:::     :::

Spatial Analysis : การวิเคราะห์ปัจจัยเชิงพื้นที่ในการขยาย Old Trafford

วันอังคารที่ 22 มีนาคม 2565 คอลัมน์ #BELIEVE โดย ศาลาผี
2,142
ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
นี่คือบทความที่ใช้การวิเคราะห์เชิงพื้นที่ (Spatial Analysis) มาช่วยเคลียร์ความเข้าใจในเรื่องปัญหาที่ติดขัดของการดำเนินงานเพื่อ "ขยายสนาม" โอลด์แทรฟฟอร์ด ว่าติดเรื่องใดๆบ้าง มีปัจจัยอะไรที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเชิงพื้นที่ และเรื่องของงบประมาณ ที่แฟนผีควรรู้

มีประเด็นล่าสุดเกิดขึ้นมาเกี่ยวกับเรื่องของแพลนการขยายสนามโอลด์แทรฟฟอร์ด อันเป็นเมืองมักกะห์แห่งสาวกปีศาจแดง ให้มีความจุมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งเชื่อว่าเรื่องนี้น่าจะเป็นความฝันของแฟนแมนยูมาตั้งแต่ยุคเก่าๆแล้วว่า วันนึงเราก็อยากที่จะมีสนามที่ใหญ่ไม่แพ้ศักดิ์ศรีของสนามบิ๊กเบิ้มสุดๆอย่าง "คัมป์นู" แน่ๆ

การที่เราไปคว้า "ทริปเปิลแชมป์" ที่สนามแห่งนี้ ทำให้หมุดหมายแห่งความฝันในการขยายสนามเหย้าของเรา เชื่อว่าแฟนผีส่วนใหญ่น่าจะมองที่การขึ้นไปเทียบความใหญ่ให้ใกล้เคียงกับคัมป์นูของบาร์เซโลน่ามากกว่านี้

คัมป์นูมีความจุอย่างเป็นทางการในปัจจุบันอยู่ที่ 99,354 seats


ย้อนกลับไปเมื่อปี 2017 สโมสรมีแพลนที่จะขยายสนามฝั่งอัฒจันทร์ด้านใต้ของสนาม "Old Trafford" (Sir Bobby Charlton Stand) ด้วยการเพิ่มที่นั่งราว 7,500 ที่นั่ง เพื่อที่จะขยายขนาดของสนามอันมีมนต์ขลังแห่งนี้ออกไปจากเดิม

แต่เนื่องด้วยการประเมินราคาค่าก่อสร้างในโปรเจ็คดังกล่าวนั้น พิจารณาดูแล้วน่าจะเป็นตัวเลขที่แพงมากๆ แผนงานดังกล่าวจึงพับไปก่อน


ปัญหาสำคัญของโปรเจ็คการขยาย southern sector ซึ่งเป็นฝั่งของ Sir Bobby Charlton (ฝั่งด้านที่กล้องทีวีถ่ายทอดสดในทุกๆนัดนั่นแหละ) คือเรื่องของการที่อัฒจันทร์ด้านใต้นั้นด้านหลังติดทางรถไฟสายหลักแบบเต็มๆ แถมยังขนาบต่อไปด้วยเส้นเลียบทางรถไฟที่เป็นถนนชุมชนด้านหลังอีก

ไม่ต้องบอกก็รู้ว่า การจะขยายสนามฝั่งนี้จะต้องใช้งบค่อนข้างเยอะ และการขยายก็มีข้อจำกัดอยู่พอสมควรในด้านการวางรากฐานของอาคารเพื่อต่อเติมพื้นที่ ไม่แปลกว่าโปรเจ็คนี้ทำไมพับไปก่อนเร็วมาก

ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของOTF ด้านใต้ติดทางรถไฟสายหลักแบบเต็มๆ(เรดไลน์) เป็นฝั่งที่ดูคับแคบและขยายยากที่สุดในบรรดา4ด้าน

ปัจจุบัน สนามโอลด์แทรฟฟอร์ด มีจำนวนที่นั่งอย่างเป็นทางการอยู่ที่ตัวเลข "74,140" seats

เพื่อที่จะขึ้นไปแตะถึง 80,000 ที่นั่ง หรืออาจจะมีแพลนไปถึง 90,000 เลยก็ได้ในอนาคต เพื่อที่จะรองรับการเข้าชมของแฟนบอล Manchester United ที่ส่วนใหญ่ก็จะเข้ามาชมกันเกือบๆจะเต็มความจุของสนามทุกนัดโดยเฉลี่ย

