:::     :::

Tactical Analysis "ย้อนเกล็ดยูงทอง" สิ่งที่แมนยูไม่ควรพลาดซ้ำสอง

วันอาทิตย์ที่ 12 กุมภาพันธ์ 2566 คอลัมน์ #BELIEVE โดย ศาลาผี
1,464
ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
แกะแทคติกที่ลีดส์ใช้กับแมนยูไนเต็ด และสิ่งที่แมนยูไนเต็ดอาจจะสามารถแก้ทางไม่ให้รูปเกมเป็นแบบที่เกิดขึ้นได้อีกครั้ง หากว่าทำสำเร็จ โอกาสที่จะไม่พลาดซ้ำสอง และอาจบุกไปชนะได้ จะเกิดขึ้นทันที

วันอาทิตย์นี้จะเป็นเกมที่แมนยูไนเต็ดต้องบุกไปเยือนลีดส์ยูไนเต็ด ในเกมพรีเมียร์ลีกที่ต้องเจอติดต่อกันสองแมตช์ ซึ่งเกมล่าสุดทั้งคู่เสมอกันมา 2-2 อย่างดุเดือดโดยที่ลีดส์เป็นฝ่ายขึ้นนำก่อนถึง 2 ประตู ก่อนที่แมนยูจะตั้งลำและบุกคืนใส่ลีดส์ และทวงคืนมาได้สำเร็จทั้งสองลูก แต่สุดท้ายไม่สามารถยิงนำได้ทันเวลา จึงแบ่งแต้มกันไปคนละ 1 คะแนน

สิ่งที่เกิดขึ้นในเกมนั้นมีแทคติกที่น่าสนใจหลายอย่างซึ่งลีดส์ใช้กับแมนยูไนเต็ดได้ดี ลองมาย้อนดูบางจุดที่แมนยูน่าจะเจออีกครั้งในเกมเยือนวันอาทิตย์นี้ เผื่อว่าจะแก้ไขและหาทางเอาชนะทีมยูงทองได้ มีอะไรบ้างลองไปดูกัน

1. Quick Transition

การเล่นเกมเร็วในจังหวะเปลี่ยนผ่านของเกม จากรุกเป็นรับ สังเกตได้ว่าในเกมนี้ลีดส์จะ "เล่นเร็ว" ทุกครั้งในจังหวะที่สวนกลับจากการชิงบอลเร็ว ซึ่งข้อดีของการเล่นเร็วที่เป็น quick transition นั่นคือการที่คู่แข่งจะ "ตั้งกระบวนป้องกัน" ได้ไม่ดีพอ นักเตะยังกลับมาป้องกันพื้นที่อันตรายได้ไม่หมด

เป็นเหตุทำให้ลีดส์มีโอกาสจะเจาะประตูของแมนยูได้สำเร็จ เพราะการโดนเล่นเกมเร็วใส่นั่นเอง

ภาพนี้มาจากประตูแรกที่เสียให้ วิลฟรีด ญอนโต้ ตั้งแต่นาทีที่หนึ่งของเกม มาจากจังหวะที่บรูโน่โดนเพรสและเสียบอลในแดนกลาง ซึ่งบอลถูกปั๊มมาให้ญอนโต้ ที่ยืนค้ำอยู่หน้าซ้าย สามารถลากเข้ามาโจมตีใส่แนวรับแมนยูที่เหลือเพียงไม่กี่คนด้านหน้าได้ทันที

เซ็นเตอร์แบ็คของแมนยูไนเต็ดยังไม่กลับมาประจำ position ขณะที่แดนกลางก็หายไปหมด เนื่องจากซาบิตเซอร์เองก็ขยับถ่างมาเพื่อรับบอล ส่วนเฟร็ดอยู่ด้านบนแทนตำแหน่งบรูโน่ ก็ลงมาปิดพื้นที่ได้ไม่ทัน สุดท้ายญอนโต้จึงใช้สปีดความเร็วเล่นงานแนวรับแมนยูที่หลุดตำแหน่งกันอยู่ในจังหวะนั้น และหาช่องยิงเข้าไปในที่สุด

