:::     :::

"Decision-Making" การตัดสินใจในสนามที่ยังต้องปรับปรุง

วันพุธที่ 22 มีนาคม 2566 คอลัมน์ #BELIEVE โดย ศาลาผี
1,317
ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
Tactical Analysis แบบสั้นๆที่ว่าด้วยเรื่องของการตัดสินใจเลือกเล่นในจังหวะต่างๆของนักเตะแมนยูไนเต็ด [decision-making] ที่จะต้องปรัปรุงพัฒนากันอีกเยอะ เรื่องนี้สำคัญยังไง และแมนยูไนเต็ดยังต้องแก้ไขจุดไหนอีกเพื่อจะแข็งแกร่งกว่านี้ในอนาคต นี่คือหนึ่งในประเด็นที่ทีมต้องปรับปรุงให้ดีกว่านี้

ปัญหาที่ต้องแก้ไขเรื่องการเล่นของแมนยูไนเต็ด ยังมีดีเทลรายละเอียดอีกเล็กๆน้อยๆมากมายที่ต้องปรับปรุงให้ดียิ่งกว่านี้ อย่างที่บอกไปแล้วว่า การเล่นของทีม ณ ปัจจุบัน ยังไม่ใกล้เคียง "การเล่นในอุดมคติ" ที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของการครองบอล, build-up, หรือสร้างเกมรุก

ต้องแยกแยะเรื่องของการเอาชนะคู่แข่งได้ดีก็ส่วนหนึ่ง รูปเกมและคุณภาพการเล่นก็อีกส่วนหนึ่ง เป็นคนละประเด็นกัน

ถ้าใครจำได้ ตอนที่ DVB ยังไม่บาดเจ็บ เขาเองก็งุนงงกับการให้บอลของทีมตอนที่เอริค เทน ฮาก เข้ามาทำทีมใหม่ๆ จนหันมามองโค้ชข้างสนาม เหมือนอยากจะถามว่า ทำไมทีมถึงเล่นแบบนี้ ทำไมถึงไม่ออกบอลไปในจังหวะที่ควรจะจ่าย

เพราะที่ถูกต้องจริงๆแล้ว เมื่อมีตัวเล่นเคลื่อนที่หาตำแหน่งในสนาม ตัวถือบอลควรเข้าใจเกม รับรู้ตำแหน่งของเพื่อน เห็นภาพการเล่นที่ตรงกัน และออกบอลไปตามจุดมุ่งหมายการเคลื่อนที่ของเพื่อนเรารอบๆ เพื่อสร้างเกมการเล่นให้ไหลลื่นขึ้นตามธรรมชาติการเล่นที่ควรจะเป็น

ถ้าเป็นแบบนั้นการครองบอลจะเหนียวแน่น และการเซ็ตบอลจะต่อเนื่องไหลลื่น จนสร้างโอกาสยิงให้ทีมได้บ่อยๆ

จุดเริ่มต้นของเกมรุกจะต้องมาจากภาคการครองบอลเป็นหลักเสมอ

เรื่องเดิมๆครับ Possession-based game และประเด็นหลักเรื่องของ "Decision-Making" หรือการตัดสินใจในสนาม

เรื่องของการตัดสินใจในสนาม เกี่ยวพันกับสิ่งที่นักเตะและทีมจะต้องมี นั่นก็คอ

1. ความเข้าใจเกม (Comprehension)

2. ความทรงจำของกล้ามเนื้อที่ออกมาเป็นการเล่นอัตโนมัติ (Muscle Memory)

3. เรื่องของการรับรู้ในสนาม (Awareness)

สามสิ่งนี้เป็นองค์ประกอบที่ผู้เล่นในทีมจะต้องมีให้ครบ เพืื่อสร้างทรงการเล่นที่ดีเป็นปึกแผ่นเดียวกัน และจะส่งผลต่อเรื่องของการตัดสินใจในจังหวะต่างๆระหว่างแข่งขัน

เรื่องทักษะการตัดสินใจของนักเตะ (Decision-making Skills) มีตัวอย่างให้ดูจากภาพด้านล่างนี้ว่า ทำไมทักษะนี้ถึงเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาทีมโดยรวม

จังหวะในภาพนี้ผมไม่ได้เป็นคนแคปมาเอง เป็นข้อสังเกตจาก UtdDistrict ที่หยิบยกจังหวะเล็กๆช็อตนึงในเกมเจอฟูแล่มช่วงครึ่งแรก ซึ่งดูผิวเผินมันก็ไม่มีอะไรมากไปกว่า การที่ อารอน วานบิสซาก้า ไม่ได้จ่ายบอลให้ เจดอน ซานโช่ ในจังหวะแรก(ภาพบน) ที่เขาวิ่งทำทาง ชี้ช่องให้AWBจ่ายขึ้นหน้ามาให้ สุดท้ายเขาเลือกจ่ายย้อนเข้ากลางไปให้บรูโน่ด้านหลัง ที่เลือกครอสเข้ากลางแทน(ภาพล่าง)

มองผ่านๆมันก็เป็นการเลือกเพลย์ของวานบิสซาก้าที่ เน้นความแม่นยำของการจ่ายบอลที่ปลอดภัยมากกว่าจะจ่ายเสี่ยง

แต่จังหวะนี้จริงๆแล้วต้องชม เจดอน ซานโช่ ที่วิ่งทำทางได้เยี่ยมมากๆในการทะลุช่องขึ้นมาใช้งาน "สเปซ" ด้านหลังกองหลัง ในจังหวะที่เขากำลังจะทะลุ Defensive Line ของ Fulham ขึ้นไป

น่าเสียดายว่าซานโช่ทำได้ดีแล้ว แต่วานบิสซาก้า "ไม่มั่นใจในการจ่ายบอล" ถึงเลือกที่จะไม่ให้บอลเร็วกับเพื่อนในจังหวะนี้ และจ่ายคืนหลัง ย้อนไปให้บรูโน่ตรงกลาง สังเกตดีๆว่า พอถึงช็อตที่บรูโน่เล่น จังหวะมันช้าไปหนึ่งก้าวทันทีอย่างน่าเสียดาย

กองหลังฟูแล่มก็เข้ามายืนposition + marking ตัว Target ในการเปิดบอลหมดแล้ว สุดท้ายลูกนี้ฟูแล่มโขกป้องกันออกมาได้


หากว่ามีการวิ่งทำทางกันแบบนี้แล้ว สิ่งที่ถูกต้องกว่าคือการจ่ายขึ้นหน้าไปเพื่อให้ซานโช่ได้มีโอกาสเข้าไปโจมตีในกรอบเขตโทษ การเล่นมันจะเร็วและเข้าจุดตายคู่แข่งได้มากกว่านี้

นี่คือสิ่งที่เป็นจินตนาการเกมรุก และการเล่นที่ต้องอาศัยความเข้าใจเกมกับเพื่อนร่วมทีมสูง ซึ่งทีมเรายังไปไม่ถึงตรงนั้น เคสนี้เป็นปัญหาเดียวกันกับที่เวลาฟานเดอเบค ลงสนามแล้ววิ่งทำทาง ไม่ค่อยมีคนออกบอลไปให้นั่นแหละครับ

ถ้าทุกอย่างไหลลื่นและดีกว่านี้ การครองบอลที่มีประสิทธิภาพจะมีทรงที่ใกล้เคียงกับแมนซิตี้ขึ้นมาแน่นอน เพราะการหาตำแหน่งออกบอลกันคือจุดแข็งในภาคการครองบอลของเขา ซึ่งเป็นจุดเดียวกับที่เอริค เทน ฮาก ต้องการให้แมนยูเล่นให้ได้แบบนั้นเป็นหลัก เพื่อสร้างเกมรุกให้ได้


วานบิสซาก้า มีเกมรับที่แข็งแกร่ง และเหนียวแน่นจริงๆ แต่ถ้าแมนยูไนเต็ดอยากจะยกระดับ เราจำเป็นต้องมีวิงแบ็คที่ขึ้นเกมเก่งๆมากกว่านี้ คำว่าขึ้นเกมไม่ใช่เรื่องการทำเกมรุก แต่เป็นเซนส์บอลในสนาม กับสกิลทักษะที่สามารถคอนโทรล และออกบอลได้ดีกว่านี้