นอกเหนือจากสองซีซั่นก่อนที่มีการจำกัดผู้ชมเข้าสนามฟุตบอล ทั้งปี 2019/20 และ 2020/21 จำนวนผู้ชมโดยเฉลี่ยของโรงละครแห่งความฝันแห่งนี้อยู่ที่ราวๆ 74,000 โดยประมาณอยู่แล้ว (stadiumdb.com)

ค่อนข้างชัด ภาพนี้ถ่ายมาให้เห็นว่า ฝั่ง South Stand มีรถไฟวิ่งผ่านจริงๆ -*- ส่วนด้านเหนือยังมีสะพานน้ำ Bridgewater way แฉลบผ่านอีก

ครั้งสุดท้ายที่มีการขยับขยายโครงสร้างจุดใหญ่ๆที่เป็น Major Upgrades ก็คือช่วง July 2005 ถึง May 2006 รวมระยะเวลาราวๆเกือบหนึ่งปีของการปรับปรุงสนามในครั้งนั้น จนถึงบัดนี้ก็ตกราวๆ 15 ปีแล้วที่สนามของเราเริ่มที่จะเก่าและผุพังลงไปบ้าง ตามที่คำกล่าวของอดีตผู้เล่นเก่าหลายๆรายและนักข่าวรวมถึงแฟนบอลบอกไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแกรี่ เนวิลล์ เป็นต้น ซึ่งนั่นก็คงจะเป็นเรื่องจริง

เฮียเนฟเคยพูดถึงเรื่องนี้ตรงๆว่า

"คุณดูสโมสรเราสิ สนามเหมือนจะดูดีนะเวลามองเห็นในทีวี แต่เบื้องหลังจริงๆมันเก่าและเน่ามากๆ สนามฝึกซ้อมนี่แทบจะไม่ติดท็อปไฟว์ของประเทศด้วยซ้ำ พวกเขาเข้าไปไม่ถึงรอบรองแชมเปี้ยนส์ลีกมาสิบปีแล้ว และเราไม่ได้แชมป์ลีกมา8ปีเต็มๆ พื้นที่รอบๆสนามไม่ได้ถูกปรับปรุงพัฒนาเลย รกร้างมาก แต่ทีมอื่นๆเขาพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อการเข้าไปรับชมของแฟนอลกันทั้งนั้น ตระกูลเกลเซอร์ไม่สามารถทำตามข้อกำหนดทางการเงินได้เลย และแฟนๆก็หมดความอดทนแล้ว"

เฮียว่าไว้แบบนี้ ซึ่งหลักๆคือการตำหนิการบริิหารของเกลเซอร์นั่นแหละ แต่ก็สะท้อนปัญหาของสเตเดี้ยมเราได้เป็นอย่างดีทีเดียวว่าต้องปรับปรุงจริงๆ

โดยที่ตลอด 11 ปีหลังสุด แมนยูไนเต็ดทุ่มงบประมาณในส่วนของการพัฒนาสนามเพียงแค่ 118 ล้านปอนด์เท่านั้นที่ลงทุนเพื่อสนาม แต่ในทางกลับกัน ไปดูทีมคู่แข่งอื่นๆ ลิเวอร์พูลใช้เงินปรับปรุงแอนฟิลด์ไป 278ล้านปอนด์, ซิตี้ใช้เงิน 374ล้านปอนด์ และ รายใหญ่สร้างใหม่อย่าง ท็อตแน่ม ฮอตสเปอร์ ใช้เงินทั้งสิ้น 1.4พันล้านปอนด์!

ส่วนแมนยูไนเต็ด ก็หญ้าสวยมากๆ เพราะได้รับน้ำฝนอย่างเพียงพอ (เพราะหลังคารั่ว น้ำเจิ่งลงมาในสนาม) แถมอุดมสมบูรณ์จน "น้อนๆ" เข้ามาวิ่งเล่นในสนามกันอย่างมีความสุข

รายงานย้อนหลังเดือนมกราคม ปี 2015 จาก Sportsmail เล่าเรื่องราวที่สโมสรต้องพยายามหาทางกำจัดหนูให้ได้ เพราะได้รับรายงานว่า มีหนูเข้าไปยังแม้กระทั่งห้องทำงานของบุคลากรแมนยูไนเต็ด และก็กำจัดได้ไม่สำเร็จ จนกระทั่งถูกรายงานในใบโนติสข้างล่างดังนี้