ภาพข้างล่างนี้ก็เป็นอีกภาพนึงที่เห็นเลยว่าระเบียบของแนวรับแมนยูไนเต็ดที่มีพื้นที่ว่างเกิดขึ้นมา ส่งผลให้เกมรับไม่สามารถป้องกันได้ในจังหวะนี้

ผลดีจากการเล่นเร็วล้วนๆ คล้ายคลึงกับกฎ10วินาทีที่ใช้ในจังหวะ counter-attack เร็วซึ่งส่งผลดีทำให้เกมรุกสามารถเจาะเกมรับคู่แข่งได้ จากการเล่นเร็วที่ต้องหาจังหวะจบสกอร์ให้เร็วที่สุดนั่นเอง

ส่วนจังหวะประตูที่สอง ที่แมนยูโดน 0-2 จากลูกที่ซัมเมอร์วิลล์เปิดยัดเข้ามาและโดน ราฟาเอล วาราน เข้าประตูตัวเอง ก็เกิดจากจังหวะชิงบอลกันในแดนกลาง และเป็นลีดส์ที่เอาชนะมาได้ ในจังหวะที่บอลมาเข้าทาง จะเห็นชัดเลยว่าเกมรับของยูไนเต็ดยังไม่เข้าประจำ position ที่ดี แต่โดนความเร็วของลีดส์เล่นงานใส่พื้นที่ว่างอีกครั้ง

ในภาพด้านล่างนี้จะเห็นชัดเจนว่าตัวริมเส้นของลีดส์สองคน รอจังหวะโจมตีอยู่ในพื้นที่ที่ดีมาก ซึ่งสุดท้ายแล้วบอลถูกส่งถ่างออกมาให้ญอนโต้ และแทงต่อให้ซัมเมอร์วิลล์ เข้ามาโจมตีจนเกิดประตูในที่สุด พื้นที่ด้านข้างฝั่งขวาของแมนยูจังหวะนั้นโล่งมาก และทีมก็ต้องเจอเกมเร็วเล่นงานจนเสียประตูลูกที่สองไป จากจังหวะที่คล้ายคลึงกันทั้งสองประตู

วิธีแก้ไข : ครองบอลให้แน่นอน ไม่เสียบอลง่าย

การโดนโจมตีด้วย Quick Transition เช่นนี้สามารถป้องกันได้หลายอย่าง การป้องกันทางตรงคือเวลาเจอการสวนเร็ว แนวรับจะต้องตัดเกม ชะลอการเล่นเร็วของลีดส์ให้ได้มากที่สุด และต้องปรับกระบวนการยืนตำแหน่งให้เข้าที่โดยเร็วที่สุดเท่านั้น

เป็นเรื่องที่ทำยาก เพราะการโจมตีเร็วใช้ได้ผลเสมอ ไม่ว่าจะกับฟุตบอลแทคติกใดๆ

ส่วนการป้องกัน "ทางอ้อม" ซึ่งน่าจะดีและชัวร์กว่า ก็คือการที่ทีมจะต้อง  "ไม่เสียการครอบครองบอลง่ายๆ" จะต้องรักษาการครองบอลให้ดีกว่านี้ เพราะถ้าไม่พลาดเสียบอล โอกาสที่จะโดนชิงบอลไปบุกก็จะน้อยลง

สังเกตได้เลยว่าเกมนี้คืออีกหนึ่งนัดที่แมนยูครองบอลได้ไม่ดีนัก ไม่เหมือนเกมก่อนๆที่ผ่านมา เนื่องจากเจอเกมเพรสซิ่งสูงของลีดส์ขึ้นมาเล่นงานเราตลอดเวลาในช่วงหนึ่งชั่วโมงแรก

อีกจุดหนึ่งที่สามารถป้องกันอันตรายจากการโดนเล่นเร็วของลีดส์คือ หากไม่เสียบอลในพื้นที่แดนหลังของทีมก็จะปลอดภัยยิ่งขึ้น พูดง่ายๆคือ "อย่าพลาดเสียบอลในแดนต่ำ" ซึ่งลีดส์เขาเตรียมแผนนั้นมาอยู่แล้วที่ให้นักเตะดันขึ้นสูงมาเล่น High Pressing ก็เพื่อสิ่งนี้

