:::     :::

โบกมือลาเพื่อนเก่าที่ชื่อ "เมลวู้ด"

วันเสาร์ที่ 14 พฤศจิกายน 2563 คอลัมน์ ศาสดา On The Ball โดย ศาสดาลูกหนัง
1,393
ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
จุดเริ่มต้นของสนามซ้อม เมลวู้ด กับ แอ็กซ่า เทรนนิ่ง เซนเตอร์ เกิดขึ้นบนความปราถนาในสิ่งเดียวกัน นั่นก็คือ ต้องการให้ ลิเวอร์พูล พัฒนาไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง

ย้อนกลับไปในปี 1959 สิ่งแรก ๆ ที่ บิลล์ แชงค์ลี่ย์ เริ่มต้นปฏิวัติทีม ลิเวอร์พูล​ ก็คือ การปรับปรุงสนามซ้อมของทีมที่ชื่อว่า

 

"เมลวู้ด"

 

สนามซ้อมแห่งนี้เกิดขึ้นจากวิสัยทัศน์ของผู้บริหารหงส์แดงเมื่อเกือบ 70 ปีที่แล้ว ที่ต้องการรักษาสภาพหญ้าของ แอนฟิลด์ ให้สมบูรณ์ในวันแข่ง จึงได้จัดหาสนามซ้อมเอาไว้ให้ทีมชุดใหญ่ไปฝึกซ้อมกันที่นั่นทุกวัน แต่ด้วยความที่ไม่ค่อยมีกุนซือคนไหนให้ความสนใจในตัวของสนามซ้อมแห่งนี้มากนัก เมลวู้ด จึงทรุดโทรมและกลายเป็นแค่สถานที่ที่นักฟุตบอลมาซ้อม แล้วก็กลับบ้าน โดยที่ไม่มีใครรู้สึกผูกพันอะไรเลยในตอนนั้น

 

จนกระทั่งการมาถึงของ บิลล์ แชงค์ลี่ย์ นั่นแหละครับ



 

ครั้งแรกที่เขาเห็นสภาพของ เมลวู้ด ยอดกุนซือของหงส์แดงถึงกับอุทานออกมาว่า "มีพวกเยอรมันมาทิ้งระเบิดที่นี่รึเปล่าเนี่ย?" เพราะสภาพของ เมลวู้ด ในตอนนั้นไม่คู่ควรกับสนามซ้อมในระดับการเล่นฟุตบอลอาชีพเลยสักนิดเดียว

 

สำหรับโค้ชทั่วไป อาจเริ่มต้นทำงานด้วยการหานักเตะดี ๆ มาเสริมทัพ แต่สำหรับ แชงค์ลี่ย์ แล้ว เขามองไปที่ภาพกว้างและเน้นตรงสิ่งสำคัญอย่าง "รากฐาน" มากกว่าสิ่งใดทั้งหมด

 

ทอม รัช นักเตะของ ลิเวอร์พูล​ คือคนที่พา แชงค์ลี่ย์ ไปทำความรู้จักกับ เมลวู้ด โดยรัชเล่าว่า เขาใช้เวลาครึ่งวันในการพา แชงค์ลี่ย์ เดินสำรวจ เมลวู้ด ทุกซอกทุกมุม อีกทั้งยอดกุนซือชาวสกอตต์ยังจดบันทึกรายละเอียดต่าง ๆ เพื่อนำไปวางแผนสำหรับการบูรณะสนามซ้อมแห่งนี้ใหม่ในคืนนั้นทันที

 

แชงค์ลี่ย์ สั่งให้ทีมงานปูหญ้าใหม่ จัดแบ่งสนามซ้อมย่อยออกมา 3 สนาม หนึ่งในนั้นคือสนามที่ใช้สำหรับเล่นฟุตบอล ไฟว์ อะ ไซด์ อันกลายมาเป็นพื้นฐานของการเล่นแบบ "พาส แอนด์ มูฟ" จนโด่งดังในเวลาต่อมา

 

อีกทริคนึงที่ แชงค์ลี่ย์ นำมาใส่ใน เมลวู้ด ก็คือ "ชู้ตติ้ง บ็อกซ์" ซึ่งจะเป็นกล่องสำหรับไว้ให้นักเตะยิงประตูใส่ แต่เพิ่มความยากลงไปด้วยการทำพื้นสนามส่วนนั้นเป็นดินทราย จึงเกิดความยากมากกว่าเดิมเวลายิงประตู แต่นั่นคือเคล็ดลับสำคัญที่ทำให้นักเตะ ลิเวอร์พูล​ ยุคนั้นมีลูกยิงที่หนักหน่วงและแม่นยำมาก ๆ



 