ด้านบนนี้คือรายงานเรื่องสุขอนามัยของอาหารที่โอลด์แทรฟฟอร์ดในปี 2015 ซึ่งถูกตำหนิในรายงานว่า สโมสรไม่สามารถดูแลความสะอาดและควบคุมให้พื้นที่ทำอาหารในบริเวณสนามนั้นสะอาดมากพอจากพวกแมลงสกปรกต่างๆรอบๆพื้นที่ปรุงอาหาร

งามไส้ดีแท้

ปัญหาเรื่องของหนูได้รับการรีพอร์ทบ่อยมากๆว่าวุ่นวายจริงๆที่โอลด์แทรฟฟอร์ด

เรื่องสุขภาพอนามัยทางพื้นที่ดังกล่าวที่มีพวกหนูแมลงสกปรกมารบกวนนี้นั้น มันเป็นปัญหาที่ต้นเหตุมาจาก "ปัจจัยทางภูมิศาสตร์" เช่นกัน

ภาพโอลด์แทรฟฟอร์ดปี 1930 ก็จะเห็นชัดเจนว่าสถานที่ตั้งโดนขนาบด้วยรางรถไฟและสะพานน้ำมาตั้งแต่อดีตแล้ว ขยับขยายยากมาก

ซึ่งเชื่อว่าหลายๆบ้านน่าจะเข้าใจปัญหานี้เวลาเจอกับตัวเอง เพราะโลเกชั่นของสนามนั้นติดพื้นที่ที่เป็น "คลอง" ในบริเวณฝั่ง North Stand ตามที่เห็นในแม็พ

พูดง่ายๆบ้านใครติดน้ำ ติดท่อ ติดคลอง ติดบริเวณที่มีขยะ เจอปัญหาแบบนี้หมด และไม่ใช่แค่หนู รวมถึงแมลงสาบด้วย


น้อนนนนนนนนน

ปี 2010 หนูวิ่งลงมาบนสนามในขณะที่แมนยูไนเต็ดกำลังแข่งกับเวสต์แฮมอยู่ และ 4 ปีก่อนหน้านี้ในช่วง 2006 ก็เจอผู้เล่นของทีม Burton Albion โวยกับกรรมการ ในเกมที่พวกเขาแพ้แมนยู 5-0 ศึกเอฟเอคัพปีนั้นว่า มีหนูเข้ามารบกวนในสนามเต็มไปหมดเลย

โคตรน่าอายเลย -*-

นอกจากหนูแล้ว ยังมี "น้ำ" อีก

เดือนเมษายนปี 2019 พายุเข้าสู่ชายฝั่งบริเวณพื้นที่โซนตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศอังกฤษ ในช่วงชั่วโมงก่อนจะมีแข่งเกมดาร์บี้แมตช์ระหว่างยูไนเต็ดกับซิตี้ ชิ้นส่วนหลังคาของสนามOTFนั้นหลุดออก และน้ำรั่วลงมาบริเวณที่นั่งที่ยังไม่มีคนเข้ามาในสนามในตอนนั้น

ดูภาพทางซ้ายนั่นคืออดีตที่เคยรั่วมารอบนึงแล้วตอนปี 2012 สนามโอลด์แทรฟฟอร์ดใช้เป็นสังเวียนเกมโอลิมปิคในการแข่งขันฟุตบอล มีฝนตกหนักในเกมระหว่าง สเปน เจอกับ โมร็อคโค ซึ่งหลังคาก็รั่วหลายๆจุด ยังดีที่เจ้าหน้าที่สามารถย้ายแฟนบอลไปนั่งจุดอื่นของสนามได้เพราะว่าเกมวันนั้นผู้ชมเข้าไปไม่เต็มความจุ

กลับมาพูดถึงเรื่องการขยายสนามกันต่อ ในฝั่งอัฒจันทร์ทางด้านเหนือที่เป็น Sir Alex Ferguson Stand ที่เราเห็นภาพสวยๆกันนั้น มีพอจะพื้นที่เล็กให้ขยับขยายได้อยู่ แต่จากการศึกษาและประเมินมูลค่าการต่อเติม มีความซับซ้อน และก็จะต้องใช้เงินค่าใช้จ่ายอยู่ราวๆ หนึ่งพันล้านปอนด์โดยประมาณ

แผนงานจึงไม่สามารถทำได้ง่ายๆนัก เพราะเป็นเงินลงทุนจำนวนมหาศาล และต้องค่อยๆตัดสินใจตัวเลือกอื่นๆที่เป็นไปได้ ซึ่งก็คือการขยับขยายส่วนอื่นๆของสนามแทนว่า เพิ่มความจุในจุดไหนได้บ้าง