จุดที่แก้ได้ก็คือเราต้องป้องกันรูปแบบดังกล่าวนี้ให้ได้ ถ้าโดนเพรสแล้วแก้ยากจริงๆก็ใช้วิธีสาดยาวออกมาลุ้นเก็บบอลแดนหน้าเอา ก็พอจะช่วยได้ เพราะยิ่งกันลีดส์ออกไปให้ได้บอลห่างจากปากประตูเราได้เท่าไหร่ โอกาสที่เขาจะสวนเร็วแล้วทำอันตรายได้ก็จะลดน้อยลงไปเท่านั้น

2. High Pressing

การเล่นเกมเพรสซิ่งของลีดส์ จะค่อนข้างชัดเจนว่าพวกเขาดันสูงขึ้นมาบีบใส่จนถึงแนวเซ็ตบอลจากแดนหลังของเรา ตลอด 60 นาทีแรกของเกมลีดส์ดันสูงขึ้นมาแบบนี้ตลอด จนเป็นผลให้พวกเขาชิงบอลโจมตีเร็วสำเร็จ และได้มาสองประตู ขณะที่เป็นการกดไม่ให้แมนยูขึ้นมาทำเกมในพื้นที่ Middle Third จนถึง Final Third ของพวกเขาได้ง่ายๆ

นอกจากเกมเพรสซิ่งของพวกเขาจะสร้างเกมรุกได้ในเวลาที่ชิงบอลสำเร็จแล้ว มันยังเป็นเกมรับที่ดี และเหมาะสมจะนำมาใช้เล่นงานแมนยูในวันที่ทีมขาด "มิดฟิลด์ตัวโฮลดิ้ง" ดีๆอยู่ในสนาม ทั้งคาเซมิโร่ และ อีริคเซ่น หายออกไปจากทีมหมด

การที่เฟร็ด หรือ ซาบิตเซอร์ ไม่สามารถเก็บบอลได้ ไม่ใช่ความผิดของพวกเขาโดยตรง แต่มันเป็นเพราะตำแหน่งการเล่นที่ถนัดทั้งคู่คือการเป็นมิดฟิลด์เบอร์ 8

ซาบิตเซอร์คือ box-to-box ที่เติมเกมสูงแล้วค่อนข้างอันตราย และได้น้ำได้เนื้อจากการยิงไกล และพละกำลังการเคลื่อนที่

ส่วนเฟร็ด เขาไม่มีความสามารถในการเก็บบอล เฟร็ดคือตัวเล่นที่เคลื่อนที่ตลอดเวลาเพื่อไปช่วยการเล่นของทีมให้ไหลลื่น ในลักษณะของตัวเชื่อมแบบมิดฟิลด์ลูกหาบ(Carrilero) ที่จะคอยรับบอลจากกลางต่ำไปต่อเกมให้แดนบน

พอจุดอ่อนของแมนยูเกิดขึ้นในช่วงเกมนัดเจอลีดส์พอดี ที่ขาดตัวโฮลดิ้งในแดนกลาง ผลก็คือบอลที่ถูกบีบสูง ไม่สามารถต่อขึ้นมาทางตรงกลาง และคุมบอล ครองบอลได้ง่ายๆ หลายๆครั้งจึงต้องออกบอลยาวไปให้แดนหน้า และบอลก็ไปไม่ถึงหน้าเป้าอย่างเว็กฮอร์สต์ ลูกจ่ายไม่ตรงบ้าง เจอลีดส์ตัดบอลได้บ้าง หรือทางขวาที่เป็นแรชฟอร์ดในเกมนี้ แรชก็ไม่ถนัดจริงๆในการเล่นทางขวา

ภาพข้างล่างนี้จะเป็นตัวบ่งบอกที่ดีในเรื่องของการ "ดันตำแหน่งขึ้นมาไล่บอล" ของลีดส์ ที่คุณจะเห็นเลยว่าตัวในแดนกลางของเขามี 5-6 ตัวบีบพื้นที่แมนยูอยู่(ขีดสีแดง) แมนยูต่อบอลครองบอลในพื้นที่นี้ไม่ได้เลย จนสุดท้ายแผงหลังต้องเลือกวางยาว และบอลก็ไปไม่ถึงกองหน้า