นอกจากนี้ เมลวู้ด ยังถูกพัฒนาให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกเพิ่มขึ้นหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นโรงยิมสำหรับพัฒนากล้ามเนื้อ ห้องซาวน่าสำหรับนักเตะ ซึ่งที่นี่ถือเป็นอีกเคล็ดลับของ แชงค์ลี่ย์ เช่นกัน เพราะการเข้าห้องซาวน่าจะช่วยให้ระบบโลหิตหมุนเวียนได้ดี ทำให้หัวใจสามารถสูบฉีดเลือดไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้สมบูรณ์ หลักฐานอ้างอิงก็คือ นักเตะหงส์แดงชุดที่คว้าแชมป์ลีกปี 1965-66 นั้น มีผู้เล่นที่ได้ลงสนามเป็นตัวหลักจริง ๆ แค่ 14 คนเท่านั้น มันบ่งบอกว่านักเตะของ แชงค์ลี่ย์ มีสภาพร่างกายที่แข็งแรงมาก ๆ

 

และอีกจุดที่โด่งดังจนเป็นตำนานก็คือ "ห้องเก็บรองเท้า" หรือที่เรารู้จักกันดีในชื่อ บูทรูม นั่นเอง

 

บูทรูม คือสถานที่ที่ แชงค์ลี่ย์ กับสตาฟฟ์ของทีมมักจะยืนพูดคุย ปรึกษาเรื่องฟุตบอลกันเป็นประจำ และมันยังกลายเป็นที่ส่งต่อตำราฟุตบอลจากรุ่นสู่รุ่นอีกด้วย



 

ที่ เมลวู้ด แชงค์ลี่ย์ ไม่ได้สร้างแค่สนามซ้อมให้ดีขึ้นเท่านั้น แต่เขายังสร้างรากฐานดี ๆ ไว้ที่นั่นอีกมากมาย ยกตัวอย่างการเดินทางมาสนามซ้อม นักเตะ ลิเวอร์พูล ทุกคนจะต้องจอดรถไว้ที่ แอนฟิลด์ แล้วนั่งรถบัสมาที่นี่ด้วยกันเท่านั้น มองในแง่ของวิทยาศาสตร์การกีฬาก็คือ แชงค์ลี่ย์ ต้องการให้นักเตะทุกคนวอร์มดาวน์หลังการซ้อมอย่างถูกวิธีเหมือน ๆ กัน เพื่อช่วยลดเรื่องอาการบาดเจ็บ

 

แต่หากมองในแง่ของจิตวิทยาแล้ว นี่เป็นการสร้างระเบียบวินัยในทีมอย่างแยบยล อีกทั้งการได้นั่งอยู่บนรถคันเดียวกันทั้งตอนไปและกลับ ยังช่วยให้ทีมเกิดความสนิทสนมกลมเกลียวกันได้ง่ายขึ้นอีกด้วย

 

ดังนั้น การเกษียณตัวเองของ เมลวู้ด จึงเป็นมากกว่าแค่การบอกลาสนามซ้อมที่อยู่คู่กับทีมมาร่วม ๆ 70 ปี แต่ความรู้สึกมันเหมือนการบอกลา "เพื่อนเก่า" มากกว่า

 

เพื่อนคนที่เป็นฐานแห่งความสำเร็จให้ ลิเวอร์พูล มายาวนาน เป็นสถานที่ที่ผลักดัน ร็อบบี้ ฟาวเลอร์, ไมเคิ่ล โอเว่น, เจมี่ เร้ดแนปป์, สตีฟ แม็คมานามาน, เจมี่ คาราเกอร์, สตีเว่น เจอร์ราร์ด, เทรนท์ อเล็กซานเดอร์ อาร์โนลด์ และคนอื่น ๆ อีกนับไม่ถ้วน​ให้เติบโตขึ้นมาจนเป็นตำนานของทีม

 

การย้ายจาก เมลวู้ด ไปยัง แอ็กซ่า มันอาจทำร้ายความรู้สึกของคนที่นิยมความโรแมนติคก็จริง แต่มันคือการก้าวผ่านสิ่งเก่า ๆ ไปยังสิ่งใหม่ที่ทันสมัยและดีกว่าเดิมอย่างเห็นได้ชัด

 

แม้สถานที่จะไม่อยู่แล้ว แต่สำหรับแฟน ลิเวอร์พูล นั้น "เมลวู้ด" ไม่เคยหายไปไหน เพราะที่นั่นมันไม่ใช่แค่สนามซ้อม แต่มันคือ "ราก" ของ ลิเวอร์พูล

 

และตอนนี้ เราแค่ย้ายรากไปยังพื้นที่ที่ใหญ่กว่าเดิม เพื่อรอเก็บเกี่ยวผลที่ใหญ่กว่าเดิม เหมือนครั้งที่ แชงค์ลี่ย์ วางรากนั้นไว้ที่ เมลวู้ด เมื่อปี 1959 นั่นยังไง




ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ระดับ : {{val.member.level}}
{{val.member.post|number}}
ระดับ : {{v.member.level}}
{{v.member.post|number}}
ระดับ :
ดูความเห็นย่อย ({{val.reply}})