ข่าวล่าสุดเรื่องของการขยายสนาม เริ่มมีมาตั้งแต่ราวๆปลายปีที่แล้ว ไม่ใช่เพิ่งมีเมื่อไม่กี่วันมานี้ ซึ่งช่วงนั้นอาจจะไม่ได้เป็นข่าวอะไรคึกโครมมากมาย (เพราะคนโฟกัสเรื่องฟอร์มการเล่นแย่ๆของทีม ดูจะเป็นเรื่องหนักหนาที่ใกล้ตัวกว่าจะต้องมากังวลเรื่องขยายสนาม เอาให้คนดูกลับมาศรัทธาทีมและสโมสรก่อนดีกว่านะ)

ปลายปีก่อนมีการเปิดเผยจาก Collette Roche (ซึ่งจะเรียกสั้นๆว่า "โรเจ้") ผู้ดำรงตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการของสโมสรแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด (Manchester United's Chief Operating Officer)

โรเจ้กล่าวเอาไว้ว่า


"การพูดคุยกับแฟนบอลในฟอรัมนั้นทำให้ได้แนวคิดที่ดีและน่าตื่นเต้นมากในการขยายสนาม ซึ่งยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นและยังเร็วเกินไปที่จะกำหนดกรอบระยะเวลาที่ชัดเจนลงไปได้ แต่เราตั้งใจที่จะให้คณะกรรมการ ที่ปรึกษาของกลุ่มที่ประชุมแฟนบอลมีส่วนร่วมในกระบวนการนี้ และเราจะทำการสรุปข้อมูลในฟอรัมนี้ด้วย”

โรเจ้ กล่าวเอาไว้กับฟอรัมแฟนผีดังนี้ ก็ค่อนข้างชัดเจนและทำให้ผู้อ่านได้เห็นภาพว่า มันมีการดำเนินงานดังกล่าวมาเรื่อยๆ นอกจากนี้เจ้ยังพูดถึงรายละเอียดเอาไว้อีกดังนี้

"ได้มีการประชุมกันในเบื้องต้นกับบริษัทผู้ดูแลเรื่องสถาปัตย์และวิศวกรรมหลายๆแห่งเพื่อให้พวกเขาพรีเซนท์นำเสนอการมาเป็นพันธมิตรผู้ร่วมงานหลักในโครงการดังกล่าว"

"เราเปิดกว้างต่อข้อเสนอแนะที่ดีที่สุดซึ่งจะเข้ามา รวมถึงสโคปขอบเขตของการทำงานด้วย ซึ่งก้าวต่อไปคือการแต่งตั้งหัวหน้าฝ่ายวางแผนงานตรงนี้ ส่วนฝั่งแคริงตันก็จะก้าวไปข้างหน้า โดยเรามีแผนพัฒนาหลักแล้วเรียบร้อยโดยเป้าหมายก็คือเรื่องของการบูรณาการ และ facilities อำนวยความสะดวกหลักๆสำหรับสามกลุ่ม ทั้งฝ่ายทีมชาย ทีมหญิง และของฝั่งนักเตะเยาวชน ซึ่งเรากำลังกำหนดขอบเขตแผนงานอยู่"

โรเจ้ว่าไงก็ตามนั้น แพลนเจ้ แล้วแต่เจ้เลย!!!


จนกระทั่งล่าสุด ข่าวได้ออกมาดังนี้ว่า มีการประเมินราคาที่จะขยายสนามไปสู่ความจุใหม่ที่ "80,000 ที่นั่ง" ของแมนยูไนเต็ด คาดการณ์ไว้ว่าน่าจะมีมูลค่ามากกว่า 1.1 พันล้านปอนด์ ซึ่งแพงกว่าสนามสุดล้ำของทีมล่าสุดที่เพิ่งลงทุนไปอย่างท็อตแน่ม ตามที่คาดไว้จากที่ปรึกษาของสโมสร

โดยตัวเลือกคือการขยายอัฒจันทร์ด้านใต้ที่เป็นของ เซอร์บ็อบบี้ ชาร์ลตัน จะใช้วิธีต่อเติมขึ้นไปและ "คร่อมด้านบนของรางรถไฟด้านหลัง" (ตามภาพที่ผมทำมาให้ดูเพื่อให้เข้าใจมิติทางพื้นที่รอบๆสนาม)

การต่อเติมปรับปรุงอัฒจันทร์ด้านใต้ของ Sir Bobby Charlton Standนี้ จะใช้เงินราวๆ 400ล้านปอนด์ จะทำให้สนามประวัติศาสตร์แห่งนี้มีขนาดทะลุ 80,000 ที่นั่งได้สำเร็จ