ในเกมที่แล้ว ทางเดียวที่แมนยูสามารถเปิดเกมได้คือให้กับการ์นาโช่ที่ฉีกมารับบอลทางซ้ายได้ดี ไม่งั้นเกมเจอลีดส์แมนยูไม่สามารถขึ้นเกมได้เลย

นี่คือปัญหาหนัก ที่เอริค เทน ฮาก จะต้องแก้ด่วนๆในเลกสอง

3. Pressing Triggers

จุดที่น่าสนใจคือ กลไกการเริ่มต้นเพรสซิ่งของลีดส์ นอกจากการดันพื้นที่ขึ้นมาสูงเพื่อบีบให้แผงหลังของแมนยูดันเกมขึ้นมาได้ยากแล้ว อีกจุดหนึ่งก็คือ จุดเริ่มต้นที่เป็นตัว Trigger ส่งสัญญาณการเพรสของลีดส์ คือการเข้าพื้นที่จนมุม และมุมอับที่จะเล่นได้ลำบาก ลีดส์เห็นสัญญาณเมื่อไหร่ พวกเขาจะวิ่งเข้ามาประชิดตัวทันที (Closing Down)

สัญญาณคือการออกบอลมาให้แบ็ค และตัวรับบอลในพื้นที่ด้านข้าง (Flanks) ลีดส์จะบี้และบีบพื้นที่เล่นให้ตัวรับบอลออกบอลหนีไม่ได้ทันที

ในภาพจะเห็นได้เลยว่า มันคือจังหวะที่เวาท์ เว็กฮอร์สต์ ลงต่ำมาช่วยรับบอลจากแดนบนเพื่อที่จะขึ้นเกมกันให้ได้ ทันทีที่เห็นว่าบอลกำลังจะเข้ามุมอับแล้ว (จากที่แรชฟอร์ดรอบอลอยู่ด้านข้าง) ตัวเล่นของลีดส์ 4-5 คนตรงนั้นก็จะพุ่งเข้ามาปิดพื้นที่การเล่นทันที

ภาพนี้ก็เช่นกัน สังเกตการยืนของนักเตะลีดส์จะเห็นเลยว่าเข้ามารุมและ "ปิดพื้นที่" การเล่นที่จะออกจากมุมนั้น นักเตะแมนยูโดนบีบพื้นที่จนไม่สามารถจะต่อเกมออกมาจากพื้นที่นั้นได้ แอเรียในเส้นสีเหลืองนั่นคือพื้นที่ปิดตายของลีดส์ที่เกิดจากการ Triggered เมื่อเห็นสัญญาณของการเพรสซิ่งที่บอลเข้าสู่มุมอับเมื่อใด นักเตะลีดส์จะกระชับและเข้าประชิดทันที

เมื่อเกมของแมนยูไม่สามารถขึ้นได้อย่างถนัด ลีดส์ก็จะปลอดภัยจากการโดนบุก นั่นคือต่อแรกของประโยชน์จากการเพรสซิ่ง ส่วนต่อที่สองคือ ถ้าบังเอิญว่า "ชิงบอลสำเร็จ" ก็จะได้ประโยชน์ในการที่สามารถสร้าง Quick Transition ต่อเนื่องได้ทันที

ลักษณะของการเพรสซิ่งของลีดส์ จะเพรสกันด้วยทีมเวิร์คของนักเตะที่ทำพร้อมกันอย่างเป็นระเบียบ เพรสกันเป็นทีม และเข้าพร้อมกันเพื่อบีบตัวรับบอลของคู่แข่งให้ไม่สามารถต่อบอล ครองบอลหนีออกมาได้ ถ้าคู่แข่งต้องออกบอลยาว ถือว่าการเพรสซิ่งของลีดส์สำเร็จ บอลยาวจึงเป็นบอลที่มีความไม่แน่นอน และแดนบนของคู่แข่งอาจจะเก็บบอลไม่ได้ นั่นถือว่าเกมรับเขาsuccessแล้ว