ไม่แปลกใจว่าทำไมยังคงมีข่าวของจูเรียน ทิมเบอร์ อยู่เรื่อยๆ เพราะฟุตบอลของเทน ฮาก จะเข้าสู่ระบบให้ใกล้เคียงความจริงได้ นักเตะในทีมจะต้องมีความสามารถในการเล่นเกมครองบอลด้วยทักษะและความเข้าใจที่ดีกว่านี้

หลักๆในนั้นคือการออกบอล


สถิติการออกบอลของวานบิสซาก้าในข้อมูลข้างบนนี้ คือการเปรียบเทียบภาคการจ่ายบอลของเขา ออกมาเป็นตำแหน่งเปอร์เซ็นไทล์เมื่อเทียบกับฟูลแบ็คคนอื่นๆจากห้าลีกหลักของยุโรปที่ลงเล่นทั้งในลีก และใน UCL, UEL ที่ลงเล่นมากกว่า 1,100 นาทีขึ้นไป

เรื่องของการแครี่พาบอลของวานบิสซาก้าถือว่าทำได้ดี (Percentile 81, 85 เรื่องการพาบอล/เลี้ยงผ่านคู่แข่ง) แต่เรื่อง "ลูกจ่าย" ค่อนข้างมีปัญหา โดยเฉพาะการจ่ายบอลขึ้นหน้าของAWB อยู่ในตำแหน่งเปอร์เซ็นไทล์ที่ค่อนข้างต่ำ คือตำแหน่งเปอร์เซ็นไทล์ที่ 22 เท่านั้นเอง นั่นคือมีนักเตะอีกแค่ 22% จากทั้งหมดที่มีค่าการจ่ายบอลขึ้นหน้า น้อยกว่าวานบิสซาก้า

พูดง่ายๆว่าจำนวน Forward Passes ของเขาอยู่ในแรงค์ต่ำนั่นแหละ

โดยเป็นลูกจ่ายที่จะต้องขึ้นหน้าไปทางโกลคู่แข่ง 10 หลาขึ้นไป หรือจ่ายเข้าสู่แอเรียกรอบเขตโทษของคู่แข่ง Forward Passes Received ของAWB ก็ต่ำมากเช่นเดียวกัน (Percentile 26)


ค่อนข้างชัดว่า AWB ออกบอลขึ้นหน้าน้อยมากจริงๆ ดังนั้นเมื่อพิจารณาจากสไตล์การเล่นแล้ว ยังคงเป็นเรื่องของ "ความไม่มั่นใจ" ในการทำเกมของเขาที่ยังคงมีปัญหาอยู่ ไม่ค่อยกล้าเปิดบอลทำเกมด้วยตัวเอง

สิ่งที่ดีคือ เจ้าตัวปรับปรุงจากเมื่อก่อนเฉพาะเรื่องของ "ตำแหน่งการเล่น" ที่ปัจจุบันนี้ดีขึ้นเยอะจากการเติมเกมขึ้นหน้าตลอดเวลา ตั้งแต่เข้าสู่ยุคของเอริค เทน ฮาก วานบิสซาก้าเติมตำแหน่งตัวเองขึ้นสูงเพื่อช่วยปีกขวาตลอด แต่ลูกจ่ายยังคงไม่ดี ตรงนี้เป็นสิ่งที่ตัวนักเตะจะต้องปรับปรุง และย้อนกลับไปถึงการเล่น possession game ของทีมเราด้วยว่า ทีมจะต้องมีความเข้าใจเรื่องการให้บอล ออกบอล การวิ่งหาตำแหน่ง วิ่งทำทาง ฯลฯ ให้ดีกว่านี้

อย่างช็อตข้างล่างนี้ก็คืออีกจังหวะหนึ่งที่เขาตัดสินใจได้ไม่ดี เพื่อนร่วมทีมอย่างแม็คโทมิเนย์วิ่งฉีกมารับบอลในพื้นที่ว่างด้านข้างสนามแล้ว แต่วานบิสซาก้าคิดช้าไป และเลือกคืนหลัง ซึ่งเดเคอาถูกจ้องอยู่จากมิโตรวิชในตำแหน่งนั้น เดเคอาก็ลำบากไปด้วยในจังหวะนี้