ภาพที่แฟนผีไม่ค่อยได้เห็นเต็มๆกันในเวลาถ่ายทอดสด เพราะอยู่ฝั่งเดียวกับกล้องถ่ายหลัก

โดยที่โปรเจ็คขยายสนามทางด้านใต้ที่เป็น Sir Bobby Charlton Stand นี้นั้นดูเหมือนว่าตระกูลเกลเซอร์จะต้องการเลือกชอยส์นี้มากกว่า ซึ่งพวกกลุ่มผู้บริหารเองก็จะมานั่งดูในอัฒจันทร์ฝังนี้เป็นหลักอยู่ด้วย และมีปัญหาหลักๆอยู่ที่ความไม่ทันสมัยของสแตนด์ฝั่งนี้

จากคำให้สัมภาษณ์ในช่วงปีก่อนหน้านี้ของ "โรเจ้" ก็จะเป็นที่เข้าใจกันกับแฟนบอลว่า การขยายสนามดังกล่าวที่ว่านี้จะต้องมีการพูดคุยปรึกษาและรับฟังความคิดเห็นของแฟนบอลกันอีกครั้งเพื่อที่จะปรับปรุงโอลด์แทรฟฟอร์ดให้เป็นโฉมใหม่ต่อไป

ปู่บอกว่า ปัญหาสแตนด์ฝั่งนี้ไม่เกี่ยวกับปู่น้าาาา หลานๆ มันเพิ่งมาให้ชื่อสแตนด์เป็นชื่อปู่เมื่อปี 2016 เองจ้า

เรื่องของการติดตามความคืบหน้าในการปรับปรุงสนามนั้น เกลเซอร์หลังจากที่โดนบอมป์ด้วยการประท้วงและบุกรุกเข้ามาในโอลด์แทรฟฟอร์ด และชี้ให้เห็นวา่เขาไม่ยอมลงทุนปรับปรุงสนามใดๆเลยและปล่อยให้ผุพังเสื่อมโทรมแบบนี้มาตลอดนับตั้งแต่ซื้อสโมสร

จึงมีข่าวว่า ซีซั่นก่อนยูไนเต็ดใช้เงินลงทุนไป 20 ล้านปอนด์ปรับปรุงรังเหย้า โดยพวกเขาเพิ่มเติมสาธารณูปโภคด้านสุขอนามัยเพื่อป้องกันโควิดขึ้นมาใหม่ ทำป้ายใหม่ เปลี่ยนแปลงระบบซื้อตั๋ว และใช้เงิน 11 ล้านปรับปรุง facilities ต่างๆในการช่วยอำนวยความสะดวกเพื่อผู้พิการ

ห้องแต่งตัวค่อนข้างคลาสสิคมากๆ(สังเกตฝ้ากับไฟ) แต่ในขณะเดียวกัน ข้อดีดังกล่าว ก็มีข้อเสียเรื่องการขาดอุปกรณ์ทันสมัยต่างๆด้วย

มีการวางแพลนที่จะสร้างที่รางที่นั่งในบริเวณตะวันออกเฉียงเหนือของสนาม ซึ่งหยุดทำในช่วงมีโควิด แต่ซัมเมอร์นี้น่าจะกลับมาสานต่อและทำให้โอลด์แทรฟฟอร์ดเต็มความจุอีกครั้ง

ข้ามฝากไปดูคู่อริเพื่อนบ้านอย่างซิตี้บ้าง พวกเขาสร้างพื้นที่ให้แฟนบอลสามารถเข้ามองผ่านทางหน้าต่าง เพื่อดูอุโมงค์ทางเดินของนักเตะ ช่วงก่อนจะลงสนามได้ โดยมีค่าใช้จ่าย 299 ปอนด์ต่อเกม แต่ก็ยังถือว่าเป็นข้อได้เปรียบที่ดูดีกว่าสนามของยูไนเต็ดเยอะ

อิจฉาโว้ยยยยยยยยยยยยยยยยย

ในขณะที่พื้นที่โดยรอบของสนามเอติฮัด สเตเดี้ยมนั้นก็มีอาณาบริเวณค่อนข้างมากที่จะทำอะไรก็ได้ตามสะดวก ดูตามรูปนี้จะเห็นได้ชัดว่าถ้าจะต่อเติมก็ทำได้สะดวกกว่า