วิธีแก้ไข : แก้เพรสด้วย"แบ็ค"

เรื่องการโดนเพรสซิ่งของแมนยูไนเต็ด จากปัญหาที่แดนกลางจะยังขาดตัวโฮลดิ้งดีๆที่มีความสามารถในการแกะเพรสมาเล่นนั้น วิธีแก้ก็คือ การถ่ายบอลออกด้านข้าง และขึ้นเกมจากริมเส้นเป็นหลัก

เกมที่แล้ว ตัวที่เป็นตัว receiver หลักของทีมคืออเลฮันโดร การ์นาโช่ ที่เป็นตัวรับบอลริมเส้นทางซ้าย เนื่องจากแดนหลังไม่สามารถขึ้นบอลมาได้ จึงต้องเปิดบอลยาวมาให้น้อง

แต่สิ่งที่ถูกต้องและดีกว่าคือการแก้เพรสออกมาทางริมเส้น โดยอาศัยการเล่นหลักของแบ็คสองฝั่งในการเก็บบอลแทนมิดฟิลด์แดนกลางที่หายไป

ลุค ชอว์ และ ดิโอโก้ ดาโลต์ คือคำตอบของการเล่นที่สามารถช่วยทดแทนที่กลางต่ำแก้เพรสหายไป ตัวเล่นริมเส้นเหล่านี้สามารถช่วยได้ โดยที่ไม่ได้หมายความว่าจะให้ชอว์ หรือ ดาโลต์ เล่นเองด้วยตัวคนเดียว แต่พวกเขาจะต้องเป็นตัวโฮลดิ้งริมเส้นให้ได้ เพื่อดึงจังหวะให้กองหลัง และตัวบนถอยต่ำลงมาช่วยกันแก้เพรสให้สำเร็จ

โดยเฉพาะลีดส์ที่มี Pressing Triggers เป็นการบีบมุมอับเวลาบอลต่อกันออกมาด้านข้าง ยิ่งจำเป็นต้องแก้ให้ได้ หากว่าแก้สำเร็จ เกมของแมนยูไนเต็ดจะบุกขึ้นหน้าได้ทันที

การแก้เพรสด้วยวิธีวางบอลยาวขึ้นหน้าก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่สามารถช่วยได้ คือใช้บอลไดเร็คต์ขว้างขึ้นไปหาตัวบนเลย แต่บอลประเภทนั้นก็จะขาดความแน่นอน และเสี่ยงจะไม่ตรงเป้าหมาย วิธีที่แน่นอนกว่าคือการเล่นอย่างมีระบบระเบียบด้วยการเซ็ตบอลสู้กับคู่แข่งที่โจมตีด้วยเพรสซิ่งให้ได้นั่นเอง

ถ้าแกะเพรสได้ ลีดส์ก็มีสิทธิ์โดนแมนยูยิงได้สูง หรืออย่างน้อยที่สุด พยายามไม่เสียท่าก่อนในช่วงหนึ่งชั่วโมงแรกของการโดนเพรสซิ่ง นักเตะลีดส์จะเริ่มหมดแรง และเปลี่ยนวิธีเล่นไปเอง ข้อนี้สังเกตและมีหลักฐานจากเกมที่เสมอกัน 2-2 แฟนผีที่ดูอยู่จะเห็นเลยว่าเราได้บุกหนัก และลีดส์ดูจะยุบๆลงไป

ใช่แล้ว พวกเขามีพละกำลังที่ดรอปลงไป ทำให้ครึ่งหลังไม่มีพลังจะมาเล่นเพรสซิ่งสูงแบบ Whole Pitch เต็มสนามเหมือนครึ่งแรกไม่ได้แล้ว ถ้าสามารถรักษาระดับการเล่นเอาไว้ได้ ให้ไม่โดนเพรสจนเสียประตู แมนยูมีสิทธิ์ที่จะเล่นเกมครองบอลบุกเข้าใส่ลีดส์ที่ต้องถอยไปเล่นเกมรับ