จริงๆแล้วปัญหาที่ว่านี้ไม่ใช่แค่วานบิสซาก้าคนเดียว ผู้เล่นคนอื่นๆในทีมก็ยังมีปัญหาอยู่เหมือนกัน บทความนี้ต้องการจะพูดถึงการตัดสินใจในสนาม และความเข้าใจเกมของ "ทั้งทีม" โดยรวม แต่หยิบยกเอาเคสของ AWB ในช็อตนี้มาเป็นตัวอย่างในการอธิบายเท่านั้นเอง

"การตัดสินใจ" หลายๆคนอาจจะมองว่าเป็นเรื่องปัจเจก เป็นความสามารถส่วนบุคคลของนักเตะแต่ละคนของทีม(ที่ตัดสินใจดี ไม่ดีแตกต่างกัน)

แต่จริงๆแล้ว Decision-making Skills เป็นสิ่งที่จะต้องสร้างขึ้นมาร่วมกันภายในทีมให้เกิดขึ้นพร้อมๆกันภายในทีม

ภาพข้างบนนี้ไปแคปมาจากจังหวะครึ่งแรกของเกมฟูแล่ม เป็นอีกหนึ่งช็อตปัญหาเรื่อง decision-making ที่ไม่ลงตัวกันระหว่างนักเตะ เป็นจังหวะที่แม็คโทมิเนย์กำลังได้บอลที่จ่ายเสียมาจากวิลเลียน จังหวะนี้เพื่อนสองคนอย่างบรูโน่ กับ ซานโช่ วิ่งทำทางด้วยเซนส์เกมเร็วทันทีที่เห็นเพื่อนได้บอล สิ่งที่น้องแม็คควรทำคือ เบิ้ลบอลจังหวะเดียวขึ้นหน้าไปยังพื้นที่ว่างที่เพื่อนสองคนกำลังเข้าไปชิงมาได้ แต่ลูกนี้แม็คโทมิเนย์ดึงกลับหลัง ทำให้การออกบอลไม่เป็นอย่างที่ควรจะเป็น

สุดท้ายจังหวะนี้เจอฟูแล่มเพรส ชิงบอลคืนไปอย่างน่าเสียดายที่ควรจะเป็น Counter-attack ของทีม กลายเป็น Counter-pressing ของ Fulham แทน

แน่นอนว่า Decision-making ยังรวมถึง "แนวรุก" ของทีมด้วย โดยเฉพาะหลายๆครั้ง เกิดปัญหาการไม่ให้บอลกันในแดนหน้าระหว่าง บรูโน่ ซานโช่ อันโทนี่ ที่ตัดสินใจยิงเอง จริงอยู่เราไม่เถียง เพราะถ้าจังหวะการทำประตูเปิดให้เห็นในจังหวะนั้น การเลือกยิงเองมันก็ไม่ผิด แต่จะดีกว่ามาก ถ้ามี Awareness ที่ดีกว่านี้ว่า เพื่อนอยู่ในตำแหน่งที่ดีกว่า ก็น่าจะให้เพื่อนก่อนที่จะตัดสินใจยิงเอง

นักเตะแนวรุกของเรามีปัญหาหมดทุกคน ไม่ว่าจะบรูโน่ ซานโช่ อันโทนี่ รวมถึง "แรชฟอร์ด" เองที่มั่นใจมากๆ ช่วงนี้เพราะมั่นใจมากเกินไป หลายจังหวะแรชชี่ก็ดันไม่ส่งเพื่อนซะยังงั้น

เป็นเรื่องที่ต้องปรับปรุงกันอีกเยอะจริงๆแมนยูไนเต็ด

ดังนั้นเพื่อที่จะเข้าใกล้ปรัชญาการเล่นในอุดมคติของเอริค เทน ฮาก มากกว่านี้ ทีมจะต้องพัฒนาต่อไปไม่หยุด และปรับปรุงการเล่นต่อไป ไม่ใช่แค่เรื่องของการ "เสริมทีม" ด้วยนักเตะตัวใหม่ๆเท่านั้น

วันๆจะมานั่งรอแต่นักเตะใหม่อย่างเดียวแล้วเฝ้าฝันว่า ทีมจะเก่งขึ้นเพราะตัวใหม่ มันไม่ได้ง่ายขนาดนั้น เพราะถ้าจะเอาแบบนั้น แปลว่าทีมจะต้องซื้อนักเตะอีก 6-7 ตัวเลยถึงจะมีทีมที่เก่งรอบด้าน