ปัจจัยในด้านมิติเชิงพื้นที่ของOTF จะเห็นจากภาพด้านบนนี้ว่า สนามตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่ที่เป็นเส้นทาง logistics ค่อนข้างเยอะ ติดทั้งคลอง ทางรถไฟ ส่วนสนามของซิตี้ ไปอยู่ในพื้นที่ที่ไม่ติดข้อจำกัดอะไรเลย แถมห่างแหล่งชุมชุนใกล้ๆด้วย ความคล่องตัวแตกต่างกันเยอะมากๆ

กลับกัน รอบๆสนามโอลด์แทรฟฟอร์ดเป็นพื้นที่จำกัดสุดๆ จะทำอะไรเพิ่มเติมก็ยาก โดยเฉพาะด้านหลังฝั่ง South Side ที่ติดรางรถไฟอย่างที่เห็นกันในภาพที่นำเสนอไว้แล้ว แถมติดโซนที่พักอาศัย มีถนนชุมชุน ตามที่รายงานไว้

หรือที่วงไว้ในโซนสีชมพูข้างล่างนี้ ถัดจากรางรถไฟ มีทั้งถนน ทั้งบ้านคนตลอดทั้งแนว


และภาพล่างก็น่าจะชัดเจนสุดๆ อัฒจันทร์ฝั่งทิศเหนืออาจจะมีพื้นที่กว้างขึ้นมาหน่อย และพอจะขยายได้บ้าง แต่ก็ยังติด เพราะทิศนั้นมี Bridgewater Way คลองเล็กๆที่เป็นสะพานน้ำของพื้นที่เมืองอีก

พื้นที่ใช้สอยรอบๆสนามน้อยมากจริงๆ

ปัจจัยเรื่องภูมิศาสตร์ สนามนี้น่าจะเหมาะสำหรับเป็นป้อมปราการในสงครามมากกว่า มีคูเมืองล้อมรอบ ป้องกันช้างข้าศึกได้ชะงัด!!! -*-

ซิตี้นั้นได้เปรียบในเรื่องที่มีพื้นที่รอบๆสโมสรเยอะมาก ส่วนยูไนเต็ดนั้น พื้นที่แคบมาก โดยเฉพาะประเด็นพื้นที่ทางทิศใต้ที่ติดรางรถไฟอย่างที่บอก

Sportsmail รายงานว่า เดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว ยูไนเต็ดมีแผนงานที่อยากจะปรับปรุงความจุสนามให้อัพเป็น 90,000 ที่นั่ง แต่การจะกระทำเรื่องดังกล่าวให้ได้มาตรฐาน นอกจากเงินราว 200 ล้านปอนด์แล้วในเบื้องต้น แมนยูไนเต็ดก็จะต้องย้ายสนามไปหารังเหย้าชั่วคราวใหม่ให้แฟนบอลอีกจึงจะดำเนินการได้

สิ่งที่สโมสรแถลงออกมาเมื่อปีที่แล้ว ต่อกรณีการปรับปรุงโอลด์แทรฟฟอร์ดนั้น พวกเขามีstatementในเรื่องนี้ ตัดมาประโยคสำคัญประโยคหนึ่งว่า

"ส่วนหนึ่งของเสน่ห์ในโอลด์แทรฟฟอร์ดก็คือ มันเป็นสนามเก่าแก่ที่สร้างมาตั้งแต่ปี 1910 วิสัยทัศน์ของเราต้องการที่จะทำให้สนามแห่งนี้มีชีวิตชีวามากขึ้น แต่ยังคงฟีลลิ่งในแบบที่ยังเป็น โอลด์ แทรฟฟอร์ด อยู่ นั่นคือวิธีการที่ดีที่สุดในเรื่องนี้ของเรา"

ภาพความฝันของแฟนผีทุกคนบนโลกนี้ที่จะได้เหยียบสนามแห่งนี้สักครั้ง

ริชาร์ด อาร์โนลด์ ให้สัมภาษณ์เอาไว้กับ BBC เมื่อปี 2018 ต่อเรื่องนี้ ในยามที่เขายังไม่ได้ขึ้นมารับหน้าที่ต่อจากเอ็ด วู้ดเวิร์ด เหมือนในปัจจุบัน ได้กล่าวเอาไว้ถึงเรื่องการปรับปรุงสนามแห่งนี้ว่า

"มันเป็นเรื่องซับซ้อนมากในเชิงวิศวกรรมที่จะทำมันให้สำเร็จ อาจจะต้องใช้เวลาหลายซีซั่นในการดำเนินการเรื่องนี้ และไม่แน่ใจว่าจะมีทางไหนในเรื่องนี้ที่ช่วยให้เราลงเล่นได้โดยไม่มีรังเหย้าจะใช้" (It isn't certain that there's a way of doing it which doesn't render us homeless.')