และเกมรับของลีดส์ ใช่ว่าจะดี ยิ่งพวกเขาเล่น Low Block กับเรา ยิ่งเห็นเลยว่าระเบียบวินัยหลังบ้านลีดส์มีช่องโหว่ให้เจาะเยอะ ถ้าเจอความสามารถเฉพาะตัวสูงๆของแนวรุกแมนยูไนเต็ด (เช่น เจดอน ซานโช่) ก็เอาไม่อยู่เหมือนกัน

จากภาพนี้แนวรับลีดส์ที่ถอยต่ำลงไปตั้งรับแล้ว ก็ยังไม่สามารถป้องกันเจดอน ซานโช่ ที่โจมตีได้ตลอดครึ่งชั่วโมงสุดท้ายเลย เป็นคำตอบว่าการถอยต่ำไม่ใช่วิธีการที่ดีสำหรับลีดส์ เพราะพวกเขาถอยไปอุดก็อุดเราไม่อยู่ โดนไป 2 เม็ด กลับกันที่ช่วงดันเกมสูงขึ้นมาเพรสกลางสนาม ลีดส์ไม่เสียประตูกับแมนยูเลยแม้ลูกเดียว

นี่คือจุดที่ยูไนเต็ดจะเห็นจุดอ่อนของลีดส์ได้ว่า เกมรับพวกเขาไม่ได้แข็งแกร่งขนาดนั้น เซ็นเตอร์แบ็คลีดส์ไม่ได้เหนียวอะไรมากมายถึงขนาดเจาะไม่ได้

4. Weak Wide-Area Defensive แนวป้องกันริมเส้นอ่อน

การป้องกันของลีดส์ ยูไนเต็ด มีปัญหาในการรับมือกับการบุกจากริมเส้นของแมนยูไนเต็ด จากภาพนี้จะเห็นเลยว่าการบีบพื้นที่เข้ามาแพ็คตรงกลางเพื่อให้กำแพงมันแน่นและ compact นั้น มีจุดอ่อนที่พวกเขาไม่ได้คัฟเวอร์พื้นที่ริมเส้นให้ดี ถ้ามีตัวเติมหรือตัวเล่นริมเส้นดีๆ ลีดส์จะโดนเจาะได้

สังเกตง่ายจากการที่การ์นาโช่ได้บอลตลอดยามที่ออกไปรับบอลและขึงเกมริมเส้นนั่นแหละ

ลีดส์โชคดีที่ตัวเล่นริมเส้นฝั่งขวาของเราตอนนี้มีปัญหาอาการบาดเจ็บไปอย่างอันโทนี่ ทำให้เกมรุกปีกขวาของแมนยูมีปัญหามาก การป้องกันและแก้ไขของยูไนเต็ดคือ จะต้องใช้เกมริมเส้นให้เป็นประโยชน์ ไม่ว่าจะจากปีก หรือจาก "แบ็ค" (อีกแล้ว) ในการเติมเกมรุก

ถ้ามีการเติมเกมรุกริมเส้นที่ดีพอ ลีดส์จะมีปัญหาแน่

เกมการเล่นของยูไนเต็ดมีปัญหามากในช่วงครึ่งแรกที่เกมฝั่งขวาบอด สาเหตุเป็นเพราะการใช้แรชฟอร์ดมาเล่นในฝั่งที่ไม่ถนัด เขาไม่สามารถที่จะครองบอล และเก็บบอลด้านข้างเพื่อที่จะขึงเกมรับลีดส์ได้ ข้อนี้ไม่ใช่ความผิดแรชฟอร์ด

แต่ปัญหาจริงๆคือ ตอนที่แรชเล่นขวา แบ็คอย่าง ดิโอโก้ ดาโลต์ แทบจะไม่เติมขึ้นหน้ามาเลย ยืนต่ำมาก และก็ขึ้นเกมไม่ได้

เรียกง่ายๆว่า "ดับเบิ้ล" จุดอ่อนเลย ทั้งการแก้เพรสที่ไม่สำเร็จ และการเติมเกมรุกก็ไม่เกิดด้วย ภาพข้างบนนี้ก็ชัดเจน เพราะงั้นหากอยากจะแก้ไขปัญหานี้ การเล่นของแบ็คสำคัญมากในเกมถัดไป