สิ่งที่ EtH จะทำ และแฟนบอลต้องภาวนาด้วย นั่นคือการ "พัฒนาตัวผู้เล่นที่มีอยู่" ให้มีการเล่นที่ดีขึ้น พัฒนายกระดับ และเข้าใจระบบการเล่นที่เอริค เทน ฮาก ต้องการอยากจะให้เป็นมากกว่าเดิม


ดูจากการให้สัมภาษณ์ และสิ่งที่เกิดขึ้นในสนาม ค่อนข้างมั่นใจว่าเอริคเองก็ยังไม่พอใจกับการเล่น ณ ปัจจุบันมากนัก แต่มันมีสิ่งดีๆที่สามารถทดแทนกันได้อยู่บ้าง คือเรื่องของฟอร์มการเล่น ความเฉียบคมของเกมรุก ทีมสปิริต

แต่มีอีกหลายเรื่องที่ต้องปรับปรุงเช่นกัน ดังนั้นก็พัฒนากันต่อไปอย่าหยุด เพราะกว่าที่ทีมจะขึ้นไปท้าชิงบัลลังก์แชมป์ได้ เราจะต้องยกระดับทีมขึ้นอีกเยอะ เพื่อไล่ตามทีมในระดับท็อปซึ่งมีมาตรฐานการเล่นที่แน่นอนอย่างแมนเชสเตอร์ซิตี้ให้ได้ใกล้เคียงกว่านี้ แล้วค่อยพูดกันเรื่องจะขึ้นไปท้าชิงแชมป์พรีเมียร์ลีกกับเขา

ถ้าพิจารณากันอย่างแฟร์ๆว่า นี่คือการทำทีมปีแรกของเทน ฮาก ที่เข้ามาแก้ปัญหาหมกหมมของทีม จริงๆเท่านี้ก็ถือว่าน่าพอใจแล้ว (แฟนบอลเองก็ควรต้องให้โอกาส ให้เวลาเขาหน่อยด้วย บทความนี้เราแค่ชี้จุดที่ยังต้องแก้ไขอยู่ แต่ไม่ได้แปลว่าเราจะไม่พอใจการทำทีมของเทน ฮาก นะครับ)

ขอให้แฟนบอลรอคอย และดูการทำทีมต่อไปอย่างใจเย็นๆ เดี๋ยวมันจะดีขึ้นเองแน่นอนในอนาคต ปัจจุบันทีมอาจจะยังเล่นไม่ดีเท่าที่ควร (เวลาขาดตัวหลักอย่างเอริคเซ่น คาเซมิโร่ ยิ่งชัด) ฟอร์มก็เป๋ๆไปบ้าง แต่ยังไงก็ตาม ความผิดพลาดนิดๆหน่อยๆบ้างในตอนนี้ก็ไม่เป็นไร ทุกอย่างต้องใช้เวลา ถึงจะยังไม่เต็มร้อยแต่ก็พอจะเห็นทรง "ร่างสมบูรณ์" ในอนาคตอยู่บ้าง

ขอบคุณที่ทำฟุตบอลแบบที่มีกระบวนการแบบแผนที่ชัดเจน และดูมีอนาคตให้ได้ลุ้นกันอีกเยอะ

พัฒนาต่อไป เราเชื่อมั่นในกระบวนการของเอริค เทน ฮาก 

Trust the Process

#BELIEVE 

-ศาลาผี-

References

https://utddistrict.co.uk/one-manchester-united-moment-shows-where-erik-ten-hag-needs-to-improve-next/21/03/2023/

https://fbref.com/en/players/9e525177/Aaron-Wan-Bissaka

ถ้าไม่อยากพลาดทุกข่าวสารของวงการกีฬา โปรดติดตามเรา :
เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน
Share
Twitter
Share
ระดับ : {{val.member.level}}
{{val.member.post|number}}
ระดับ : {{v.member.level}}
{{v.member.post|number}}
ระดับ :
ดูความเห็นย่อย ({{val.reply}})

ข่าวใหม่วันนี้

ดูทั้งหมด