พูดภาษาชาวบ้าน น่าจะแปลได้ว่าคงต้องใช้เวลานานหลายปี และต้องหารังเหย้าใหม่ไปก่อนชั่วคราวนั่นแหละถึงจะขยายโอลด์แทรฟฟอร์ดได้นั่นเอง

เรื่องการรีโนเวทสนาม แฟนบอลแมนยูสมัยก่อนก็เคยเผชิญมาแล้ว ภาพข้างบนนี้คือภาพที่สนามกำลังปรับปรุง เกมในบ้านต้นยุค70s จอร์จ เบสต์กำลังพยายามเลี้ยงหลบนักเตะสิงห์แดงอยู่

ในจดหมายเปิดผนึกเมื่อปีก่อน โจเอล เกลเซอร์ ให้คำมั่นว่าเขาจะลงทุนไม่ใช่แค่กับสนามโอลด์แทรฟฟอร์ด แต่ยังเป็นสนามซ้อมที่แคริงตันด้วย

สรุปสุดท้ายในประเด็นเรื่องของแผนการ "ขยายสนามโอลด์แทรฟฟอร์ด" เรื่องนี้นั้น บทความนี้น่าจะทำให้ผู้อ่านได้เข้าใจปัจจัยทางภูมิศาสตร์ของโรงละครแห่งความฝันกันได้ดีขึ้นว่า มันมีปัญหาอย่างไรบ้างซึ่งก็ต้องจัดการหลายเรื่อง ทั้งกับสภาชุมชน และเรื่องของงบประมาณ รวมถึงรายละเอียดการต่อเติมปรับปรุงในเชิง technical อีกที่ต้องทำงานกันหนักมาก เนื่องจากเป็นสนามเก่าแก่อายุเกินร้อยปีแล้วที่ตำแหน่งที่ตั้งแรกเริ่มก็ก่อสร้างขึ้นมาตามความเป็นไปได้ในยุคนั้น

ภาพที่หลายๆคนไม่เคยเห็น กับ "โอลด์แทรฟฟอร์ด" ปี 1910 สุดยอดดดดดดดดดดดด

ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม เนื่องด้วยการพัฒนาทางด้านนวัตกรรมของสถาปัตยกรรมและการก่อสร้าง ค่าใช้จ่ายโดยประมาณต่อการอัพเกรดสนามก็สามารถช่วยให้เราลดcostตรงนี้ไปได้เยอะ หากสโมสรต้องการจะขยายสนามอย่างจริงจัง

ศักยภาพในการเพิ่มความจุให้มากกว่า 80,000 ที่นั่งในเบื้องต้นนั่นสามารถทำได้จริงแล้วในเชิงปฏิบัติ และสิ่งหนึ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือ หากสำเร็จก็จะยิ่งทำให้ demand และความหลงใหล ความต้องการของตั๋วแข่ง ก็จะยิ่งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

มุมฝั่ง Stertford End ภาพรวมมุมนี้ก็ไม่ค่อยมีคนเห็นเช่นกัน

สมมติฐานในเรื่องนี้โดยเบสิคๆ ก็จะมีแนวทางที่ชัดเจนและเป็นเอกภาพมากขึ้น จากการทำงานโดยสโมสร ร่วมกันกับแฟนบอล ในการพัฒนาส่วนทางด้าน Southern Side ของอัฒจันทร์ทิศใต้ให้ไปพร้อมๆกันกับฝั่งด้านบนที่ก่อสร้างขึ้นแล้วในทิศเหนือของสนาม

แต่นอกเหนือจากแผนการปรับปรุงโดยรวมดังกล่าวมาแล้ว ที่จะอัพเกรดฝั่งใต้ ตามด้านเหนือ โครงการขนาดใหญ่ดังกล่าวเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถของสนามเหย้าสโมสรของเรา อย่างโรงละครแห่งความฝัน จำเป็นอย่างมากที่จะต้องใช้เวลา และความอดทนรอคอยตรงนี้

สัเกตดีๆ สแตนด์ที่เก่าแก่ที่สุดและมีหลังคาอยู่ด้านเดียวสมัยก่อน ก็คือฝั่ง Sir Bobby Charlton หรือด้าน South Stand นั่นเอง