วิธีแก้ปัญหา : เติมเกมรุกริมเส้นให้มากกว่าเดิม

คำตอบมีให้เห็นจากเกมนัดที่เสมอ 2-2 นี่ละ เพราะเมื่อครึ่งหลัง ดาโลต์ได้รับการกำชับแทคติกมาให้เติมสูงกว่าในครึ่งแรก ผลที่ออกมาคือ "ประตู" ทันที จากลูก Early Cross ของเขาที่เปิดเข้ากลางมา และเป็นมาร์คัส แรชฟอร์ด ที่โขกเข้าไป นั่นเกิดจากการเติมขึ้นมาครอสของดาโลต์เน้นๆ และใช้พื้นที่ริมเส้นให้เป็นประโยชน์ ตามภาพข้างล่างนี้

อีกอย่างหนึ่งที่แก้ไขได้ก็คือ การใส่ปีกที่สามารถเล่นริมเส้นด้านข้างได้ดีๆลงมาในสนาม เกมหน้าเราอาจจะพักเวาท์ เว็กฮอร์สต์ เอาไว้เป็นตัวสำรองก่อน และส่งตัวผู้เล่นที่ "มีสปีด" จะโจมตีเร็วเพื่อ "ย้อนเกล็ด" ยูงทองได้เวลาดันเกมสูงขึ้นมา ตัวรุกสายสปีดจะสามารถ Counter-attack กลับไปได้เหมือนกัน

และตัวเล่นริมเส้นที่มีความคล่องตัวสูงในพื้นที่ด้านข้างของ Wide Area จำเป็นต้องส่งลงมาถ่างแนวรับลีดส์ทั้งสองฝั่ง เพราะฉะนั้นถ้าเลือกได้ ขอใช้เป็น การ์นาโช่-แรชฟอร์ด-ซานโช่ ลงสนามเป็นตัวจริงจากซ้ายไปขวาตามลำดับ แล้วครึ่งหลังค่อยใช้ฟาคู หรือเว็กฮอร์สต์ ลงมาปรับเกมก็ได้

ลีดส์จะเจอปัญหาแน่นอนถ้าเจอตัวริมเส้นแมนยูก่อกวนทั้งสองฝั่ง การแกะเพรสออกมาริมเส้นก็จะดีขึ้น ถ้ามีปีกดีๆอยู่ในสนามเพื่อช่วยต่อเกมกับแบ็คที่จะหนีเพรสออกมา

และทั้งหมดนี้คือการวิเคราะห์แทคติกที่เราเห็นจุดแข็งของลีดส์ และวิธีการที่เขานำมาใช้กับแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดจนไม่สามารถครองบอลบุกได้ถนัด แถมยังต้องเสียประตูไปจากวิธีการเล่นเร็วที่ใช้ได้ผลอย่างดี

เกมนี้มีจุดอ่อนและข้อบกพร่องที่เราเห็นเยอะ ทั้งเรื่องของแดนกลาง ทั้งเรื่องเกมรับเวลาเจอสวนเร็ว วิธีการแก้ไขยังมีให้เห็นอยู่ และเชื่อว่ายังไงเอริค เทน ฮาก ก็น่าจะเจอข้อบกพร่องเยอะ และสามารถที่จะปรับแก้ได้ทันควันเพราะได้แข่งนัดล้างตากันทันทีในเกมต่อไป

"ท่าไม้ตายเดิม ใช้กับเซนต์ไม่ได้ผลเป็นครั้งที่ 2 หรอก!"

หวังว่า เอริค เทน ฮาก จะได้กล่าวคำนี้ในเกมสองที่เอลแลนด์โร้ด

-ศาลาผี-


ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ระดับ : {{val.member.level}}
{{val.member.post|number}}
ระดับ : {{v.member.level}}
{{v.member.post|number}}
ระดับ :
ดูความเห็นย่อย ({{val.reply}})

ข่าวใหม่วันนี้

ดูทั้งหมด