคนสุดท้ายซึ่งเป็นคนที่สำคัญไม่แพ้ใครในการนำ อาร์เซน่อล ก้าวสู่ยุคใหม่คือ มิเกล อาร์เตต้า 

อาร์เตต้า มีความเป็น "อดีต" นักเตะที่กลับมาทำงานให้สโมสรอีกครั้งและเป็นงานที่ถูกคาดหวังอย่างมากในตำแหน่งเฮดโค้ชคนใหม่ต่อจาก อูไน เอเมรี่ ที่ทิ้งปัญหาต่างๆ มากมายเอาไว้ 

ในลีกที่จบเพียงอันดับ 8 ของตารางอาจไม่ใช่จุดที่น่าพอใจ แต่ อาร์เตต้า ไม่ได้เริ่มงานตั้งแต่ช่วงซัมเมอร์ เขาเข้ามาตอนที่ อาร์เซน่อล อยู่ในสภาพเหมือนคนป่วย หายใจรวยริน อันดับอยู่กลางตาราง ฟอร์มการเล่นน่าผิดหวัง คุณภาพนักเตะโดยรวมเป็นรองทีมกลุ่มนำด้วยกัน สภาพความมั่นใจนักเตะถดถอย แถมมีปัญหาส่วนตัวของนักเตะอีกหลายคนไม่ว่าจะเป็น เมซุต โอซิล หรือ กรานิต ชาคา

เรียกได้ว่าไม่มีอะไร "เอื้อ" ให้การทำงานของ อาร์เตต้า ราบรื่นเลย ลำพังการก้าวออกจากร่มเงาของ เป๊ป กวาร์ดิโอล่า มารับงานใหม่เต็มตัวในวัย 37 ปี (ในตอนนั้น) ก็ถือว่ากล้าหาญและท้าทายสุดๆ แล้ว แต่นี่ยังเป็นงานที่ อาร์เซน่อล ที่ต่อให้กุนซือมากประสบการณ์คนอื่นก็อาจถอดใจไม่เอาด้วย

การพาทีมจบด้วยตำแหน่งแชมป์เอฟเอ คัพ ที่ทำให้ได้ไปเล่นยูโรปา ลีก ในฤดูกาลหน้า บวกกับฟอร์มการเล่นน่าประทับใจหลายนัด มีระบบการเล่นที่เห็นเป็นรูปเป็นร่าง ความเป็นอันหนึ่งเดียวกันในทีมที่มีมากขึ้น ทำให้ อาร์เตต้า ได้รับเครดิตอย่างมาก


อาร์เตต้า พาทีมจบสวยด้วยแชมป์เอฟเอ คัพ

ฤดูกาลหน้า อาร์เตต้า จะได้คุมทีมเต็มฤดูกาลเป็นครั้งแรก เขาได้รู้จักทีมมากขึ้น ได้รู้จักนักเตะ และมีเวลาเตรียมความพร้อมในสิ่งที่ตัวเองต้องการ แต่แน่นอนว่า อาร์เซน่อล ชุดนี้จำเป็นต้องมีผู้เล่นที่มีคุณภาพมากขึ้นเข้ามาเพิ่ม 

หลัง ซานเยฮี อำลาสโมสร อาร์เตต้า จะมีบทบาทและอำนาจในด้านการซื้อขายนักเตะมากขึ้น ไม่ถูกจำกัดเหมือนในยุคของ เอเมรี่ ที่คุมทีมซ้อมและลงแข่งเท่านั้น ตำแหน่งของ อาร์เตต้า อาจจะยังเป็น "เฮดโค้ช" เหมือนเดิม แต่งานที่ทำจริงๆ มีความขอบข่ายเพิ่มขึ้น 

อาร์เตต้า สามารถพูดคุยโดยตรงกับ เอดู ว่าต้องการนักเตะคนใด แบบไหน ระบุชื่อได้เลย จากนั้นก็ให้ เอดู ดำเนินการดึงตัวมาร่วมทีม การเป็นอดีตนักเตะด้วยกัน วัยไล่เลี่ยกันห่างเพียง 4 ปี ทำให้ 2 คนนี้คุยกันได้ง่าย เปิดใจได้ ไม่มีนอก ไม่มีในเพราะต่างมีความมุ่งมั่นพาทีมประสบความสำเร็จให้ได้ 

น่าสนใจอย่างยิ่งว่า วิไน เวนเกตชาม, เอดู กาสปาร์ และ มิเกล อาร์เตต้า 3 ประสานยุคใหม่ของ อาร์เซน่อล จะนำพาสโมสรก้าวไปได้ไกลมากเพียงใด ซึ่งในตอนนี้คงไม่สามารถตอบได้ว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ของ อาร์เซน่อล จะ "ผิด" หรือ "ถูก"

แต่ในฐานะแฟนบอลคงต้องเอาใจช่วยให้เป็นการเปลี่ยนที่ถูกต้อง เพื่อให้สโมสรได้กลับไปอยู่ในจุดที่ควรจะเป็นอีกครั้ง


ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ระดับ : {{val.member.level}}
{{val.member.post|number}}
ระดับ : {{v.member.level}}
{{v.member.post|number}}
ระดับ :
ดูความเห็นย่อย ({{val.reply}})

ข่าวใหม่วันนี้

ดูทั้งหมด