ลองจินตนาการถึงภาพโอลด์แทรฟฟอร์ดในวันที่อัพเกรดใหม่ ใหญ่กว่าเดิม โมเดิร์นจัดๆ สวยโคตรๆ ในขณะที่มนต์ขลังเก่าๆที่เราเชียร์ทีมนี้กันมา 20-40 ปีของแฟนบอลยุคปัจจุบันยังคงอยู่

ถ้าทำสำเร็จ มันจะเป็นอะไรที่น่าตื่นเต้นอย่างมากในอนาคต ซึ่งต้องรอคอยกันต่อไป ถึงแม้ว่าอาจจะต้องใช้เวลาถึงหนึ่งทศวรรษข้างหน้าก็ตามกว่าที่มันจะเป็นจริง

แฟนบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดคงจะเฝ้ารอวันนั้น พร้อมๆกับการกลับมาสู่การคว้าแชมป์และประสบความสำเร็จของทีมด้วย เพราะทุกอย่างล้วนแล้วแต่ต้องใช้เวลาและความอดทนทั้งนั้น

การประสบความสำเร็จและการสร้างทีมใหม่ของเราก็เช่นกัน

หากมนุษย์ยุคปัจจุบันเข้าใจความเป็นจริง ล้มเป็น ลุกเป็นแล้ว ความอดทนคงจะไม่ใช่เรื่องยากอะไร หากว่าทุกอย่างตั้งอยู่บนสิ่งที่เรียกว่า "ความรัก" ที่มีต่อสโมสร ก็เพราะถ้าเรารักใครสักคนแล้ว เราก็รอเขาได้ตลอดชีวิต ถูกไหมล่ะ?

ถึงตอนนั้น การไล่ล่าคัมป์นู เพื่อเทียบเคียงความยิ่งใหญ่และศักดิ์ศรีในเรื่องของขนาดและความจุสนาม ก็คงจะเป็นจริงสักที และเอาจริงๆแล้ว เรื่องคัมป์นูไม่ใช่สาระสำคัญอะไรของบทความนี้ ผู้เขียนเพียงแค่ยกตัวอย่างความฝันของแฟนผีหลายๆท่านขึ้นมาเปรียบเทียบให้เห็นภาพเท่านั้น

บอร์ดเราไม่ได้มีเป้าหมายอยู่ที่คัมป์นู แต่จริงๆมันอยู่ที่การแสดงออกเพื่อกดดันการบริหารสโมสรของเจ้าของอย่างตระกูลเกลเซอร์ และเป็นเรื่องของ "วิสัยทัศน์" ของเจ้าของทีมในการพัฒนาสโมสร ว่าอยากจะลงทุนเพื่อพัฒนาแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด มากน้อยเพียงใดเท่านั้นเอง

เพราะที่นี่คือสโมสรของทุกคน เป็นของแฟนบอลทุกคน

เราแค่ต้องการจะขยายสนามให้รองรับดีมานด์ที่มากขึ้นได้ เพื่อรายได้ที่เพิ่มกว่าเดิมในอนาคต ซึ่งก็เป็นข้อดีต่อแฟนบอลที่มีโอกาสเข้าไปดูได้ง่ายขึ้นถ้ามีที่นั่งเพียงพอ และสนามสวย ทันสมัย และจะเป็นข้อได้เปรียบในด้านรายได้ที่จะเข้าสโมสรเรามากขึ้นกว่าเดิมในอนาคตด้วย..

บทความนี้ แด่ "สนามที่ใหญ่ที่สุด" ซึ่งเราจะไม่ยอมให้ใครไล่ตามทันได้ในอังกฤษเด็ดขาด

แด่ Old Trafford

-ศาลาผี-

มุม East Stand ที่ไม่ค่อยมีใครถ่ายรูปมาโชว์ ให้บรรยากาศโคตรคลาสสิคเลย

References

https://theathletic.com/news/manchester-united-start-plans-to-expand-old-trafford-and-modernise-carrington/KcTzUalNl57w/

http://stadiumdb.com/news/2022/01/manchester_united_evaluate_old_trafford_modernisation_and_expansion

https://www.dailymail.co.uk/sport/football/article-9540559/Manchester-United-Glazers-left-Old-Trafford-decay.html

https://www.dailymail.co.uk/sport/football/article-3720412/Old-Trafford-picture-special-Manchester-United-s-iconic-stadium-evolved-106-years-Jose-Mourinho-prepares-make-new-home.html

ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ระดับ : {{val.member.level}}
{{val.member.post|number}}
ระดับ : {{v.member.level}}
{{v.member.post|number}}
ระดับ :
ดูความเห็นย่อย ({{val.reply}})